คนใกล้ตัวจะรู้ว่า ต่อให้การสำรวจพรรณไม้จะต้องบุกป่าฝ่าดง ยากลำบากเพียงใด ชายคนนี้จะมุ่งมั่นไปด้วยตัวเองเสมอ
ไทยเป็นประเทศที่มีพันธุ์พืชหลากหลายมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก มีการค้นพบพืชมากกว่า 15,000 ชนิด ในปัจจุบันก็ยังสำรวจพบพืชชนิดใหม่ของโลกอยู่อย่างต่อเนื่อง
สำหรับคนทั่วไป สิ่งเหล่านี้อาจฟังดูไกลตัว ถ้าไม่ใช่ผักผลไม้ที่กินได้ หรือไม้ดอกไม้ประดับที่สวยงาม เราก็แทบจะไม่รู้จักเลย แต่แท้จริงแล้วความรู้ด้านพืชชนิดต่างๆ นั้นเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง เพราะความเป็นอยู่ของมนุษย์ชาติตั้งแต่เกิดจนตาย ล้วนผูกพันอยู่กับต้นไม้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
ข้อมูลเหล่านี้ไม่ได้ใช้เฉพาะกับการเกษตร หรือวิจัยทดลองเท่านั้น แต่ยังนำไปใช้ประโยชน์ด้านเภสัชกรรม ทั้งตรวจสอบการแพร่กระจาย ฤดูกาลที่ติดดอกออกผล เพื่อนำพันธ์ุพืชมาทำยา การหาคุณสมบัติของพืชที่ช่วยป้องกันน้ำท่วม ดินพังทลาย แม้แต่คดีฆาตรกรรมที่มีเศษใบไม้เป็นหลักฐาน ก็สามารถตรวจสอบย้อนหลังไปได้ว่าผู้ก่อเหตุผ่านไปที่ไหนมาบ้าง เป็นต้น
คนที่ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลพืชพรรณเหล่านี้ คือ นักพฤกษศาสตร์ ผู้เดินสำรวจเก็บตัวอย่างจากป่า นำมาตรวจสอบ วิจัย จัดหมวดหมู่ตามลำดับอนุกรมวิธาน ทำให้คนในวิชาชีพอื่นนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ได้โดยสะดวก
ยอดมนุษย์..คนธรรมดา อยากชวนไปรู้จักกับชีวิตของผู้บุกเบิกงานพฤกษศาสตร์ไทยในยุคปัจจุบัน และยกระดับมาตรฐานสู่สากล ชายผู้เป็นหัวขบวนในการก่อตั้งโครงการพรรณพฤกษชาติของประเทศไทย (Flora of Thailand) และทำให้ความรู้ในด้านนี้ก้าวไกลอย่างมาก
ศาสตราจารย์ เต็ม สมิตินันทน์
แม้ชีวิตคนไทยจะผูกพันกับป่ามายาวนาน แต่เราไม่เคยมีการเก็บข้อมูลพรรณไม้ตามหลักวิชาการอย่างเป็นระบบระเบียบมาก่อน ต่างกับชาวตะวันตกที่ศึกษามาหลายร้อยปีและเข้ามาสำรวจพันธุ์พืชในบ้านเราตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา จนเมื่อก่อตั้งกรมป่าไม้ในสมัยรัชกาลที่ 5 ถึงได้เริ่มงานด้านนี้อย่างจริงจังเมื่อปี 2449 หรือราว 100 กว่าปีที่แล้ว
“การรู้จักพรรณพืชของเราโดยกว้างขวางนั้น เท่ากับรู้จักว่า เรามีทรัพยากรธรรมชาติชนิดใดบ้าง
