หลายคนอาจคุ้นชื่อ แสงชัย สุนทรวัฒน์ ในฐานะบุคคลที่มีส่วนสำคัญในการปฏิวัติวงการสื่อให้ได้มาตรฐาน
ครั้งหนึ่งเขาเคยเข้าไปบริหารฝ่ายข่าวช่อง 7 พร้อมยกเครื่องสถานีแห่งใหม่ จนเกิดรายการข่าวยอดฮิต อย่าง ข่าวเด็ด 7 สี
เช่นเดียวกับ ช่วงที่เป็นผู้อำนวยการ อ.ส.ม.ท. เขาก็ได้พลิกฟื้นแดนสนธยาที่รายได้ต่ำเตี้ยมานานทศวรรษ ให้กลับมามีกำไรระดับพันล้านบาท รวมทั้งปรับภาพลักษณ์ช่อง 9 จากสถานีมิวสิกวีดิโอให้กลายเป็นสถานีข่าวและสารคดี
แต่เพราะกระสุนเพียงนัดเดียวได้พรากชีวิตและความฝันของเขาไปตลอดกาล
ยอดมนุษย์..คนธรรมดา อยากชวนทุกคนมารู้จักกับชีวิตอันโลดโผนของชายที่ชื่อแสงชัย ตลอดจนความตั้งใจและความหวังที่อยากให้สื่อเป็นเครื่องมือยกระดับผู้คนสู่สังคมคุณภาพที่แท้จริง
หากพูดถึง แสงชัย สุนทรวัฒน์ คำว่า ‘ครบเครื่อง’ น่าจะเป็นสิ่งที่จำกัดความได้ดีที่สุด เพราะตลอดชีวิตของเขา ผู้ชายคนนี้ฝ่าฟันอะไรเต็มไปหมด เขาเป็นทั้งนักกฎหมาย ทนายความ บาร์เทนเดอร์ นักเขียน นักบริหาร นักธุรกิจ และอื่นๆ อีกมากมาย แต่บทบาทหนึ่งที่ไม่มีใครลืมคือ นักสู้ที่กล้าท้าชนกับผู้มีอิทธิพลที่เปี่ยมไปด้วยอำนาจมืด
ครั้งหนึ่งเขาเคยประกาศผ่านโมโครโฟน แฉบุคคลที่มาติดสินบนด้วยการนำทองมาให้ ว่า “ไม่รู้เอาทองมาให้ผมทำไม ลูกเมียผมมีทองใส่หมดแล้ว ยังไม่มีก็แต่เพียงสุนัข 2 ตัวที่บ้าน ผมจะเอาไปให้มันใส่”
หากถามว่าทำไมเขาจึงกล้าเผชิญกับสิ่งเหล่านี้ ส่วนหนึ่งอาจเพราะชีวิตของเขาต้องต่อสู้มาตั้งแต่วัยเยาว์
“ผมเป็นคนโชคดีที่เกิดมาจน เป็นคนโชคดีมากๆ เลย คือถ้าเราเป็นคนรวย เราก็ไม่มีโอกาสทำงานไป เรียนหนังสือไป เพราะมันเหนื่อย ทำให้เรามีโอกาสเกลือกกลั้วกับคนหลากหลาย เราก็รับฟังเขา แลกเปลี่ยนความเห็นกับเขา แล้วเราก็เป็นคนช่างคิด มันก็ได้รู้อะไรมากขึ้น”
แสงชัยเป็นเด็กปราจีน เติบโตในครอบครัวพ่อค้า ทว่าอายุ 14 ปี ธุรกิจทางบ้านล้มละลาย จึงย้ายมาอยู่กรุงเทพฯ ช่วยพ่อแม่ขายข้าวแกง พอเข้ามหาวิทยาลัยก็ต้องหาเงินส่งตัวเองเรียนนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ พร้อมทำงานควบคู่กันสองแห่ง กลางวันอยู่บริษัทฝรั่งเศส พอตกดึกก็ทำงานในบาร์ เป็นตั้งแต่บ๋อย จนเลื่อนขั้นเป็นผู้จัดการไนท์คลับ
