สมพร หารพรม : นักผจญภัยบนโลกอันซับซ้อนของคนไร้บ้าน

<< แชร์บทความนี้

เมื่อ 20 ปีก่อน เคยมีคนหลายร้อยชีวิตใช้บริเวณท้องสนามหลวงเป็นบ้านของตัวเอง

ในเวลานั้น คนส่วนใหญ่ต่างมองว่า คนกลุ่มนี้คือบุคคลที่น่ารังเกียจ เป็นตัวปัญหาของสังคมที่ต้องเร่งกำจัดออกโดยด่วน

แต่กลับมีคนกลุ่มเล็กๆ ที่พยายามจะทำความเข้าใจ และค้นหาคำตอบว่าอะไรคือเหตุผลที่ทำให้คนคนหนึ่งตัดสินใจเลือกใช้ชีวิตแบบนี้

โด่ง-สมพร หารพรม ผู้ประสานงาน มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย คือหนึ่งในคนไม่กี่คนนั้น

เขาคือนักพัฒนาสังคมคนแรกๆ ของเมืองไทยที่ทำงานเรื่องคนไร้บ้านมายาวนานกว่า 20 ปี

เขามีส่วนสำคัญที่ช่วยเปิดโลกให้สังคมได้เห็นว่า คนชายขอบกลุ่มนี้แท้จริงแล้วก็ไม่ต่างจากคนทุกคนที่ต้องการโอกาส ต้องการชีวิตที่ดีขึ้น

และนั่นเองที่นำไปสู่ความพยายามยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไร้บ้าน ตั้งแต่การจัดหาที่อยู่อาศัย การสร้างอาชีพผ่านโมเดลต่างๆ เช่น การรวมกลุ่มอาชีพ ไปจนถึงการจัดตั้งบริษัท ไทยโฮปฟูล จำกัด (Thai Hopeful) เพื่อรับงานจากผู้ประกอบการ

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ร่วมกับ ​​กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ขอพาทุกคนไปพูดคุยกับ 1 ใน 30 บุคคลจากโครงการคนเล็กเปลี่ยนโลก มนุษย์ตัวเล็กๆ ที่อยากพิสูจน์ให้โลกเห็นว่า คนไร้บ้านก็มีศักยภาพไม่แพ้ใครเหมือนกัน

จาก ‘ปลัด’ สู่ ‘ท้องถนน’

พ่อแม่ของโด่ง เคยฝันอยากจะเห็นเขาทำงานเป็นปลัด อบต.

หากแต่เส้นทางความจริงกลับไม่เป็นไปอย่างที่คิด เพราะสุดท้ายงานที่เขาทำตลอด 2 ทศวรรษ ก็คือ งานเกี่ยวกับคนไร้บ้าน

เดิมทีโด่งเป็นเด็กร้อยเอ็ด ในหัวของเขามีแต่เรื่องกีฬากับศิลปะเท่านั้น เขามีความหวังจะเรียนต่อที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ แต่น่าเสียดายที่สอบไม่ผ่าน จึงเบนเข็มไปเลือกเรียนคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ตามที่พ่อแม่ต้องการ

“พ่อแม่อยากให้เรียนอะไรที่ไปทำงานราชการได้ เขาอยากให้เป็นปลัด พอดีเราเห็นรุ่นพี่หลายคนที่ทำงานสายนี้เข้าเรียนที่รามคำแหง ก็เลยมาสมัครที่นี่”

หากแต่ชีวิตในรั้วพ่อขุนนั้นมีอะไรมากกว่าที่คิด

โด่งได้ร่วมกิจกรรมกับชมรม ‘ศึกษาปัญหาแหล่งเสื่อมโทรม’ ซึ่งเป็นชมรมที่พูดถึงเรื่องชนบทกับเมือง เขาได้ออกค่ายอาสา พูดคุยกับคนต่างจังหวัดที่มาขายพวงมาลัย ขายผลไม้ หรืออยู่ตามไซต์งานก่อสร้าง เพื่อค้นหาคำตอบว่าทำไมคนเหล่านี้ถึงหลั่งไหลเข้ามาใช้แรงงานในเมืองกรุง 

หากแต่กิจกรรมที่เป็นจุดหักเห คือ ค่ายสลัม หรือค่ายเรียนรู้คนจนเมืองของมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย เพราะทำให้เขาได้เข้าใจถึงความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่ในสังคมไทยมากมาย