“การค้นคว้าด้านการใช้ประโยชน์และของป่า จำเป็นต้องอาศัยวิชาการพฤกษศาสตร์เป็นหลัก.. เพราะบรรดาตัวอย่างไม้และของป่าที่ได้สำรวจเก็บหามานั้น หากไม่ทราบชนิดแล้ว ก็ย่อมไม่มีคุณค่าทางวิชาการแต่อย่างใด..” อาจารย์เต็ม เคยอธิบายถึงความสำคัญของงานด้านพฤกษศาสตร์ ที่มีคุณค่ามหาศาล
อย่างไรก็ตาม งานประเภทนี้ทั้งยากและท้าทาย จึงมีคนทำกันแค่เพียงหยิบมือ หนึ่งในนั้นคือข้าราชการกรมป่าไม้ ที่ชื่อ เต็ม สมิตินันทน์
ย้อนกลับไปราวปี 2507 ในยุคแรกเริ่มของการจัดตั้งหอพรรณไม้ (BKF-Bangkok Forest Herbarium) เพื่อเก็บสะสมและรักษาตัวอย่างของพืชในประเทศไทย ทีมงานสำรวจมีรถจี๊ปเพียงคันเดียว สำหรับบุกไปเก็บข้อมูลตามที่ต่างๆ
อาจารย์เต็ม ในฐานะหัวหน้าทีม จะจองที่นั่งด้านหน้าคนขับ ส่วนลูกน้องหรือลูกศิษย์ลูกหาที่ติดตามไปด้วยนั่งเบียดกันที่เบาะหลัง ภายในรถเต็มไปด้วยข้าวสารและเนื้อเค็ม รวมถึงอาหารแห้งสำหรับการค้างแรมเพื่อเก็บข้อมูลในป่า
เวลานั้นถนนส่วนใหญ่ยังเป็นลูกรัง ต้องเดินทางหลายวันกว่าจะถึงจุดหมาย หลายครั้งทีมสำรวจ ขอพักแรมตามหมู่บ้านเพราะไม่มีที่พักกลางทาง และเมื่อถึงพื้นที่ทำงานก็ต้องเดินเก็บข้อมูลท่ามกลางแสงแดดที่ร้อนจ้า ฝนตกจนเปียกปอน หรืออากาศที่หนาวเหน็บจนน้ำค้างกลายเป็นน้ำแข็ง บางวันต้องโรยขี้เถ้าเอาไว้รอบเต็นท์ ใส่ยาเส้นไว้ในขาพับกางเกงเพื่อป้องกันฝูงทากดูดเลือด
ภารกิจของพวกเขาคือเก็บตัวอย่างพรรณไม้ (specimen) เพื่อนำมาตรวจสอบจำแนกชนิด บางครั้งถ้าพืชยังไม่ออกดอก ก็ต้องลงพื้นที่เดิมซ้ำ เพราะดอกเป็นส่วนที่ใช้บ่งบอกชนิดของพืชได้ดี
การเก็บตัวอย่างก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะสมัยนั้นยังไม่มีการดองด้วยแอลกอฮอล์ จึงต้องใช้วิธีเก็บพืชไว้ในแผงอัดพันธุ์ไม้ โดยนำมาย่างบนเตาไฟให้แห้งเสียก่อน รุ่งเช้าก็ต้องตื่นมาเปลี่ยนกระดาษรองตัวอย่างอีกครั้ง กระบวนการทั้งหมดต้องทำให้เสร็จภายใน 1 วัน เพื่อให้ตัวอย่างมีสภาพสมบูรณ์ที่สุด พร้อมกับบันทึกข้อมูลทั้งตำแหน่งที่ตั้งที่ค้นพบ ชนิดของป่า ลักษณะของลำต้น เปลือก พูพอน ดอก ผล ฯลฯ ตลอดจนเก็บกล้าหรือเมล็ดมาเพาะปลูกเพื่อศึกษาต่อโดยละเอียด
เมื่อกลับมา ทีมสำรวจจะนำตัวอย่างมาศึกษาเพื่อระบุชนิดของพืช โดยตรวจสอบกับตัวอย่างพรรณไม้ที่เคยศึกษาไว้แล้ว บางครั้งก็ต้องส่งไปเปรียบเทียบกับตัวอย่างพืชในต่างประเทศเพื่อความแน่ใจอีกครั้ง ก่อนจัดแยกเก็บเข้าตามหมวดหมู่ไว้ในหอพรรณไม้
การทำงานที่ยากและลำบากเช่นนี้ ทำให้ยุคนั้นมีนักพฤกษศาสตร์น้อยเหลือเกิน เมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณงานที่มีอยู่มหาศาลในทุกพื้นที่ป่าทั่วประเทศ
