เรวัต จินดาพล : Misslily จาก ‘ดอกไม้’ ถึง ‘อาหาร’ สู่ ‘ความสุข’ ถึง ‘ผู้คน’

<< แชร์บทความนี้

หากย้อนกลับไปเมื่อ 20 กว่าปีก่อน การส่งดอกไม้จากกรุงเทพฯ ไปเชียงใหม่ ไปโคราช หรือไปนราธิวาส สำหรับใครหลายคนคงเป็นเรื่องเหลือเชื่อ เพราะดอกไม้คือของสดที่ผ่านไปไม่ถึงวันก็เหี่ยวเฉาแล้ว แต่ชายผู้หนึ่งกลับไม่คิดเช่นนั้น เขาเชื่อว่าหากมีระบบจัดการที่ดีพอ บางทีเรื่องดูเหมือนเป็นไปไม่ได้ อาจเป็นจริงขึ้นมา

นั่นเองที่กลายเป็นจุดเริ่มต้นของ ‘Misslily’ บริการส่งดอกไม้ทั่วไทย แห่งแรกของประเทศ

แต่กว่าทั้งหมดจะเกิดขึ้นได้ ต้องอาศัยการลองผิดลองถูกนับไม่ถ้วน

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ขอพาทุกคนไปพูดคุยกับ เรวัต จินดาพล ผู้สร้างตำนาน Misslily ต้นแบบธุรกิจอีคอมเมิร์ชแรกๆ ของเมืองไทย ถึงเส้นทางชีวิตที่ไม่ธรรมดา

จากวิศวกรเจ้าของบริษัทรับซ่อมลิฟต์ สู่เบอร์ 1 ของวงการร้านดอกไม้ออนไลน์ ที่ยังคงยึดมั่นในภารกิจส่งมอบความสุขและรอยยิ้มสู่ผู้คนไม่เปลี่ยนแปลง รวมถึงความฝันครั้งใหม่ เมื่อเขาตัดสินใจพา Misslily มาสู่ธุรกิจอาหารพร้อมปรุง ด้วยความตั้งใจอยากผลักดันอาหารไทยที่ไม่ว่าใครๆ ทำได้ ไปสู่ตลาดโลก

นักธุรกิจในสายเลือด

“ผมอยากเป็นเถ้าแก่มาตั้งแต่เด็กแล้ว”

เรวัตเป็นคนภูเก็ต เดิมทีคุณตาของเขาเป็นนักธุรกิจรายใหญ่ของจังหวัด มีกิจการส่งออกยางพารา ดีบุก ไปต่างประเทศ รวมทั้งเปิดร้านโชห่วยจำหน่ายสินค้าหายาก ทั้งไมโล โอวัลติน แฟนต้า นมตราแหม่ม นมตราหมี ขนมปังแครกเกอร์ ตลอดจนของนำเข้าอื่นๆ จากปีนัง หรืออังกฤษ

แม้ไม่มีโอกาสใกล้ชิดกับคุณตามากนัก เนื่องจากท่านจากไปตั้งแต่เขาอายุได้ไม่กี่ขวบ แต่ดูเหมือนทักษะการเป็นพ่อค้ากลับซึมซับเข้ามาในสายเลือดอยู่พอสมควร อย่างทุกช่วงปิดเทอม เรวัตมักใช้เวลาว่างเปิดตำรา หาวิธีเลี้ยงไก่ เลี้ยงหมู เพื่อจำหน่าย บ้างก็หาซื้อข้าวของต่างๆ ไปขายที่ตลาดแถวบ้าน

พอโตขึ้น เขาลัดฟ้าไปศึกษาต่อด้านวิศวกรรมเครื่องกล และบริหารธุรกิจ ที่ฟิลิปปินส์ แล้วกลับมาเริ่มต้นงานบัญชีที่เอสจีวี ณ ถลาง ก่อนมีโอกาสมาร่วมบุกเบิกระบบบัญชีของท่อแก๊สธรรมชาติให้การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย

“ตอนนั้นผมใช้เวลาทำระบบอยู่ 9 เดือนก็เสร็จแล้ว เพราะเราเป็นทั้งวิศวกรและเข้าใจเรื่องบัญชีด้วย จึงรู้ว่าเวลาตัดบัญชีค่าเสื่อมของอุปกรณ์แต่ละชิ้นนั้นต้องทำอย่างไร ส่วนคนอื่นเขาไม่ได้รู้แบบเราเลยใช้เวลานานกว่า”

จากผลงานที่โดดเด่น ทำให้เรวัตกลายเป็นดาวรุ่งขององค์กร แต่ด้วยความฝันที่อยากสร้างกิจการของตัวเอง เขาจึงตัดสินใจลาออก และย้ายมาอยู่ทำงานกับบริษัท AIA หวังเพิ่มพูนประสบการณ์การขาย เพราะหากประสบความสำเร็จจากที่นี่ก็น่าจะต่อยอดไปสู่ธุรกิจอื่นๆ ได้ไม่ยาก

ทว่าเมื่อก้าวสู่สังเวียนจริง เรวัตพบว่าอาชีพนี้ท้าทายกว่าที่คิด เพราะยุคนั้นภาพลักษณ์ของธุรกิจประกันไม่ได้ดีนัก บางคนมองว่าการทำประกันไม่ต่างจากการแช่งตัวเอง นักขายส่วนใหญ่ก็แทบไม่ได้มีเทคนิคหรือวิธีการที่ชัดเจน อาศัยแต่ความสัมพันธ์ที่มีอยู่เดิมเป็นตัวช่วยปิดงาน

