แม้เมืองไทยจะเป็นเมืองร้อน และไม่เคยมีหิมะตกเลยสักครั้งในประวัติศาสตร์
แต่น่าแปลกที่ช่างแกะสลักน้ำแข็งชาวไทยกลับสร้างปรากฏการณ์ครั้งยิ่งใหญ่ ด้วยการคว้าแชมป์การแข่งขันแกะสลักหิมะได้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะใน Sapporo Snow Festival เทศกาลหิมะที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
นับตั้งแต่ปี 2534 ที่เมืองไทยส่งทีมเข้าร่วมแข่งขันเป็นครั้งแรก เราเคยชนะการแข่งมาแล้วถึง 9 ครั้ง สร้างผลงานที่ตื่นตาตื่นใจ ทั้ง ช้างวาดรูป, รถตุ๊กตุ๊ก, ปลากัด, ไก่ชน, ไกรทองสู้กับชาละวัน หรือแม้กระทั่งเต่าทะเลแสนน่ารัก
ความสำเร็จนี้ ไม่ใช่เหตุบังเอิญ แต่มาจากการรวมพลังเป็นหนึ่งเดียวของทีมไทย ตั้งแต่การวางแผน การออกแบบ จนถึงในวันแข่งขันที่ต้องเผชิญกับอุปสรรคสารพัด ทั้งความหนาวเย็น อากาศที่ผันผวน ทำให้ต้องแก้ปัญหาและปรับเปลี่ยนแผนหน้างานอยู่ตลอด
ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ได้รับเชิญจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ให้ไปร่วมพูดคุยกับ ตู่-กุศล บุญกอบส่งเสริม, เซ็ง-อำนวยศักดิ์ ศรีสุข และ เจี๊ยบ-กฤษณะ วงศ์เทศ สามนักแกะสลักหิมะแห่งกลุ่ม ‘ช.ชราภาพ’ ที่แท็กทีมกันยาวนานเป็นครั้งที่ 10
และในการแข่งขัน International Snow Sculpture Contest ณ เมืองซัปโปโร ประเทศญี่ปุ่น ประจำปี 2567 พวกเขากลับมาพร้อมกับผลงานสุดตระการตาที่ท้าทายยิ่งกว่าเก่า ใน The Naga Fireballs หรือบั้งไฟพญานาค โดยสามารถคว้าตำแหน่งรองอันดับ 1 มาครองได้สำเร็จ
แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าคือ พญานาคตัวนี้ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ที่ช่วยให้ชาวโลกได้รู้จักและใกล้ชิดกับวัฒนธรรมไทยมากยิ่งกว่าเดิม
“คุณทำได้ยังไง ประเทศคุณไม่มีหิมะไม่ใช่เหรอ?” คือสิ่งที่นักแกะหิมะชาวไทยมักถูกถามอยู่เป็นประจำ หลังจากที่พวกเขาสร้างผลงานที่ยิ่งใหญ่อย่างต่อเนื่อง
ความจริงแล้ว ตู่-เซ็ง-เจี๊ยบ ต่างมีพื้นฐานมาจากการแกะสลักน้ำแข็งในโรงแรมชั้นนำต่างๆ ทั้งไทยและต่างประเทศ ไม่ต่ำกว่า 30 ปี พวกเขาเคยทำงานกับวัสดุมาแล้วนับไม่ถ้วน ทั้ง น้ำแข็ง โฟม เนย หรือแม้แต่ช็อกโกแลต เพราะฉะนั้นคงไม่ใช่เรื่องยากเกินไป ในวันที่ต้องรับมือกับหิมะซึ่งมีอุณหภูมิต่ำกว่าจุดเยือกแข็งกว่าสิบองศาเซลเซียส
แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าคือ ความเป็นดรีมทีมของสมาชิกทั้ง 3 คนซึ่งจับมือกันยาวนาน ตั้งแต่ปี 2555 เพราะฉะนั้นถึงแม้จะไม่ได้ทำงานที่เดียวกัน แต่ก็รู้ใจ รู้มือกันเป็นอย่างดี