“เรามีนักพฤกษศาสตร์ ที่นับตัวกันได้ โดยเฉพาะนักพฤกษศาสตร์สาขาจำแนกพืชพรรณ (Taxonomy) ทั้งนี้เพราะเรายังขาดผู้ที่สนใจศึกษาวิชาการแขนงนี้กันอย่างจริงจัง จะเป็นด้วยวิชานี้เมื่อศึกษามาแล้ว จะทำมาหากินอะไรนอกไปจากเป็นนักวิชาการก็ไม่ได้ อันเป็นการขัดต่อปกติวิสัยของปุถุชน ซึ่งต้องการความมั่นคงในชีวิต”
แม้จะเป็นงานที่ต้องอาศัยใจรักจริง และเหมือนกับปิดทองหลังพระในผืนป่า เพราะคนส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้จัก และไม่เห็นความสำคัญ แต่อาจารย์เต็ม ก็ตั้งใจที่จะให้งานพฤกษศาสตร์ของประเทศไทยเจริญก้าวหน้า เพราะมองเห็นว่าจะมีประโยชน์อย่างมากในอนาคต
ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่เขาตระเวนออกสำรวจในผืนป่าทั่วประเทศ สามารถเก็บตัวอย่างไว้ในหอพรรณไม้ได้ถึง 12,000 รายการ หลายๆ ชนิดเป็นพืชชนิดใหม่ของโลก นับว่าเป็นผลงานที่มีคุณค่าทางวิชาการอย่างมหาศาล ชนิดที่ไม่สามารถประเมินเป็นตัวเงินได้เลย
เพื่อนคนหนึ่งของ อาจารย์เต็ม เคยกล่าวไว้ว่า ถ้าเขายังทำงานป่าไม้จังหวัดที่ต้องปะทะกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองและผู้มีอาชีพทำงานเกี่ยวกับป่าไม้ เหมือนในช่วงแรกของการทำงาน เขาอาจจะไม่ได้มีชีวิตยืนยาวนัก ด้วยความที่เป็นคนเอาจริงเอาจัง ซื่อตรงต่อวิชาชีพ และพูดจาเถรตรงไม่ยอมใคร
เต็มเรียนจบที่โรงเรียนป่าไม้ จังหวัดแพร่ เมื่อปี 2482 เป็นลูกศิษย์คนโปรดของ คิด สุวรรณสุทธิ อาจารย์สอนวิชาพฤกษศาสตร์ของโรงเรียน เพราะเขาจดจำพรรณไม้ได้แทบทุกชนิด มีความรู้และความจำยอดเยี่ยม นอกจากนี้ยังเป็นที่รักของเพื่อนๆ พี่น้อง เพราะอารณ์ดี ไม่โกรธใครง่ายๆ ไม่เอารัดเอาเปรียบ
หลังจากเรียนจบ เขาได้รับการบรรจุเป็นป่าไม้จังหวัดน่านอยู่ระยะหนึ่ง แต่ด้วยวิธีทำงานดังที่ได้กล่าวไป กรมป่าไม้จึงย้ายเขามาอยู่ที่กองค้นคว้าและของป่า ทำงานด้านวิชาการ อยู่กับต้นไม้ใบหญ้าแทนที่จะต้องเผชิญหน้ากับพวกบุกรุกป่าโดยตรง
การโยกย้ายครั้งนั้นกลับส่งผลดีต่อชายหนุ่มอย่างไม่น่าเชื่อ เพราะเขาได้ใช้เวลาออกสำรวจพรรณไม้ต่างๆ จนเกิดความเชี่ยวชาญ สามารถบอกชื่อต้นไม้ตั้งแต่ต้นเล็กไปจนใหญ่ได้อย่างแม่นยำ ทำให้ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นหัวหน้าแผนกพฤกษศาสตร์และสัตวศาสตร์ กองค้นคว้า และได้กลับมาทำงานร่วมกับ อาจารย์คิด สุวรรณสุทธิ ซึ่งเป็นหัวหน้ากอง ช่วยทำภารกิจในการสำรวจพรรณไม้ในป่าทั่วประเทศไทย
