ย้อนกลับไป ในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 เคยมีข่าวสำคัญมากเกี่ยวกับแวดวงดาราศาสตร์ไทย
เมื่อสหพันธ์ดาราศาสตร์สากลได้ตั้งชื่อดาวเคราะห์น้อยหมายเลข 6125 ซึ่งโคจรระหว่างดาวอังคารและดาวพฤหัสบดีว่า ดาวเคราะห์น้อย 6125 สิงห์โต – 6125 Singto
เพราะชื่อ ‘สิงห์โต’ นี้มีที่มาจากนักดาราศาสตร์ยุคบุกเบิกคนหนึ่งของเมืองไทย
แต่น่าแปลกที่กลับมีคนน้อยมากที่รู้ว่าชายผู้นี้เป็นใคร มาจากไหนและมีบทบาทต่อแวดวงดาราศาสตร์ของบ้านเราอย่างไร
ยอดมนุษย์..คนธรรมดา จึงขอพาทุกคนไปรู้จักผลงานสำคัญของ อาจารย์สิงห์โต ปุกหุต ผู้ร่วมก่อตั้งท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ และอดีตนายกสมาคมดาราศาสตร์ไทย
เมื่อปี 2491 ความรู้เรื่องดาราศาสตร์ของเมืองไทยยังไม่กว้างขวางมากนัก
อุปกรณ์อย่างกล้องโทรทรรศน์ก็มีน้อยมาก แทบเป็นไปไม่ได้ที่เด็กๆ จะมีโอกาสได้ศึกษาและเข้าใจเรื่องบนท้องฟ้า
จนวันหนึ่ง ม.ล.ปิ่น มาลากุล ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ มีภารกิจไปดูงานที่มหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา โดยระหว่างนั้นก็ไปเยี่ยมชมท้องฟ้าจำลองเฮย์เดน (Hayden Planetarium) ด้วย
ทำให้ทราบเรื่องราวน่าสนใจมากมาย เช่นดาวพุธจะหันหน้าไปทางพระอาทิตย์เสมอ ดาวอังคารมีพระจันทร์เต็มดวงวันละ 3 ครั้ง รวมถึงต่อไปโลกของเราจะร้อนมากขึ้น
เมื่อชมเสร็จก็อดคิดไม่ได้ว่า เมืองไทยเราจะน่าจะมีท้องฟ้าจำลองแบบนี้บ้าง แต่สุดท้ายโครงการนี้ก็ยังไม่ถูกสานต่อแต่อย่างใด
กระทั่ง 4 ปีต่อมา อาจารย์สิงห์โต ครูวิทยาศาสตร์จากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ได้ทุนรัฐบาลอเมริกัน ให้มาเรียนต่อปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย อาจารย์ปิ่นจึงเขียนจดหมายมาหาบอกว่า หากมีโอกาสก็ขอให้แวะไปดู Hayden Planetarium ด้วย
อาจารย์ปิ่นกับอาจารย์สิงห์โตนั้นคุ้นเคยกันมานาน เนื่องจากอาจารย์ปิ่นเป็นผู้คัดเลือกให้มาประจำอยู่ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาเองตั้งแต่รุ่นแรก คือ พ.ศ. 2481 และเมื่อมีเวลาราชการที่ไหน อาจารย์ปิ่น (ซึ่งเวลานั้น เป็น ผอ.โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา) ก็มักจะมาพา อาจารย์สิงห์โต ติดสอยห้อยตามไปด้วยเสมอ
