หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ : SEAL มนุษย์กบ ฮีโร่หลังฉาก

<< แชร์บทความนี้

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2561 คงไม่มีใครลืม ภารกิจการช่วยเหลือเด็กๆ และโค้ชทีมหมูป่าอะคาเดมี ของ หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ หรือ หน่วย SEAL

ฮีโร่ผู้ไม่เปิดเผยใบหน้า พวกเขาไม่มีผ้าคลุมที่ช่วยให้เหาะได้ ไม่มีเครื่องมือจากโลกอนาคตหรือเวทย์มนต์วิเศษใดๆ แต่เวลานับสัปดาห์ที่พวกเขาเริ่มค้นหาผู้สูญหายในวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน คนกลุ่มนี้คือแรงที่ช่วยสนับสนุนนักประดาน้ำชาวต่างชาติ บุกฝ่าถ้ำที่บางพื้นที่จมใต้น้ำ ทั้งมืด ลึก ลื่น ชื้นแฉะ แคบและอันตราย จนกระทั่งช่วยคนแปลกหน้าที่เราอยากเจอมากที่สุดทั้ง 13 ชีวิตออกจากถ้ำอย่างปลอดภัย

ไม่ต่างจากซูเปอร์ฮีโร่ที่ปรากฏกายในยามวิกฤต และหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยเมื่องานเสร็จสิ้น

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา อยากพาทุกคนไปรู้จักเรื่องราวและความเป็นมาของมนุษย์กบ เพราะพลังที่เกินมนุษย์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงข้ามคืน แต่มาจากการฝึกอย่างหนักหน่วง ทรมานทั้งร่างกายและจิตใจ และบางครั้งต้องแลกด้วยชีวิต แต่ถึงอย่างไร ทั้งหมดนี้เป็นแนวทางที่พวกเขาได้เลือกแล้ว

สัปดาห์นรก

“พวกท่านคือคนที่ตายแล้ว ไม่มีสิทธิเหนื่อย ไม่มีสิทธิหิว ไม่มีสิทธิพัก ทุกคนรับทราบ!”

ครูฝึกเอ่ยกับ ‘ว่าที่มนุษย์กบ’ ในก้าวแรกของการฝึกอันหฤโหดที่เรียกว่า ‘สัปดาห์นรก’

แม้ความจริง ระยะการฝึกจะกินเวลาเพียง 5 วัน ทว่านี่คือ 120 ชั่วโมงต่อเนื่องที่ไม่จังหวะหยุดพัก ไม่ได้หลับไม่ได้นอน เพื่อค้นหาบุคคลพันธุ์พิเศษที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความอดทน เด็ดเดี่ยว ทนทานทั้งแรงกดดันทางร่างกายและจิตใจ

นักเรียนจะถูกครูฝึกสั่งให้แช่ในถังน้ำแข็งเย็นจัด ยึดพื้นโดยมีเรือยางหนักอึ้งวางบนหลัง ช่วยกันแบกท่อนซุงยักษ์ขึ้นภูเขา เอาหัวทิ่มลงในหลุมทรายร้อนๆ ของเดือนเมษายน ต้องลุยทะเลโคลนเหนียวเหนอะ พายเรือรอบเกาะกว่า 3 ชั่วโมง บางทีครูฝึกก็เทอาหารลงบนพื้น เอาทรายคลุกให้นักเรียนที่หิวจัดกินอย่างยากลำบาก และหากใครง่วงก็จะถูกเพื่อนข้างหลังตบท้ายทอย หรือเอาหัวจุ่มน้ำทะเล

หากใครไปต่อไม่ไหว ถอดใจยอมแพ้ก็เพียงเดินไปหน้าหมวดทำลายใต้น้ำ ถอดเสื้อชูชีพ ถอดหมวกรองใน วางพายประจำตัว และลั่นระฆัง ก็เป็นอันว่าเขาเลือกจะออกจากการฝึก

“ถ้าเราเอาคนพวกนี้ไว้ ถึงเวลาที่ต้องทำงานเสี่ยงชีวิตด้วยกันจริงๆ จะมีปัญหา มีผลเสียต่อชุดลาดตระเวนมาก” ครูฝึกคนหนึ่งอธิบายถึงความสำคัญของการเลือกคนไว้ในนิตยสารสารคดี เพราะภารกิจสำเร็จคือสิ่งสำคัญที่สุดเหนือกว่าชีวิต