ในปี 2495 เต็มได้รับคัดเลือกจากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO ให้เข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรพฤกษศาสตร์ เป็นเวลา 1 ปี ที่ประเทศอินเดีย สก็อตแลนด์ เนเธอร์แลนด์และฝรั่งเศส หลังจากนั้นได้ไปทำงานที่เดนมาร์กอีก 5 เดือน นอกจากได้ความรู้มากมาย เขายังได้เห็นการทำงานของนักพฤกษศาสตร์ระดับโลกและนำวิธีการมาปรับใช้ ตลอดจนได้รู้จักกับเพื่อนชาวต่างชาติในสายงานนี้ ซึ่งต่อมาได้ส่งตัวอย่างพันธุ์ไม้เพื่อตรวจสอบแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน
แม้ไม่ได้เรียนจบมหาวิทยาลัย แต่ความสามารถของเขาเป็นที่ยอมรับอย่างสูง อาจารย์เต็มเคยพานักพฤกษศาสตร์ชาวเดนมาร์ก ค้นหาต้นยางในป่าอำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส หลังพบลูกยาง 2 เมล็ด ปนอยู่กับกลุ่มลูกไม้ยูง จนพบต้นยางที่อยู่ห่างไปไกลถึง 1 กิโลเมตร และมีเพียงต้นเดียวเท่านั้น แสดงให้เห็นถึงความรู้ด้านพฤกษศาสตร์เป็นอย่างดี
อีกครั้งหนึ่งที่พาอาจารย์ฝรั่งจากอเมริกา ไปเก็บพรรณไม้ที่ตำบลป่าแป๋ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ประมาณ 240 ชนิด อาจารย์เต็มสามารถบอกชื่อพื้นเมืองและชื่อวิทยาศาสตร์ได้อย่างถูกต้องทุกชนิด ทำให้คณะสำรวจประทับใจและชื่นชมเป็นอย่างยิ่ง
ขณะปฏิบัติงานที่หอพรรณไม้ อาจารย์จะจดจ่ออยู่กับตัวอย่างและตำราพฤกษศาสตร์ ที่วางเต็มโต๊ะทำงาน จนดูเหมือนคร่ำเครียด แต่ผู้ใกล้ชิดทราบดีว่า อาจารย์ทำอย่างนั้นด้วยความสุข ความเคยชิน ยิ่งเวลาที่ออกสำรวจพรรณไม้ตามป่าท้องที่ต่างๆ เขาจะเดินดูต้นนั้นต้นนี้ หยิบขึ้นมาเพ่งพิจารณาได้ทั้งวัน จนลูกศิษย์ต้องเรียกให้มาร่วมรับประทานอาหารกลางวัน แทบทุกครั้ง
ตลอดหลายปีที่อาจารย์เต็มเข้ามาทำงานโดยรับช่วงต่อจากอาจารย์คิด ได้ช่วยยกระดับการทำงานของกรมป่าไปสู่การยอมรับในระดับสากล นอกจากมีการเก็บข้อมูลที่เป็นระบบ ยังสร้างความร่วมมือกับหอพรรณไม้ของชาติอื่นๆ เช่น ฝรั่งเศส อังกฤษ สก็อตแลนด์ อเมริกา ญี่ปุ่น มาเลเซีย สิงคโปร์ อินเดีย ทั้งส่งตัวอย่างไปเก็บและแลกเปลี่ยนกัน ตลอดจนช่วยตรวจสอบชื่อพรรณไม้ของไทยให้เป็นจำนวนมาก ทำให้การศึกษามีความถูกต้องแม่นยำยิ่งขึ้น ความรู้ด้านนี้จึงพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้เขาได้บุกเบิกงานวิจัยที่สำคัญ คือ โครงการพรรณพฤกษชาติแห่งประเทศไทย (Flora of Thailand) ขึ้นในปี 2510 เพราะเล็งเห็นว่า บรรดาประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่า ลาว กัมพูชา มาเลเซีย อินเดีย ฯลฯ ต่างมีหนังสือพรรณพฤกษชาติของประเทศกันนานแล้ว ดังนั้นประเทศไทยก็ควรจะมีหนังสือลักษณะเดียวกัน
