ขึ้นชื่อว่า ‘ความรัก’ บางครั้งก็ไม่มีเหตุผล รักก็คือรัก
เช่นเดียวกับ นัชญ์ ประสพสิน เจ้าของเพจ Kingdom Of Tigers: ทูนหัวของบ่าว เธออาจมีเป็นร้อยเหตุผลที่ทำให้ตกหลุมรักและยอมเป็นทาสแมว แต่เหตุผลเดียวที่ทำให้เธอทุ่มสุดตัว เพื่อช่วยเหลือแมวจรไร้บ้านคือ ทำแล้วหัวใจพองโต เต็มไปด้วยความสุข
ย้อนไปสู่จุดเริ่มต้นของการปวารณาตัวเป็นทาสแมว นัชญ์ไม่รู้ด้วยซ้ำว่า มันเริ่มจากตรงไหน เพราะตั้งแต่จำความได้ เธอก็มีเพื่อนรักสี่ขาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมาตลอด
ที่สำคัญ ความรักของเธอไม่ได้จำกัดอยู่แค่สัตว์เลี้ยงของตัวเอง แต่ยังเผื่อแผ่ไปถึงแมวจร ซึ่งเธอบอกว่า ความช่วยเหลือที่หยิบยื่นให้ก็เป็นไปตามสเต็ปของชีวิต
สมัยเด็กอาจจะทำได้แค่ให้อาหาร พอเริ่มมีกำลังทรัพย์ ก็อาจจะช่วยค่ารักษาหรือออกแรงพาไปหาหมอเวลาเจอเคสแมวป่วยหรือถูกทำร้าย จนกระทั่งมาถึงตอนนี้ ความใจดีของเธอยกระดับไปสู่การช่วยเหลือแมวจรให้มีบ้าน
เพราะนอกจากจะอาศัยเพจทูนหัวของบ่าวเป็นสื่อกลางเพื่อช่วยขับเคลื่อนและกระจายข่าวต่างๆ แล้ว เธอยังก่อตั้ง Catster by Kingdomoftigers บ้านพักของแมวจร ที่เป็นมากกว่าคาเฟ่ให้คนและแมวมาเจอกัน แต่ยังเป็นศูนย์พักพิงที่ช่วยบำบัดกาย บำบัดใจให้แมวจร พร้อมเป็นสื่อกลางตามหาเจ้าของคนใหม่ให้แมวจรได้มีบ้านที่อบอุ่นไปตลอดชีวิต
เพราะมองว่านี่คือกุญแจดอกสำคัญของการแก้ปัญหาแมวจรอย่างยั่งยืน
ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ร่วมกับ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ขอพาทุกคนไปร่วมกันถอดบทเรียนชีวิตของ 1 ใน 30 บุคคลจากโครงการคนเล็กเปลี่ยนโลก ผ่านเรื่องราวของผู้หญิงที่รักแมวสุดหัวใจ จนลุกขึ้นมาช่วยเหลือแมวจรแบบสุดกำลัง ด้วยความหวังว่า จะไม่มีแมวที่ไร้บ้านอีกต่อไป
ไม่แปลกที่ใครๆ จะมองว่านัชญ์คือทาสแมว เพราะเธอเองก็ยอมรับว่าผูกพันกับแมวมาทั้งชีวิต และพร้อมทำทุกอย่าง ขอแค่เจ้านาย (แมว) มีความสุข เธอก็มีความสุขไปด้วย
แมวตัวแรกของนัชญ์คือ แมวสามสีที่ชื่อว่า ‘พี่โก้ง’ ซึ่งเธอรักและผูกพันถึงขั้นว่า ถ้าตัวเองกินอะไร แมวก็ต้องได้กินแบบนั้น
“คุณแม่เล่าให้ฟัง สมัยเด็ก เราเป็นเด็กที่ tricky มาก ชอบแบ่งอาหารตัวเองให้แมวกิน ดังนั้นวิธีที่แม่จะหลอกให้กินข้าวได้ คือต้องทำพวกเมนูปลา เพราะถ้าวันไหนทำเมนูปลา เราจะกินข้าวได้เยอะ เพราะเราจะแบ่งกับแมวคนละครึ่ง”
ว่ากันว่า ถ้านั่งไทม์แมชชีนย้อนไปดูชีวิตตั้งแต่เล็กจนโตของนัชญ์จะเห็นได้ว่า เธอมีแมวเป็นส่วนหนึ่งตลอด ต่อให้บางช่วงที่ไม่ได้เลี้ยงแมวเลย เช่นตอนที่ไปเรียนต่อ และอยู่ในสถานที่ซึ่งไม่อนุญาตให้เลี้ยงสัตว์ นัชญ์ก็อดใจไม่ไหว ขอแค่ได้เลี้ยงดูแมวข้างถนนก็ยังดี
“อาจเพราะแมวเป็นสัตว์เลี้ยงที่มาคลอเคลีย อยู่กับเราทุกพื้นที่ในบ้าน เลยทำให้รู้สึกผูกพันกันเป็นพิเศษ บวกกับแมวเป็นสัตว์ที่อยู่ด้วยแล้วผ่อนคลาย และถึงแม้ว่าเขาจะทำให้เราอยากเอาชนะอยู่ตลอดเวลา แต่เราก็ไม่เคยเอาชนะได้เลยสักครั้ง”
เรื่องนี้ ใครที่เลี้ยงแมวคงรู้ดี แต่สำหรับคนรักหมาอาจไม่เข้าใจ
“เปรียบเทียบให้เห็นภาพ สมมติเราแค่ออกไปหน้าปากซอย กลับมาอีกที น้องหมาจะดีใจมากเหมือนไม่เจอกันมา 7 ปี แต่ถ้าเป็นแมว ต่อให้เราไม่อยู่บ้าน 7 วัน กลับมาอีกที แมวอาจไม่สนใจเราก็ได้ แต่บางวัน บทจะอารมณ์ดี ก็เดินเข้ามาหาให้เกาพุง ดูเป็นเรื่องเล็กๆ แต่นั่นคือ miracle moment ของทาสแมวเลยก็ว่าได้ หรือบางครั้ง การได้นอนดูน้องแมวเปลี่ยนอิริยาบถ หรือเล่นฝาขวดพลาสติก ก็ฟินแล้ว ไม่ต้องพูดถึงเวลาที่เป็นสายเปย์ ซื้อห้องน้ำแมวอัตโนมัติมาให้ แต่แมวที่บ้านก็ใช้ไม่เป็น ยังอึหรือฉี่ข้างนอก เราก็โอเคไม่เป็นไร ถึงจะแอบคิดว่าทำไมเป็นแมวที่โง่แบบนี้ แต่อย่างน้อยมันก็ยังฉลาดที่จะรังแกมนุษย์อย่างเราๆ”