แม้ช่วงนั้นแสงชัยจะรุ่งเรือง มีรถสปอร์ตขับ แต่ด้วยการใช้ชีวิตแบบเพลย์บอย มีผู้หญิงมากหน้าหลายตาแวะเวียนเข้ามา จนแม่ไม่สบายใจ สุดท้ายจึงยุติปัญหาด้วยการไปบวชอยู่ที่วัดเทพศิรินทราวาส
ที่นี่เองที่ทำให้แสงชัยตาสว่างว่า ชีวิตที่ผ่านมาไร้แก่นสารเพียงใด พอสึกออกมาก็ขายสมบัติทุกอย่าง แล้วก็เองเงินฝากไว้กับแม่ พร้อมกับตัดสินใจตั้งต้นชีวิตใหม่ที่ต่างแดน
“ผมเดินทางไปกับน้องชาย ผมสองคนมีเงินไปคนละ 200 เหรียญ ไปถึงอเมริกาได้ 2 วันก็ได้ทำงานเลย ตอนแรกผมยังไม่มีโอกาสได้เรียนเพราะค่าเล่าเรียนมันแพง ผมยังไม่มีเงินก็ทำงานเก็บเงินไปก่อน ทำงานที่แอลเอได้ 8-9 เดือนก็ไปเรียนปริญญาโททางกฎหมายที่มหาวิทยาลัยในเท็กซัส งานของผมที่ทำอยู่ตอนนั้นคือเป็นบาร์เทนเดอร์
“ผมป็นคนสนุกไม่เคยคิดว่าอะไรเป็นอุปสรรค มองชีวิตสนุกมาตลอด เลยไม่เคยกลัวว่าจะอดตาย ไม่เคยกลัวความลำบายากค้น เพราะเห็นมาแล้วตั้งแต่เด็ก กลัวอยู่อย่างเดียวคือ เมื่อโตขึ้นแล้วผมไม่กล้าทักกับเพื่อน เพราะเขาอาจไปได้ดี แต่ผมข้นแค้น ผมอายเพื่อน ทำให้ผมเกิดความดิ้นรนว่าจะอย่างไรก็ตาม ผมต้องต่อสู้เพื่ออนาคตข้างหน้า เขาจะเป็นอะไรก็ตามเราจะต้องไม่อายที่จะทักกันได้”
ชีวิตในลอสแอนเจลิส แสงชัยทำงานนับไม่ถ้วนตั้งแต่เปิดบริษัทกฎหมาย ทำร้านอาหาร เป็นอาจารย์ แต่อาชีพสำคัญที่หล่อหลอมวิธีคิดของเขามากที่สุดคือ บาร์เทนเดอร์
เพราะสังคมอเมริกันยุคนั้นต่างคนต่างอยู่ คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยเกื้อหนุนกัน ผู้คนก็เลยมีปัญหาชีวิตเยอะ ซึ่งที่พึ่งทางใจของคนเหล่านี้ หากไม่ใช่จิตแพทย์ ก็ต้องเป็นบาร์เทนเดอร์ ซึ่งมีหน้าที่ชงเหล้าและแลกเปลี่ยนความเห็นกัน
สิ่งหนึ่งที่แสงชัยตกผลึกจากทำงานนี้คือ ผู้คนมีหลากหลาย แต่ละคนมีสมรรถภาพในการใช้ชีวิตต่างกันไป บางคนสามารถแบกรับปัญหาได้มาก บางคนรับมือกับปัญหาได้น้อย เช่นรายหนึ่งพนักงานคัดแยกส้มในซูเปอร์มาร์เก็ต วันๆ ก็แค่แยกผลส้มตามขนาด แต่กลับบอกว่างานของตัวเองเครียดมาก ต้องตัดสินใจเยอะแยะไปหมด
“ปัญหาหนึ่งอาจเบาสำหรับคนหนึ่ง แต่กลับหนักสำหรับอีกคน อย่างเรื่องเลือกส้มผมว่าเป็นเรื่องขี้ไก่ที่สุด ไอ้นี่กลับมานั่งปวดหัว แถมยังบอกว่าลองมานั่งเลือกสักวันซิแล้วจะรู้ว่าปวดหัวไหม เมื่อปวดหัวก็ต้องกินเหล้า ทุกคนมีปัญหาหมด ความคิดอีกอย่างที่ได้คือ เรานึกว่าฝรั่งฉลาด แต่คิดดูเลือกส้มยังบอกมีปัญหา แสดงว่าฝรั่งบางคนโง่กว่าควาย 3 ตัวรวมกันซะอีก ฝรั่งไม่ได้เป็นเทวดาหรือเก่งไปหมด มันก็มนุษย์เหมือนกัน”
