20 กุมภาพันธ์ 2545
คือวันที่นักร้องเสียงดี โจ้-อัมรินทร์ เหลืองบริบูรณ์ จากไปตลอดกาล
แม้จะผ่านไปนานร่วม 20 ปี แต่ผลงานและเสียงร้องที่เขาฝากไว้แก่วงการดนตรีไทยในห้วงเวลาสั้นๆ กลับไม่เคยจางหาย
ไม่ใช่แค่แฟนเก่าแก่ที่ติดตามมาตั้งแต่ยุค Bakery Music เท่านั้น แต่ยังรวมถึงคนรุ่นใหม่ที่พยายามขวนขวายหางานของเขามาฟัง มาร้อง มาเล่น
และนี่คงเป็นเหตุผลว่า เหตุใดใครหลายคนจึงมักบอกว่า..
โจ้..ในวันนี้อาจโด่งดังและเป็นที่รู้จักมากกว่าวันที่เขายังอยู่เสียอีก
เพื่อรำลึกถึงศิลปินผู้เป็นตำนาน ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ขอพาทุกคนนั่งไทม์แมชชีน ไปรู้จักตัวตนและเส้นทางที่อาจไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบของนักร้องนำวง Pause
แล้วคุณจะเข้าใจว่า ทำไมชื่อของเขาถึงยังครอง ‘ที่ว่าง’ ในใจแฟนเพลงมากมายไม่เปลี่ยนแปลง
รู้หรือไม่ ในวันที่เริ่มต้นโจ้ออกสตาร์ทในฐานะของผู้แพ้
เขาตกรอบในเวทีประกวด Thailand Coke Music Award ถึง 2 หน และเกือบถอดใจไม่ลงประกวดต่อในปีที่ 3
หากวันนั้นเขาไม่เปลี่ยนใจ บางทีวันนี้อาจไม่มีชื่อของ ‘โจ้ Pause’ ปรากฏบนสารบบของศิลปินไทยก็เป็นได้
ในช่วงที่โจ้จากไปใหม่ๆ พ่อกับแม่ของเขาเคยให้สัมภาษณ์ว่า ตอนอยู่บ้านแทบไม่เคยเห็นลูกชายคนนี้ร้องเพลงเลย
แต่น่าแปลกที่เขากลับเป็นคนที่หลงใหลในเสียงดนตรีชนิดถอนตัวไม่ขึ้น
ว่ากันว่า อิทธิพลนี้ถ่ายทอดมาจากแม่ เพราะแม่ของเขาชอบฟังเพลงร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ เวลาเจอร้านเทปทีไรก็ต้องแวะซื้อเสมอ
โจ้เรียนรู้เพลงจากการฟัง เขาหัดเอง ร้องเอง ไม่มีใครสอน เขาฟังเพลงแทบทุกแนว ทั้งลูกทุ่ง ลูกกรุง สตริง หรือแม้แต่เพลงสากล พ่อของเขาบอกว่า ลูกชายคนนี้เป็นคนหูทอง ฟังอะไรก็แยกได้หมด
หากแต่เส้นทางสายดนตรีของเขาเริ่มมาเป็นรูปเป็นร่าง ตอนเข้าปี 1 ที่ ม.เกษตรศาสตร์ เมื่อโจ้กลายเป็นหนึ่งในนักร้องนำของวง KU Band
วงดนตรีแห่งนี้ได้สอนวิธีการร้องเพลงให้เขามากมาย ตั้งแต่การจับไมค์ การเปล่งเสียง การแบ่งวรรคคำ หรือแม้แต่การออกเสียง ร.เรือ ล.ลิงให้ชัดเจน
แต่สิ่งที่สำคัญสุดคือ ทำให้เขารู้สึกอยากเป็นนักร้องจริงจัง
“ตอนนั้นมีรุ่นพี่มาช่วยสอน แต่ไม่ได้ฝึกเป็นโน้ตนะ เป็นการบอกว่าควรจะทำอย่างนั้นอย่างนี้ ส่วนมากจะเป็นเรื่องเทคนิคการร้อง โดยเฉพาะการร้องที่เวทีประกวด อย่างเช่นนักร้องไม่ควรกำไมค์ที่หัวไมค์ เพราะมันมีโอกาสที่จะหวีดสูง แล้วก็เสียงเราจะเข้าไม่เต็มอะไรอย่างนี้”
แต่กว่าที่เขาจะได้ลองวิชาแบบจริงๆ จังๆ ก็ผ่านไปนานร่วมปีเลย
ในปี 2534 โจ้ซึ่งย้ายมาเรียนที่พระจอมเกล้าพระนครเหนือ พาตัวเองเข้าประกวด Thailand Coke Music Award ครั้งที่ 2
โดยที่ผ่านมาเวทีนี้เป็นก้าวแรกของวงดังๆ หลายวง เช่น Moderndog และ Smile Buffalo
การประกวดในตอนนั้น มีทั้งประเภทขับร้อง และแบบวงโฟล์กซอง โดยเริ่มแรกจะเป็นการแข่งขันภายในสถาบันก่อน ผู้ที่ได้รับคัดเลือกก็จะมาแข่งต่อที่เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ จากนั้นก็คัดต่อให้เหลือ 5 คนสุดท้าย เพื่อไปแข่งในรอบชิงชนะเลิศ
ตอนนั้นโจ้ประกวดเลือกแบบขับร้อง คือร้องคนเดียว แต่น่าเสียดาย เพราะเขาตกรอบแรก!!
