คนเราสามารถสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้ถ้ามีความมุ่งมั่น และความเชื่อ
ดังเช่นเจ้าฟ้าพระองค์หนึ่งซึ่งตลอด 14 ปีสุดท้ายของพระชนม์ชีพ ทรงทุ่มเทเวลามากมาย เพื่อพัฒนาโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นสร้างตึก สร้างคน สร้างองค์วิชาความรู้ต่างๆ กระทั่งที่นี่กลายเป็นเสาหลักของสถาบันทางการแพทย์ ถึงขั้นที่บางคนบอกว่า
“ทรงหายใจเป็นศิริราช”
ยอดมนุษย์..คนธรรมดา อยากขอเชิญทุกท่านย้อนกลับไปสมัยรัชกาลที่ 6 ยุคที่วิทยาการต่างๆ ในบ้านเรายังล้าหลัง เพื่อเรียนรู้และเข้าใจว่า อะไรที่ทำให้ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เจ้าฟ้าหนุ่มอดีตนักเรียนนายร้อยจากเยอรมัน ทรงตัดสินพระทัยทิ้งเส้นทางนายทหารเรือที่กำลังรุ่งโรจน์มาสู่วงการสาธารณสุข จนได้รับการยกย่องให้เป็นพระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของเมืองไทย
คงไม่ผิดจะหากบอกว่า สมเด็จพระบรมราชชนกนั้นเป็นเจ้าฟ้าที่มีความเป็น ‘ขบถ’ อยู่เต็มตัว
เพราะปกติแล้ว พระราชโอรสของรัชกาลที่ 5 ที่ถูกส่งไปเรียนต่อเมืองนอก ล้วนแต่กลับมารับราชการ เนื่องจากเวลานั้นประเทศกำลังเข้าสู่ยุคปฏิรูป มีการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ มากมาย จึงต้องการเจ้านายมาช่วยดูแล
แต่พระองค์กลับทรงเลือกแนวทางที่แตกต่าง เพราะมองว่า มีงานอีกมากมายที่สามารถทำประโยชน์เพื่อชาติบ้านเมืองได้ โดยไม่จำเป็นต้องรับราชการ
หนึ่งในนั้น คือการเป็น ‘หมอ’
เดิมทีพระองค์ถูกวางตัวให้เป็นทหารบก เหมือนพระเชษฐาหลายๆ พระองค์
แต่หลังจากจบโรงเรียนนายร้อยจากเยอรมนี รัชกาลที่ 6 ก็โปรดให้ย้ายไปเรียนโรงเรียนนายเรือแทน ด้วยหวังให้พระอนุชาพระองค์นี้กลับมาเป็นกำลังหลักในการเสริมแสนยานุภาพแก่ราชนาวีสยาม
แม้ไม่โปรดวิชาทหาร แต่เมื่อได้รับคำสั่งก็ทรงทุ่มเทอย่างหนัก และเมื่อกลับมาเมืองไทยก็เข้ารับราชการอยู่ที่กรมเสนาธิการทหารเรือ พร้อมกับตั้งใจจะเป็นผู้บังคับการเรือตอร์ปิโด และออกทะเลบ่อยๆ
แต่สุดท้ายก็ต้องผิดหวัง เพราะด้วยความเป็นเจ้านายชั้นสูง กองทัพเรือจึงมอบหมายแต่งานนั่งโต๊ะกับงานสอนหนังสือเป็นหลัก
ในที่สุดก็มาถึงจุดแตกหักครั้งสำคัญ เรื่องเกิดขึ้นช่วงการประชุมนายทหารเรือชั้นผู้ใหญ่เกี่ยวกับการปฏิรูปกองทัพ ซึ่งหนึ่งในหัวข้อหลักก็คือ การจัดซื้อเรือ
สมเด็จพระบรมราชชนกทรงเห็นว่าเมืองไทยเป็นประเทศเล็กๆ ฐานทัพหรืออู่เรือใหญ่ๆ ก็ไม่มี หากมีเรือรบใหญ่ๆ ตอนนี้ก็คงไม่มีประโยชน์ น่าจะใช้เรือเล็กๆ อย่างเรือดำน้ำกับเรือตอร์ปิโด ที่สามารถเข้าแม่น้ำได้สะดวกมากกว่า