“เวลานั้นนักขายเป็นคนจีนทั้งนั้น เพราะลูกค้าส่วนใหญ่เป็นอาเฮีย อาแปะแถวเยาวราช ต้องมีคอนเนกชันหรือคนพาเข้าไป แล้วแต่ละเคสไม่เหมือนกันเลย เอาไปปรับใช้แทบไม่ได้ ผมเลยคิดว่าต้องมีหลักการ จึงไปอ่านหนังสือ Selling Techniques ของฝรั่ง ไปอ่านเรื่องจิตวิทยาการขาย แล้วมาร่างเป็นทฤษฎี 5 ป. คือ เปิดใจ ปัญหาทั่วไป ปัญหาเฉพาะ ปัญหาเฉลย และปิดการขาย แล้วเริ่มมาทดลองทำด้วยตัวเอง

“หัวใจของการขายคือต้องทำให้เขาเห็นความสำคัญ แต่ก่อนหน้านั้นต้องทำให้เขาเปิดใจก่อน ซึ่ง 80% มาจากความไว้ใจ เพราะฉะนั้นเราต้องทำให้เขารู้สึกพอใจ เหมือนเป็นเพื่อน อย่างบางทีไปพบลูกค้า แต่เราแกล้งทำเป็นมาเยี่ยม ถามเกี่ยวกับเรื่องของเขา โดยที่เรานั่งฟัง บางครั้งอาจต้องฟังข้ามวัน บางคนชวนกินข้าวต่อ พอลูกค้าไว้ใจ เราก็ค่อยๆ จูงเข้าไปถึงปัญหาทั่วไป เล่าเรื่องคนอื่นที่ไม่เกี่ยวกับเขา เช่นวันก่อนเจอเฮียคนนั้นแล้วเขาทำโครงการสะสมทรัพย์ไว้ บังเอิญเขามีหนี้แล้วลูกยังเล็กอยู่ พอเกิดอุบัติเหตุขึ้นมา ครอบครัวไม่ต้องรับหนี้ต่อเลยและยังมีเงินก้อนเหลืออีกด้วย หากเขาฟังแล้วสนใจ เขาจะหันกลับมาเอง แบบนี้เรียกว่าปัญหาเฉพาะ คือเขาพร้อมเป็นคนไข้แล้ว

“พอเขาถามมากขึ้นเรื่อยๆ เขาจะเริ่มให้เราเป็นที่ปรึกษา จากนั้นจึงมาถึงขั้นปัญหาเฉลย คือให้เขาเลือก อย่าไปบังคับ ลองเสนอประกัน 2-3 รูปแบบ แล้วแนะนำว่าแต่ละแบบดีกับเขาอย่างไร พอเขาเลือกได้แล้ว ก็รีบปิดการขาย ซึ่งขั้นตอนนี้ต้องเร็ว พอปิดเสร็จรีบกลับบ้านเลย อย่าอยู่นาน เดี๋ยวเขาเปลี่ยนใจ”

หลังจากนำทฤษฎี 5 ป. มาใช้ เพียง 2 ปี เรวัตไต่ระดับจากพนักงานมือใหม่มาเป็นนักขายมือทอง แซงหน้ารุ่นพี่ๆ ที่ทำงานเป็นสิบปี ไม่เพียงแค่นั้น หลักการที่ร่างขึ้นยังถูกต่อยอดไปใช้บรรยายให้กับพนักงาน AIA ทั่วประเทศอีกด้วย

ความสำเร็จครั้งนั้น ทำให้เรวัตพร้อมแล้วที่จะเริ่มต้นธุรกิจของตัวเอง

เมื่อปี 2526 เขาจับมือกับเพื่อนสนิทเปิดบริษัทลิฟต์ ชื่อว่า Experty lift and service โดยที่นี่ไม่ได้จำหน่ายหรือรับติดตั้งลิฟต์เหมือนบริษัททั่วไป แต่เลือกให้บริการซ่อมบำรุงลิฟต์ทุกยี่ห้อตลอด 24 ชั่วโมงแทน

“หัวใจของการทำธุรกิจ คือต้องหา Blue Ocean หรือช่องว่างของธุรกิจให้เจอ แล้ววิเคราะห์ว่าช่องว่างนั้นตรงกับความต้องการของผู้คนหรือไม่ ถ้าใช่เราค่อยมาลงรายละเอียดว่าต้องทำอย่างไร อย่างแต่ก่อนบริษัทลิฟต์ เขาปิดตอน 5 โมงเย็น หากลิฟต์ค้างตอน 6 โมงไม่ต้องโทรแล้ว คุณต้องช่วยตัวเอง แต่ละตึกต้องจึงมีช่างประจำคอยช่วยคนออกจากลิฟต์ เพราะฉะนั้นพอเราเปิดตัวว่าซ่อม 24 ชั่วโมง เราจึงมีลูกค้าตั้งแต่วันแรกเลย

“ไม่เพียงแค่นั้น เรายังเป็นผู้ริเริ่มใบเมนเทนแนนซ์สำหรับการบำรุงรักษา เพราะสมัยก่อนเวลาบริษัทลิฟต์มาตรวจสอบลิฟต์ เขาถือกระดาษาเปล่ามานะ แล้วไม่รู้ว่าตรวจอะไรบ้าง แต่เรามีรายการตารางครบเลย มอเตอร์ สลิง ประตู ปุ่มกด แม้กระทั่งเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง น้ำมันเกียร์ล่าสุดเมื่อไหร่ จนกลายเป็นมาตรฐานที่ทุกยี่ห้อในเวลานั้นนำไปปรับใช้”