“ไม่ติดอะไรเลย รอบสถาบัน 1 ใน 3 ก็ไม่ได้ ก็มานั่งนึกดูว่าเป็นเพราะอะไร บางทีเรารู้สึกว่า เราน่าจะร้องดีกว่าคนนู้นนะ คนนี้นะ ทำไมเราไม่ได้ เรามานึกดูอีกที โค้กจะมีคะแนนเอนเตอร์เทน การสร้างอารมณ์ร่วมกับผู้ชม 30 แต้ม จาก 100 ซึ่งเยอะมาก ส่วนคะแนนการร้อง ร้องดีกว่ากันก็ไม่ห่างกันแต้มสองแต้มหรอก แต่ว่าคะแนนเอนเตอร์เทนนี่เราไม่ได้ตรงนี้ โดนเข้าไปทีหนึ่งก็เรียบร้อย”
แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็ไม่ยอมหยุด ปีต่อมา โจ้กลับมาอีกหน ปรากฏว่า ครั้งนี้เขาคว้าอันดับ 1 ในรอบสถาบัน แต่มาพลาดท่าในรอบที่ 2
“เราจำเจกับเพลงเดิมๆ ตอนนั้นร้องเพลงไทยทั้งคู่ คือ ‘ทะเลคน’ ของสุรสีห์ อิทธิกุล กับ ‘หลบไปให้พ้น’ ของอินคา ซึ่งเป็นเพลงใกล้ๆ กันนะ ก็ไม่ได้ฉีกความสามารถอะไรเลย เพราะว่าตัวแทนสถาบันอื่นที่เข้าไป เขาจะร้องเพลงไทยเพลงหนึ่ง เพลงสากลเพลงหนึ่ง ซึ่งทำให้ดูแล้วมีความสามารถ ถึงเราจะร้องได้เท่าเค้า แต่ว่าพอกรรมการเห็นก็คงจะรู้สึกหลากหลายกว่า ได้หลายประเภท ก็เลยไม่ผ่านเข้าไปชิงชนะเลิศรอบสุดท้าย”
ความพ่ายแพ้ 2 ปีซ้อนเล่นเอาโจ้ซวนเซไปไม่น้อย เขายอมรับตามตรงว่าท้อ ถึงขั้นคิดจะเบนเข็มไปทำอย่างอื่น แต่คงเหมือนโชคชะตากำหนดมาแล้วว่า ‘เขาต้องเป็นนักร้อง’
โจ้บอกว่า เขาเดินวนเวียนอยู่กับป้ายโบรชัวร์รับสมัครอยู่นานหลายวัน ไม่รู้ว่าจะทำยังไงดี จนวันสุดท้ายเขาก็ตัดสินใจว่า ขอลองอีกสักหน
“มีเพื่อนสนิทอยู่คนหนึ่ง เขาบอกว่า ‘จะดีเหรอ เดี๋ยวพลาดนะ หยุดพักซักปีได้รึป่าวแล้วค่อยประกวดตอนปี 4’ เราก็บอกว่า ‘ไม่ได้แล้ว ไม่รอแล้ว เป็นไงเป็นกัน’
“ในปีนี้เริ่มเอาเพลงสากลเข้ามาร้องบ้างแล้ว แต่ว่ายังร้องได้ไม่ดีมาก จึงตัดสินใจว่า เอาเพลงที่ร้องได้ดีๆ ดีกว่า ก็เลยร้องเพลงยอม ของหินเหล็กไฟ กับไม่รักไม่มาใส่ใจของ Question ซึ่งดูแล้วค่อนข้างจะฉีกกันหน่อย สุดท้ายก็ผ่านเข้ามาแบบฉิวเฉียด ฉิวเฉียดจริงๆ”
พอถึงรอบ 2 เขาก็ยังคงเลือกเพลงยอมมาแสดงอย่างต่อเนื่อง ส่วนอีกเพลงเขาเลือก I Write the Songs ของ Barry Manilow มาร้อง ปรากฏว่าครั้งนี้สำเร็จ ทะลุเข้ารอบสุดท้ายได้เป็นครั้งแรก
“เราพยายามพัฒนาตัวเอง.. แต่แทนที่ฝึกลูกคอก็ไม่ใช่แล้ว เป็นเน้นทางภาษาอังกฤษมากกว่า ไปหัดร้อง หัดเพลงสากลให้มากขึ้น หาซื้อเทปแปลกๆ มาฟังบ้าง หรือว่าเพลงไหนที่เราร้องแล้วจะได้ดี การประกวดนี่จะมีสิ่งที่แปลกอยู่อย่างคือ คนแปลกมักจะได้ มันคงทำให้กรรมการไม่เบื่อมั้ง เขาตื่นมาอีกครั้งแล้วดูด้วยความสดใสอะไรอย่างนี้”
ก่อนประกวดรอบสุดท้าย โจ้ได้ไปเข้าแคมป์กับผู้ที่ผ่านเข้ารอบคนอื่นๆ ที่แพชาวดง กาญจนบุรี
ที่นั่นเองเขาได้พบกับเพื่อนต่างสถาบันมากมาย รวมถึง เอ–พลกฤษณ์ วิริยานุภาพ และ นอ–นรเทพ มาแสง สองหนุ่มจากรั้ว มศว. ซึ่งต่อมาทั้งหมดรวมตัวกลายเป็นวง Pause
สิ่งหนึ่งที่เขาได้เรียนรู้จากการเข้าแคมป์ นอกจากเรื่องมิตรภาพของนักดนตรีแล้ว ก็คือ วิธีการร้องเพลงและนำเสนอผลงานให้เข้าถึงใจของผู้ฟัง
โจ้รู้ตัวเองดีว่า ไม่ใช่คนเก่งที่สุด เพราะฉะนั้นตอนแรกเขาตั้งใจจะเลือกเพลงที่แปลกๆ เพื่อดึงความสนใจของกรรมการ แทนที่จะเลือกเพลงซึ่งคิดว่าตัวเองร้องได้ดีที่สุด