แต่ทางนายทหารอาวุโส ซึ่งส่วนใหญ่จบจากอังกฤษ กลับเห็นตรงกันข้าม โดยแนะนำให้ซื้อเรือลำโตๆ อย่างเรือครูเซอร์ หรือเรือลาดตระเวน เพื่อจะได้ใช้ฝึกทหารไปในตัว
เมื่อผู้ใหญ่เพิกเฉยความเห็นของพระองค์ ทำให้น้อยพระทัยอย่างมาก เลยตัดสินใจขอลาออกจากราชการ ไม่เพียงแค่นั้น พอถึงพระตำหนักยังทรงแบกแบบจำลองเรือรบที่ทรงประดิษฐ์ขึ้นเองและหนังสือตำราวิชาทหารเรือไปเผาทิ้งอีกต่างหาก
เหตุการณ์นี้ดังไปไกลถึง กรมพระยาชัยนาทนเรนทร พระเชษฐาที่สนิทกัน จึงรีบเสด็จมาเข้าเฝ้าเจ้าฟ้าหนุ่มทันที ทรงปลอบประโลม ชวนพูดคุยให้หายเครียดนานหลายวัน กระทั่งวันหนึ่งก็ทรงชวนพระอนุชาไปล่องเรือเที่ยวตามคลองบางกอกน้อย เมื่อถึงศิริราชพยาบาล ในฐานะผู้บัญชาการโรงเรียนราชแพทยาลัย กรมพระยาชัยนาทฯ จึงขอแวะพักที่นี่ก่อน เพื่อตรวจตราความเรียบร้อย
ความจริงการหยุดพักครั้งนี้ เป็นกุศโลบายของกรมพระยาชัยนาทฯ ที่จะทรงหาเจ้านายชั้นสูง โดยเฉพาะระดับเจ้าฟ้า มาช่วยอุปถัมภ์เรื่องการแพทย์ เนื่องจากศิริราชเวลานั้นเต็มไปด้วยข้อจำกัดมากมาย เช่นมีแค่ตึกเล็กๆ แค่ 3 ตึกกับเรือนคนไข้ซึ่งเป็นเรือนไม้หลังคามุงใบจาก ซึ่งไม่เพียงพอกับปริมาณคนไข้ที่มารักษาเลย ส่งผลให้คนไข้หลายคนต้องนอนตายอยู่ใต้ต้นมะขามใหญ่แทน
เมื่อสมเด็จพระบรมราชชนกทอดพระเนตรเห็นสภาพโรงพยาบาล ก็รู้สึกสงสารกรมพระยาชัยนาทฯ กับ ม.จ.พูนศรีเกษม เกษมศรี ผู้ช่วยของกรมพระยาชัยนาทฯ อย่างจับใจที่ต้องมาทำงานลำบากเช่นนี้ กรมพระยาชัยนาทฯ เลยใช้โอกาสนี้ทูลว่า “หากทรงไม่มีอะไรทำก็ขอให้มาช่วยที่นี่เถอะ”
ตอนแรกสมเด็จพระราชบิดาทรงปฏิเสธอย่างแข็งขัน บอกว่าตัวเอง “ไม่ใช่หมอ” ผู้แทนจากโรงเรียนแพทย์ทั้ง 2 พระองค์ก็รีบท้วงทันทีว่า พวกเขาก็ไม่ใช่หมอเหมือนกัน แต่อย่างน้อยมาช่วยกันทำก็ยังดีกว่าไม่มีใครทำเลย
เจ้าฟ้าหนุ่มทรงใช้เวลาครุ่นคิดอยู่พักใหญ่ จึงตอบรับที่จะมาช่วยงานที่โรงเรียนแพทย์ โดยมีเงื่อนไขว่า ถ้าจะทำก็ต้องทำกันจริงๆ มีหลักการ ไม่ใช่เพียงสนุกชั่วคราว จากนั้นก็ตัดสินใจไปศึกษาวิชาแพทย์ที่สกอตแลนด์ เพื่อจะได้กลับมาทำงานที่ศิริราชเต็มตัว แม้ว่าจะมีเสียงคัดค้านว่าการออกจากราชการนั้นไม่สมควร แต่ก็ไม่อาจหยุดความตั้งพระทัยของพระองค์ได้
“..เมืองไทยเรา ถ้าเจ้านายทรงทำหน้าที่อย่างสามัญชนเข้าบ้าง เขาว่าเสียพระเกียรติ ฉันรู้สึกว่ามัวแต่จะรักษาพระเกียรติอยู่ก็ไม่ต้องทำอะไรกัน” สมเด็จพระบรมราชชนกรับสั่งกับ พลตรี พระศักดาพลรักษ์ อดีตนายทหารที่ร่วมเรียนนายร้อยทหารบกร่วมกัน