“ตอนแรกก็ไม่ได้คิดอะไรหรอก แต่พอมาทำกิจกรรมค่าย โดยเฉพาะที่ชุมชนใต้ทางด่วนบางนา ทำให้เราได้เห็นชีวิตจริง แล้วตอนหลังมีโอกาสได้อ่านหนังสือเชิงวิเคราะห์สังคม เราก็ได้เรียนรู้ แล้วคิดตาม อย่างกรุงเทพฯ ที่หลายคนบอกว่า เป็นเมืองที่เจริญแล้ว แต่ทำไมยังมีคนที่มีปัญหาอยู่ ต้องอยู่ใต้สะพาน ต้องทนกลิ่นน้ำครำเหม็นๆ บางทีก็เจอสถานการณ์ไล่รื้อด้วย ไม่มีทางออกอื่นเลยหรือ

“พอขึ้นปี 3 เราก็ต้องเริ่มเป็นตัวนำ ผมก็มีโอกาสได้ไปช่วยเก็บข้อมูล ลงสำรวจคนเร่ร่อนที่ใช้ชีวิตตามสวนสาธารณะ ก็เลยยิ่งสนใจ จนกระทั่งได้มาทำงานกับมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัยเต็มตัว ส่วนความคิดที่จะรับราชการก็ค่อยๆ ลดลงไป”

ช่วงที่โด่งตัดสินใจเลือกไม่เป็นปลัด พ่อแม่ซึ่งขายของอยู่แถวบางแคต่างคัดค้านอย่างหนัก ด้วยเป็นห่วงอนาคตของลูกชาย กลัวจะเสี่ยงคุกเสี่ยงตะราง แถมงานนี้ดูแล้วไม่มั่นคงอีกต่างหาก แต่โด่งก็ยังคงยืนหยัดทำตามความเชื่อ เพราะมั่นใจว่า นี่เป็นงานที่เปี่ยมด้วยความหมาย และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนให้ดีขึ้นได้

“เขาคงไม่รู้ว่างานที่เราทำนั้นเป็นแบบไหน แล้วเขาก็ฟังข่าวจากวิทยุ จากทีวี ซึ่งบอกว่านี่เป็นกลุ่มคนหัวรุนแรง เขาก็ถามเราว่า เอ็งไม่กลัวถูกตำรวจจับเหรอ เราก็พยายามพูดคุย จนเขาบอกว่า ก็แล้วแต่เอ็งละกัน อย่างน้อยก็เอาตัวให้รอด”

ครั้งนั้น โด่งได้เข้าร่วมชุมนุมกับสมัชชาคนจน ลงพื้นที่สำรวจชีวิตคนในชุมชนแออัด ทำกิจกรรมกับกลุ่มนิสิตนักศึกษา รวมถึงหาวิธีช่วยเหลือชาวชุมชนที่ไม่มีเอกสิทธิ์ในที่ดิน ไม่มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง

หากแต่ภารกิจสำคัญที่ถือเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิต คือคนไร้บ้านเพราะนี่เป็นงานที่เขารับผิดชอบมาต่อเนื่องกว่า 20 ปี และตั้งใจจะทำต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะทำไม่ไหว

โลกที่ไม่มีใครเข้าใจ

คงไม่ผิด หากจะกล่าวว่า เมื่อปี 2544 คนไร้บ้านคือ คนชายขอบที่คนส่วนใหญ่ในเมืองไทยแทบไม่รู้จัก และไม่เคยสนใจด้วยซ้ำไปว่าทำไมคนกลุ่มนี้ถึงไม่มีบ้านอยู่

ในฐานะที่ทำงานเรื่องคนจนในเขตเมืองมาตลอด มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย จึงส่งเจ้าหน้าที่รุ่นใหม่ 3 คน ประกอบด้วย บุญเลิศ วิเศษปรีชา, นัสเซอร์ ยีหมะ และสมพร หารพรม ลงพื้นที่ต่างๆ ไปพูดคุย และเรียนรู้ ทำความเข้าใจ ตลอดจนหาวิธีปรับเปลี่ยนอคติที่สังคมมีต่อคนกลุ่มนี้ ซึ่งมักถูกตีตราว่า เป็นพวกคนเร่ร่อน คนจรจัด บางคนถูกกล่าวหาว่าเป็นคนบ้า ขี้เมา ไม่ควรเข้าใกล้ แท้ที่จริงแล้วพวกเขาก็คือคนที่ต้องการโอกาสและการยอมรับจากสังคมเช่นกัน