ที่สำคัญเมื่อครั้ง จอมพล ป.พิบูลสงคราม มีนโยบายย้ายเมืองหลวงไปเพชรบูรณ์ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาต้องตั้งสร้างสาขาใหม่ที่นั่นด้วย อาจารย์ปิ่นจึงแต่งตั้งอาจารย์สิงห์โตให้เป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการประจำสาขาเพชรบูรณ์ คอยควบคุมการสร้างอย่างใกล้ชิด ก่อนที่ต่อมารัฐบาลจอมพล ป. จะแพ้โหวตในสภา ต้องลาออกจากตำแหน่ง โครงการนี้จึงยกเลิกไป
ด้วยเหตุนี้เอง เมื่ออาจารย์ปิ่นขอร้องมา อาจารย์สิงห์โตจึงปฏิเสธไม่ได้
ทว่าหลังจากไปเยี่ยมชม Hayden Planetarium เขาก็เริ่มรู้สึกสนุก ประทับใจเหมือนกัน โดยตลอดช่วง 2 ปีที่เรียนอยู่ที่สหรัฐอเมริกา เขามาที่นี่บ่อยถึง 6 ครั้ง
“ผมเข้าชมทุกโอกาสที่เขาเปลี่ยนเรื่องแสดง แม้ในเรื่องเดียวกัน แต่เปลี่ยนผู้บรรยาย ก็รอซื้อบัตรเข้าซ้ำ เพื่อได้รสของการบรรยายต่างๆ”
ไม่เพียงแค่นั้น อาจารย์ยังไปพิพิธภัณฑ์ดาราศาสตร์อื่นๆ ทั้ง บอสตัน ครีฟแลนด์ รวมถึงท้องฟ้าจำลองในยุโรปอีกหลายแห่ง ซึ่งความรู้เหล่านี้เองที่กลายเป็นพื้นฐานสำคัญในวันที่เมืองไทยมีท้องฟ้าจำลองเป็นของตัวเอง
ปี 2504 จากตำแหน่งปลัดกระทรวง อาจารย์ปิ่นกลายมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
ท่านมีแผนพัฒนาการศึกษามากมาย หนึ่งในนั้นก็คือการสร้างหอดูดาวจำลองขึ้นมา เพื่อเป็นแหล่งให้เยาวชนหาความรู้ทางภูมิศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และปรากฏการณ์ธรรมชาติบนฟ้า
และบุคคลแรกที่อาจารย์ปิ่นนึกถึง ก็คือ อาจารย์สิงห์โต นั่นเอง
“หลังคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติให้ก่อสร้างได้ ตอนเย็นวันนั้นท่านอาจารย์ได้กรุณาไปบอกผมถึงบ้านที่สำโรงว่า ค.ร.ม.อนุมัติเรื่องสร้างหอดูดาวแล้ว ฉันจะรีบส่งโทรเลขจองเครื่องฉายดาวไปในคืนนี้ มิฉะนั้นต้องรอให้บริษัทผู้ผลิตประกอบเครื่องใหม่เป็นปีๆ”
หอดูดาวของเมืองไทยใช้พื้นที่ของกระทรวงศึกษาธิการ ริมถนนสุขุมวิท โดยสร้างเป็นอาคารคอนกรีต เสริมเหล็กชั้นเดียว ตามแบบห้องดาราศาสตร์แห่งสถาบันวัฒนธรรม บริษัทคาร์ลไซซ์
บนเพดานและพื้นตรงกลางห้องโถงมีภาพของเดือนทั้ง 12 ในจักรราศี แล้วก็มีห้องสำคัญที่เรียกว่า ห้องแสดงทางท้องฟ้า (Sky Show room) เป็นวงกลมขนาดใหญ่ เส้นผ่านศูนย์กลาง 20.6 เมตร เพดานเป็นโดม
ชั้นล่างสุดเป็นแผ่นอะลูมิเนียมพรุน ทำหน้าที่เป็นท้องฟ้ารับดาวและวัตถุท้องฟ้าที่ฉายออกไปจากเครื่องฉายดาว แล้วก็มีแผ่นโลหะดัดเป็นรูปสถานที่สำคัญ เช่น พระบรมมหาราชวัง ภูเขา อยู่รอบตามทิศต่างๆ เพื่อรองรับการท่องเที่ยวไทย
ส่วนหน้าที่ของอาจารย์สิงห์โต ก็คือไปดูงานที่เมืองนอก เพื่อเรียนรู้วิธีบริหารจัดการท้องฟ้าจำลองในยุโรป สหรัฐอเมริกา และเอเชียว่าเป็นอย่างไร รวมทั้งติดตามเรื่องเครื่องฉายด้วย
