เมื่อ 70-80 ปีก่อน สมองคือโลกอันแสนเร้นลับที่แทบไม่มีแพทย์คนไหนกล้าแตะต้อง ยิ่งเรื่องการผ่าตัดยิ่งไม่ต้องพูดถึง เพราะลำพังแค่การศึกษาสมองโดยละเอียดยังไม่ค่อยมีคนทำ
กระทั่งเมื่อแพทย์หนุ่มคนหนึ่งกลับจากต่างประเทศ มาประจำการที่โรงพยาบาลศิริราช หลายสิ่งหลายอย่างก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไป เพราะชายผู้นี้มีบทบาทสำคัญในการเปิดพรมแดนใหม่ๆ ของวิชาศัลยศาสตร์ นำการผ่าตัดที่แพทย์ไทยน้อยคนจะรู้จักมาใช้รักษาคนไข้ โดยเฉพาะการผ่าตัดสมอง รวมทั้งส่งเสริมแพทย์รุ่นใหม่ ทั้งโดยการให้มาเป็นผู้ช่วยในห้องผ่าตัด และผลักดันให้ไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ จนสามารถวางรากฐานวิชาประสาทศัลยศาสตร์ในเมืองไทยได้สำเร็จ
นอกจากนี้ ช่วงที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เขายังมีส่วนในการผลักดันแพทย์รุ่นใหม่ไปสู่ชนบท เพื่อให้เข้าใจถึงความยากลำบากของผู้คนในท้องถิ่น ตลอดจนเป็นผู้ร่วมบุกเบิกระบบสาธารณสุขมูลฐาน สนับสนุนให้เกิดอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ทั่วประเทศ ด้วยหวังให้ชาวบ้านในถิ่นทุรกันดารได้รับบริการการรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐาน ตลอดจนเป็นกำลังหลักในการผ่าตัดกระทรวงสาธารณสุข เปลี่ยนนโยบายจากการมุ่งรักษาโรคเป็นหลัก มาสู่การป้องกันและส่งเสริมสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนสามารถดูแลตัวเองได้ดียิ่งขึ้น
และแม้จะเกษียณอายุแล้วก็ไม่เคยหยุดทำงาน แต่เลือกที่จะเดินทางตระเวนไปเยี่ยมเยียนโรงพยาบาลต่างจังหวัด เพื่อให้ความรู้และให้กำลังใจแพทย์ พยาบาลในท้องถิ่นนั้นๆ รวมถึงเดินสายไปกับหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ขึ้นเขาลงห้วยออกดูแลประชาชนทั่วประเทศ
ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ร่วมกับ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ขอพาทุกคนไปสัมผัสเรื่องราวชีวิตของครูแพทย์นักบุกเบิก ต้นแบบแห่งความเสียสละ และหนึ่งในผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้ระบบสาธารณสุขไทย
ศ. นพ.อุดม โปษะกฤษณะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข, อดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และอดีตเลขาธิการมูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พอ.สว.)
ชื่อของ ศ. นพ.อุดม โปษะกฤษณะ ได้รับการยอมรับมายาวนาน ในฐานะปรมาจารย์ศัลยแพทย์ของเมืองไทย ผู้อยู่เบื้องหลังหมอผ่าตัดฝีมือเยี่ยมมากมาย
แต่รู้หรือไม่ เดิมทีอาจารย์ไม่ได้มีเป้าหมายจะเป็นศัลยแพทย์ แต่ตั้งใจจะเป็นทันตแพทย์ต่างหาก
เพราะหลังเรียนจบแพทย์จากศิริราช เมื่อปี 2479 พร้อมรางวัลเหรียญทองคะแนนเยี่ยมตลอดหลักสูตร อาจารย์ก็ได้รับการทาบทามให้มาทำงานอยู่ที่ศิริราช โดยเริ่มแรกมาเป็นแพทย์ประจำบ้านอยู่ที่แผนกอายุรศาสตร์ พอปีถัดมาก็ได้รับการบรรจุเป็นอาจารย์ที่แผนกกายวิภาคศาสตร์ ทำหน้าที่สอนนักศึกษาแพทย์เกี่ยวกับร่างกายมนุษย์
หากแต่ชีวิตการเป็นอาจารย์ศิริราชกลับไม่ราบรื่นนัก พอดีเวลานั้น ศ. พ.อ. หลวงวาจวิทยาวัฑฒน์ มีโครงการจัดตั้งคณะทันตแพทยศาสตร์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนื่องจากสมัยก่อนเมืองไทยมีทันตแพทย์อาชีพน้อยมาก ยิ่งอาจารย์ที่จะช่วยสอนหนังสือนั้นมีแทบนับคนได้ อาจารย์อุดมจึงตัดสินใจเบนเข็มชีวิตไปทางนี้แทน
ในเดือนกันยายน 2481 อาจารย์อุดมได้รับทุน Alexander von Humboldt ให้ไปเรียนต่อที่เมืองไลป์ซิกประเทศเยอรมนีซึ่งในช่วงนั้นสถานการณ์โลกเริ่มส่อเค้าความวุ่นวายอาจจะเกิดสงครามครั้งใหญ่ได้ตลอดเวลาจนหลายคนอดเป็นห่วงไม่ได้แต่อาจารย์ก็ไม่หวั่นไหวเพราะตั้งใจไว้แล้วว่าจะนำความรู้จากที่นั่นกลับมาพัฒนาประเทศ
ดังในจดหมายที่อาจารย์อุดมส่งไปถึง ศ. นพ.สุด แสงวิเชียร ว่า “หมอคงจะทราบดีว่า ระหว่างมามันมี crisis มากเพียงใด ที่ไหนที่ไหน ก็เตรียมพร้อมที่จะรบ ในเยอรมันชายฉกรรจ์ถูกเรียกประจำกองเกือบหมด แม้แต่หมอในโรงพยาบาล เวลานั้นมาถึงปีนัง .. สำหรับผมเอง ผมตั้งใจแน่ที่จะไป ถึงเกิดสงครามที่เยอรมัน”
อาจารย์ใช้เวลาเรียนอยู่ 2 ปีเต็ม ก็สำเร็จได้เป็นด็อกเตอร์ทางทันตแพทย์ แต่เวลานั้นสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ปะทุขึ้นแล้ว จึงไม่สามารถเดินทางกลับเมืองไทยได้
ช่วงนั้นเองที่ชีวิตของอาจารย์พลิกผัน ต้องไปฝึกงานอยู่ในคลินิกศัลยศาสตร์ มหาวิทยาลัยไลป์ซิก ภายใต้การดูแลของ Dr.Loeffler เนื่องจากมีทหารบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก จึงต้องการแพทย์ผ่าตัดเพิ่มเติม โดยอาจารย์ได้รับมอบหมายให้ทำงานผ่าตัดเล็กๆ อย่างเช่นไส้ติ่งอักเสบก่อน