เนื่องจากคนไร้บ้านนั้นมีที่มาหลากหลาย บางคนมาจากต่างจังหวัด เข้ามาหางานทำในกรุงเทพฯ บางคนก็มีปัญหาเรื่องเพศวิถี บางคนก็ทะเลาะกับครอบครัว เช่นพ่อแม่เสียชีวิตไปแล้ว ถูกพี่น้องไล่ออกจากบ้าน บางคนเพิ่งออกจากคุก ไม่มีที่ไป บางคนไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าบ้าน ก็ต้องมานอนตามที่สาธารณะแทน ซึ่งช่วงแรกๆ ก็รู้สึกอับอาย แต่พอนานวันเข้าก็เริ่มรู้สึกชินชา กลายเป็นเรื่องปกติไป

“จุดใหญ่ที่เราไปลงพื้นที่คือ สนามหลวง มีคนนอนอยู่ 400-500 คนต่อคืน ซึ่งมีทั้งพวกตกรถบ้าง มีคนที่ทำอาชีพกลางคืนบ้าง แต่ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์คือ กลุ่มคนไร้บ้าน ตอนนั้นเราก็ใหม่มาก แต่โชคดีที่มีต้นทุนการทำงานกับคนจนอยู่บ้าง ซึ่งตอนที่เริ่มลงไป อายุได้ 23 ปีเอง ก็เลยไม่ได้รู้สึกกลัว แต่อยากเข้าใจเขามากกว่า เพราะเห็นเขาโดนดูถูก ถูกจับ ถูกบังคับ ถูกเอารัดเอาเปรียบ โดนทำร้าย

“การลงพื้นที่ทำให้เราได้เห็นว่า เขาแทบมองไม่เห็นอนาคตเลย ต่างจากกลุ่มคนในชุมชนแออัด ซึ่งเข้าอยู่ในที่ดินของคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นที่ดินรัฐ ที่ดินสาธารณะ หรือที่ดินเอกชนก็ตาม ซึ่งเขาเข้าไปตอนเป็นที่ดินรกร้าง มุมมองที่มีต่อตัวเองจึงเป็นผู้บุกเบิก ไม่ใช่ผู้บุกรุก บางคนอยู่มาเป็น 20 ปี เพราะฉะนั้นเขาจึงมีที่ไป มีบ้าน มีครอบครัว มีวัฒนธรรม เพียงแต่อาจไม่มั่นคง ต่างจากคนไร้บ้านซึ่งไม่มีครอบครัว ไม่มีความหวัง ไม่มีอะไรเลย”

หากแต่สิ่งที่ท้าทายกว่า คือ ขณะที่คนส่วนใหญ่รู้สึกหวาดกลัวคนไร้บ้าน คนไร้บ้านเองก็รู้สึกกลัวและระแวงคนแปลกหน้าเช่นกัน พวกเขาจึงต้องปรับกระบวนการทำงาน พร้อมปรับทัศนคติให้แก่ผู้คนในสังคม ด้วยการหาคำจำกัดความที่เหมาะสม เพื่ออธิบายอัตลักษณ์ของคนกลุ่มนี้ให้ดีกว่า ‘คนเร่ร่อน’ หรือ ‘คนจรจัด’ โดยตอนนั้นบุญเลิศได้นำเสนอคำว่า ‘คนไร้บ้าน’ ซึ่งเป็นคำกลางๆ ที่สะท้อนภาพความเป็นจริงของสังคมได้

เมื่อเขาไม่ไว้ใจใคร เราก็ต้องเปลี่ยนวิธีการพูดคุย เราใช้วิธีเข้าไปคลุกคลีกับเขา เขาไปกินข้าวที่ไหน ไปดำเนินชีวิตอย่างไร ไปเก็บของ ไปรับแจกถาด เราก็ไปแล้วสังเกต พร้อมกับหาประเด็นเพื่อทำงาน อย่างบางคนมีปัญหาเรื่องบัตรประชาชนหาย ต้องมีคนเซ็นรับรอง ไม่รู้จะทำอย่างไร เราก็ช่วยแนะนำหรือจัดการให้