ความหนักของการฝึกล้วนมีเหตุผล อย่างเรือยางคือยานพาหนะสำคัญของมนุษย์กบ จึงต้องฝึกการใช้งานให้คุ้นเคยและดูแลรักษาอย่างระวัง เพราะถ้าเรือยางเสียหายภารกิจอาจล้มเหลว ส่วนท่อนซุงคือตัวแทนของน้ำหนักอุปกรณ์ที่ต้องแบกไปแต่ละครั้ง หนักราว 10-12 กิโลกรัม ทั้งหมดคือการจำลองภารกิจจริงนำมาย่อยเป็นปัญหาต่างๆ

หลักสูตรมนุษย์กบมีระยะเวลาการฝึกประมาณ 7 เดือน ยาวนานและหนักหน่วงที่สุดในบรรดาหลักสูตรการรบพิเศษทั้งหมด เพื่อให้เชี่ยวชาญการรบทุกแบบและอาวุธทุกชนิด ปฏิบัติภารกิจได้ทั้ง น้ำ-ฟ้า-ฝั่ง สมดังชื่อหน่วย SEAL ที่ย่อมาจาก SEA-AIR-LAND เป็นการใช้หน่วยงานขนาดเล็กไปปฏิบัติภารกิจขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญและเสี่ยงสูง เช่น การทำลายกำลังฝ่ายตรงข้าม แทรกซึมหาข่าว ต่อสู้กับผู้ก่อการร้าย ดังนั้นการที่คนธรรมดาจะปฏิบัติภารกิจเหล่านี้ได้จึงต้องอาศัยการฝึกฝนขั้นสูง

หลังผ่านสัปดาห์นรก การฝึกไม่ได้จบลง แต่ยังทวีความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ โดยแบ่งเนื้อหาออกเป็น 2 ภาค

เริ่มจากภาคทะเล ต้องฝึกการว่ายน้ำโดยแขนขาไม่พ้นน้ำให้ข้าศึกเห็น ว่ายน้ำโดยจำลองสถานการณ์ว่าถูกมัดแขนขา ดำน้ำไปวางระเบิดแล้วรีบกลับมาขึ้นเรือให้ทัน โดยท่าว่ายน้ำที่ใช้มากสุด คือ Side Stroke เพราะต้องลากวัตถุระเบิดหรืออุปกรณ์อยู่ตลอดเวลา แต่จะเอียงด้านซ้ายหรือขวา ขึ้นอยู่กับว่าฝั่ง เป้าหมายหรือข้าศึกอยู่ด้านใด

ตามด้วยภาคป่าและภูเขาที่ต้องฝึกกลยุทธ์การจู่โจมในสภาพภูมิประเทศที่ซับซ้อน มีการจำลองสถานการณ์ถูกจับเป็นเชลยที่โดนซ้อมให้คายความลับ ต้องพยายามหลบหนีออกมาให้ได้ แม้เป็นแค่การฝึกซ้อม แต่หลายครั้งที่ผู้ฝึกต้องกลายเป็นคนพิการหรือเลวร้ายสุดคือเสียชีวิต

แต่ไม่ว่าสถานการณ์จะยากลำบากเพียงใด พวกเขาก็ยังคงเปล่งเสียงร้อง “ฮูย่า” ตลอดเวลา เพื่อปลุกเร้ากำลังใจให้มองข้ามอุปสรรคและความสูญเสีย เพื่อเดินหน้าต่อสู้อย่างมั่นคง

ใครที่ก้าวผ่านทุกปัญหาของการฝึกมาได้สำเร็จก็จะได้รับการประดับเครื่องหมายฉลามคู่ทะยานเหนือเกลียวคลื่นที่ทุกคนภูมิใจ เป็นเครื่องหมายที่บอกว่าได้ผ่านหลักสูตรที่ยากและทรมานที่สุดหลักสูตรหนึ่งในโลก

คนเราเมื่อได้ผ่านสิ่งที่หนักหนาสาหัสที่สุดในชีวิตมาแล้ว มักจะไม่หวั่นเกรงต่อปัญหาและอุปสรรคที่รองลงมา สามารถควบคุมสติตนเองได้แม้ในสถานการณ์คับขัน เพราะเหตุนี้เอง ทำให้หน่วย SEAL พร้อมปฎิบัติภารกิจยากๆ ที่เรียกร้องความแกร่งทางกายและใจเกินมนุษย์ทั่วไป