ที่สำคัญ การเลี้ยงแมวทำให้นัชญ์รู้สึกว่า ยังมีอีกชีวิตหนึ่งที่ต้องรับผิดชอบและดูแล ต่อให้ทำงานมาหนักและเหนื่อยแค่ไหน ก็ต้องกลับมาให้ข้าวให้น้ำสัตว์เลี้ยงตัวโปรด
แต่ถึงจะรักและเป็นทาสแมวขนาดไหน นัชญ์ซึ่งตอนนั้นทำงานเป็นครีเอทีฟในบริษัทเอเจนซีโฆษณา ก็ไม่ได้คิดว่าวันหนึ่งจะกลายเป็นที่รู้จักของคนทั้งประเทศในฐานะเจ้าของเพจ Kingdom Of Tigers : ทูนหัวของบ่าว ซึ่งปัจจุบันมียอดผู้ติดตามทะลุ 3 ล้านคนแล้ว
ที่ตัดสินใจเปิดเพจเพราะเวลาโพสต์รูปแมวลงโซเชียลแล้วมีคนมาตามกดไลค์หลักหมื่น แถมยังมาขอเป็นเพื่อนเยอะมาก เลยคิดว่าเปิดเพจแยกดีกว่า เพราะคนที่แอดมาไม่ได้อยากมาติดตามเธอ แต่อยากมาตามดูความน่ารักของแมวที่เธอเลี้ยงไว้มากกว่า
พอพูดถึงแมวที่โด่งดังในเพจทูนหัวของบ่าว หลายคนอาจจะนึกถึง ‘แมวอโศก’ แต่จริงๆ แล้วมีแมวที่แจ้งเกิดมาก่อนหน้านั้น
“แมวตัวแรกที่แจ้งเกิดให้เพจคือ มะลิ เป็นแมวสามสี หลังจากนั้นก็มีเสือสมิง เป็นแมว Scottish Fold ตัวที่ 3 คือ เสือโคร่ง เป็นแฟนกับเสือสมิง และยังมีผลงานไปเป็นแมวในละครด้วย เลยยิ่งเป็นที่รู้จัก ส่วนแมวอโศก ซึ่งเป็นแมวจรอยู่ที่รถไฟฟ้าสถานีอโศกนั้นมาทีหลัง อย่างที่รู้ว่าแมวอโศกโด่งดังในโลกโซเชียลด้วยตัวเองอยู่แล้ว ซึ่งเราเองก็เป็นติ่งของแมวอโศกเช่นกัน”
แน่นอนว่าในฐานะติ่ง นัชญ์ก็ไม่ได้อยากติดตามความน่ารักของแมวอโศกผ่านโลกออนไลน์อย่างเดียว เมื่อมีโอกาส ทุกเย็นหลังเลิกงานก็จะไปตามหาแมวอโศก และเป็นหนึ่งในหลายๆ คนที่ช่วยดูแลแมวอโศก เอาข้าวเอาน้ำไปให้
“เวลาไปหาก็มีทั้งเจอและไม่เจอ แต่ถ้าช่วงไหนเขาหายไปนานๆ จะรู้เลยว่าไปรักษาตัว เพราะกลับมาอีกทีจะมีบาดแผลตามตัว”
ในขณะที่มีความสุขกับการดูแลแมวจรที่โด่งดังในโซเชียลอยู่ห่างๆ อย่างห่วงๆ อยู่มาวันหนึ่ง นัชญ์ก็เจอกับเหตุการณ์ที่เป็นจุดพลิกผัน และทำให้เธอตัดสินใจนำแมวอโศกมาเลี้ยง
“วันหนึ่งเจอแมวอโศกนอนจมกองเลือด เห็นสภาพก็คิดว่าไม่ไหว ต้องพาไปหาหมอ แต่ด้วยความที่เช้าวันนั้นติดขายงานลูกค้าด่วน ไม่สามารถพาอโศกไปโรงพยาบาลได้ เลยใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียที่มี กระจายข่าวว่า อโศกนอนจมกองเลือด อยากให้ใครที่รักอโศกช่วยพาไปหาหมอ
“ผ่านไปหลายชั่วโมงก็ยังไม่มีความคืบหน้า จนกระทั่งมีคนชื่อคุณเก๋ ติดต่อเข้ามาว่า เคยพาอโศกตอนที่โดนรังแกแล้วต้องตัดหางทิ้งไปรักษาที่คลินิกแห่งหนึ่ง แต่วันนั้นคุณเก๋ก็ไม่สะดวกเหมือนกัน เราก็โอเค รีบกระจายข่าวให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ถ้าใครสะดวกให้พาอโศกไปที่คลินิกตามนี้นะ เพราะอโศกมีประวัติอยู่
“ปรากฏว่าพอเลิกงาน เราไปถึงสถานีรถไฟฟ้าอโศกประมาณ 2 ทุ่มกว่า ก็แวะไปดู ยังเห็นอโศกนอนจมกองเลือดอยู่ที่เดิม ไม่มีใครพาไปหาหมอ เลยอุ้มไปหาหมอเอง ครั้งนั้นเขาเจอรังแกมาค่อนข้างหนัก หมดเงินรักษาไปเยอะ แถมคุณหมอที่รักษาก็บอกว่า ถ้ายังเอาเขากลับไปที่เดิม ก็จะโดนรังแกซ้ำซากอยู่อย่างนี้ เลยถือวิสาสะเอาแมวของสังคมมาเป็นแมวของตัวเอง”
แต่สิ่งที่นัชญ์ลืมคิดคือ กระแสดราม่าที่ตามมา ซึ่งหนักถึงขั้นทำให้เธอเป็นโรคซึมเศร้า
‘หากินกับแมว’
‘อยากดัง ไปเอาแมวของชาวโซเชียลมาเลี้ยง’
‘แมวมีตั้งเยอะตั้งแยะไม่เอา ทำไมต้องเป็นตัวนี้’
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของคอมเมนต์ด้านลบจากสังคม ที่ไม่ต่างจากมีดที่กรีดแทงเข้ามาที่หัวใจของนัชญ์นับครั้งไม่ถ้วน
“ตอนนั้นเครียดเลย ถึงจะเข้าใจว่าที่บางคนแสดงความเห็นแบบนี้ เพราะเขาไม่รู้ว่าเรื่องจริงคืออะไร ไม่รู้ว่าตอนที่แมวของชาวโซเชียลนอนจมกองเลือดเกือบสิบชั่วโมงแล้วไม่มีใครคิดจะไปช่วย หรือช่วยออกค่ารักษาคืออะไร ที่สำคัญเขาไม่รู้หรอกว่า ถ้าพาอโศกกลับไปอยู่ที่เดิมแล้วจะเกิดอะไรขึ้น สมมติถ้าเจอรังแกอีก ใครจะช่วย เราก็เลยถือวิสาสะเอามาเลี้ยง แต่ก็เจอดราม่า กระแสลบตุ้บตั้บซ้ายขวา จนป่วยเป็นซึมเศร้า