ตู่ หัวหน้าทีม อดีตนักเรียนช่างจากโรงเรียนไทยวิจิตรศิลป์ และวิทยาลัยเพาะช่าง ถือเป็นนักแกะหิมะรุ่นบุกเบิกของไทย โดยย้อนกลับไปเมื่อปี 2534 มีการประกวดแกะสลักน้ำแข็งชิงแชมป์ประเทศไทย เวลานั้นตู่ซึ่งทำงานอยู่ที่โรงแรมรีเจนท์ ราชดำริ สามารถพาทีมคว้าชัยได้สำเร็จ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจึงส่งพวกเขาไปแข่งแกะสลักหิมะที่ซัปโปโรเป็นครั้งแรก
“ปีแรกมี 4 คน เราอยู่ในกลุ่ม B ซึ่งเป็นกรุ๊ปสำหรับประเทศที่ไม่เคยลงแข่งขันมาก่อน ตอนนั้นไม่ได้คิดว่าต้องแกะหิมะ นึกว่าไปแกะน้ำแข็ง ก็เลยวางแผนจะแกะราชรถ แต่พอเจอหิมะจริง เนื้อมันร่วนกว่าน้ำแข็งมาก เลยต้องเปลี่ยนแผนใหม่หมด หันไปแกะพระราชวังบางปะอิน ซึ่งยุ่งยากน้อยกว่ามาก โดยระหว่างนั้นก็ต้องเรียนรู้จากชาติอื่นว่าเขาทำกันยังไง งมไปเรื่อย เขาทำอะไร เราก็ทำตาม ซึ่งหลังแข่งขันเสร็จ ปรากฏว่าเราได้แชมป์ พอปีถัดมาก็เลยเลื่อนมาอยู่กลุ่ม A แต่ปีที่ 2 นี้เราได้รางวัลชมเชย”
ทว่าตู่ร่วมทีมได้เพียง 2 ครั้งแรกเท่านั้น ชีวิตก็พลิกผันเพราะได้รับโอกาสให้ไปทำงานโรงแรมที่นครอิสตันบูล ตุรกี ประมาณ 3 ปี จากนั้นจึงย้ายไปทำงานในเรือสำราญ สัญชาติอเมริกันอีกราว 7-8 ปี ได้สัมผัสโลกที่แตกต่าง ฝึกปรือฝีมือการแกะสลักที่หลากหลาย ก่อนจะกลับมาอยู่เมืองไทยถานไวร
เป็นจังหวะเดียวกันที่ทีมแกะสลักหิมะ ขาดหัวหน้าเนื่องจาก วงศ์-พุทธวงษ์ ปุนนา หัวหน้าทีมคนเดิม ตั้งแต่ปีแรกไม่สะดวกเดินทางไปแข่งขันแล้ว เจี๊ยบจึงชักชวนให้ตู่กลับมาช่วยนำทีมอีกครั้ง เมื่อปี 2550 โดยพวกเขาได้ร่วมกันสร้างประติมากรรมแกะสลักเป็นรูปเด็กไทยในชุดนักมวยกำลังจับมือกับเด็กญี่ปุ่นในชุดซูโม่ เพื่อฉลองสัมพันธไมตรีระหว่างไทย-ญี่ปุ่น ครบรอบ 120 ปี ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จากนั้นตู่ก็อยู่คู่กับทีมแกะสลักเรื่อยมาถึงปัจจุบัน
เช่นเดียวกับ เจี๊ยบ ซึ่งว่าตามวัยวุฒิแล้ว เด็กที่สุดในทีม แต่ถ้าเป็นเรื่องประสบการณ์การแกะสลักหิมะนับว่าไม่เป็นสองรองใคร เพราะเขาร่วมแข่งในเทศกาลหิมะซัปโปโร มาตั้งแต่ปี 2543
เจี๊ยบเริ่มงานแกะสลักน้ำแข็งตั้งแต่ยังเรียนไม่จบชั้น ปวช. จากแรงผลักดันของผู้เป็นพ่อที่ทำงานโรงแรมซึ่งเห็นว่า บุตรชายสนใจงานศิลปะ บวกกับงานนี้มีคนทำค่อนข้างน้อย ยิ่งทำก็ยิ่งท้าทาย ฝีมือจึงเริ่มพัฒนาขึ้นแบบก้าวกระโดด กระทั่งได้รับทาบทามให้ไปร่วมงานกับโรงแรมต่างๆ ต่อมาภายหลังได้รับโอกาสใหญ่ให้มาร่วมทีมแกะสลักหิมะ โดยครั้งแรกที่เขามาญี่ปุ่น ทีมไทยสร้างประวัติศาสตร์สำเร็จ ด้วยการคว้าแชมป์ครั้งแรกจากผลงานชุด ‘ช้าง’
“ครั้งแรกนี่ตื่นเต้นมาก เพราะเราไม่เคยสัมผัสกับงานหิมะมาก่อน เคยเจอแต่น้ำแข็ง แต่พอได้โอกาสแล้วเราก็อยากลองทำ อยากรู้ว่ามันเป็นอย่างไร จำได้ว่าปรับตัวอยู่นานพอสมควร แต่โชคดีที่หัวหน้าทีมในตอนนั้นเขาเคยทำมาก่อน ทำให้เราผ่านไปได้”
ตู่กับเจี๊ยบแท็กทีมกันเรื่อยมา โดยมีเพื่อนร่วมทีมอีกคนคือ กบ-กฤษดา วงศ์เทศ