แต่จุดเปลี่ยนเกิดขึ้นเมื่อรุ่นพี่พระนครเหนือคนหนึ่ง จากวงนักเดินทาง ซึ่งเข้ารอบชิงเหมือนกัน แต่เป็นประเภทวง บอกเขาว่า “เลือกเพลงเซ็งชิบเป้งเลย เลือกอย่างนี้แพ้แน่นอน เดี๋ยวกูเลือกให้เอง”
จากนั้นเขาส่งเพลงร็อกอย่าง Carrie ของ Europe มาให้ ส่วนอีกเพลงโจ้เป็นคนเลือกเอง คือ อย่าหยุดยั้ง ของ The Olarn Project ซึ่งถือเป็นเพลงที่เข้าปากเขาพอดี
อีกอย่างคือ เขาได้พบกับครูมืออาชีพ คือ ครูอ้วน–มณีนุช เสมรสุต และ ครูเอก–จิระชัย กุลละวณิชย์ ที่ช่วยเปิดมุมมองความคิดให้กว้างขึ้น
“พี่อ้วนจะสอนการเลือกเพลง การแบ่งลมหายใจ เบสิกพื้นฐานการร้อง มีคำถามบางคำถามที่น่าสนใจ เช่น เวลาเสียงสูงมากๆ นี่เราจะทำยังไงดี พี่อ้วนบอกว่า คนเรามีพรสวรรค์ไม่เท่ากัน เพดานการร้องของเสียงตัวสุดท้ายของเราไม่เท่ากัน บางคนพยายามแทบตายก็ไม่ได้ บางคนไม่ต้องหัดก็ร้องได้เลย.. ถ้าเราร้องสูงแบบนั้นไม่ได้ก็ต้องลดคีย์ให้ลงมาพอดีกับเรา ไม่ใช่ผ่าร้องจนคอแตกจนเสียงเพี้ยน
“ส่วนพี่เอกก็จะสอนบุคลิกบนเวที การจับไมค์ การยืนการใช้พื้นที่บนเวที เวทีกว้างๆ นี่เราจะใช้ยังไงให้หมด ไม่ใช่ยืนนิ่งเป็นขาไมค์แบบนั้นก็ไม่ได้”
หลังจากประกวดอยู่นานหลายเดือน ในที่สุดรอบชิงชนะเลิศที่ MBK Hall ก็มาถึง ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2537
โจ้เปิดฉากด้วยเพลงอย่าหยุดยั้ง น้ำเสียงที่มีพลังเรียกมนต์สะกดจากผู้ชมได้ชะงัก
ก่อนจะส่งต่อไปยังเพลง Carrie ซึ่งเขาเปลี่ยนชุดกลางเวทีตอนดับไฟ เรียกเสียงฮือฮาได้ไม่แพ้เพลงแรก
“ตอนเพลงภาษาอังกฤษ เราต้องแปลเนื้อแล้วพยายามจินตนาการด้วยว่า คนแต่งเขาคิดอะไรอยู่ บางทีเราก็ไม่รู้ว่าเขานึกถึงอะไรแค่ไหน เราก็ลองนึกถึงผู้หญิงคนนี้ ชื่อ Carrie ดูเราคิดว่ายังไงก็สื่อออกมา สีหน้า แววตา มันจะออกมาเป็นบุคลิกของเราเอง ถ้าเราเลือกเพลงที่เป็นตัวของเรา ผมเชื่อเลยว่า ทุกคนจะมีดีสุดในตัวเอง”
แม้โจ้จะไม่เคยคิดถึงชัยชนะมาก่อน แต่สำหรับคนที่มีโอกาสได้ชมรอบชิงของ Thailand Coke Music Award ครั้งที่ 4 ต่างบอกเป็นเสียงเดียวว่า เขาทำได้ดีมาก แทบไม่มีที่ติเลย
ในที่สุด ผลของการไม่เคยยอมแพ้และต่อสู้มาตลอด 3 ปีก็สัมฤทธิ์ผล เมื่อพิธีกรประกาศว่า ผู้ชนะคือ หนุ่มพลังร็อก แล้วตามด้วยชื่อของเขา
และนั่นเองคือจุดเริ่มต้นของประตูบานใหม่ที่พลิกชีวิตของนักศึกษาวิศวะผู้นี้ไปตลอดกาล
แม้จะมีความหวังอยากเป็นศิลปิน ได้ออกเทปออกอัลบั้ม แต่ก็ใช่ว่าโอกาสจะมาถึงง่ายๆ
หลังคว้าแชมป์ได้สำเร็จ โจ้ก็กลับไปเรียนต่อ โดยระหว่างนั้นทางโค้กพาไปแคมปัสทัวร์ตามมหาวิทยาลัยต่างๆ รวมทั้งพาไปสหรัฐอเมริกา เพื่อเล่นลิเกลำตัด หารายได้ช่วยเด็กกำพร้าและวัดไทย
ส่วนเรื่องออกอัลบั้มก็ยังดูเป็นฝันลอยๆ โจ้บอกว่าอยากทำเหมือนกัน เขาพยายามเขียนเพลงเอง แต่ก็ยังไม่ลงตัวสักที รวมถึงเคยคุยกับเพื่อนที่คุ้นเคยกันเรื่องตั้งวง แต่ก็เหลว
สุดท้ายเลยหันเหมาร้องเพลงในร้านอาหารชื่อ BEN อยู่ที่ซอยสุขุมวิท 107
จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นเมื่อนิตยสารบันเทิงคดี ของมาโนช พุฒตาล มีคอลัมน์ชื่อ COLLEGE ARTISTS เชิญนักศึกษาที่โดดเด่นเรื่องดนตรีมาสัมภาษณ์ ซึ่งโจ้เองก็เป็นคนหนึ่ง ในฐานะแชมป์ Thailand Coke Music Award 1993 ประเภทขับร้อง เช่นเดียวกับ นอและเอ ซึ่งได้รับเลือกเหมือนกัน แต่ลงคนละฉบับ
ต่อมาปลายปี 2537 นิตยสารบันเทิงคดี มีแผนจะชวนทุกคนที่เคยลงคอลัมน์มาจัด Party Concert ร่วมกันที่หอประชุมเล็ก ธรรมศาสตร์ ทั้งสามเลยมาเจอกันอีกครั้ง
เอกับโจ้คุ้นเคยกันก่อนแล้วเพราะเคยเป็นบัดดี้กันตอนไปแคมป์ที่กาญจนบุรี
ขณะเดียวกัน เอก็กำลังช่วยนอ ซึ่งเป็นรุ่นพี่ มศว. ทำโปรเจ็กต์จบอยู่ด้วย
เมื่อต้องมาขึ้นเวทีคอนเสิร์ต นอกับเอก็เลยจับคู่กัน ตั้งใจจะเล่นเพลงบรรเลงที่เอแต่ง โดยพวกเขาได้ดึงรุ่นน้องอีกคนชื่อ บอส–นิรุจ เดชบุญ มาเล่นเป็นมือกลอง แต่เอมาบอกตอนหลังว่า เขามีเพลงเวอร์ชันที่มีเนื้อด้วยนะ
ทั้งหมดก็เลยมองหานักร้องนำเพิ่มเติม พอดีนอนึกถึงโจ้จึงถามเอว่า “ถ้าเป็นไอ้นั่นที่หัวฟูๆ เอาไหม ที่ชนะโค้ก” เอก็บอกว่า “ถ้าได้คนนั้นก็เยี่ยมเลย”
เมื่อถึงวันประชุมของบันเทิงคดีอีกหน นอเลยชวนโจ้มาร่วมเล่นด้วย โจ้ซึ่งเวลานั้นยังว่างๆ อยู่ และอยากมีวงของตัวเองพอดีก็ตอบตกลงทันที
นั่นเองคือ จุดเริ่มต้นของวงดนตรีน้องใหม่ อย่าง Pause
สำหรับชื่อ Pause เอเป็นคนตั้ง มาจากเครื่องหมายดนตรีที่ชื่อ Fermata เป็นภาษาอิตาลี แปลว่า หยุด (ชั่วคราว) ซึ่งตรงกับคำว่า Pause ในภาษาอังกฤษ
ระหว่างนั้น ทั้ง 4 คนก็มาช่วยกันทำเพลงเพิ่มเติม จนออกมาเป็นเดโม่ 5 เพลงแรก คือ หมา (นิทานหมาหางกุด), ที่ว่าง, มหัศจรรย์, เราสอง และเพื่อน จากนั้นก็ส่งไปเสนอตามค่ายเพลงต่างๆ แต่ปรากฏว่า สิ่งที่ได้รับกลับมาคือ ความเงียบ
กระทั่งถึงวันแสดง วันนั้นแม้ผู้ชมไม่มาก แต่ก็มีคนสำคัญที่มาร่วมชมงาน คือ สุกี้–กมล สุโกศล แคมปป์ แห่ง Bakery Music
สุกี้สนใจ Pause มาก เขาบอกว่า ในบรรดาวงทั้งหมด วงนี้เล่นเป็น เล่นรู้เรื่องที่สุด แต่สิ่งที่เข้าตามากสุดคือ เสียงของโจ้ ที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์
พอจบงานเขาจึงรีบขึ้นเวทีไปทาบทามให้มาร่วมสังกัด ซึ่งครั้งนั้นทั้งสี่ก็ยังกึ่งเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง แต่ก็รับปากไปว่าสนใจ
ถัดมาอีกไม่กี่เดือน คลื่น Pirate Rock Radio ได้จัดมินิคอนเสิร์ตให้อรอรีย์ที่ Hard Rock Cafe โดยก่อนที่จะเล่น ทางเจ้าของคลื่นอย่าง วินิจ เลิศรัตนชัย มีนโยบายเปิดโอกาสให้วงหน้าใหม่ที่ยังไม่มีผลงานมาแสดงเป็นวงเปิดงาน ซึ่งรอบของอรอรีย์นี้ วงที่มาจับคู่ด้วยก็คือ Pause นั่นเอง
โดยผู้ชมสองคนที่มาร่วมงาน ก็คือ สมเกียรติ อริยะชัยพาณิชย์ กับ สาลินี ปันยารชุน ซึ่งพอชมเสร็จก็ติดใจมาก รีบกลับมาบอกสุกี้ว่า เจอวงที่น่าสนใจมาก ชื่อ Pause สุกี้จึงบอกว่า คุยเรียบร้อยแล้ว
แล้วหลังจากนั้นไม่นาน สุกี้ก็เรียกตัวทั้ง 4 คนมาเซ็นสัญญา กลายเป็นสมาชิกใหม่ของค่ายขนมปังดนตรี ก่อนที่จะออกอัลบั้มแรก ในอีก 1 ปีถัดมา
“..จงรักกันและอยู่ใกล้กัน แต่ขอให้มีที่ว่างให้สายลมแห่งรักพัดผ่านระหว่างคุณทั้งสอง..”