ตำนาน 'ใต้น้ำ'

ความจริงเมืองไทยเกือบมี ‘หน่วยรบใต้น้ำแห่งแรกของโลก’ มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แล้ว

นพ.นวรัต ไกรฤกษ์ หรือคุณหมอนพพร แห่งคอลัมน์เสพสมบ่มิสม ที่โด่งดังเคยเขียนเล่าไว้ในหนังสือเรื่องปกิณณกะในรัชกาลที่ 5 ว่าในช่วงที่สยามกำลังมีข้อพิพาทกับฝรั่งเศส สมัย ร.ศ.112 มีพระตำรวจหลวงผู้หนึ่งชื่อ พระพิเรนทรเทพ คิดอาสาขับไล่ศัตรูให้พ้นน่านน้ำของประเทศ โดยไอเดียที่คุณพระคิดคือ ตั้งหน่วยจู่โจมพิเศษ แล้วให้ดำน้ำไปเจาะเรือรบฝรั่งเศสให้จม ท่านเลยฝึกหัดบ่าวไพร่ในบ้านและอาสาสมัครให้ดำน้ำในคลองหน้าบ้านทุกวัน

แต่ปัญหาคือบางคนดำได้ไม่นานก็โผล่ขึ้นมาแล้ว จึงใช้ไม้ถ่อค้ำคอไว้ไม่ให้โผล่ขึ้นมา จนเกิดมีคนตาย แนวคิดเรื่องตั้งหน่วยจู่โจมเลยเลิกล้มไปโดยปริยาย คงเหลือแต่ชื่อ พระพิเรนทรเทพ ที่กลายมาเป็นคำพูดยอดฮิต เวลาใครทำอะไรแผลงๆ ก็จะเรียกว่า ‘พิเรนทร์’

กระทั่งหลังยุคสงครามโลก เมืองไทยเข้าสู่ยุคคอมมิวนิสต์คุกคาม แนวคิดการสร้างหน่วยจู่โจมใต้น้ำจึงย้อนกลับมาอีกครั้ง โดยตัวตั้งตัวตีสมัยนั้นคือ กรมตำรวจ ภายใต้การนำของ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ซึ่งมักพัฒนาหน่วยรบๆ ขึ้นเต็มไปหมด ทั้งตำรวจรถถัง ตำรวจม้า ตำรวจน้ำ โดยได้ติดต่อกับซีซัพพลาย ซึ่งเป็นบริษัทบังหน้าของ CIA ให้ช่วยมาฝึกยุทธวิธีการทำลายระเบิดใต้น้ำแก่ตำรวจ แต่ซีซัพพลายเห็นว่างานนี้เหมาะกับทหารเรือมากกว่า กรมตำรวจเลยติดต่อกองทัพเรือให้มาร่วมปฏิบัติการด้วย

เดือนมีนาคม 2496 ตำรวจ 7 คน และทหารเรือ 7 คน ถูกส่งตัวออกนอกประเทศ โดยไม่มีสัมภาระ ไม่มีหนังสือเดินทาง ไม่มีเอกสารใดๆ ที่ระบุว่าเป็นคนไทย การเดินทางเต็มไปด้วยความซับซ้อน จากดอนเมือง แวะพักที่อุดรธานี ก่อนจะมุ่งตรงไปยังเกาะลับๆ แห่งหนึ่งในมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งมาทราบภายหลังว่า คือเกาะไซปัน อยู่ภายใต้การดูแลของสหรัฐอเมริกา

พวกเขาทั้ง 14 คนไม่มีสิทธิพูดจากับคนในเกาะ นอกจากครูฝึก และพูดคุยกันเองเท่านั้น

การฝึกนั้นต่างจากที่คาดไว้มาก เพราะแทนที่จะได้ดำน้ำเพื่อนำวัตถุระเบิดไปติดตั้งยังกองเรือของศัตรู แต่ความจริงแล้ว พวกเขาต้องก่อวินาศกรรม และใช้ทักษะการรบแบบกองโจร หน้าที่ของพวกเขาคือต้องว่ายน้ำลาดตระเวน สำรวจหาดและระเบิดทำลายสิ่งกีดขวางหน้าหาดก่อนการยกพลขึ้นบก

ตารางการฝึกอัดแน่นตั้งแต่จันทร์ถึงศุกร์ ส่วนวันสุดสัปดาห์ พวกเขาจะได้รับอิสระ สามารถเบิกกระสุนปืนและวัตถุระเบิดได้ไปใช้ทดสอบตามที่ต้องการ