ในช่วงนั้นเองที่มีการพัฒนาระบบต่างๆ เช่น การตีสเกลลงบนหิมะ เพื่อให้ได้งานที่สอดคล้องกับสัดส่วนของโมเดลที่เตรียมเอาไว้ ส่งผลให้ผลงานที่ออกมาดีขึ้นเรื่อยๆ ยืนยันได้จากการที่ทีมไทยสามารถคว้าแชมป์ 3 สมัยติดต่อกัน คือ ครอบครัวช้าง พ่อ-แม่-ลูก ในปี 2551, ครุฑยุดนาค ในปี 2552 และไกรทองปะทะชาละวัน ในปี 2553 นับเป็นทีมแรกที่ทำได้ตั้งแต่มีการแข่งขันแกะสลักหิมะที่ซัปโปโร
ที่สำคัญ การคว้าแชมป์ 3 สมัยซ้อนยังเป็นจุดเริ่มต้นให้ทีมแกะสลักหิมะเป็นที่รู้จักในวงกว้าง เนื่องจากเวลานั้น รายการเรื่องจริงผ่านจอ มาถ่ายทำ พร้อมติดตามทุกรายละเอียดการทำงานอย่างใกล้ชิด
กระทั่งในปี 2555 กบขอถอนตัวไปช่วยอยู่เบื้องหลังแทน ตู่จึงชักชวนเซ็ง ช่างแกะสลักน้ำแข็งที่โดดเด่นเรื่องการวาดภาพลายเส้นมาร่วมทีม ซึ่งต่อมาทั้ง 3 คน ผนึกกำลังกลายเป็นดรีมทีมชุดใหม่ที่มีชื่อเล่นว่า ‘ทีม ช.ชราภาพ’
เซ็ง เริ่มต้นจากการเป็นจิตรกรอยู่ในแกลอรีที่พัทยา ก่อนหันเหตัวเองไปทำงานแกะสลักน้ำแข็งในโรงแรม เรียนรู้ทุกอย่างตั้งแต่ศูนย์ ซึ่งต้องอาศัยความเข้าใจ ทั้งเรื่องปริมาตร ความลึกตื้น ในการเปลี่ยนภาพวาดมาเป็นชิ้นงาน 3 มิติ ที่สำคัญยังต้องวางแผนและทำทุกอย่างให้เสร็จอย่างรวดเร็ว เพราะน้ำแข็งอยู่ได้ไม่กี่ชั่วโมงก็ละลาย
แม้จะเป็นงานที่ท้าทายมาก แต่เซ็งก็ขวนขวายหาความรู้ต่างๆ ด้วยตัวเอง กระทั่งคว้าแชมป์แกะสลักน้ำแข็งของเมืองไทยได้สำเร็จ มีประสบการณ์เคยไปทำงานที่คูเวต รวมทั้งยังเคยร่วมทีมแกะสลักหิมะเมื่อปี 2542 ก่อนจะได้หวนกลับมาทำหน้าที่เดิมอีกครั้งหนึ่ง
ผลงานชิ้นแรกที่ ตู่-เซ็ง-เจี๊ยบ ทำด้วยกัน คือ มโนห์รา วรรณกรรมคลาสสิกของเมืองไทย ซึ่งปีนั้นได้อันดับที่ 4 พอปีถัดมาพวกเขาก็ช่วยกันแกะสลักผลงานสุดน่ารักอย่าง The Artist From the Wild หรือช้าง 4 เชือกกำลังวาดภาพ ซึ่งทำให้ทีมไทยทวงบัลลังก์แชมป์กลับมาได้อีกครั้ง
จากนั้นทั้งสามคนก็ช่วยกันนำเสนอผลงานที่เป็นเอกลักษณ์ จนเอาชนะใจกรรรมการได้อีกหลายครั้ง ตั้งแต่ รถตุ๊กตุ๊ก ในปี 2558, ไก่ชน ในปี 2561, ปลากัด ในปี 2562 และเต่าทะเล เมื่อปี 2563
การคว้าแชมป์มาได้ 5 ครั้ง ต้องอาศัยการหลอมรวมทุกสิ่งทุกอย่างเป็นหนึ่งเดียวกัน เพราะอย่างที่ทุกคนทราบว่า เมืองไทยไม่มีหิมะ โอกาสที่จะแกะสลักบ่อยๆ เหมือนประเทศเมืองหนาวจึงเป็นศูนย์ สิ่งที่ทดแทนได้ คือการวางแผนเตรียมทุกอย่างในเมืองไทยให้พร้อมที่สุด
“ถึงเราจะทำงานอยู่กันคนละที่ แต่ไม่ห่างกันเลย เพราะวงการนี้รู้จักกันหมด รู้ไม้รู้มือกันดี แล้วเคมีก็ตรงกัน คุยกันง่าย เราให้เกียรติซึ่งกันและกัน ไม่ใช่ทำงานไปคนละทาง ที่สำคัญเราให้ความสำคัญกับการคุยกัน เวลามีความเห็นไม่ตรงกัน ต้องคุยให้จบตั้งแต่ที่เมืองไทย เพื่อที่ไปถึงหน้างานจะได้ลุยเต็มที่ ยิ่งไปต่อสู้ในอากาศติดลบ ทั้งหนาวทั้งเหนื่อยทั้งหอบ ถ้าต่างคนคิดถึงแต่ตัวเอง เสร็จเลย งานพังแน่นอน” เซ็งอธิบาย