“ยิ่งดูก็ยิ่งเห็นว่า การแสดงทางท้องฟ้า เป็นการแสดงทางเทคโนโลยีอย่างสูงที่น่าอัศจรรย์ ผมได้ดูการประกอบเครื่องฉายดาวที่เมืองโอเบอร์คอนเคน และฝึกการใช้เครื่องที่เมืองฮัมบูร์กอยู่เป็นเดือน ที่ลอนดอนและที่นิวยอร์กจัดเรื่องแสดงดีมาก มีผู้บรรยายสดทุกรอบ และมีรอบพิเศษให้จองเป็นหมู่คณะ และก็มีโอกาสแตะต้องเครื่องฉายรุ่นแรกของโลกด้วย
“ส่วนเครื่องฉายดาวของเราเป็นเครื่องรุ่นที่ 4 ซึ่งผมได้ขอให้ทางโรงงานทำภาพกลุ่มดาวจระเข้และกลุ่มดาวเต่าเพิ่มด้วย เพื่อฉายให้กลุ่มคนไทยที่รู้จักแต่ชื่อ มาไม่น้อยกว่า 200 ปี เพราะปรากฏอยู่ในคำกลอนเรื่องพระอภัยมณีของท่านสุนทรภู่”
อาจารย์สิงห์โตเล่าว่า เครื่องฉายดาวนั้นไม่ได้ฉายแต่ดาวในปัจจุบันเท่านั้น แม้แต่ดาวในอดีตหรือในอนาคตเป็นพันๆ ปี ก็แสดงให้ชมได้ หรือใครอยากเห็นดาวบนฟ้าของเมืองใด ก็สามารถแสดงให้เห็นได้เหมือนกัน
“อย่างกรุงเทพฯ กับเชียงรายจะเห็นได้ว่าต่างกันชัดเจน ยิ่งกรุงเทพฯ กับลอนดอนหรือนิวยอร์ก ยิ่งน่าตื่นเต้น เพราะจะเห็นกลุ่มดาวรูปร่างผิดเพี้ยนจนเป็นเหตุให้เรียกชื่อต่างกันไป..ปกติ เรื่องสมมติบนท้องฟ้ามักเป็นเรื่องอธิบายบนกระดานดำหรือบนกระดาษให้เข้าใจยาก แต่พอฉายเส้นนี้ขึ้นไป ผู้ชมจะเข้าใจเรื่องเส้นศูนย์สูตรฟ้า เส้นอีคลิปติก ตลอดจนแถบจักรราศีได้ง่ายขึ้น”
เรื่องสมมติบนท้องฟ้ามักเป็นเรื่องอธิบายบนกระดานดำหรือบนกระดาษให้เข้าใจยาก แต่พอฉายเส้นนี้ขึ้นไป ผู้ชมจะเข้าใจเรื่องเส้นศูนย์สูตรฟ้า เส้นอีคลิปติก ตลอดจนแถบจักรราศีได้ง่ายขึ้น
ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2507
อาจารย์สิงห์โต เล่าว่า ก่อนจะลงตัวที่ชื่อนี้ ม.ล.ปิ่น คิดชื่อต่างๆ ไว้ถึง 19 ชื่อ คือ ท้องฟ้าจำลอง-ฟ้านฤมิต-บ้านดารา-อาคารน่านฟ้า-เพดานดาว-ฟ้าเทียม-จรจักรวาฬ-เวหานิมิต-ห้วงเวหา-เวหาสน์จำรูญ-ดาราทัศนา-เพดานประดับดาว-เวหาทัศนศึกษาสถาน-ห้วงจักรวาฬ-โทรทัศนาจร-ดาราทัศนสถาน-เวหาทัศนาจร-ดาราศึกษาสถาน-จรจบฟ้า
สุดท้าย คณะกรรมการก็ลงมติเลือกคำว่า ท้องฟ้าจำลอง พร้อมเติมคำว่า กรุงเทพ กลายเป็น ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ Bangkok Planetarium นับตั้งแต่นั้น
แม้ไม่ได้เป็นผู้บริหารสูงสุด เพราะกระทรวงศึกษาธิการได้ขอโอนย้าย น.อ.สมชาย ชั้นสุวรรณ ร.น. หัวหน้ากองอุปกรณ์การเดินเรือ กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ มารับตำแหน่งผู้อำนวยการท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ แต่อาจารย์สิงห์โตก็ช่วยงานเต็มที่