หลังฝึกหนักอยู่ 11 สัปดาห์ พวกเขาทั้งหมดลักลอบกลับมาเมืองไทยด้วยวิธีเดิม โดยแต่ละเหล่าก็กลับไปพัฒนาจัดตั้งหน่วยของตัวเอง ซึ่งกรณีของตำรวจเข้าใจว่า เมื่อหมดยุคของ อตร.เผ่า ก็ไม่ได้มีการพัฒนาต่อ

ส่วนกองทัพเรือ ด้วยความที่มีผู้ผ่านการฝึกแค่ 7 คน ไม่เพียงพอจะจัดตั้งหน่วยงานได้ จึงประกาศรับสมัครบุคคลเข้ามาน้ำทำลายใต้น้ำ รุ่นที่ 1 ซึ่งมีผู้สมัครถึง 62 คน แต่ผ่านการทดสอบต่างๆ ทั้งสุขภาพ ความประพฤติ ความไว้ใจได้ ความแข็งแรง และความอึด แค่ 14 คน โดยมอบหมายให้รุ่น 0 หรือผู้ที่ผ่านการฝึกที่เกาะไซปันรับหน้าที่ดูแล และมีทหารเรืออเมริกันร่วมเป็นครูฝึกด้วย

การฝึกของรุ่น 1 ใช้เวลาประมาณ 2 เดือน และเป็นจุดเริ่มต้นของ ‘มนุษย์กบ’ ในเมืองไทยอย่างแท้จริง เพราะมีการนำงบลับไปซื้อตีนกบและหน้ากากสำหรับว่ายน้ำและดำน้ำ แถวๆ สีลมและสี่พระยา รวมถึงเครื่องช่วยหายใจใต้น้ำ หรือ Scuba ซึ่งสมัยนั้นอุปกรณ์พวกนี้เป็นของใหม่มากในเมืองไทย

การฝึกทำที่สัตหีบ มีทั้งฝึกว่ายน้ำแบบธรรมดากับแบบที่ใช้ตีนกบ ดำน้ำตัวเปล่า ดำน้ำด้วยเครื่องใช้หายใจ แต่การฝึกยิงอาวุธและระเบิดใต้น้ำยังไม่ค่อยได้ทำเท่าใดนัก เพราะกองทัพมีกระสุนและวัตถุระเบิดจำนวนจำกัด

แต่ถึงจะฝึกหนักเพียงใด ก็ต้องยอมรับว่าประสิทธิภาพของมนุษย์กบ ไทยยังอยู่ในขั้น ‘เบสิก’ หุ้นส่วนที่เคยรับหน้าที่ฝึกมนุษย์กบสมัยเกาะไซปัน อย่างซีซัพพลาย ก็เลยทำหลักสูตรพิเศษ ที่เกาะไซปันอีกฝั่งหนึ่ง โดยคราวนี้มีผู้ร่วมทีม 16 คนเป็นทหารเรือล้วนๆ

หลักสูตรเน้น ‘การปฏิบัติงานทางลับ’ ทั้งการรบในป่า รบแบบกองโจร ก่อวินาศกรรม ลอบฆ่าบุคคลสำคัญ จับคน รับส่งคนทั้งทางอากาศและทางทะเล ส่งสิ่งของทางอาการและรับสิ่งของหรือบุคคลจากเครื่องบิน ซุกซ่อนบุคคลเดินทาง สร้างแหล่งและวงจรข่าว สะกดรอย ส่งรหัสข่าว เขียนและอ่านข่าวโดยใช้หมึกหรือของเหลวที่มองไม่เห็น จดจำและรายงานข่าวของวัตถุหรือสิ่งก่อสร้างโดยสายตา ยิงอาวุธประจำกาย ใช้ระเบิดทั้งบนบกและใต้น้ำ แต่งานนี้ฝึกกันไม่ครบหลักสูตร 10 สัปดาห์ เพราะกองทัพเรือเรียกกลับก่อนกำหนด 2 สัปดาห์ เนื่องจากจะมีการฝึกยกพลขึ้นบกที่บางแสนในวันกองทัพเรือ