อาจารย์เต็มขอความร่วมมือไปยังหอพรรณไม้ประเทศต่างๆ ให้ช่วยส่งนักพฤกษศาสตร์เข้ามาสำรวจร่วมกับทีมงานชาวไทยเพื่อนำเนื้อหามาเรียบเรียงเป็นหนังสือ ‘ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย’ โดยอาจารย์รับหน้าที่บรรณาธิการฝ่ายไทย และ Professor Kai Larsen จากมหาวิทยาลัยออร์ เดนมาร์ก (AAU) เป็นบรรณาธิการฝ่ายต่างประเทศ ในที่สุดโครงการก็สำเร็จได้ด้วยดี มีผลงานวิจัยเกิดขึ้นเป็นที่ยอมรับในระดับสากล รวมทั้งหนังสือเล่มนี้ก็กลายเป็นหนังสืออ้างอิงเล่มสำคัญ ที่มีการปรับปรุงหลายครั้งและใช้มาจนถึงปัจจุบัน
ด้วยผลงานที่สร้างชื่อเสียงในระดับชาติ ทำให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ให้อาจารย์เต็ม นับเป็นข้าราชการกรมป่าไม้คนแรกที่ได้รับเกียรตินี้
เรียกได้ว่า หากไม่มีการเปลี่ยนเส้นทางชีวิตในครั้งนั้น วงการพฤกษศาสตร์ไทยอาจไม่ได้ก้าวหน้ารวดเร็วมาจนถึงทุกวันนี้
เรามีนักพฤกษศาสตร์ ที่นับตัวกันได้ ... เพราะเรายังขาดผู้ที่สนใจศึกษาวิชาการแขนงนี้กันอย่างจริงจัง จะเป็นด้วยวิชานี้เมื่อศึกษามาแล้ว จะทำมาหากินอะไรนอกไปจากเป็นนักวิชาการก็ไม่ได้ อันเป็นการขัดต่อปกติวิสัยของปุถุชน ซึ่งต้องการความมั่นคงในชีวิต”
“การที่จะศึกษาพรรณไม้ให้แตกฉาน จำเป็นอย่างยิ่งจะต้องมีปัจจัย 4 ประการ คือ 1. นักพฤกษศาสตร์ 2. หอสมุดพฤกษศาสตร์ 3. หอพรรณไม้ 4. สวนพฤกษศาสตร์ ปัจจัยทั้ง 4 นี้ ปัจจุบันนับว่า ของเรายังบกพร่อง” อาจารย์เต็ม เคยเขียนถึงปัญหาของการศึกษาพืชพรรณเมืองไทยไว้ในหนังสือ วิชาพฤกษศาสตร์กับการป่าไม้
อาจเพราะเหตุนี้ เขาจึงให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการสร้างองค์ประกอบทั้ง 4 โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักพฤกษศาสตร์ ที่จะทำหน้าที่ขับเคลื่อนความรู้ต่อไปในอนาคต
ตลอดระยะเวลาที่ทำงานและช่วงเกษียณราชการ อาจารย์เต็มมักพยายามช่วยติดต่อประสานงานหาแหล่งทุน เพื่อผลักดันนักพฤกษศาสตร์ของกรมป่าไม้ให้ได้ศึกษาต่อระดับสูงในต่างประเทศ เช่น ดร. ธวัชชัย สันติสุข, ดร.วีระชัย ณ นคร, ดร.ชวลิต นิยมธรรม เป็นต้น บางครั้งเมื่อทราบข่าวการเปิดรับนักศึกษาด้านนี้ อาจารย์ก็จะเขียนจดหมายมาแจ้งลูกศิษย์