อาจารย์ยังจำได้ดีว่า นักเรียนกลุ่มแรกที่มาท้องฟ้าจำลองมาจากโรงเรียนสตรีสมุทรปราการ พอตกบ่ายก็เป็นโรงเรียนจิตรลดา ว่ากันว่าช่วงนั้นคิวผู้มาเยี่ยมชมท้องฟ้าจำลองแน่นมาก เพราะนักเรียนที่ไหนๆ ก็อยากแวะเวียนมาชมดวงดาวที่นี่
หากแต่อาจารย์ทำงานได้ไม่เท่าไหร่ ก็เกิดล้มป่วยเป็นความดันโลหิตต่ำ จนแพทย์ต้องขอให้พักยาว ท่านจึงลาออกแล้วก็ย้ายมาเป็นบรรณาธิการวารสารของกระทรวงศึกษาธิการชื่อ ชัยพฤกษ์ ทำอยู่พักใหญ่จนสุขภาพดีขึ้น ระหว่างนั้นก็แวะเวียนมายังท้องฟ้าจำลองอยู่เสมอ บางทีถือโอกาสเป็นวิทยากรบรรยายเสียเอง
ในที่สุด จรูญ วงศ์สายัณห์ อธิบดีกรมวิชาการ (สมัยนั้น) เห็นว่า อาจารย์สิงห์โต รักท้องฟ้าจำลองถึงขนาดนี้ ก็เลยชักชวนให้กลับมาทำงานที่เดิม รับตำแหน่งผู้อำนวยการท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ มาตั้งแต่ปี 2512
ในฐานะผู้อำนวยการท้องฟ้าจำลอง อาจารย์สิงห์โตนำความรู้จากท้องฟ้าจำลองทั่วโลกมาประยุกต์อย่างเต็มที่ โดยมี ม.ล.ปิ่น คอยให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด
“เรามีค่าชมถูกที่สุดในโลก และมีการบรรยายสด เพื่อให้เหมาะกับความสนใจของผู้ฟัง อย่างวันเด็กเราเคยเริ่มบรรยายถึง 10 รอบ ตั้งแต่ 7.30 น. จนถึง 17.30 น. หรือวันพิเศษที่ระลึกเปิดท้องฟ้าจำลองก็มีผู้คนเข้าชมแน่นเปรี๊ยะ”
นอกจากนี้ยังสรรหากิจกรรมและนิทรรศการที่น่าสนใจมานำเสนออย่างต่อเนื่อง เช่น ปฏิทินล้านปี ซึ่งคิดค้นโดย ม.ล.ปิ่น เพื่อหาวันในประวัติศาสตร์, ความรู้เรื่องข้างขึ้นข้างแรม, เรื่องอุปราคา รวมถึงงานหว้ากอรำลึก เพื่อเล่าถึงเหตุการณ์เมื่อครั้ง ร.4 พาคณะทูตต่างชาติไปดูสุริยุปราคาเต็มดวง
ความสำเร็จของท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ กลายเป็นตัวเชื่อมสำคัญให้ภาครัฐหันมาสนใจเรื่องวิทยาศาสตร์มากขึ้น ความรู้เรื่องดาราศาสตร์แพร่ขยายในวงกว้างและได้รับความสนใจทุกครั้งที่เกิดปรากฏการณ์สำคัญๆ เช่น สุริยปราคา จันทรุปราคา ดาวหาง
นอกจากนี้ อาจารย์สิงห์โตยังคงทุ่มเทเพื่อสถานที่แห่งนี้ไม่เปลี่ยนแปลง ถึงขั้นผู้ใหญ่ในกระทรวงศึกษาธิการพยายามผลักดันให้รับตำแหน่งรองอธิบดีกรมวิชาการ ดูแลการผลิตตำราทั่วประเทศ อยู่หลายหน แต่อาจารย์ก็บอกปัดตลอด เพราะอยากปักหลักอยู่ที่นี่