ว่ากันว่าตลอดระยะเวลาปีกว่า อาจารย์ผ่าตัดไส้ติ่งไปไม่ต่ำกว่า 60 ราย จากนั้นก็ค่อยซึมซับความรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับการผ่าตัดต่างๆ จนเกิดแรงบันดาลใจอยากเป็นศัลยแพทย์จริงจังขึ้นมา
อาจารย์เริ่มตระเวนไปตามมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อหาประสบการณ์เพิ่มเติม จนภายหลังได้มาประจำอยู่ที่คลินิกศัลยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเวียนนา ประเทศออสเตรีย
แม้จะเป็นเพียงผู้ช่วยในห้องผ่าตัด แต่อาจารย์ก็ได้รับโอกาสให้ทดลองผ่าตัดในเคสที่ยากขึ้น เช่น ผ่าตัดต่อมลูกหมาก ไปจนถึงสมอง รวมทั้งยังได้ประจำวอร์ดอุบัติเหตุ คอยรับมือกับคนไข้ฉุกเฉินอีกด้วย
ช่วงที่กรุงเวียนนาถูกเครื่องบินจู่โจมทิ้งระเบิดใส่ มีคนบาดเจ็บนับไม่ถ้วน อาจารย์ก็ต้องทำการผ่าตัดเร่งด่วนจนแทบไม่ได้พัก และด้วยความสามารถในการผ่าตัดนี่เอง ในเดือนเมษายน 2489 อาจารย์ก็ได้รับประกาศนียบัตรเป็นผู้ชำนาญศัลยศาสตร์จากแพทยสภาแห่งเวียนนา
ถึงเส้นทางอาชีพในแดนไกลจะไปได้ดี แต่เป้าหมายที่อาจารย์วางไว้คือ อยากนำความรู้และประสบการณ์ต่างๆ ที่ได้มาช่วยพัฒนาการแพทย์ในบ้านเรา จึงพยายามหาโอกาสเดินทางกลับมาเมืองไทยอยู่ตลอด ซึ่งก็ได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อนๆ ชาวต่างประเทศ กระทั่งกลับมาถึงกรุงเทพฯ ในเดือนตุลาคม 2489 หลังจากใช้ชีวิตอยู่ในต่างแดนนาน 8 ปีเต็ม
การกลับมาครั้งนี้ อาจารย์เลือกมาทำงานอยู่ที่ศิริราชอีกครั้ง แต่ย้ายจากแผนกกายวิภาคศาสตร์มาอยู่ที่แผนกศัลยศาสตร์ ซึ่งเวลานั้นมีอาจารย์ประจำอยู่ทั้งหมดเพียง 7 คน
ว่ากันว่า การผ่าตัดของอาจารย์นั้นเปี่ยมด้วยความประณีต เรียบร้อย และรวดเร็ว ที่สำคัญยังสามารถทำด้วยมือซ้ายหรือมือขวาก็ได้ ถึงขั้นที่แพทย์บางคนตั้งสมญาว่าเป็น ‘ศัลยเทพ’
หากแต่ความท้าทายหนึ่งที่อาจารย์ต้องเผชิญคือ องค์ความรู้เรื่องศัลยศาสตร์ในเมืองไทยเวลานั้นนับว่ายังด้อยอยู่มาก อย่างเช่น ในการผ่าตัดต่อมไทรอยด์เป็นพิษ ต้องทำ 2 ครั้ง โดยมัดหลอดเลือดแดงที่เลี้ยงต่อมไทรอยด์ทิ้งไว้สักระยะหนึ่งก่อนจึงจะตัดต่อมไทรอยด์ได้ หรือการผ่าตัดกระเพาะอาหารก็ยังทำไม่ได้ การผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดีก็ทำน้อยจนนับครั้งได้
อาจารย์อุดม กับ ศ. นพ.สมาน มันตาภรณ์ ซึ่งจบศัลยแพทยศาสตร์จากอังกฤษในเวลาใกล้เคียงกัน (ต่อมาภายหลังได้ย้ายไปช่วยบุกเบิกคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ) จึงช่วยกันนำประสบการณ์จากต่างประเทศมาพัฒนาการผ่าตัดในบ้านเรา พร้อมกับเน้นฝึกทักษะแก่แพทย์ประจำบ้านรุ่นใหม่ เรียนรู้ผ่านพยาธิวิทยาหรือการศึกษาการเปลี่ยนแปลงในร่างกายเมื่อเกิดโรค ทั้งในศพและในผู้ป่วยขณะผ่าตัด จนกระทั่งมีผู้สนใจอยากเป็นศัลยแพทย์เพิ่มมากขึ้น ซึ่งต่อมาหลายคนก็กลายเป็นกำลังหลักของศิริราช และโรงเรียนแพทย์อื่นๆ อีกมากมาย
แต่คุณูปการหนึ่งที่อาจารย์เป็นผู้บุกเบิก คือ การผ่าตัดสมอง ซึ่งนับเป็นอวัยวะที่ผ่ายาก เพราะซับซ้อนมาก และหากผิดพลาดแม้เพียงเล็กน้อย อาจส่งผลให้ผู้ป่วยคนนั้นต้องพิการหรือเสียชีวิตได้เลย
ความจริงแล้ว อาจารย์อุดมไม่ใช่คนแรกที่ผ่าตัดสมองในเมืองไทย เพราะเมื่อเดือนมกราคม 2486 อ. นพ.บรรจง กรลักษณ์ ซึ่งสมัยนั้นรับผิดชอบเรื่องศัลยศาสตร์ศีรษะ และคอ ของศิริราช ก็เคยผ่าตัดสมองให้หญิงวัย 44 ปีมาก่อน แต่สุดท้ายก็ไม่ได้มีการพัฒนาต่อ จนเมื่ออาจารย์อุดมกลับมาจึงค่อยเริ่มฟื้นฟูขึ้นมา ซึ่งสาเหตุที่อาจารย์สนใจเรื่องนี้ เพราะเคยเป็นประสาทศัลยแพทย์มาก่อนที่เยอรมนี บวกกับเมืองไทยเองก็มีผู้ป่วยเกี่ยวกับสมองจำนวนไม่น้อยเลย แต่ไม่มีใครรักษาได้
ในปี 2490 อาจารย์อุดมจึงร่วมกับเพื่อนอย่าง ศ. นพ.อรุณ ภาคสุวรรณ์ แห่งโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา ศึกษาคนไข้จิตเภท (Schizophrenia) จำนวน 5 คน ด้วยการผ่าตัดแบบ Prefrontal Leucotomy ซึ่งเป็นการผ่าตัดโดยตัดการเชื่อมต่อระหว่างส่วนหน้าของสมองกลีบหน้าผากกับส่วนที่เหลือของสมอง ซึ่งวิธีการนี้ Dr.Egas Moniz นายแพทย์รางวัลโนเบลด้านประสาทวิทยา ชาวโปรตุเกส เป็นผู้คิดค้นขึ้น แต่ยังไม่เคยมีแพทย์ในบ้านเรานำมาใช้ ปรากฏว่าให้ผลดีทีเดียว ทำให้คนไข้รายหนึ่งซึ่งเคยเป็นครูสามารถกลับไปสอนหนังสือได้ด้วย