แสงชัยตั้งรกรากอยู่ที่สหรัฐอเมริกา 16 ปี พร้อมปณิธานว่า หากไม่รวยจะไม่กลับมาทำงานที่เมืองไทยเด็ดขาด เพราะเคยคำนวณรายได้แล้วเห็นว่าไม่พอเลี้ยงลูกแน่ๆ อย่างข้าราชการวุฒิปริญญาโทยุคนั้นได้เงินเดือนแค่ 1,900 บาทเท่านั้น แต่ความตั้งใจนี้ถูกสั่นคลอนเมื่อเขาได้พบกับ พล.อ.พิจิตร กุลละวณิชย์ อดีตองคมนตรี ระหว่างแวะมาเยี่ยมบ้าน
“บิ๊กเสือสมัยนั้นท่านเป็นผู้บัญชาการกองพลที่ 1 และเป็นนักเรียนเก่าเวสท์พอยน์ด้วย ตอนนั้นเรามานั่งคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ในฐานะที่เคยอยู่อเมริกา ท่านก็ถามว่าคนไทยในอเมริกามีความรู้สึกกับทหารอย่างไร ผมก็แสดงความเห็นออกมาว่า คนส่วนใหญ่เขามองเห็นว่าไม่เข้าท่า วันๆ ไม่ได้ทำอะไร ดีแต่ยึดบ้านยึดเมือง เมื่อท่านได้ฟังดังนั้นจึงชวนผมไปเขาค้อ เพราะตอนนั้นยังรบกันอยู่ ท่านชวนไปดูว่าทหารเขาทำงานกันอย่างไร
“ผมพบว่าทหารคนหนึ่งชื่อจ่าทรงขาพิการ ตาบอดข้างหนึ่ง นอนอยู่กับหมาอีกหนึ่งตัว ตาบอดสองข้าง และขาขาดข้างหนึ่ง เขาเล่าให้ฟังว่า ทหารไปโดนกับระเบิด และนาทีที่ถูกกับระเบิดหมามันก็วิ่งไปช่วยนายตะปบกับระเบิด มันก็เลยตาบอดและขาก็ขาดด้วย เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ผมน้ำตาร่วง มานั่งนึกว่า แผ่นดินไทยแม้แต่หมายังช่วยกันรักษา ไอ้เราไปอยู่เมืองนอกตั้ง 16 ปี ไม่เคยทำอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมเลย ตอนอยู่เมืองไทยก็เป็นเพลย์บอย เลยลงมาจากเขาค้อกลับเข้ากรุงเทพฯ โทรศัพท์ไปบอกเมียที่อยู่อเมริกาว่าให้เก็บของขายสมบัติที่มีอยู่ให้หมด ถึงเวลากลับบ้านแล้ว”
หลังกลับมาเมืองไทย แสงชัยเปิดบริษัทกฎหมาย รับเป็นที่ปรึกษาให้ธุรกิจใหญ่หลายแห่ง ก่อนชีวิตจะพลิกผันมายังเส้นทางสายสื่อมวลชนเต็มตัว
ความจริงแสงชัยผูกพันกับสื่อมาตั้งแต่เป็นวัยรุ่นแล้ว โดยเริ่มเขียนบทความกีฬาลงหนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย ตั้งแต่อายุ 24 ปี และเมื่อย้ายไปตั้งรกรากอยู่ที่สหรัฐอเมริกาก็ไม่เคยหยุดเขียนส่งเลย
