คนเราแต่ละคนอาจจะมีภาพโรงเรียนในฝันที่ต่างกัน แต่จะมีสักกี่คนที่สามารถสานฝันให้เป็นจริง
หนึ่งในไม่กี่คนนั้นคือ ผู้หญิงที่ชื่อ สาริณี เอื้อกิตติกุล หรือ ครูแตงโม ของเด็กๆ
แม้จะไม่ได้ศึกษามาเพื่อเป็นครูโดยตรง แต่เธอก็มีหัวใจของความเป็นครูอยู่เปี่ยมล้น
เพราะหลังเรียนจบด้านจิตวิทยาคลินิก จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และปริญญาโทด้านพัฒนาการเด็ก ที่มหาวิทยาลัยมหิดล เธอก็เลือกฝึกงานและเป็นคุณครูให้แก่เด็กพิเศษและเด็กทั่วไป
การได้คลุกคลีกับเด็กทั้งสองกลุ่ม ทำให้ครูแตงโมค้นพบว่า จริงๆ แล้วเด็กทุกคนมีศักยภาพอยู่ในตัว อยู่ที่ว่าจะสร้างพื้นที่การเรียนรู้และดึงศักยภาพในตัวเด็กออกมาได้อย่างไร
นั่นเองที่กลายเป็นแรงผลักดันให้เธอก่อตั้งโรงเรียน ‘พอดี พอดี’ โดยนำแรงบันดาลใจมาจากวรรณกรรมญี่ปุ่นเรื่อง ‘โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง’ เรื่องของเด็กหญิงผู้มีสมาธิสั้นจนต้องลาออกจากโรงเรียนปกติ แต่โชคดีได้ย้ายไปโรงเรียนใหม่ที่ให้เด็กๆ ได้เรียนรู้อย่างอิสระ เลือกเรียนในสิ่งที่สนใจ จนทำให้เธอเติบโตขึ้นอย่างมีความสุข
ความพิเศษของโรงเรียนพอดี พอดีแห่งนี้คือ แทนที่จะเร่งรัดให้ทุกคนต้องเรียนตามหลักสูตร หรือบังคับให้อยู่ในกฎระเบียบ ครูแตงโมจะให้เด็กๆ ได้เลือกเรียนในสิ่งที่สนใจ เน้นการเรียนรู้จากสิ่งรอบตัวมากกว่าการท่องจำ เปิดพื้นที่ให้พวกเขาได้ลงมือปฏิบัติ บางครั้งครูแตงโมก็จะพานักเรียนไปเดินป่าเพื่อเรียนรู้ในห้องเรียนธรรมชาติ ส่วนกฎระเบียบต่างๆ ก็จะให้ทั้งหมดตกลงร่วมกัน
ด้วยการสอนที่ยึดเด็กเป็นศูนย์กลาง ทำให้โรงเรียนพอดี พอดี ไม่เพียงทำให้เด็กๆ อยากมาโรงเรียนทุกวัน แต่ยังทำให้ลูกศิษย์ของเธอซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กพิเศษ มีพัฒนาการดีขึ้นเรื่อยๆ นอกจากจะมีสมาธิและใจเย็นขึ้น ยังมีทักษะการใช้ชีวิตเพื่อดูแลตัวเองอีกด้วย
ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ร่วมกับ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พาทุกคนมาเรียนรู้ความคิดและความตั้งใจของ 1 ใน 30 บุคคลจากโครงการคนเล็กเปลี่ยนโลก นักจิตวิทยาที่ผันตัวมาเป็นครูของเด็กพิเศษ ผู้อยากสร้างโรงเรียนที่พอดีสำหรับเด็กทุกคน และหวังว่า วิธีการสอนในแบบฉบับพอดี พอดีจะได้รับการต่อยอดไปสู่ห้องเรียนอื่นๆ ไม่มีที่สิ้นสุด
ครูแตงโมเป็นคนกรุงเทพฯ โดยกำเนิด แต่ย้ายมาอยู่เชียงใหม่ตอนอายุ 12 ปี เนื่องจากคุณพ่อโหมงานหนักจนหลอดเลือดในสมองแตก กลายเป็นอัมพฤกษ์
“ตอนแรก คุณแม่ย้ายมาอยู่บ้านคุณตาที่ลำพูนก่อน แต่เพราะต้องพาคุณพ่อไปกายภาพบำบัดที่โรงพยาบาลในเชียงใหม่ คุณแม่เลยตัดสินใจย้ายมาอยู่เชียงใหม่แทน แต่ก็ได้ยังเจอคุณตาบ่อยๆ เหมือนเดิม”
การได้ใกล้ชิดกับคุณตา ซึ่งไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่ในลู่ของการแข่งขันมากนัก ต่างจากคุณพ่อที่เป็นนักธุรกิจด้านการท่องเที่ยว ทำงานหามรุ่งหามค่ำมาตลอด ทำให้แตงโมเริ่มเปลี่ยนความฝันของตัวเอง จากเดิมที่อยากจะมีกิจการเป็นของตัวเอง ก็อยากทำงานที่อิสระกว่า ผ่อนคลายกว่า ตอนนั้นเธอนึกถึงอาชีพครู เพราะชอบบรรยากาศที่เห็นเพื่อนๆ มาวิ่งเล่นแถวบ้าน แต่ฝันนั้นก็ยังไม่ชัดเจนเสียทีเดียว
กระทั่งขึ้นมัธยมปลาย แตงโมจึงมีโอกาสได้อ่านวรรณกรรมญี่ปุ่นเรื่อง ‘โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง’ ครั้งนั้นเธอยอมรับว่า ตอนที่อ่านไม่ทราบว่าโต๊ะโตะจังเป็นเด็กพิเศษ คิดว่าเป็นเด็กที่ไม่ค่อยมีสมาธิเวลาเรียน จึงไม่อยากเรียนหนังสือ และต้องย้ายมาเข้าเรียนที่โรงเรียนโทโมเอ ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ใช้ตู้โดยสารรถไฟเป็นห้องเรียน แถมยังมีครูใหญ่ที่เข้าใจเด็กๆ อีกต่างหาก
