อิทธิ พลางกูร : เสียงเพลงของตะวันที่ไม่เคยดับ

<< แชร์บทความนี้

ครั้งหนึ่ง เฮียฮ้อ-สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ เคยกล่าวว่า อัลบั้มที่เป็นจุดเปลี่ยนของ RS คือ ให้มันแล้วไป ของศิลปินรุ่นใหญ่ นามว่า อิทธิ พลางกูร

เพราะเดิมทีคนส่วนใหญ่มักมองว่า RS สนใจแต่ตลาดต่างจังหวัด มีแค่เพลงหวานแหวว ดูน่ารัก และที่หนักสุดคือ ใกล้เจ๊ง เนื่องจากเอเยนต์ที่ขายเทปให้เกิดล้มกะทันหัน ส่งผลกระทบต่อคู่ค้า อย่าง RS จนเป็นหนี้นับสิบล้านบาท

ทว่าด้วยความสำเร็จของเพลงเก็บตะวัน และอัลบั้มให้มันแล้วไป ได้พลิกสถานการณ์ของ RS ให้ฟื้นคืนกลับมา พร้อมทลายกำแพงความรู้สึกของคนฟังว่าที่นี่ก็ทำเพลงร็อกชั้นดีออกมาได้เหมือนกัน จนสามารถผงาดขึ้นเป็นเบอร์ 2 ของวงการได้สำเร็จ

แต่รู้หรือไม่ กว่าที่อิทธิจะก้าวขึ้นมาศิลปินแถวหน้าของเมืองไทย ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ต้องล้มลุกคลุกคลานมาแล้วนับไม่ถ้วน ทั้งจากการทำงาน ทำธุรกิจ หรือแม้แต่สุขภาพ

ด้วยความสู้ไม่ถอย แม้บางครั้งจะจบลงด้วยความพ่ายแพ้ อย่างน้อยๆ สิ่งเหล่านี้ก็กลายเป็นแรงบันดาลใจที่ถูกส่งต่อไปยังผู้คนอีกมากมาย

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ขอพาทุกคนไปย้อนดูเรื่องราวของศิลปินระดับตำนานผู้นี้ ถึงความคิด ความฝัน และความเชื่อที่ทำให้เขายังคงอยู่ในใจของแฟนเพลงตลอดกาล

ปรากฏการณ์อิทธิ

หากเป็นยุคนี้ การที่คนอายุ 50-60 ปี จะลุกขึ้นมาทำซิงเกิลเพลงเป็นของตัวเอง คงไม่ใช่แปลก

แต่ไม่ใช่สำหรับปี 2531 ที่คนวัย 33 อย่างอิทธิ รู้สึกว่าตัวเองแก่เกินไป

ความจริงอิทธิไม่ใช่มือใหม่ของวงการดนตรี เขาอยู่บนทางสายนี้มานับสิบปีแล้ว

เขาเป็นน้องชายของอุกฤษฏ์ พลางกูร มือกีตาร์วง Butterfly และเคยรวมกลุ่มกับเพื่อนตั้งวงชื่อ The Bless เล่นกลางคืนตามไนต์คลับ และออกอัลบั้มกับค่ายเสียงทอง 2 ชุด มีเพลงดังอยู่บ้าง แต่ไม่ใครจำอิทธิได้ ก่อนที่ The Bless จะล่มสลายไป

อิทธิอิ่มตัวสุดขีดจึงตัดสินใจวางมือ หันไปเปิดร้านเหล้าที่สุขุมวิท 11 แต่ขาดทุนหนักถึงขั้นหมดตัว กระทั่งเมื่อพี่ชายเปิดสตูดิโอทำเพลง ชื่อ ‘แจมสตูดิโอ’ จึงขอร่วมหุ้นด้วย พร้อมรับหน้าที่ Sound Engineer ก่อนพัฒนาเป็นโปรดิวเซอร์

แล้ววันหนึ่งก็มีบุคคลที่เข้ามาพลิกชีวิตของคนเบื้องหลังผู้นี้ตลอดกาล

‘เฮียฮ้อ’ เป็นน้องชายเฮียจั๊ว-เกรียงไกร เชษฐโชติศักดิ์ เจ้าของ RS หนึ่งในลูกค้าที่มาใช้บริการแจมสตูดิโอเสมอ

