The Nation ไม่เพียงแต่จะเป็นหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษของคนไทยแห่งแรกเท่านั้น แต่สุทธิชัยยังตั้งใจให้เป็นต้นแบบของสิ่งพิมพ์ที่เติบโตขึ้นโดยปราศจากนายทุน
ในช่วงแรกๆ มีผู้มีบารมีหลายคนพยายามเข้ามาช่วยเหลือด้วยการเสนอตัวเป็นนายทุน แต่สุทธิชัยปฏิเสธไปหมด แม้แต่หุ้นบริษัทที่นำมาแบ่งขายก็ตั้งเอาไว้ไม่ให้มีใครซื้อเกิน 5% เพื่อกันไม่ให้มีเสียงส่วนใหญ่ เพราะสิ่งที่เขาต้องการคือการที่กองบรรณาธิการเป็นผู้กำหนดเนื้อหาด้วยตนเอง ไม่ใช่นายทุน
หลังขายหุ้นบริษัทได้เงินมา 2 ล้านบาท แต่เพียง 3 เดือนก็ใช้เงินหมด เพราะต้องไปจ้างโรงพิมพ์ ซึ่งราคาแพงเพราะไม่มีอำนาจต่อรองอะไรเลย ค่าพิมพ์ตกฉบับละ 1.5 บาท ขาย 2 บาท หักค่าเงินเดือนพนักงาน ค่าไฟฟ้า และค่าใช้จ่ายต่างๆ ก็ไม่คุ้ม แถมพอหาโฆษณาได้ เจ้าของโรงพิมพ์ก็ยังมาขอเพิ่มค่าพิมพ์ ดูแล้วแทบไม่มีทางที่บริษัทจะอยู่ได้
แต่ด้วยความโชคดีจึงได้รับแรงสนับสนุนจากผู้คนที่หลากหลาย โดยเฉพาะแวดวงโฆษณา เพราะทุกคนเห็นตรงกันว่าหากปล่อยให้เนชั่นล้มลง ก็หมายความว่าฝรั่งก็จะผูกขาดในตลาดสื่อทันที และสิ่งที่ตามมาคือค่าโฆษณาที่จะต้องปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อความอยู่รอดของพวกเขาด้วย ทำให้เนชั่นประคองตัวผ่านพ้นวิกฤตไปได้
แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่า คือการสร้างศรัทธาให้คนอ่าน สุทธิชัยเผยความคิดในขณะนั้นว่า การทำงานอย่างเต็มที่ ตรงไปตรงมา และยึดมั่นในหลักการคือ หนทางรอดที่จะทำให้หนังสือพิมพ์เติบโตอย่างแท้จริง
เพราะจุดอ่อนที่สำคัญของวงการสื่อบ้านเราคือ การที่นักข่าวไม่ยอมหาข่าวเอง แต่รวมกลุ่มกันแบ่งข่าว หากส่งโดยไม่รอฉบับอื่นก็จะกลายเป็นแกะดำ ถูกตั้งข้อรังเกียจจากเพื่อนสื่อด้วยกันเอง