หากใครเป็นแฟนเพลงของ Pause เชื่อเหลือเกินว่า คงต้องคุ้นกับประโยคนี้เป็นอย่างดี เพราะร่วมพันครั้งที่โจ้ร้องเพลง ‘ที่ว่าง’ เขาก็มักจะเอ่ยประโยคนี้ก่อนเสมอ
แต่กว่าที่เพลงที่ว่างจะโด่งดังกลับไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
ที่ว่างเป็นผลงานการเขียนของเอ ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากหนังสือเรื่องปรัชญาชีวิต ของคาบิล ยิบราน กวีชาวเลบานอน เป็นหนังสือที่นักเรียนศิลปะชอบอ่านกันมาก โดยจะมีข้อความเปรียบเทียบที่โดนใจหลายอย่าง เช่น ‘เสาวิหารตั้งอยู่ห่างกัน แต่ก็ทำให้มันตั้งอยู่ได้’ หรือ ‘จงเติมถ้วยของกันและกัน แต่อย่าดื่มจากถ้วยเดียวกัน’ เขาจึงนำความคิดเหล่านี้มาตกผลึก และถ่ายทอดออกเป็นเนื้อเพลง
ความจริง ‘ที่ว่าง’ เป็นที่รู้จักของแฟนเพลง ตั้งแต่ก่อน Pause มีอัลบั้มแรกแล้ว เพราะช่วงที่เล่นเปิดให้อรอรีย์ Pirate Rock Radio เคยนำเวอร์ชันสดที่บันทึกเสียงไปเปิดออกอากาศจนติดชาร์ต แต่ถึงอย่างนั้นก็ต้องยอมรับว่า ความดังของเพลงอยู่ในวงจำกัดมาก
เพราะฉะนั้นจึงไม่แปลกที่พวกเขาจะเลือกเพลงนี้เป็นงานโปรโมตแรกๆ
แต่ว่ากันว่า ช่วงบันทึกเสียง โจ้กลับใช้เวลานานถึง 9 ชั่วโมงเต็ม เนื่องจากไม่เคยร้องเพลงในห้องอัดเสียงแบบนี้มาก่อน แถมอุปกรณ์อย่างไมโครโฟนก็ไวต่อเสียงมาก แค่มีอะไรหลุดเข้ามานิดเดียวก็จับได้หมด
เป็นเหตุเขาต้องร้องใหม่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนบางทีก็เล่นเอาท้อไปเหมือนกัน แต่สุดท้ายด้วยความพยายาม ในที่สุดก็ผ่านพ้นไปด้วยดี
อย่างไรก็ตาม ระหว่างบันทึกเสียง ทางผู้บริหารค่ายได้ขอพวกเขาให้หยุดอัดสัก 6 เดือน เพื่อไปตัวแทนค่ายร่วมกับ Silly Fools เดินสายออกแสดงทั่วประเทศในคอนเสิร์ต Alternative Party On Tour พร้อมศิลปินจาก BMG คือ Wizard และ Audy ซึ่งแน่นอนว่า เพลงเอกที่ Pause หอบหิ้วไปไหนๆ ด้วยก็คือ ‘ที่ว่าง’ โดยเพลงนี้ได้ถูกบรรจุในแผ่นมินิซีดี ซึ่งเป็นเสมือนบัตรคอนเสิร์ตเข้างาน
แม้ตอนนั้น Pause จะไม่มีทั้งอัลบั้มและชื่อเสียงใดๆ แต่ประสบการณ์ทัวร์รอบนี้ก็ทำให้พวกเขาแข็งแกร่งขึ้นมาก เนื่องจากต้องรับมือกับผู้ชมที่หลากหลาย บางคนก็แค่ปรบมือให้ บางคนก็เฉยๆ แต่มีไม่น้อยที่โห่ไล่ ปาข้าวของ เรียกร้องให้ลงจากเวที เพราะอยากดู Audy ซึ่งเป็นศิลปินเพียงคนเดียวที่มีเทปวางแผงแล้ว แต่พวกเขาก็ไม่ถอย ขอเดินหน้าต่อไป เพราะรู้ดีว่า นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น
วันที่ 22 สิงหาคม 2539 อัลบั้ม Push (Me) Again วางแผง ชีวิตของพวกเขาทั้งสี่ก็พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ เพราะเพลงที่ว่าง หนึ่งในสองเพลงที่ค่ายส่งไปโปรโมตคู่กับ หมา (นิทานหมาหางกุด) นั้นดังเปรี้ยงปร้าง ขึ้นชาร์ตของหลายสถานีวิทยุ
แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าคือ อัลบั้มชุดนี้เป็นการยืนยันว่า โจ้คือ นักร้องเสียงมหัศจรรย์
สุกี้เคยบอกว่า โจ้คือ He is one of the best เพราะคุณสมบัติของนักร้องที่ดี คือเมื่อเสียงลอยมา คนฟังจะต้องรู้เลยว่าเป็นใคร ต้องมีลายเซ็นและเอกลักษณ์ชัดเจน ซึ่งโจ้มีทั้งหมดนี้ครบถ้วน
อีกอย่างหนึ่งคือ การที่เขาพยายามท้าทายตัวเองอยู่เสมอ
“ผมคิดว่าผมเป็นนักร้องได้ตั้งแต่เด็กๆ ผมอาจจะไม่ใช่นักร้องที่ฝึกมาอย่างถูกต้อง แต่ผมคิดว่าตัวเองเข้าใจพอสมควรว่าดนตรีคืออะไร การเป็นนักร้องคืออะไร”
อย่างเพลงยื้อ ซึ่งมีจังหวะทั้งขึ้นเสียงสูงและลงต่ำ สลับกันทั้งเพลง โจ้บอกว่า เป็นความตั้งใจของเขาที่อยากพิสูจน์ว่า สามารถทำได้ทุกอย่าง เหมือนกำแพงที่ต้องปีนข้ามให้ได้ และเมื่อร้องเสร็จแล้ว ก็แปลว่า เราจบหลักสูตรของการเป็นนักร้องที่แท้จริง
หรือเพลง ธาราทัต–ธีรวัฒน์ เพลงที่แต่งขึ้นเพื่ออุทิศให้เพื่อนที่จากไป โจ้บอกว่า เขาร้องด้วยความรู้สึกเหมือนคนที่ตายไปแล้ว กระทั่งดีเจต้องถามว่าไปเอาประสบการณ์เหล่านี้มาจากไหน ซึ่งเขาตอบว่า เขาอ่านหนังสือหลายเล่ม รวมถึงศึกษาการเขียนเนื้อเพลงของพวกวงเดธเมทัล แล้วนำมาปรับใช้ ซึ่งต้องบอกว่าได้อารมณ์เวิ้งว้าง เหมือนอยู่ในอีกโลกหนึ่งจริงๆ
แม้อัลบั้ม Push (Me) Again อาจไม่ใช่อัลบั้มที่ขายดีมากนัก เมื่อเทียบกับศิลปินร่วมยุคอัลเทอร์เนทีฟ แต่ในอีกมุม ผลงานชุดนี้ถือเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของวงการเพลงไทยยุคอัลเทอเนทีฟเฟื่องฟู และใบเบิกทางสำคัญที่ทำให้ชื่อของ โจ้ และ Pause ยังคงอยู่ในความทรงจำของผู้คนมาตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี
ผมคิดว่าผมเป็นนักร้องได้ตั้งแต่เด็กๆ ผมอาจจะไม่ใช่นักร้องที่ฝึกมาอย่างถูกต้อง แต่ผมคิดว่าตัวเองเข้าใจพอสมควรว่าดนตรีคืออะไร การเป็นนักร้องคืออะไร
ความสำเร็จเป็นสิ่งไม่จีรัง คือเรื่องหนึ่งที่โจ้ได้เรียนรู้จากเส้นทางบนถนนสายดนตรี
เพราะขณะที่อัลบั้มแรกโด่งดังไปทั่วเมือง อัลบั้มที่ 2 กลับเจ๊งไม่เป็นท่า แม้จะมีเพลงเอกอย่าง รักเธอทั้งหมดของหัวใจ ก็ตาม กระทั่งเมื่อมาทำชุดที่ 3 Mild พวกเขาก็กลับมาเป็นวงดนตรีแถวหน้าอีกหน
สำหรับใครหลายคน อัลบั้มนี้ถือเป็นมาสเตอร์พีชของโจ้ และ Pause เพราะเกือบทุกเพลงต่างได้รับความนิยม ไม่ว่าจะเป็น ความลับ ข้อความ ดาว สัมพันธ์ หรือกอดหมอน แถมยังข้ามยุคข้ามกาลเวลาโด่งดังมาจนถึงปัจจุบันอีกต่างหาก
หากจะว่าไปแล้ว Mild ก็เป็นอัลบั้มที่เกิดขึ้นมาจากความบังเอิญ เพราะในช่วงที่ Pause พักวงไว้ชั่วคราว หลังรู้สึกเฟลกับอัลบั้ม Evo. & Nova แต่โจ้กับนอก็ยังต้องเข้าบริษัทเพื่อดูแลและเทรนน้องๆ เลือดใหม่ของ Bakery Music ที่เตรียมออกอัลบั้ม อย่าง วง H