นอกจากการหาช่องว่างของตลาดแล้ว เรวัตยังเชื่อว่า การพัฒนาระบบต่างๆ ทั้งคุณภาพและบริการ เป็นอีกปัจจัยที่พาความสำเร็จมาสู่ธุรกิจ เขาจึงเริ่มนำวิทยาการสมัยใหม่ อย่างโปรแกรมจัดการฐานข้อมูล Oracle ซึ่งยุคนั้นมีใช้เฉพาะในธุรกิจใหญ่ๆ เข้ามาบริหารข้อมูลทั้งหมด พร้อมเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์ทุกเครื่อง ด้วยระบบ LAN ทำให้การประมวลผลของลูกค้า ทำได้รวดเร็ว ถูกต้อง และง่ายดายขึ้น

“เมื่อก่อนเวลาเราบริการลูกค้า มักมีคำถามว่าเปลี่ยนอะไหล่ตัวนี้เมื่อไหร่ แรกๆ เราต้องไปนั่งค้นใบซ่อม เจอบ้างไม่เจอบ้าง เสียเวลาทั้งเราและลูกค้า เราจึงเริ่มใช้โปรแกรมเข้ามาช่วย ทำให้เรามีรายงานให้ลูกค้าทุกสิ้นเดือน แต่พอนานเข้าคอมพิวเตอร์เริ่มคำนวณช้า เพราะสมัยก่อนการเก็บข้อมูลไม่ได้เป็นตาราง แต่เป็นบรรทัดไล่มาเรื่อยๆ เวลาค้นแต่ละครั้งใช้เวลา 15 นาที เรามีทางแก้ 2 ทาง คือเปลี่ยนมาใช้มินิคอมพิวเตอร์ ลงทุนล้านกว่าบาท หรือเปลี่ยนโปรแกรมมาเป็น Oracle เสียค่าไลเซนต์ปีละ 50,000 บาท แต่ยังใช้เครื่องพีซีได้อยู่ เพียงแต่เราไม่มีคนเขียนโปรแกรม

“สุดท้ายเราเลือกทางที่ 2 เพราะเชื่อว่าโลกจะหมุนมาทางนี้ ต่อไปเครื่องมินิจะล้าสมัย เราเลยเอาเงินล้านกว่าบาทไปจ้างโปรแกรมเมอร์จากอินเดีย เพื่อทำซอฟต์แวร์การจัดการทั้งระบบ ทำให้งานมีประสิทธิภาพขึ้น แถมตอนหลังเรายังสามารถขายซอฟต์แวร์การจัดการลิฟต์ให้บริษัทของมาเลเซีย ได้เงินมาล้านกว่าบาท เพราะฉะนั้นถึงเราจะเป็นเพียงบริษัทเล็กๆ แต่เรามั่นใจว่าไม่แพ้ใคร”

อย่างไรก็ดี ในปี 2540 เรวัตกลับเลือกขายกิจการให้กลุ่มทุนจากเยอรมนี ทั้งที่บริษัทยังทำกำไรดีอยู่ โดยเขาให้เหตุผลว่า มาจากคุณภาพของวิศวกร และช่างฝีมือที่เปลี่ยนไป รวมถึงทิศทางของการตลาดที่ไม่เหมือนเดิม ซึ่งนับเป็นเรื่องที่ถูกต้องอย่างยิ่ง เพราะอีกไม่กี่เดือนต่อมา ประเทศไทยก็เข้าสู่ภาวะวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง

แต่ที่สำคัญกว่าคือ การตัดสินใจครั้งนี้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของตำนานบทใหม่ที่เปลี่ยนชีวิตของเขาไปตลอดกาล

ภาพ : จิตรทิวัส พรประเสริฐ

Misslily สื่อกลางส่งต่อรอยยิ้ม

ปี 2541 เรวัตเปิดตัวธุรกิจใหม่ อย่าง ‘Misslily’ ธุรกิจส่งดอกไม้ทั่วไทยแห่งแรกของประเทศ

หากมองเผินๆ หลายคนอาจคิดว่า ซ่อมลิฟต์กับส่งดอกไม้เป็นธุรกิจคนละขั้ว แต่ความจริงทั้งสองอย่างกลับมีจุดเชื่อมโยงกันอยู่ เพราะช่วงที่เจรจาซื้อขายบริษัทลิฟต์ กลุ่มทุนยินดีรับช่วงกิจการทั้งหมด เว้นแต่แผนกซอฟต์แวร์

“เขาสนใจแต่เรื่องซ่อมลิฟต์ ไม่ได้สนใจเรื่องพัฒนาซอฟต์แวร์ เราเลยต้องกลับมาคิดว่าทำอย่างไรดี ตอนนั้นมี 2 ทางเลือกคือ เปลี่ยนมาทำซอฟต์แวร์ขายแทน หรือเขียนซอฟต์แวร์เพื่อมาบริหารธุรกิจ แต่เรามองว่า ถ้าเลือกอันหลังเรามีโอกาสได้มากกว่า เพราะว่าต่อให้ทำธุรกิจอะไรก็ต้องการซอฟต์แวร์อยู่ดี”

