หากคุณเติบโตมาพร้อมกับแบบเรียนภาษาไทยชุดมานะมานี เชื่อว่าคงไม่มีทางลืมภาพประกอบในหนังสือเรียนเล่มแรกแน่นอน
นี่คือผลงานสร้างชื่อของ เตรียม ชาชุมพร ศิลปินลูกอีสาน ซึ่งครั้งหนึ่งเคยถูกยกให้เป็นความหวังของวงการนักเขียนการ์ตูนไทย เพราะด้วยความฝันอันยิ่งใหญ่ที่เชื่อว่าการ์ตูนมีพลังพิเศษ เปลี่ยนเด็กในวันนี้ให้กลายเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในวันข้างหน้าได้ ทำให้เขามุ่งมั่นที่จะบุกเบิกการ์ตูนเด็กและนิยายภาพแนวสร้างสรรค์สู่สังคมอย่างต่อเนื่อง แม้สุดท้ายเวลาในชีวิตของเขาอาจไม่ยืนยาวก็ตาม
ยอดมนุษย์..คนธรรมดา จึงอยากชักชวนทุกคนมาร่วมสัมผัสชีวิตและตัวตนของเตรียม แล้วคุณจะเข้าใจว่าเหตุใดผลงานของชายคนนี้จึงอยู่ในใจของใครต่อใครเสมอมา
หากถามว่าคนส่วนใหญ่หลงรักอะไรในภาพวาดแบบเรียนมานะมานี ชั้น ป.1
บางคนอาจนึกถึงภาพตัวละครที่เปี่ยมด้วยชีวิตชีวา บางคนอาจประทับใจภาพวิวทิวทัศน์ ทั้งต้นไม้ ภูเขา สายน้ำ หรือแม้แต่ภาพแผนที่ ซึ่งถ่ายทอดออกมาได้อย่างเป็นธรรมชาติ
แต่เบื้องหลังความงดงามนั้นมีแรงผลักดันสำคัญจาก ชีวิตวัยเด็กของตัวศิลปินนั่นเอง
เตรียมเป็นเด็กบ้านนอก เติบโตท่ามกลางท้องนาไร่ปอในหมู่บ้านหนองหวาย จังหวัดศรีสะเกษ
แม้มีฐานะยากจน แต่เขาก็หาความสนุกจากธรรมชาติรอบตัว และสิ่งนี้ก็ฝังแน่นในใจเรื่อยมา
เขาเคยบรรยายภาพชีวิตช่วงนั้นว่า
“พ่อกับแม่มักออกไปหาปลาที่แม่น้ำมูล แม่พายเรือ พ่อตกปลา เรามักไปกันเป็นหมู่เรือหลายลำ ได้ปลาก็จอดเรือพักกินข้าวกลางวันกัน เอาปลามาย่าง ผักก็เก็บเอาตามป่าถึงชีวิตช่วงนั้นจะลำบากแต่ผมก็รักมัน..
“พ่อผมเป็นช่างประดิษฐ์ที่หาตัวจับยาก แกประดิษฐ์ได้หมดถ้าเป็นงานฝีมือของพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นการขุดเรือ ทำปืนแก๊ป ทำเกวียน ทำบั้งไฟ จนถึงงานจักสาน กระบุง ตะกร้า หรือเครื่องจับปลาหลายๆ ชนิด”
เตรียมไม่ต่างจากลูกไม้ใต้ต้นที่ซึมซับความสามารถด้านนี้มาเต็มๆ
เขาผลิตของเล่นเองทุกอย่าง ตั้งแต่ขุดเรือลำเล็กๆ จากต้นไม้ ลากเล่นไปบนพื้นทรายในหมู่บ้าน หรือทำรถสี่ล้อจากดินเหนียวเลียนแบบรถขายยา ซึ่งนานๆ ถึงแวะเข้ามาในหมู่บ้านสักครั้ง
แต่ผลงานที่ช่วยยืนยันพรสวรรค์ คือการสร้างหุ่นละครจากหนังประโมทัย หรือหนังตะลุงของภาคอีสาน ซึ่งปกติมักแสดงหลังฤดูเก็บเกี่ยวเสร็จสิ้น
“ผมดูหนังแล้วประทับใจมาก เพราะทั้งสนุกทั้งมัน ตัวคนพากย์คนร้องเขามีบทเจรจาที่แซ่บจริงๆ เวลาตัวพระสู้กับตัวยักษ์เราก็ลุ้นกันมันไปเลย หรือพวกตัวตลกออกมาที ก็หัวเราะท้องคัดท้องแข็ง”
