กิตติ ทองลงยา : สุดยอดนักค้นพบสัตว์ชนิดใหม่

<< แชร์บทความนี้

คุณเคยได้ยินชื่อ ‘ค้างคาวกิตติ’ หรือไม่

เคยสงสัยไหมว่า ชื่อนี้มาจากอะไร

ตามธรรมเนียมทั่วไป เวลาที่ใครสักคนค้นพบสัตว์ชนิดใหม่ เขามักจะนำชื่อของผู้อื่นมาตั้งเพื่อเป็นการให้เกียรติ แต่สำหรับค้างคาวกิตติเป็นข้อยกเว้น เพราะหลังจากที่ ‘กิตติ’ พบค้างคาวหายากชนิดนี้ไม่นาน เขาก็ไม่มีโอกาสได้รับรู้ว่า การค้นพบเจ้าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กที่สุดในโลกนั้น สร้างความตื่นตะลึงกับวงการสัตววิทยามากเพียงใด

กิตติยังเป็นคนแรกที่พบนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร ซึ่งผ่านมา 50 ปี ในเมืองไทยมีคนที่พบเห็นนกชนิดนี้ในธรรมชาติมีจำนวนแทบนับนิ้วได้

หลายสิบปีในชีวิต เขาทุ่มเทเดินทางสำรวจรวบรวมข้อมูลพันธุ์สัตว์ต่างๆ และสามารถจำแนกสัตว์ชนิดใหม่ๆ ตามหลักวิทยาศาสตร์ไว้มากมายหลายชนิด นับเป็นคลังความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญของประเทศไทยและของโลก อีกทั้งเป็นการวางรากฐานที่ทำให้เกิดพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาในเวลาต่อมา

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา จึงขอพาไปรู้จักกับนักสัตวศาสตร์และนักอนุกรมวิธานคนสำคัญที่สุดคนหนึ่งของเมืองไทย ผู้ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ

กิตติ ทองลงยา

ลูกชายคนโตของหมอบุญส่ง

คนรักธรรมชาติ คงไม่มีใครไม่รู้จัก นายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล ผู้บุกเบิกด้านการอนุรักษ์สัตว์ของเมืองไทย

กิตติรู้จักกับหมอบุญส่งตั้งแต่ตอนที่เขายังเรียนด้านชีววิทยาอยู่ที่คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นอกจากเพลงคลาสสิก ไพ่บริดจ์ และแบดมินตันแล้ว สิ่งที่ชายหนุ่มคนนี้ชอบมากที่สุดคือเรื่องราวของสิ่งมีชีวิตต่างๆ

เมื่อเห็นว่าหมอบุญส่งกำลังค้นคว้าเรื่องสัตวศาสตร์เขาก็เข้ามาช่วยด้วยความสนใจ และติดตามคุณหมอไปเที่ยวป่าเก็บพันธ์ุสัตว์ต่างๆ เข้ามาสะสมในพิพิธภัณฑ์ส่วนตัวของท่าน คลุกคลีตีโมงชนิดที่ว่ามากินนอนที่บ้านคุณหมออยู่หลายปี ทำให้สนิทกับลูกๆ ของหมอมาก จนมีคนแซวว่าเขาเป็นลูกชายคนโตของหมอบุญส่ง

หมอบุญส่งเล่าว่ากิตติชอบเอาหนังสือสัตวศาสตร์ในห้องสมุดไปอ่าน แถมยังเป็นคนความจำดีมาก จำชื่อสัตว์ภาษาละตินได้หมดไม่มีตกหล่น แม้กระทั่งรายละเอียด เช่น ใครเป็นคนเข้ามาค้นคว้าสัตว์อะไรในเมืองไทย พบสัตว์ตัวนั้นที่ไหน เมื่อปีไหน จำนวนเท่าไร ถูกส่งเก็บไปไว้ที่ไหน เขาก็จำได้หมด เมื่อหมอบุญส่งให้เงินรางวัลตอบแทนที่มาช่วย กิตติก็นำไปซื้อแผ่นเสียงหรือไม่ก็หนังสือสัตวศาสตร์ที่เขาสนใจ

ยิ่งนานวัน หมอบุญส่งยิ่งเห็นแวว จึงพยายามโน้มน้าวให้กิตติมาช่วยบุกเบิกการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ในประเทศไทย โดยวางตัวให้เป็นภัณฑารักษ์ที่ดูแลการคัดเลือกและเก็บสะสมพันธุ์สัตว์ชนิดต่างๆ

พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์คือความฝันที่ยิ่งใหญ่ของหมอบุญส่ง เพราะท่านเล็งเห็นว่า ถ้าประเทศไทยมีพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ จะเกิดความก้าวหน้าและความสนใจในด้านวิทยาศาสตร์อย่างมาก ทั้งกับนักเรียนนักศึกษาประชาชน ครูอาจารย์จะสอนธรรมชาติวิทยาได้ง่ายขึ้นเพราะมีตัวอย่างให้เด็กเห็นด้วยตาตนเอง

นอกจากนั้นยังเป็นการสนับสนุนให้นักวิทยาศาสตร์ได้ทำงานที่ตนสนใจ ทำให้เกิดการศึกษาวิจัยและอนุรักษ์สัตว์ไว้ทันก่อนจะสูญพันธุ์ หากเกิดพิพิธภัณฑ์ได้เร็วเท่าไรยิ่งเป็นการดี

แต่อุปสรรคยากที่สุด คือทำให้ภาครัฐสนใจ หมอบุญส่งกับกิตติเคยไปขอร้องให้รัฐบาลจัดสร้างพิพิธภัณฑ์สัตวศาสตร์แห่งชาติ จนรัฐบาลเตรียมจัดงบประมาณให้ 5 ล้านบาท แต่แล้วรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการในยุคนั้นกลับเอาเงินก้อนนี้ไปสร้างสถานเต้นรำที่สวนลุมพินี

อีกครั้งหนึ่ง หมอบุญส่งกับกิตติ เคยอดตาหลับขับตานอนจัดทำพิพิธภัณฑ์สัตวศาสตร์จำลองในอาคารหลังหนึ่งที่จุฬาฯ เพื่อเชิญนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นไปเปิด หากท่านสนใจจะของบประมาณได้ ท่านนายกฯ มาชมแล้วก็ชอบใจมาก แต่เมื่อได้ฟังคำตอบว่าต้องใช้เวลาหลายปีเพื่อรวบรวมพันธุ์สัตว์มาเก็บสะสม ท่านก็บอกว่าคงจะทำยาก เพราะนักการเมืองต้องการเห็นผลในเร็ววัน เดี๋ยวรัฐบาลก็เปลี่ยนชุดแล้ว

ความพยายามของทั้งคู่จึงล้มเหลวอีกครั้ง

 

ชีวิตของนักจัดจำแนกพันธุ์สัตว์

หลังเรียนจบ กิตติเข้าทำงานกับสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ในตำแหน่งผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์

แม้จะมีบริษัทต่างๆ และหน่วยงานมาชวนไปทำงานพร้อมทั้งให้เงินเดือนสูงๆ กิตติก็ปฏิเสธเพราะเขาอยากจะช่วยหมอบุญส่ง แม้จะไม่มีเงินเดือน ได้เพียงเงินติดกระเป๋าเป็นครั้งคราว แต่เขาก็มุ่งมั่นทำงานโดยคาดหวังว่าพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์จะเกิดขึ้นจริงในอนาคตข้างหน้า

ในปี 2509 สภาวิจัยแห่งชาติ มีโครงการจะทำพิพิธภัณฑ์เก็บพันธุ์สัตว์ต่างๆ ในประเทศไทย เพื่อให้รัฐบาลจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ หมอบุญส่งจึงได้แนะนำ กิตติให้เข้าไปทำงานในศูนย์รวบรวมวัสดุอุเทศทางด้านธรรมชาติวิทยาของประเทศไทยและประเทศใกล้เคียง สถาบันวิทยาศาสตร์ประยุกต์แห่งประเทศไทย (ปัจจุบันคือ สาขานิเวศวิทยา สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย) โดยรับตำแหน่งภัณฑารักษ์สัตว์มีกระดูกสันหลัง

งานของศูนย์รวมวัสดุอุเทศฯ คือการสำรวจและศึกษาวิจัยสัตว์ป่าชนิดต่างๆ ทำอนุกรมวิธาน จำแนกชนิด เพื่อให้รู้ว่าบ้านเรามีอะไรบ้าง กิตติจึงต้องออกไปเสาะหาบรรดาสัตว์มาสตัฟฟ์เก็บรักษาไว้ ตลอดจนจัดหาชื่อทางสัตววิทยา ศึกษาเปรียบเทียบในเรื่องนิสัย การหากิน

นอกจากทำให้รู้จักสัตว์มากขึ้น ยังนำคุณสมบัติต่างๆ มาใช้ประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ยารักษาโรค หรืออุตสาหกรรม ยิ่งเก็บได้มากจากหลายแห่ง ความรู้เกี่ยวกับสัตว์ก็มีมากขึ้น