แต่ที่พิเศษกว่าคือ ระบบการเรียนการสอนของโรงเรียนนี้แตกต่างจากโรงเรียนทั่วไป เพราะให้อิสระแก่นักเรียนสามารถเลือกเรียนตามลำดับความชอบของแต่ละคนได้เต็มที่ ทำให้ทุกคนได้ค้นพบความฝันและเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสุขในแบบของตัวเอง
หนังสือเล่มนี้ไม่เพียงแค่ตรึงใจครูแตงโมถึงขั้นอยากย้อนวัยกลับไปเป็นเด็กอีกครั้งเท่านั้น แต่ยังทำให้เกิดแรงบันดาลใจว่า เมื่อโตขึ้นก็อยากทำโรงเรียนแบบนี้ในเมืองไทยบ้าง
เพื่อออกเดินทางไปตามความฝัน ครูแตงโมจึงเลือกเรียนต่อสาขาจิตวิทยาคลินิก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แทนที่จะเรียนครูโดยตรง ด้วยอยากนำความรู้ด้านจิตวิทยามาใช้ทำความเข้าใจเด็กๆ โดยเฉพาะเด็กพิเศษมากขึ้น
“สมัยเรียน เราชอบเข้าห้องสมุดไปอ่านหนังสือเกี่ยวกับเด็ก การศึกษาทางเลือก อย่างพวกโฮมสคูล ยิ่งอ่านก็รู้สึกว่า ทุกเรื่องที่เราสนใจมันเชื่อมโยงกันหมด ไม่ว่าจะเป็นการเรียนการสอนของโรงเรียนที่โต๊ะโตะจังเรียน การนำหลักจิตวิทยามาช่วยดึงศักยภาพในตัวเด็กออกมาให้ได้มากที่สุด ไปจนถึงการทำโฮมสคูล ที่ไม่ได้เหมือนโรงเรียนทั่วไป”
เมื่อจิกซอว์ในหัวค่อยๆ เป็นรูปเป็นร่าง พอเรียนจบ แทนที่จะเลือกเป็นนักจิตวิทยาตามสายวิชาชีพที่เรียนมา ครูแตงโมตัดสินใจชวนคุณพ่อคุณแม่ย้ายกลับมาอยู่กรุงเทพฯ อีกครั้ง เพราะอยากมาหาประสบการณ์ทำงานเกี่ยวกับการพัฒนาเด็ก
ครูแตงโมทำงานแรกที่สถาบันสำหรับเด็กเล็กและครอบครัวจิมโบรี ซึ่งเป็นศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนที่เปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้เลือกทำกิจกรรมอย่างอิสระ ทั้งร้องเพลง เล่นดนตรี และศิลปะ ในพื้นที่ที่ไม่จำกัดอยู่เพียงห้องเรียนเท่านั้น
หลังเก็บเกี่ยวประสบการณ์อยู่ 1 ปีเต็ม ก็ยิ่งมั่นใจว่า ทางที่ตัวเองเลือกนั้นไม่พลาด จึงตัดสินใจเรียนต่อปริญญาโทด้านพัฒนาการมนุษย์ ที่สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล และนั่นเองที่กลายเป็นประตูบานสำคัญที่ทำให้เธอเข้าใจว่า จะนำหลักจิตวิทยาไปส่งเสริมพัฒนาการของเด็กๆ ให้แสดงศักยภาพออกมาอย่างเต็มที่ได้อย่างไร
“การเรียนรู้เรื่องนี้ ไม่ได้สอนว่า เด็กเติบโตอย่างไรเท่านั้น แต่เราต้องศึกษาทั้งด้านจิตใจ และสังคม รวมถึงการทำงานของสมอง เพราะถึงเราจะไม่สามารถผ่าสมองออกมาดูได้ แต่เราสามารถประเมินพฤติกรรมจากสิ่งที่เขาลงมือกระทำได้ ซึ่งวิธีการนี้นอกจากเราจะเข้าใจตัวเองมากขึ้นแล้ว ยังเข้าใจคนอื่นมากขึ้น และยิ่งเป็นเด็ก เราจะรู้ว่าควรส่งเสริมอย่างไร เขาถึงจะพัฒนาได้อย่างเต็มศักยภาพ”
เด็กพิเศษนั้นมีพัฒนาการด้านการเรียนรู้ที่ช้ากว่าเด็กทั่วไป มีปัญหาเรื่องการอ่านออกเขียนได้ไปจนถึงการเข้าสังคม จึงต้องอาศัยการเรียนรู้และเข้าอกเข้าใจมากเป็นพิเศษ ช่วงนี้เองที่ครูแตงโมมีโอกาสได้เป็นนักจิตวิทยาเพื่อดูแลเด็กพิเศษ พอเรียนจบก็ไปรับจ้างสอนดนตรี ศิลปะ สอนภาษาไทยให้เด็กต่างชาติ รวมถึงดูแลเด็กพิเศษด้วย
เด็กพิเศษคนแรกที่ครูแตงโมเข้าไปช่วยดูแลคือ น้องเพชร วัย 5 ขวบ
ปัญหาของน้องเพชรตอนนั้นคือ เข้ากับเพื่อนไม่ได้ ไม่สามารถสื่อสารเป็นคำๆ และไม่ทำงานตามที่ครูมอบหมาย เช่น ครูสั่งให้เขียนเลข 3 ลงสมุด น้องเพชรก็จะต่อต้านทุกวิถีทาง ครูแตงโมซึ่งเป็นเสมือนตัวกลางระหว่างเด็กกับครู จึงต้องพยายามเข้าใจและหาวิธีที่ทำให้น้องเพชรยอมเปิดใจ
