สมัยเรียนวิชาภาษาไทยตอนมัธยม หลายคนอาจเคยอ่านหนังสือนอกเวลาเล่มเล็กๆ
“เมื่อคุณตาคุณยายยังเด็ก”
ความเรียงสั้นๆ เล่าถึงชีวิตความเป็นอยู่ของราชสกุลสนิทวงศ์ ในช่วงก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง ใช้ภาษาเรียบง่าย กระชับ เข้าใจได้ทุกเพศทุกวัย แต่กลับแฝงรายละเอียดภูมิปัญญา วัฒนธรรมที่งดงาม อย่างเรื่องน้ำอบไทย น้ำฝน การไปเที่ยวสนามหลวง ดูไฟวันเฉลิมพระชนมพรรษา เครื่องบินยุคเริ่มแรก รวมทั้งมีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่เต็มไปด้วยสีสันและความสนุกสนาน ซึ่งสะท้อนภาพสังคมยุคสมัยรัชกาลที่ 6-7 ได้อย่างดี
ไม่แปลกเลยว่า เหตุใดนักอ่านจำนวนไม่น้อยจึงชื่นชอบและรู้สึกเพลิดเพลินเมื่อหยิบผลงานชุดนี้ขึ้นมาอ่าน แม้เรื่องราวเหล่านั้นจะผ่านไปนานกว่า 70-80 ปี หลายสิ่งในเรื่องเลือนหายไปตามวันเวลาแล้วก็ตาม
หนึ่งในแฟนประจำคือ วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ ผู้ก่อตั้ง The Standard และนิตยสาร a day เคยเล่าว่า สมัยเด็กๆ ชอบอ่านสตรีสารภาคพิเศษมาก ซึ่งเรื่องหนึ่งที่โปรดปรานและติดอยู่ในใจถึงทุกวันนี้ คือ เมื่อคุณตาคุณยายยังเด็ก เขายังบอกด้วยว่า หากไม่มีผลงานเหล่านี้ เขาอาจไม่รักการอ่าน ไม่ได้มาเป็นบรรณาธิการ และไม่ได้มาประกอบอาชีพคนทำหนังสือ
เพื่อรำลึกถึงเรื่องราวในวัยเยาว์ของใครอีกหลายๆ ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ขอพาทุกคนไปรู้จักกับชีวิตของนักเขียน ทิพย์วาณี สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้สร้างวรรณกรรมเยาวชนแห่งความทรงจำชุดนี้
ปล. เราได้ขออนุญาตครอบครัวของผู้ประพันธ์นำเสนอ ‘เมื่อคุณตาคุณยายยังเด็ก’ ตอนแรกและตอนสุดท้าย ซึ่งปัจจุบันไม่ได้นำกลับมาตีพิมพ์ซ้ำอีกแล้ว เพื่อเป็นของขวัญแก่แฟนๆ ที่ติดตามและประทับใจเรื่องเล่าชุดนี้ โดยทั้ง 2 ตอนนี้ได้รับอนุญาตเพื่อใช้ประโยชน์สาธารณะเท่านั้น ห้ามนำไปใช้เพื่อผลประโยชน์ทางการค้าหรือธุรกิจใดๆ
เรื่องราวของเด็กน้อยช่างซักถามเรื่องราวเก่าๆ ไม่หยุดปาก คือเสน่ห์ที่ตราตรึงผู้อ่านทุกครั้ง เมื่อพูดถึงหนังสือชุด ‘เมื่อคุณตาคุณยายยังเด็ก’
ใครบ้างจะรู้ว่า เบื้องหลังงานคลาสสิกนี้มีที่มาจาก ‘การนอนไม่หลับ’ ของตัวผู้เขียนอย่าง ทิพย์วาณี สนิทวงศ์ ณ อยุธยา
“ดิฉันเริ่มเขียนหนังสือเมื่อปี 2511 เพราะนอนไม่หลับ จะง่วงนอนราวตี 4 เลยใช้ช่วงเวลากลางคืนนี้พิมพ์หนังสือไปจนกว่าจะง่วง พิมพ์ไว้เป็นเรื่องสั้นๆ 30 ตอนเศษ ความที่ไม่เคยได้อ่านนิยาย เพราะเป็นของต้องห้ามสมัยนั้น ผู้ใหญ่ไม่ให้อ่าน กลังจะติดแล้วเดือดร้อนไม่ได้ทำงาน เลยอ่านแต่พวกสารคดี ประวัติศาสตร์ จึงเขียนเรื่องประเภทสายลม แสงแดด เกลียวคลื่นไม่เป็น ต้องหาทางออกด้วยการเขียนเรื่องเด็ก เพราะเคยอ่านนิทานก่อนนอนของฝรั่งก็ชอบใจเรื่องทำนองนี้