สิ่งหนึ่งที่แสงชัยมีเหนือคนอื่นคือความใฝ่รู้ และอัธยาศัยที่มีต่อคนรอบข้าง โดยเฉพาะสมัยเป็นบาร์เทนเดอร์ ซึ่งนอกจากการรับฟังปัญหาชีวิตแล้ว เขายังคอยแสดงความคิดเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ในสังคมอีกด้วย
“คนอเมริกันกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มาจากภาคเหนือ อยู่ในย่านที่ดีที่สุดของแอลเอ มีตั้งแต่อาจารย์มหาวิทยาลัย นักเขียน ดาราหนัง ผมเลยรู้เรื่องทั้งการเมือง กีฬา บันเทิง ชีวิต พอเขาถามมาเราก็ตอบไป อย่างพอใกล้เลือกตั้งทุกคนมานั่งคุยกับผมหมด เพราะผมศึกษาเพิ่มเติมว่าระบบการเมืองที่นั่นเป็นอย่างไร จนผมมีชื่อติดปากคนอเมริกันย่านนั้นว่า ‘แซมมี่’
“สิ่งที่ผมได้คุยกับคนเหล่านั้นทำให้ได้อะไรหลายอย่าง เช่น ปรัชญา แนวความคิด โดยเฉพาะความคิดทางการเมือง ทำให้รู้ว่าคนระดับไหนคิดอย่างไร อันนี้ก็สะสมมาเรื่อย และที่ผมได้อีกอย่างคือสำนวนกับสำเนียงภาษา”
แสงชัยนำวัตถุดิบเหล่านี้มาต่อยอดในหนังสือพิมพ์ในบ้านเรา โดยช่วงปี 2525 เขาเปิดคอลัมน์อเมริกันโฟกัส ในเดลินิวส์ นำเสนอเรื่องการบ้านการเมืองในสหรัฐอเมริกา จากนั้นอีก 2 ปีก็มาเปิดคอลัมน์ฟุดฟิดฟอไฟ สอนภาษาอังกฤษเรื่องสำนวนและการออกเสียงที่ถูกต้องมานำเสนอ ก่อนจะหอบหิ้วคอลัมน์ยอดฮิตนี้มาประจำการอยู่ที่ไทยรัฐในปี 2531
“ตอนผมไปอยู่ต่างประเทศ ภาษาอังกฤษที่เรียนรู้มาไม่สามารถนำไปใช้ได้เลย เพราะเราออกเสียงผิดมาโดยตลอด และเราก็ยังไม่เข้าใจความแตกต่างระหว่างเสียง เพราะว่าคนไทยเรามีเสียงควบกล้ำแต่ไม่เก่ง อย่างตัว ร.เรือ ล.ลิง เราก็ไม่ค่อยสนใจ และเมื่อไปถึงโน้นเราจึงใช้ภาษาไม่ได้ ฝรั่งมันไม่เข้าใจ ผมจึงคิดว่าอยากจะเอาประสบการณ์ทางด้านภาษามาเล่าเสียเลยว่าที่ถูกต้องมันควรเป็นอย่างไร”
คอลัมน์ฟุดฟิดฟอไฟ กลายเป็นสัญลักษณ์ประจำตัวแสงชัย หลายคนพูดภาษาอังกฤษเป็นเพราะคอลัมน์นี้ และต่อมาภายหลังคอลัมน์นี้ได้มีการรวมเล่ม กลายเป็นหนังสือยอดนิยมที่มีแฟนๆ ติดตามต่อเนื่องนับสิบปี
หลังเป็นคอลัมนิสต์อยู่นาน แสงชัยก็มีโอกาสย่างเท้าก้าวแรกสู่จอโทรทัศน์ หลัง ชาติเชื้อ กรรณสูต อดีตนายใหญ่ช่อง 7 พี่ชาย สุรางค์ เปรมปรีดิ์ ชักชวนแสงชัยให้รับตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการข่าว ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงย่ำแย่