หลังทดลองอยู่หลายวิธี ในที่สุดก็หาวิธีให้น้องเพขรยอมเขียนตัวเลขได้สำเร็จ โดยแทนที่จะให้เขียนลงสมุดที่มีเส้นตาราง ก็ให้มาลองเขียนใส่กระดาษเปล่าแบบไร้เส้น จากนั้นก็ลองทำเป็นกระดาษที่เจาะรูไว้แล้ววางทับบนสมุดอีกที ปรากฏว่าน้องเพชรยอมเขียน และสุดท้ายเขาก็สามารถเรียนรู้เรื่องเลข แล้วก็มีงานส่งคุณครูได้
อีกเคสที่ทำให้ครูแตงโมรู้สึกว่าครูไม่ควรเป็นศูนย์กลางของการเรียนก็คือ เคสที่ไปช่วยสอนศิลปะให้เด็กทั่วไปที่โรงเรียนแห่งหนึ่ง ซึ่งมีเด็กคนหนึ่งไม่ยอมวาดภาพตามโจทย์ที่คุณครูสั่ง พอเข้าไปคุย ถึงได้ทราบว่า เขาอยากวาดรูป Spiderman เลยให้ลองวาด ปรากฏว่าเขาทำออกมาได้ดีเหมือนกัน
“จริงๆ แล้ว ไม่ว่าจะเด็กทั่วไปหรือเด็กพิเศษ เขามีความเป็นตัวของตัวเอง เขาอาจมีความชอบ-ไม่ชอบ ความถนัด-ไม่ถนัด เพียงแต่เด็กพิเศษอาจมีวิธีสื่อสารที่ยากกว่า ดังนั้นถ้าเรามองว่า เด็กแต่ละคนมีความแตกต่างกัน คุณครูก็ไม่ควรยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางแล้วให้เด็กทุกคนทำตาม”
แม้การสวมบทคุณครูที่ต้องดูแลทั้งเด็กทั่วไปและเด็กพิเศษจะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ครูแตงโม ก็มั่นใจว่ารักและพอใจในเส้นทางที่เลือก ต่อให้รู้ว่าหนทางข้างหน้าไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่ก็คุ้มค่าเมื่อแลกกับความสุขที่ได้เห็นนักเรียนมีพัฒนาการที่ดีขึ้น
“ถึงการรับมือกับเด็กพิเศษจะยาก แต่เราไม่ท้อ อาจเพราะเราเรียนมาด้านจิตวิทยา เลยทำให้เราเตือนตัวเองเสมอว่า ถ้าเราท้อ ใครจะมาดูแลเด็กๆ เหล่านี้ อย่างน้องเพชร ช่วงแรก เราก็อาจจะยังไม่ได้เข้าใจเขาทั้ง 100% แต่พอเราดูแลเขาไปเรื่อยๆ ได้เห็นเขาสื่อสารได้มากขึ้น เราก็หายเหนื่อย”
หลังจากสั่งสมความรู้และประสบการณ์ได้ 7-8 ปี ครูแตงโมตัดสินใจย้ายกลับมาเชียงใหม่อีกครั้ง การกลับมาครั้งนี้ไม่ได้มาตัวเปล่า เพราะยังหอบหิ้วความฝันที่อยากสร้างโรงเรียนให้เป็นจริงกลับมาด้วย
“ตอนที่ตัดสินใจกลับมา เพราะรู้สึกว่าได้เรียนรู้ทุกอย่างพอแล้ว บวกกับภาพโรงเรียนในฝันที่วาดภาพไว้คือ เป็นบ้านไม้ที่ไม่ต้องใหญ่โต แต่รอบๆ ต้องมีพื้นที่กว้างๆ มีต้นไม้เยอะๆ ให้เด็กๆ ได้วิ่งเล่น ซึ่งถ้าจะหาพื้นที่หรือบรรยากาศแบบนี้ในกรุงเทพฯ ก็คงยาก เลยคิดว่าน่าจะกลับมาสานฝันที่เชียงใหม่ ดีกว่า”
แม้การโบกมือลาชีวิตสาวชาวกรุงจะไม่ใช่เรื่องที่ตัดใจยาก หากแต่สายใยหนึ่งที่ครูแตงโมตัดไม่ขาดนั้นคือ นักเรียนของเธอ
“คงใจร้ายไปหน่อย ถ้าจู่ๆ เราทิ้งพวกเขากลับมาทำตามความฝันของตัวเอง เพราะลึกๆ แล้วเราก็ยังอยากเห็นพัฒนาการของเด็กๆ ที่สอนมา เพราะฉะนั้นช่วงแรกเลยใช้วิธีลงมากรุงเทพฯ ทุกเดือน มาสอนครั้งละ 1-2 สัปดาห์แล้วก็กลับ”
เมื่อกลับมาอยู่ที่เชียงใหม่ ครูแตงโมได้งานเป็นอาจารย์และนักจิตวิทยาของคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมกับเริ่มลงขันกับหุ้นส่วนเช่าพื้นที่ในโครงการบ้านข้างวัด ในซอยวัดอุโมงค์ เพื่อเปิดห้องสมุด โดยตั้งชื่อว่า ‘มาหาสมุด’ เมื่อเดือนมิถุนายน 2557
“ตอนแรก ตั้งใจให้ห้องสมุดแห่งนี้เป็นพื้นที่ให้ทุกคนสามารถมาอ่านหนังสือหรือทำกิจกรรมด้วยกัน ส่วนพื้นที่ข้างๆ ที่เป็นสนามหญ้า ก็ตั้งใจว่า จะใช้สอนหนังสือเด็กพิเศษ แต่เปิดได้ 8-9 เดือน ปรากฏว่า โครงการนี้กลายเป็นกระแส มีนักท่องเที่ยวแวะเวียนมาไม่ขาดสาย เลยคิดว่า พื้นที่ตรงนี้ไม่น่าจะตอบโจทย์การเรียนรู้สำหรับเด็กๆ ที่ต้องการความสงบและเป็นส่วนตัว เลยถอนตัว ให้หุ้นส่วนดูแลต่อ ซึ่งปัจจุบันห้องสมุดแห่งนี้ก็ยังเปิดให้บริการ”