“แล้วดิฉันเองก็เป็นคนที่มีน้องมาก น้องก็อยากอ่านหนังสือ แต่ไม่มีโอกาสอ่านเหมือนกัน จึงคิดเขียนเรื่องให้เด็กๆ รุ่นน้องๆ อ่าน แต่กว่าจะได้รับความสำเร็จ น้องๆ ก็โตหมดแล้ว เลยเปลี่ยนมาให้เด็กๆ ข้างบ้านอ่านแทน เขาก็ชอบใจกัน มาทวงให้เขียนอีก ก็แต่งต่อเพิ่มขึ้นได้เรื่อยๆ เพราะเนื้อหามีอยู่แล้วในใจ พร้อมที่จะถ่ายทอดเป็นตัวหนังสือ”
ทิพย์วาณี เกิดและเติบโตในราชสกุลสนิทวงศ์ พ่อและแม่ของเธอต่างสืบเชื้อสายมาจากพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท พระราชโอรสในรัชกาลที่ 2 ทรงเป็นเจ้านายที่มีความรู้เรื่องแพทย์ ทั้งแผนไทย แผนสมัยใหม่ รวมถึงวิทยาการต่างๆ ซึ่งถูกทอดจากรุ่นสู่รุ่น
แม้จะจบเพียงชั้นมัธยมปลาย แต่ด้วยความที่ชอบการเรียนรู้ ทำให้ทิพย์วาณีมีความสุขกับการอ่านหนังสือเป็นตู้ๆ และต่อยอดไปสู่การเรียนรู้ภาษาต่างๆ ทั้งฝรั่งเศส เยอรมัน สเปน อิตาลีถึงขนาดใช้การได้ดี
ผลงานช่วงแรกๆ ของทิพย์วาณีไม่ได้จำหน่ายหรือตีพิมพ์ที่ใดเป็นพิเศษ ส่วนใหญ่โรเนียวหรือทำสำเนาแจกกันในกลุ่มลูกค้าที่อุดหนุนซื้อเครื่องละครหัวโขนที่ร้านผดุงชีพ ริมถนนจักรพงษ์ ซึ่งรับช่วงดูแลต่อจาก ม.ล.ฟ่อน สนิทวงศ์ มารดา กระทั่งภายหลังได้ส่งผลงานบางชุด เช่น ฝันดี นิทานก่อนนอนที่อิงจากชีวิตประจำวันของเด็กไทย เข้าประกวดจนได้รับรางวัล และกรมวิชาการขอนำไปตีพิมพ์เป็นเล่มให้เด็กๆ ชั้นประถมในโรงเรียนได้อ่านกัน
จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ผลงานของเธอเป็นที่รู้จักในวงกว้าง เกิดขึ้นเมื่ออาจารย์นิลวรรณ ปิ่นทอง บรรณาธิการสตรีสารรายสัปดาห์ มีแนวคิดเปิดพื้นที่การอ่านสำหรับเยาวชน จึงได้จัดทำสตรีสารภาคพิเศษ เมื่อปี 2515 แล้วก็ชักชวนนักเขียนเรื่องสำหรับเด็กๆ หลายคน รวมถึงเจ้าของร้านผดุงชีพผู้นี้ด้วย
ทว่าเรื่องแรกๆ ที่ลงตีพิมพ์กลับไม่ใช่ชุดคุณตาคุณยาย แต่มีลักษณะเรื่องสั้นอ่านง่ายๆ กระทั่งในเดือนกุมภาพันธ์ 2516 เมื่อคุณตาคุณยายยังเด็กตอนแรกจึงถือกำเนิดขึ้น
จุดเด่นของเรื่องชุดนี้คือผู้เขียนสามารถหยิบเรื่องราวรอบตัวในอดีตมาเล่าได้สนุกสนาน น่าสนใจเต็มไปด้วยชีวิตชีวา ทั้งการกินการอยู่ การหลับนอน ข้าวของเครื่องใช้ หรือแม้แต่เหตุการณ์ที่เชื่อมโยงมาถึงยุคปัจจุบัน
นอกจากคลังหนังสือที่เธอมีเต็มตู้แล้ว แหล่งข้อมูลส่วนใหญ่ก็มาจากความทรงจำในวัยเยาว์นั่นเอง เพราะสมัยก่อนตอนเด็กๆ เธออาศัยอยู่ที่บ้านของเจ้าคุณปู่ เจ้าพระยาวงษานุประพัทธ์ บริเวณถนนบรรทัดทอง แล้วด้วยความครอบครัวใหญ่มาก เวลานอน เด็กๆ จึงรวมกันหน้าเตียงของคุณป้า
“คุณป้าท่านชอบเล่าเรื่องเก่าๆ ให้ฟังก่อนนอนแทบทุกคืน แล้วตอนเด็กๆ ดิฉันเป็นคนช่างซักถาม และคุณป้าผู้นี้เป็นคนใจดี เราซักมากท่านก็ไม่รำคาญ ท่านมีอาชีพรับจ้างทำอาหารตามงานเลี้ยง ได้เห็นข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ จึงรู้เรื่องนำมาถ่ายทอดให้ฟัง
“บางเรื่องก็สอบถามจากบุคคลใกล้ชิดต่างๆ คุณแม่บ้าง คุณลุงบ้าง คุณลุงนี่ชอบเล่าเรื่องสมัยยังหนุ่ม คุยแล้วรู้สึกปลื้มใจ แล้วก็มีคุณอาคนเล็กอีกคน เจอหน้ากันต้องมานั่งเท้าความเรื่องเก่าๆ สมัยเด็กๆ เพราะท่านวัยไล่เรี่ยกัน คอยท้วงติงว่าเขียนอะไรตกหล่นหรือคอยเสริมให้..
