กรณ์ เทพินทราภิรักษ์ : เขาเรียกกันว่า.. ‘สคริปต์พระเจ้า’ ชายผู้สร้างปรากฏการณ์ความซึ้ง

<< แชร์บทความนี้

คุณยังจำเรื่องราวของ ‘ปู่ชิว’ ชายชราอายุแปดสิบกว่า ที่เดินขึ้นเขาเพื่อไปเล่นดนตรีหน้าหลุมศพภรรยาทุกๆ วันได้หรือไม่

คุณยังจำเรื่องของแม่ที่ขอให้หมอช่วยผ่าคลอดก่อนกำหนด เพื่อให้พ่อได้กอดลูกทันในวาระสุดท้ายของชีวิตได้หรือไม่

คุณยังจำบทเพลง Que Sera Sera และเด็กๆ พิการมากมายที่ร่วมกันร้องเพลงนี้ได้หรือเปล่า

หากจำได้..คุณรู้หรือไม่ว่า เบื้องหลังความซึ้งในโฆษณาของไทยประกันชีวิตกว่าสิบปี เกิดจากมันสมองของชายผู้หนึ่ง

แม้วันนี้เขาจะเกษียณมาหลายปีแล้ว และต้องต่อสู้กับโรคพาร์กินสัน แต่ประสบการณ์และเรื่องเล่าในการสร้างสรรค์งานก็ยังคงมีอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ขอพาทุกท่านไปพูดคุยกับอดีตผู้อำนวยการบริหารฝ่ายสร้างสรรค์แห่ง Ogilvy & Mather ถึงแนวคิดการสร้างงานที่จริงยิ่งกว่าจริงของคนทำโฆษณามืออาชีพ

กรณ์ เทพินทราภิรักษ์

กรณ์ เทพินทราภิรักษ์

ฉีกกรอบโฆษณา

“ความจริงแล้วเราไม่ได้ทำ เขาเรียกกันว่าสคริปต์พระเจ้า พระเจ้ากำหนดเรื่องราวต่างๆ ในชีวิตเราทั่วโลก ทุกคน ทุกชาติ อยู่ที่เราจะหยิบขึ้นมาใช้ได้อย่างไร” กรณ์ เทพินทราภิรักษ์ พูดถึงโฆษณาไทยประกันชีวิต หนึ่งในตำนานโฆษณาของเมืองไทย

เมื่อปี 2546 ท่ามกลางยุคที่เมืองไทยมีแต่โฆษณาขายขำ มีงานอยู่ชุดหนึ่งที่ขอเป็นขบถ และเลือกฉีกแนวออกไป

Peace of Mind เล่าเรื่องจริงของผู้หญิงที่อุ้มท้องไปโรงพยาบาล เพื่อขอทำคลอดก่อนกำหนด หลังคลอด 2 ชั่วโมง เธอหายตัวไป ก่อนมาปรากฏตัวในห้อง ICU บนเตียงมีชายผู้หนึ่งนอนอยู่ เขาป่วยเป็นมะเร็งสมอง มีชีวิตอยู่ด้วยเครื่องช่วยหายใจ หญิงผู้นั้นวางลูกในอ้อมกอดของสามี ก่อนที่ภาพจะตัดไปยังวิดีโอที่ชายผู้นั้นอัดไว้ให้ลูกได้ดูในวันที่เขาไม่อยู่แล้ว

ไม่นานหลังโฆษณาเรื่องนี้ On Air ก็กลายเป็นปรากฏการณ์ Talk of Town ทันที หลายคนเสียน้ำตา หลายคนเริ่มหันกลับมาตระหนักถึงคุณค่าที่แท้จริงของชีวิต

กรณ์พบเรื่องนี้ในกรอบเล็กๆ ของหนังสือพิมพ์จึงนำเรื่องนี้ไปเสนอต่อ ไชย ไชยวรรณ BIG BOSS ของไทยประกันชีวิต ซึ่งเพียงฟังเรื่องคร่าวๆ ก็ซื้อไอเดียทันที