พอดีกระแสอีคอมเมิร์ชเริ่มมาแรงในตลาดโลก หลัง Amazon เปิดตัวเมื่อปี 2537 จนเกิดธุรกิจใหม่ๆ หลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือ ‘1800flowers’ บริการส่งดอกไม้ทั่วโลก ซึ่งไม่ได้มีหน้าร้านของตัวเอง แต่ใช้วิธีสั่งออนไลน์แทน ผ่านเครือข่ายร้านดอกไม้ที่กระจายไปตามประเทศต่างๆ เรวัตเกิดแรงบันดาลใจอยากนำระบบนี้มาปรับใช้ในเมืองไทยบ้าง

เหตุผลที่เรวัตมั่นใจว่าธุรกิจมีโอกาสเติบโตได้ เพราะยุคนั้นแทบไม่มีบริการลักษณะนี้เลย สวนทางกับความต้องการของตลาด เนื่องจากคนไทยหลายคนไม่กล้านำดอกไม้วันเกิดหรือวาเลนไทน์ไปมอบให้ด้วยตัวเอง

“ความจริงเมืองไทยนิยมใช้ดอกไม้เยอะ ตอนนั้นเรามองอยู่ 2 เซ็กเมนต์หลักๆ คือ ดอกไม้วันเกิด กับดอกไม้งานศพ แต่งานศพเขาทำกันเยอะแล้ว วันเกิดยังไม่มีใครเล่น แล้วคนไทยเป็นคนขี้อาย กลัวเพื่อนล้อ เราจึงอยากเป็นช่องทางสำหรับคนกลุ่มนี้ อีกอย่างคือเรารู้สึกว่าการให้คนไปส่งดอกไม้แทน มันเซอร์ไพรส์กว่าเราไปเองอีก เพราะพอผู้หญิงเห็นผู้ชายเดินเข้ามาก็รู้แล้วว่า ต้องมีอะไรติดมือมาแน่

“ที่สำคัญคือ เรามีจุดขายเรื่องการส่งทั่วประเทศ ซึ่งตอบสนองกับความต้องการของผู้คนจำนวนไม่น้อย โดยตอนแรกที่เราประกาศไปก็มีคนทักเหมือนกันว่า คุณเรวัตส่งแค่ในกรุงเทพฯ พอแล้ว แต่ผมมองว่า ถ้าทำธุรกิจแล้ว เพื่อนตามได้ภายใน 6 เดือน อย่าทำดีกว่า แต่ถ้าต้องใช้เวลา 3 ปีถึงตามได้ แบบนี้โอเค อย่างน้อยยังมีเวลาพัฒนาระบบให้ดี”

แต่กว่าทั้งหมดจะเป็นรูปเป็นร่างได้ เรวัตต้องใช้เวลาเตรียมการนานถึงปีหนึ่งเต็มๆ โดยเฉพาะการนำซอฟต์แวร์เข้ามาวางระบบ ตั้งแต่จัดทำฐานข้อมูล เตรียมระบบคอลเซ็นเตอร์ รวมทั้งพัฒนาเว็บไซต์ โดยเริ่มแรกเขาตั้งใจใช้ชื่อแบรนด์ว่า Missrose แต่เนื่องจากมีผู้จดทะเบียนชื่อนี้ไปแล้วจึงหันมาใช้ชื่อ Misslily แทน

ส่วนรูปแบบการให้บริการ ช่วงแรกเรวัตมีเครือข่ายร้านดอกไม้กระจายอยู่ทั่วประเทศ เมื่อลูกค้าติดต่อพร้อมโอนเงินเรียบร้อย พนักงานของ Misslily จึงประสานกับร้านในพื้นที่ เพื่อจัดดอกไม้ตามออเดอร์และส่งให้ตามเวลานัดหมาย

“ตอนหาร้านเครือข่ายลำบากมาก ต้องขับรถไปทั่วประเทศ แล้วร้านก็กลัวว่าจะไปโกงเขาหรือเปล่า เนื่องจากเป็นเรื่องใหม่มาก เราจึงต้องใช้หลักจิตวิทยาเข้ามาช่วยเยอะเหมือนกัน เช่นรถต้องหาคันใหม่ๆ เอาป้ายแดงๆ หน่อย แล้วเวลาไปถึงให้จอดหน้าร้านเลย โดยผมจะกระซิบบอกทีมงานว่า อย่าลืมลงมาเปิดประตูให้ผมด้วยนะ พอลงจากรถแล้วอย่าเพิ่งเข้าไป ทำเป็นมองดูป้ายร้าน ดูบรรยากาศรอบๆ ก่อน จนคนในร้านสงสัย เราถึงค่อยๆ แง้มประตูเข้าไป

“เมื่อเข้าไปแล้ว สิ่งแรกที่ผมถามคือ ดอกไม้ทั้งหมดมีให้เลือกแค่นี้เหรอ เขาก็จะบอกว่ายังมีอีก เราก็ขอดู จากนั้นจึงถามต่อว่า ถ้าผมสั่งให้คุณไปส่งทุกเดือน ทำได้หรือเปล่า ส่งแค่ไหน แบบเป็นยังไง ทำเหมือนเป็นลูกค้ารายใหญ่ พอเขาตอบกลับมา เราถึงเล่าให้ฟัง ตอนนี้กำลังจะเปิดบริษัทส่งดอกไม้ทั่วประเทศ และกำลังจะทำโฆษณาการตลาด เสร็จแล้วจะมีออเดอร์เข้ามา ถ้าคุณทำได้ ผมให้คุณดูแลทั้งจังหวัดนี้เลย ซึ่งส่วนใหญ่เขาก็จะรับปาก จากนั้นก็ยื่นนามบัตรให้ แล้วบอกให้เขาเตรียมตัว พอถึงเวลาเราก็ยิงโฆษณา ปีแรกใช้แมกกาซีน ใช้หนังสือพิมพ์ก่อน พอปีถัดมาจึงเริ่มใช้สื่อโทรทัศน์”