ประเทศไทยถือว่าเป็นชุมทางที่พบกันของสัตว์ทั้งโลก สัตว์จากจีนตอนใต้ หิมาลัย พม่า จะเข้ามาทางเหนือ สัตว์อินโดจีนเข้ามาทางตะวันออก สัตว์จากมาเลเซียเข้ามาทางใต้ จึงเป็นประเทศที่มีความหลากหลายที่สุดประเทศหนึ่ง แต่มักจะไม่ค่อยมีสัตว์เฉพาะถิ่น สัตว์ต่างๆ ที่พบ อาจเคยพบที่อื่นและตั้งชื่อกันมาแล้ว ดังนั้นจึงเป็นความท้าทายของนักอนุกรมวิธานที่จะพยายามค้นหาสัตว์ชนิดใหม่ๆ

Elliott McClure นักวิจัยที่เคยทำงานด้วยกัน เล่าว่าความกระตือรือร้นของกิตตินั้นไม่มีที่สิ้นสุด เมื่อจบแต่ละทริป เขาจะมาสอบถามว่าสิ่งที่ค้นพบนั้นเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ หรือค้นพบใหม่เป็นครั้งแรกในประเทศไทยหรือเปล่า ครั้งหนึ่งกิตติพบว่าปลากัดสายพันธุ์ที่เขาคิดว่าใหม่นั้นเป็นที่รู้จักดีในแถบเทือกเขาหิมาลัย แม้จะผิดหวังแต่เขาก็ยังยินดีที่มันใหม่สำหรับประเทศไท

กิตติหลงรักและทุ่มเทให้กับการทำงานนี้อย่างมาก มากเสียจนมันแทบจะอยู่ในลมหายใจ

เพื่อนสนิทเล่าให้ฟังว่า มีอยู่ครั้งหนึ่งเขานัดเพื่อนหญิงไปรับประทานอาหาร ขณะพูดคุยกันตามประสาหนุ่มสาว ก็บังเอิญมีหนูเจ้ากรรมตัวหนึ่งโผล่ออกมา เขาสังเกตว่าเป็นหนูพันธุ์แปลกและหายากยิ่ง จึงรีบลุกวิ่งไล่จับหนูทันที แต่เมื่อกลับมาที่โต๊ะก็พบว่า หญิงสาวผู้นั้นได้หนีกลับบ้านไปเสียแล้ว

นักค้นพบสัตว์ชนิดใหม่ของโลก

ความรู้ความสามารถของกิตติ ทองลงยา ทำให้เขาค้นพบสัตว์ที่เพิ่งพบใหม่ในประเทศไทยหลายชนิด อาทิ ค้างคาวลูกไม้ ซาลิมอาลี ค้างคาวมาแชล ค้างคาวหมอบุญส่ง

แต่การค้นพบครั้งสำคัญที่ทำให้ชื่อของเขาเป็นที่ยอมรับในแวดวงนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก คือการค้นพบนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร และค้างคาวกิตติ

การค้นพบนกเจ้าฟ้าฯ เกิดขึ้นในปี 2510 ตอนนั้นศูนย์ฯ กำลังศึกษาเรื่องนกอพยพ กิตติไปติดตามนกนางแอ่นที่บึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์

เขาใช้วิธีรับซื้อนกจากชาวบ้านที่ดักนกมาครั้งละมากๆ เพื่อนำมาสวมกำไลขา ติดหมายเลขสำหรับติดตาม ระหว่างนั้นเองกิตติได้สังเกตเห็นนกตัวหนึ่งมีลักษณะผิดแปลกจากนกตัวอื่นอีก 700 ตัว มันตัวใหญ่กว่านกนางแอ่นและเกาะนิ่งอยู่มุมหนึ่งของกรง เขาไม่เคยเห็นมาก่อนจึงแยกออกมาศึกษาอย่างละเอียด

นกตัวนี้มีขนสีดำสนิท บริเวณหน้าผากมีขนสีดำคล้ายกำมะหยี่ ขอบตาขาว บริเวณสะโพกมีสีขาว ขนหางสั้นกลมมน

วันรุ่งขึ้นชาวบ้านจับมาให้อีกตัว เขาจึงนำมาสตัฟฟ์ไว้ เมื่อนำมาปรึกษากับหมอบุญส่งและเพื่อนนักวิจัยเรื่องนกก็ไม่มีใครเคยพบมาก่อน เขาจึงส่งภาพวาดและภาพถ่ายไปให้นักปักษีวิทยาชั้นนำของโลกตรวจสอบอีกที ทุกคนก็ยืนยันว่าไม่เคยพบ แต่เมื่อพิจารณาแล้วน่าจะอยู่ในตระกูลนกนางแอ่น