หลายคนคงสงสัยว่า นายใหญ่ไทยประกันชีวิต เอาความมั่นใจนี่มาจากไหนถึงเชื่อโฆษณาที่ Drama หนักๆ เล่นกับอารมณ์มากๆ จะเหมาะกับผู้ชมชาวไทย

คำตอบคือก่อนหน้านั้นกรณ์เคยทำโฆษณาชุดชั่วนิจนิรันดรซึ่งผลิตในวาระครบรอบ 60 ปีไทยประกันชีวิตมาก่อน โฆษณาชิ้นนั้นเน้นอารมณ์ความรู้สึกเช่นเดียวกัน และผลตอบรับก็เป็นที่พอใจอย่างยิ่งของทุกฝ่าย

แต่การขายความคิดผ่านเป็นเพียงด่านแรกเท่านั้น หัวใจสำคัญคือทำอย่างไรให้ชิ้นงานกลมกล่อมและติดตลาด

กรณ์บอกว่า สูตรสำเร็จนั้นไม่มี มีแต่หลักคิดง่ายๆ คือการสร้างสิ่งที่คาดไม่ถึงให้เกิดขึ้นมา

เพราะคนไทยนิยมความประหลาดใจ หากสังเกตจะพบว่า หนังที่จบแบบ Happy Ending มักถูกลืม แต่ถ้าจบแบบคาดไม่ถึงจะถูกจดจำไปตลอด เหมือนเรื่อง Love Story เมื่อปี 2513 ซึ่งเป็นครั้งแรกๆ ของภาพยนตร์ในกระแสที่จบลงด้วยโศกนาฏกรรม และกลายเป็นที่ฮือฮาของผู้ชม

แต่ที่สำคัญยิ่งกว่า คือต้องยึดมั่นในแบรนด์และผลิตภัณฑ์ที่กำลังขาย

“หากศูนย์กลางของเรื่องไม่ได้มีพื้นฐานจากแบรนด์หรือผลิตภัณฑ์เท่ากับคุณซี้ซั้วทำอะไรก็ได้ แล้วเอาผลิตภัณฑ์ไปแปะ เหมือนเล่นยิมนาสติก เราสามารถตีลังกากี่รอบก็ได้ ลอยอยู่กลางอากาศ 3 วัน 3 คืนก็ได้ แต่คุณต้องลงในจุดที่เขากำหนดและไม่แป๊ก จะทำอะไรล่อแหลมก็ได้ ทำให้ประทับใจก็ได้ ตลกก็ได้ แต่ต้องกลับมาอย่างลงตัว”

แต่ทั้งหมดนี้เทียบไม่ได้เลยกับการทำให้ผู้ชมรู้สึกว่าสิ่งที่กำลังดูอยู่เป็นเรื่องจริง และฉุกคิดว่านี่เป็นเรื่องใกล้ตัวมากๆ

“ผมไม่ได้เป็นครีเอทีฟที่ดีมากมายอะไร แต่หลักคือต้องเป็น Consumer (ผู้บริโภค) 100 เปอร์เซ็นต์ ใช้การตัดสินที่ซื่อสัตย์กับการเป็น Consumer คือผมก็ไม่ได้ต่อต้านครีเอทีพได้รางวัลหรือว่ามีความฉลาดมากกว่า แต่ผมคิดว่าเวลาที่เราทำอะไรออกไปแล้วโดนกลุ่มเป้าหมายนั้นสำคัญกว่า อย่างโฆษณาเรื่องนี้ผู้ช่วยตัดต่ออีกทีม แวบมาดูแล้วร้องไห้ เรารู้เลยว่าต้องเวิร์คแน่ๆ เพราะเขาคือ Pure Consumer ที่ไม่เคยรู้เรื่องรายละเอียดงานมาก่อน”