อาจารย์พยายามหาวิธีพัฒนาประสิทธิภาพของประสาทศัลยศาสตร์อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วิธีการตรวจเพื่อหาจุดที่ต้องการผ่าให้แม่นยำ อย่างเช่น การฉีดสารทึบแสงเข้าหลอดเลือดแดงที่คอ และการฉีดลมเข้าในช่องน้ำไขสันหลัง ริเริ่มการผ่าตัดใหม่ๆ อย่างเช่น การผ่าตัดผู้ป่วยบาดเจ็บทางสมองที่มีเลือดคั่ง การผ่าตัดเด็กที่มีหัวโต ตลอดจนฝึกทักษะแพทย์ประจำบ้านรุ่นใหม่ อย่างการเปิดกะโหลกศีรษะ รวมทั้งเขียนตำราเกี่ยวกับประสาทศัลยแพทย์ออกเผยแพร่
รวมถึงหาตัวอย่างสมองเพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้ ด้วยการขออนุญาตญาติพี่น้องของผู้เสียชีวิตเพื่อเก็บสมองของผู้ป่วยที่จากไปมาแช่ฟอร์มาลิน ซึ่งการเก็บนี้ต้องใช้ความระมัดระวังอย่างยิ่งไม่ให้เสียรูป โดยดองไว้ 2 สัปดาห์ แล้วจึงมาฝานเป็นชิ้นๆ เพื่อให้ทุกคนเห็นตำแหน่งที่มีพยาธิสภาพได้ชัดเจน และถ้าชิ้นส่วนใดสวยงาม ควรจะเก็บไว้สอน ท่านก็จะลงทุนใช้เงินส่วนตัวจ้างผู้ป่วยเรื้อรังคนหนึ่งที่มีฝีมือมาทำกล่องใส เพื่อจะได้เก็บชิ้นส่วนได้นานที่สุด
ไม่เพียงแค่นั้น อาจารย์ยังพยายามหาวิธีจูงใจนักศึกษาแพทย์ และแพทย์ประจำบ้าน ด้วยการบอกให้ซักประวัติและตรวจร่างกายของผู้ป่วยอย่างละเอียด จากนั้นให้วินิจฉัยว่าพยาธิสภาพหรือความผิดปกติอยู่ส่วนใดของสมอง ถ้าใครอธิบายได้ถูกต้องก็จะให้รางวัล 100 บาท ทำให้คนสนใจวิชานี้ยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม อาจารย์ก็ตระหนักดีว่าความรู้ที่มีอยู่นั้นไม่เพียงพอ ในปี 2497 อาจารย์จึงตัดสินใจไปศึกษาดูงานที่สถาบันประสาทศัลยศาสตร์ชั้นนำในสหรัฐอเมริกา เยอรมนี และสวีเดน นานร่วมปี พร้อมนำเข้าเครื่องมือคุณภาพสูง อาทิ เครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองเครื่องแรกของประเทศ
หลังจากกลับมาถึงเมืองไทย อาจารย์ก็ได้ก่อตั้งหน่วยประสาทศัลยศาสตร์ขึ้นในแผนกศัลยศาสตร์ เพื่อผลิตบุคลากรรุ่นใหม่ให้มาเป็นกำลังหลักของประเทศ โดยศิษย์คนใดที่ได้รับการส่งตัวไปต่างประเทศ อาจารย์ก็จะรับเป็นธุระเรื่องสุขภาพของพ่อแม่ให้ ส่วนนักเรียนคนไหนที่อยู่เมืองไทย ท่านก็จะดูแลอย่างใกล้ชิด ไม่ใช่แค่การงานเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงครอบครัว เสมือนเป็นลูกของท่านเอง
แต่ถึงอย่างนั้น หากเป็นเรื่องการสอน อาจารย์ได้ชื่อว่ามีระเบียบเข้มงวดมาก โดยเฉพาะคนใดที่คั่งค้างไม่ส่งบันทึกรายงานทางการแพทย์ ท่านจะนัดผู้นั้นให้ไปที่ห้องรายงานในวันหยุด แล้วก็นั่งสรุปรายงานด้วยกัน โดยอาจารย์จะช่วยเขียนไปด้วย มีขนม 1 ถุง น้ำคนละแก้ว วางอยู่ข้างหน้า ทำตั้งแต่เช้าจนเย็น ถ้ารายงานยังไม่เสร็จ วันหยุดต่อไปก็ต้องทำอีก จนกว่าทั้งหมดจะเรียบร้อย
นอกจากนี้ อาจารย์ยังไม่ได้สอนวิชานี้ในศิริราชเท่านั้น แต่ยังไปช่วยสอนที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ รวมทั้งส่งคณาจารย์ไปช่วยให้ความรู้แก่ศัลยแพทย์ทั่วไปตามโรงพยาบาลต่างๆ ด้วย จนรากฐานของวิชาประสาทศัลยศาสตร์ในบ้านเราแข็งแกร่ง สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยมากมายจนถึงปัจจุบัน และทำให้ท่านได้รับยกย่องให้เป็น ‘บิดาแห่งประสาทศัลยศาสตร์ของเมืองไทย’
อีกบทบาทหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ การบุกเบิกวิชาศัลยศาสตร์อุบัติเหตุ เพราะเวลานั้นอุบัติเหตุเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของประเทศ และหลายครั้งก็กระทบต่อระบบประสาทและไขสันหลัง อาจารย์อุดมจึงคิดว่า ควรจะมีหน่วยงานเฉพาะเพื่อรับมือกับสถานการณ์นี้
แต่ต้องยอมรับว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะกว่าจะหาคนทำงาน หาทุนมาสร้างตึก หาเครื่องมือที่จำเป็นได้ครบถ้วน ก็กินเวลานานถึง 3 ปี แต่อาจารย์ก็พยายามเต็มที่ จนกระทั่งสำเร็จลุล่วงเมื่อปี 2514
สำหรับวิชาศัลยศาสตร์อุบัติเหตุนี้ เน้นฝึกอบรมแพทย์ให้สามารถผ่าตัดได้ทุกอวัยวะตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า เพื่อจะได้ช่วยเหลือผู้ป่วยอย่างรวดเร็ว ปลอดภัย และทันเวลา
และหลังจากเริ่มเปิดตึกอุบัติเหตุได้ไม่กี่ปี ก็มีเหตุให้ต้องรับมือกับวิกฤติ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งมีนิสิตนักศึกษา และประชาชนออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย จนนำไปสู่การปะทะครั้งใหญ่ และมีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก ซึ่งหลายคนก็ถูกส่งตัวมาที่ศิริราช โดยที่อาจารย์อุดมประจำอยู่ที่โรงพยาบาลตลอด คอยรับมือกับผู้บาดเจ็บจนสถานการณ์คลี่คลายไปด้วยดี นอกจากนี้ อาจารย์ยังให้ทีมจดบันทึกรายละเอียดต่างๆ ไว้ด้วย เพื่อเป็นแนวทางสำหรับการรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นตลอดเวลา