“เพราะฉะนั้นตัว ‘คุณตา คุณยาย’ ก็คือบุคคลเหล่านี้เองปะปนกันออกมา” ทิพย์วาณี เฉลยความหมายที่แท้จริงของชื่อคอลัมน์ ‘เมื่อคุณตาคุณยายยังเด็ก’
นอกจากเรื่องเล่าจากคนนั้นคนนี้แล้ว บ่อยครั้งที่เธอเลือกหยิบนำประสบการณ์ส่วนตัวมาถ่ายทอดต่อ โดยเฉพาะเรื่องการทำอาหารและขนมต่างๆ เนื่องจากเธอเกิดหลังจาก ม.ล.จรูญ สนิทวงศ์ คุณพ่อเสียชีวิตได้ประมาณเดือนหนึ่ง คุณแม่เลยต้องหาเลี้ยงครอบครัวด้วยการทำขนมและของว่างขาย
เมื่อมีลูกค้ามา บรรดาเด็กๆ ก็จะถูกเกณฑ์ให้มาช่วยเป็นลูกมือ ทำให้ได้เห็นสูตรการทำอาหารแบบโบราณแท้ๆ เด็กๆ หลายคนถือโอกาสหารายได้เพิ่มด้วยการนำดอกไม้ ผลไม้ในสวนมาจัดใส่กระทง ขายได้เงินวันละ 4-5 สตางค์
เช่นเดียวกับเรื่องยาแผนโบราณ และสมุนไพร ซึ่ง ม.ล.ฟ่อน แม่ของผู้เขียนมีความรู้กว้างขวางแถมยังเป็นผู้ผลิตยารายใหญ่ของพระนคร ยี่ห้อแม่โพสพ โดยหนึ่งในเครื่องยืนยันความไม่ธรรมดา คือเธอเคยรักษาทิพย์วาณี ซึ่งต้องออกจากโรงเรียนระยะหนึ่ง เพราะป่วยเป็นโปลิโอ ด้วยการนำยาไทยหลายชนิดมาทาและนวดให้จนหายดี
ถึงจะมีแหล่งความรู้มากมายเหลือเฟือ จนแทบใช้ไม่หมด ก็มีบางครั้งที่เกิดอาการตัน ไม่รู้จะเขียนอะไรดี จึงต้องอาศัยการสังเกตสิ่งรอบกายนำมาเป็นแรงบันดาลใจสร้างสรรค์งาน
“เวลาขึ้นรถเมล์ไปไหน ตาต้องคอยสอดส่าย พบเห็นอะไรก็จดเก็บไว้หมด หรือใครคุยกันข้างๆ ก็ต้องทำหูผึ่ง..เก็บหมด แล้วค่อยมาคิดเป็นเรื่อง เวลานอนกลางคืนจะต้องมีกระดาษดินสอนไว้ใต้เตียง นึกอะไรได้ก็ต้องลุกมาเขียนทั้งมืดๆ เวลานั่งรถมาที่ร้านก็นึกคร่าวๆ ว่าจะเขียนเรื่องอะไร ไปถึงร้านก็พิมพ์ดีดเลย”
ใครที่ผ่านร้านผดุงชีพในเวลานั้นจะเห็นเธอนั่งประจำอยู่หน้าเครื่องพิมพ์ดีดเล็กๆ สีเหลืองสด มีเสียงต๊อกแต๊กดังอย่างต่อเนื่องแทบทุกวัน ต้นฉบับที่ออกมาก็จะส่งให้หลานสาวช่วยอ่านตรวจคำผิด ก่อนแก้ไขและส่งบรรณาธิการ
มีอยู่ช่วงหนึ่งราวปี 2521 ที่เธอทำงานไม่ได้เพราะป่วยเป็นอัมพฤกษ์นานอยู่หลายเดือน ทำให้ร่างกายขยับเขยื้อนไม่สะดวก พูดได้ไม่ค่อยชัด เขียนหนังสือไม่ถนัด ต้องใช้พิมพ์ดีดอย่างเดียว แต่สิ่งที่ยังเหมือนเดิมก็คือความทรงจำในอดีตที่ไม่เคยลางเลือนและความรู้สึกที่อยากเล่ามันออกมา จนสามารถผลิตงานได้อย่างต่อเนื่องกว่า 20 ปี
นอกจากเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาแล้ว สิ่งสำคัญที่ทำให้เมื่อคุณตาคุณยายยังเด็กอยู่ข้ามกาลเวลาได้ คือเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ของสังคมไทย โดยเฉพาะช่วงก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475
สิ่งที่พบในวรรณกรรมชุดนี้คือชีวิตของคนไทยเวลานั้นไม่ซับซ้อน มีความสุขกับเรื่องง่ายๆ ของกินของใช้ก็หยิบฉวยได้จากธรรมชาติ หรือไม่ก็ทำใช้ขึ้นเองในครัวเรือน แทบไม่ต้องเสียเงินซื้อมา
หลายเรื่องก็หาอ่านไม่ได้แล้วตามหนังสือทั่วไป เช่น ก่อนจะมีสนามบินดอนเมือง เมืองไทยเคยใช้สนามม้าเป็นจุดขึ้นลงของเครื่องบิน เพราะมันโล่งดี หรือเรื่องราวการดูสุริยคลาสของคนสมัยก่อน หรือภูมิปัญญาบางอย่างก็ไม่ได้ถูกถ่ายทอดต่อ เช่นการทำขนมหม้อตาล หนังสือเล่มนี้จึงเปรียบเสมือนเครื่องมือสำคัญที่ทำให้คนรุ่นหลังได้เข้าใจและเห็นภาพพัฒนาการของวิถีชีวิตผู้คนและสังคมลึกซึ้งขึ้น