จากความสำเร็จในวันนั้นถูกส่งต่อจนถึงวันนี้ ภาพยนตร์โฆษณาอีกนับสิบเรื่องกลายเป็นปฐมบทของความซึ้งที่ยังคงตรึงในใจของผู้คนร่วมทศวรรษ ทั้ง Everlasting Love รักนิรันดรของปู่ชิวที่มีต่อภรรยาที่จากไปนิรันดร My Girl ลูกสาวที่ยังคงเป็นที่รักของพ่อเสมอแม้ชีวิตพลาดพลั้งไป Melody of Life แม่ต้อยกับความรักและการให้ที่ไม่สิ้นสุด ฯลฯ

กรณ์ เทพินทราภิรักษ์

ต้นทุนที่ต้องแลกด้วยความพยายาม

“แค่ 1 เปอร์เซ็นต์ที่เกิดมาเป็นครีเอทีฟเลย ที่เหลืออีก 99 เปอร์เซ็นต์ เป็นเรื่องของการทำงานหนัก”

เพราะไม่มีสิ่งใดที่ได้มาอย่างง่ายๆ หากต้องอาศัยความพยายามและความทุ่มเท

โฆษณาแต่ละชิ้นที่กรณ์ผลิตขึ้นก็ไม่ต่างกัน กว่าที่ทุกอย่างจะประกอบร่างสมบูรณ์เช่นนี้ เขาต้องอ่านหนังสือพิมพ์ 6-8 ฉบับต่อวัน ต้องนั่งตัดข่าว ตัดโฆษณานับร้อยนับพันชิ้น ต้องอ่านหนังสือ Chicken Soup for the Soul เพื่อหยิบเรื่องที่น่าสนใจมาต่อเติม มาดัดแปลง เพิ่มมิติให้กลายเป็นเรื่องที่น่าสนใจขึ้นไปอีก

“เป็นวิทยายุทธส่วนตัวจริงๆ เราต้องทำตั้งแต่เนิ่นๆ เลย สมัยก่อนผมอ่านหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ เพื่อจะได้รับรู้ว่าเศรษฐกิจ สังคม บันเทิง แฟชั่น กีฬาเป็นอย่างไร โดยเราต้องมองแบบตาสีตาสา คนธรรมดาคนหนึ่ง ถ้ามีอะไรกระเทือนเราก็รู้สึกได้ เพราะไม่มีทางลัด ต้องค่อยๆ สั่งสมเอา อายุจะช่วยเราเอง สังเกตดูพออายุ 20-30-40 ความคิดเราจะเปลี่ยนเป็นชุดๆ”

Everlasting Love เมื่อปี 2547 คือตัวอย่างหนึ่งที่พิสูจน์คุณค่าของการทำงานหนักเป็นอย่างดี

“วันนั้นนั่งกินกาแฟแล้วก็อ่านหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ก็มีข่าวของชายชราคนหนึ่งที่ทำน้ำซุปแล้วก็เตรียมซอสองสายไปสีซอให้แฟนที่เสียชีวิตไปแล้วในสุสาน คือพออ่านจบปุ๊บ เรียบร้อยเลย ก็แค่ลงมือเขียนรายละเอียดที่เราอยากจะใส่เพิ่มลงไป Present เสร็จเราก็ส่งให้ผู้กำกับ” กลายเป็นที่มาของปู่ชิวที่ทุกคนรู้จักกันดี

หลายๆ คนอ่านข่าวนี้แล้วอาจผ่านเลย แต่ต้นทุนที่สั่งสมในชีวิต ได้หล่อหลอมจนกลายเป็นเรดาร์ที่เปี่ยมประสิทธิภาพ ช่วยให้วิเคราะห์ และค้นหาประเด็นต่างๆ ที่ใครหลายคนมองข้ามไปได้

นอกจากประสบการณ์ ความรอบคอบก็เป็นหัวใจสำคัญ หลายครั้งโฆษณาบางตัวก็คาบเส้นศีลธรรมบางอย่างของสังคม