จากวิสัยทัศน์ที่มองการณ์ไกล ส่งผลให้สถาบันอื่นๆ นำแนวทางที่อาจารย์วางรากฐานไปประยุกต์ใช้ จนสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยให้รอดพ้นจากความทุกข์ทรมานเป็นจำนวนมาก
ทั้งหมดนี้เป็นผลงานเพียงเสี้ยวเดียวที่อาจารย์อุดมสร้างไว้แก่วงการศัลยศาสตร์ของเมืองไทย เพราะสำหรับท่านแล้ว เป้าหมายที่ใหญ่กว่านั้น คือ การพัฒนาองค์ความรู้และสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพ เพื่อทำให้ระบบสาธารณสุขของเมืองไทยเป็นที่พึ่งพิงของประชาชนได้อย่างแท้จริง
เมื่อ 50-60 กว่าปีก่อน คนชนบทส่วนใหญ่ยังเข้าไม่ถึงบริการทางด้านสาธารณสุข ส่วนหนึ่งเป็นเพราะหมอในบ้านเรามีจำนวนจำกัด แถมพอจบมาแล้วก็นิยมทำงานในเมือง หรือตามโรงพยาบาลใหญ่ๆ เช่นเดียวกับอาจารย์โรงเรียนแพทย์ที่มักจะสนใจแต่คนไข้หรือวิชาที่ตัวเองสอนเป็นหลัก มากกว่าจะคิดถึงการทำให้คนในพื้นที่ห่างไกลเข้าถึงการแพทย์
แต่อาจารย์อุดมกลับเป็นครูแพทย์คนแรกๆ ที่สนใจเรื่องชนบท ถึงขั้นส่งอาจารย์และแพทย์ประจำบ้านไปทำงานในถิ่นทุรกันดาร เพื่อรักษาคนไข้ที่ยากจน พร้อมกับเรียนรู้วิถีชีวิตที่แท้จริงของผู้คน
จุดเริ่มต้นเกิดขึ้นเมื่อปี 2507 ในเวลานั้น นพ.มลิ ไทยเหนือ รองอธิบดีกรมอนามัยในขณะนั้นได้มาพบอาจารย์อุดม ซึ่งดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกศัลยศาสตร์ และคณบดีคณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เพื่อชักชวนให้ไปเยี่ยมเยียนถามไถ่ลูกศิษย์ที่อยู่ในต่างจังหวัดในขณะนั้นว่า พวกเขาทำอะไรอยู่และมีปัญหาเรื่องงานบ้างหรือไม่ อาจารย์และคณาจารย์ในแผนกจึงลงพื้นที่จังหวัดอุดรธานี เนื่องจากผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุดรธานีคุ้นเคยกับอาจารย์อุดมเป็นอย่างดี
ครั้งนั้นอาจารย์ได้แวะเวียนไปยังโรงพยาบาลประจำจังหวัดอุดรธานี ซึ่งสังกัดกรมการแพทย์ มีขนาดประมาณ 300-400 เตียง และแพทย์อีกราว 10 คน จากนั้นก็แวะเวียนไปยังสถานีอนามัยตามอำเภอต่างๆ ในสังกัดกรมอนามัย ซึ่งทั้งหมดมีแพทย์รวมกันเพียง 4 คนเท่านั้น การกระจุกตัวของแพทย์ในโรงพยาบาลส่วนกลางนี่เอง ที่สะกิดใจอาจารย์และคณะอย่างมาก
พอปีถัดมา อาจารย์จึงเริ่มต้นโครงการนำร่องที่อำเภอบ้านดุง อุดรธานี โดยให้อาจารย์แพทย์ 2 คนกับนักศึกษาแพทย์อีก 6 คน ลงพื้นที่ไปช่วยพัฒนาสถานีอนามัยที่นั่น เป็นเวลา 1 สัปดาห์ โดยก่อนเดินทาง อาจารย์ได้เรียกหัวหน้าชั้นมากำชับถึงวัตถุประสงค์ของปฏิบัติการ
โดยนอกจากการส่งเสริมฟื้นฟูสุขอนามัยของชาวบ้านแล้ว แพทย์แต่ละคนยังต้องทำความเข้าใจถึงสภาพปัญหาในพื้นที่ด้วย เพราะบางพื้นที่ชาวบ้านมีความรู้น้อย เครื่องอุปโภคบริโภคก็มีจำกัด ขาดความช่วยเหลือจากภายนอก ต้องดิ้นรนตามมีตามเกิด แถมยังขาดแคลนระบบชลประทาน ส่งผลให้เพาะปลูกไม่ค่อยได้ ซึ่งพอทุกคนเข้าใจก็จะยิ่งรู้สึกเห็นอกเห็นใจและอยากช่วยเหลือประชาชนมากยิ่งขึ้น
ผลปรากฏว่าโครงการนี้ดำเนินไปด้วยดีประชาชนลดความเคลือบแคลงใจกับฝ่ายรัฐจากเริ่มแรกที่มีท่าทีแข็งกร้าวเพราะช่วงนั้นกระแสคอมมิวนิสต์กำลังเติบโตก็หันมาตอบรับด้วยไมตรีจิตเช่นเดียวกับสุขภาพที่ค่อยๆดีขึ้นกลายเป็นต้นแบบเมื่อศิริราชยกทีมมาดูแลจังหวัดอุดรธานีในเวลาต่อมา
ในปี 2509 ถือเป็นก้าวย่างสำคัญของการลงพื้นที่ไปสัมผัสชาวบ้านของศิริราช เนื่องจากสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท เห็นว่าการรับมือกับคอมมิวนิสต์ในภาคอีสานได้ดีที่สุด ก็คือการพัฒนาพื้นที่ให้เจริญ จึงเชิญคณะแพทยศาสตร์ ทั้งศิริราช และจุฬาฯ รวมถึงกรมการแพทย์ และฝ่ายสาธารณสุขเทศบาลนครกรุงเทพ มาช่วยพัฒนาสาธารณสุขในจังหวัดต่างๆ ซึ่งศิริราชก็ยังปักหลักเลือกพื้นที่อุดรธานีต่อไป
แม้เป้าหมายใหญ่ของโครงการจะหวังผลทางการเมือง แต่อาจารย์อุดมก็ตระหนักดีว่า นี่คือโอกาสอันดีที่จะได้ช่วยเหลือพี่น้องประชาชน เพราะฉะนั้นการดูแลจึงไม่ใช่เพียงแค่นำยาไปแจก แต่ยังส่งบุคลากรทั้งแพทย์ พยาบาล เภสัชกร ลงไปปฏิบัติงานในพื้นที่ โดยมี ศ.เกียรติคุณ นพ.เปรม บุรี หนึ่งในทีมงานของแผนกศัลยศาสตร์ รับหน้าที่เป็นผู้อำนวยการโครงการ
วิธีการปฏิบัติงานของหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ครั้งนี้ ไม่ต่างจากโครงการนำร่อง โดยมีศูนย์ปฏิบัติการอยู่ที่โรงพยาบาลอุดรธานี ซึ่งศิริราชได้ส่งอาจารย์อาวุโส 1-2 คน อาจารย์วิสัญญีแพทย์ 1 คน แพทย์ประจำบ้านอีก 1-2 คน รวมทั้งพยาบาล เภสัชกร และเจ้าหน้าที่ธุรการอีก 10 คน ไปประจำการ