“เพราะสมัยนั้นกฎหมายคอมพิวเตอร์ยังไม่รุนแรง เป็นยุคล่าแม่มด เจอทั้งคำหยาบคาย คำด่า เรียกว่าไม่มีความเมตตาปรานีต่อกันในโลกอินเทอร์เน็ตเลย เราก็เป็นเหยื่อ ทำให้เราเป็นซึมเศร้าถึงขั้นอยากฆ่าตัวตาย เพราะคิดแบบโง่ๆ ว่า ถ้าเราจบชีวิต คนพวกนั้นจะได้พอใจ หรือถ้าเราจบชีวิต คนพวกนั้นจะได้รับบทเรียนว่า เขาทำให้ชีวิตเราต้องเป็นแบบนี้ ซึ่งพอมาย้อนคิด ต่อให้เราตายไป คนพวกนั้นก็ไม่ได้รู้สึกอะไร”
โชคดีที่ในช่วงเสี้ยววินาทีระหว่างความเป็นความตายนั้น นัชญ์ตัดสินใจเขียนพินัยกรรม แล้วทำให้เธอคิดถึงแมวที่เลี้ยงไว้ร่วม 30 ตัว จนบอกตัวเองว่ายังตายไม่ได้
“อย่างเสือขาว เราหมดค่ารักษาเขาไปเยอะมาก เพราะเขาต้องกินอาหารปั่นสูตรพิเศษ ซึ่งถึงเราจะเขียนสูตรทิ้งไว้แต่ก็ยังเป็นภาระของคนที่อยู่ข้างหลัง ไหนจะค่าใช้จ่าย พอคิดถึงจากัวร์ เขาตาบอด 2 ข้าง เหลือ 3 ขา เป็นโรคไต ไหนจะเสือโคร่งอีก คิดไปคิดมา ภาระขนาดนี้จะทิ้งให้แม่ก็คงไม่ไหว ต่อให้มีเงินประกันชีวิต แต่ถ้าเราฆ่าตัวตาย ประกันชีวิตก็ไม่จ่าย แล้วแม่จะเอาเงินที่ไหนมาเลี้ยงดูแมว
“ตอนนั้นเลยคิดว่า อย่างนั้นยังไม่ตายดีกว่า อยู่ต่อเพื่อแมว อย่างน้อย 10 ปี ให้เขาตายก่อน แล้วเราค่อยตาย ปรากฏว่าโชคดี ผ่านมา 10 ปี เรารักษาโรคซึมเศร้าจนหาย ลึกๆ ก็รู้สึกขอบคุณแมวที่ทำให้มีกำลังใจอยู่ต่อเพื่อรักษาตัวเองจนหาย”
แม้จะยังมีเรื่องดีในวันร้ายๆ แต่ช่วงที่ต้องรักษาตัวจากโรคซึมเศร้า ก็สร้างความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในชีวิตของคนคนหนึ่ง
“ที่ผ่านมา หลายคนเข้าใจผิดว่า พอรวยจากการทำเพจทูนหัวของบ่าว เลยออกมาทำธุรกิจของตัวเอง แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่เลย ตอนนั้นพอป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ก็กระทบกับการทำงานครีเอทีฟ กลายเป็นว่าเรากินยาแล้วทำงานไม่ได้ คิดงานไม่ได้ ก็รู้สึกว่าเป็นการเอาเปรียบทีม เลยตัดสินใจลาออก อาศัยเงินทุนที่พอมีบวกกับคอนเนกชันมาเปิดบริษัทเล็กๆ ของตัวเอง โดยตั้งชื่อว่า Kingdom of Tigers รับทำงานด้าน branding การตลาดออนไลน์ไปจนถึงโฆษณาทุกอย่าง”
เหตุผลที่ตั้งชื่อนี้ เพราะว่า ‘เสือ’ เป็นฉายาในวงการโฆษณา บวกกับนัชญ์เองชื่นชอบและรักในความเป็นอาณาจักรของเสือ เห็นได้จากชื่อแมวหลายชื่อก็ตั้งชื่อโดยนำหน้าด้วยคำว่า ‘เสือ’ พอมาทำเพจก็ใช้ชื่อนี้
“ตอนตั้งเพจ ไม่คิดว่ามันจะมาถึงจุดนี้ ไม่คิดว่ามันจะดัง เลยตั้งชื่อนี้โดยไม่คิดอะไร พอคิดว่าจะเปลี่ยนก็ไม่ได้แล้ว ติดหูไปแล้ว ทุกวันนี้บริษัทนี้ก็ยังอยู่ แต่อย่างที่บอก ตอนนั้นเป็นช่วงที่เราแย่ เราก็ไม่อยากป่าวประกาศว่าชีวิตอีกด้านเป็นอย่างไร คนเห็นแค่ว่าลาออกมาทำบริษัทของตัวเอง ก็จะคิดว่าโอ้โห เรารวยเพราะแมว แต่มีอีกด้านของชีวิตที่คนไม่รู้ ก็ละเลงสีในชีวิตเรา”
อย่างไรก็ตาม ถึงจะอยู่ท่ามกลางมรสุมที่ถาโถม แต่นัชญ์ก็ยังคงเดินหน้าดูแลแมวที่มีและช่วยเหลือแมวจรไปตามกำลัง
“อย่างที่บอก ตอนเด็กๆ เราอาจไม่มีรายได้ ก็เลี้ยงด้วยใจ เอาอาหารไปให้พออิ่มเป็นมื้อๆ พอโตขึ้นมาหน่อย เริ่มมีรายได้ เวลาเห็นเคสขอความช่วยเหลือก็โอนเงินไปช่วย หรือถ้าอยู่ใกล้ๆ ก็พาไปส่งโรงพยาบาล พอบริบทของชีวิตเปลี่ยนไป การช่วยเหลือก็ยิ่งยกระดับขึ้น