RS เวลานั้นเน้นผลิตศิลปินวัยรุ่นเป็นหลัก อาทิ เรนโบว์ บรั่นดี ฟรุตตี้ คีรีบูน โดยหน้าที่ของอิทธิ คือ สร้างทำนอง เรียบเรียงดนตรี และร้องไกด์ให้ศิลปินก่อนบันทึกเสียงจริง

“การร้องของผมเป็นแบบไม่ค่อยได้ตั้งใจร้องเท่าไหร่ แค่พอให้รู้ว่าท่อนดนตรีเข้าออกยังไง เอื้อนยังไง บางครั้งก็แกล้งร้องเลียนเสียงต้อม เรนโบว์บ้าง อ๊อด คีรีบูนบ้าง ฟังแล้วดูตลกดี ร้องเที่ยวเดียวผ่านเลยไม่มีการซ่อม เพราะเราไม่ใช่คนร้องจริง ร้องเป็นตัวอย่างเท่านั้น”

เฮียฮ้อเป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่มีโอกาสได้ฟังเสียงอิทธิ เขาติดใจและสัมผัสได้ถึงเสน่ห์ที่ไม่เหมือนใคร จึงติดต่อไปหวังชวนทำอัลบั้ม แต่อิทธิกลับเลือกปฏิเสธ

ส่วนหนึ่งเพราะอิทธิมองว่า ตัวเองผ่านยุคการออกอัลบั้มมาแล้ว ที่สำคัญคือ ภาพลักษณ์ของ RS เน้นแต่วัยรุ่นใสๆ ร้องเพลงหวานๆ ไม่ใช่ผู้ใหญ่แบบเขา หากจะออกอัลบั้มสู้ไปทาง Grammy น่าจะเหมาะสมกว่า

ผมบอกเฮียว่า คิดอะไรอยู่ ตอนนี้ผมอายุ 33 แล้วนะ หน้าตาก็ไม่ได้เรื่อง ออกเทปไปตอนนี้ถ้าเจ๊ง ผมขายหน้าเขานะ อายเพื่อนตาย.. ผมทำไม่ได้หรอก ขอเป็นโปรดิวเซอร์อย่างเดียวก็พอแล้ว จะให้กลับไปร้องเพลงจับกีตาร์ก็คงไม่ไหว และการเป็นศิลปินเดี่ยว ต้องยืนหน้าไมค์คนเดียว ผมไม่เคยมาก่อน เอาเป็นว่าไม่เหมาะทุกกรณี

แต่ดูเหมือนเฮียจะมองต่าง เขามั่นใจว่าอิทธิมีโอกาสดัง พยายามตื้ออยู่นานหลายเดือน จนอิทธิใจอ่อน โดยมีข้อแม้ว่า ขอทำเพลงในสไตล์ตัวเอง ซึ่งเฮียตอบกลับมาว่า “พี่ทำไปเถอะ ผมไม่ยุ่ง”

‘ให้มันแล้วไป’ วางแผนเมื่อเดือนกันยายน 2531 โดยอิทธิดึงพวกพรรคที่คุ้นเคยช่วยงานเต็มไปหมด ทั้ง อุกฤษฏ์-พี่ชายของเขา, เต้ง-ธนิต เชิญพิพัฒธนสกุล มือกลองวง The Bless, หมู-ศิริศักดิ์ ศิริโชตินันท์ มือกีตาร์วงคาไลโดสโคป รวมถึง ตี่-กริช ทอมมัส มือคียบอร์ดวงบาราคูดัส จาก Grammy ซึ่งมารับหน้าที่เป็นโปรดิวเซอร์

ตอนนั้นตี่ถามว่า ทำไมผมจึงไม่โปรดิวซ์ให้ตัวเอง ผมตอบว่า การเป็นนักร้องนั้นจะต้องมีผู้ควบคุมในการอัดเสียง ผมไม่สามารถจะเป็นทั้งนักร้องและเป็นทั้งผู้คุมได้ ผมร้องเอง ผมจะตัดสินใจในบางเรื่องไม่ได้ เช่นเทคนิคการร้อง นี่เป็นสิ่งทำให้ผมต้องการโปรดิวเซอร์อีกคนมาช่วย