ด้วยรูปแบบที่แตกต่าง แต่สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค ทำให้ Misslily เติบโตแทบทันที มีลูกค้ากระจายอยู่ทั่วประเทศ แม้จะอยู่ช่วงเศรษฐกิจเพิ่งฟื้นตัวก็ตาม จนเกิดกระแสการใช้ดอกไม้ในเทศกาลต่างๆ อย่างกว้างขวาง ทั้งวันเกิด วันรับปริญญา วันปีใหม่ เยี่ยมไข้ หรือแทนคำขอโทษ

ต่อมาเมื่อเว็บไซต์ Misslily เสร็จสมบูรณ์เมื่อปี 2542 เรวัตจึงเริ่มขยายตลาดมาสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ นับเป็นธุรกิจอีคอมเมิร์ชครบวงจรรายแรกๆ ของเมืองไทย

แต่ท่ามกลางความสำเร็จ กลับมีเรื่องให้เรวัตต้องทบทวนธุรกิจของตัวเองอีกครั้ง จนนำมาสู่การเปลี่ยนบทบาทของ Misslily จากตัวกลางจัดหาดอกไม้ มาสู่ร้านดอกไม้เต็มตัว

ภาพ : จิตรทิวัส พรประเสริฐ

เมื่อวิศวกรมาขายดอกไม้

คงไม่ผิดหากจะกล่าวว่า Misslily ถือเป็นเบอร์ 1 ในวงการส่งดอกไม้ทั่วไทย

เคล็ดลับที่ทำให้แบรนด์นี้ยังคงหยัดยืน และอยู่ในใจลูกค้ามาต่อเนื่องกว่า 20 ปี คือ ความทุ่มในการรักษาคุณภาพและบริการให้ได้มากที่สุด

เรวัตได้รับบทเรียนสำคัญมาจากช่วงที่เริ่มต้นธุรกิจนี้ใหม่ๆ คือเขาไม่สามารถควบคุมร้านค้าในเครือข่ายได้เลย ทำให้สินค้าที่ถูกส่งออกไปไม่ได้มาตรฐาน และถูกลูกค้าโทรศัพท์มาต่อว่าหลายครั้ง

“บางทีลูกค้าอยากได้กุหลาบแดงดอกใหญ่ แต่พอไปถึงกลับเป็นกุหลาบไหว้พระดอกเล็กๆ เกิดปัญหาแบบนี้บ่อยมาก เนื่องจากหลายร้านไม่ยอมพัฒนาตามเรา ลองคิดดูสมัยก่อนทั้งจังหวัดมีอยู่ร้านเดียว อยู่ในตลาดสดทำแต่พวงหรีด พอเราให้เขาจัดดอกไม้แจกัน เขาทำไม่ได้ เพราะฉะนั้นถ้าขืนเราปล่อยไว้อย่างนี้ สุดท้ายแบรนด์เราเสียหายหมด”

ในปีที่ 4 ของ Misslily เรวัตจึงปรับแนวทางของธุรกิจใหม่ โดยหันมารับจัดดอกไม้และบริการส่งเอง เริ่มแรกเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ ก่อน จากนั้นจึงค่อยๆ ขยายมาเป็นทั่วประเทศ

ทว่าการปรับเปลี่ยนไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากเรวัตเป็นวิศวกรออกแบบระบบ ไม่ใช่พ่อค้าดอกไม้

เขาจึงต้องค้นคว้าข้อมูลอย่างหนัก ตั้งแต่ลงพื้นที่ปากคลองตลาด เพื่อจะได้เข้าใจวัฏจักรของดอกไม้แต่ละชนิด ศึกษาวิธีทำห้องเย็น รวมถึงเปลี่ยนห้องคอลเซ็นเตอร์เป็นห้องจัดดอกไม้

“การทำธุรกิจใดๆ เราต้องมี Passion มีความหลงใหลกับมัน เหมือนตอนที่เริ่มทำ Misslily สิ่งที่เราคิด คือใช้ซอฟต์แวร์อย่างไรให้สามารถเชื่อมต่อผู้ซื้อกับผู้รับผ่านร้านค้าทั่วประเทศได้ แต่พอมาถึงจุดที่เราอยากเติมเต็มเรื่องคุณภาพให้ดีขึ้น เราเองก็ต้องมีความมุ่งมั่น อยากรู้ว่า ทำอย่างไรถึงจะส่งต่อความสุขหรือสิ่งที่ดีที่สุดไปยังผู้บริโภคได้ ส่วนความร่ำรวยนั้นเป็นคำตอบที่มาหลังสุด หลังคุณทำทุกอย่างด้วย Passion แล้ว”

เขาสนุกกับการได้ลองผิดลองถูก ข้อมูลต่างๆ ที่เคยได้ยินมา เช่นนำดอกไม้มาแช่เครื่องดื่มชูกำลัง แล้วจะเหี่ยวช้าลง หรือบริษัทต่างชาติผลิตอาหารดอกไม้มาขาย เขาก็นำมาทดสอบจนมั่นใจว่า ไม่ได้มีประสิทธิภาพเท่าใดนัก