แต่ถึงกระนั้น ความตั้งใจที่จะทำพื้นที่เพื่อเด็กก็ไม่ได้หมดไปเสียทีเดียว ระหว่างที่เธอกลับมาทำงานที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เต็มตัว สอนนักศึกษาและทำงานคลินิกควบคู่ไป วันหนึ่งเธอได้เจอที่ดินเปล่าในซอยวัดอุโมงค์ซึ่งปล่อยเช่าระยะยาว จึงตัดสินใจเช่าเพื่อก่อตั้งโรงเรียนในฝัน เมื่อปี 2558
ในตอนแรกยังไม่ได้เป็นโรงเรียนเต็มรูปแบบที่เปิดสอนเต็มเวลาเหมือนทุกวันนี้ แต่เริ่มจากการทดลองเปิดเป็นโรงเรียนสอนพิเศษช่วงหลังเลิกเรียนและวันหยุดเสาร์-อาทิตย์
“ตอนนั้น เราช่วยบำบัดเด็กพิเศษอยู่หลายคน ทำให้เราเห็นปัญหาของผู้ปกครองที่พาเด็กย้ายโรงเรียนมาหลายครั้งแล้ว แต่ก็ยังไม่เจอโรงเรียนที่ตอบโจทย์สักที”
เหตุผลเพราะเด็กพิเศษส่วนใหญ่ต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดและอาศัยความเข้าใจอย่างมาก หากแต่โรงเรียนส่วนใหญ่มีนักเรียนเยอะกว่าครูมาก บ่อยครั้งเด็กเหล่านี้จึงถูกมองว่าเป็นเด็กที่แตกต่างและรบกวนการเรียนของเพื่อนๆ ดังนั้นเพื่อปลดล็อกข้อจำกัดต่างๆ เธอจึงอยากสร้างทางเลือกใหม่แก่เด็กกลุ่มนี้ ตั้งใจว่าจะใช้เวลาสักปี ทดลองว่ารูปแบบการเรียนการสอนที่ออกแบบไว้จะได้ผลหรือไม่
โชคดีที่แม้ไม่รู้ว่า โฮมสคูลของครูแตงโมจะหน้าตาเป็นอย่างไร แต่เพราะความเชื่อใจ ทำให้มีผู้ปกครองพร้อมจะลองส่งลูกหลานมาเรียนถึง 7 คน โดยทั้งหมดเกิดจากการบอกต่อปากต่อปาก ไม่ได้มีการประกาศรับสมัคร
โดยชื่อโรงเรียนนั้น ครูแตงโมเลือกใช้คำว่า ‘พอดี พอดี’ เพราะรู้สึกว่า โรงเรียนแห่งนี้เกิดขึ้นในจังหวะที่ทุกอย่างลงตัวพอดีไปทุกอย่าง
“คำว่าพอดี พอดี มันคือจังหวะที่มันพอดีกับทุกอย่าง เราบังเอิญมาเจอสถานที่ตรงนี้ บังเอิญว่ามีเด็กอยากเรียน อีกอย่าง คำว่าพอดี ยังเป็นคำพูดติดปากคุณตา ที่มักบอกว่า ‘พอดีนั่นแหละดี’ เพราะมันไม่มากไปไม่น้อยไป แต่อยู่แล้วสบาย”
แม้จะมีภาพของโต๊ะโตะจังอยู่ในใจมาตลอด แต่โรงเรียนพอดี พอดี ก็ไม่ได้ถอดแบบมาเสียทีเดียว เพราะครูแตงโมเข้าใจดีว่า สังคมไทยกับญี่ปุ่นไม่ได้เหมือนกัน 100% เธอจึงเลือกเก็บภาพของโรงเรียนโทโมเอที่เคยอ่านไว้เป็นแรงบันดาลใจ
โรงเรียนพอดี พอดี ต่างจากโรงเรียนทั่วไป เพราะไม่ได้รายล้อมด้วยตึกสูง หรือมีโต๊ะเรียนเต็มไปหมด อีกทั้งไม่มีประตูเหล็กคอยกั้นนักเรียนจากโลกภายนอก
แต่เป็นบ้านไม้หลังเล็กที่มีไว้สำหรับหลบฝน เก็บของ มีพื้นที่ครัวเล็กๆ ให้ล้อมวงทำอาหารจากวัตถุดิบที่ครูแตงโมพาไปจ่ายตลาด หรือเก็บจากแปลงผักที่ช่วยกันปลูก หรือเก็บกล้วยมาทำขนม
ตารางเรียนในแต่ละวันของที่นี่ไม่ตายตัว ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนสนใจเรื่องอะไร ครูแตงโมก็จะหยิบมาต่อยอด ซึ่งห้องเรียนก็มีทั้งในครัว ในสวน หรือบางครั้งก็ออกไปเรียนตามป่าเขาลำเนาไพร โรงอาหารของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ห้างสรรพสินค้า หรือถึงขั้นพาไปขึ้นรถประจำทาง
แม้การให้เด็กๆ เรียนในห้องเรียนแบบเปิดอาจทำให้เสียสมาธิได้ง่าย แต่ครูแตงโมเชื่อว่า การที่เด็กไม่ตั้งใจเรียน ไม่ใช่ความผิดของพวกเขา แต่เป็นเพราะครูที่สอนไม่ดีพอ ทำให้นักเรียนไม่สนใจที่จะเรียนมากกว่า
ที่สำคัญ หลักสูตรของโรงเรียนพอดี พอดี ไม่ได้อัดแน่นไปด้วยสาระวิชาการ แต่เน้นวิชาทักษะชีวิตที่ส่งเสริมให้ทุกคนรู้จักเอาตัวรอดในสังคม เพื่อให้ทุกคนสนุกกับการเรียน และไม่ได้รู้สึกว่าถูกบังคับ
“เราไม่ได้อยากเป็นคุณครูที่สั่งให้นักเรียนทำตาม แต่เราเน้นการเรียนรู้ร่วมกัน ผู้ปกครองที่ส่งลูกมาเรียน เขาไม่ได้อยากเห็นลูกเป็นคนเก่ง แต่อยากเห็นเด็กเป็นคนดี เอาตัวรอดได้ เพราะฉะนั้นพ่อแม่หลายคนเขาบอกเราเลยว่า ลูกเขาไม่ต้องบวกเลขเก่ง ไม่ต้องเก่งภาษาไทย ขอแค่ทำอาหารได้ อ่านป้ายแล้วสื่อสารกับคนอื่นรู้เรื่อง ไม่เอาแต่ใจตัวเอง และสามารถอยู่ได้ในวันที่ไม่มีพ่อแม่แล้ว”