แต่เส้นทางการเป็นแพทย์ของเจ้าฟ้าหนุ่มวัย 25 พรรษาไม่ใช่เรื่องง่าย หนึ่งคือทรงมีสุขภาพที่ไม่ดีนัก เพราะก่อนหน้านี้ทรงประชวรอยู่หลายโรค ทั้งโรคบิด โรคปอด และตอนหลังยังเป็นไตอักเสบอีกต่างหาก ทำให้ทรงทนอากาศชื้นไม่ไหว ต้องข้ามฝั่งไปเรียนที่สหรัฐอเมริกาแทน
หลังเข้าเรียนหลักสูตรแพทย์ที่ฮาร์วาร์ดประมาณครึ่งหนึ่งก็ทรงได้รับคำแนะนำว่า ควรเปลี่ยนไปเรียนสาธารณสุขศาสตร์แทน เพราะจบเร็วกว่า ที่สำคัญคือสุขอนามัยในเมืองไทยเวลานั้นยังล้าหลังมาก จึงเป็นโอกาสดีที่จะได้กลับสร้างระบบสาธารณสุขที่มีมาตรฐานขึ้นในเมืองไทย จึงทรงตัดสินใจทำตามคำแนะนำนั้น
ถึงการไปเมืองนอกครั้งนั้นจะไม่ได้เรียนแพทย์ดังที่ตั้งพระทัยไว้ แต่ความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาวงการแพทย์ในเมืองไทยก็ยังเต็มเปี่ยมเหมือนเดิม
อย่างการปฏิรูปโรงเรียนแพทย์ ทรงเห็นจุดอ่อนที่ทำให้การเรียนวิชาหมอบ้านเราไม่ได้คุณภาพเสียที ก็เพราะต้องพึ่งพาครูต่างชาติเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่เด็กไทยเองกลับมีทักษะด้านภาษาอังกฤษต่ำมาก เลยพระราชทานทุนแก่นักเรียนไทย 2 คนมาเรียนแพทย์ และอีก 2 คนเรียนพยาบาล เพื่อให้กลับมาเป็นครู ซึ่งหนึ่งในพยาบาลรุ่นแรกก็คือ นางสาวสังวาลย์ ตะละภัฏ ซึ่งต่อมาได้กลายมาเป็นพระชายาของพระองค์ หรือที่คนไทยรู้จักพระองค์ภายหลังในฐานะ ‘สมเด็จย่า’
ขณะเดียวกันยังทรงคิดวิธีเพิ่มจำนวนแพทย์ให้มากขึ้น จึงรับหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างรัฐบาลไทยกับมูลนิธิ Rockefeller เพื่อขอความช่วยเหลือเรื่องอาจารย์แพทย์จากเมืองนอก รวมทั้งทุนการศึกษาสำหรับนักเรียนแพทย์ในเมืองไทย โดยทรงรับหน้าที่เป็นผู้คัดเลือกเด็กทุนด้วยตัวเอง
ระหว่างนั้นก็ทรงเดินทางไปกลับเมืองไทยเป็นระยะ ทรงตั้งใจจะพัฒนาปรับปรุงระบบสาธารณสุขของเมืองไทยให้ดีขึ้น อย่างเช่นการโครงการสำรวจความสะอาดในเมืองหลวง ตั้งแต่ถนนหนทาง การระบายน้ำเสีย การทิ้งขยะมูลฝอย การประปา และสุขลักษณะของตลาด แต่ด้วยความเป็นเจ้าฟ้ากลายเป็นอุปสรรคชิ้นโต เพราะไม่ว่าเสด็จไปไหน บรรดาข้าราชการต่างก็จัดเตรียมพื้นที่จนสะอาดเรียบร้อย ไม่เหลือข้อมูลให้ทรงบันทึกเลย ในที่สุดโครงการนี้ก็ต้องพับไป
หากแต่กิจกรรมที่สำคัญ คือการค้นคว้าเรื่องพยาธิในเลือด ทรงพาอาจารย์หมอชาวอเมริกันเข้าคุกตอนกลางคืน เพื่อขอเลือดจากนักโทษคนละหยดจำนวน 128 คน เพราะเป็นช่วงที่เชื้อโรคกำลังอ่อนแรงสุด ซึ่งกว่าจะเสร็จก็ล่วงเลยไปถึงเที่ยงคืน
หลังจากนั้นก็ทรงเข้าคุกอีกหลายครั้ง ครั้งหนึ่งทรงพานักเรียนศิริราช 4 คนไปเยี่ยมเรือนคนไข้ในโรงพยาบาลคุก และเสด็จตรวจดูส้วม ถามถึงวิธีลำเลียงถังอุจจาระออกไป แต่นักเรียนที่ติดตามกลับยืนดูอยู่ห่างๆ ไม่ยอมเข้ามา จนต้องรับสั่งว่า “นี่เรามาดูอะไรกัน เราต้องลงมาให้เห็นกับตา ต้องพิสูจน์ให้เห็นจริงๆ จังๆ จึงจะเขียนได้”