และแม้จะเกษียณไปนานเกือบ 20 ปี แต่อาจารย์ก็ยังวนเวียน รับหน้าที่เป็นผู้บรรยายพิเศษอยู่เสมอ แถมยังคอยผลิตงานเขียนเกี่ยวกับดาราศาสตร์ออกมาอีกเพียบ ทั้ง ประวัติดาราศาสตร์ แนะวิธีดูดาวฤกษ์อย่างง่ายๆ รวมถึงเขียนวรรณกรรมเรื่องนิยายดาว เล่าตำนานต่างๆ เกี่ยวกับดวงดาว ซึ่งกลายเป็นแรงบันดาลใจของเด็กไทยไม่น้อยให้หันมาสนใจเรื่องจักรวาล
นี่เองคือเหตุผลว่าทำไมสมาคมดาราศาสตร์ไทยจึงเสนอชื่ออาจารย์สิงห์โตต่อสหพันธ์ดาราศาสตร์สากล สำหรับชื่อดาวเคราะห์น้อยหมายเลข 6125 เพื่อเป็นเกียรติและเป็นสัญลักษณ์ของความทุ่มเทแรงกายแรงใจ ในการสร้างองค์ความรู้อันยิ่งใหญ่แก่คนไทยมานานหลายสิบปี
นักอนุกรมวิธานมือ 1 ผู้คลั่งไคล้แมลง และอยู่เบื้องหลังการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา
นักธุรกิจที่หลงใหลธรรมชาติ จนกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องปลาระดับต้นๆ ของเมืองไทย และเป็นผู้บุกเบิกเว็บไซต์ Siamensis.org
นักสัตววิทยา สุดยอดผู้คนพบสัตว์ชนิดใหม่ของโลก เจ้าของชื่อค้างคาวกิตติ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เล็กสุดในโลก
เรื่องราวของผู้บุกเบิกวงการดาราศาสตร์เมืองไทย ผู้ร่วมก่อตั้งท้องฟ้าจำลอง และยังได้รับเกียรติให้นำชื่อไปเป็นชื่อดาวเคราะห์น้อยหมายเลข 6125 ด้วย
อาจารย์และนักดาราศาสตร์ยุคบุกเบิกของเมืองไทย ผู้ทำให้คนจำนวนมากเข้าใจเรื่องโลก และปรากฏการณ์บนท้องฟ้ามากยิ่งขึ
อาจารย์แพทย์และนักวิจัย ผู้พยายามสร้างรากฐานความมั่นคงทางด้านสุขภาพแก่สังคมไทย ผ่านการสร้างวัคซีนรักษาโรค
เครือข่ายที่ทำงานเรื่องการ ‘ตายดี’ เพื่อช่วยให้ผู้คนสามารถจากไปได้มีความสุข และลดความขัดแย้งแก่คนรอบใกล้ที่คอยดูแลด้วย
เครือข่ายอนุรักษ์ที่อยากส่งต่อเรื่องราว ความรู้เกี่ยวกับวาฬบรูด้า และผองเพื่อนในท้องทะเล เพื่อให้ทุกคนลุกขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งในการปกปักรักษาสิ่งมีชีวิตและทรัพยากรธรรมชาติใต้ผืนน้ำให้คงอยู่ตลอดไป
ตำนานศิลปินร็อก ผู้จุดกระแสเพลงเก็บตะวันให้ข้ามกาลเวลา รวมทั้งยังเป็นผู้สร้างยุคใหม่ให้แก่ RS สู่การเป็นเบอร์ 2 ของวงการเพลงไทยอย่างแท้จริง
คุณยายผู้เป็นสัญลักษณ์ของละครเมืองไทย ที่มีผลงานต่อเนื่องมากว่า 40 ปี ทั้ง คู่กรรม สายโลหิต บุพเพสันนิวาส
Armchair ศิลปินขวัญใจวัยรุ่นยุคอินดี้ ผู้บุกเบิกเพลงบอสซาโนวา เจ้าของเพลงฮิตสุดละมุนที่ยังตรึงอยู่ในใจแฟนเพลงถึงวันนี้
นักเขียนการ์ตูนที่พาผลงานมังงะจากเอเชียให้โด่งดังไปไกลทั่วโลก ปลุกกระแสดราก้อนบอล ให้เข้าอยู่ในใจเด็กๆ ยาวนานกว่า 3 ทศวรรษ
COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO. ALL RIGHTS RESERVED.