ความจริงแสงชัยไม่เคยคิดที่ทำงานสายนี้มาก่อน เพราะปกติเป็นนักกฎหมาย รวมทั้งยังมองว่าเป็นอาชีพสายนี้รายได้น้อย กระทั่งวันหนึ่งชาติเชื้อชวนเขาออกต่างจังหวัด แสงชัยจึงเห็นว่าตามชนบทไม่มีความบันเทิงอย่างอื่นเลยนอกจากทีวี เลยรู้สึกท้าทาย และอยากทำอะไรเพื่อช่วยเหลือคนในถิ่นทุรกันดาร จึงตกปากรับคำ
แสงชัยเริ่มต้นขยายเวลาข่าวช่วง 6 โมงเย็น เริ่มต้นรายการ ‘ข่าวเด็ด 7 สี’ โดยตั้งใจจะทำเป็นรายการข่าวเล็กๆ ที่เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนั้น เพราะถ้าปล่อยให้รอถึงช่วงค่ำก็เกรงว่าจะสู้ช่องอื่นไม่ได้ ผู้ชมเองก็ไม่อยากติดตามแล้ว
นอกจากนี้เขายังดึงคนเบื้องหลังที่มีแววหลายคนขึ้นมาอยู่หน้าจอ เช่น พิสิทธิ์ กีรติการกุล จนกลายเป็นผู้ประกาศและพิธีกรแถวหน้าของเมืองไทย ตลอดจนสนับสนุนให้ฝ่ายข่าวผลิตสารคดีและข่าวเชิงรุก อย่างช่วงที่เครื่องบินตกบริเวณชายแดนไทย-พม่า เขาก็มอบหมายให้ทีมงานค้นหาว่า ใครเป็นผู้รับผิดชอบค่าติดตามค้นหา สนธิสัญญาระหว่างประเทศเป็นเช่นใด ซึ่งเป็นข่าวเจาะซึ่งยุคนั้นไม่ค่อยมีใครเล่น
แม้แต่รายการข่าวชาวบ้าน ซึ่งตอนแรกคำรณ หว่างหวังศรี เสนอเข้าไปมีแต่คนบอกว่าบ้า เอาข่าวมาเล่นทำให้ข่าวเสีย แต่แสงชัยกลับมองต่าง พร้อมยกตัวอย่าง ‘On the road’ ซึ่งเป็นรายการที่ดูสนุก น่าสนใจและเป็นที่นิยมในสหรัฐอเมริกา โดยนอกจากสนับสนุนอุปกรณ์เครื่องมือถ่ายทำต่างๆ แล้วยังผลักดันให้รายการออกอากาศทุกวัน วันละ 2 นาที หลังข่าว 2 ทุ่ม จนกลายเป็นรายการยอดฮิตที่มีผู้ชมนับล้าน
ผลจากการปรับปรุงข่าวช่อง 7 ทำให้รายการข่าวที่อยู่รั้งท้ายมาตลอด กลายเป็นรายการยอดนิยม และมีศักยภาพที่จะแข่งขันกับช่องอื่นๆ
หากแต่เส้นทางจอแก้วครั้งแรกของแสงชัยสิ้นสุดลงหลังทำงานได้ 11 เดือน เพราะเขาถูกทาบทามให้มาช่วยกอบกู้องค์การฟอกหนัง ซึ่งอยู่ในภาวะใกล้ล้มละลาย เป็นหนี้สูงถึง 227 ล้านบาท และขาดทุนปีละ 40 ล้านบาท
เขาตอบรับด้วยดี เพราะอยากทำอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ให้สังคมบ้าง ดังที่เคยตั้งใจไว้สมัยตอนที่กลับมาเมืองไทยใหม่ๆ