เช่นเดียวกับปี 2567 แม้พวกเขาจะว่างเว้นจากการแกะสลักหิมะถึง 3 ปี หลังจากสถานการณ์โรคระบาดคุกคามไปทั่วโลก ส่งผลให้ต้องยกเลิกการแข่งขันไปโดยปริยาย แต่ทั้ง 3 คนก็ยังคงจับมือกันไม่เปลี่ยนแปลง ด้วยความมุ่งมั่นที่จะนำพาชื่อเสียงมาสู่ประเทศไทยของเราอีกครั้ง
กว่าจะเป็นประติมากรรมหิมะอันงดงามในแต่ละปีได้นั้น บอกเลยว่าไม่ใช่เรื่องง่าย
เพราะต้องมีการพูดคุยจนตกผลึกร่วมกันระหว่าง ทีมแกะสลักกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยว่า ควรทำเป็นรูปอะไรดี ซึ่งส่วนมากก็มักเกี่ยวข้องกับศิลปวัฒนธรรมหรือการท่องเที่ยว
“เราทำได้ทุกอย่าง งาน Abstract ก็ทำได้ แต่ ททท. อยากให้นำเสนอศิลปะไทยมากกว่า ซึ่งพวกผมเห็นด้วย เพราะงานทั่วๆ ไปคนอื่น ก็ทำเยอะแยะแล้ว เราน่าจะเอาเรื่องราวเกี่ยวกับประเทศไทยไปทำดีกว่า อย่างน้อยได้รางวัลหรือไม่ คนก็เห็นแล้วว่า นี่คือ Thailand” หัวหน้าตู่อธิบาย
“เวลาที่คนต่างชาติมาเห็นผลงานของเราเขาอาจจะยังไม่ได้เข้าใจอย่างถ่องแท้ แต่เราก็พยายามสื่อออกมาในรูปแบบที่ง่ายๆ มันคือการนำความเป็นไทยไปสู่นานาชาติ ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องเป็นลายไทย ศิลปะไทยทั้งหมด ไปอย่างนั้นทุกรอบ อาจจะเป็นไกรทองบ้าง เป็นรถตุ๊กตุ๊กบ้าง ที่พอเขามองเห็นแล้วคิดถึงบ้านเรา” เจี๊ยบเสริม
อย่างการแข่งขัน International Snow Sculpture Contest ครั้งที่ 48 ระหว่างวันที่ 3-7 กุมภาพันธ์ 2567 ทีมไทยต้องเผชิญกับคู่แข่งฝีมือดีถึง 8 ทีม คือ สิงคโปร์, อินโดนีเซีย, โปแลนด์, มองโกเลีย, ลิทัวเนีย, เกาหลีใต้ และ 2 ทีมจากสหรัฐอเมริกา อย่างพอร์ตแลนด์ และฮาวาย
หัวข้อที่ทีมไทยหยิบยกขึ้นมา คือ บั้งไฟพญานาค ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 เพราะนอกจากนักษัตรปีนี้จะตรงกับปีมะโรงหรืองูใหญ่แล้ว ยังเกี่ยวพันกับคติความเชื่อของคนไทยมาอย่างยาวนาน
ชาวบ้านริมฝั่งโขงมักเชื่อว่า พญานาคเป็นงูน้ำอันศักดิ์สิทธิ์ พอถึงวันออกพรรษาจะยิงลูกไฟขึ้นมาเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา จนกลายเป็นประเพณีสืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน โดยในแต่ละปีจะมีผู้คนจากทุกสารทิศ แวะเวียนมายังจังหวัดหนองคาย เพื่อรับชมปรากฏการณ์ลูกไฟสีแดงที่พวยพุ่งเหนือลำน้ำโขง
ด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้ ทุกคนจึงสรุปตรงกันที่จะเลือกพญานาคเป็นตัวแทนในการสื่อสารเรื่องวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวของประเทศไทย
เมื่อได้รับโจทย์มาเรียบร้อย ตู่–เซ็ง–เจี๊ยบ ก็ช่วยกันสเกตภาพแบบของพญานาคคร่าวๆ เพื่อจะนำไปต่อยอดทำเป็นโมเดลขนาด 30 X 30 X 30 เซนติเมตร พร้อมกันนั้นพวกเขายังต้องวางแผนเผื่ออุปสรรคที่อาจเกิดขึ้น เช่น ควรใช้ส่วนใดเป็นตัวรับน้ำหนักของพญานาค จุดไหนที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ หรือหากในวันจริงเกิดฝนตก หรืออุณหภูมิสูงเกิน -3 องศาเซลเซียส จนหิมะละลายจะจัดการอย่างไร
โมเดลจึงมีความสำคัญมาก เพราะทั้งสามพยายามคิดแก้ปัญหาทุกอย่างให้ดีที่สุดตั้งแต่ขั้นตอนนี้แล้ว หากแบบลงตัว เวลาทำงานจริงก็จะไม่ยาก
เอกลักษณ์ของพญานาคตัวนี้ นอกจากลวดลายที่อ่อนช้อยพริ้วไหว ผสมผสานลายไทยเป็นจังหวะอย่างลงตัวแล้ว ยังมีลูกไฟกลม ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของบั้งไฟ รวมถึงหนังสือเล่มใหญ่ เสมือนเป็นการยืนยันว่าตำนานนี้อยู่คู่ชาวอีสานบ้านเรามาช้านาน ซึ่งกว่าที่โมเดลจะแล้วเสร็จ ทั้งสามคนต้องรื้อเข้ารื้อออกอยู่หลายรอบ ใช้เวลาร่วมเดือน จนได้เป็นต้นแบบ The Naga Fireballs ที่สวยสมบูรณ์ พร้อมเดินหน้าสู้ศึกครั้งที่ 10 ณ แดนอาทิตย์อุทัยต่อไป
หัวใจสำคัญของการแข่งขันแกะสลักหิมะ คือการสร้างสรรค์ผลงานให้โดดเด่น สวยงาม และสื่อความหมาย ภายใต้ระยะเวลาที่จำกัด
ที่สวนสาธารณะโอโดริ กลางเมืองซับโปโร ซึ่งใช้เป็นสนามแข่ง เจ้าภาพจะจัดเตรียมหิมะก้อนสี่เหลี่ยมลูกบาศก์ กว้างยาวสูงด้านละ 3 เมตร แต่ละทีมห้ามนำอุปกรณ์ไฟฟ้าเข้ามาช่วยเด็ดขาด แม้แต่สีหรือแสงที่ช่วยตกแต่งเพื่อความสวยงามก็ใช้ไม่ได้ โดยมีเวลาแข่งขันทั้งหมด 4 วัน เริ่มทำงานได้ตั้งแต่ 9.00-21.00 น. หรือวันละ 12 ชั่วโมง ยกเว้นวันแรกที่ทำงานเพียงครึ่งวัน เพราะช่วงเช้าเป็นพิธีเปิดงาน
แน่นอนแม้ทีมแกะสลักจะมีโมเดลที่เตรียมไว้จากเมืองไทย แต่การทำงานกับก้อนหิมะจริงๆ นั้นถือเป็นคนละเรื่อง เพราะชิ้นงานมีสเกลใหญ่กว่าโมเดลถึง 10 เท่า จึงต้องเริ่มจากการขยายสเกลจากโมเดลสู่ชิ้นงานจริง
ในวันแรกทั้งสามคนจะช่วยกันสำรวจมุม วัดขนาด จากนั้นจึงร่างแบบด้วยปากกาบนหิมะ แบ่งงานออกเป็นลูกบาศก์ พร้อมกับกะเทาะหิมะบางส่วนทิ้ง เพื่อให้ง่ายต่อการขึ้นรูปตามสัดส่วน
กระบวนการทั้งหมดนี้ไม่มีการแบ่งหน้าที่รับผิดชอบชัดเจน แต่ต้องช่วยกันทุกขั้นตอน
“พอเป็นงานชิ้นใหญ่ คนที่แกะอยู่ข้างบนจะมองไม่เห็นภาพรวม ต้องมีคนที่ดูโมเดลอยู่ข้างล่างคอยบอกสเกลงานว่า จะเอาออกกี่เมตร หรือกี่เซนติเมตรดี เพราะเราไม่สามารถหมุนงานเหมือนโมเดลทั่วไปได้ หรือลงไปดูข้างล่างก็ไม่สะดวกอีก” ตู่อธิบาย
สิ่งสำคัญคือการวางแผน กำหนดว่าจะแกะสลักจุดใดก่อน-หลัง จากนั้นเดินหน้าทำไปที่ละลูกบาศก์ เพื่อจะได้ไม่สับสน และจากประสบการณ์ที่ผ่านมาหลายครั้ง ส่วนที่แกะสลักยากสุดคือตรงกลาง เพราะอยู่ลึกสุด บางทีเอื้อมไปไม่ถึง ดังนั้นทุกขั้นตอนต้องวางแผนให้มีที่วางเท้า เพื่อให้ยืนทำงานได้