ว่ากันว่าตลอด 23 ปีของนิตยสารสตรีสารภาคพิเศษ ทิพย์วาณีน่าจะมีงานเขียนตีพิมพ์ลงในคอลัมน์เมื่อคุณตาคุณยายยังเด็ก ไม่ต่ำกว่า 300 เรื่อง นอกจากนี้ยังมีสารคดีความรู้เกี่ยวกับเรื่องไทยๆ ผ่านหนังสือพิมพ์และนิตยสารอีกหลายฉบับ เช่นสยามรัฐรายวัน สวนเด็ก ผ่านนามปากกาอื่นๆ เช่น เทียนไขแสง และเยาวภาณี
ครั้งหนึ่ง ‘เทาชมพู’ หรือที่รับรู้กันดีว่าเป็นนามแฝงของ ว.วินิจฉัยกุล เคยกล่าวถึงงานเขียนของทิพย์วาณี ผ่านเว็บบอร์ด เรือนไทย อย่างน่าสนใจว่า
“คุณทิพย์วาณีใช้ภาษาง่ายๆ แต่บรรยายภาพได้ละเอียดลออเห็นจริงตามไปด้วย ราวกับเดินตามเธอไปเยี่ยมเยียนสถานที่ต่างๆ ที่เธอบรรยายไว้ เป็นวิถีชีวิตไทยที่ห่างหายไปจากโลกปัจจุบันแล้ว แต่ก็ยังมีค่าควรแก่การระลึกถึงและดำเนินรอยตาม.. เป็นวรรณกรรมเยาวชนที่เล่าเรื่องในอดีตได้สนุก มีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่ถูกต้องแม่นยำอย่างนี้หาได้ยากมาก.. เสียดายมากว่า เมื่อไม่มีคุณทิพย์วาณีแล้ว ก็ไม่มีใครเขียนเรื่องทำนองนี้อีก”
แต่ถึงจะเติบโตมาในสังคมยุคเก่า และเรื่องที่เขียนส่วนใหญ่มักเป็นความรู้ในอดีต แต่ทัศนคติในการมองโลกของเธอกลับล้ำยุคล้ำสมัยมาก หนึ่งในนั้นคือเรื่อง ‘สิทธิสตรี’ ซึ่งถูกถ่ายทอดผ่านหลายๆ ตอนของเมื่อคุณตาคุณยายยังเด็ก
ทิพย์วาณีกล่าวว่า สมัยก่อนผู้หญิงมักถูกเลี้ยงให้อยู่ภายใต้กรอบประเพณีไทยอย่างเคร่งครัด ถูกเคี่ยวเข็ญให้ทำงานมากๆ ส่วนเด็กผู้ชายก็จะถูกเลี้ยงแบบปล่อย จนบางครั้งก็เหมือนเป็นเทวดา
“ดิฉันคิดเสมอว่า ผู้หญิงเป็นพลเมืองชั้นสอง ถึงกับอธิษฐานว่าขออย่าให้เกิดเป็นผู้หญิงอีกเลย เพราะเหตุนี้กระมังคะ ผู้หญิงคงเป็นเพศที่อดทน ขยันขันแข็ง ความรู้สึกนี้ทำให้ดิฉันเขียนเรื่อง แม่ศรีเรือน เพราะต้องการแสดงให้เห็นว่า ผู้หญิงที่ถูกกดหัวไว้ให้อยู่บ้านเลี้ยงน้อง แทนที่จะให้เรียนหนังสือเท่าผู้ชาย แต่ก็อาจใช้วิชาความรู้ที่ฝึกหัดไว้หาเลี้ยงครอบครัว บางครั้งหาเงินได้มากกว่าสามีด้วยซ้ำ ผู้หญิงสมัยก่อนจึงไม่รอแบมือรับเงินจากผู้ชาย”
แม้วันนี้ทิพย์วาณีจะจากไปสิบกว่าปีแล้วก็ตาม แต่ผลงานที่สร้างสรรค์ขึ้นก็ยังถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นไม่รู้จบ โรงเรียนหลายแห่งยังคงเลือกหยิบหนังสือเล่มนี้เพื่อประกอบการอ่านของเด็กนักเรียนเรื่อยมา สะท้อนถึงคุณค่าที่ผู้เขียนตั้งใจสื่อนั้นยังคงร่วมสมัย และทำให้เราย้อนกลับมาตั้งคำถามถึงชีวิตในปัจจุบันว่า ความสุขที่แท้จริงคืออะไร
ความจริงแล้ว ทิพย์วาณีมีผลงานตีพิมพ์ในสตรีสารรายสัปดาห์มาตั้งแต่ปี 2515 แต่เป็นเรื่องสั้นเยาวชนทั่วๆ ไป โดยเรื่องแรกคือ แหวนเม็ดลิ้นจี่ เป็นเรื่องคุณป้าของเด็กผู้หญิงชื่อจันทร์ที่เอาเม็ดลิ้นจี่มาทำเป็นแหวน นอกจากนี้ยังมีเรื่องวิ่งกะลา เป็นเรื่องของเปียกับแก๊งเพื่อน และกิจกรรมยามว่างที่ราคาแสนประหยัด
เมื่อคุณตาคุณยายยังเด็ก ปรากฏตัวครั้งแรกในสตรีสารภาคพิเศษ ปีที่ 25 ฉบับที่ 43 ประจำวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2516 ชื่อตอน ‘เผาศพ’
เดิมทียังไม่มีหัวเรื่องชัดเจน แต่เพียงอ่านก็จะทราบได้ทันทีว่า นี่คือจุดเริ่มต้นของเรื่องเล่าชุดนี้ และภายหลังยังถูกนำไปรวมเล่มอยู่ในหนังสือนอกเวลาของกรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ เมื่อปี 2518 ซึ่งเป็นคนละชุดกับผลงาน 4 เล่มของสำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคารที่วางขายในปัจจุบัน
……………….…………………….