ครั้งหนึ่งกรณ์เคยถูกโจมตีอย่างหนัก จากโฆษณาชุด My Girl ซึ่งนำเสนอประเด็นของเด็กหญิงที่ท้องก่อนวัยอันควร และเป็นปัญหารุนแรงถึงขั้นมีผู้ออกมาสาปแช่งให้เขาเจอปัญหาแบบนี้บ้าง

“เวลาเข้า Detail ต้องรัดกุม เรื่องแม่ผ่าท้อง ถ้าดูดีๆ แม่เป็นคนทำเอง พยาบาลไม่ได้เป็นคนแนะนำ เป็นความรักแม่ที่ตัดสินใจในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง แล้วก็ Support ด้วยฉากที่พยาบาลวิ่งตามหา หรือปู่ชิวก็มีคนวิจารณ์ว่าเดิน 20 กิโลไม่ตายเหรอ เราก็ปล่อยไป เพราะมันเป็นไปได้กับเป็นไปไม่ได้เท่าๆ กัน แต่พลังของตอนสุดท้ายจะทำให้นี่เป็นเรื่องเล็กน้อย”

กรณ์ เทพินทราภิรักษ์

ความทุ่มเทที่เกินพิกัด

คนเราทุกคนมีจุดเปลี่ยนในชีวิต สำหรับกรณ์ จุดเปลี่ยนแรกคงเป็นช่วง ป.2

ครั้งนั้นกรณ์มีไข้ขึ้นสูง หายใจหอบ เพราะโรคปอดบวม เขากลายเป็นคนไม่มีแรง ขนาดกินข้าวก็ต้องมีคนช่วยพยุง กระดูกเบี้ยวไปทั้งตัว ต้องผ่าตัดหลายหน จนข้างบ้านต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “ไอ้เด็กบ้านนี้ตายแน่ๆ”

เด็กหนุ่มที่นอนอยู่บนเสื่อ รู้สึกว่า ชีวิตของเขาแทบไม่มีความหวังอีกต่อไป ที่ซ้ำร้ายกว่านั้นคือ เงินจำนวนมหาศาลถูกนำไปใช้รักษาพยาบาลเขา จนทำให้สถานภาพทางเศรษฐกิจของที่บ้านต้องสั่นคลอน

“ผมรู้สึกผิดที่ป่วย ทำให้ครอบครัวต้องพินาศ พี่ๆ น้องๆ 9 คน ต้องออกมาจากโรงเรียน มาทำงาน พอหายป่วยก็เลยรู้สึกว่าอยากทำอะไรให้คุ้มกับที่พ่อแม่ดูแลเรามา 1 ปีเต็มๆ”

เขาทุ่มเทให้การเรียนอย่างเต็มที่ จนสอบได้ที่ 1 ของห้องถึง 9 ปีซ้อน สอบผ่านเข้าโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้สำเร็จ ความทุ่มเทเหล่านี้ยังส่งผลมาถึงตอนทำงาน เมื่อเขาได้รับมอบหมายอะไรเขาจะตั้งใจทำให้ดีที่สุด แม้จะต้องอดหลับอดนอน หรือเหนื่อยขนาดไหนก็ตาม

กรณ์ค่อยๆ พิสูจน์ตัวเอง จากเริ่มแรกที่เป็น Art Director เล็กๆ ของ Ogilvy & Mather โดยมี Barry Owen อดีต Executive Creative Director เจ้านายของเขาเป็นแรงบันดาลใจ ค่อยซึมซับงานโฆษณา งานครีเอทีฟทีละน้อย จนกระทั่งได้รับโอกาสให้เป็น Creative Director ครั้งแรกในโฆษณาเซ็นทรัล ชุดหนูผี