อาชีพของพวกเราไม่มีนายจ้าง เราไม่ได้ทำงานให้นายจ้าง เรามีแต่นายคือประชาชนนี่แหละที่เรารับใช้อยู่ ไม่มีประชาชนก็ไม่มีงานสื่อสารมวลชน ต้องเข้าใจว่านายที่แท้จริงของเราคือประชาชน
แสงชัยรับหน้าที่ผู้อำนวยการองค์การฟอกหนัง เกือบ 4 ปี
เขาปรับรื้อระบบโครงสร้างแบบราชการให้ใกล้เคียงกับเอกชนที่สุด ตัดช่องทางที่ก่อให้เกิดการทุจริตออกไปมากที่สุด รวมทั้งค่อยๆ ทยอยใช้หนี้ โดยช่วงที่ออกมา ที่นี่มีกำไรอยู่ประมาณ 30 ล้านบาท
จากนั้นก็ได้รับทาบทามให้เข้ามาช่วยงานองค์การสื่อมวลชนแห่งประเทศ หรือ อ.ส.ม.ท. ซึ่งยุคนั้นถูกขนานนามว่าเป็นแดนสนธยา
แม้จะมีกำไรหลักร้อยล้าน แต่รายได้ส่วนใหญ่มาจากการปล่อยสัมปทานให้เอกชน แถมยังถูกแทรกแซงจากกลุ่มผู้มีอิทธิพล
เช่นเดียวกับตัวรายการ ซึ่งนอกจากช่อง 9 การ์ตูนที่เป็นขวัญใจคุณหนูๆ แล้ว ก็มีรายการเพลงฉายมิวสิกวิดีโอวนซ้ำไปซ้ำมา สัปดาห์หนึ่งเกิน 24 ชั่วโมง
แต่ปัญหาใหญ่สุด คือตำแหน่ง ผู้อำนวยการ อ.ส.ม.ท. มักถูกเกี่ยวพันกับการเมือง พอเปลี่ยนรัฐบาลที ก็มักถูกปลดตามไปด้วย
ยิ่งตัวแสงชัยซึ่งมีพี่ชายเป็น ส.ส.สระบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ก็ยิ่งถูกจับตาว่าเป็นเด็กเส้น
แต่แสงชัยก็ไม่หวั่น เพราะเขาเชื่อว่าประสบการณ์และการบริหารแบบโปร่งใสและมืออาชีพ จะสามารถปฏิวัติแดนสนธยาแห่งนี้ได้
วันแรกที่มาทำงาน แสงชัยถือกระเป๋ามาใบเดียว ละประกาศว่า “ผมจะนำ อ.ส.ม.ท. ออกจากแดนสนธยา เราเดินทางมาถึงรุ่งอรุณแล้ว”
จากนั้นปรับเปลี่ยนแนวทางการทำงานองค์กรใหม่ โดยเฉพาะสำนักข่าวไทย เพื่อให้กลายเป็นสำนักข่าวเบอร์ 1 พร้อมกำหนดสัดส่วนรายการใหม่ ยุบรายการเพลงจนเหลือไม่กี่ชั่วโมง แล้วเพิ่มสัดส่วนข่าวและสารคดี
แสงชัยกำชับให้พนักงานฝ่ายข่าวลุยได้ทุกเรื่องที่เป็นผลกระทบต่อสังคมและประชาชน โดยไม่ต้องเกรงอิทธิพลใดๆ โดยเฉพาะข้อสังเกตจากผู้ใหญ่ในรัฐบาล เพราะนักข่าวไม่ได้มีหน้าที่ทำงานประจบรัฐบาล แม้จะเป็นรัฐวิสาหกิจก็ตาม
และหากเกิดการปะทะถึงแนวทางการทำงานขึ้นมา หากเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เขาก็พร้อมเป็นด่านหน้าต่อสู้ให้
เขาพยายามหลอมรวมพลังของคน อ.ส.ม.ท.ให้เป็นหนึ่งเดียว พยายามชี้ให้เห็นว่าหน่วยงานนี้ เป็นสมบัติของประชาชน ตั้งจากภาษีอากรของราษฎร ทุกคนต้องทำงานด้วยความภาคภูมิใจ และมีอุดมการณ์