‘เผาศพ’ : เมื่อคุณตาคุณยายยังเด็ก (ตอนแรก)
ญาติผู้ใหญ่คนหนึ่งของคุณยาย เมื่อครบร้อยวันแล้วก็เผา งานศพสมัยนั้นนุ่งขาวห่มขาวทั้งหญิงและชาย ฉะนั้นเมื่อมีใครตายในบ้านจึงต้องไปซื้อผ้าขาวมาเป็นพับ ๆ แล้วแจกกันทั่ว ๆ ทั้งทำผ้านุ่งและตัดเสื้อ
เมื่อยกศพไปวัดก่อนจะเอาขึ้นตั้งบนเมรุ ก็ต้องเดินวนรอบเมรุเสียสามรอบ ญาติพี่น้องก็เดินตามศพ ซี่งเป็นการเดินตามครั้งสุดท้าย เนื่องด้วยญาตินั้นตายมานานแล้ว พวกเด็ก ๆ จึงไม่รู้สึกโศกเศร้านักเอาแต่สนุก เด็กรุ่น ๆ มักเป็นพนักงานแจกหนังสืองานศพชำร่วยแขก คุณยายก็คนหนึ่งที่ทำหน้าที่แจกหนังสือ เมื่อถึงเวลาเผาตอนเย็นเรียกว่า ‘เผาหลอก’ แขกทุกคนนำดอกไม้จันทน์ธูปเทียนไปขอขมาศพ อโหสิยกโทษให้จะได้ไม่เป็นเวรเป็นกรรมต่อกันในชาติหน้า แล้วแขกที่ไม่สนิทก็กลับไป เหลือแต่พวกญาติที่สนิท ๆ เท่านั้น
คุณยายไม่เคยไปเผาศพจริง ๆ เลย สมัยนั้นเขาเผาจริงกันดึก ๆ ราว ๆ สองยาม เพราะว่าเผากันบนเมรุน่ากลัวมาก คนที่ขวัญอ่อน หรือผู้หญิง โดยเฉพาะเด็ก ๆ แล้วเป็นไม่ให้ดู คุณยายก็อยู่จนกลางคืน คุยกันวิ่งเล่นกันไป คิดว่าคราวนี้ได้ดูเผาจริงแน่ ๆ
พวกเด็กผู้ชายรุ่น ๆ ก็ไปจับกลุ่มคุยกับพวกสัปเหร่อ หาความรู้จากสัปเหร่อ คุณยายก็ไปนั่งฟังกับเขาด้วย สัปเหร่อเล่าว่าใช้ฟืนเป็นดุ้น ๆ เผา พวกนี้ไม่กลัวผี และพวกเด็กผู้ชายหลายคนก็อวดโม้ว่าไม่กลัวผี แต่พอใช้ให้ไปตามใครคนเดียวมืด ๆ เป็นไม่ยอมไป ต้องไปเป็นขบวนส่งเสียงเอะเอะเจี๊ยวจ๊าวเอาเสียงเป็นเพื่อน
คุณยายพยายามอยู่จนดึกมาก ตั้งใจจะดูให้ได้ แต่แล้วหลับไปตั้งแต่เมื่อไรก็ไม่ทราบ มาตื่นเอาที่บ้านทั้งเสื้อชุดไปในงานนั่นเอง ตอนเช้าต้องไปที่วัดอีกเพื่อเก็บอัฐิ ที่เมรุไม่มีอะไร ดอกไม้ประดับสวยงามทุกอย่างเกลี้ยงหมด มีโต๊ะปูผ้าขวา มีกองขี้เถ้าเรียกว่า ‘อังคาร’ มีอัฐิ มีดอกมะลิและเหรียญเงินโรยอยู่ ให้ทุกคนขึ้นไปหยิบเหรียญคนละอัน บางคนหยิบมาเผื่อคนที่ไม่ไปด้วย คุณยายก็หยิบมาหนึ่งอัน คุณแม่ของคุณยายกำชับว่าให้เก็บไว้ให้ดี อย่าเอาไปใช้ ต้องเย็บปลอกหุ้มผ้าไว้ ใส่ไว้ก้นหีบเก็บเงิน เป็นเงินก้นถุง จะได้ร่ำรวย
เสร็จแล้วมีสามหาบ คือหาบอาหารคาวหวาน ทาปูนขาวที่หม้อ กระจาดและสาแหรก ไม้คาน ขาวโพลนหมด ใช้เด็กผู้ชายรุ่น ๆ หาบ เด็กคนหนึ่งคิดว่าเขาโตมากแล้ว อาสาจะหาบให้ได้ พอลองหาม กระจาดลากดินแถมยังยกไม่ขึ้นเสียอีก ต้องให้คนโตกว่าไปหาบรอบ ๆ เมรุสามรอบแล้วร้อง “วู้ วู้ วู้” รับกันทั้งสามคน เป็นการบอกให้คนตายทราบว่าอาหารมาแล้ว เชิญมารับได้ แล้วก็มีการสวดอีกที มีพิธีเงียบซึ่งเด็ก ๆ ไม่ชอบ จึงหลบไปนั่งข้างนอก ที่ในงานเขามีหมากพลู บุหรี่ น้ำร้อนน้ำชาสำหรับรับรองด้วย บางมีข้าวต้มร้อน ๆ เพราะเก็บอัฐิที่นี่เช้ามาก ทุกคนไม่ได้กินอะไรรองท้องมา
คุณยายเห็นหมากพลูที่นั่นจัดอย่างสวยงามมาก น่าจะลองชิมดูบ้าง จึงลองเข้าไปคำหนึ่ง กินแล้วก็หน้าเบี้ยว มันเผ็ดร้อน ไม่อร่อยเลย คนอื่นยุให้ลองเคี้ยวดู ก็แข็งใจเคี้ยวแล้วก็ต้องรีบคายทิ้ง เพราะทนไม่ไหว หูอื้อ ตาลาย เวียนหัวไปหมด บ้วนปากหมดน้ำไปหลายถ้วยก็ไม่หาย เผ็ดและแสบปาก เขาเรียกว่า ‘ยัน’