แต่สิ่งที่หลายคนไม่เคยลืม คือประสบการณ์ออกไปเรียนรู้ภาคสนามและสำรวจพรรณไม้ในป่า อาจารย์เต็มจะเดินนำหน้า อธิบายไปเรื่อยๆ ว่าต้นไม้ต้นนั้นชื่ออะไร อยู่วงศ์ใด สังเกตได้อย่างไร บรรดานักพฤกษศาสตร์รุ่นใหม่ ต่างก็เดินบ้างวิ่งบ้างเพื่อจะจดคำอธิบายและตามให้ทัน เพราะอาจารย์เดินเร็วและตาไวมาก
“การเรียนพฤกษศาสตร์ ไม่ได้หยุดแค่การรู้จักชื่อพืชชนิดพรรณไม้เท่านั้น จำเป็นต้องขวนขวายหาความรู้เกี่ยวกับพรรณไม้ชนิดนั้นๆ อย่างละเอียดพิศดารต่อไป เช่น อุปนิสัย ถิ่นกำเนิด ตลอดจนคุณ โทษ และศัตรูของมัน”
เขามักเน้นย้ำกับลูกศิษย์เสมอ พร้อมกับแนะนำให้ขวายหาความรู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งด้านธรณีวิทยา เพื่อวิเคราะห์ชนิดของหินและดินที่ต้นไม้นั้นอาศัย เรื่องสัตว์ต่างๆ ที่มีคุณและโทษกับต้นไม้ รวมถึงความรู้ด้านอินทรีย์–อนินทรีย์เคมี ที่เป็นส่วนประกอบของอาหารพืช ทั้งหมดนี้ช่วยให้เข้าใจพืชพรรณต่างๆ ลึกซึ้งยิ่งขึ้น
อาจารย์เต็มยังเป็นนักตั้งชื่อพรรณไม้ตัวยง หลายครั้งที่ลูกศิษย์ส่งตัวอย่างให้ตรวจสอบ แล้วขอให้ช่วยตั้งชื่อไทยให้ด้วย มีครั้งหนึ่งเขาตั้งชื่อของ Afgekia mahidolae B. L. Burtt & Chermsir พืชชนิดหนึ่งที่ลักษณะคล้ายถั่วแปปช้าง ซึ่งค้นพบแถบจังหวัดกาญจนบุรี ว่า ‘กันภัย’ หรือ ‘กันภัยมหิดล’ โดยอาจารย์ให้เหตุผลว่าในเรื่องขุนช้างขุนแผนตอนที่ย่างกุมารทองนั้นได้ใช้เถากันภัยมัดกุมารทองไว้
ด้วยเหตุที่เนื้อเรื่องขุนช้างขุนแผนเกิดขึ้นในแถบจังหวัดกาญจนบุรี และสุพรรณบุรี เถากันภัยดังกล่าวจึงน่าจะเป็นพืชชนิดเดียวกับพืชที่เพิ่งค้นพบ ซึ่งต่อมากันภัยมหิดลได้รับเลือกให้เป็นต้นไม้สัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยมหิดลอีกด้วย
หลังเกษียณจากราชการ ในตำแหน่งรองอธิบดีกรมป่าไม้ฝ่ายวิชาการ อาจารย์เต็มก็ยังใช้เวลา 15 ปีสุดท้ายของชีวิต ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม เดินทางไปปฏิบัติงานด้านพฤกษศาสตร์ที่หอพรรณไม้ในต่างประเทศ เดินสายบรรยายให้ความรู้ สำรวจพรรณไม้ รวมถึงเขียนบทความวิชาการอยู่อย่างต่อเนื่อง
ด้วยมิตรภาพและความรู้ที่อาจารย์มอบให้ นักพฤกษศาสตร์จึงตั้งชื่อพรรณไม้ที่ค้นพบใหม่ของโลก โดยขนานนามเพื่อเป็นเกียรติแด่อาจารย์เต็ม ถึง 16 ชนิด เช่น หญ้านายเต็ม (Isachne smitinandiana A. Camus) กล้วยไม้สิงโตอาจารย์เต็ม (Bulbophyllum smitinandii)