“เพราะต้องไม่ลืมว่า ต้นตอของปัญหาแมวจรที่เพิ่มมากขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะไม่ได้ทำหมัน แต่ถ้าจะแก้ปัญหาแมวจรอย่างยั่งยืน ทางออกที่ดีกว่าคือ ต้องเปลี่ยนแมวจรให้เป็นแมวบ้าน คิดดูว่า แมว 1 ตัว ตั้งท้องใช้เวลาประมาณ 2 เดือน คลอดลูกออกมาแต่ละครั้ง เฉลี่ยอยู่ที่ 5 ตัว ถ้า 5 ตัวนี้โตขึ้นไปผสมพันธุ์ ได้ลูกออกมาอีก เท่ากับประชากรแมวจะทวีคูณไปเรื่อยๆ ดังนั้น การทำหมันจึงเป็นหนึ่งในวิธีที่ช่วยลดการเกิดของแมวจร แต่ปัญหาที่ตามมาคือ ทำหมันแล้ว แต่ไม่ได้ฉีดวัคซีนให้ พอเอากลับมาปล่อยที่เดิม ก็อาจจะเป็นโรคติดต่อ ติดเอดส์แมว เป็นลูคีเมีย หรือบางทีก็โดนกัด โดนทำร้าย หรือเจออุบัติเหตุ”
พอเจอปัญหาวนลูปแบบนี้ เลยทำให้นัชญ์มองว่า แทนที่จะช่วยเหลือแมวจรด้วยวิธีที่ถมเท่าไหร่ก็ไม่เต็ม เหมือนตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ สู้แก้ปัญหาด้วยการหาบ้านหลังสุดท้ายให้แมวจร เพื่อให้พวกมันไม่ต้องเป็นแมวเร่ร่อนไร้บ้านเสียดีกว่า เพราะต้องยอมรับว่า บ้านเรายังไม่เหมาะกับการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงด้วยระบบเปิด เพราะเสี่ยงกับโรคพิษสุนัขบ้า บวกกับเมื่อมองหาหน่วยงานรัฐที่จะมารับไม้ต่อจากคนที่เข้าไปช่วยเหลือแมวจรก็ไม่มี
ทั้งหมดนี้เลยจุดประกายให้นัชญ์คิดว่าจะใช้พลังและกำลังทรัพย์ที่มี เพื่อก่อตั้ง Catster by Kingdomoftigers คาเฟ่แมวจรที่เป็นมากกว่าคาเฟ่ แต่ยังพร้อมเป็นแหล่งพักพิงทั้งกายและใจให้แมวจร ก่อนได้เจอเจ้าของที่จะมอบบ้านหลังสุดท้ายอันอบอุ่นให้
หลายคนอาจสงสัยว่า ทำไมต้องทำ Catster by Kingdomoftigers ในรูปแบบคาเฟ่แมวจร
คำตอบก็เพราะว่า นัชญ์อยากยกระดับการดูแลแมวจรไปอีกขั้น ซึ่งเธอยอมรับว่า ได้ไอเดียมาจากการไปเห็นโมเดลสถานสงเคราะห์หมา-แมวในต่างประเทศ
“เวลาไปเที่ยว เราชอบไปดูสถานสงเคราะห์หมา-แมวของแต่ละประเทศ อย่างที่สิงคโปร์ ถ้าใครจะรับหมาแมวที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ไปเลี้ยง ต้องมีค่าใช้จ่าย ซึ่งเราดูแล้วว่าโมเดลนี้ ถ้ามาใช้กับเมืองไทยอาจจะยาก เพราะขนาดให้ฟรียังไม่ค่อยมีใครอยากรับแมวจรไปเลี้ยง
“หรืออย่างที่ญี่ปุ่นเขาก็มีสถานสงเคราะห์ แต่จะโหดหน่อย คือ ถ้า 3 เดือนแล้ว แมวเซ็ตนี้ยังหาบ้านไม่ได้ เขารมควัน รมยาพิษให้ตายเลย ซึ่งก็เอามาใช้กับประเทศไทยยากเช่นกัน
“ส่วนที่ตุรกี เขาเป็นประเทศที่รักแมวมาก ถึงจะเป็นแมวจรแต่อ้วนพี สมบูรณ์มาก ที่สำคัญแมวที่อยู่นอกบ้านของเขามีปลอกคอ ฉีดวัคซีน ทำหมันเรียบร้อยแล้ว พูดง่ายๆ คุณภาพชีวิตประชากรแมวจรของเขาดีกว่าบ้านเราเยอะ พอไปเห็นก็ทำให้อยากยกระดับคุณภาพแมวจรบ้านเราให้ดีขึ้น”
นัชญ์ตั้งใจให้ Catster สร้างมาตรฐานใหม่สำหรับการหาบ้านให้แมวจร ด้วยการมีสถานที่พักคอยเพื่อเปลี่ยนนิสัยของแมว มีอาหารให้กินแบบไม่ต้องแย่งกัน มีของเล่น มีพี่เลี้ยงคอยดูแล
ที่สำคัญ เวลามีคนจะมารับไปเลี้ยง นัชญ์ไม่ได้แค่ให้คนที่อยากเลี้ยงแมวเป็นฝ่ายเลือก แต่แมวก็เป็นฝ่ายเลือกเจ้าของได้เช่นกัน โดยสังเกตจากพฤติกรรมของแมวว่าเข้าหาหรือไม่ หรือดูไม่เป็นมิตร เพื่อจะได้นำมาประกอบการตัดสินใจ เพราะบางคนเลือกแมวจรมาจากบ้าน แต่พอมาที่ Catster เจอตัวที่คลิกกว่า กลายเป็นว่าพาอีกตัวกลับ ซึ่งที่นี่เปิดให้รับแมวจรไปเลี้ยงได้ฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่าย
อย่างไรก็ตาม แม้จะเริ่มจากคอนเซปต์ที่ดีบวกกับแพสชั่นของนัชญ์และทีมงานที่มาเป็นพี่เลี้ยง แต่เบื้องหลังการบริหาร Catster ซึ่งนัชญ์เรียกว่า เป็นธุรกิจเพื่อสังคม 100% กลับไม่ใช่เรื่อง ‘ง่าย’
“ถามว่ายากไหม ไม่ยากนะถ้ามีเงิน แต่ด้วยความที่เราก่อตั้ง Catser จากเงินส่วนตัว ณ ตอนนั้นเราใช้วิธีหัก 30% ของรายได้จากงานโฆษณาที่ได้มาบริหารตรงนี้ แต่ตอนหลังๆ คือ แทบจะเป็น 70% เพราะแต่ละเดือนมีแมวเป็นร้อยๆ ตัวเข้ามาอยู่ที่นี่ ไหนจะค่ารักษา ค่าทำหมัน วัคซีนต่างๆ ยังไม่รวมค่าพนักงาน ค่าตึก ค่าอาหาร ซึ่งเราไม่ได้คิดค่าใช้จ่ายกับคนที่รับไปเลี้ยง ตอนแรกคิดค่าบริการคนละ 100 บาท (ปัจจุบันเพิ่มเป็น 200 บาท) ซึ่งไม่เพียงพอแน่นอน แต่เราก็พยายามพยุงเพราะการที่เห็นแมวได้บ้านทำให้เรามีความสุข