หลังผ่านช่วงเวลาทดลอง ปรากฏว่าเด็กๆ ไม่ใช่แค่อยากมาโรงเรียน แต่ยังมีพัฒนาการที่ดีขึ้น ซึ่งครูแตงโมย้ำว่า นี่ไม่ใช่ฝีมือของเธอ แต่มาจากตัวเด็กเองบวกกับสภาพการณ์ที่เอื้อต่อการเรียนรู้
การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดคือ ทุกคนเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับเพื่อน มีสมาธิและใจเย็นขึ้น จนคุณพ่อคุณแม่สัมผัสได้ และทำให้ครูแตงโมยิ่งมั่นใจว่า เธอพร้อมแล้วที่จะสานฝันไปอีกขั้น
ในที่สุด เมื่อปี 2561 ครูแตงโมจึงตัดสินใจลาออกจากงานที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หันมาทุ่มเทเวลาให้กับงานที่รักอย่างเต็มที่ ด้วยการไปขึ้นทะเบียนเป็นโฮมสคูลในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน พร้อมปรับตารางเรียน จากที่เรียนเฉพาะตอนเย็นหรือวันหยุด ก็เปลี่ยนมาเป็นวันจันทร์-ศุกร์ เพื่อให้เด็กๆ ที่มาเรียนที่นี่สามารถไปเรียนต่อในระบบโรงเรียนปกติได้
โรงเรียนพอดี พอดี ไม่ได้เปิดรับเฉพาะเด็กพิเศษเท่านั้น แต่เด็กทั่วไปก็มาเรียนได้ โดยจะเปิดรับตั้งแต่ระดับ ป.1-ม.3
แม้จะเปลี่ยนมาเป็นโรงเรียนเต็มรูปแบบ แต่ครูแตงโมยังคงรักษาเจตนารมณ์และวิธีการสอนไว้เหมือนเดิม เพื่อให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมต่างๆ แทนที่จะใช้วิธีท่องจำเป็นหลัก
“เราจะสอนด้วยการเชื่อมโยงทุกวิชาเข้าด้วยกัน อย่างเรื่องขนมปัง ก็สอนตั้งแต่การเลี้ยงยีสต์ ซึ่งเป็นความรู้เชิงวิทยาศาสตร์ สอนวิธีการทำขนมปัง ซึ่งต้องอาศัยการนวด การปั้น เด็กๆ ก็จะได้ฝึกใช้กล้ามเนื้อ หรืออาจจะต่อยอดไปถึงวิชาสังคมว่า ขนมปังมีต้นกำเนิดมาจากประเทศอะไร เป็นต้น”
นอกจากเรื่องใกล้ตัวอย่างขนมปัง บางครั้งห้องเรียนของครูแตงโมยังเชื่อมโยงไปถึงเหตุการณ์ในสังคม อาทิ เรื่องสงครามในต่างประเทศ หรือแม้แต่เวลาเข้าป่า เธอก็มักชวนให้นักเรียนเพลิดเพลินกับการวาดรูปต้นไม้ เชื่อมโยงไปถึงประโยชน์ของต้นไม้ ความหลากหลายของต้นไม้ ที่ช่วยให้ระบบนิเวศสมบูรณ์ เหมือนกับสังคมที่ต้องประกอบด้วยคนที่มีความหลากหลาย
“เราพยายามให้เด็กๆ เห็นภาพรวม อย่างพอพูดถึงป่าที่สมบูรณ์ การจะดูแลป่า ก็ต้องสอนไปถึงเรื่องการแยกขยะ ทำไมเราต้องไม่ทิ้งขยะลงแม่น้ำ เพราะป่าไม้ ดินและน้ำ มันสัมพันธ์กัน ไม่ใช่แค่เรียนหนึ่งวิชาแล้วใช้องค์ความรู้แค่หนึ่งอย่าง แต่เขาจะได้เรียนรู้ว่าแต่ละวิชาสามารถเชื่อมโยงกันได้หมด”
นอกจากวิธีการเรียนการสอนที่เน้นเด็กเป็นศูนย์กลางแล้ว การให้เด็กๆ ได้เปลี่ยนบรรยากาศจากห้องสี่เหลี่ยมมาเรียนรู้จากธรรมชาติ ก็ทำให้พวกเขายิ่งเปิดโลกการเรียนรู้ได้อย่างไม่น่าเชื่อ
“ปกติเวลาเด็กเสียงดัง คุณครูก็ต้องดุให้เงียบ แต่พอเราพาเขาไปเดินป่า กลายเป็นว่าทุกคนเงียบเองโดยอัตโนมัติ ส่วนหนึ่งอาจเพราะเหนื่อยจากการเดิน แต่อีกส่วนคือสัญญาณว่าเขากำลังเรียนรู้ว่า สภาพแวดล้อมแบบนี้ เขาต้องไม่ส่งเสียงดัง อย่างเด็กบางคน ปกติอยู่ในห้องเรียนสมาธิสั้น ไม่ตั้งใจฟังครู พอออกมาทำกิจกรรมข้างนอกกลายเป็นมีสมาธิมากขึ้น พยายามฟังครู ฟังเสียงธรรมชาติรอบข้าง
“อีกกิจกรรมหนึ่งช่วยฝึกการทรงตัวของเด็กๆ โดยการเดินทรงตัวบนท่อนไม้ เพื่อข้ามห้วยหรือลำธาร ซึ่งถ้าไปฝึกตามสถาบันที่เสริมพัฒนาการจะใช้วิธีจำลองสถานการณ์ขึ้นมา ซึ่งก็อาจจะได้ผลแตกต่างกันไป แต่การพาเด็กไปอยู่ในสถานการณ์จริงๆ ช่วยให้เขาดึงสัญชาตญาณการเอาตัวรอดออกมา ได้มากขึ้น เช่นเดียวกับเวลาให้เขาปีนต้นไม้ ช่วงแรกๆ อาจจะปีนได้ไม่สูง แต่พอเห็นเพื่อนอีกคนทำได้ดี เขาก็จะพยายามมากขึ้นโดยอัตโนมัติ”