พอตรวจส้วมเสร็จก็ยังรับสั่งถามกับพัศดีว่า คุกนี้ขังคนได้กี่คน พัศดีจึงทูลว่า “250 คนพ่ะย่ะค่ะ” จากนั้นก็เข้าไปสำรวจด้านใน ทรงถามต่อว่า ห้องเล็กขังได้กี่คน พัศดีก็ทูลว่า “12 คนพ่ะย่ะค่ะ” แล้วก็มีรับสั่งให้จัดคน 12 คนมาลองนอน เอาถังใส่อุจจาระและไหใส่น้ำสำหรับดื่มมาตั้ง พอปิดประตูทรงพบว่าเหลือที่ว่างเพียงไม่กี่นิ้ว แถมกลิ่นก็ยังเหม็นอบอวลไปหมด และเมื่อทรงแหงนหน้ามองฝาผนังก็พบว่า มีรูระบายอากาศเล็กๆ แค่ 8 รูเท่านั้น
จากนั้นก็รับสั่งให้เปิดประตู แล้วก็หันมาคุยกับพัศดีว่า “เอาประชาชนมาติดโรคกันหมด” และให้ทำรายงานเสนอกระทรวงมหาดไทยเพื่อปรับปรุงคุกด้วยการเจาะรูระบายเพิ่มเป็น 16 รู และลดคนให้เหลือห้องละ 8 คน เหตุการณ์นี้ที่ทำให้เกิดการสร้างคุกใหม่เพิ่มที่บางขวาง เพื่อลดความแออัดของนักโทษ
อย่างไรก็ดี แม้จะไม่ทรงประสงค์ทำงานราชการอีก แต่ระหว่างศึกษาอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ก็ทรงได้รับโทรเลขจากรัชกาลที่ 6 เรียกตัวให้กลับมาเป็นอธิบดีกรมมหาวิทยาลัย ทำให้ต้องหยุดการเรียนไว้ชั่วคราว เพื่อเดินทางกลับบ้าน พอดีกับช่วงนั้นมีแพทย์ชื่อดังมาตรวจร่างกาย แล้วทูลว่าทรงเหลือพระชนม์ชีพอีกไม่กี่ปี ทำให้ทรงตั้งพระทัยที่ทุ่มเทชีวิตที่เหลือให้กับงานเต็มที่ โดยเฉพาะเมื่องานนั้นสามารถช่วยทำให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
แต่ด้วยความที่ไม่ชอบงานนั่งโต๊ะ เซ็นหนังสือ ในที่สุดก็ทรงบอกลาตำแหน่งอธิบดี และย้ายมาเป็นข้าหลวงสำรวจการศึกษาทั่วไป ซึ่งเป็นตำแหน่งเฉพาะตัว พร้อมกับสอนหนังสือให้แก่นิสิตจุฬาฯ และนักเรียนแพทย์ศิริราชควบคู่ด้วย
หนึ่งในภารกิจที่ทรงตั้งใจทำมากเป็นพิเศษระหว่างรับหน้าที่นี้ ก็คือการสร้างตึกให้ศิริราชพยาบาล ทรงเห็นว่าฝั่งพระนครมีโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เป็นศูนย์กลาง ขณะที่ฝั่งธนบุรี แม้ศิริราชจะเกิดก่อน และเป็นโรงเรียนแพทย์ แต่ก็ไม่สามารถเป็นที่พึ่งให้ประชาชนได้มากนัก เพราะขาดแคลนเครื่องมือแพทย์และตึกทำการ จึงพระราชทานทุนทรัพย์ ตลอดจนเรี่ยไรเงินทองจากบรรดาเจ้านายอีกหลายพระองค์ กระทั่งสามารถสร้างตึกได้มากมาย ทั้งตึกผู้ป่วย ตึกทดลองวิทยาศาสตร์ ฯลฯ
นอกจากนี้ยังทรงผลักดันวิชาชีพพยาบาล ด้วยการจ้างครูจากต่างประเทศมาช่วยวางรากฐาน ท่ามกลางเสียงคัดค้านว่า ไม่คุ้มค่า เพราะพอผู้หญิงเรียนจบแต่งงานก็เลิกทำงาน แต่พระองค์กลับไม่สนใจ เดินหน้าปรับปรุงหลักสูตร พร้อมกับรับซื้อที่ดินของโรงเรียนกุลสตรีวังหลัง 50,000 บาท เพื่อทำเป็นอาคารเรียนและเรือนนอนของพยาบาล