พอดีช่วงนั้น กรุงเทพมหานครมีนโยบายเคลียร์คนออกจากสนามหลวง คนที่อาศัยตรงนี้เป็นที่นอนจึงถูกขับไล่โดยปริยาย ทีมงานจากมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัยเลยถือโอกาสเข้าไปช่วยรวมกลุ่มคนไร้บ้าน 30-40 คน และนำทีมไปพูดคุยกับกรุงเทพมหานคร จนเกิดเป็นมาตรการช่วยเหลือ อย่างการหาที่พักชั่วคราว โดยได้เต็นท์มา 4 หลัง ตั้งบริเวณศาลเจ้าแม่หมู หลังกระทรวงมหาดไทย

เวลานั้นเองที่โด่งได้พบกับ เอก-เอ็กซ์ ‘เพื่อน’ คนไร้บ้านสองคนแรกที่เข้ามาเป็นตัวกลางคอยช่วยพูดคุยกับคนอื่นๆ จนทำให้เขาได้ใกล้ชิดกับสังคมนี้ยิ่งขึ้น

“เราอายุไล่เลี่ยกัน คือประมาณ 20 ต้นๆ ตอนนั้นเขาอยู่สนามหลวง แล้วต้องย้ายไปอยู่ที่เต็นท์ ตอนแรกๆ ก็ไม่อยากมากันหรอก เพราะเขาคิดว่า พวกนี้เป็นใคร แต่เราใช้ความจริงใจ ชวนเขามาอยู่ในกลุ่ม มาช่วยเป็นแกนนำทำเรื่องอาชีพ คอยแนะนำเรื่องบัตรกับคนที่มีปัญหา ก็เลยคุ้นเคยกัน

“แต่พอทำไปสักพัก คนชื่อเอกเขาเสียชีวิต สิ่งที่เราเห็นคือ เขาไม่ได้ไร้ครอบครัว เรายังติดต่อญาติพี่น้องเขาได้ แล้วครอบครัวเขาก็มีฐานะด้วย ซึ่งตรงนี้สะท้อนว่า ปัญหาของคนไร้บ้านซับซ้อนกว่าที่คิด เพราะอาจมีเหตุผลอีกมากที่ทำให้เขาอยู่กับครอบครัวไม่ได้”

อย่างไรก็ตาม หลังขับเคลื่อนงานได้ระยะหนึ่ง สมาชิกรุ่นบุกเบิกต่างก็แยกย้ายไปตามเส้นทางของตัวเอง อย่างนัสเซอร์ก็ลาออกไปทำงานด้านอื่น ส่วนบุญเลิศ หลังเรียนจบปริญญาโทจากคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็มุ่งหน้าสู่สายวิชาการเต็มตัว และยังคงทำงานวิจัยเรื่องคนไร้บ้านทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสร้างองค์ความรู้แก่สังคม

ส่วนโด่งยังยืนหยัดทำหน้าที่เป็นนักพัฒนาสังคมอยู่ที่มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัยไม่เปลี่ยนแปลง โดยระหว่างนั้น เขาก็เริ่มหาเทคนิคเพื่อเชื่อมโยงกับคนไร้บ้าน หนึ่งในนั้นคือ ใช้บุหรี่เป็นสื่อกลาง

“ผมเป็นคนไม่ดูดบุหรี่ แต่พี่น้องหลายคนดูด โดยเฉพาะกลุ่มที่ทำอาชีพเก็บของเก่า แล้วเขานอนกันดึก ผมก็เลยใช้วิธีพกบุหรี่ใส่เป้ พอเจอก็ทักเลยว่า ‘พี่เอาบุหรี่สักตัวไหม’ พอเขารับเราก็ค่อยๆ คุยกัน ‘พี่เก็บของได้เยอะไหมวันนี้ เดินสายไหน’ ตอนนั้นผมต้องซื้อบุหรี่เป็นคาร์ตอนเลย แล้วค่อยๆ แกะวันละ 2-3 ซองมาแจก”