อย่างไรก็ตาม แม้ช่วงเวลาที่ได้อยู่กับเด็กพิเศษจะเป็นช่วงเวลาที่ ‘วิเศษ’ สำหรับครูแตงโม แต่ขึ้นชื่อว่าเด็ก บางครั้งก็ยังมีช่วงเวลาที่ดื้อ ไม่เชื่อฟังจนทำให้ต้องปวดหัวเหมือนกัน
“โชคดีที่นักเรียนของเราจะไม่ดื้อหรือมีปัญหาพร้อมกัน เหมือนเขารู้คิว วิธีรับมือเวลาเขาดื้อ เราก็จะพูดตรงๆ เลยว่า ครูโกรธแล้วนะ ซึ่งปฏิกิริยาที่กลับมาแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน เด็กบางคนก็อาจจะตกใจแล้วเงียบ บางคนก็แสดงอารมณ์รุนแรงขึ้นมาอีก ทั้งถ่มน้ำลาย กัด หรือตีเราก็มี”
แต่ด้วยความเป็นผู้ใหญ่ ต่อให้โกรธหรือหงุดหงิดแค่ไหน ครูแตงโมก็มักจะดึงอารมณ์กลับมาได้ก่อน และพยายามใช้สติในการรับมือ โดยไม่ให้นักเรียนรู้สึกว่าครูกำลังสู้กับพวกเขา แต่ใช้การแสดงความรักหรือพยายามสื่อสารให้เขารู้ว่าครูเป็นเพื่อนกับทุกคน
“เราต้องรู้เท่าทันเขา พฤติกรรมเหล่านี้คือการแสดงการต่อต้าน พอเขาจะกัด เราก็บอก กัดเลย ตีเลย เขาก็บอก ไม่ได้ ไม่ตี ไม่เก่ง คือพอเราจริงใจ เขาก็จะแสดงความจริงใจกลับมาหาเรา”
อีกหนึ่งสิ่งที่น่ารักของโรงเรียนพอดี พอดีคือ การไม่ได้วางกฎระเบียบหรือมีครูฝ่ายผู้ปกครองไว้ควบคุมนักเรียน จะมีแต่กติกาในการอยู่ร่วมกันที่ล้วนมาจากความเห็นชอบของทุกคน
“กฎระเบียบต่างๆ ไม่ได้มาจากครู แต่ครูจะเป็นคนนำกิจกรรม เช่น มีนักเรียนเสียงดัง รบกวนคนอื่นจนมีเพื่อนอุดหู เราก็จะประชุมแล้วว่า จะแก้ปัญหาอย่างไร จะให้คนที่เสียงดังออกไป หรือให้คนที่ไม่เสียงดัง ต้องการความเงียบสงบย้ายไปที่อื่นไหม ซึ่งลึกๆ เรารู้อยู่แล้วว่าเด็กเขาอยากอยู่ด้วยกัน ดังนั้นเขาก็จะพยายามตกลงกันเองว่าจะทำอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาแบบนี้
“อย่างบางคนชอบแหย่เพื่อน เพราะสนุกที่เห็นเพื่อนกรี๊ดเวลาถูกแกล้ง แทนที่จะใช้วิธีดุ เราจะนั่งคุยกับเขา เพราะการดุอาจจะทำให้เขาหยุดพฤติกรรม ณ ตอนนั้น แต่ลึกๆ เขาไม่เข้าใจว่าทำไมถึงไม่ควรทำ แต่พอเราอธิบายว่า การที่เห็นเพื่อนกรี๊ด มันหมายความว่าเพื่อนไม่มีความสุขนะ แล้วเรามีความสุขเหรอ พอคุยกับเขาแบบนี้ เขาก็จะเข้าใจและยอมรับมากขึ้น”
ทว่า ด้วยความที่โรงเรียนพอดี พอดี ยกระดับมาเป็นโรงเรียนเต็มรูปแบบ จึงต้องมีการประเมินและเลื่อนชั้นเรียนเหมือนกับสถานศึกษาทั่วไป
ครูแตงโมบอกว่า หลักการที่ใช้คือ สังเกตพัฒนาการการเรียนรู้ของเด็กๆ ในทุกวัน โดยเธอจะคอยประเมินว่าเด็กที่อยู่ระดับชั้นนี้ควรต้องเรียนรู้เรื่องอะไรบ้าง และหากนักเรียนคนไหนเรียนรู้ได้ช้ากว่าคนอื่นก็จะใช้วิธีนัดมาสอนเพิ่มเติมอย่างไม่ย่อท้อ จนกว่าเขาจะสามารถเรียนรู้ได้ทันเพื่อนๆ
เพราะสำหรับเธอ การได้เห็นเด็กๆ เติบโตและอยู่ร่วมในสังคมได้อย่างแท้จริงนั้น คือความสำเร็จของคนเป็นครู
การที่เราบ่มเพาะทั้งตัวเองและเด็กให้เติบโตขึ้นมา ต้องใช้หลายๆ ปรัชญา หลายๆ แนวคิดมารวมกัน ถ้าคุณครูคนอื่นนำแนวคิดนี้ไปใช้แล้วเป็นประโยชน์ต่อเด็ก ก็ยินดีมากๆ
มาถึงวันนี้ หากถามว่า ความสุขในการทำโรงเรียนของครูแตงโมคืออะไร
แน่นอนว่าคือการได้เห็นเด็กนักเรียนเติบโตอย่างงดงาม ไม่จำเป็นว่าทุกคนต้องเติบโตในระดับเดียวกัน แต่แค่พัฒนาไปแบบพอดี พอดี เธอก็มีความสุขแล้ว
แม้พัฒนาการของเด็กๆ จะไม่ได้ดีขึ้นแบบหน้ามือเป็นหลังมือ แต่จากการประเมินของคุณหมอ คำบอกเล่าจากพ่อแม่ รวมถึงตัวเธอเอง ก็สัมผัสได้ว่า เด็กๆ ช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้น แถมยังสามารถตักเตือนและสอนเพื่อนๆ ได้ ทุกคนเก่งขึ้นจากวันแรกที่เข้ามาเรียน