ครั้งนั้นเตรียมรวบรวมพรรคพวกในหมู่บ้านมาช่วยทำหุ่น โดยเขาเขียนรูปหุ่นที่ชอบลงบนกระดาษปฏิทิน จากนั้นทุกคนก็มาช่วยกันตัดกระดาษ ตกแต่งลวดลวย แล้วหาผ้าขาวมาขึง เอาไฟตะเกียงมาส่อง ช่วยกันเชิด ช่วยกันร้อง เป็นที่ติดอกติดใจของเด็กและผู้ใหญ่ไปตามๆ กัน
นับเป็นก้าวแรกของเส้นทางศิลปินตัวจริง
แต่จุดที่ทำให้เขาเริ่มหันสนใจการ์ตูนจริงจังเกิดขึ้นเมื่อขึ้นชั้น ป.7
เตรียมย้ายมาอยู่บ้านพี่สาวที่อุบลราชธานี จึงมีโอกาสได้อ่านการ์ตูนดีๆ อย่างเบบี้ หนูจ๋า โกมินทร์กุมารของทวี วิษณุกร และเจ้าชายผมทองของจุก เบี้ยวสกุุล
เตรียมหลงใหลถึงขั้นยอมเก็บเงินที่ได้จากการขายไอศกรีมวันละสลึงเป็นค่าเช่าหนังสือ และถ้าวันไหนออมเงินได้ 3-4 บาท ก็จะกัดฟันซื้อหนังสือมาอ่านที่บ้าน ด้วยความหวังว่าสักวันจะได้เป็นนักวาดแบบนี้บ้าง
แล้วฝันที่รอคอยก็กลายเป็นจริง เมื่อเตรียมได้พบกับ ‘จุก เบี้ยวสกุล’ หนึ่งในนักวาดผู้เป็นแรงบันดาลใจ ซึ่งเป็นเขยเจ้าของโรงเรียนสิทธิธรรมวิทยาศิลป์ ที่เขาเรียนอยู่พอดี
“พี่จุกมาดูแลกิจการที่โรงเรียนและมาสอนศิลปะด้วย ผมก็เลยขอฝากเนื้อฝากตัวเป็นลูกศิษย์ พอดีกับช่วงนั้นพ่อกับแม่ไม่มีเงินส่งให้เรียนระดับสูงขึ้นไปอีก เพราะค่าใช้จ่ายแพงมาก แม่ให้ไปสมัครสอบนายสิบกับสอบครู ปรากฏว่าไม่ติดฝุ่นเลยมาอยู่กับพี่จุก ช่วยเขาทำงานทุกอย่าง
“มันก็ดีนะ ทำให้เราแข็งแกร่ง เพราะเราจะมาเอาวิชาจากเขา พี่จุกเขาก็ดี เหมือนพ่อคนที่สองของผมเลย มีอะไรก็แนะนำทุกอย่าง”
หน้าที่หลักๆ ของเตรียมคือช่วยงานบ้าน เลี้ยงลูก คอยซื้อข้าวของให้ ส่วนจุกก็ถ่ายวิชาด้วยการให้เขาเขียนตัวหนังสือตามแบบ ลอกการ์ตูนฝรั่งโดยให้เขียนภาพใหญ่กว่าแบบ 3-4 เท่า ซึ่งเตรียมทำออกมาสวยงาม และมีแววจะเติบโตอยู่ไม่น้อย
ทว่าแม่ของเตรียมกลับมองต่าง เธอไม่เห็นว่าอาชีพนักวาดมีอนาคตอย่างไร จึงวานให้ลูกเขยคนโตพาเตรียมไปสมัครเป็นเด็กขายอะไหล่ แต่ทำได้ไม่ถึงปีก็ลาออกวกกลับไปอยู่กับจุกใหม่
ช่วงหลังเตรียมใช้วุฒิ ม.ศ.3 สอบเป็นครูผู้ช่วยได้ที่โรงเรียนเดิม ทำงานสอนเด็กวาดเส้น วาดการ์ตูน พร้อมฝึกปรือฝีมือขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุด ผลงานเรื่อง ‘มังกรผยอง’ ซึ่งได้ไอเดียจากนิยายจีนก็สำเร็จ
จุกซึ่งมีเส้นสายกับสำนักพิมพ์ต่างๆ ช่วยส่งต่อให้นิตยสารท้อปป๊อป โดยใช้นามปากกาว่า ‘จิ๋ว เบี้ยวสกุล’ ปรากฏว่าได้ตีพิมพ์ แต่ลงได้ตอนเดียวสำนักพิมพ์ก็ปิดไป
หลังจากนั้นไม่นาน จุกย้ายมาอยู่กรุงเทพฯ ส่วนเตรียมก็เริ่มตระหนักว่า หากยังเป็นครูต่อชีวิตก็คงไม่มีความสุข จึงตัดสินใจทิ้งอุบลฯ ตามเข้ามาเสี่ยงโชคในกรุงเทพฯ