หน่วยทำลายใต้น้ำมาจัดตั้งอย่างเป็นทางการ เมื่อเดือนตุลาคม 2498 มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยนอกจากจะใช้หลักสูตรมนุษย์กบที่ไซปันผสมกับหลักสูตรทหารร่มและการรบพิเศษของทหารบก ซึ่งถือเป็นประเทศแรกๆ ที่นำหลักสูตรของเหล่าอื่นๆ มาฝึกร่วมกัน ทำให้มนุษย์กบบ้านเรามีความสามารถรอบด้านทั้งทางบก ทะเล และอากาศ และกลายเป็นหน่วย SEAL ที่เต็มไปด้วยประสิทธิภาพจนถึงทุกวันนี้ว

ปฏิบัติการกู้ชีวิต

เพราะถูกปลูกฝังว่าเปรียบเสมือนคนที่ตายไปแล้ว ภารกิจเกือบทั้งหมดของหน่วย SEAL จึงเป็นปฏิบัติการลับ

หลายเรื่องเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศ ทั้งเหตุความไม่สงบในพื้นที่ต่างๆ ปัญหายาเสพติด รวมถึงการรักษาความปลอดภัยให้บุคคลสำคัญของประเทศ หรือบางครั้งต้องไกลถึงต่างประเทศ เช่นครั้งหนึ่งพวกเขาเคยได้รับมอบหมายให้คุ้มครองเส้นทางคมนาคมทางทะเลที่อ่าวเอเดน โซมาเลีย รวมถึงเป็นทีมตรวจค้นเรื่องต้องสงสัยและบุกยึดเรือที่ถูกโจรสลัดกลับคืนมา

แต่ก็มีอยู่หลายหนที่พวกเขามีภารกิจเพื่อประโยชน์สาธารณะ เช่นการสนองงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 สนับสนุนโครงการอุทยานใต้ทะเลจุฬาภรณ์ 36 รวมถึงช่วยเหลือผู้คนในสถานการณ์คับขัน เช่นน้ำท่วม คนจมน้ำ รวมถึงภัยพิบัติต่างๆ

เรื่องหนึ่งที่เคยถูกเปิดเผยผ่านนิตยสารสารคดีคือ ช่วงที่เมืองไทยเผชิญกับพายุไต้ฝุ่นเกย์ เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2532

ครั้งนั้นหน่วย SEAL ได้รับมอบหมายให้ไปกู้ชีวิตผู้สูญหาย ร.อ.สุนทร ใจแจ้ง จึงได้รับมอบหมายให้ขึ้นเครื่องจากอู่ตะเภาไปสงขลา จากนั้นก็ขึ้นเฮลิคอปเตอร์เพื่อลาดตระเวนค้นหาผู้ประสบภัย

ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่คนซึ่งอยู่ในระดับความสูง 700 เมตรจะสามารถมองเห็นคนที่อยู่ในท้องทะเล แต่ ร.อ.สุุนทร ก็ไม่เคยท้อ พยายามเต็มที่เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย กระทั่งมองเห็นทุ่นสีน้ำเงินลอยอยู่ จึงส่งสัญญาณให้นักบินวนโฉบเข้าไปดู เลยพบว่ามีผู้รอดชีวิตอยู่คนหนึ่ง กำลังโบกมือขอความช่วยเหลือ มนุษย์กบจึงรีบสวมตีนกบ หน้ากาก ชูชีพ ไฟสัญญาณ มีด และโดดลงทะเล เพื่อมุ่งตรงไปยังผู้เคราะห์ร้าย

ชายคนนั้นร้องด้วยเสียงแผ่วเบา “พี่..ช่วยผมด้วย” ขณะที่ SEAL หนุ่มตอบกลับไปว่า “น้องชาย..รอดตายแล้ว” จากนั้นก็เอาเชือกมารัดข้อมือตัวเองเข้ากับทุ่นอวน และลากชายคนนั้นขึ้นบนแพยาง ซึ่งอยู่ห่างไป 25 เมตร แต่ปรากฏว่าบนแพนั้นไม่มีอาหาร น้ำ ยา อะไรเลย เขาจึงส่งสัญญาณให้นักบินบนเฮลิคอปเตอร์ทิ้งน้ำลงมาให้ 6 ขวด แต่ปรากฏว่าน้ำที่โยนลงมาเป็นน้ำเกลือแทนที่จะน้ำเปล่า แต่ก็ยังดีกว่ากินน้ำทะเล