ข่าวทุกข่าวต้องเป็นกลางไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด รายการต้องมีสาระและเป็นประโยชน์ อ.ส.ม.ท.ไม่จำเป็นต้องไปแข่งกับช่องอื่น ไม่จำเป็นต้องมีละคร แต่ต้องมีรายการที่สอนให้คนรู้จักคิด เพราะถ้าคนคิดมากขึ้น ชาติก็จะเจริญขึ้น
“อาชีพของพวกเราไม่มีนายจ้าง เราไม่ได้ทำงานให้นายจ้าง เรามีแต่นายคือประชาชนนี่แหละที่เรารับใช้อยู่ ไม่มีประชาชนก็ไม่มีงานสื่อสารมวลชน ต้องเข้าใจว่านายที่แท้จริงของเราคือประชาชน
“เราต้องทำข่าวทำรายการที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ไม่ใช่เรื่องเงินเรื่องเส้นเป็นตัวกำหนด เพราะเราเป็นสื่อมวลชน เราต้องยกศักดิ์ศรีของสื่อมวลชน”
นอกจากนี้เขายังเริ่มพัฒนาระบบเทคโนโลยีต่างๆ ทั้งอินเทอร์เน็ต ดาวเทียม เคเบิลใยแก้ว ซึ่งจะเข้ามาช่วยรองรับการทำงานสื่อในอนาคต
ตลอดจนรื้อระบบผลประโยชน์ โดยเฉพาะพวกเหลือบไรที่หากินกับ อ.ส.ม.ท. ทั้งพวกกินหัวคิว พวกที่ใช้เส้นสายของบอร์ดบางคนหาผลประโยชน์ รวมทั้งตอบโต้บุคคลที่พยายามติดสินบนโดยปราศจากความเกรงใจ
อย่างครั้งหนึ่ง มีอดีตนักการเมืองหญิงซึ่งเป็นเจ้าของคลื่นวิทยุ มอบทองคำหนัก 2 บาท เพราะหวังว่าแสงชัยจะช่วยเหลือเรื่องอายุสัมปทาน ซึ่งนอกจากเขาจะไม่รับ ยังนำเรื่องนี้ไปเล่าบนเวทีต่อหน้านักธุรกิจหญิงคนนั้นจนได้รับความอับอาย
ด้วยการทำงานอย่างมีวิสัยทัศน์ และตรงไปตรงมา ทำให้ อ.ส.ม.ท. รายได้สูงขึ้นเท่าตัว และมีกำไรทะลุพันล้าน มากกว่าตอนที่เขารับตำแหน่งเกือบ 3 เท่า
และเมื่อเปลี่ยนรัฐบาล อ.ส.ม.ท.มีรัฐมนตรีคนใหม่เป็นนักการเมืองคู่แข่งในสระบุรีของพี่ชาย แต่เขาก็ใช้ความสามารถที่มีประคองตัวจนผลักดันงานสำคัญของชาติสำเร็จไปได้มากมาย
ทว่าคงเพราะความเถรตรงและกล้าเข้าไปขัดผลประโยชน์ต่างๆ ทำให้แสงชัยถูกหมายหัวจากกลุ่มผู้มีอิทธิพล
ช่วงก่อนสงกรานต์ของปี 2539 ระหว่างขับรถกลับบ้าน เขาก็ถูกกลุ่มคนร้ายขี่มอเตอร์ไซค์ยิงเข้าที่หัวไหล่ทะลุชายโครง แสงชัยเสียเลือดมาก และเสียชีวิตลงในคืนนั้นเอง
ก่อนจากไปแสงชัยยังมีความฝันอีกมากที่ทิ้งค้างไว้
เขาอยากสร้าง ‘ภูมิพลเน็ตเวิร์ก’ รวบรวมพระราชดำริ พระราชดำรัส พระราชกรณียกิจ ของในหลวง รัชกาลที่ 9