“งานหิมะต่างจากงานปั้นทั่วไป เพราะไม่สามารถทำขึ้นๆ ลงๆ ได้ อย่างตอนแรกๆ ที่ไป เราไม่ได้ทำเรียงจากบนลงล่าง ปรากฏว่าไม่สะดวกเลย เสียเวลามาก พอทำข้างล่างไปแล้ว จะขึ้นไปทำข้างบนก็เหยียบไม่ได้ คือเราก็ค่อยๆ เรียนรู้มาเรื่อยๆ” เจี๊ยบช่วยเสริม
พอวันที่ 2 การทำงานจะเน้นหนักไปยังส่วนหัวของพญานาค ซึ่งแม้มีขนาดไม่ใหญ่นัก แต่ค่อนข้างซับซ้อน จึงต้องใช้ความพิถีพิถัน โดยระหว่างทางก็ต้องคำนวณด้วยว่า โครงสร้างแข็งแรงพอที่จะรับน้ำหนักหรือไม่ พอทำเสร็จก็ต้องเก็บรายละเอียดเป็นจุดๆ ไปทีละส่วน เพราะหากจัดการในวันสุดท้าย เศษหิมะก็จะกองทับถมบนพื้น จนแข็งและทำงานได้ยากขึ้น
ส่วนอุปสรรคก็ถือเป็นเรื่องปกติของการแข่งขัน อย่างที่ซัปโปโร ใช้หิมะซึ่งเก็บมาจากธรรมชาติ จึงค่อนข้างร่วน ไม่แน่นเท่ากับหิมะที่มนุษย์สร้างขึ้นเอง หลายครั้งพอแกะไปแล้ว ก็พบว่าข้างในมีเศษน้ำแข็ง กิ่งไม้ ใบไม้ หรือเป็นโพรง ซึ่งต้องแก้ปัญหาไปตามหน้างาน
หากแต่ปัญหาที่หนักสุดคือ สภาพอากาศที่หนาวเหน็บถึงกระดูก บางปีอากาศแปรปรวน เดี๋ยวฝนตก หิมะตก บางทีอุณหภูมิก็สูงขึ้นมากะทันหัน ส่งผลให้ทำงานไม่ได้ ต้องหยุดพักชั่วคราว
“ตอนที่ไปแกะหิมะครั้งแรก เราไม่เคยรู้มาก่อนว่าอากาศมันจะหนาวติดลบขนาดนี้ แกะได้ 10-20 นาทีก็ต้องวิ่งเข้าที่พัก จนสุดท้ายไปหาซื้อเสื้อหนาวที่นู่นเลย หรือเครื่องไม้เครื่องมือก็ยังเคยมีผิดพลาดนะ อย่างสิ่ว ถ้าอยู่บ้านเราใช้แต่แบบด้ามเหล็ก เพราะจับง่าย แต่เอาไปใช้ที่นู่นมันจะเย็นจนจับไม่ได้ ต้องหาผ้าอะไรพัน เป็นเรื่องเล่าที่ยังฮาถึงทุกวันนี้” เซ็งย้อนความจำ
ทว่าเหตุการณ์ที่ทั้งสามจดจำได้ไม่ลืม คือเมื่อปี 2558 ระหว่างแกะสลักรถตุ๊กตุ๊ก ปรากฏว่าอุณหภูมินั้นสูงขึ้น จนหิมะละลาย และเสี่ยงที่งานจะถล่ม ทีมไทยจึงต้องกู้วิกฤตด้วยการปรับแบบกะทันหัน โดยทำเสารถให้หนาขึ้น แล้วก็ดัดแปลงแบบด้านหลังให้เป็นการกางผ้าใบ เพื่อจะได้ช่วยค้ำและรับน้ำหนักได้ดีขึ้น ผลจากการแก้ปัญหาไม่เพียงรักษาคอนเซ็ปต์ที่ตั้งใจไว้ได้เท่านั้น แต่ยังทำให้ทีมไทยคว้าแชมป์ในปีนั้นอีกต่างหาก
“งานก็คือครู งานทุกปีก็สอนเราให้เรียนรู้การแก้ปัญหา” เซ็งอธิบาย
เช่นเดียวกับบั้งไฟพญานาค ถือเป็นชิ้นงานที่มีรายละเอียดค่อนข้างซับซ้อน ล่อแหลมต่อการหัก หากอากาศผันผวนอาจทำให้ทำงานยากหรือไม่สำเร็จ แต่โชคดีที่ปีนี้อากาศเป็นใจ ทางทีมจึงสามารถแกะสลักได้อย่างต่อเนื่องในวันที่ 3 ก่อนเก็บรายละเอียดทั้งหมดในวันสุดท้ายจนชิ้นงานเสร็จสมบูรณ์ตามโมเดลที่วางไว้ ซึ่งสำหรับนักแกะสลักทีม ช.ชราภาพแล้ว นับเป็นเรื่องที่น่าภูมิใจอีกชิ้นหนึ่งในชีวิต