จุดเด่นของอัลบั้มชุดนี้ คือเป็นเพลงป๊อปร็อกที่ไม่เน้นแค่เรื่องความรัก แต่พูดถึงชีวิตที่ลึกซึ้ง แฝงด้วยคติและมุมมองแบบผู้ใหญ่ อย่างให้มันแล้วไปซึ่งบอกว่าคนเราไม่จำเป็นยึดติดสิ่งที่ไม่ดีที่เข้ามา ปล่อยให้มันผ่านไปดีกว่า บางเพลงคลาสสิกข้ามกาลเวลา เช่นยังจำไว้เพลงสุดเศร้าที่อิทธิลงมือเล่นเปียโนด้วยตัวเอง

แต่เชื่อว่าคงไม่มีเพลงโดดเด่นเท่า ‘เก็บตะวัน’ เพลงให้กำลังใจว่ายังมีวันพรุ่งนี้เสมอ ซึ่งเป็นผลงานการแต่งเนื้อครั้งแรกของ เสือ-ธนพล อินทฤทธิ์ อาร์ตไดเรกเตอร์ประจำ RS

“เสือมาหาผมที่ห้องอัด เพื่อพูดคุยเรื่องโลโก้ประจำอัลบั้มว่า ผมชอบโลโก้แบบไหน แล้วเสือได้ยินทำนองเพลงที่ผมแต่งเข้า เพราะผมกำลังเปิดเพลงนี้อยู่พอดี เลยปรึกษากับเสือว่า เฮ้ยเพลงนี้หาใครแต่งเนื้อดี ยังไม่มีเนื้อเลย เสือมีสีหน้าดีใจรีบบอกกับผมว่า พี่..ขอผมลองหน่อยได้ไหม ผมพอแต่งได้ ให้ผมลองหน่อยผมอยากแต่ง”

ถึงรู้ว่าเสี่ยงเพราะเสือไม่เคยมีผลงานการเขียนเพลงมาก่อน แต่เขาอยากสนับสนุนเลยให้เวลาไป 3 วัน แต่เสือกลับใช้เพียง 2 วัน ซึ่งเนื้อเพลงที่เขียนมาก็ใช้ได้เลย อิทธิเกลาคำเล็กเพียงหน่อยเท่านั้น ซึ่งต่อมาเพลงนี้ได้กลายเป็นโลโก้ประจำตัวอิทธิถึงปัจจุบันนี้

แม้จะเริ่มต้นจากความไม่มั่นใจ แต่เมื่อ ‘ให้มันแล้วไป’ ออกอากาศก็กลายเป็น Talk of the Town ทันที แถมยังพ่วงเพลงอื่นเข้าชาร์ตไปเกินครึ่งอัลบั้ม จนอิทธิขึ้นแท่นขวัญใจวัยรุ่น

แต่ที่สำคัญกว่าคือ ยอดขาย 700,000 ตลับได้เปลี่ยน RS ซึ่งกำลังซวนเซ ให้ฟื้นคืนกลับมา

เฮียฮ้อเคยสรุปว่า แม้งานยุคก่อนจะดัง แต่ยอดขายกลับไม่ได้ดีตาม ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ RS ไม่ได้ทุนหนาหรือมีสื่อมาก และแม้อัลบั้ม ‘รวมดาว’ ซึ่งนำศิลปินวัยรุ่นมาร้องเพลงลูกกรุง จะประสบสำเร็จ แต่ไม่นานนักก็จางไป ต่างจากอัลบั้มของอิทธิ ซึ่งส่งผลให้ RS เป็นที่ยอมรับจากแฟนเพลงวงกว้าง

และยังเป็นประตูสำคัญที่ให้เกิดศิลปินเลือดใหม่ อาทิ อริสมันต์, ไฮร็อก, เจี๊ยบ พิสุทธิ์, หิน เหล็ก ไฟ หรือเสือธนพล ซึ่งสร้างงานเพลงคุณภาพซึ่งยึดกุมใจผู้คนมานานเกิน 3 ทศวรรษ