สร้างสถานีรับส่งสัญญาณดาวเทียม ที่จะสามารถรองรับงานด้านการสื่อสารได้หลากหลาย ทั้งการเป็นตัวแทนรับส่งสัญญาณดาวเทียมของสำนักข่าวทั้งในและต่างประเทศ และเปิดช่องโทรทัศน์รับตรงจากดาวเทียม
รวมทั้งอยากผลักดัน อ.ส.ม.ท.เข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศ เพื่อให้ประชาชนเป็นเจ้าขององค์กรนี้อย่างแท้จริง
น่าเสียดายที่สุดท้ายหลายโครงการถูกปิดฉากไปพร้อมลมหายใจของแสงชัย
แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยจางหายไปไหน คือจิตวิญญาณ และอุดมการณ์ของชายผู้นี้ที่จะทำทุกอย่าง เพื่อประโยชน์แก่สังคมและประชาชนไทย
ย้อนเรื่องราวของนักสื่อมวลชน ผู้ยกระดับช่อง 9 จากแดนสนธยา สู่การเป็นสถานีโทรทัศน์เพื่อสังคมไทย
นักข่าวคนสำคัญ ผู้ทำให้ข่าวต่างประเทศกลายเป็นเรื่องที่ทุกคนคุ้นเคยและรู้สึกใกล้ตัวมากยิ่งขึ้น
สุดยอดนักข่าว ผู้เป็นต้นแบบของสื่อมวลชน จนนำชื่อไปใช้เป็นสถาบันของสมาคมนักข่าวฯ
นักข่าวคนสำคัญผู้ทำให้ข่าวกลายเป็นรายการสามัญประจำบ้าน
นักข่าวโทรทัศน์คนแรกของเมืองไทย ผู้นำเสนอภาพเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 สู่สาธารณะจนกลายเป็นบุคคลล้มละลายอยู่นานหลายปี
สุดยอดช่าวภาพข่าว ผู้ทำให้ภาพข่าวอาชญากรรมมีชีวิตและมิติมากกว่าเดิม
โลกดนตรี ตำนานรายการคอนเสิร์ตกลางแจ้ง ที่ศิลปินยุค 1970-2000 อยากขึ้นแสดงมากที่สุด เพราะใครที่มีโอกาสได้ขึ้นเวทีนี้ แสดงว่าดังแล้ว
ห้องทดลองกฎหมายของ รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร ที่ทำงานเรื่องการพิสูจน์สิทธิเรื่องสัญชาติ เพื่อให้ทุกคนได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม
เครือข่ายคนรุ่นใหม่ที่อยากรักษาเสน่ห์ของพื้นที่อารีย์ พร้อมกับรักษาชุมชนที่ยั่งยืนด้วยการใช้กุศโลบายที่ดึงดูดให้คนทุกมีส่วนร่วม
นักออกแบบแดนปัตตานีที่รวมกลุ่มกันจัดกิจกรรม เพื่อเปลี่ยนภาพจำๆ เดิมของชายแดนใต้ ไปสู่กลายเป็นเมืองสร้างสรรค์
จากครูอาสาที่มาสอนดนตรีในชุมชนคลองเตย สู่การต่อยอด เพื่อสร้างโอกาสให้เด็กๆ ได้มีพื้นที่ที่จะเติบโตอย่างงดงาม
แรงบันดาลใจของพระอีสานผู้ไม่มีโอกาสได้เรียนต่อ สู่การสร้างโอกาสทางการศึกษาด้วยพลังงานแสงอาทิตย์
COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO. ALL RIGHTS RESERVED.