“พวกผมไปแต่ละครั้ง ไม่เคยตั้งความหวังไว้เลยว่าจะต้องได้ที่เท่าไหร่ เราแค่ทำให้มันเหมือนกับโมเดลที่เราเอาไปเท่านั้นเอง และถ้าเกิดไปตั้งความหวังกับมัน ก็จะกลายเป็นความกดดัน เวลาทำงานก็จะเครียด ไม่สนุก ผลงานออกมาไม่ดี ดังนั้นแค่ทำให้เต็มที่ก็เพียงพอแล้ว” เจี๊ยบย้ำเจตนารมณ์ของทีม
งานก็คือครู งานทุกปีก็สอนเราให้เรียนรู้การแก้ปัญหา
หลังจากทุ่มเทแรงกายแรงใจตลอด 4 วัน ผลงาน The Naga Fireballs ของทีมไทย สามารถคว้าตำแหน่งรองแชมป์มาครองได้สำเร็จ
ส่วนอันดับ 1 ตกเป็นของทีมมองโกเลีย ซึ่งหยิบเรื่องราวพื้นบ้าน อย่างการแขวนผ้าสักหลาดรูปสุนัขจิ้งจอกไว้บนเปลเด็ก เพื่อคุ้มครองร่างกายของทารกน้อยให้ผ่านพายุหิมะไปได้ด้วยดี มานำเสนอ เสมือนเป็นการอวยพรให้เกิดความสงบสุขแก่ผู้ร่วมงานเทศกาลหิมะทุกคน
แต่ถึงจะพลาดแชมป์ ตู่-เซ็ง-เจี๊ยบ ก็ไม่ท้อใจ เพราะได้ลงมือทำอย่างสุดความสามารถแล้ว
สิ่งที่สำคัญมากกว่าชัยชนะคือ เรื่องราวที่เกิดขึ้นระหว่างทาง ไม่ว่าจะผู้คนที่แวะเวียนมาให้กำลังใจ มาพูดคุยสอบถามถึงผลงาน ชื่นชมความสวยงามอยู่ตลอด อย่างแฟนคลับคนหนึ่งนั่งเครื่องบินตรงมาจากเมืองไทย สวมเสื้อลายธงชาติ มาส่งเสียงเชียร์อยู่ข้างๆ
อีกคนที่เหนียวแน่นไม่แพ้กันคือ ชาวญี่ปุ่นที่ชื่อ ฟูจิโอะ ซาโต ซึ่งติดตามทีมไทยตั้งแต่ครั้งแรกที่ลงแข่ง มาถ่ายรูปด้วยกันทุกปี และพอถึงปีถัดมาก็จะนำรูปที่อัดไว้มาใส่กรอบมอบเป็นของขวัญ นี่ยังไม่รวมบางคนที่นำเสื้อกันหนาว เครื่องไม้เครื่องมือใหม่ๆ หรือแม้แต่ของกินมามอบให้ ทำให้ทั้งสามคนรู้สึกอบอุ่นใจทุกครั้งเมื่อมาเยือนซัปโปโร
แม้แต่นักแกะสลักน้ำแข็งชาติอื่น พวกเขาก็ไม่ได้มองว่าเป็นศัตรูคู่แข่งขัน แต่คือเพื่อน ที่พร้อมจะแบ่งปันน้ำใจให้กันเสมอ เช่นบางครั้งที่ทีมไทยขาดแคลนอุปกรณ์ ก็ขอหยิบยืมทีมอื่นๆ ไปใช้งานก่อน โดยเฉพาะทีมฮาวายนั้น ตู่ขอยืมเลื่อยกับสว่านเป็นประจำ จนทุกวันนี้กลายเป็นเพื่อนซี้กันไปแล้ว
ไม่เพียงแค่นั้น พวกเขาก็ยังใช้โอกาสนี้เรียนรู้และศึกษาเทคนิควิธีการของทีมอื่นๆ โดยเฉพาะนักแกะสลักรุ่นใหม่ ซึ่งมักมีดีไซน์ที่แปลกใหม่น่าสนใจ และอาจนำมาประยุกต์ใช้กับงานในอนาคตได้ โดยตอนนี้ ทั้งสามคนมีไอเดียเก็บไว้มากมาย ทั้งของขลังเมืองไทย และแฝดอิน-จัน ซึ่งหากมีจังหวะดีๆ ก็พร้อมเสนอไปยังการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยต่อไป
“ความจริงมีไอเดียหนึ่งที่ผมอยากทำคือ ยักษ์วัดแจ้งปะทะจัมโบ้เอ แต่พอคุยกับคนอื่นๆ ทุกคนบอกว่าเขาคงไม่ให้ทำหรอก แต่ผมว่าไม่แน่ เพราะมันมีเสน่ห์นะ แล้วเมื่อก่อนก็ถูกทำเป็นหนังด้วย” หัวหน้าตู่เล่าพร้อมเสียงหัวเราะ
เพราะฉะนั้น ต่อให้ทั้งสามคนจะทำภารกิจนี้เพื่อชาติมายาวนานนับทศวรรษ แต่ก็ไม่เคยเบื่อเลย หากยังคงรู้สึกท้าทายและอยากพัฒนาตัวเองต่อไปเรื่อยๆ เพื่อเป็นแบบอย่างและแรงบันดาลใจให้นักแกะสลักรุ่นหลังก้าวข้ามพวกเขาไปให้ได้