เขาให้สัมภาษณ์ว่า ในช่วงแรกของการทำงาน ยุ่งมาก เพราะต้องเข้าไป Produce งานที่คิดเอง ทั้งจัดการหาโลเคชั่น คัดเลือกนักแสดง ถ่ายกันตั้งแต่เช้ายันเย็น จากนั้นก็ต้องมาดูเรื่องตัดต่อ เช็คความเรียบร้อยแล้วส่งให้ลูกค้าดู แถมเทคโนโลยีสมัยนั้นก็ยังไม่พัฒนา บางทีก็หนักหน่อย เพราะเครื่องเกิดขัดข้องช่วงงานใกล้ตัดต่อเสร็จ แต่แม้ภารกิจงานจะยุ่งเหยิงสักแค่ไหน แต่เขาก็ยินดีที่จะทำ

“บางทีก็เหมือนคนโรคจิต นอนก็ไม่ได้นอน หรือนอนอยู่แล้วฝัน ฝันอะไรก็ไม่รู้ แล้วก็จะมีประโยคหรือประเด็นอะไรผุดขึ้นมา ต้องรีบจดเอาไว้ ไม่อย่างนั้นจะหายไป ผมเรียกวิธีนี้ว่าศพขึ้นอืด เหมือนเราเอาศพทิ้งในบึง คือเราใส่ข้อมูลทิ้งทุกวันๆ ระหว่างนั้นก็เหมือนว่ามันยังย่อยอยู่ ทำงานอยู่ พอถึงวันหนึ่ง ศพที่แช่น้ำอยู่นาน มันจะลอยขึ้นมา เป็นปรากฏการณ์ส่วนตัวที่เล่าให้ใครหลายคนฟังว่า สิ่งที่สะสมไว้ไม่ได้ใช้วันนี้หรอก แต่วันดีคืนดีมันจะโผล่ขึ้นมา”

การก้าวไปข้างหน้าตลอดเวลา ทำให้กรณ์หยัดยืนในฐานะแถวหน้าของวงการโฆษณามาหลายสิบปี พร้อมยึดหลักว่า “เราเป็นครีเอทีฟก็ต้องไม่ทำซ้ำชาวบ้าน” อย่างการโยกมาทำหนังโฆษณา Drama แทนที่จะทำหนังตลก ก็นับเป็นความกล้าที่หลายคนไม่กล้าเสี่ยง

“เวลาหนังประเภทนี้ฮิต นักวิจารณ์จะหาว่าเราเป็นต้นเหตุให้หนังโฆษณา Emotional เกินเหตุ แต่ประเด็นคือ นี่ไม่ใช่เรา คนอื่นไปทำ คุณจะมาด่าคนทำคนแรกมันไม่ใช่ และที่สำคัญผมก็หนีจากหนังตลกที่แน่นตลาด คุณต่างหากที่เฮมาทางนี้ ผมสั่งคุณไม่ได้ คุณน่าจะอายด้วย เพราะทุกคนไปซ้ายเราต้องไปขวา คุณไปทางแยกเยอะๆ เราต้องหาทางใหม่ให้ได้”

หลายคนอาจบอกว่า ไม่มีใครจำที่ 2 หรือสิ่งที่ธรรมดาได้ แต่ถ้าเราไม่กังวลหรือมองว่า ความธรรมดาเป็นเรื่องเลวร้าย นี่อาจจะถือว่าโอเคแล้ว

กรณ์ เทพินทราภิรักษ์ : เขาเรียกกันว่า.. ‘สคริปต์พระเจ้า’ ชายผู้สร้างปรากฏการณ์ความซึ้ง

ที่ 1 อาจไม่ใช่คำตอบ

เมื่อถึงวันที่ครีเอทีฟต้องหยุดคิด..ชีวิตจะเป็นอย่างไร?