แต่ที่สำคัญกว่าคือ เขาเชื่อในพลังของวิศวกรรมศาสตร์ว่าสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการดูแลดอกไม้ ตัวอย่างเช่น ห้องเย็นที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ก็เกิดมาจากฐานความคิดที่ว่า เมื่ออุณหภูมิเย็นจัดหรือร้อนจัด น้ำที่อยู่ในดอกไม้มักเกิดการระเหย และพอระเหยมากๆ อายุของดอกไม้ก็จะสั้นตามไปด้วย

ดังนั้นนอกจากควบคุมอุณหภูมิในห้องเย็นแล้ว เรวัตยังติดตั้งเครื่องพ่นหมอก เพื่อสร้างความชื้นที่เหมาะสมและลดอัตราการคายน้ำลง โดยน้ำที่นำมาใช้ต้องเป็นน้ำสะอาด ไม่ปนเปื้อนเชื้อรา หรือฝุ่งละออง ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยหลักที่ช่วยให้ดอกไม้ของ Misslily ดูสดใหม่เหมือนเพิ่งตัดจากต้นตลอดเวลา

อีกเรื่องที่เรวัตมองว่าเป็นปัญหาคือ วิธีการจัดดอกไม้ หลังสังเกตเห็นว่า ร้านเครือข่ายบางแห่งใช้วิธีปักดอกไม้ตามใจชอบ ดูสะเปะสะปะไม่สวยงาม จึงหวนคิดถึงสมัยที่เป็นเซลล์แมนขายประกันว่า ควรมีทฤษฎีหรือระบบที่ใครๆ ประยุกต์ใช้ได้ เพื่อที่การจัดดอกไม้จะได้มีมาตรฐานมากยิ่งขึ้น

ครั้งแรกเรวัตตั้งใจหาคนรุ่นใหม่ที่เรียนจบด้านนี้โดยตรงมาช่วยออกแบบ แต่พอสืบค้นไปเรื่อยๆ จึงพบว่าในมหาวิทยาลัยไม่มีหลักสูตรจัดดอกไม้จริงจัง บางคนใช้วิธีครูพักลักจำ บ้างก็ลอกเลียนจากรูปภาพ เขาจึงทดลองนำแบบดอกไม้ที่น่าสนใจมาวิเคราะห์หาจุดเด่น แล้วพัฒนาเป็นทฤษฎี ‘Raybana’ เทคนิคการจัดดอกไม้สไตล์ Misslily

Raybana ไม่ได้มีรูปแบบตายตัว แต่เป็นการสอนหลักคิดว่า การจัดดอกไม้ต้องให้ความสำคัญกับการจัดเรียง มีลำดับชั้น เพื่อให้เกิดมิติ จากนั้นจึงผสมผสานจินตนาการส่วนตัวลงไป เพื่อให้ดอกไม้ช่อนั้นดูโดดเด่นและน่าสนใจมากขึ้น ซึ่งเทคนิคนี้จึงเป็นสิ่งที่ใครๆ ก็เรียนรู้ได้ไม่ยาก แม้แต่พนักงานรับโทรศัพท์หรือแม่บ้านของ Misslily ยังพัฒนาศักยภาพจนกลายเป็นนักจัดดอกไม้แถวหน้าของบริษัท

การปรับตัวเรื่องคุณภาพสินค้าของเรวัต บวกกับการเข้าถึงดอกไม้ที่ง่ายขึ้น เพียงแค่โทรศัพท์หรือคลิกหน้าเว็บเท่านั้น ทำให้ธุรกิจเติบโตชนิดก้าวกระโดด ว่ากันว่าช่วงเศรษฐกิจดีๆ พอถึงเทศกาลวาเลนไทน์ Misslily มียอดสั่งซื้อกว่าพันช่อเลยทีเดียว รวมถึงยังมีส่วนยกระดับวงการ หลังจากร้านดอกไม้ต่างๆ เริ่มปรับตัวหันมาพิถีพิถันกับสินค้าและบริการมากขึ้น เพื่อรักษาฐานลูกค้าให้คงอยู่ต่อไป

แต่ถึงจะเป็นผู้นำตลาด เรวัตก็ไม่เคยหยุดนิ่ง ทั้งการขยายตลาดสู่ดอกไม้งานศพ ดอกไม้ประดิษฐ์ หรือกระเช้าเยี่ยมไข้ ให้สอดรับกับความต้องการของลูกค้า ตลอดจนจัดหาตัวแทนตามจังหวัดต่างๆ เพื่อนำสินค้าที่ถูกส่งตรงจากกรุงเทพฯ ไปถึงมือผู้รับด้วยความรวดเร็วในสภาพที่สมบูรณ์

นอกจากนี้ เขายังพยายามออกแบบโปรโมชันให้น่าสนใจเพื่อดึงดูดลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ อย่างแคมเปญที่เพิ่งเปิดตัวไป คือ ‘ดอกไม้ทั่วไทย 7 วัน 7 สี ในราคาเริ่มต้น 999 บาท’ โดยหวังให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ หรือกลุ่มที่เพิ่งเริ่มทำงาน มีโอกาสเข้าถึงดอกไม้ในราคาไม่สูงแต่เปี่ยมด้วยคุณภาพ โดยผู้ที่สังซื้อดอกไม้ 999 บาทขึ้นไป จะได้รับบัตรกำนัลเท่ากับราคาดอกไม้เพื่อใช้สั่งซื้อครั้งต่อไปด้วย

ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้ Misslily ยังคงเป็นสัญลักษณ์แห่งความสุขและรอยยิ้มในใจของผู้คนต่อไปนานๆ

เราเองก็ต้องมีความมุ่งมั่น อยากรู้ว่า ทำอย่างไรถึงจะส่งต่อความสุขหรือสิ่งที่ดีที่สุดไปยังผู้บริโภคได้ ส่วนความร่ำรวยนั้นเป็นคำตอบที่มาหลังสุด หลังคุณทำทุกอย่างด้วย Passion แล้ว

เรวัต จินดาพล : Misslily จาก ‘ดอกไม้’ ถึง ‘อาหาร’ สู่ ‘ความสุข’ ถึง ‘ผู้คน’
ภาพ : จิตรทิวัส พรประเสริฐ

อาหารไทย ใครๆ ก็ทำได้

ไม่ใช่เรื่องธรรมดาเลย สำหรับคนที่อายุขึ้นเลข 6 แล้ว แต่กลับเปี่ยมด้วยความฝัน และไอเดียใหม่ๆ ตลอดเวลา

หลังประสบความสำเร็จกับ Misslily ในปี 2563 เรวัตได้แตกไลน์ธุรกิจจากดอกไม้สู่อาหาร ภายใต้แบรนด์ ‘Misslily Kitchen’ นำเสนออาหารแนวใหม่ที่เรียกว่า ‘อาหารพร้อมปรุง’

จุดเริ่มต้นของโครงการนี้เกิดขึ้นเมื่อ 7-8 ปีก่อน หลังจากเรวัตมีโอกาสได้รับประทานอาหารไทยที่สหรัฐอเมริกา แล้วรู้สึกไม่ประทับใจเท่าใดนัก ซึ่งเหตุผลอาจเป็นเพราะร้านนั้นขาดเชฟฝีมือดี บวกกับอาหารไทยมีขั้นตอนการทำซับซ้อนเกินไป กลายเป็นแรงบันดาลใจให้เขาอยากผลิตอาหารไทยรสชาติดีที่ใครๆ ก็สามารถทำได้

พอกลับมาเมืองไทย เรวัตตระเวนขึ้นเหนือล่องใต้เพื่อสำรวจอาหารทั่วทุกภูมิภาค เพื่อให้เข้าใจรากเหง้าของอาหารไทย กระทั่งพบว่าเคล็ดลับความอร่อยมาจากการผสมผสานจุดเด่นของอาหารชาติต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน

“อาหารไทยเป็นอาหารที่ทำยากสุด เพราะเรานำอาหารจากทั่วโลกมารวมกันไว้ที่นี่หมด ทั้งจีน อินเดีย ฝรั่งเพราะฉะนั้นขั้นตอนการทำจึงซับซ้อนมาก อย่างเครื่องเทศนี่ต้องไปตำ ตำเสร็จเอาไปคั่ว คั่วเสร็จเอามาผัด ต่างจากอาหารจีนที่ทั้งหมดอยู่ทำอยู่ในกระทะเดียว อยากใส่อะไรก็เติมไปเรื่อยๆ แล้วใช้ไฟเป็นตัวควบคุม”

ข้อดีของการเข้าใจประวัติศาสตร์อาหารไทยอย่างถ่องแท้ ทำให้เรวัตเห็นช่องว่างของตลาดชัดเจนขึ้น รวมถึงทิศทางที่ Misslily ควรก้าวเดินต่อไป

เพราะหากสำรวจอุตสาหกรรมอาหารไทยทุกวันนี้ ส่วนใหญ่มักเป็นอาหารสำเร็จรูปแช่แข็ง ต้องอุ่นไมโครเวฟก่อนรับประทาน แต่ปัญหาคือพออาหารถูกความร้อน น้ำแข็งที่ซ่อนอยู่ด้านในก็จะละลาย และมีผลต่อรสชาติหรือผิวสัมผัสของอาหารนั้นๆ

“สิ่งสำคัญในการทำอาหารคือการควบคุมอุณหภูมิ ทำอย่างไรให้สุกพอดี และเมื่อเก็บแล้วต้องคืนรูปได้ อย่างเนื้อปลาแช่แข็ง ถ้าสังเกตพอไปเอานึ่งหรือคืนรูปมักเละหมดเลย เพราะในเนื้อมีน้ำอยู่ เวลาเราลดอุณหภูมิจาก 0 องศา เป็น -1 องศาต้องใช้เวลานานมาก เนื่องจากเป็นช่วงที่น้ำเปลี่ยนสถานะจากของเหลวเป็นของแข็ง จึงต้องเอาความร้อนที่ซ่อนอยู่ออกให้หมดก่อน

“แต่ปัญหาคือกระบวนการนี้กระทบกับเท็กเจอร์ของเนื้อ ถ้าคุณไปละลายแบบฉับพลับ เช่นเอาไปนึ่ง น้ำแข็งก็ละลายตาม เกิดเป็นรูโบ๋ขึ้นมา เพราะเนื้อมันแยกกันหมดแล้ว สังเกตดูเวลาทำเนื้อตุ๋น หากเนื้อไม่นุ่มพอ เขาถึงให้เอาไปแช่แข็งก่อน พอนึ่งอีกทีคราวนี้เปื่อยเลย เคี้ยวง่าย แต่วิธีการไม่เหมาะกับผัก ปลา หรือกุ้ง”