การได้คลุกคลีกับเด็กทั่วไปและเด็กพิเศษแทบทุกวัน ยิ่งทำให้ครูแตงโม เชื่อว่า เด็กสองกลุ่มนี้ไม่ได้มีเส้นแบ่งชัดเจน พวกเขาสามารถเรียนรู้ร่วมกันได้ ขึ้นอยู่กับผู้ใหญ่ว่าจะเปิดใจให้คุณค่ากับความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกันแค่ไหน
“ความจริงแล้ว เด็กพิเศษก็คือเด็กคนหนึ่งที่พร้อมจะพัฒนาตัวเอง ลึกๆ แล้ว เขาก็อยากจะเรียนรู้ เขาไม่ได้อยากจะให้พ่อแม่มาดูแลเขาตลอดเวลา หรือให้เพื่อนมาช่วยใส่รองเท้าให้ เขาอยากทำได้เอง แต่เราอาจจะต้องใช้พลังในการสอนซ้ำๆ บ่อยๆ กว่าเขาจะแสดงศักยภาพที่สุดยอดออกมาให้เราเห็น เช่นบางคนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ แต่เล่นสเกตเก่งมาก บางคนปีนต้นไม้เก่ง บางคนจดจำทางได้ดี”
สำหรับครูแตงโม หัวใจของการเป็นครูโดยเฉพาะเด็กพิเศษคือ การให้ความรักแบบไม่มีเงื่อนไข
“เมื่อก่อนเราอาจจะมีเงื่อนไขว่าต้องไม่ดื้อ เป็นเด็กดี ครูถึงจะรัก แต่พอเวลาผ่านไป เรารู้แล้วว่า ทำไมเราต้องไปตั้งเงื่อนไขกับเขาล่ะ ถ้าอยากจะรักเขาก็รักเลย ไม่ต้องมีข้อแม้ ถ้าเขาทำอะไรผิดไป เราก็แค่รอให้เขาผ่อนคลายแล้วเตือนเขา”
แน่นอน บางครั้งอาจจะรู้สึกท้อถอยไปบ้าง แต่ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ครูแตงโมไม่เคยเสียใจในเส้นทางที่เลือก เพราะสิ่งที่ได้รับไม่ใช่เพียงความสุขในฐานะผู้ให้เท่านั้น แต่เธอยังมองเป็นโอกาสดีที่ได้พัฒนาตัวเองตลอดในทุกๆ วันที่ได้เป็นครู และเป็นแม่ของนักเรียนทุกคนอีกด้วย
“การที่เรามาสอนเด็ก ทำให้เราเข้าใจ รู้เท่าทันอารมณ์ความคิดและพฤติกรรมของตัวเอง ขณะเดียวกันยังทำให้เราต้องกระตือรือร้นหาความรู้ใหม่ๆ อยู่ตลอด เช่น แต่ก่อนเราทำอาหารไม่เป็น แต่อยากทำอาหารให้เด็กๆ ก็ต้องฝึก แต่ก่อนเข้าป่าแล้วหลง ไม่รู้เรื่องต้นไม้ แต่เราอยากสอนให้เด็กๆ อยู่กับธรรมชาติ เราก็ต้องไปหาความรู้
“บางครั้งก็รู้สึกว่า เราก็เหมือนเด็ก 6-7 ขวบ แต่อยู่ในร่างที่โตกว่าเขาแค่นั้นเอง ซึ่งเราสนุกและมีความสุขกับการทำงานตรงนี้ แล้วพร้อมที่จะเป็นลูกศิษย์คนหนึ่งของโรงเรียนพอดี พอดีเช่นกัน”
สำหรับเป้าหมายต่อไปของครูแตงโม อย่างแรกเลยคือ การทำโรงเรียนพอดี พอดี ให้ดีพร้อมสำหรับนักเรียนทุกคน โดยเมื่อปี 2564 เธอได้ย้ายสถานที่จากซอยวัดอุโมงค์มายังตำบลหนองควาย อำเภอหางดง ซึ่งมีบริเวณกว้างขวาง รายล้อมด้วยธรรมชาติ ต้นไม้ใหญ่ เพื่อเพิ่มพื้นที่การเรียนรู้แก่เด็กๆ
“สถานที่ตรงนี้ห่างจากที่เก่าประมาณ 10 กิโลเมตร แล้วก็ยังมีทุ่งนา ภูเขา ดูเงียบสงบดี ก็เลยรู้สึกชอบ แต่ตอนแรกยังไม่ได้คิดว่าจะสร้างโรงเรียนหรือทำโปรเจกต์อะไร จนวันหนึ่งเราอยากขยายพื้นที่ให้กว้างขึ้น แล้วที่ตรงซอยวัดอุโมงค์ก็เป็นที่เช่าด้วย ก็เลยมาตระเวนดูอีกที แล้วเขาก็ยังขึ้นป้ายว่าขายอยู่ ก็เลยโทรถามเจ้าของ เขาบอกว่ายังว่างอยู่ อยากได้พื้นที่ตรงไหนก็ให้เราขีดเส้นมาได้เลย
“แล้วตอนที่มาถึงเราก็เจอต้นไม้ใหญ่ ก็เลยคิดว่า น่าจะทำเป็นอาคารหลังใหญ่สักหลังหนึ่ง แล้วที่เหลือก็เป็นอาคารหลังเล็กๆ ให้เด็กเรียนตามเพิงตามซุ้ม แค่หลบฝนหลบแดดเท่านั้นเอง แล้วถ้าไม่มีฝนหรือแดด เขาก็มาวิ่งเล่นได้ ให้เขามีอิสระเต็มที่ แค่นี้ก็เพียงพอแล้ว”
อีกความตั้งใจหนึ่งคือ การถ่ายทอดแนวคิด พอดี พอดี ไปยังคุณครูรุ่นใหม่ โดยที่ผ่านมาก็มีลูกศิษย์ลูกหาจากช่วงที่เธอยังสอนหนังสืออยู่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มาช่วยสอนที่โรงเรียนบ้าง ซึ่งถ้าเป็นไปได้ ครูแตงโมก็อยากให้พวกเขารวมถึงครูคนอื่นๆ นำแนวคิดไปประยุกต์หรือปรับใช้กับห้องเรียนของตัวเองได้