และเพื่อไม่ให้โรงพยาบาลนำที่ดินไปใช้ประโยชน์ ดังนั้นแทนที่จะยกให้เปล่าๆ จึงรับสั่งให้โรงพยาบาลเช่าปีละ 1 บาท จนในที่สุด เมืองไทยก็มีพยาบาลวิชาชีพเกิดขึ้นอย่างมั่นคงในเมืองไทย
แต่ถึงจะทรงเป็นแกนหลักในการปรับปรุงโรงพยาบาลศิริราช แต่ก็ยังมีแพทย์บางคนพูดว่า “ไม่ควรฟังพระองค์มาก เพราะไม่ใช่หมอ” คำพูดนี้เองที่ทำให้ทรงตัดสินใจว่า ต้องเรียนแพทย์ให้จบ จึงเสด็จกลับสหรัฐอเมริกาอีกครั้ง
ทรงใช้เวลาอยู่ 3 ปีเต็มๆ นอกจากต่อสู้กับการเรียนที่ยากแล้ว ยังต้องหาทางเอาชนะโรคร้ายที่บั่นทอนสุขภาพของพระองค์ลงเรื่อยๆ
ช่วงปีสุดท้ายทรงมีอาการไตวาย และก่อนสอบก็ยังเป็นหวัด กระทั่งโรงเรียนแพทย์เสนอที่จะมอบปริญญาให้เลย เพราะทรงมีผลการเรียนดีมาก แต่ก็ไม่ทรงยอม เดินหน้าเข้าสอบจนได้เกียรตินิยม
กลายเป็นหมอเต็มตัว อย่างที่ตั้งพระทัยไว้แต่แรก
แม้จะเป็นเจ้าฟ้าชั้นสูง แต่สำหรับผู้ที่เคยมีโอกาสเข้าเฝ้าหรือใกล้ชิดมักพูดตรงกันว่า ทรงมีพระจริยวัตรที่แตกต่างจากเจ้านายในยุคนั้น
เพราะนอกจากจะไม่ถือพระองค์แล้ว ยังทรงระมัดระวังการใช้จ่ายอย่างมาก
พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ทรงเคยเขียนไว้ในหนังสือเกิดวังปารุสก์ว่า สมเด็จพระบรมราชชนกเป็นเจ้าฟ้าที่ร่ำรวยมั่งคั่งมากที่สุดพระองค์หนึ่ง แต่กลับเลือกประทับในโรงแรมที่ซอมซ่อที่สุดใกล้ๆ สถานทูต
เวลาเสวยก็เลือกแต่ร้านถูกๆ จนหลายคนกลัวว่าจะเสียพระเกียรติ แต่พระองค์กลับบอกว่า เวลาอยู่เมืองนอก ไม่เคยแสดงตัวว่าเป็นเจ้านาย ทรงเรียกตัวเองว่า มร.มหิดล สงขลา พร้อมสอบไล่ได้เป็นแพทย์ก็เรียกว่า ดร. ม.สงขลา
เช่นเดียวกับเวลาเดินทางไปไหนมาไหน หากไม่ไกลมากก็จะใช้วิธีเดินเป็นหลัก
ครั้งหนึ่ง ม.จ.พูนศรีเกษม เดินทางมาเยี่ยมที่ฝรั่งเศส ก็ทรงพาเที่ยวด้วยการเดินเป็นชั่วโมงๆ จนท่านชายเริ่มทนไม่ไหว รีบทูลว่า หม่อมคงเดินจนเหนื่อยมากแล้ว น่าจะเปลี่ยนไปนั่งรถแทน ทรงตกลงแล้วก็พาไปขึ้นรถไฟใต้ดิน ซึ่งเป็นพาหนะของคนระดับล่างและค่าโดยสารถูกมาก
สุดท้ายท่านชายเลยทูลถามว่า เหตุใดจึงไม่ทรงนั่งรถแท็กซี่ พระองค์ก็ตอบกลับว่า “ถ้าไม่ตระหนี่ ที่ไหนตึกจะขึ้นที่ศิริราชได้อีกเล่า”
ความประหยัดนี้ยังถูกส่งไปถึงนักศึกษาไทยในต่างประเทศ ทั้งนักเรียนแพทย์ที่พระราชทานทุนให้ ตลอดจนนักเรียนทุนหลวงที่รัฐบาลขอร้องให้ทรงช่วยดูแลด้วย