และยังมีทีมย่อย ซึ่งประจำอยู่ตามสถานีอนามัยต่างๆ จำนวน 4 แห่ง คือ หนองบัวลำภู เพ็ญ ผือ และหนองหาน โดยแต่ละแห่งจะมีอาจารย์แพทย์ 1 คน แพทย์ประจำบ้าน 1 คน พยาบาล 2 คน และคนขับรถอีก 1 คน ทำงานหมุนเวียนครั้งละ 2 สัปดาห์
แน่นอน แม้ชีวิตในชนบทจะยากลำบาก ไม่สะดวกสบายเหมือนในเมือง แต่ทุกคนก็ทำเต็มที่เพราะถือเป็นการเรียนรู้โลกที่แตกต่าง ที่สำคัญคือ อาจารย์อุดมไม่เคยทอดทิ้งลูกศิษย์เลย โดยตลอด 7 ปีที่ศิริราชปฏิบัติงานอยู่ที่นี่ อาจารย์ลงพื้นที่มากถึง 32 ครั้งเพื่อเยี่ยมเยียนและสร้างขวัญกำลังใจให้แก่ทีมแพทย์โดยทุกครั้งอาจารย์ก็จะนำเสบียงอาหารไปเลี้ยงทุกคนซึ่งเมนูยอดฮิตที่ติดมือไปเสมอก็คือเป็ดย่าง
แม้จะมีตำแหน่งเป็นคณบดี แต่เมื่อลงพื้นที่อาจารย์ก็ปฏิบัติตัวเหมือนคนทั่วไป เดินสำรวจพื้นที่ พูดคุยกับพ่อค้าแม่ค้าในตลาด อาศัยวัดเป็นที่นอน ด้วยตระหนักดีว่า วัดคือที่พึ่งพิงของชาวบ้าน เวลาเดือดร้อน เจ็บไข้ได้ป่วยอะไรก็มักวิ่งไปขอยากับสมภาร อาจารย์จึงคิดเสมอว่า วัดควรมีส่วนในการดูแลรักษาสุขภาพของประชาชน และเมื่อได้เข้าวัดบ่อยๆ จึงมีโอกาสใกล้ชิดกับเกจิอาจารย์หลายรูป เช่น หลวงปู่ขาว อนาลโย, หลวงพ่อชา สุภทฺโท และพระอาจารย์จวน กุลเชฏฺโฐ จึงได้ซึบซับหลักธรรมมากมาย ซึ่งกลายเป็นหลักปฏิบัติที่อาจารย์ยึดถือเรื่อยมา
ไม่เพียงเท่านั้น อาจารย์ยังเป็นผู้ผลักดันและสนับสนุน ค่ายอาสาศิริราช เพื่อพัฒนาอนามัยชนบท นับเป็นค่ายอาสาค่ายแรกๆ ของเมืองไทยที่ทำงานเรื่องสุขอนามัยในท้องถิ่น รวมถึงริเริ่มรางวัลแพทย์ดีเด่นในชนบท เพื่อเชิดชูและเป็นกำลังใจแก่แพทย์ในชนบทที่มีผลงานดีเด่น โดยไม่จำกัดว่าต้องเรียนจบจากสถาบันใด เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ผู้อื่นในการพัฒนาสาธารณสุขในท้องถิ่นที่ห่างไกล
จากความทุ่มเทและความตั้งใจผลักดันสถาบันการแพทย์เก่าแก่แห่งนี้ให้สัมผัสกับชุมชนและผู้คนมากที่สุด นับเป็นการสร้างจิตสำนึกรักประชาชนให้เกิดขึ้นในใจของแพทย์แต่ละคน และยังเป็นการพิสูจน์ความเชื่อว่า ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์ต้องมาเป็นที่หนึ่ง ประโยชน์ส่วนตนถือเป็นที่สองอีกด้วย
จากครูแพทย์ในคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล วันหนึ่งก็มีเหตุให้ชีวิตของอาจารย์อุดมพลิกผัน
เพราะหลังเหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ประเทศไทยก็ได้รัฐบาลชุดใหม่ที่นำโดย ศ.สัญญา ธรรมศักดิ์ และได้เชิญอาจารย์มาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะครูผู้ใหญ่ที่แพทย์และนักศึกษาต่างให้ความเคารพรัก
แม้จะได้รับเชิญอย่างฉุกละหุกหลังเกิดเหตุเพียงแค่วันเดียว แต่ด้วยเห็นว่าเป็นเรื่องของบ้านเมือง อาจารย์จึงตอบตกลง และเมื่ออาจารย์สัญญาถามต่อว่าอยากให้ใครเป็นรัฐมนตรีช่วย อาจารย์อุดมจึงเสนอชื่อ ศ. นพ.เสม พริ้งพวงแก้ว ไป
อาจารย์อุดมกับอาจารย์เสมเป็นเพื่อนร่วมรุ่นศิริราชที่คบหากันมายาวนาน แม้เส้นทางชีวิตจะแตกต่างกัน ด้วยอาจารย์อุดมเติบโตมาในโรงเรียนแพทย์มาตลอด ส่วนอาจารย์เสมนั้นคลุกคลีกับงานในชนบทเป็นหลัก เคยบุกเบิกโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ และภายหลังลาออกจากราชการมาเปิดคลินิกส่วนตัวนับสิบปี แต่ทั้งคู่ก็มีเป้าหมายเดียวกันคืออยากเห็นระบบสาธารณสุขของเมืองไทยพัฒนา
อาจารย์ทั้งสองทำงานเสมือนเป็นเนื้อเดียวกัน ตั้งแต่เดินทางมาทำงาน นั่งรับประทานพร้อมกัน ปรึกษาข้อราชการ รวมถึงลงพื้นที่ต่างๆ เพื่อไปรับฟังปัญหาด้วยกัน โดยแห่งแรกที่สองรัฐมนตรีไปก็คือ ริมคลองระหว่างสวนจิตรลดาฯ และสวนสัตว์ดุสิต ซึ่งเป็นจุดที่นักศึกษากับเจ้าหน้าที่ปะทะกัน แล้วก็ไปตามโรงพยาบาลต่างๆ เพื่อติดตามอาการของผู้บาดเจ็บเกือบพันชีวิต
ต่อมาแม้การเคลื่อนไหวของนิสิตนักศึกษาจะเบาบางลงไป แต่การเดินขบวนของสารพัดกลุ่มก็ยังเกิดขึ้นเป็นประจำทุกสัปดาห์ ซึ่งอาจารย์ทั้งสองก็ต้องเดินจากกระทรวงไปท้องสนามหลวง เพื่อรับฟังเสียงความทุกข์ร้อนต่างๆ ว่ามีอะไรบ้าง บางครั้งก็ต้องนั่งยองๆ กินข้าวที่หาบเร่ริมทางก็มี ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้เข้าใจข้อมูลต่างๆ และสามารถนำไปสะท้อนความเดือดร้อนเหล่านี้ต่อคณะรัฐมนตรี
กระทั่งเมื่อเหตุการณ์ในเมืองหลวงสงบทั้งคู่ก็ออกไปเยี่ยมสถานที่ราชการในส่วนภูมิภาคทั้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดโรงพยาบาลประจำจังหวัดสถานีอนามัยและสำนักผดุงครรภ์ซึ่งการไปนั้นจะไม่บอกล่วงหน้าไม่ต้องมีพิธีต้อนรับเพื่อให้ทุกคนทำงานได้อย่างเต็มที่โดยระหว่างนั้นก็มีการจดบันทึกข้อมูลอุปสรรคต่างๆอย่างละเอียด