“เราอยากจะถ่ายทอดให้คุณครูรุ่นต่อไปได้เข้าใจแนวคิดของเรา ได้เข้าใจสิ่งที่เราสอนเด็ก เพราะว่าการที่เราบ่มเพาะทั้งตัวเองและเด็กให้เติบโตขึ้นมา ต้องใช้หลายๆ ปรัชญา หลายๆ แนวคิดมารวมกัน ถ้าคุณครูคนอื่นนำแนวคิดนี้ไปใช้แล้วเป็นประโยชน์ต่อเด็ก ก็ยินดีมากๆ”
เพราะในมุมของเธอ โรงเรียนที่ดีควรจะเป็นพื้นที่สำหรับเด็กทุกคน ไม่ว่าเขาเป็นอย่างไรก็ตาม และหากครูพร้อมที่จะเปิดใจ เรียนรู้ความหลากหลายและคอยช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เด็กไทยก็คงจะเติบโตขึ้นอย่างมีความสุข และกลายเป็นต้นกล้าที่แข็งแรง ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นกับโต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง
และทั้งหมดนี้คือ เรื่องราวของครูแตงโม ผู้ก่อตั้งโรงเรียนพอดี พอดี ที่เชื่อว่า เด็กทุกคนมีความวิเศษอยู่ในตัวและพร้อมจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีของสังคมต่อไป
คนเล็กเปลี่ยนโลก : โครงการของเพจยอดมนุษย์..คนธรรมดา ซึ่งนำเสนอเรื่องราวของ 30 บุคคลผู้สร้างสังคมที่ยั่งยืน และช่วยกันสร้างคุณค่าสำคัญที่จะช่วยพลิกฟื้นประเทศ ท่ามกลางวิกฤตโรคระบาด โดยได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
สาริณี เอื้อกิตติกุล คือบุคคลต้นแบบประเด็นสร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพ อย่างครอบคลุม เท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต (SDGs ข้อที่ 4) และประเด็นลดความไม่เสมอภาคภายในและระหว่างประเทศ (SDGs ข้อที่ 10)
อดีตนักกลยุทธ์โฆษณามือฉมังของเมืองไทย แต่แล้ววันหนึ่งเขาก็ได้พบจุดเปลี่ยนที่สำคัญของชีวิต จนนำมาสู่การบุกเบิก ‘วิชาใจ’ ธรรมง่ายๆ ที่ทุกคนเสพได้
กลุ่มเครือข่ายคนรุ่นใหมที่ทำงานขับเคลื่อนการอนุรักษ์คลองในพื้นที่ฝั่งธนบุรี
เครือข่ายคนรุ่นใหม่ที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเมือง อย่างสร้างสรรค์ และเข้าใจถึงปัญหาของพื้นที่อย่างแท้จริง
นักอนุรักษ์ผู้เป็นแรงบันดาลให้นักเคลื่อนไหวด้านธรรมชาติรุ่นใหม่ เป็นผู้บุกเบิกค่ายเยาวชนเชียงดาว
ครู ผู้สร้างบทเรียนในความทรงจำของคนไทยมากมาย
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง ที่ต้องบริหารงานภายใต้ข้อจำกัดมากมาย แต่เขาก็ไม่ท้อ เพื่อให้ประชาชนทุกเชื้อชาติสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างเท่าเทียม
เครือข่ายที่ทำงานเรื่องการ ‘ตายดี’ เพื่อช่วยให้ผู้คนสามารถจากไปได้มีความสุข และลดความขัดแย้งแก่คนรอบใกล้ที่คอยดูแลด้วย
เครือข่ายอนุรักษ์ที่อยากส่งต่อเรื่องราว ความรู้เกี่ยวกับวาฬบรูด้า และผองเพื่อนในท้องทะเล เพื่อให้ทุกคนลุกขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งในการปกปักรักษาสิ่งมีชีวิตและทรัพยากรธรรมชาติใต้ผืนน้ำให้คงอยู่ตลอดไป
ตำนานศิลปินร็อก ผู้จุดกระแสเพลงเก็บตะวันให้ข้ามกาลเวลา รวมทั้งยังเป็นผู้สร้างยุคใหม่ให้แก่ RS สู่การเป็นเบอร์ 2 ของวงการเพลงไทยอย่างแท้จริง
คุณยายผู้เป็นสัญลักษณ์ของละครเมืองไทย ที่มีผลงานต่อเนื่องมากว่า 40 ปี ทั้ง คู่กรรม สายโลหิต บุพเพสันนิวาส
Armchair ศิลปินขวัญใจวัยรุ่นยุคอินดี้ ผู้บุกเบิกเพลงบอสซาโนวา เจ้าของเพลงฮิตสุดละมุนที่ยังตรึงอยู่ในใจแฟนเพลงถึงวันนี้
นักเขียนการ์ตูนที่พาผลงานมังงะจากเอเชียให้โด่งดังไปไกลทั่วโลก ปลุกกระแสดราก้อนบอล ให้เข้าอยู่ในใจเด็กๆ ยาวนานกว่า 3 ทศวรรษ
COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO. ALL RIGHTS RESERVED.