จากการพูดคุยชายคนนั้นลอยคออยู่กลางทะเลมา 6 วันแล้ว ก่อนหน้านั้นก็มีเพื่อนๆ ประมงเกาะทุ่นอยู่ด้วยกัน แต่สุดท้ายก็ค่อยๆ หลุดหายไปทีละคน

“ท่าทางเขาอ่อนเพลียมาก หน้าซีดปากซีดและตัวบวมฉุ มีรอยแผลเล็กๆ เต็มตัว ผมปลอบเขาว่าให้ใจเย็นๆ เดี๋ยวจะมีเรือรบมารับ มีหมอ มีอาหารและที่นอนสบายๆ แต่จนถึงบ่ายโมง ผมก็ยังมองไม่เห็นอะไรเลย รอไปอีกสักพักใหญ่ๆ จึงมีเรือสินค้าขนาดใหญ่ผ่านมา และช่วยเราสองคนขึ้นเรือ

“ระหว่างดึงเชือกเพื่อลากเรือยาง ไหล่ซ้ายของผมหลุด ทำให้เจ็บปวดมาก ภายหลังจึงทราบว่าเรือลำนั้นมาจากเซี่ยงไฮ้จะไปมาเลเซีย เขาช่วยเหลือเราอย่างดี และต่อมาผมก็ได้ขออาศัยเรือประมงไทยที่ผ่านมาแล้ววิทยุต่อเรือหลวงคีรีรัฐจนสำเร็จ” อดีตรองผู้บัญชาการชุดปฏิบัติการพิเศษที่ 5 หน่วยสงครามพิเศษทางเรือ เล่าเหตุการณ์ครั้งนั้น

แต่ถึงจะพยายามเต็มที่ สุดท้ายแล้วผู้ประสบภัยคนนั้นก็ไม่สามารถอดทนได้ไหว และหมดลมหลังจากนั้นอีกไม่นาน

นี่เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งจากภารกิจนับพันนับหมื่นที่หน่วย SEAL ต้องเผชิญ แม้หลายครั้งที่ปฏิบัติการของพวกเขาสำเร็จไปด้วยดี และอีกไม่น้อยที่จบลงด้วยความล้มเหลว ทว่าสิ่งหนึ่งที่พวกเขามีอยู่เสมอ คือความไม่จำนนต่ออุปสรรคขวากหนามต่างๆ เพื่อหัวใจสำคัญของ SEAL คือประเทศชาติและประชาชนนั่นเอง

ไม่เจอ-ไม่เลิก

ทันทีที่ทราบข่าวนักฟุตบอลรุ่นเยาว์ทีมหมูป่าอะคาเดมีพลัดหลงในถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2561 หน่วย SEAL 17 ชีวิตก็ถูกเรียกรวมตัวจากฐานทัพเรือสัตหีบให้ขึ้นเหนือเพื่อตามหาผู้สูญหายอย่างเร่งด่วน

พวกเขามาพร้อมด้วยอุปกรณ์ค้นหาครบมือ แบ่งการทำงานออกเป็น 4 ชุด ชุดละ 4 คน ปฏิบัติภารกิจตั้งแต่ตี 3 ของวันที่ 25 มิถุนายน แน่นอนการดำถ้ำไม่เหมือนการดำน้ำ ทั้งจากลักษณะทางกายภาพของตัวถ้ำที่เต็มไปด้วยแง่งหินแหลมคม มืดสนิท มีทางต่างระดับมากมาย บางช่วงก็แคบจนต้องมุดผ่านไปทีละคน อีกทั้งมีฝนตกเป็นระยะ ทำให้ระดับน้ำท่วมสูงหลายช่วง ที่สำคัญคือน้ำในถ้ำเต็มไปด้วยตะกอนดินทำให้ทัศนวิสัยแทบเป็นศูนย์

ที่สำคัญพวกเขาแทบไม่เคยเผชิญสถานการณ์เช่นนี้มาก่อน แต่เหล่ามนุษย์กบก็ไม่ท้อ ยังคงดั้นด้นจนพบรอยเท้าของเด็กๆ รวมถึงร่องรอยต่างๆ ที่นักฟุตบอลตัวน้อยทิ้งไว้

“ไม่เจอ ไม่เลิก” คือสิ่งที่หน่วยรบพิเศษให้คำมั่นระหว่างนั้นก็เรียกหน่วย SEAL เข้ามาสมทบอีก 24 คน แม้สำหรับหลายๆ คน ความหวังจะช่างริบหรี่เหลือเกิน แต่พวกเขาก็ยังคงค้นหาต่อเนื่องเกือบตลอด 24 ชั่วโมง เว้นแต่ช่วงที่ประเมินแล้วว่าอาจได้ไม่คุ้มเสีย เช่นช่วงที่ฝนตกหนัก

