มณเฑียร แก้วกำเนิด : โต้ง P.O.P – มือกีต้าร์แห่งค่ายขนมปังดนตรี

<< แชร์บทความนี้

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2541 เพลงรักของเธอมีจริงหรือเปล่า? ปรากฏขึ้นบนหน้าปัดวิทยุ พร้อมกับวงดนตรีน้องใหม่จากค่าย Bakery Music นามว่า Period of Party หรือ P.O.P

เพลงฟังสบายๆ แค่ได้ยินเสียงดนตรีก็ติดหูโดยทันที ไม่แปลกว่า ทำไมเพลงชื่อยาวๆ แบบนี้จึงกลายเป็นเพลงฮิตข้ามกาลเวลามาจนถึงปัจจุบัน

แน่นอนหนึ่งในเบื้องหลังความสำเร็จ ย่อมมีชื่อ โต้ง-มณเฑียร แก้วกำเนิด มือกีตาร์ของวงรวมอยู่ด้วย สำหรับใครหลายคน เขาคือมือกีตาร์ที่เป็นสัญลักษณ์คู่กับค่ายขนมปังดนตรี

เขาเป็นผู้เขียนทำนองเพลงฮิตมากมาย ตั้งแต่ อยากหลับตา, ข้อความ, คนที่เดินผ่าน, ฉันจะโชคดีเหมือนแม่ฉันนี้บ้างไหม ฯลฯ และแน่นอนยังรวมไปถึงผลงานเดี่ยวอย่าง Save Da Last Piece ซึ่งถึงไม่ได้มีชื่อเสียงในวงกว้าง แต่ใครหลายคนก็จดจำอัลบั้มชุดนี้ได้ไม่ลืม

เพื่อรำลึกถึงการจากไปของโต้ง P.O.Pยอดมนุษย์..คนธรรมดา ขอพาทุกคนไปย้อนเรื่องราวของนักดนตรีและโปรดิวเซอร์ผู้นี้ ชายผู้สร้างเสียงเพลงแห่งความทรงจำมาตลอดเกือบ 3 ทศวรรษ

ชายผู้หลงใหลดนตรี

ชีวิตของโต้งนั้นผูกพันและใกล้ชิดกับดนตรีมาตลอด

เขาเริ่มตั้งวงดนตรีของตัวเองตั้งแต่อยู่ชั้น ม.2 ที่โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ครั้งแรกนั้นเขาเล่นเบส แต่หลังจากเล่นไปสักพักก็พบว่า ไม่ใช่ทางจึงเบนเข็มมาเล่นกีตาร์แทน

ด้วยความหลงใหลนี่เอง หลังเรียนจบเขาก็ลัดฟ้าไปเรียนต่อด้านเรียบเรียงเพลงที่ Berklee College of Music พอเรียนจบก็ทำเดโม่ไว้เพลงหนึ่ง จากนั้นจึงนำไปมอบให้ สมเกียรติ อริยะชัยพาณิชย์ ซึ่งกำลังเริ่มบุกเบิกค่ายเพลง Bakery Music ก่อนที่จะถูกเรียกตัวไปทำงานเป็นนักแต่งเพลงที่นี่

“เรากับป๊อด (ธนชัย อุชชิน) รู้จักกันมานานมากๆ ก่อนที่เราจะไปเรียนต่างประเทศก็พูดกันไว้ว่าจะทำวงด้วยกัน แต่พอเรากลับมาป๊อดก็มีวง ออกเทปไปละ วันนั้นเราแค่อยากจะไปหาไอ้ป๊อด! แต่ดันไปเดินชนพี่สมเกียรติอย่างแรงเลย เรารู้สึกคุ้นๆ หน้า เพราะติดตามผลงานพี่สมเกียรติอยู่แล้ว ก็เลยทักพี่เขาก่อน เลยได้ทำความรู้จักกัน เนี่ย! มันโคตรบังเอิญ”

แม้จะมีตำแหน่งเป็นคนทำเพลง แต่โต้งก็สนุกกับการเล่นดนตรีไม่เปลี่ยนแปลง

เขารับหน้าที่เป็นมือกีตาร์แบ็กอัพให้ศิลปินในสังกัด และต่อมาเมื่อศิลปินสาว อรอรีย์ เริ่มทำอัลบั้มของตัวเอง โต้งก็ได้รับทาบทามให้เป็นมือกีตาร์ประจำวง โดยครั้งนั้นเขาได้ดึงเพื่อนสนิท อย่าง โป้-ปิยะ ศาสตรวาหา มาร่วมเล่นเบสด้วย

จากวิกฤตสู่เสียงเพลง

บทบาทของโต้งอาจจะเป็นคนเบื้องหลังตลอดไปก็ได้ หากเมื่อปี 2540 ประเทศไทยไม่เผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง

ในเวลานั้นบริษัทต่างๆ พากันปิดตัวหมด แม้แต่ Bakery Music ก็อยู่ในขั้นใกล้ล้มละลาย และเพื่อพยุงไม่ให้บริษัทปิด นภ พรชำนิ นักร้องเสียงดีที่ฝากผลงานในค่ายมาต่อเนื่อง ตั้งแต่ ฤดูที่แตกต่าง, ดอกไม้, อยากหลับตา จึงเกิดไอเดียว่า น่าจะทำโปรเจ็กต์เฉพาะกิจที่ทำให้มีเงินไหลเข้าบริษัทได้บ้าง

นภจึงชักชวน โต้ง และ ก้อ-ณฐพล ศรีจอมขวัญ ซึ่งเป็นมือเบสแบ็กอัพของโมเดิร์นด็อก ในชุดคาเฟ่ มาทำเพลงด้วยกัน กระทั่งออกมาเป็น 2 เพลงแรก คือ ไม่มี และแค่ได้พบเธอ

“เราวางตัวเองเป็นโปรดิวเซอร์.. ตอนแรกคิดว่าจะทำแค่เดโม่ แต่ไปๆ มาๆ มันหาคนเล่นให้ไม่ได้ จนเมื่อถึงเวลาที่จะโปรโมตตามสื่อต่างๆ ทำให้เราต้องออกไปผลักดันอัลบั้มของเรา ต้องไปออกวิทยุ ไปออกตามสื่อต่างๆ และสุดท้ายเราก็ต้องทำทุกอย่างด้วยตัวเองทั้งหมด จนคนเข้าใจว่า พวกเราคือวงดนตรี”

P.O.P ชุดแรก Era มีเพลงแค่  5 เพลง โดยเพลงหนึ่งชื่อว่า คนดี เคยรวมอยู่ในอัลบั้ม Zequence ของสมเกียรติ อริยะพาณิชย์ แต่ก็นั่นเพียงพอแล้วที่จะทำให้อัลบั้มนี้ฝังแน่นในความรู้สึกของผู้ฟัง

ว่ากันว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้ P.O.P ได้รับเสียงตอบรับอย่างล้นหลาม ส่วนหนึ่งมาจากเพลงของพวกเขาเข้ามาอุดช่องว่างในตลาดพอดี เพราะเพลงที่อยู่ในกระแสส่วนใหญ่ หากไม่เป็นเพลงร็อกหนักๆ ก็มักจะเป็นเพลงวัยรุ่นที่เน้นการเต้น หรือไม่บางทีก็เป็นเพลง Easy Listening สำหรับรุ่นใหญ่ไปเลย

ขณะเดียวกันเพลง P.O.P เป็นป๊อปที่อยู่กลางๆ เน้นเนื้อหาที่เข้าใจง่าย ทุกคนร้องตามได้ หากแต่ในส่วนของดนตรีมีรายละเอียดที่เป็นลักษณะเฉพาะ และหลากหลาย เนื่องจากสมาชิกแต่ละคนนั้นมีความสนใจไม่เหมือนกัน คือ โต้งชอบร็อก นภชอบอาร์แอนด์บี และก้อชอบแจ๊ส

“P.O.P มันเป็นจุดร่วมของคนสามคน เป็นจุดที่อยู่ตรงกลาง คือจุดที่เรามองเห็นเหมือนๆ กัน ชอบเหมือนๆ กัน เรื่องแนวเราไม่จำกัดว่าต้องเป็นยังไง ขอแค่เป็นป๊อปก็พอ เราก็เลยมีเพลงร็อกที่ป๊อป มีแจ๊สที่ป๊อป มีโซลที่ป๊อป เราสามารถที่จะหยิบทุกอย่างเข้ามาใช้โดยทำให้มันป๊อป นี่คือสิ่งที่เราสามคนเห็นเหมือนกัน”

แม้จะอยู่ค่ายเล็กที่แทบไม่มีสื่อเป็นของตัวเอง แต่อัลบั้ม Era ก็กลายเป็นหนึ่งในอัศวินม้าขาวที่ทำให้ Bakery Music รอดพ้นวิกฤตมาได้ โดยครั้งนั้นพวกเขาตั้งเป้าว่าอยากจะขายให้ได้สัก 30,000 ชุด แต่สุดท้ายปรากฏว่าทำยอดขายทะลุ 100,000 ตลับ พร้อมกับมีงานเดินสายโชว์ตามพื้นที่ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

ที่สำคัญประสบการณ์จาก P.O.P ที่ต้องจัดการทุกอย่างเองหมด ยังบ่มเพาะทักษะการเป็นโปรดิวเซอร์ให้แก่พวกเขาทั้งสามคนอีกด้วย

P.O.P มันเป็นจุดร่วมของคนสามคน เป็นจุดที่อยู่ตรงกลาง คือจุดที่เรามองเห็นเหมือนๆ กัน ชอบเหมือนๆ กัน เรื่องแนวเราไม่จำกัดว่าต้องเป็นยังไง