“เรามีแมวที่ได้บ้านเกือบทุกวัน มันเป็นความสุขที่บอกไม่ถูก ที่สำคัญยิ่งมาทำตรงนี้ เหมือนว่าความสุขเรายิ่งขยาย จากปกติได้ช่วยแมวก็มีความสุขแล้ว ยิ่งเห็นคนที่รักแมวมาทำงานที่เขารักและมีความสุข ได้มีอาชีพ มีรายได้ หัวใจเราก็ยิ่งพองโต”
ปัจจุบัน แมวที่เข้ามาอยู่ที่ Catster ไม่เคยขาดสาย โดยจะมีบรรดาแฟนคลับคอยส่งข่าวสารว่า มีแมวอยู่ที่ไหนบ้าง จากทุกสารทิศ ตั้งแต่วัด ตลาด จนถึงโรงพยาบาล
“แมวโรงพยาบาลเยอะมากนะ เพราะมีคนใจดีที่อุ้มแมวไปรักษา แต่บางทีไม่มีเงินจ่าย หรือไม่สะดวกรับมาเลี้ยง คุณหมอก็จะใจดี ดูแลให้ 3 เดือน จนไม่มีที่ไปแล้ว ก็จะติดต่อมาหาเรา หรืออีกช่องทาง คือ มาจากโซเชียลมีเดียบ้าง ตอนหลังเราเลยต้องมีระบบคิวในการให้ความช่วยเหลือ แต่บางเคสที่ด่วนหรือฉุกเฉินก็อาจจะมีลัดคิวกันบ้าง”
จุดเด่นของ Catster คือใช้วิธีการเลี้ยงแบบระบบปิด ไม่ปล่อยให้แมวออกไปเพ่นพ่านที่ไหน แต่ขณะเดียวกันก็ยังให้อิสรภาพกับแมวเต็มที่ พยายามทำสภาพแวดล้อมทุกอย่างให้เหมือนบ้าน ไม่มีการขังกรง เพราะไม่อยากให้แมวเครียด เพราะความเครียดจะทำให้แมวภูมิคุ้มกันตก และป่วย
ที่นี่มีของเล่น มีอาหารให้กินอิ่ม มีพี่เลี้ยงที่เป็นแมว ซึ่งจะเป็นแมวที่นัชญ์พยายามหาบ้านให้แล้ว แต่หาไม่ได้จนเลิกหา ก็ให้แมวจรเหล่านี้ผันตัวเองมาเป็นพี่เลี้ยงในการดูแลแมวจรน้องใหม่แทน
รวมทั้งมีพี่เลี้ยงที่เป็นคน คอยดูแลปรับพฤติกรรม เพราะต้องไม่ลืมว่าแมวจรนั้นมีทั้งที่เป็นแมวจรมาตั้งแต่เกิดกับที่เคยมีเจ้าของแต่ถูกทอดทิ้ง พฤติกรรมของแมวแต่ละประเภทก็จะไม่เหมือนกัน
“อย่างแมวจรแบบแรกนั้นไม่ชินกับการได้รับความรักหรือความอบอุ่น มีคนประคบประหงม มีข้าวมีน้ำ เพราะฉะนั้น ช่วงแรกๆ จะเห็นเลยว่า เวลามีอาหาร เขาจะต้องกินให้เร็วหรือได้อาหารแล้วคาบไปหลบกินที่อื่น เราต้องปรับพฤติกรรมว่าจากนี้ไม่ต้องกินเร็ว หรือคาบข้าวแล้ววิ่งหนี เพราะที่นี่มีให้กินเหลือเฟือ ไม่จำเป็นต้องแย่งกับใครแล้ว หรือเวลาฉี่ก็จะฝึกให้เข้าห้องน้ำ
“แต่ที่น่าสงสารที่สุดคือ แมวจรที่เคยมีบ้านแล้วถูกทิ้ง เขาจะซึม รู้สึกว่าฉันเคยมีบ้าน ทำไมฉันต้องมาแบ่งอะไรกับใครอีก เคสแบบนี้ก็อาจให้พี่เลี้ยงช่วยเติมความรัก ด้วยการกอดเขา รักเขาเยอะๆ ทั้งหมดก็เพื่อปรับพฤติกรรมแมวจรให้เป็นแมวบ้าน เผื่อถ้าในอนาคตมีคนใจดีมารับไปเลี้ยงจะได้ปรับตัว และใช้ชีวิตแบบแมวบ้านได้อย่างไม่มีปัญหา”
นอกจากปรับพฤติกรรมของแมวแล้ว Catster ยังมีวิธีจับคู่เจ้าของและแมวจรให้ลงตัวได้อย่างน่าสนใจ โดยก่อนจะรับแมวไปเลี้ยง ผู้ที่ติดต่อเข้ามาจะต้องกรอกเอกสารทางเว็บไซต์ ความยาวประมาณ 3 หน้า โดยเนื้อหาจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลักๆ
หน้าแรกเป็นการกรอกข้อมูลส่วนตัวทั่วไป เพื่อดูว่ารูปแบบที่พักอาศัยเป็นอย่างไร
“ถ้าเป็นหอพัก เราไม่ให้เลย ส่วนถ้าเป็นคอนโดมิเนียม อพาร์ตเมนต์ที่นิติบุคคลมีความเห็นร่วมกันว่าให้เลี้ยงสัตว์ได้ เราจะมีเอกสารไปให้นิติบุคคลเซ็นแล้วก็โทรศัพท์เช็กอีกทีว่าอนุญาตใช่หรือไม่ หรือถ้าเป็นนักศึกษามารับไปเลี้ยง เราไม่ให้เลย เพราะมองว่า เขาอาจจะยังอยู่ในวัยที่เลี้ยงตัวเองไม่ได้ อาจจะต้องย้ายที่อยู่อาศัย หรือเลี้ยงแล้วสุดท้ายจะไปเป็นภาระครอบครัวหรือเปล่า”
ส่วนหน้าที่ 2 กับ 3 จะเป็นคำถามเกี่ยวกับการเลี้ยงแมวเบื้องต้น เช่น แมวเป็นไข้ทำอย่างไร แมวฉีดวัคซีนกี่เข็ม ทำหมันเมื่อไหร่ อาการอย่างนี้เรียกว่าอะไร ซึ่งคำตอบทั้งหมดหาได้จาก Google
“เหตุผลที่ถาม เพราะอย่างน้อยตอนที่หาคำตอบใน Google คุณก็จะต้องได้เห็นภาพแล้วว่า ถ้าเลี้ยงแมวจะต้องเจอกับอะไรบ้าง เหมือนได้รีวิวการเลี้ยงแมวอีกรอบก่อนตัดสินใจ พร้อมทดสอบความอดทนของคนที่อยากเลี้ยงไปในตัว