ระหว่างนั้นทั้งคู่ก็คุยๆ เล่นๆ เคาะกีตาร์แต่งเพลงไปเรื่อยๆ จนเกิดความรู้สึกอยากทำอัลบั้มคัฟเวอร์อะคูสติกเพลงฟังสบายๆ ขึ้นมาสักชุด จึงไปเชิญ โอ๋–ธีร์ ไชยเดช มือกีตาร์ระดับเซียนมาเป็นโปรดิวเซอร์
แต่พอทำไปทำมา ปรากฏว่า บอสกับเอก็กลับมาร่วมด้วย แถมยังมีเพลงใหม่ๆ เข้ามาเสริม และสุดท้ายก็ออกมาเป็นอัลบั้มเต็ม ที่มีเพลงคัฟเวอร์แค่ 2 เพลง คือ ดาว กับ ความลับ
ผลงานชุดนี้ทำให้ Pause เกิดแฟนคลับที่เหนียวแน่น นอกจากนี้พวกเขายังเดินสายโปรโมตเปิดคอนเสิร์ตเล็กๆ ไปทั่วประเทศ กระทั่งยอดขายแซงทะลุชุดแรกไปไกล
สำหรับใครหลายคนแล้ว Mild ถือเป็นอัลบั้มที่เผยศักยภาพของโจ้อย่างชัดเจนว่า บางทีเพลงช้าๆ เบาๆ นั้นก็ดูเหมาะกับเสียงที่สูง ใส กังวาน ของเขามากกว่าเพลงร็อกหนักๆ แบบสองอัลบั้มแรกเสียอีก และกลายเป็นภาพจำที่อยู่คู่กับโจ้มาจนถึงวันนี้
หลังอัลบั้ม Mild เสร็จสิ้น วง Pause ถือโอกาสนี้หยุดพักวง อาจจะมีแวะมารวมตัวกันบ้างช่วงที่ทำอัลบั้มรวมฮิต ซึ่งมีเพลงใหม่เพิ่มเข้ามา 2 เพลง คือ ไม่มีวันแพ้ กับ ช่วยบอกได้ไหม
ระหว่างพักนั่นเอง ธีร์ซึ่งช่วงหลังสนิทกับโจ้มาก อยากหารายได้พิเศษให้น้องชายคนนี้ในช่วงที่เบรกวง จึงทำอัลบั้ม Simply Me ขึ้นมา โดยรวบรวมบทเพลงที่มีความหมายในชีวิตของโจ้เข้าไว้ด้วยกัน
ธีร์เคยให้สัมภาษณ์ว่า “อัลบั้มชุดนี้เราอยากย้อนกลับไปสู่สิ่งที่โจ้อยากเป็น เพราะช่วงนั้นผมอยู่กับโจ้เยอะมาก เยอะจนแทบไม่เคยอยู่กับใครเยอะขนาดนี้ แล้วก็อ่านคาแรกเตอร์กัน ก็มีความรู้สึกว่าเขาอยากเอาเพลงเก่ามาร้อง เล่าถึงชีวิตของเขาในสมัยก่อน จึงมาคัดเลือกเพลง เมื่อโจ้เลือกแล้วเราก็มานั่งคุยกันถึงความเหมาะสมว่าเพลงนี้ทำออกมาแล้วจะเป็นอย่างไร เฮ้ย! เพลงนี้ โจ้อย่าไปแตะเลยนะ ครูเพลงเขาเขียนมาดีมากเลย พี่ไม่กล้าทำ”
แม้อัลบั้ม Simply Me อาจไม่ได้โด่งดังเปรี้ยงปร้าง แต่ก็เป็นงานที่ใครหลายคนหลงรัก และยังคงความคลาสสิกไม่เปลี่ยนแปลง
ช่วงนั้นเองที่โจ้เริ่มหันเหไปเป็นนักร้องกลางคืน ด้วยการช่วย ตุ๊ก–วิยะดา โกมารกุล ณ นคร ร้องเพลงสัปดาห์ละ 2 วันที่ร้านอาหาร Imageries จนร้านหมดสัญญา ก่อนจะมาร้องต่อที่ร้านใหม่ คือ T29
ตุ๊กบอกว่า โจ้มักคิดว่าตัวเองร้องเพลงไม่ดี ร้องเพลงไม่เพราะ ทั้งๆ ที่เขามีแฟนเพลงแน่นร้าน เขาไม่เคยยอมรับว่าตัวเองมีชื่อเสียงโด่งดัง
แต่นั่นไม่ใช่ความจริงเลย เพราะทุกคนต่างรู้ดีว่าโจ้คือ ตัวจริงเสียงจริง
แม้แต่ กมลา สุโกศล แม่ของสุกี้ซึ่งปกติแล้วไม่ค่อยติดตามศิลปินไทยสักเท่าไหร่ แต่เมื่อไปชม Bakery The Concert ยังเอ่ยปากชมว่า ‘ไอ้ผมหยิกน่ะร้องเพลงได้ He’s the singer!’