ส่วนใหญ่สมเด็จพระบรมราชชนกมักทรงให้เงินเป็นรายปี โดยก่อนให้จะย้ำว่า นี่ไม่ใช่เงินของพระองค์ แต่เป็นของ ‘ตามีตามา’ หมายถึงเป็นภาษีที่ราษฎรจ่ายให้มาเป็นค่าเล่าเรียน ฉะนั้นขอให้ตั้งใจเรียนให้สำเร็จ เพื่อกลับไปทำประโยชน์แก่ชาติบ้านเมือง และช่วยกันประหยัดเงิน เพื่อพระองค์จะได้มีเงินเหลือไปช่วยผู้อื่นต่อไป
นอกจากเรื่องเงิน ยังทรงสอนทักษะการใช้ชีวิตในเมืองนอก ทั้งเรื่องการสังเกตสิ่งเล็กๆ น้อยๆ รอบตัว เช่นทรงถามนักเรียนทุนว่า ทางที่เดินมามีขั้นบันไดกี่ขั้น หรือเวลานั่งรถผ่านโรงแรมแล้วเห็นธงชาติประดับอยู่ ก็จะทรงถามว่ามีธงอะไรบ้าง ถ้าตอบไม่ได้ ก็จะรับสั่งให้วนรถกลับไปดูใหม่
ทรงทำเช่นนั้นเพราะต้องการสอนว่า มาเมืองนอกอย่ามุ่งแต่เรียนอย่างเดียว ต้องรู้จักเปิดหูเปิดตามองดูโลกด้วยว่าก้าวไกลไปถึงไหนแล้ว เพราะความรู้เหล่านี้สามารถนำกลับมาใช้พัฒนาประเทศได้หมด
ที่สำคัญพระองค์ยังเป็นคนที่ทำอะไรทุกอย่างด้วยตัวเอง ตั้งแต่การทำกับข้าว ซักถุงเท้า คู่ไหนที่ขาดก็จะทรงชุนแล้วชุนอีก หรือผ้าเช็ดหน้าที่ใช้งานเพียงเล็กน้อยก็จะวางผึ่งบนโต๊ะรอให้แห้ง เพราะทรงไม่อยากให้เปลืองผงซักฟอก
ด้วยความที่ไม่โปรดความสุรุ่ยสุร่ายเสียมากๆ ทำให้มีเรื่องเล่าเวลาเสมอว่า ก่อนที่นักเรียนไทยไปเข้าเฝ้าจะได้รับคำแนะนำให้ สวมเสื้อผ้าชุดเก่าๆ หน่อยจะทรงพอพระราชหฤทัย
และถ้าผู้ใดมาขอความช่วยเหลือ โดยมีสาเหตุมาจากความสุรุ่ยสุร่าย พระองค์ก็จะปฏิเสธทันที เช่นครั้งหนึ่งนิสิตจุฬาฯ จัดงานรื่นเริงปลายปี แต่ใช้เงินไม่ระวัง พอจบงาน เงินขาดไป 500-600 บาท หัวหน้านิสิตเลยไปขอเงินที่พระองค์ ซึ่งพอทรงฟังเรื่องราวก็ตำหนิทันทีพร้อมรับสั่งว่า “ฉันไม่ให้”
แต่ด้วยความสงสาร ในที่สุดเลยยอมพระราชทาน แต่ต้องแลกด้วยการไปทำงานที่วังสราญรมย์ ซึ่งมีงานรื่นเริงประจำปีแทน ทั้งหมดนี้ทรงทำเพื่อสอนให้รู้จักถึงการใช้ชีวิตอย่างรอบคอบและเหมาะสม
ไม่ใช่แค่เงินเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการใช้เวลาอย่างคุ้มค่าด้วย ทรงไม่เคยมาสอนสาย ไม่เคยขาดการสอนแม้แต่ครั้งเดียว ต่อให้เป็นวันทำบุญฉลองพระชนมายุของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พระมารดา พระองค์ พอเลิกงานก็ตรงมาสอนทันที ทั้งที่ยังแต่งฉลองพระองค์เต็มยศอยู่เลย
เหตุผลที่ทรงให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เพราะทรงบอกกับนักเรียนแพทย์เสมอว่า “เวลาเป็นของมีค่า เมื่อมันล่วงไปแล้ว มันจะไม่กลับมาอีก ถ้าเรามีโอกาสที่จะใช้มันให้เป็นประโยชน์แล้ว ไม่ใช้มันก็เป็นที่น่าเสียดาย”
เวลาเป็นของมีค่า เมื่อมันล่วงไปแล้ว มันจะไม่กลับมาอีก ถ้าเรามีโอกาสที่จะใช้มันให้เป็นประโยชน์แล้ว ไม่ใช้มันก็เป็นที่น่าเสียดาย