“เชื่อไหมว่า มีหลายคนที่ทนไม่ไหว ไม่กรอก ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่า คุณอาจจะยังอดทนไม่พอ คุณเลี้ยงแมวไม่ได้หรอก เพราะแมวเป็นสัตว์ที่ต้องเลี้ยงอย่างใส่ใจ ต้องจดวันที่ในการทำหมัน ฉีดวัคซีนเข็มต่อไปเดือนไหน วันที่เท่าไหร่ ถ่ายพยาธิเมื่อไหร่ ก็มีบางคนถอดใจ และไปรับแมวจรที่อื่น ซึ่งเราก็ไม่มีปัญหา”
ฝ่าด่านแรกมาแล้ว นัชญ์แนะนำว่า อย่าเพิ่งปักใจกับภาพแมวจรที่เห็นในอินเทอร์เน็ตแล้วเลือกมาจากบ้าน เพราะบางทีมาเจอกันแล้วอาจไม่คลิก เคมีไม่ตรงกัน เพราะฉะนั้นแทนที่เราจะเลือกแมว อาจจะลองเปลี่ยนมาเป็นให้แมวเลือกเรา
“ถ้ามาที่นี่ คุณจะรู้เลยว่าตัวไหนอยากอยู่กับเรา ตัวไหนนิสัยยังไง แนะนำว่าให้เลือกตัวที่เข้าหาเราดีที่สุด บางคนเลือกมาจากบ้าน อยากได้ตัวนี้ พอมาที่นี่ตัวนี้ไม่เข้าหา แต่อีกตัวหนึ่งพยายามเสนอตัวสุดฤทธิ์ให้เอาหนูไปสิ ที่ผ่านมามีหลายเคสมาก ที่ปกติแมวตัวนี้ไม่เอาใครเลย ใครมาก็จับไม่ได้ อุ้มไม่ได้ แต่ถ้าเขาอยากไปอยู่กับคนไหน เขาจะยอมให้คนนั้นคนเดียว ซึ่งเราแนะนำให้เลือกตัวที่เข้าหาเรา ตัวที่ขู่ฟ่อๆ กลัวอยู่ มุดตามนู่นนี่ ก็อย่าเพิ่งเอาไป”
หลายคนอาจสงสัยว่า คนรักสัตว์ก็มีมากมาย แต่ทำไมผู้หญิงคนหนึ่งถึงต้องจริงจัง และทำเสมือนเป็นหน้าที่ของตัวเองในการดูแลแมวที่ถูกทอดทิ้ง
“เราทำเพราะอยากทำ ทำแล้วมีความสุข ไม่ได้มองว่าเป็นหน้าที่ เพราะถ้าคิดแบบนั้น หมายความว่า เราต้องช่วยแมวทุกตัวบนโลกนี้ แต่เราไม่ใช่ แต่ละวันมีแมวผ่านเข้ามาให้เห็นเป็นพันๆ เคส เราก็เลือกเคสที่อยากช่วย เคสที่ช่วยแล้วมีความสุข”
จากประสบการณ์ที่ช่วยแมวจรมาแล้วมากมาย มีเคสหนึ่งที่นัชญ์ประทับใจมากคือ มือปืน ซึ่งเป็นแมวดำ เพราะอย่างที่รู้กันว่าแมวดำกับแมวสีกระดองเต่าหรือตัวสีเปรอะๆ จะหาบ้านได้ยากมาก
แต่เคสของมือปืน ถือเป็นข้อยกเว้น เพราะตอนที่ลงประกาศหาบ้าน ปรากฏว่ามีคู่รักคู่หนึ่งเลือกไปเลี้ยงทันที แต่ที่ติดใจนัชญ์มากที่สุดคือ ตอนนั้นฝ่ายหญิงต้องประคองฝ่ายชายซึ่งนั่งวีลแชร์ เพราะกะโหลกศีรษะยุบไปครึ่งหนึ่ง ขึ้นมาถึงชั้น 3 เพื่อเลือกแมวกลับบ้าน
“ครั้งแรกที่เห็น เรานับถือหัวใจฝ่ายหญิงมากเลยที่ไม่ทอดทิ้งคนรัก แถมยังรู้สึกตื้นตัน เพราะเขาต้องอยากเลี้ยงแมวมากแน่ๆ จึงยอมประคองกันมาถึงที่นี่ แล้วพอมาถึง จากเดิมที่มือปืนเป็นแมวซึ่งไม่เข้าหาใครเลย ปรากฏว่า จู่ๆ ก็เดินเข้าไปนั่งตักฝ่ายชายเลย เขาจึงเลือกมือปืนกลับบ้าน”
และด้วยความเป็นห่วง ทุกครั้งที่มีคนรับแมวไปเลี้ยง นัชญ์จะพยายามติดตามว่าแมวเป็นอย่างไรบ้าง ปรับตัวเข้ากับเจ้าของใหม่ได้หรือยัง ซึ่งในเคสของมือปืนก็ไม่ต่างกัน
“ผ่านไป 7-8 เดือน เราไปเยี่ยม ปรากฏว่าคุณผู้ชายที่เคยเห็นนั่งรถเข็น ทำอะไรไม่ได้เลย ต้องรอแฟนกลับมาป้อนข้าวให้ พอมีมือปืนแล้ว เขาเล่นกับมันทุกวันเลย แล้วมือที่เคยขยับไม่ได้ ก็เริ่มกลับมาใช้งานได้อีกครั้ง แถมเขายังมีกำลังใจลุกขึ้นมากายภาพบำบัด เพราะอยากเดิน อยากมีชีวิต อยากพาแมวไปเที่ยว และหลังจากนั้น พอเรากลับไปเยี่ยมอีกครั้ง คราวนี้เขาขับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าได้แล้ว โดยมีมือปืนนั่งข้างหน้า ไปเที่ยวหมู่บ้านใกล้ๆ คือเขาดูแอ็กทีฟและดีขึ้น จากที่เป็นโรคซึมเศร้า เคยคิดจะฆ่าตัวตายเพราะมองว่าตัวเองเป็นภาระ แต่ตอนนี้ความคิดเหล่านั้นไม่มีแล้ว เพราะเขากลัวว่าหากตายไป ใครจะดูแลมือปืน”
จากภาพที่เห็น ทำให้นัชญ์รู้สึกภูมิใจและอยากขับเคลื่อนบ้านพักแมวจรแห่งนี้ให้เดินหน้าต่อไป แม้จะต้องแบกรับต้นทุนมากเพียงใด เพราะคุณค่าที่กลับมานั้นช่างยิ่งใหญ่เกินกว่าที่จินตนาการไว้มากจริงๆ