แม้จะต้องทำงานหนักเพียงใด แต่การเข้าไปคลุกคลีกับพื้นที่ต่างๆ ก็ช่วยให้เข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมไทยได้ถ่องแท้ยิ่งขึ้น และนำไปสู่การวางนโยบายที่เหมาะสม
โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างกระทรวงสาธารณสุขใหม่ทั้งหมด
เวลานั้นกระทรวงสาธารณสุขมีกรมใหญ่อยู่กรมหนึ่งชื่อ กรมการแพทย์และอนามัย ซึ่งตั้งขึ้นก่อนที่อาจารย์ทั้งสองคนจะมาเป็นรัฐมนตรีได้ประมาณ 1 ปี โดยรวมกรมการแพทย์ ซึ่งรับผิดชอบโรงพยาบาลทั่วประเทศ กับกรมอนามัย ซึ่งรับผิดชอบสถานีอนามัย และสถานผดุงครรภ์ต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน เนื่องจากที่ผ่านมา หมอโรงพยาบาลกับหมออนามัยมักมีความขัดแย้งกันอยู่สมอ
พอหน่วยงานใหญ่เกิน ภาระงานก็มากตามไปด้วย มีบุคลากรนับหมื่นคน แถมงบประมาณกว่าร้อยละ 90 ที่รัฐบาลจัดสรรให้กระทรวงสาธารณสุขก็มากระจุกตัวอยู่ที่นี่หมด
แต่ที่เป็นปัญหาใหญ่กว่าคือ บริการด้านสาธารณสุขในพื้นที่ต่างจังหวัดไม่มีประสิทธิภาพ เพราะทั้งหมดต้องรอนโยบายจากส่วนกลางสั่งลงมาก่อน และในทางกลับกัน ส่วนกลางเองก็ไม่เข้าใจสภาพปัญหาของแต่ละท้องถิ่น ส่งผลให้นโยบายที่ออกมาไม่ตอบโจทย์ปัญหาที่ชาวบ้านต้องเผชิญ
อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ เมื่อรวมกรมกันแล้ว บทบาทเรื่องการส่งเสริมสุขภาพที่เคยแทรกตัวเป็นส่วนเล็กๆ ในกรมการแพทย์และกรมอนามัยก็ถูกดึงออกมาอยู่ในอีกกรมหนึ่งที่ตั้งใหม่ ชื่อกรมบริการสาธารณสุข ซึ่งมีงบประมาณจำกัดมาก นโยบายการดูแลสุขภาพประชาชนของประเทศไทยเวลานั้นจึงเน้นที่ ‘การรักษา’ มากกว่า ‘การป้องกัน’
ในฐานะที่คุ้นเคยกับชนบทมานาน อาจารย์ทั้งสองเข้าใจว่า การปล่อยให้คนป่วยแล้วมารักษาโรคทีหลังนั้นเป็นเรื่องสิ้นเปลืองอย่างมาก และไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ยั่งยืนเลย ทางออกที่ดีที่สุดคือ ประชาชนควรจะดูแลสุขภาพพื้นฐานของตัวเองได้ เช่น ใช้สมุนไพรรักษาโรคเล็กๆ น้อยๆ แทนที่จะเดินทางข้ามตำบล ข้ามอำเภอเป็นชั่วโมง เพื่อมาพบแพทย์เป็นเวลาไม่กี่นาที
นั่นเองที่นำไปสู่การยกเครื่องกระทรวงสาธารณสุขใหม่ ตามแนวทางของอาจารย์อุดมและอาจารย์เสม เสริมด้วยข้าราชการและแพทย์รุ่นใหม่ที่เข้ามาช่วยงาน ตั้งแต่การปรับกรมในกระทรวงใหม่ เกิดกรมใหม่ๆ อย่างเช่น กรมควบคุมโรค สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา รวมถึงแยกกรมอนามัยกับกรมการแพทย์ออกจากกัน โดยให้ทั้งสองกรมดูแลเฉพาะงานวิชาการเป็นหลัก แล้วโยกย้ายงานรักษาพยาบาลกับการป้องกันโรคมาอยู่ที่สำนักปลัดกระทรวงแทน
นอกจากนั้นยังมีการกระจายอำนาจจากส่วนกลางไปสู่ภูมิภาค โดยให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ทำหน้าที่เหมือนผู้ว่าราชการจังหวัดของกระทรวงสาธารณสุข ดูแลสถานพยาบาล ทั้งโรงพยาบาล สถานีอนามัย และสถานผดุงครรภ์ในพื้นที่ และขับเคลื่อนภารกิจ 5 ด้าน คือ ส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค รักษาโรค ฟื้นฟูสมรรถภาพ และเฝ้าระวังโรค ไม่ได้เน้นเพียงแค่การรักษาโรคเท่านั้น
การรื้อโครงสร้างของกระทรวงสาธารณสุขแบบถอนรากถอนโคน สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วประเทศ เนื่องจากแทบไม่มีหน่วยราชการระดับกระทรวงใดที่กระจายอำนาจจากส่วนกลางไปสู่ส่วนภูมิภาคแบบนี้ จนหลายคนเกรงว่า ล้ำหน้าเกินไปหรือเปล่า
แต่ที่หนักหน่วงที่สุดคือ กลุ่มแพทย์ในโรงพยาบาลออกมาประท้วง เพราะหลายคนมองว่าตัวเองถูกตัดอำนาจ และยังต้องการสังกัดกรมการแพทย์มากกว่าอยู่ภายใต้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ซึ่งปรับตำแหน่งมาจากอนามัยจังหวัด ถึงขั้นเดินทางจากต่างจังหวัดมาปักหลักอยู่หน้ากระทรวงเพื่อขอพบรัฐมนตรีให้ได้ แต่อาจารย์ทั้งสองก็ไม่หวั่นไหว พยายามชี้แจงถึงความจำเป็น จนผู้ชุมนุมแยกย้าย
หากแต่ระหว่างที่กฎหมายปรับปรุงส่วนราชการกำลังรอการพิจารณาของรัฐสภา อาจารย์สัญญาได้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก่อนจะได้รับแต่งตั้งใหม่ในสัปดาห์ถัดมา เวลานั้นมีกระแสกดดันจากผู้มีอิทธิพลบางคน เพื่อไม่ให้แต่งตั้งอาจารย์อุดมและอาจารย์เสมกลับมาเป็นรัฐมนตรี แต่สุดท้ายถึงแม้ปรับเปลี่ยนรัฐมนตรีหลายคน แต่รัฐมนตรีทั้งสองคนของกระทรวงสาธารณสุขก็ยังคงได้กลับมาทำหน้าที่ และสามารถผลักดันจนปฏิบัติการครั้งนี้ประสบความสำเร็จ