ต่อมาเมื่อปี 2548 โด่งและเครือข่ายนักพัฒนาสังคมในภูมิภาคอาเซียนมีโอกาสได้ไปดูงานที่ญี่ปุ่น ซึ่งมีคนไร้บ้านมากถึง 30,000 คน โดยที่นั่นมีกิจกรรมหนึ่งที่เชื่อมร้อยความสัมพันธ์ เรียกว่า ‘เดินชา’ โดยนักพัฒนาสังคมจะแจกใบปลิวชักชวนคนกลุ่มนี้มานั่งพูดคุยกัน แล้วก็มีน้ำชาเลี้ยงแก้หนาว โด่งจึงนำกิจกรรมนี้มาดัดแปลงให้สอดคล้องกับบริบทของสังคมไทย 

จากเดิมที่เคยแจกบุหรี่เป็นตัวๆ เขาก็หันมาถือกระติกน้ำร้อน พร้อมกับกาแฟและโอวัลตินเดินแจกให้คนไร้บ้านตามพื้นที่ต่างๆ ที่พวกเขาไปทำงาน เช่น สนามหลวง หัวลำโพง คลองหลอด ถือเป็นของว่างยามดึก จากนั้นก็เริ่มมีอาหาร มียาสามัญประจำบ้านเพิ่มเติม และกลายเป็นต้นแบบที่ถูกนำไปใช้ต่อในอีกหลายพื้นที่ เช่น เชียงใหม่ก็มีกิจกรรมเดินน้ำเต้าหู้ แจกน้ำเต้าหู้ให้คนไร้บ้าน

ผลจากการทำงานอย่างต่อเนื่อง ทำให้โด่งได้พูดคุย และเรียนรู้ปัญหาของคนไร้บ้านที่หลากหลาย เช่น เรื่องสถานภาพทางเศรษฐกิจ เพราะถึงไม่มีบ้านแต่พวกเขาก็ยังต้องกินต้องใช้ แต่ที่ผ่านมาคนส่วนใหญ่แทบไม่กล้าจ้างงานทำให้คนกลุ่มนี้ขาดรายได้ หรือเรื่องการเข้าถึงสวัสดิการของรัฐ เพราะหลายคนไม่มีเอกสารประจำตัว ส่งผลให้การติดต่อกับหน่วยงานต่างๆ ยากลำบากมาก

แต่ที่สำคัญกว่า คือ ความรู้สึกว่าตนเองด้อยค่า เพราะนั่นคือหัวใจสำคัญที่ทำให้พวกเขาไม่สามารถหลุดพ้นจากวังวนนี้ และทางเดียวที่โด่งเชื่อว่าจะยุติปัญหาได้ทั้งหมด ก็คือ การสร้างความหวังและอนาคต เพื่อฟื้นคืนความเชื่อมั่นในตัวเองอีกครั้ง

ความหวังคือคำตอบ

คนไร้บ้านสามารถมีอนาคตได้หรือไม่?

สำหรับโด่ง เขาเชื่อสุดใจว่า เป็นไปได้แน่นอน

ด้วยเหตุนี้ เขาและทีมงานจึงพยายามสร้างความหวังและทำให้คนไร้บ้านเห็นว่าตัวเองก็มีศักดิ์ศรีไม่แพ้คนทั่วไป ตั้งแต่สนับสนุนการรวมกลุ่มกันจนเกิดเป็น ‘สมาคมคนไร้บ้าน’ ศูนย์กลางในการเรียกร้องสิทธิและเป็นปากเป็นเสียงให้แก่คนชายขอบกลุ่มนี้

อีกสิ่งสำคัญคือ การหา ‘บ้าน’ ให้คนไร้บ้าน

“ตอนนั้นพี่น้องที่สนามหลวงบางส่วนขยับมาอยู่ที่เต็นท์ แล้วก็มีเรื่องวุ่นวายหลายเรื่อง บางส่วนก็เริ่มหางานยาก เราเลยลองดูว่ามีใครที่พอมีแววจะพัฒนาตัวเองได้ พอดีเรามีเครือข่ายเป็นพี่น้องสลัมอยู่บนที่ดินการรถไฟแถวตลิ่งชัน ครั้งแรกเขาจะทำเป็นสนามเด็กเล็ก ก็เลยเปลี่ยนมาเป็นที่พักอาศัยดีกว่า”