กิตติชำแหละเพื่อตรวจสอบอวัยวะภายในของนกและลงความเห็นว่าเป็นนกในสกุล Pheudochelindon ซึ่งในสกุลนี้เคยพบชนิดเดียวที่บริเวณลุ่มน้ำคองโก ทวีปแอฟริกา แต่ลักษณะภายนอกต่างกันอย่างมาก ดังนั้นนกที่ค้นพบนี้คือชนิดใหม่ของโลกอย่างแน่นอน

ด้วยความอ่อนเยาว์ ตอนแรกกิตติจะรีบส่งตัวอย่างนกไปให้พิพิธภัณฑ์ในต่างประเทศเพื่อขอการรับรอง แต่พี่ๆ นักวิทยาศาสตร์ช่วยกันห้ามปรามไว้เพราะเกรงว่าอาจถูกผู้ไม่หวังดีแย่งผลงานของเขาไปได้ สุดท้ายแล้วเขาจึงเปลี่ยนใจมาดำเนินการอย่างระมัดระวัง

กิตติมีความคิดว่า ชื่อของนกตัวใหม่ควรจะเป็นชื่อไทยๆ จึงได้ขอให้ทางสถาบันวิจัยฯ กราบบังคมทูลขอใช้พระนามของกรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ซึ่งสมัยยังทรงเป็น เจ้าฟ้าหญิงสิรินธร เนื่องจากทรงสนพระทัยในเรื่องธรรมชาติวิทยา และเสด็จฯ ออกอุทยานเพื่อศึกษาธรรมชาติอยู่เสมอ เมื่อได้รับพระบรมราชานุญาต เจ้านกชนิดใหม่จึงมีชื่อว่า Pseudochelidon Sirintarae เรียกเป็นภาษาไทยว่า นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร

การค้นพบนกเจ้าฟ้าฯ ทำให้เขาเริ่มเป็นที่รู้จักของนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก เพราะการค้นพบนกชนิดใหม่เป็นเรื่องยากมาก มีการศึกษาด้านนี้มานานหลายร้อยปี แม้แต่ในประเทศไทยก็มีชาวตะวันตกเข้ามาศึกษาและเก็บตัวอย่างนกและสัตว์ชนิดต่างๆ ตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี ที่เรายังวุ่นกับการทำศึกสงครามอยู่เลย

การค้นพบครั้งนั้นเป็นใบเบิกทางให้เขาได้ไปพบนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก ในปี 2514 แต่หลังจากนั้นกิตติก็หันมาทุ่มเทพลังให้กับการศึกษาค้างคาว เพราะประเทศไทยมีค้างคาวกว่า 100 ชนิดและยังไม่มีใครเข้าไปศึกษาและจัดหมวดหมู่อย่างจริงจัง

ในปี 2516 ระหว่างทำการเก็บตัวอย่างค้างคาวเพื่อศึกษาด้านพยาธิวิทยา กิตติพบค้างคาวที่มีขนาดเล็กมากซึ่งไม่เคยเห็นมาก่อน ในถ้ำที่อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี ค้างคาวตัวนั้นสร้างความประหลาดใจให้กับเขามาก

“เห็นได้ชัดว่า ค้างคาวที่ได้นี้เป็นพันธุ์ใหม่อย่างแน่นอน ปัญหามีอยู่ว่าค้างคาวชนิดนี้เป็นวงศ์ (Family) ใหม่หรือไม่ ?” เขาบันทึกความสงสัยนั้นไว้เพราะไม่อาจจัดค้างคาวชนิดนี้ไปอยู่ในวงศ์ใดของค้างคาวที่เคยพบมาก่อนได้เลย

การพิสูจน์นั้นยากขึ้นอีกขั้น เพราะต้องเปรียบเทียบกับค้างคาวชนิดอื่น ๆ ทั่วโลกที่เคยจับได้มาแล้ว ซึ่งไม่อาจทำได้ในประเทศไทย กิตติจึงได้ส่งตัวอย่างค้างคาวจำนวนหนึ่งไปยัง Dr.John Edward Hill ที่บริติชมิวเซียม ประเทศอังกฤษ เพื่อให้ ดร.ฮิลล์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทางการแยกชนิดค้างคาวทำการศึกษาโครงสร้างอย่างละเอียด และที่นี่มีตัวอย่างค้างคาวทุกชนิดในโลกที่เคยพบมาแล้วเอาไว้ศึกษาเปรียบเทียบ