“โฆษณาไม่มีอะไรเลย มันเป็นแค่อาชีพเดียว ไปทอดปาท่องโก๋ ไปทำ Start up ก็มีคุณค่าเท่าๆ กัน แต่ตอนเด็กๆ เราทำอาชีพนี้รู้สึกว่ามันเปลี่ยนโลก จริงๆ ไม่มีใครจริงจังกับเรื่องโฆษณาหรอก เขาก็ Take คุณแค่เป็น Activity หนึ่งในชีวิต เหมือนละครดังบางเรื่องฮิตจะตาย นานๆ เข้าคนก็จะค่อยๆ ลืม”

กรณ์เกษียณจาก Ogilvy & Mather เมื่อปี 2558 โดยมีภาพยนตร์โฆษณาชุด Unsung Hero ปิดท้ายบทบาทการเป็นครีเอทีฟ TVC ให้แบรนด์ไทยประกันชีวิต

ช่วงปีสุดท้าย ความรับผิดชอบของกรณ์ลดลงมาก เนื่องจากเขาเริ่มมีอาการของพาร์กินสัน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผลพวงของการทำงานแบบเอาเป็นเอาตายตลอดหลายปี โดยแทบไม่มีเวลาพักผ่อน

“ทำงานจนแบบเส้นเลือดสมองตีบ ชาไปซีกหนึ่ง ตอนนี้เป็นพาร์กินสัน มือสั่น คือจะบอกว่าทำงานทุกวันนี้ก็ Balance หน่อยละกัน ตอนนี้ให้มาเลือกก็ยังลังเลว่า จะกลับไปทุ่มเทอีกไหม หากย้อนเวลากลับไปได้ ความจริงเราก็ปรารถนาทำตัวให้คุ้มค่ากับเงินที่เขาจ้าง แต่นึกถึงชีวิตตอนนี้คือ มันไม่คล่องเหมือนเดิมแล้วนะ ทั้งวัยแล้วก็ทั้งโรคที่มันรุมเร้า

“ตอนนั้นไม่ได้ออกกำลังกายเลย พักร้อนก็ไม่เคยพักเลย คิดงานจนถึงตี 1-2 บนหัวเตียงก็มีสมุดโน้ตเล่มหนึ่ง ตื่นขึ้นมา นึกอะไรขึ้นมาได้ก็มาจดในความมืด หรือว่าทะเลาะกับใคร เถียงไม่ชนะ ก็จดคำเถียงเอาไว้ เอาไว้บู๊พรุ่งนี้อีกที คือทุ่มเทจริงๆ ตอนนั้น จนรู้สึกว่า ไม่ค่อยกล้าแนะนำให้คนทำแบบนี้” เขาสรุปชีวิตให้ฟัง

เพราะสุดท้ายแล้วคนเราก็หนีไม่พ้น เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป นี่เองที่เป็น ‘แก่นของชีวิตที่แท้จริง’

“ทุกคนอยากหาสูตรสำเร็จที่จะทำให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งไม่มีหรอก ต้องเจ็บปวด ต้องผ่าฟัน ต้องทุ่มเท ถึงจะได้ แต่ผมคิดว่าอย่างน้อยๆ คนรุ่นใหม่คงฉลาดกว่าผม ต้องรู้จักบาลานซ์ทั้งงานทั้งชีวิต หลายคนอาจบอกว่า ไม่มีใครจำที่ 2 หรือสิ่งที่ธรรมดาได้ แต่ถ้าเราไม่กังวลหรือมองว่า ความธรรมดาเป็นเรื่องเลวร้าย นี่อาจจะถือว่าโอเคแล้ว แต่ถ้าต้องการเอาชนะให้ได้ ก็อาจจะต้องสู้แล้วตายกันไปข้างหนึ่ง แต่ไม่รู้ว่าใครตายกันแน่” อดีตครีเอทีฟมือทองทิ้งท้ายพร้อมเสียงหัวเราะ

ภาพและข้อมูลประกอบการเขียน

  • สัมภาษณ์คุณกรณ์ เทพินทราภิรักษ์ วันที่ 25 มีนาคม 2561
  • หนังสือแรงบันดาลใจจาก 10 สาขา ตอน กรณ์ เทพินทราภิรักษ์ โดย ธิดารัตน์ มูลลา

<< แชร์บทความนี้

RELATED POSTS
LATEST

Keep In Touch

COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO.  ALL RIGHTS RESERVED.