หลังได้ปริญญาแพทยศาสตร์จากสหรัฐอเมริกา สมเด็จพระบรมราชชนกก็เสด็จกลับเมืองไทยทันที
ความตั้งใจในการพัฒนาศิริราชยังทรงมียังเปี่ยมล้นเช่นเดิม ทรงให้ทุนแก่นักเรียน หาเงินสร้างตึก สั่งซื้ออุปกรณ์ต่างๆ ที่จะช่วยเสริมงานของแพทย์ เช่นเครื่องเอ็กซเรย์
เช่นเดียวกับปณิธานการแพทย์ที่ต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนอย่างแท้จริง ทรงย้ำกับนักเรียนแพทย์เสมอว่า การเป็นหมอจะรู้แต่เรื่องการแพทย์อย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องเรียนรู้การเป็นคนด้วย เพราะฉะนั้นคนเป็นแพทย์จึงมีศีลธรรมอันดี ถึงจะสามารถทำประโยชน์แก่ประเทศชาติ
อย่างไรก็ดี การเป็นเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ของพระองค์ ได้กลายเป็นอุปสรรคอีกครั้ง!!
เพราะแทนที่จะเลือกตำแหน่งใหญ่ๆ อย่างผู้อำนวยการโรงพยาบาล หรือหัวหน้าแพทย์ กลับทรงเลือกตำแหน่งที่อยู่ล่างสุดของแพทย์ในยุคนั้น อย่างแพทย์ประจำบ้าน
ด้วยทรงเชื่อว่าต่อให้เรียนตำราต่างๆ มากมาย แต่การรับผิดชอบชีวิตคนจริงๆ นั้นต่างกัน แพทย์ใหม่ๆ ที่ยังไม่ประสบการณ์ จึงควรมีอาจารย์มาควบคุมอย่างใกล้ชิด คอยชี้แนะวิธีการทำงานจนกว่าจะเชี่ยวชาญ และสามารถทำงานได้เพียงลำพัง
แต่ฝั่งรัฐบาลกลับมองต่าง เพราะคิดว่าตำแหน่งนี้ไม่สมฐานะเจ้าฟ้าชั้นเอกเอาเสียเลย จึงถวายตำแหน่งหัวหน้าแพทย์ประจำบ้านให้แทน แต่ก็ทรงปฏิเสธ เพราะมองว่าเป็นงานที่ไม่ได้ช่วยให้เกิดการพัฒนาขีดความสามารถอย่างแท้จริง กระทั่งโรงพยาบาลแมคคอร์มิค เชียงใหม่ ของคณะมิชชันนารีอเมริกัน ได้ทูลเชิญให้รับตำแหน่งแพทย์ประจำบ้านที่นั่น จึงตอบรับและเสด็จขึ้นเหนือทันที
ที่นี่ทรงมีโอกาสทำงานที่หลากหลาย เช่นตรวจเยี่ยมคนไข้ตามแผนกต่างๆ และยังได้ช่วยผ่าตัดเด็กนักเรียนคนหนึ่งที่เกิดอุบัติเหตุปืนลั่นใส่ตัวเองกลางดึก ทรงปฏิบัติอยู่ที่นี่ราวครึ่งเดือนจึงเสด็จกลับกรุงเทพฯ เพื่อร่วมงานพระราชทานเพลิงศพสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุขฯ พระอนุชาในรัชกาลที่ 5 และเมื่อเสร็จงานก็ตั้งใจจะบินกลับเชียงใหม่อีกครั้ง
แต่ความตั้งใจนี้ก็ไม่เคยเกิดขึ้น เพราะทรงประชวรหนักด้วยโรคฝีในตับอยู่ที่วังสระปทุมเสียก่อน
ระหว่างนั้น สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาสเดินทางมาเฝ้า พระองค์จึงมีรับสั่งว่า “ข้าพเจ้าจะตายก็ไม่เสียดายต่อชีวิต แต่เสียดายว่างานที่กำลังทำค้างอยู่นี้ ยังไม่เสร็จ” สมเด็จวัดเทพศิรินทร์ฯ จึงทูลตอบว่า “ถวายพระพร งานทางโลกไม่มีเวลาสำเร็จได้” ซึ่งอาจหมายถึง ไม่ว่างานใดๆ ในโลกก็ไม่มีทางจะทำเสร็จได้อย่างสมบูรณ์นั่นเอง