เสร็จแล้วจะนำอัฐิไปบ้าน ก็มีการโปรยทานกัน เด็ก ๆ วิ่งเก็บกันสนุก เสียงเจี๊ยวจ๊าวแย่งกันเก็บทั้งเด็กลูกหลานและเด็กวัด ส่วนคุณยายมัวแต่ ‘ยัน’ เสียวิ่งไปเก็บกับเขาไม่ไหว เลยได้เหรียญก้นถุงมาอันเดียวเท่านั้น กลับมาบ้านต้องอ้าปากแลบลิ้นเอาพัดพัดอีกหลายชั่วโมง
คุณป้าท่านชอบเล่าเรื่องเก่าๆ ให้ฟังก่อนนอนแทบทุกคืน แล้วตอนเด็กๆ ดิฉันเป็นคนช่างซักถาม
การปิดตัวของสตรีสารเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2539 ส่งผลให้ ‘เมื่อคุณตาคุณยายยังเด็ก’ สิ้นสุดไปโดยปริยาย
เรื่องเล่าบางส่วนนั้นถูกรวมเล่มอยู่ในหนังสือ 4 เล่มที่วางขายมาจนถึงทุกวันนี้ กลายเป็นบันทึกประวัติศาสตร์แห่งยุคสมัยที่สร้างรอยยิ้มแก่นักอ่านอย่างต่อเนื่อง แต่ยังมีอีกหลายร้อยเรื่องที่หล่นหายไปตามกาลเวลา และไม่เคยถูกนำเสนอที่ใดอีกเลย นอกจากในหน้านิตยสาร
หนึ่งในนั้นคือ ‘ผมเปีย’ ตอนสุดท้ายของเมื่อคุณตาคุณยายยังเด็กที่ตีพิมพ์ลงในนิตยสารสตรีสาร ปีที่ 48 ฉบับที่ 51 ประจำวันที่ 3 มีนาคม 2539 ซึ่งทิพย์วาณีได้หยิบเรื่องราวยอดฮิตของสาวๆ สมัยก่อนมาเสนอได้อย่างน่าสนใจ
……………….…………………….
‘ผมเปีย’ : เมื่อคุณตาคุณยายยังเด็ก (ตอนสุดท้าย)
เมื่อคุณยายยังเด็กเคยไว้ผมเปียยาว ๒ ข้าง พี่สาวลูกคุณป้าก็เคยไว้ คุณแม่และคุณป้าก็เคยไว้ผมเปียด้วย เป็นแบบ ๒ ข้างเหมือนกัน ถ้าผมยาวรุงรังถักเป็นเปียเสียก็จะเรียบร้อย คุณแม่บอกว่าผมเปียนี้ไม่ใช่ผมแบบไทยแท้ แต่คนจีน คนอินเดียผู้หญิงไว้ผมเปียประจำชาติเลย คนไทยแต่ก่อนโน้นไว้ผมยาวประบ่ามาจนกระทั่งปลายกรุงศรีอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์ เมืองไทยมีสงครามกับพม่าอยู่บ่อย ๆ จึงจำเป็นต้องตัดผมสั้น เพื่อไม่ต้องตกแต่ง ใส่น้ำมันใส่ผมให้งามสลวย และพรางตาข้าศึกว่าเป็นผู้ชาย จนสมัยรัชกาลที่ ๕ พม่าเสียเมืองให้อังกฤษแล้วมารุกรานไทยอีกไม่ได้
คุณตาคุณยายเคยได้ยินมาว่าคนจีนไว้ผมเปียยาวทั้งหญิงและชายแต่ไม่เคยเห็น เห็นแต่ในรูปเท่านั้น เพราะคนจีนผู้ชายตัดผมเปียกันหมดแล้ว ไว้ผมแบบปัจจุบันกันหมดแล้ว เหลือแต่พวกผู้หญิงเท่านั้นที่ยังไว้ผมเปียยาวอยู่ เปียเดียวนมีอายุมักไว้ ถ้าสาว ๆ เด็ก ๆ มักไว้ ๒ เปียกัน และผู้หญิงแขก เมียแขกยามที่บ้าน ไว้ผมเปียยาวมากถึงก้น และอันโตเพราะผมตกเส้นใหญ่ ผู้หญิงจีนมักมีไหมสีชมพูแปร๊ดต่อปลายอีกหน่อย ถักไปกับผมเลย
คุณแม่ยังบอกอีกว่า พวกฝรั่งแหม่มนิยมไว้ผมเปียกันทุกชาติก็ว่าได้ ถักเปียแล้วพันรอบหัวทำให้หน้าสาวขึ้น ตอนกลางคืนจะคลี่ออกมาหวี แล้วถักเปียยาว ๆ เขาหวีวันละ ๒ ครั้ง รักษาความสะอาดดีมาก แหม่มที่โรงเรียนของคุณแม่คุณป้าไว้ผมเปียทั้งนั้น ตอนเช้าก็เกล้าขึ้นเป็นแบบอื่นก็มี ไว้ผมโป่ง มีปิ่นปักผม กิ๊บเสียบกลัดไว้ให้อยู่แน่น ทำมวยก็มี ครู ๆ เหล่านี้ไม่ชอบให้เด็กๆ นักเรียนมีผมรุงรัง ผมจะแยงตา จึงให้นักเรียนถักเปียเสียให้เรียบร้อย ผูกริบบิ้นสีสวย ๆ อีก สมัยคุณแม่คุณป้าตัดจุกแล้วก็ผมยาวไว้เปียกันทั้งนั้นจะปล่อยยาวกันแล้ว ไม่ไว้ผมดัดกันหรอก นอกจากในชนบทนิยมอยู่ ยิ่งสมัยรัชกาลที่ ๖ ไว้ผมแบบฝรั่งกันมากแล้ว คือผมซิงเกิล คุณแม่คุณป้าก็ไว้ด้วย มีการดัดผมกันแล้วแต่แพงมาก