แต่ชีวิตในเมืองกรุงไม่ง่ายอย่างที่คิด โดยหน้าที่หลักในการดูแลเตรียมเป็นของ ‘อำพล เจน’ ลูกศิษย์อีกคนของจุกและรุ่นพี่ที่สิทธิธรรมวิทยาศิลป์
“ผมพาเตรียมไปเช่าหอพักอยู่ในซอยวัดสังกัจจายน์ฝั่งธนฯ และยังมีเพื่อนเรียนเพาะช่างอีกหลายคนเช่าอยู่หอเดียวกันนั้น พอให้เตรียมคลายเหงา ระหว่างนั้นเตรียมจะอยู่เฉยๆ ไม่ได้ ต้องหารายได้ ต้องมีงานทำ”
เตรียมเสนองานที่ไทยวัฒนาพานิช บรรณาธิการเห็นแววเลยมอบหมายให้เขียนนิยายภาพ ตีพิมพ์ในชัยพฤกษ์ ฉบับวิทยาศาสตร์ แต่ทำได้ไม่นานก็ถูกดึงตัวให้ไปช่วยที่หนังสือชัยพฤกษ์การ์ตูน
ที่นี่เตรียมได้ปล่อยพลังสร้างสรรค์เต็มที่ จนกลายเป็นที่ยอมรับของผู้คนทั่ววงการ
อำพล เจน เขียนเล่าไว้ในเว็บบอร์ดส่วนตัวว่า “ตอนนั้นเตรียมเขียนไปสัก 1-2 เรื่อง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จึงมาปรึกษา ผมเลยบอกว่า ‘กูมีอยู่เรื่องหนึ่งที่อยากให้มึงเขียน เหมาะกับหนังสือชัยพฤกษ์ด้วย กูเองอยากเขียนใจแทบขาด แต่กูไม่มีปัญญาเขียน’
“แล้วผมก็พาเตรียมไปวงเวียนใหญ่ จำได้ว่าเคยเห็นหนังสือพ็อกเก็ตบุกส์ที่มีเรื่องนี้ตีพิมพ์อยู่ในหนังสือนั้นวางขายอยู่เล่มหนึ่ง เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นของ มน.เมธี ชื่อ น้ำใจไหลเชี่ยว รื้อๆ ค้นๆ เดี๋ยวเดียวก็เจอ หนังสือเล่มนั้นมีเรื่องสั้นชื่อว่า ‘รุ่นกระทง’ ปนอยู่กับอีกหลายๆ เรื่อง ผมบอกเตรียมว่า ‘มึงเขียนเรื่องนี้เลย’”
‘รุ่นกระทง’ หรือที่เตรียมเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น ‘เพื่อน’ เล่าเรื่องความสัมพันธ์ของเด็กหญิงชาวกรุงที่หนีจากบ้านจนได้เจอเด็กชายคนหนึ่ง แม้เพียงช่วงสั้นๆ แต่ทั้งคู่ก็ชักชวนกันท่องเที่ยว สัมผัสความงามของท้องทุ่งไร่นา กระทั่งกลายเป็นความผูกพันที่ยากจะลืมเลือน
หลังเผยแพร่ ‘เพื่อน’ ก็ดังเป็นพลุแตก กลายเป็นงานคลาสสิกที่ถูกกล่าวขาน โดยเฉพาะฉากหลังที่เป็นชนบทและธรรมชาติ ซึ่งจำลองจากฉากชีวิตวัยเยาว์ จนนำไปสู่ตอนต่ออีก 4 ภาค
ผลงานส่วนใหญ่ของเตรียมมักเป็นเรื่องใกล้ตัวที่เสพง่าย ตรงไปตรงมา เช่น ‘เด็กชายคำแพง’ ซึ่งถ่ายทอดประวัติของตัวเขา หรือ ‘ตากับหลาน’ ซึ่งหยิบเรื่องของเล่นวัยเด็กอย่างเรือขุดมาดัดแปลง รวมทั้งรับงานวาดภาพประกอบให้แบบเรียนและสื่อสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่อง
หนึ่งในนั้นคือ แบบเรียนภาษาไทยชุดมานะมานีเล่มแรก ซึ่งว่ากันว่า เขาถอดวิญญาณชีวิตคนชนบทมาเขียน จึงไม่แปลกเลยว่าเหตุใดผลงานชุดนี้จึงตราตรึงในใจผู้อ่าน และกลายเป็นโลโก้ติดตัวเรื่อยมาถึงปัจจุบัน