ศูนย์พักคนไร้บ้านตลิ่งชัน เริ่มต้นขึ้นราวปี 2546 รองรับสมาชิกได้ประมาณ 40 คน

ต่อมาจึงค่อยๆ พัฒนาจนเกิดศูนย์คนไร้บ้านสุวิทย์ วัดหนู, บ้านเตื่อมฝัน จังหวัดเชียงใหม่, บ้านโฮมแสนสุข จังหวัดขอนแก่น และบ้านพูนสุข จังหวัดปทุมธานี ดูแลคนไร้บ้านรวมแล้วกว่าร้อยชีวิต

สำหรับศูนย์พักคนไร้บ้านทั้ง 5 แห่งนี้ มีกฎและกติกาที่สมาชิกจะต้องรักษาและร่วมกันรับผิดชอบ เช่น ทุกคนต้องจ่ายค่าเช่าที่ ค่าน้ำ ค่าไฟ และต้องรู้จักออมเงินไว้ใช้ยามเจ็บป่วย ทั้งหมดก็เพื่อสร้างความหวังแก่คนกลุ่มนี้ว่าพวกเขาสามารถมีชีวิตที่ดีได้

“เราพยายามชวนเขาคิดถึงเรื่องอนาคต เขาอยากมีบ้านไหม อยากคืนสู่ครอบครัวเดิมไหม หรืออยากสร้างครอบครัวใหม่ เพราะบางคนก็คิดว่าเขาคงไม่มีที่ให้กลับไปแล้ว แต่ความจริงเขายังสร้างครอบครัวที่เป็นของตัวเองได้ ซึ่งสิ่งเดียวที่จะช่วยฟื้นความเป็นครอบครัวคือ การได้มีเพื่อนคุย มีพื้นที่ให้เขาได้อาบน้ำ ได้พักผ่อนเต็มที่ ดังนั้นเป้าหมายของศูนย์คือ เป็นที่ตั้งหลัก แต่ไม่ใช่ที่อยู่ตลอดชีวิต เราพยายามย้ำกับพี่น้องเสมอว่า ถ้าอยากมีบ้านเอง ก็อาจต้องยกระดับตัวเองขึ้นมา โดยระหว่างนี้เราก็พยายามปูพื้นฐานให้ เช่นต้องจัดการตัวเองให้ได้ เพราะถ้าเป็นคนอื่นอยากมีบ้านสักหลัง เขาก็ต้องผ่อนต้องเช่าได้ หรืออย่างค่าน้ำหรือค่าไฟก็ต้องเสียเหมือนกัน”

นอกจากที่พักอาศัยแล้ว งานก็เป็นอีกสิ่งที่โด่งกับทีมงานตั้งใจผลักดัน เพราะการจะใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมั่นคง จำเป็นต้องมีรายได้ที่ต่อเนื่อง เพื่อนำมาใช้วางแผนอนาคตได้

ทว่า การทำงานนั้นมีต้นทุน ทั้งค่าอาหาร ค่าเดินทาง ฯลฯ แต่ปัญหาคือคนไร้บ้านส่วนใหญ่ไม่มีเงินมากพอสำหรับรายจ่ายเหล่านี้ ดังนั้นเวลาไปถึงหน้างาน คนกลุ่มนี้ก็เลยมักจะขอเบิกเงินล่วงหน้า ซึ่งขัดกับวิถีการจ้างงานโดยทั่วไป ทำให้ผู้จ้างไม่ค่อยอยากใช้บริการ นี่ยังไม่รวมไปถึงภาพลักษณ์เดิมๆ ที่ไม่เคยจางหายไปจากสังคม โด่งและทีมงานจึงพยายามหาทางอุดช่องว่าง ด้วยการสร้างแพลตฟอร์มที่เหมาะสม จนเกิดเป็น ‘ห้างหุ้นส่วนจำกัด คนไร้บ้าน’ เมื่อปี 2559

ห้างหุ้นส่วนจำกัด คนไร้บ้าน วางขอบข่ายการทำงานไว้ 5 อาชีพด้วยกัน คือ ช่างต่อเติม, รับตัดแต่งต้นไม้และขนย้ายสิ่งของ, ทำความสะอาด, รับทำอาหารตามงาน และทำแปลงเกษตรปลอดสาร ซึ่งโด่งประเมินแล้วว่าพี่น้องของเขาพอทำได้ โดยงานแรกที่รับผิดชอบคือ การปูอิฐตัวหนอน ณ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