จากการตรวจสอบอย่างละเอียด ดร.ฮิลล์ได้ตัดสินว่า ค้างคาวที่พบไม่เพียงเป็นค้างคาวชนิดใหม่ แต่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมวงศ์ใหม่ล่าสุดที่ค้นพบในรอบร้อยปี และยังครองตำแหน่งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เล็กที่สุดในโลกด้วย ทำให้วงการสัตววิทยานานาชาติตื่นเต้นกันมาก

ทว่าหลังจากการค้นพบเพียง 4 เดือน กิตติ ก็เสียชีวิตลงด้วยอาการหัวใจวายโดยไม่ทันได้เห็นว่าผลงานของเขาเป็นที่พูดถึงอย่างกว้างขวางมากเพียงใด

ค้างคาวชนิดนี้จึงได้รับการตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ค้นพบ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Craseonycteris Thonglongyai ชื่อไทยคือ ค้างคาวกิตติ

“เห็นได้ชัดว่า ค้างคาวที่ได้นี้เป็นพันธุ์ใหม่อย่างแน่นอน ปัญหามีอยู่ว่าค้างคาวชนิดนี้เป็นวงศ์ (Family) ใหม่หรือไม่ ?”

กิตติ ทองลงยา : สุดยอดนักค้นพบสัตว์ชนิดใหม่

มือขวาที่จากไป

ด้วยการทำงานหนักมาตลอด ในช่วงสุดท้ายของชีวิต เวลาลงพื้นที่กิตติมักมีอาการเหนื่อยง่ายและเจ็บที่หัวใจบ่อยครั้ง

คืนวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2517 หลังจากเสร็จการการเล่นแบดมินตันในช่วงหัวค่ำ กิตติล้มฟุบลงและหมดสติ เมื่อเพื่อนๆ นำตัวส่งโรงพยาบาล ก็ปรากฏว่าสายไปเสียแล้ว

การจากไปอย่างไม่มีวันกลับของกิตติ ทองลงยา จึงเป็นการสูญเสียนักสัตววิทยาคนสำคัญคนหนึ่งของไทยและของโลก

ลูกๆ หมอบุญส่ง บอกว่า วันที่ ‘ลูกคนโต’ จากไป นายแพทย์นักอนุรักษ์เงียบและเศร้ามาก

เป็นที่รู้กันว่า กิตติเป็นคนทำงานใกล้ชิด หมอบุญส่งยกให้เขาเป็นมือขวา ในขณะที่มือซ้ายคือ จารุจินต์ นภีตะภัฏ นักอนุกรมวิธานที่เก่งกาจอีกคนหนึ่ง

“คุณหมอบอกกับผมว่า ตอนนี้ฉันเหลือแต่มือซ้ายคือเธอเท่านั้น ฉะนั้นห้ามตายเด็ดขาด”

จากความคิดตั้งต้นและความตั้งใจของหมอบุญส่ง ประกอบกับความรู้ทางสัตววิทยาที่กิตติเริ่มแผ้วถางเอาไว้ เมื่อจารุจินต์ มาช่วยสานต่ออย่างแข็งขัน ในที่สุดก็เกิดพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ขึ้นได้สำเร็จ เป็นแหล่งความรู้ที่สำคัญของชาติ และช่วยสร้างนักวิทยาศาสตร์เก่งๆ ให้กับประเทศไทย จนถึงทุกวันนี้

ภาพและข้อมูลประกอบการเขียน

  • หนังสือที่ระลึก พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชเพลิงศพ นายกิตติ ทองลงยา
  • บทความ ติดตามศึกษาค้างคาวกิตติ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เล็กที่สุดในโลก นิตยสารสารคดี มีนาคม 2531
  • บทความ บุกป่ากาญจนบุรีค้นหาค้างคาวกิตติ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เล็กที่สุดในโลก นิตยสารสารคดี มีนาคม 2528
  • หนังสือ อาลัยลา…จารุจินต์ อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ดร.จารุจินต์ นภีตะภัฏ
  • นิตยสาร Update ปีที่ 11 ฉบับที่ 129 เดือนมีนาคม 2540
  • ภาพค้างคาวกิตติ จาก Merlin D. Tuttle, Bat Conservation International

<< แชร์บทความนี้

RELATED POSTS
LATEST

Keep In Touch

COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO.  ALL RIGHTS RESERVED.