ทุกวันนี้ มีคนทำการ์ตูนหลายคนที่มีความคิดดี และมีสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม แต่เขาขาดการสนับสนุนด้านทุน ทำอยู่ได้ไม่นานก็ล้ม เป็นเรื่องน่าเสียดายมาก
แม้ชีวิตนักวาดภาพในสังกัดใหญ่จะทำให้เตรียมโด่งดังเป็นนักเขียนแถวหน้า แต่เขากลับรู้สึกอึดอัดกับการใช้ชีวิตใต้ระบบนายทุนเช่นนี้
“ผมเคยเจอนายทุนที่ให้เขียนเรื่องแบบซ้ำๆ ซากๆ เพราะแนวนั้นขายได้ เราจะเปลี่ยนเป็นแนวที่คิดว่าดีกว่า สร้างสรรค์กว่า เขาก็ไม่ยอม หรือบางทีเขียนกำลังมันๆ เขากลับบอกว่าให้รีบจบ..
“วงการการ์ตูนนี้เป็นมาเฟีย เพราะสำนักพิมพ์ไหนที่ยืนยงมานานก็มักมีอำนาจผลิตการ์ตูนอะไรก็ได้ออกมาให้เด็กอ่าน ให้ถูกใจตลาดเข้าไว้ เด็กจะเป็นอย่างไรไม่สนใจ บางทีก็ผลิตการ์ตูนที่มีคุณภาพเพื่อหวังชื่อเสียง ไม่ได้ทำออกมาจากใจ
“ทุกวันนี้ มีคนทำการ์ตูนหลายคนที่มีความคิดดี และมีสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม แต่เขาขาดการสนับสนุนด้านทุน ทำอยู่ได้ไม่นานก็ล้ม เป็นเรื่องน่าเสียดายมาก”
เพื่อวางรากฐานใหม่ให้วงการ เขาตัดสินใจลาออกมารวมกลุ่มเพื่อนนักวาด 4 คน ตั้ง ‘กลุ่มเบญจรงค์’ เพื่อรับงานสื่อสร้างสรรค์ ทั้งหนังสือการ์ตูน หนังสือเด็ก หนังสือภาพ นิทานภาพ
กลุ่มเบญจรงค์ ถือเป็นหัวหอกของวงการการ์ตูนยุค 2520 จุก เบี้ยวสกุล เล่าว่า เตรียม และโอม รัชเวทย์ สองสมาชิกหลักนั้นงานไม่ขาดมือเลย เพราะนอกจากความสามารถแล้ว สำนักพิมพ์ไหนๆ ก็ไม่อยากถูกตราหน้าว่ามอมเมาเยาวชน จึงต้องขวนขวายผลงานเหล่านี้มาตีพิมพ์
ขณะที่เตรียมย้ำว่า “การปลูกฝังสิ่งที่ดีงามให้กับเด็กก็เหมือนการให้ปุ๋ยต้นไม้ ผลออกมาก็เป็นผลไม้ที่สวยงาม มีเมล็ดกิ่งงอกออกมาเป็นพันธุ์ที่ดี การ์ตูนเป็นสื่อที่สำคัญมาก เพราะสามารถปลูกฝังสิ่งที่ดีงามให้กับเด็กได้ รูปแบบก็เชิญชวน และการเขียนการ์ตูนก็เหมือนกับการให้การศึกษาอีกระดับหนึ่ง”
ช่วงนั้นเองที่เขาเริ่มคลุคลีกับเอ็นจีโอ และหยิบนำสถานการณ์จริงของสังคมมาถ่ายทอด เช่น ‘เด็กหญิงวาสนา’ ซึ่งถูกครูหนุ่มข่มขืน, ‘เอื้องผึ้ง’ เด็กสาวจากภาคเหนือซึ่งถูกพ่อส่งมาค้ากามในกรุงเทพฯ หรือ ‘ยายจ๋า’ หญิงชรากับเด็กหญิงที่ยังชีพด้วยการเก็บขยะขาย
สำหรับเตรียมแล้ว คุณค่าที่แท้จริงของงานสายนี้ ไม่ใช่เพียงให้ความรู้ทางด้านวิชาการเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการมอบทัศนคติ และการใช้ชีวิตบนโลกที่ถูกต้องด้วย ไม่เช่นนั้นก็คงยากที่พวกเขาเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่ดีได้