การปรับปรุงส่วนราชการในกระทรวงสาธารณสุขครั้งนี้ได้กลายเป็นรากฐานที่อยู่คู่เมืองไทยมาถึงปัจจุบัน และนำไปสู่การต่อยอดนโยบายใหม่ๆ อาทิ การยกฐานะของสถานีอนามัยเป็นศูนย์การแพทย์และอนามัย และโรงพยาบาลชุมชน เพื่อให้การดูแลพี่น้องประชาชนในระดับอำเภอทำได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
รวมถึงการผลักดันระบบสาธารณสุขมูลฐาน โดยเวลานั้นองค์การอนามัยโลกได้สนับสนุนให้ประเทศสมาชิกปรับปรุงระบบบริการสาธารณสุขให้บรรลุเป้าหมายสุขภาพดีถ้วนหน้า
อาจารย์ทั้งสองคนได้มอบหมายให้ นพ.สมบูรณ์ วัชโรทัย อธิบดีกรมอนามัย ทำโครงการนำร่องที่จังหวัดลำปาง ชื่อ โครงการพัฒนาและประเมินผลระบบการให้บริการอนามัยผสมผสาน เรียกสั้นๆ ว่า โครงการดีดส์ (DEIDS) โดยเน้นปรับปรุงระบบสาธารณสุข ให้สามารถบริการทั้งด้านการรักษาพยาบาล ป้องกันโรค และส่งเสริมสุขภาพครอบคลุมได้มากยิ่งขึ้น นำทรัพยากรในชุมชนมาใช้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงฝึกบุคลากรในพื้นที่ให้ช่วยงานบริการสาธารณสุขในชุมชนได้ ซึ่งต่อมาโครงการนี้ก็ได้รับการต่อยอด และใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในเวลาต่อมา
แม้จะนั่งทำงานในกระทรวงสาธารณสุขเพียงแค่ปีเศษ แต่สิ่งที่อาจารย์อุดมและอาจารย์เสมร่วมกันผลักดันนั้นกลับสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ และยังคงอยู่มาถึงปัจจุบัน
แน่นอนทั้งหมดจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากปราศจากความกล้าหาญ และปณิธานแน่วแน่ที่หวังจะสร้างระบบที่ดีเพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนทั่วประเทศ
การลดฐานะจากแพทย์ผู้ชำนาญมาเป็นแพทย์ทั่วไปนั้นไม่ยาก ไม่ต้องไปขอใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะใหม่ เพราะฉะนั้นการเปลี่ยนฐานะของผมมาเป็นแพทย์ธรรมดาจึงทำได้ง่าย แต่การเป็นศัลยแพทย์มันก็คงติดตัวอยู่
หลังพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในเดือนกุมภาพันธ์ 2518 อาจารย์อุดมตัดสินใจวางหัวโขนต่างๆ ในชีวิตไว้เบื้องหลัง
แต่สิ่งที่ไม่เคยจางหายคือ ความตั้งใจอยากจะทำประโยชน์เพื่อสังคม โดยตอนนั้นอาจารย์วางแผนไว้คร่าวๆ ว่า จะสะสางงานที่คั่งค้างในโรงพยาบาลศิริราชให้เรียบร้อย
จากนั้นก็จะเดินทางไปตามจังหวัดและอำเภอต่างๆ ที่มีแพทย์หนุ่มสาวประจำการอยู่ เพื่อช่วยเหลือให้ความรู้ และให้กำลังใจ เพราะอาจารย์ตระหนักดีว่า แพทย์เหล่านี้ต้องทำงานหนัก บางโรงพยาบาลมีแพทย์แค่คนเดียว เครื่องมือก็จำกัด ญาติผู้ป่วยเองก็ไม่ค่อยเกรงใจหมอ ถึงจะเป็นเวลาพักผ่อนก็ยังเรียกให้ไปดูอาการทันที ทั้งที่บางครั้งมีอาการเพียงเล็กน้อย แพทย์หลายคนจึงต้องพร้อมทำงานตลอด 24 ชั่วโมง แต่เมื่อสะท้อนความคิดเห็นให้เบื้องบนรับทราบ แพทย์ผู้ใหญ่หลายคนก็ไม่ค่อยรับฟัง ส่งผลให้แพทย์บางคนรู้สึกท้อถอยอยากเลิกทำงานไปเลยก็มี
“แพทย์ที่ออกไปตามอำเภอต่างๆ แม้จะมีศรัทธาแรงกล้าตอนแรก แต่เมื่อพบอุปสรรคและปัญหาต่างๆ ก็ท้อใจ จึงมาคิดว่า เพื่อนๆ ที่อยู่กรุงเทพฯ นั้นเขาสบาย ได้มีงานตามที่ตนชอบคือ การรักษาอย่างเดียว มีครูบาอาจารย์คอยแนะนำสั่งสอนอยู่ตามสมควร โอกาสที่จะไปเมืองนอกหรือเลื่อนขั้น เป็นอาจารย์ต่อไปในโรงเรียนแพทย์ก็มีมาก ธุระอะไรที่เราจะมาทนความลำบากในท้องถิ่นทุรกันดาร ซึ่งมีแต่ความเจ็บช้ำระกำใจ เพราะบุคคลที่แวดล้อมซึ่งมีทั้งดีและไม่ดี
“นอกจากนั้นวิชาความรู้ที่มีอยู่นับวันก็จะหดหายไปทุกที ใครจะมานั่งกินอุดมคติ เพื่อนๆ เขาก็มีแต่เยาะเย้ย ควรฉวยโอกาสเมื่อถึงเวลา คนหนุ่มสาวเขาคิดกันอย่างนั้น เมื่อผมอยู่ในวัยนั้น ผมก็คิดอย่างนั้นเป็นของธรรมดา ทุกคนอยากก้าวหน้าในวิชาชีพและฐานะ”
นอกจากตระเวนให้ความรู้แล้ว อาจารย์อุดมยังเข้าไปปฏิบัติงานเป็นแพทย์อาสาตามหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ต่างๆ โดยในเดือนตุลาคม 2522 อาจารย์อ่านข่าวหนังสือพิมพ์พบว่า ชาวเขมรนับหมื่นชีวิตหนีภัยสงครามเข้ามาในเขตอำเภออรัญประเทศ (เวลานั้นยังเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดปราจีนบุรี)
หัวหน้าสถานีกาชาดในพื้นที่ จึงประกาศขออาสาสมัครทีมแพทย์และพยาบาลไปช่วยดูแลผู้บาดเจ็บ อาจารย์อุดมจึงรีบประสานไปยัง ศ. นพ. ม.ล.เกษตร สนิทวงศ์ เลขาธิการสภากาชาดไทย เพื่อร่วมเดินทางไปปฏิบัติภารกิจนี้ด้วย และพอไปถึงค่ายอพยพบ้านแก้ง ก็ได้เห็นภาพอันน่าสลด เพราะนอกจากคนเจ็บที่นอนกันเกลื่อนกลาดแล้ว ยังมีผู้เสียชีวิตทั้งเด็กและผู้ใหญ่มากถึง 30-40 ราย จนต้องขุดหลุมใหญ่ๆ เพื่อนำร่างไปฝังดินไว้ชั่วคราว โดยระหว่างนั้นอาจารย์ก็ตระเวนออกตรวจคนไข้กว่า 800 ชีวิต แทบไม่ได้หยุดพักเลย