แม้ต่อมาจะมีนักดำถ้ำมากประสบการณ์จากต่างประเทศเข้ามาช่วยเหลือ แต่หน่วย SEAL ก็ยังคงเดินหน้าสู้ต่อไปในฐานะทีมสนับสนุนและกำลังสำรองให้ทีมผู้เชี่ยวชาญสามารถทำงานได้อย่างสะดวก กระทั่ง John Volanthen และ Rick Stanton สองนักดำถ้ำจากอังกฤษพบเด็กๆ บริเวณเนินนมสาว ซึ่งเลยหาดพัทยามาประมาณ 400 เมตร

ภารกิจของหน่วย SEAL ไม่ได้จบเพียงแค่นี้ พวกเขายังถูกส่งตัวเข้ามาอยู่เป็นเพื่อนเด็กๆ เพื่อลดบรรยากาศความตึงเครียดของสถานการณ์ รวมทั้งยังช่วยขนเสบียง ลำเลียงขวดอากาศไปวางตามจุดต่างๆ

ทว่าน่าเสียดายที่หนึ่งในทีมผู้ช่วยเหลือ คือ จ.อ.สมาน กุนัน อดีต SEAL รุ่น 30 ซึ่งอาสามาช่วยปฏิบัติการนี้โดยเฉพาะ ได้เสียชีวิตหลังหมดสติในน้ำ โดยที่ทีมหมูป่ายังคงอยู่ในถ้ำ แต่แม้จะเกิดความสูญเสียขึ้น เหล่า SEAL ก็ยังคงปฏิบัติภารกิจอย่างแข็งขันไม่เปลี่ยนแปลง เพราะพวกเขาตระหนักดีว่า ความตายเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้กับชีวิตที่เต็มไปด้วยความเสี่ยงเพียงนิดเดียว

ตลอด 60 กว่าปี หมวดทำลายใต้น้ำมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง จากหน่วยขนาดย่อมที่มีคนเพียง 7 คน กลายเป็นหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ หน่วยงานสำคัญที่มีบทบาทมากที่สุดแห่งหนึ่งของกองทัพเรือ ผลิตนักทำลายจู่โจมมาแล้วถึง 45 รุ่น รวมแล้ว 1,073 คน หากแต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เปลี่ยนไป คือสายใยและอุดมการณ์ความเป็น SEAL ที่ทุกคนยังยึดมั่นเสมอมา

แม้หลายคนจะเกษียณอายุราชการไปแล้ว หรือตัดสินใจเลือกทางเดินสายอื่นๆ เช่นทำงานในบริษัทเอกชน แต่เมื่อมีภารกิจสำคัญของชาติ ทุกคนก็พร้อมทุ่มสรรพกำลังทั้งหมดที่มีเพื่อให้ภารกิจนั้นสำเร็จลุล่วงไปได้

ภาพและข้อมูลประกอบการเขียน

  • วารสารนาวิกศาสตร์ ปีที่ 91 ฉบับที่ 9 เดือนกันยายน 2551
  • วารสารนาวิกศาสตร์ ปีที่ 95 ฉบับที่ 4 เดือนเมษายน 2551
  • เว็บไซต์ของหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ
  • นิตยสารสารคดี ปีที่ 10 ฉบับที่ 113 เดือนกรกฎาคม 2537
  • หนังสือหลักสูตรคนกล้า รบพิเศษ โดยวิวัฒน์ พันธวุฒิยานนท์
  • หนังสือการ์ตูนชุดกบนอกกะลา เล่ม 58 Seal 1 หลักสูตรผลิตมนุษย์ สู่สุดยอดนักรบ
  • หนังสือเรื่องปกิณณกะในรัชกาลที่ 5 โดย นพ.นวรัต ไกรฤกษ์
  • หนังสือเส้นทางเกียรติศักดิ์ นักรบแห่งราชนาวี โดย น.ท.กำชัย เจริญพงศ์ชัย รน.
  • เว็บไซต์ข่าวต่างๆ สำหรับข่าวทีมหมูป่า อะคาเดมี

<< แชร์บทความนี้

RELATED POSTS
LATEST

Keep In Touch

COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO.  ALL RIGHTS RESERVED.