มณเฑียร แก้วกำเนิด : โต้ง P.O.P – มือกีต้าร์แห่งค่ายขนมปังดนตรี

ชิ้นสุดท้ายแฟนสวย

จากนั้นอีก 2 ปี P.O.P ก็ออกอัลบั้มเต็ม 12 เพลง มีคอนเสิร์ตใหญ่ของตัวเองอีก 2 ครั้ง รวมทั้งได้ทำเพลงที่แห่งนี้ ประกอบภาพยนตร์เรื่องคู่แท้ปาฏิหาริย์ ก่อนจะประกาศแยกย้ายวงในปี 2547

ในช่วงนั้นเองที่โต้งเริ่มต้นโครงการอัลบั้มเดี่ยวของตัวเอง โดยก่อนหน้านั้นเขาเคยช่วยทำเพลงโฆษณาเปิดตัวนาฬิกายี่ห้อหนึ่งของ เต้ง-พิชัย จิราธิวัฒน์ ผู้บริหารเครือเซ็นทรัล

แม้จะเป็นผู้บริหารระดับสูง แต่เต้งก็มีความสนใจเรื่องดนตรี เคยร่วมร้องเพลงในอัลบั้มพิเศษของอัสนี-วสันต์ โชติกุล ประกอบกับช่วงนั้นกระแสเพลงอินดี้กำลังเบ่งบาน เต้งจึงคิดที่จะเปิดค่ายเพลงของตัวเอง จึงชักชวนโต้งมาเป็นศิลปินคนแรกของค่าย Spicydisc ในชื่อ Save Da Last Piece โดยเลือกเปิดตัวในงาน Fat Festival ครั้งที่ 4

Save Da Last Piece มาจากไอเดียสนุกๆ คือ ‘ชิ้นสุดท้ายแฟนสวย’ อัลบั้มชุดนั้นประกอบด้วย 3 บทเพลง คือ อย่า ขอ รอ โดยทำแพ็กเกตซีดีเป็นรูปขนมเค้ก แล้วถัดมาอีก 1 ปีถัดมา ถึงค่อยมีอัลบั้มเต็มชุดแรก Appetizer ออกมา โดยเขาเลือกศิลปินที่คุ้นเคยมาร่วมร้องเต็มไปหมด

“เรามีเพลงอยู่แล้ว และเราก็มีศิลปินไว้ในใจอยู่แล้ว.. ด้วยความที่เราเป็นโปรดิวเซอร์ ก็จะรู้จักศิลปิน นักร้องพอสมควร จะรู้ว่าคาแรคเตอร์ของแต่ละคนเป็นยังไง เล่นดนตรีออกมาเป็นยังไง ร้องออกมาเป็นยังไง เราก็หยิบเอาความรู้ของเรากับคุณภาพของศิลปินมาใช้ในงาน”

แม้ในแง่ชื่อเสียง Appetizer อาจไม่ใช่อัลบั้มที่โด่งดัง แต่ก็เป็นอัลบั้มเพลงรักที่ใครหลายคนรัก เพราะภายใต้ความเรียบง่ายของบทเพลง แต่กลับมีส่วนผสมที่ลงตัว ตั้งแต่เสียงร้อง เนื้อหา ดนตรี ทำให้อัลบั้มชุดนี้กลมกล่อมและฟังเพลินจนแทบไม่รู้ตัว แต่ที่สำคัญมากกว่าคือ สไตล์การเล่นกีตาร์ของเขายังกลายเป็นต้นแบบของศิลปินรุ่นน้องอีกหลายคน

โต้งยังคงมีผลงานอย่างต่อเนื่องทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง โดยเขารับหน้าที่เป็นโปรดิวเซอร์ให้กับวงดนตรีอีกหลายวงในค่าย เช่น Sqweez Animal และในปี 2555 เขากับนภและก้อ ก็กลับมาฟอร์มทีมร่วมกับ สมเกียรติ และเจอรี่ศศิศ มิลินทวณิช ทำผลงานชุดใหม่ของ P.O.P

สำหรับโต้งแล้ว การทำเพลงคือความสุข ความสนุก และความรักที่เขาเลือกเสมอมา

แม้วันนี้ร่างกายของเขาจะจากไป แต่วิญญาณและผลงานที่มือกีตาร์แห่ง Bakery Music ผู้นี้สร้างสรรค์ขึ้นตลอดเกือบ 30 ปีจะไม่หายไปไหน และจะคงอยู่ในใจของแฟนเพลงตลอดไป

ภาพและข้อมูลประกอบการเขียน

  • นิตยสาร 375°F ฉบับที่ 5 กรกฎาคม 2547
  • รายการคิดถึงจัง วันที่ 10-14 มิถุนายน 2556
  • เว็บไซต์ Spicydisc

<< แชร์บทความนี้

RELATED POSTS
LATEST

Keep In Touch

COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO.  ALL RIGHTS RESERVED.