และในที่สุด ลมหายใจสุดท้ายของพระองค์จะดับไปขณะพระชนมายุเพียง 37 พรรษา ฝากไว้แต่มรดกทางแพทย์และสาธารณสุขที่ยิ่งใหญ่ โดยเฉพาะศิริราชพยาบาล ซึ่งนอกจากจะเป็นแหล่งสร้างบุคลากรชั้นเลิศแล้ว ยังเป็นที่พึ่งพาของผู้ป่วยอีกมากมาย
เช่นเดียวกับ ปณิธานในการทำประโยชน์เพื่อสังคมที่ถูกส่งต่อมายังครอบครัวเล็กๆ ของพระองค์ รวมทั้งลูกศิษย์นับสิบนับร้อยชีวิตที่มีพระองค์เป็นเสมือนต้นแบบของชีวิต
นี่คือเรื่องราวของเจ้าฟ้าหนุ่ม ผู้ที่ตัดสินใจเลือกเดินตามเส้นทางของตัวเอง เพื่อความสุข ความเจริญ ความยั่งยืน และสุขอนามัยของประชาชนชาวสยามทุกคน
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง ที่ต้องบริหารงานภายใต้ข้อจำกัดมากมาย แต่เขาก็ไม่ท้อ เพื่อให้ประชาชนทุกเชื้อชาติสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างเท่าเทียม
ครูแพทย์ผู้บุกเบิกประสาทศัลยศาสตร์ในเมืองไทย ตลอดจนมีส่วนในการยกเครื่องกระทรวงสาธารณสุข และผลักดันแพทย์ไทยไปสู่ชนบท
ปูชนียบุคคล ผู้เป็นแรงบันดาลใจให้แก่พยาบาลในโรงพยาบาลศิริราช
รู้จักหมอนพพร หมอผู้โด่งดังที่ทำให้คนไทยรู้ว่าเพศศึกษาไม่ใช่เรื่องน่าอาย และใกล้ตัวกว่าที่คิด
ฝันอันยิ่งใหญ่ของเจ้าชายหนุ่มที่ทุ่มเททั้งชีวิตเพื่อการสร้างโรงพยาบาลศิริราช ให้สามารถเป็นที่พึ่งของคนไทยได้อย่างแท้จริง
สัมผัสเรื่องราวของ นพ.สุด แสงวิเชียร ครูผู้ให้แก่ศิริราชพยาบาล หนึ่งในแพทย์คนสำคัญผู้บุกเบิกวิชากายวิภาคศาสตร์ของเมืองไทย
เครือข่ายที่ทำงานเรื่องการ ‘ตายดี’ เพื่อช่วยให้ผู้คนสามารถจากไปได้มีความสุข และลดความขัดแย้งแก่คนรอบใกล้ที่คอยดูแลด้วย
เครือข่ายอนุรักษ์ที่อยากส่งต่อเรื่องราว ความรู้เกี่ยวกับวาฬบรูด้า และผองเพื่อนในท้องทะเล เพื่อให้ทุกคนลุกขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งในการปกปักรักษาสิ่งมีชีวิตและทรัพยากรธรรมชาติใต้ผืนน้ำให้คงอยู่ตลอดไป
ตำนานศิลปินร็อก ผู้จุดกระแสเพลงเก็บตะวันให้ข้ามกาลเวลา รวมทั้งยังเป็นผู้สร้างยุคใหม่ให้แก่ RS สู่การเป็นเบอร์ 2 ของวงการเพลงไทยอย่างแท้จริง
คุณยายผู้เป็นสัญลักษณ์ของละครเมืองไทย ที่มีผลงานต่อเนื่องมากว่า 40 ปี ทั้ง คู่กรรม สายโลหิต บุพเพสันนิวาส
Armchair ศิลปินขวัญใจวัยรุ่นยุคอินดี้ ผู้บุกเบิกเพลงบอสซาโนวา เจ้าของเพลงฮิตสุดละมุนที่ยังตรึงอยู่ในใจแฟนเพลงถึงวันนี้
นักเขียนการ์ตูนที่พาผลงานมังงะจากเอเชียให้โด่งดังไปไกลทั่วโลก ปลุกกระแสดราก้อนบอล ให้เข้าอยู่ในใจเด็กๆ ยาวนานกว่า 3 ทศวรรษ
COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO. ALL RIGHTS RESERVED.