หลังสร้างงานมาเกือบสองทศวรรษ ในปี 2533 ก็เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดขึ้น เมื่อเตรียมถูกรถโดยสารประจำทางเฉี่ยวชนระหว่างทางกลับบ้าน เป็นเหตุให้นักเขียนหนุ่มวัย 38 ปีจากไปตลอดกาล
แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยจางหายคือ ความตั้งใจที่อยากส่งมอบสิ่งดีๆ สู่เด็กและเยาวชน ดังเช่นที่เขาเคยเอ่ยกับคู่ชีวิต ‘สุจินดา อัศวไชยชาญ’ ว่า “หากตายไปกลัวอย่างเดียว จะไม่มีใครสืบทอดงานเขียนนิยายภาพ” ซึ่งกาลเวลาก็ได้พิสูจน์แล้วว่า งานของเตรียมไม่เคยตาย และมีผู้พร้อมถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ ต่อไป ไม่มีวันจบสิ้น
นักเขียนการ์ตูนญี่ปุ่น เจ้าตำรับผลงานสุดฟีลกู๊ด ที่ลายเส้นไม่ซับซ้อน แต่เปี่ยมด้วยความหมาย
ย้อนเรื่องราวตำนานความฮาฉบับกระเป๋าของเมืองไทย ‘ขายหัวเราะ’ ผ่านปากคำของ บ.ก.วิติ๊ด และครอบครัว
นักเขียนการ์ตูนที่พาผลงานมังงะจากเอเชียให้โด่งดังไปไกลทั่วโลก ปลุกกระแสดราก้อนบอล ให้เข้าอยู่ในใจเด็กๆ ยาวนานกว่า 3 ทศวรรษ
ครู ผู้สร้างบทเรียนในความทรงจำของคนไทยมากมาย
นักเขียนหญิง เจ้าของหนังสือ เมื่อคุณตาคุณยายยังเด็ก ความเรียงเล่าชีวิตและวิถีคนไทยในยุครัชกาลที่ 6-8
จำเรื่องราวของผองเพื่อนมานะ มานี ปิติ ชูใจ ได้ไหม เราขอย้อนนำเรื่องราวทั้ง 12 เทอม กลับมาเล่าให้ฟัง
เครือข่ายที่ทำงานเรื่องการ ‘ตายดี’ เพื่อช่วยให้ผู้คนสามารถจากไปได้มีความสุข และลดความขัดแย้งแก่คนรอบใกล้ที่คอยดูแลด้วย
เครือข่ายอนุรักษ์ที่อยากส่งต่อเรื่องราว ความรู้เกี่ยวกับวาฬบรูด้า และผองเพื่อนในท้องทะเล เพื่อให้ทุกคนลุกขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งในการปกปักรักษาสิ่งมีชีวิตและทรัพยากรธรรมชาติใต้ผืนน้ำให้คงอยู่ตลอดไป
ตำนานศิลปินร็อก ผู้จุดกระแสเพลงเก็บตะวันให้ข้ามกาลเวลา รวมทั้งยังเป็นผู้สร้างยุคใหม่ให้แก่ RS สู่การเป็นเบอร์ 2 ของวงการเพลงไทยอย่างแท้จริง
คุณยายผู้เป็นสัญลักษณ์ของละครเมืองไทย ที่มีผลงานต่อเนื่องมากว่า 40 ปี ทั้ง คู่กรรม สายโลหิต บุพเพสันนิวาส
Armchair ศิลปินขวัญใจวัยรุ่นยุคอินดี้ ผู้บุกเบิกเพลงบอสซาโนวา เจ้าของเพลงฮิตสุดละมุนที่ยังตรึงอยู่ในใจแฟนเพลงถึงวันนี้
นักเขียนการ์ตูนที่พาผลงานมังงะจากเอเชียให้โด่งดังไปไกลทั่วโลก ปลุกกระแสดราก้อนบอล ให้เข้าอยู่ในใจเด็กๆ ยาวนานกว่า 3 ทศวรรษ
COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO. ALL RIGHTS RESERVED.