คุณลุงคนที่เคยเป็นตำรวจเล่าว่า พวกคนจีนไว้ผมเปียยาว เหมาะดีมากสำหรับตำรวจ เวลาตีกันหรือทำผิดอะไรมา จะจับหางเปียไว้ ถ้าหลายคนก็จะรวบผูกกันไว้เป็นพวงเลย หนีไม่ได้ สะดวกดีมาก หางเปียนี้ยาวถึงก้นนั่งทับได้ ชาวเขาที่มีเชื้อจีนก็ไว้เปียยาว
พวกแขกอินเดียรู้จักสระผม แต่เพราะกินเนยกี (ghee) มาก ทำให้กลิ่นเนยกีออกมาตามรูเหงื่อ คนไทยไม่ชอบกินเนยกีจึงว่าเหม็นแต่เขาว่าไม่เหม็น เขาเคยชิน สาว ๆ จีนไว้ผมเปีย ๒ ข้างแล้วยังทบ ๆ ให้สั้นทั้งสองข้าง ทำให้ดูน่ารัก เขาทำเพราะมีงานพิเศษเท่านั้น ธรรมดาเขาก็ไว้เปีย ๒ ข้างอย่างคุณยายไว้นั่นเอง มีคุณน้าห่าง ๆ คนหนึ่ง ไว้ผมเปียแล้วขด ๆ ผมเปียนั้นปักปิ่นผมกลัดไว้ให้อยู่ สวยดี เพราะคุณน้านั้นมีใบหน้าสวยแบบฝรั่ง จึงรับกับใบหน้ามาก ใคร ๆ ก็พากันมองและชมเปาะ ส่วนคุณป้าแม่ของคุณตาไว้เปียยาวแล้วขดเป็นมวยมีปิ่นปักเรียบร้อยสวยเชียว เพราะคุณป้าหน้ายาวคอยาวระหง คุณตาชื่นชมผมมวยขดของคุณป้านัก ผมมวยเปียของคุณป้าไม่ใหญ่นัก ขนาดกำลังพอดี ๆ
พวกนักเรียนที่ไว้ผมเปียยาวมาก ๒ ข้าง เวลาเรียนหนังสือมักถูกเพื่อนข้างหลังกระตุกเปียเสมอ กระตุกเรียกให้หันหลังไปพูดด้วยก็มี กระตุกแกล้งกันก็มี ครูเลยให้ทำเปียทบให้สั้นขึ้นมาข้างหู แล้วผูกริบบิ้น บางคนใช้สีตามวัน บางคนก็สีเดียวกันทุกวัน บางคนไว้เปียถักสวยเรียบ ครูชมเปาะ บางคนก็เบี้ยว ๆ บิด ๆ สองข้างไม่เท่ากัน บางคนแสกผมไม่เคยตรงเลย บางคนขี้เกียจถักทุกวัน เอาน้ำลูบ ๆ เอาเท่านั้น ถักวันเว้นวัน คนแสกผมไม่เคยตง พอแสกตรงขึ้นมา ครูก็ถักว่า “ถักเองหรือใครถักให้ จึงแสกตรงผิดปรกติ” ได้ความว่าแม่ถักให้จึงตรงและเรียบดี
คุณยายถักเปียเองไม่ดีหรอก เบี้ยว ๆ เปียไม่ใหญ่เพราะผมบาง จนโตจึงถักเปียได้ดี แสกผมได้ตรง คุณยายอิจฉาเพื่อนที่เขามีผู้ใหญ่ถักให้เรียบเป็นมัน บางทีถักแบบ ๔ เส้น ทำให้เปียสวยมากขึ้นอีก แต่คุณแม่ให้ริบบิ้นคุณยายผูกผมสีต่าง ๆ สวยมาก ซื้อมาจากร้านแตงต้อย ซึ่งมีริบบิ้นผูกผมสวยที่สุด มีขลิบริม มีดิ้นทองผสม เป็นตาสก๊อตสีต่าง ๆ มาจากอังกฤษ ผูกแล้วนักเรียนโต ๆ มักจะมาขอดูแล้วออกปากชม คุณแม่ห้ามบอกว่าซื้อที่ไหน เดี๋ยวจะมาแข่ง นักเรียนบางคนก็ผูกริบบิ้นไม่รีด เป็นเกลียวเชือกไปเลย แต่ก่อนนิยมไปซื้อกันที่ห้างไวท์ อะเว ตรงข้ามไปรษณีย์กลาง เป็นห้างสรรพสินค้าใหญ่แห่งแรกของอังกฤษในเมืองไทย ใครได้ริบบิ้นอะไรมาใหม่ก็จะเอามาอวดกัน ขอยืมกัน