“ที่ผ่านมา คนชอบหาว่าเราหากินกับแมว ชอบทำพวกสินค้าเกี่ยวกับแมวมาขาย แต่ความจริงเราจะเน้นขายเฉพาะช่วงที่ไม่ไหวจริงๆ ถ้าเป็นช่วงที่มีงานจ้าง เราจะไม่ขายของเลย หากถามว่าท้อไหม หรือคิดจะปิดไหม บอกเลยว่าปิดไม่ยากหรอก แต่ที่ยากคือ เราจะส่งแมวเป็นร้อยไปไว้ที่ไหน จะเคลียร์สถานที่อย่างไร เผลอๆ ค่าใช้จ่ายก็พอๆ กับพยุงเอาไว้ และอย่างที่บอกตลอดคือ พอเราเห็นแมวแต่ละตัวได้บ้าน เราก็ดีใจไปด้วย เหมือนเป็นกำลังใจให้อยากจะสู้ต่อไปเรื่อยๆ”
เรามีแมวที่ได้บ้านเกือบทุกวัน มันเป็นความสุขที่บอกไม่ถูก ที่สำคัญยิ่งมาทำตรงนี้ เหมือนว่าความสุขเรายิ่งขยาย จากปกติได้ช่วยแมวก็มีความสุขแล้ว ยิ่งเห็นคนที่รักแมวมาทำงานที่เขารักและมีความสุข ได้มีอาชีพ มีรายได้ หัวใจเราก็ยิ่งพองโต
ท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาดที่คุกคามชาวโลกมานานปี นัชญ์ยอมรับว่าเหนื่อยขึ้นกว่าเดิม เพราะจำนวนแมวจรที่เพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณเป็นโจทย์ที่ทำให้ Catster เองก็ต้องปรับตัวค่อนข้างมาก
“ทุกวันนี้มีเคสแมวจรเยอะมาก จนไม่ต้องออกไปช่วยเหลือก็วิ่งเข้ามาหา ยิ่งมาเจอโรคระบาดยิ่งหนัก ต้องเปิดอีกตึกเพื่อทำ Catster สนาม เพราะมีเคสฉุกเฉินเข้ามาเยอะ เช่น เจ้าของเสียชีวิต ทิ้งแมวไว้ในบ้าน ไม่มีใครรับต่อ เพราะบางคนรังเกียจแมวที่เจ้าของเสียชีวิตจากโควิด เราก็พยายามให้ความรู้ว่า ถึงเจ้าของเสียชีวิตจากโควิด แต่แมวไม่ได้เป็น บางเคสเจ้าของหนีไปเพราะไม่มีเงินจ่ายค่าเช่า ทิ้งแมวไว้ หรือคนที่เคยช่วยรับหมาแมว 70-100 ตัว พอเจอพิษเศรษฐกิจก็ไม่ไหว เราก็ต้องไปรับไม้ต่อ”
ในฐานะที่เคยเลี้ยงทั้งแมวจรและแมวทั่วไป นัชญ์ไม่อยากปล่อยให้ปัญหานี้ถูกทิ้งไว้ เพราะเธอรู้ดีว่า ถ้าแมวไม่มีบ้าน สุดท้ายสิ่งที่ตามมาคือ แมวจะออกลูกออกหลานอีกเพียบจนกลายเป็นภาระสังคม แถมวงจรชีวิตก็ยังสั้นลงอีกต่างหาก จากอุบัติเหตุและโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ
นัชญ์จึงไม่เคยคิดจะหยุดทำหน้าที่นี้ ต่อให้เหนื่อยเพียงใดก็ตาม เพราะสำหรับตัวเองแล้ว แมวคือสัตว์ที่พลิกชีวิตของผู้หญิงธรรมดาๆ คนหนึ่งจากหน้ามือเป็นหลังมือ ทำให้เธอกลายเป็นคนอ่อนโยน มองโลกในแง่บวกเสมอ และรู้จักรักตัวเอง
“แมวเป็นสัตว์ที่ละลายพฤติกรรมมนุษย์ได้เป็นอย่างดี โกรธคนทั้งโลกมาจากข้างนอก พอเข้ามาข้างในบ้านแล้ว เราจะเอาพลังลบใส่แมวไม่ได้ แค่เขามุดเข้ามาหาก็หายเครียด หายขุ่นข้องหมองใจ แมวจะกัดข่วน ไม่เป็นไร เดี๋ยวไปสักทับรอยข่วนเอาก็ได้”
แต่ที่สำคัญยิ่งกว่า คือ เจ้าเหมียวเหล่านี้เองที่ทำให้นัชญ์กล้าลุกขึ้นมาทำอะไรเพื่อผู้อื่น
“เราคงไม่หาญกล้าบอกว่า สิ่งที่ทำเป็นการเปลี่ยนแปลงสังคม แต่อย่างน้อยเราได้ส่งต่อความรู้ วิธีเลี้ยงแมวที่ถูกต้องแก่ผู้อื่น หรือตอนนี้แมวของเราหลายตัวก็เป็นผู้ให้เลือดแมวตัวอื่น ที่สำคัญคือ หากสัตว์เลี้ยงต้องการความช่วยเหลืออะไรก็สามารถส่งข้อความเข้ามาทางเฟซบุ๊กหรือเว็บไซต์ของเราได้ เรายินดีช่วย โดยไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเป็นแมวเท่านั้น”
ส่วนเป้าหมายที่นัชญ์อยากทำให้สำเร็จ คือ บ้านพักแมวชรา เพราะที่ผ่านมาเธอพบว่า แมวจรแก่ๆ หลายตัวมักป่วยเป็นโรคไต ต้องให้น้ำเกลือ อาหารพิเศษ ซึ่งค่าใช้จ่ายก็ไม่ใช่น้อยเลย ซึ่งสาเหตุของโรคก็มาจากอาหารที่มนุษย์ใจดีหยิบยื่นให้ แต่หารู้ไม่ว่าอาหารเหล่านี้ไม่ดีต่อสุขภาพของแมว และสุดท้ายก็กลายเป็นยาพิษที่บั่นทอนอายุของเจ้าเหมียวลงไปเกือบครึ่ง
โดยไอเดียที่วางไว้คือ การหาสถานที่โล่ง ปลอดโปร่ง อาจจะเป็นต่างจังหวัด และเน้นวิธีรักษาแบบธรรมชาติบำบัด เพื่อให้จากไปอย่างมีความสุข ไม่ต้องทนนอนอยู่ในห้องไอซียู