แม้วันนี้ อาจารย์เต็มจะจากไปแล้ว แต่สิ่งที่ชายผู้นี้วางรากฐานไว้ก็นับได้ว่ามีประโยชน์มากมายต่อคนรุ่นหลัง ไม่ใช่เพียงด้านพฤกษศาสตร์เท่านั้น แต่ยังเป็นแบบอย่างที่ดีในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ดังที่อาจารย์มักสอนลูกศิษย์ว่า
“จงรู้สึกเบื่อเมื่อไม่ได้ทำงาน อย่าเสียดายแรงกาย เสียดายคำพูดดีๆ เสียดายการไหว้ และประการสำคัญอย่าเป็นคนแล้งน้ำใจ สิ่งเหล่านี้ไม่ต้องซื้อหามาให้เปลืองเงินทอง ผู้ใดประพฤติได้ย่อมเป็นมงคลอันสูงสุด”
เรื่องราวของผู้บุกเบิกวงการดาราศาสตร์เมืองไทย ผู้ร่วมก่อตั้งท้องฟ้าจำลอง และยังได้รับเกียรติให้นำชื่อไปเป็นชื่อดาวเคราะห์น้อยหมายเลข 6125 ด้วย
อาจารย์และนักดาราศาสตร์ยุคบุกเบิกของเมืองไทย ผู้ทำให้คนจำนวนมากเข้าใจเรื่องโลก และปรากฏการณ์บนท้องฟ้ามากยิ่งขึ
อาจารย์แพทย์และนักวิจัย ผู้พยายามสร้างรากฐานความมั่นคงทางด้านสุขภาพแก่สังคมไทย ผ่านการสร้างวัคซีนรักษาโรค
เรื่องราวของนายแพทย์ผู้มีความฝันอันยิ่งใหญ่อยากจะสร้างยารักษามะเร็งให้คนไทย
นักอนุรักษ์ทรัพยากรทะเล ผู้อยู่เบื้องหลังนโยบายการดูแลสิ่งแวดล้อม และช่วยยังสื่อสารไปยังประชาชนว่า ทำไมเราถึงต้องทะเล
นักวิจัยแห่งจุฬาฯ ผู้ทำงานเรื่องขยะมายาวนาน และเป็นผู้บุกเบิกโครงการ Chula Zero Waste
เครือข่ายที่ทำงานเรื่องการ ‘ตายดี’ เพื่อช่วยให้ผู้คนสามารถจากไปได้มีความสุข และลดความขัดแย้งแก่คนรอบใกล้ที่คอยดูแลด้วย
เครือข่ายอนุรักษ์ที่อยากส่งต่อเรื่องราว ความรู้เกี่ยวกับวาฬบรูด้า และผองเพื่อนในท้องทะเล เพื่อให้ทุกคนลุกขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งในการปกปักรักษาสิ่งมีชีวิตและทรัพยากรธรรมชาติใต้ผืนน้ำให้คงอยู่ตลอดไป
ตำนานศิลปินร็อก ผู้จุดกระแสเพลงเก็บตะวันให้ข้ามกาลเวลา รวมทั้งยังเป็นผู้สร้างยุคใหม่ให้แก่ RS สู่การเป็นเบอร์ 2 ของวงการเพลงไทยอย่างแท้จริง
คุณยายผู้เป็นสัญลักษณ์ของละครเมืองไทย ที่มีผลงานต่อเนื่องมากว่า 40 ปี ทั้ง คู่กรรม สายโลหิต บุพเพสันนิวาส
Armchair ศิลปินขวัญใจวัยรุ่นยุคอินดี้ ผู้บุกเบิกเพลงบอสซาโนวา เจ้าของเพลงฮิตสุดละมุนที่ยังตรึงอยู่ในใจแฟนเพลงถึงวันนี้
นักเขียนการ์ตูนที่พาผลงานมังงะจากเอเชียให้โด่งดังไปไกลทั่วโลก ปลุกกระแสดราก้อนบอล ให้เข้าอยู่ในใจเด็กๆ ยาวนานกว่า 3 ทศวรรษ
COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO. ALL RIGHTS RESERVED.