เหตุการณ์ครั้งนั้น ทำให้อาจารย์กลับมาตระหนักว่า ตนยังสามารถทำอะไรได้อีกมาก เพื่อช่วยเหลือประชาชนจำนวนมากที่กำลังตกทุกข์ได้ยาก
“ตอนที่กลับมาเมืองไทยได้เรียนมามากมาย ก็ฝันว่าจะเป็นศัลยแพทย์มือหนึ่งของเมืองไทย นั่นแหละเกิดเรื่องตัวกูของกูขึ้นมาแล้ว กูจะต้องเก่งกว่าใครๆ พระสังฆราชองค์นั้นจะต้องเป็นคนไข้ของกู พระเจ้าบรมวงศ์เธอองค์นั้น กูจะต้องผ่าตัด สักกายทิฏฐิอันนี้ก็เหยียบย่ำบนหัวของผมตลอดหลายสิบปี…แต่เวลานี้ตัวกูของกูของผมมันน้อยลง จึงคิดว่าการเป็นศัลยแพทย์ในโรงเรียนแพทย์นั้นทำหน้าที่ช่วยคนได้ไม่กี่คน ควรจะทำอย่างอื่นที่ได้ให้ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่านี้
“แม้ว่าชื่อเสียงเงินทองจะหมดสิ้นไปก็ตาม การลดฐานะจากแพทย์ผู้ชำนาญมาเป็นแพทย์ทั่วไปนั้นไม่ยาก ไม่ต้องไปขอใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะใหม่ เพราะฉะนั้นการเปลี่ยนฐานะของผมมาเป็นแพทย์ธรรมดาจึงทำได้ง่าย แต่การเป็นศัลยแพทย์มันก็คงติดตัวอยู่”
จากนั้นอาจารย์ก็ตามติดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ของสถาบันต่างๆ โดยเฉพาะมูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พอ.สว.) ขึ้นเหนือล่องใต้ จนกระทั่งปี 2528 จึงได้รับแต่งตั้งเป็นเลขาธิการมูลนิธิ พอ.สว. ทำหน้าที่นำหน่วยแพทย์ลงพื้นที่ห่างไกลใน 48 จังหวัดทั่วประเทศ
อาจารย์มีโอกาสช่วยเหลือผู้ป่วยหลายพันชีวิต บางคนก็อยู่ห่างไกล ไม่สะดวกที่จะไปพบแพทย์ จนอาการป่วยเรื้อรัง อาจารย์จึงช่วยตรวจดู จัดยาให้รับประทานจนอาการดีขึ้น บางครั้งก็ต้องกลับมาเป็นศัลยแพทย์ ช่วยผ่าตัดเล็กๆ น้อยๆ สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงมากนัก
สิ่งหนึ่งที่อาจารย์ยึดมั่นเสมอมาคือ พระราชดำรัสของสมเด็จพระศรีนครินทราฯ ที่มักมีต่ออาจารย์อุดมเสมอว่า ถึงการทำงานนี้จะเป็นส่วนน้อยนิด และยังไม่ทั่วถึง แต่อย่างน้อยก็เป็นการกระตุ้นเตือนให้กระทรวงสาธารณสุขเห็นปัญหาของประชาชนทุกหนทุกแห่ง โดยเฉพาะประชาชนที่มีโอกาสน้อยควรได้รับการรักษาพยาบาลที่ดีขึ้น และสิ่งที่ตามมาก็คือ ความสุขของประชาชนนั่นเอง
อาจารย์ปฏิบัติหน้าที่จนอายุได้ 78 ปี ก็ต้องหยุดพัก เพราะต้องผ่าตัดเปลี่ยนเส้นเลือดหัวใจ จากนั้นอีก 2 ปี กราบบังคมทูลลาออก จึงโปรดฯ ให้ไปรับตำแหน่งที่ปรึกษากิตติมศักดิ์เรื่อยมา จนกระทั่งเสียชีวิตเมื่อปี 2540
แม้อาจารย์อุดมจากจะไปนานกว่า 2 ทศวรรษ แต่เรื่องราวและผลงานมากมายที่ท่านริเริ่มผลักดัน และทุ่มเทมาทั้งชีวิตก็ยังคงผลิดอกออกผลมาถึงปัจจุบัน และคงไม่มีสิ่งใดที่จะลบเลือนครูแพทย์ผู้นี้จากความทรงจำของผู้คนได้อย่างแน่นอน
ครูแพทย์ผู้บุกเบิกประสาทศัลยศาสตร์ในเมืองไทย ตลอดจนมีส่วนในการยกเครื่องกระทรวงสาธารณสุข และผลักดันแพทย์ไทยไปสู่ชนบท
ปูชนียบุคคล ผู้เป็นแรงบันดาลใจให้แก่พยาบาลในโรงพยาบาลศิริราช
รู้จักหมอนพพร หมอผู้โด่งดังที่ทำให้คนไทยรู้ว่าเพศศึกษาไม่ใช่เรื่องน่าอาย และใกล้ตัวกว่าที่คิด
ฝันอันยิ่งใหญ่ของเจ้าชายหนุ่มที่ทุ่มเททั้งชีวิตเพื่อการสร้างโรงพยาบาลศิริราช ให้สามารถเป็นที่พึ่งของคนไทยได้อย่างแท้จริง
สัมผัสเรื่องราวของ นพ.สุด แสงวิเชียร ครูผู้ให้แก่ศิริราชพยาบาล หนึ่งในแพทย์คนสำคัญผู้บุกเบิกวิชากายวิภาคศาสตร์ของเมืองไทย
ครูแพทย์คนสำคัญของศิริราชพยาบาล ผู้บุกเบิกโครงการตำราแพทย์ และส่งความรู้ถึงนักศึกษาแพทย์ยุคปัจจุบัน แม้จะปราศจากลมหายใจแล้วก็ตาม
โลกดนตรี ตำนานรายการคอนเสิร์ตกลางแจ้ง ที่ศิลปินยุค 1970-2000 อยากขึ้นแสดงมากที่สุด เพราะใครที่มีโอกาสได้ขึ้นเวทีนี้ แสดงว่าดังแล้ว
ห้องทดลองกฎหมายของ รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร ที่ทำงานเรื่องการพิสูจน์สิทธิเรื่องสัญชาติ เพื่อให้ทุกคนได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม
เครือข่ายคนรุ่นใหม่ที่อยากรักษาเสน่ห์ของพื้นที่อารีย์ พร้อมกับรักษาชุมชนที่ยั่งยืนด้วยการใช้กุศโลบายที่ดึงดูดให้คนทุกมีส่วนร่วม
นักออกแบบแดนปัตตานีที่รวมกลุ่มกันจัดกิจกรรม เพื่อเปลี่ยนภาพจำๆ เดิมของชายแดนใต้ ไปสู่กลายเป็นเมืองสร้างสรรค์
จากครูอาสาที่มาสอนดนตรีในชุมชนคลองเตย สู่การต่อยอด เพื่อสร้างโอกาสให้เด็กๆ ได้มีพื้นที่ที่จะเติบโตอย่างงดงาม
แรงบันดาลใจของพระอีสานผู้ไม่มีโอกาสได้เรียนต่อ สู่การสร้างโอกาสทางการศึกษาด้วยพลังงานแสงอาทิตย์
COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO. ALL RIGHTS RESERVED.