เรวัตจึงคิด ‘อาหารพร้อมปรุง’ ขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์คนที่มองหาอาหารที่รสชาติดีกว่าอาหารแช่แข็ง โดยใช้วัตถุดิบคุณภาพดีและยังทำได้ง่าย เพียง 2-3 ขั้นตอน ใช้เวลาราว 3-5 นาที เพื่อให้ทุกคนสามารถทำเอง โดยอาหารยังคงความสดใหม่ และรสชาติไม่ต่างจากโฮมเมดเลย อย่างข้าวหน้าไก่สิงคโปร์ ก็เพียงใส่น้ำมันลงไปในกระทะ เทเนื้อไก่ เทน้ำซอสลงไปแล้วเคี่ยวให้ไก่สุก ก็รับประทานกับข้าวสวยร้อนๆ ได้ทันที

เมื่อ 2 ปีก่อนเรวัตจึงเปิดครัวต้นแบบ โดยใช้มาตรฐานเดียวกับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ทั้งเรื่องความสะอาด ขั้นตอนการผลิต แหล่งที่มาของวัตถุดิบต้องสดใหม่และดีที่สุดจากทั่วประเทศ อาทิ กุ้งที่ใช้ทำกุ้งแชบ๊วย นำมาจากอ่าวพังงา จังหวัดภูเก็ต และบางส่วนจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ส่วนปลากรายที่ใช้ทำทอดมันส่งตรงมาจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ แม้แต่น้ำตาล ก็ใช้น้ำตาลมะพร้าวแท้จากอำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสาคร

“เราเดินทางไปดูแหล่งวัตถุดิบแต่ละอย่าง อย่างปลากราย ซึ่งปกติมีอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ตัวไม่ใหญ่เลย เราก็เลยไปถึงแม่น้ำโขง ปลาตัวใหญ่แต่ไม่สด เพราะกว่าที่ชาวบ้านจับมาแล้วส่งมาถึงเรา ใช้เวลานานมาก แล้ววันหนึ่งจับได้ไม่กี่ตัว จนสุดท้ายเราไปเจอที่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ซึ่งตัวใหญ่และสด พอจับปุ๊บเขาสามารถส่งให้เราได้ทันที อาหารทะเลก็เหมือนกัน เราอาศัยประมงพื้นบ้าน อาศัยการสืบเสาะจากผู้รู้ผู้ชำนาญ เราพยายามใช้วัตถุดิบที่เป็นธรรมชาติ อย่างกุ้งที่เลี้ยงในบ่อ เราพยายามหลีกเลี่ยง เพราะรู้ว่าเขาใช้ยา ใช้สารเคมีเยอะ”

เพราะฉะนั้นแต่ละเมนูจึงถูกรังสรรค์ด้วยความพิถีพิถัน มีการชั่งตวงวัดอย่างละเอียด เพื่อให้รสชาติถูกปากคนไทยที่สุด โดยปราศจากสารเคมีชูรสใดๆ ทั้งสิ้น ตลอดจนมีผู้เชี่ยวชาญเข้ามาเป็นที่ปรึกษาอย่างใกล้ชิด กระทั่งกลายเป็นเมนูนับร้อย ซึ่งบางอย่างเป็นของที่หารับประทานยากมาก เช่น ข้าวหมูฮ้อง อาหารพื้นถิ่นของจังหวัดภูเก็ต

แม้ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากอุตสาหกรรมอาหารมีคู่แข่งเต็มไปหมด แต่เรวัตเชื่อว่าความแตกต่างทั้งรสชาติ และคุณภาพ ในราคาที่ทุกคนเข้าถึงได้ จะช่วยผลักดันให้ Misslily Kitchen เข้าไปอยู่ในใจของผู้บริโภคได้ไม่ยาก ไม่เพียงแค่นั้น เขายังตั้งใจพาอาหารพร้อมปรุงสไตล์โฮมเมดไปสู่ตลาดที่กว้างขึ้น ทั้งร้านอาหาร ภัตตาคาร ซูเปอร์มาร์เก็ต และที่สำคัญสุด คือร้านอาหารไทยในต่างแดน

“ต่อไปร้านอาหารไทยจะเปิดง่ายขึ้น เพราะถึงไม่มีเชฟเก่งๆ แต่ก็ยังทำอาหารที่อร่อยและได้มาตรฐานได้ นี่เป็นพันธกิจที่เราอยากช่วยประเทศไทยให้ออกสู่ตลาดโลกได้ง่ายขึ้น ที่สำคัญเราเชื่อว่า หากเป็นของดี ของอร่อย และมีกลิ่นที่แปลกจมูกแล้ว มักมีลมช่วยพาไปถึงให้ผู้คนเอง บางทีไปได้ไกลทั่วโลกด้วย”

ทั้งหมดนี้คือจิตวิญญาณที่ฝังแน่นอยู่ในแบรนด์ Misslily และผู้ชายที่ชื่อ ‘เรวัต จินดาพล’ ซึ่งไม่ว่าจะทำธุรกิจใดๆ ก็ไม่เคยลืมเป้าหมายสำคัญ อย่างการส่งต่อสิ่งที่ดีที่สุดไปให้ถึงมือผู้บริโภค เพราะสิ่งที่ได้กลับคืนมา คือความสุขของผู้คน ซึ่งมีค่ายิ่งกว่าเงินทองหรือความสำเร็จใดๆ ก็ตาม

ภาพและข้อมูลประกอบการเขียน

  • ภาพ : จิตรทิวัส พรประเสริฐ

<< แชร์บทความนี้

RELATED POSTS
LATEST

Keep In Touch

COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO.  ALL RIGHTS RESERVED.