“งานที่เราเลือกนั้นมาจากการพูดคุยกัน ใครถนัดเรื่องอะไร ซึ่งความจริงมีงานเข้ามาเยอะ เพียงแต่เราต้องดูศักยภาพว่าเขาทำอะไรได้บ้าง เพราะเราเคยหางานแล้วไปไม่รอด หรือบางทีเงินออกเป็นสัปดาห์ พอทำไปได้ 3 วัน เขาต้องออกแล้ว เพราะเขาไม่มีต้นทุนเลย เราจึงต้องเลือกงานที่เขาทำได้”

แม้รายได้ของห้างหุ้นส่วนจำกัดจะติดลบอยู่ตลอด แต่สำหรับโด่งแล้วถือว่าคุ้มค่า เพราะสิ่งที่ได้รับกลับคืนมาคือ คนไร้บ้านเริ่มมองเห็นศักยภาพของตัวเอง เช่นเดียวกับผู้คนในสังคมที่เริ่มเปิดใจและยอมรับคนกลุ่มนี้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม หลังเปิดทำการได้ 3 ปี โด่งและทีมงานเห็นว่า ภารกิจของห้างหุ้นส่วนจำกัดอาจคับแคบเกินไปเมื่อเทียบกับงานของมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย ซึ่งทำกิจกรรมร่วมกับคนจนเมืองและกลุ่มพี่น้องสลัม จึงตัดสินใจยุบหน่วยงานเดิม และตั้งบริษัท ไทยโฮปฟูล จำกัด (Thai Hopeful) ขึ้นมาทดแทน โดยยังคงยึดมั่นปณิธานการทำงานเหมือนเช่นเดิม

ผลจากการสร้างความหวังและวาดอนาคต ไม่เพียงทำให้จิตใจของคนไร้บ้านที่ถูกมองว่าเป็นคนชายขอบของสังคมแข็งแรงขึ้น หลายคนยังสามารถกลับมาตั้งหลักในชีวิตอีกครั้ง 

“เราคงบอกไม่ได้ว่า สุดท้ายแล้วเขาจะตั้งหลักได้หรือเปล่า เพราะบางคนชีวิตก็ดีขึ้น แต่บางคนก็ต้องกลับมา เนื่องจากมีองค์ประกอบหลายอย่าง เพราะหลายคนก็อายุเลยวัยทำงานไปแล้ว บางคนก็สี่สิบกว่า วุฒิการศึกษาก็ไม่ค่อยมี คือต้นทุนชีวิตมีน้อยมาก โอกาสที่จะได้งานที่มั่นคงก็ยาก 

บางทีพวกเขาก็ท้อเหมือนกัน เพราะไม่เคยคิดเรื่องพวกนี้เลย แต่ก่อนเงินหมดถึงค่อยไปหาใหม่ ส่วนงานจะได้ตอนไหนค่อยมาว่ากันอีกที ซึ่งพอเราชวนให้มาทดลองทำอะไรใหม่ๆ เขาเองก็ต้องปรับตัวเยอะ เพราะฉะนั้นหากอยากเห็นเขาตั้งหลักได้ ก็ต้องช่วยกันสนับสนุน ทำให้เขารู้สึกมีความหวัง แล้ววันหนึ่งเขาจะไปต่อได้เอง

การทำงานกับพี่น้องนั้น ผมไม่ได้หวังสูงเลย แค่เขาได้ใส่เสื้อผ้าสะอาด ได้มีน้ำอาบ มีรอยยิ้ม มีเงินซื้อข้าวเหมือนคนอื่น ได้เห็นชีวิตเขาเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น แค่นี้ก็เพียงพอแล้ว

สมพร หารพรม : นักผจญภัยบนโลกอันซับซ้อนของคนไร้บ้าน

ภารกิจที่ไม่เคยสิ้นสุด

2,719 คน คือจำนวนคนไร้บ้านในเมืองไทยที่เคยมีการสำรวจไว้เมื่อปี 2563

แม้อาจเป็นจำนวนที่ไม่มากนักเมื่อเทียบกับหลายประเทศ แต่ก็เป็นเรื่องที่มองข้ามไม่ได้ โดยเฉพาะช่วงสถานการณ์โรคระบาด ซึ่งคนไร้บ้านกลายเป็นกลุ่มที่ถูกละเลยมากที่สุด

หลายคนไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการต่างๆ ที่รัฐจัดสรรให้ ทั้งเงินเยียวยา อาหาร และวัคซีน แถมบางคนยังถูกตีตราว่าเป็นคนแพร่เชื้ออีกต่างหาก ไม่เพียงแค่นั้น ทุกวันนี้ยังมีคนไร้บ้านหน้าใหม่เกิดขึ้นต่อเนื่อง เพราะตกงาน ไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าบ้าน จนสุดท้ายต้องหันมานอนตามพื้นที่สาธารณะแทน

ที่ผ่านมา โด่งและมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย พยายามหาวิธีช่วยเหลืออย่างเต็มที่ แต่ก็ต้องยอมรับว่า ทำได้เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น

“เราพยายามผลักดันให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรุงเทพมหานคร จัดทำจุดประสานงานในพื้นที่สาธารณะ อย่างน้อยก็เป็นการสื่อสารเรื่องข้อมูลหรือมาตรการความช่วยเหลือต่างๆ เช่นอุปกรณ์ป้องกันโรค หรือแม้แต่คนที่จะมาแบ่งปันอาหาร เพราะคนไร้บ้านเองก็ไม่พร้อมเท่าไหร่นัก อย่างเงินเยียวยา ปกติเขาทำผ่านระบบโทรศัพท์กัน แต่คนกลุ่มนี้เขาไม่มีมือถือ แล้วจะทำยังไง บางทีถ้ารัฐเข้าใจ เช่น จัดหาหน่วยงานเข้ามาดูแลในพื้นที่สาธารณะเลย ก็อาจจะช่วยแก้ปัญหาได้มากขึ้น”

ตลอด 2 ทศวรรษของการทำงาน โด่งยอมรับว่าบางครั้งก็รู้สึกอยากหยุดเหมือนกัน เพราะมีปัญหาใหม่ๆ เข้ามาไม่สิ้นสุด แต่เมื่อได้เห็นชีวิตของพี่น้องคนไร้บ้านดีขึ้น ก็เป็นกำลังใจสำคัญที่ทำให้เขาอยากสู้ต่อไป ต่อให้รู้ว่าเส้นทางนี้จะยากลำบากแค่ไหนก็ตาม

“สาเหตุสำคัญที่ทำให้ผมทำงานได้จนถึงวันนี้คือ เรามีความสุข เพราะถ้าว่ากันตามตรง การทำงานกับพี่น้องนั้น ผมไม่ได้หวังสูงเลย แค่เขาได้ใส่เสื้อผ้าสะอาด ได้มีน้ำอาบ มีรอยยิ้ม มีเงินซื้อข้าวเหมือนคนอื่น ได้เห็นชีวิตเขาเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น สำหรับผมแค่นี้ก็เพียงพอแล้ว”

และทั้งหมดนี้คือ เรื่องราวของคนธรรมดาตัวเล็กๆ ที่หยัดยืนเพื่อคืนศักดิ์ศรีให้แก่คนไร้บ้านที่ถูกกล่าวหามาตลอดว่าเป็นตัวปัญหา ด้วยความเชื่อว่า ทุกคนต่างมีชีวิตที่ดีได้ หากได้รับโอกาสและที่ยืนจากผู้คนในสังคม

โครงการคนเล็กเปลี่ยนโลก

คนเล็กเปลี่ยนโลก : โครงการของเพจยอดมนุษย์..คนธรรมดา ซึ่งนำเสนอเรื่องราวของ 30 บุคคลผู้สร้างสังคมที่ยั่งยืน และช่วยกันสร้างคุณค่าสำคัญที่จะช่วยพลิกฟื้นประเทศ ท่ามกลางวิกฤตโรคระบาด โดยได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

สมพร หารพรม คือบุคคลต้นแบบประเด็นยุติความยากจนทุกรูปแบบในทุกที่ (SDGs ข้อที่ 1), ประเด็นยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหาร ยกระดับโภชนาการ และส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน (SDGs ข้อที่ 2), ประเด็นส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน การจ้างงานที่มีคุณค่า (SDGs ข้อที่ 8) และประเด็นลดความไม่เสมอภาคภายในและระหว่างประเทศ (SDGs ข้อที่ 10)

<< แชร์บทความนี้

RELATED POSTS
LATEST

Keep In Touch

COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO.  ALL RIGHTS RESERVED.