“เคยกินอาหารแมวป่วยเหมือนกัน แล้วรู้เลยว่ามันไม่อร่อย เพราะฉะนั้นถ้าเป็นไปได้ เราอยากจะทำสถานที่ที่แมวป่วยอยากกินอะไรก็กิน แล้วไปอาบแดดทุกเช้า ให้ธรรมชาติบำบัด เขาอาจจะมีชีวิตอยู่ได้นานกว่าการฝืนรักษา ที่สำคัญ ตอนจากโลกนี้ไปก็มีดินกลบ ให้เขากลับคืนสู่ธรรมชาติ เพราะตอนนี้แมวจรที่เราดูแล หากตายเราจะใช้วิธีเผา เพราะในกรุงเทพฯ ไม่มีพื้นที่ให้ฝัง จากนั้นก็ทำพิธีทางศาสนาให้เขา”
อีกสิ่งที่นัชญ์อยากทำมานานคือ โรงพยาบาลสัตว์ราคาย่อมเยาที่มีสัตวแพทย์และเครื่องมือครบครัน โดยแผนกหนึ่งที่ต้องมีคือ แผนกทำหมัน เพื่อควบคุมประชากรของสัตว์เร่ร่อนเหล่านี้ น่าเสียดายที่ช่วงโระบาด ทำให้ความตั้งใจนี้ต้องหยุดชะงักลง เพราะนัชญ์ต้องนำเงินไปใช้หมุนเวียนกับเรื่องอื่นแทน แต่เชื่อว่า หากสถานการณ์คลี่คลาย โรงพยาบาลนี้ก็น่าจะเดินต่อไปได้
ตลอดระยะเวลากว่าสิบปีที่ทำงานเรื่องแมว ความฝันสูงสุดของนัชญ์คือ การได้เห็นแมวทุกตัวมีบ้าน มีคนเอาใจใส่ และโลกนี้ไม่หลงเหลือแมวจรอีกต่อไป แม้จะรู้อยู่เต็มอกว่าคงยากมาก แต่อย่างน้อย ความพยายามทำอะไรสักอย่าง บางทีก็อาจช่วยจุดประกายในใจของใครอีกหลายคน จนนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ก็เป็นได้
คนเล็กเปลี่ยนโลก : โครงการของเพจยอดมนุษย์..คนธรรมดา ซึ่งนำเสนอเรื่องราวของ 30 บุคคลผู้สร้างสังคมที่ยั่งยืน และช่วยกันสร้างคุณค่าสำคัญที่จะช่วยพลิกฟื้นประเทศ ท่ามกลางวิกฤตโรคระบาด โดยได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
นัชญ์ ประสพสิน คือบุคคลต้นแบบประเด็นทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความทั่วถึง ปลอดภัย พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและยั่งยืน (SDGs ข้อที่ 11) และประเด็นเสริมสร้างความแข็งแกร่งของกลไกการดำเนินงาน และฟื้นฟูหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs ข้อที่ 17)
เครือข่ายคนรุ่นใหม่ที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเมือง อย่างสร้างสรรค์ และเข้าใจถึงปัญหาของพื้นที่อย่างแท้จริง
นักเขียนนิทานเด็ก เจ้าของผลงาน ‘อีเล้งเค้งโค้ง’ กับความฝันอันยิ่งใหญ่ที่อยากยกระดับการอ่านให้เด็กไทยทั่วประเทศ
‘คนฝั่งธน’ รุ่นใหม่ ที่อยากขอทำหน้าที่เป็นสื่อกลาง คอยชักชวนผู้คนในพื้นที่ ให้มาร่วมกันบอกเล่าถึงเสน่ห์ของเมืองหลวงเก่าแห่งนี้
เจ้าของเพจ ทูนหัวของบ่าว Kingdom of tigers ผู้บุกเบิก Catsters โมเดลหาบ้านให้แมวจร เพื่อแก้ปัญหาในเมืองกรุง
นักขับเคลื่อนทางสังคม ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ หิ่งห้อยน้อย พื้นที่เล็กๆ ที่เปิดรับฟังเรื่องที่เด็กๆ ไม่กล้าเล่าให้คนอื่นฟัง
องค์กรที่ทำหน้าที่ผู้พิทักษ์อาหาร ส่งต่ออาหารส่วนเกินจากภาคส่วนต่างๆ เพื่อสร้างความสุขให้แก่ผู้คนที่ขาดแคลน และปราศจากโอกาส
โลกดนตรี ตำนานรายการคอนเสิร์ตกลางแจ้ง ที่ศิลปินยุค 1970-2000 อยากขึ้นแสดงมากที่สุด เพราะใครที่มีโอกาสได้ขึ้นเวทีนี้ แสดงว่าดังแล้ว
ห้องทดลองกฎหมายของ รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร ที่ทำงานเรื่องการพิสูจน์สิทธิเรื่องสัญชาติ เพื่อให้ทุกคนได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม
เครือข่ายคนรุ่นใหม่ที่อยากรักษาเสน่ห์ของพื้นที่อารีย์ พร้อมกับรักษาชุมชนที่ยั่งยืนด้วยการใช้กุศโลบายที่ดึงดูดให้คนทุกมีส่วนร่วม
นักออกแบบแดนปัตตานีที่รวมกลุ่มกันจัดกิจกรรม เพื่อเปลี่ยนภาพจำๆ เดิมของชายแดนใต้ ไปสู่กลายเป็นเมืองสร้างสรรค์
จากครูอาสาที่มาสอนดนตรีในชุมชนคลองเตย สู่การต่อยอด เพื่อสร้างโอกาสให้เด็กๆ ได้มีพื้นที่ที่จะเติบโตอย่างงดงาม
แรงบันดาลใจของพระอีสานผู้ไม่มีโอกาสได้เรียนต่อ สู่การสร้างโอกาสทางการศึกษาด้วยพลังงานแสงอาทิตย์
COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO. ALL RIGHTS RESERVED.