2. แม้จะรักการอ่าน ชอบการแปล แต่ครอบครัวของพวกเขาก็ไม่ได้สนับสนุนเส้นทางนี้เท่าใดนัก เพราะอยากให้รับช่วงกิจการทำกรอบกระจกต่อ โดยพ่อของทั้งคู่ เคยพูดว่า “คิดให้ดี เพราะว่าการค้าคือการปรับรากฐาน ยิ่งทำรากฐานยิ่งลึก ส่วนงานเขียนหนังสือเหมือนกับการแข่งขันกระโดดค้ำถ่อ จริงอยู่เวลาขึ้นมันขึ้นสูงกว่าเพื่อน แล้วมันก็จะตกลงมาอย่างรวดเร็วเหมือนกัน แต่การค้าเหมือนการสร้างตึก ถึงการปรับฐานรากมันจะช้า แต่เมื่อตึกมันขึ้นมาแล้ว มันจะมั่นคงไม่มีวันล้ม” แต่สุดท้ายสองพี่น้องก็ขอเลือกทางเดินของตัวเอง นั่นคือ นักแปล
3. หากจะบอกว่านามปากกา น.นพรัตน์ นั้นเกิดขึ้นด้วยความบังเอิญก็คงไม่ผิด เพราะความจริงพวกเขามีนามปากกาว่า อ.ภิรมย์ อยู่ก่อนแล้ว แต่พอดีเมื่อย้ายมาทำงานที่สำนักพิมพ์เพลินจิตต์ นายห้างมีความคิดจะทำหนังสือพิมพ์ชุมนุมเรื่องจีน โดยนำนักแปลหลายๆ คนมารวมตัวกัน จึงให้ทั้งคู่ไปคิดนามปากกามาเพิ่ม เพื่อที่จะได้ดูเหมือนว่ามีนักแปลหลายคน
ตอนนั้นเขาใช้นามปากกา น.นพรัตน์ แปลเรื่องบ้ออ้วงตอ แต่ปรากฏว่า ออกได้ไม่กี่ฉบับก็ต้องเลิกทำ และพอดีทั้งคู่ได้แปลเรื่องกระบี่อำมหิต ของตั้งแชฮุ้น ตุนไว้ก่อนแล้ว จึงนำเรื่องนี้มาพิมพ์เป็นพ็อกเก็ตบุ๊กเปิดตัวนามปากกาใหม่ ซึ่งปรากฏว่า ขายดิบขายดีมาก และส่งผลให้นามปากกา อ.ภิรมย์ ถูกใช้อีกเพียง 3-4 ครั้งก่อนจะหายไปจากแวดวงหนังสือ