นอกจากนี้ ด้วยความที่ประติมากรรมหิมะอยู่ได้เพียงไม่กี่วันก็ต้องทำลายลงเพื่อความปลอดภัย ทำให้เซ็งคิดโปรเจ็กต์ส่วนตัวอย่าง ‘หิมะไม่ละลาย’ ขึ้นมา ด้วยการนำผลงานที่เคยคว้ารางวัลมาสร้างเป็นประติมากรรมกลางแจ้ง ทำด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก แล้วตั้งไว้ที่บ้านเกิด ในอำเภอโนนนารายณ์ จังหวัดสุรินทร์ เพื่อเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ว่า ครั้งหนึ่งช่างแกะสลักหิมะของไทยเคยสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศชาติไว้อย่างไรบ้าง ก่อนที่เรื่องราวต่างๆ จะสูญสลายไปตามกาลเวลา
และทั้งหมดนี้คือ เส้นทางชีวิตของยอดฝีมือกลุ่มเล็กๆ ที่เปี่ยมไปด้วยความมุ่งมั่น และยังคงหยัดยืนเดินหน้าใช้ทักษะสร้างความสุขและส่งต่อความภาคภูมิใจของคนไทยไปสู่สายตาชาวโลกอย่างไม่สิ้นสุด
สัมผัสเรื่องราวของอาจารย์นักพากย์ ผู้ทำให้มวยปล้ำบูมในเมืองไทย
เรื่องราวของ 3 บุคคลจากแดนอาทิตย์อุทัย ที่อยู่เบื้องหลังทำให้ญี่ปุ่น จากผู้แพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ให้กลายเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ได้จัดกีฬาโอลิมปิก เมื่อปี 1964
ย้อนเรื่องราวตำนานอันหรทดนักชก เจ้าของเหรียญโอลิมปิกคนแรกของเมืองไทย และยังเป็นแชมป์มวยโลก หมายเลข 7 ของประเทศอีกด้วย
นักพากย์ ผู้เปิดประตูให้รู้จัก NFL และเป็นต้นแบบของผู้บรรยายอีกมากมาย
โค้ชอ๊อต อดีตหัวหน้าสต๊าฟโค้ชวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย ผู้ที่ทำให้ทีมโนเนม กลายเป็นทีมระดับโลกที่มีผู้คนต่างยกนิ้วให้
จากนักแกะสลักน้ำแข็ง สู่สุดยอดทีมนักแกะสลักหิมะ ที่คว้าชัยในเทศกาลหิมะอันดับ 1 อย่างต่อเนื่อง พร้อมพิสูจน์ให้โลกได้เห็นว่า ถึงเมืองไทยไม่มีหิมะ เราก็สร้างที่ยิ่งใหญ่ได้
Armchair ศิลปินขวัญใจวัยรุ่นยุคอินดี้ ผู้บุกเบิกเพลงบอสซาโนวา เจ้าของเพลงฮิตสุดละมุนที่ยังตรึงอยู่ในใจแฟนเพลงถึงวันนี้
นักเขียนการ์ตูนที่พาผลงานมังงะจากเอเชียให้โด่งดังไปไกลทั่วโลก ปลุกกระแสดราก้อนบอล ให้เข้าอยู่ในใจเด็กๆ ยาวนานกว่า 3 ทศวรรษ
สุดยอดนักพากย์ฟุตบอลและผู้ประกาศข่าวกีฬาแห่งเรื่องเล่าเช้านี้ที่ครองใจผู้ชมผู้ฟังมานานกว่า 3 ทศวรรษ
สาว สาว สาว แอม-แหม่ม-ปุ้ม ต้นตำรับเกิร์ลกรุ๊ปเมืองไทย ผู้สร้างกระแสเพลงประตูใจ ข้ามกาลเวลาถึงปัจจุบัน
จากนักแกะสลักน้ำแข็ง สู่สุดยอดทีมนักแกะสลักหิมะ ที่คว้าชัยในเทศกาลหิมะอันดับ 1 อย่างต่อเนื่อง พร้อมพิสูจน์ให้โลกได้เห็นว่า ถึงเมืองไทยไม่มีหิมะ เราก็สร้างที่ยิ่งใหญ่ได้
ย้อนเรื่องราวของหนังไทย ‘โหมโรง’ ที่สร้างปรากฏการณ์ฟีเวอร์ หลังเกือบถูกถอดจากโรง พร้อมกับจุดกระแสดนตรีไทยให้โด่งดังไปทั่ว
COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO. ALL RIGHTS RESERVED.