เช่นเดียวกับ เป้–ภิทรู พลชนะ มือคีย์บอร์ด เพื่อนสนิท ที่บอกว่า โจ้เป็นคนที่ไม่เคยปฏิเสธใครเลย และพร้อมยินดีช่วยเหลือทุกคนเต็มที่
“ตอนนั้นมีงานกุศลงานหนึ่ง ไม่มีนักร้องไป ผมวิ่งวุ่นทำไงดี โทรตามโจ้แต่เช้า เอ็งอยู่ไหน เสียงอู้อี้ตอบว่า ‘นอนอยู่ พี่มีอะไรครับ’ ผมขอร้องให้มาช่วยร้องเพลง เขาว่า ‘ได้พี่ เดี๋ยวออกไปเลย’ แต่เขาไม่ค่อยรู้จักถนนหนทางในกรุงเทพฯ ผมจึงอธิบายว่า ลงจากรถไฟฟ้า แล้วจะเห็นป้ายสถาบันเกอเธ่สีเขียว สักพักเสียงร้อนรนโทรเข้ามาว่า ยืนอยู่ริมถนนหน้าป้ายสีเขียว แต่ไม่เห็นมีคน ผมย้ำว่าอยู่หน้าเกอเธ่แน่นะ เขาทวนคำ ‘เกอเธ่เหรอพี่’ แล้วนิ่งไป ‘พี่ครับ ผมหลงยืนอยู่หน้าคาเธ่ย์ตั้งนาน’
“พอถึงงาน ไม่มีใครรู้จักเขาเลย คนมองหัวจรดเท้า แต่เมื่อเขาขึ้นเวที หลับตาร้องเพลง ทั้งห้องเงียบกริบ เสียงเขาสะกดผู้ฟังได้ ทุกคนตั้งใจฟังชายหัวฟู มาดเซอร์ร้องเพลงอย่างไม่สนว่า เขาคือใคร”
ในช่วงปี 2544 Pause ห่างหายไปจากวงการเพลงไทย ท่ามกลางกระแสข่าวลือเรื่องจะหยุดหรือไปต่อ แต่ความคลุมเครือนี้ก็ค่อยๆ จางไป หลังโจ้ลาสิกขาในช่วงปลายปี เพราะพวกเขากลับมาเดินสายแสดงคอนเสิร์ตอีกครั้ง พร้อมยังส่งเพลงสั้นๆ ชื่อว่า If มาให้บรรดาแฟนคลับใช้ประกอบในเว็บไซต์ ที่สำคัญคือ เริ่มมีข่าวว่า พวกเขากำลังพูดคุยกับค่ายใหญ่แห่งหนึ่ง เพื่อทำงานร่วมกันในอนาคต
หากแต่ทุกอย่างก็เป็นเหมือนสายลมที่พัดผ่านไป เพราะหลังจากคอนเสิร์ตสุดท้ายที่หอประชุมใหญ่ธรรมศาสตร์ผ่านไปได้เพียง 4 วัน ทุกคนก็ได้รับข่าวเศร้า
แม้วันนี้ ชีวิตของโจ้จะเป็นเพียงแค่อดีต แต่บทเพลงมากมายที่เขาได้ฝากเอาไว้ก็ยังคงเป็นปัจจุบันอยู่เสมอ บางเพลงถูกหยิบนำไปใช้ประกอบละครและภาพยนตร์ต่างๆ หลายเพลงที่ Pause แทบไม่เคยหยิบมาเล่นเลยในสมัยนั้นก็กลับมีผู้นำมาคัฟเวอร์กันเต็มไปหมด
บางที นี่ก็คงเป็นเหมือนกับสิ่งที่เขาเคยกล่าวไว้เมื่อนานมาแล้ว
“..ผมเคยเขียนบอกตัวเองว่า ตอนนี้ผมกำลังสร้างชีวิตที่เป็นอมตะ.. อมตะของผมก็คือ ผมอยากมีชื่อจารึกไว้ให้ลูกหลานได้อ่านต่อไป เมื่อชีวิตผมดับลง..”
และวันนี้ เขาก็ได้ทำความฝันนั้นสำเร็จแล้ว..
ค่ายเพลงแห่งความทรงจำที่มีศิลปินอายุเฉลี่ยน้อยที่สุดในประเทศ และยังคงมีแฟนคลับมาจนถึงทุกวันนี้
เรื่องทีมสร้างสรรค์ของค่ายเพลงขนมปังดนตรีในตำนาน ผู้บุกเบิกการทำปกและแพ็กเกตอัลบั้มยุคใหม่ของวงการ
วงดนตรีร็อก ผู้จุดกระแสยามฟีเวอร์ และยังคงครองความนิยมมาตลอด 20 กว่าปี
เรื่องราวของทีมทำเพลง ผู้อยู่เบื้องหลังวงร็อกดัง อย่าง big ass, bodyslam และ labanoon
โป้ โยคีเพลย์บอย ศิลปินนักร้องผู้สร้างผลงานเพลงเหนือกาลเวลา ที่ยังคงอยากทดลองอะไรใหม่ๆ ในวงการดนตรีอยู่เรื่อยๆ ไป
พูดคุยกับทีมเขียนบท SuckSeed ห่วยขั้นเทพ หนังไทยที่จุดกระแสดนตรีไปทั่วโรงเรียนมัธยม
เครือข่ายที่ทำงานเรื่องการ ‘ตายดี’ เพื่อช่วยให้ผู้คนสามารถจากไปได้มีความสุข และลดความขัดแย้งแก่คนรอบใกล้ที่คอยดูแลด้วย
เครือข่ายอนุรักษ์ที่อยากส่งต่อเรื่องราว ความรู้เกี่ยวกับวาฬบรูด้า และผองเพื่อนในท้องทะเล เพื่อให้ทุกคนลุกขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งในการปกปักรักษาสิ่งมีชีวิตและทรัพยากรธรรมชาติใต้ผืนน้ำให้คงอยู่ตลอดไป
ตำนานศิลปินร็อก ผู้จุดกระแสเพลงเก็บตะวันให้ข้ามกาลเวลา รวมทั้งยังเป็นผู้สร้างยุคใหม่ให้แก่ RS สู่การเป็นเบอร์ 2 ของวงการเพลงไทยอย่างแท้จริง
คุณยายผู้เป็นสัญลักษณ์ของละครเมืองไทย ที่มีผลงานต่อเนื่องมากว่า 40 ปี ทั้ง คู่กรรม สายโลหิต บุพเพสันนิวาส
Armchair ศิลปินขวัญใจวัยรุ่นยุคอินดี้ ผู้บุกเบิกเพลงบอสซาโนวา เจ้าของเพลงฮิตสุดละมุนที่ยังตรึงอยู่ในใจแฟนเพลงถึงวันนี้
นักเขียนการ์ตูนที่พาผลงานมังงะจากเอเชียให้โด่งดังไปไกลทั่วโลก ปลุกกระแสดราก้อนบอล ให้เข้าอยู่ในใจเด็กๆ ยาวนานกว่า 3 ทศวรรษ
COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO. ALL RIGHTS RESERVED.