คุณแม่บอกว่า คุณยายมีหน้าผากแคบ ควรจะไว้เปียแบบต่อ เพราะมีการหยิบผมด้านหน้าผากให้สูงขึ้นมาหน่อย และถักเปียหน่อย แล้วต่อจนหมด ช่วยให้หน้าดีขึ้น เพราะยกหน้าผากให้สูงขึ้น คุณยายก็ว่าดี คุณยายเคยถักเปียแบบทบ เมื่อเปียมันยาวมาก คุณแม่ให้ขลิบปลายออกเสียบ้าง เพราะมันออกแดง น้ำเลี้ยงไม่พอ หางเปียคุณยายไม่ยาวนักอย่างจีนอย่างแขก บางทีก็ทำแบบขดม้วนแล้วผูกโบ แปลกกว่าที่คุณป้าคุณน้าเคยทำ ไม่ใช้ปิ่นปักผมเสียบหรอก ปล่อยให้มันขดอยู่สองข้างหูอย่างนั้น
นักเรียนโรงเรียนรัฐบาลไม่ยอมให้นักเรียนไว้ผมเปียหรอก แต่ให้ตัดสั้นหมด โรงเรียนราษฎร์เท่านั้นจึงยอมให้ไว้ได้ จะไว้ผมยาวผมสั้นไม่ว่า แต่ต้องผูกรัดถักเปียให้เรียบร้อย จะปล่อยให้ยาวรุงรังไม่ได้ ครูจะจับตัดสั้นหมด จะมาปล่อยฟูหรือให้ปลิวไสวปิดหน้าแยงตาไม่ได้ ถึงมีผมสั้นก็เช่นเดียวกันต้องติดกิ๊บให้เรียบร้อย ถ้าผมยังไม่ยาวพอจะถักเปียก็ต้องรัดแกละให้เรียบร้อยด้วย
ภายหลังมีการตัดผมมากขึ้น คนก็เลิกไว้ผมตัดกัน หันมาดัดผมแบบฝรั่งกันมาก พอเป็นสาวก็ตัดเปียดัดผมกัน ฝรั่งเองก็เช่นกัน เคยไว้ผมเปียยาว ๆ พันรอบหัวก็พากันเลิกตัดผมกันหมด คนจีนสาว ๆ ก็เหมือนกัน เหลือแต่คนแก่ ๆ ไว้เปียยาวอย่างเดิม คนอินเดียนี้ดีมาก อย่างไร ๆ เสียก็ไว้ผมเปียยาวอย่างเดิม รักษาวัฒนธรรมเดิมอย่างเหนียวแน่น
นักแปลนิยายจีนระดับตำนาน ผู้สร้างเรื่องกระแสกำลังภายในให้ระบาดในหมู่นักอ่าน
นักเขียนหญิง เจ้าของหนังสือ เมื่อคุณตาคุณยายยังเด็ก ความเรียงเล่าชีวิตและวิถีคนไทยในยุครัชกาลที่ 6-8
เรื่องราวชีวิตของนักบินยุคสงครามโลก ผู้เขียนวรรณกรรมเยาวชนเรื่องดัง ‘เจ้าชายน้อย’
นักเขียนเรื่องสยองขวัญของเมืองไทย ซึ่งครั้งหนึ่งเคยมีอิทธิพลต่อผู้อ่าน และยังคงอยู่ในใจของผู้คนมาจนถึงทุกวันนี้
นักเขียน นักปราชญ์ เจ้าของซีไรต์เล่มแรกของเมืองไทย ผู้ทำให้คนไทยเปลี่ยนมุมมองต่อชาวอีสาน ผ่านหนังสือเรื่องลูกอีสาน
หมอเมืองพร้าว ต้นแบบหนึ่งของหมอชนบท ผู้พยายามต่อสู้กับระบบราชการ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน
เครือข่ายที่ทำงานเรื่องการ ‘ตายดี’ เพื่อช่วยให้ผู้คนสามารถจากไปได้มีความสุข และลดความขัดแย้งแก่คนรอบใกล้ที่คอยดูแลด้วย
เครือข่ายอนุรักษ์ที่อยากส่งต่อเรื่องราว ความรู้เกี่ยวกับวาฬบรูด้า และผองเพื่อนในท้องทะเล เพื่อให้ทุกคนลุกขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งในการปกปักรักษาสิ่งมีชีวิตและทรัพยากรธรรมชาติใต้ผืนน้ำให้คงอยู่ตลอดไป
ตำนานศิลปินร็อก ผู้จุดกระแสเพลงเก็บตะวันให้ข้ามกาลเวลา รวมทั้งยังเป็นผู้สร้างยุคใหม่ให้แก่ RS สู่การเป็นเบอร์ 2 ของวงการเพลงไทยอย่างแท้จริง
คุณยายผู้เป็นสัญลักษณ์ของละครเมืองไทย ที่มีผลงานต่อเนื่องมากว่า 40 ปี ทั้ง คู่กรรม สายโลหิต บุพเพสันนิวาส
Armchair ศิลปินขวัญใจวัยรุ่นยุคอินดี้ ผู้บุกเบิกเพลงบอสซาโนวา เจ้าของเพลงฮิตสุดละมุนที่ยังตรึงอยู่ในใจแฟนเพลงถึงวันนี้
นักเขียนการ์ตูนที่พาผลงานมังงะจากเอเชียให้โด่งดังไปไกลทั่วโลก ปลุกกระแสดราก้อนบอล ให้เข้าอยู่ในใจเด็กๆ ยาวนานกว่า 3 ทศวรรษ
COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO. ALL RIGHTS RESERVED.