นักปั้นตัวจริง

แม้จะโด่งดังจากการเป็นศิลปินเดี่ยว แต่อิทธิก็ไม่เคยทิ้งงานเบื้องหลังเลย เขายังคงเป็นโปรดิวเซอร์ นักทำเพลงมืออาชีพ ที่สำคัญเขายังมีส่วนผลักดันคนรอบข้าง ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังที่มีแววให้มีโอกาสได้เจริญเติบโตบนเส้นทางดนตรี

อย่าง อริสมันต์ พงษ์เรืองรอง เดิมทีเปิดแผงจำหน่ายกางเกงยีนส์ และเสื้อผ้า แต่ด้วยฝันที่อยากทำเพลง จึงอัดเทปส่งไปเสนอตามค่ายต่างๆ แต่ไม่มีใครยอมรับเทปเดโม่ เพราะภาพลักษณ์ของเขาไม่ดีเลย แต่เมื่ออิทธิรับมาแล้วเปิดฟัง จึงรู้ว่าคนนี้มีของ เสียงของอริสมันต์โดดเด่น ไม่เหมือนใคร เขาจึงส่งเทปต่อให้เฮียจั๊ว พร้อมบอกว่า “เฮีย..ผมมีนักร้องใหม่มาเสมอ ผมว่าเพลงและเสียงใช้ได้นะ แต่รูปร่างหน้าตาแย่หน่อยนะ ลองฟังดู” ปรากฏว่า เสียงของอริสมันต์โดนใจเจ้าของค่าย จึงได้เซ็นสัญญาออกอัลบั้ม โดยมีอิทธิรับหน้าที่เป็นโปรดิวเซอร์ให้ทุกชุด

แล้วก็เป็นดังคาด อัลบั้มชุดแรกความหมายของผู้ชายคนหนึ่งประสบความสำเร็จสูงมาก ยอดขายทะลุล้านตลับ มีเพลงดังมากมาย ทั้ง เธอลำเอียง, ไม่เจียม ฯลฯ แถมยังแรงต่อถึงอัลบั้มชุดถัดๆ ส่งให้อริสมันต์กลายเป็นศิลปินเบอร์ 1 ของ RS นานหลายปี

ต๋อง-สุรพันธ์ จำลองกุล อดีตสมาชิก Imagine เป็นอีกคนที่ติดตามอิทธิตั้งแต่ยังอยู่ที่แจม สตูดิโอ เป็นมือเบสประจำห้องอัด และเมื่ออิทธิย้ายมาอยู่ RS จึงตามมาด้วย ช่วยเขียนเพลง เล่นดนตรีแบ็กอัพให้ศิลปินในค่าย กระทั่งมีโอกาสเฮียฮ้อกับอิทธิก็สนับสนุนให้เขาทำอัลบั้ม โดยต๋องจับคู่กับเพื่อนคนหนึ่งซึ่งเป็นนายแบบ ชื่อ ต่อ-สหภาพ วีระฆามินทร์ ทำวงชื่อ ‘ทู’ ซึ่งฮิตติดลมบนไม่แพ้ศิลปินคนอื่นเลย

เช่นเดียวกับ เสือ-ธนพล อินทฤทธิ์ ศิลปินร็อกระดับตำนานของเมืองไทย ซึ่งหลังประสบความสำเร็จจากการเขียนเพลงเก็บตะวัน อิทธิจึงดึงตัวมาช่วยเขียนเพลงอีกหลายเพลง ทั้ง ดินทราย, รอยร้าว, เราสามคน ก่อนขยับมาเป็นโปรดิวเซอร์ และร้องไกด์ให้ศิลปินอีกหลายคน กระทั่งเฮียฮ้อเห็นแวว สนับสนุนให้ทำอัลบั้มแรก

สำหรับอิทธิแล้ว นี่ไม่ใช่เรื่องของบุญคุณ แต่เป็นความสุขใจที่ได้สนับสนุนคนมีความสามารถได้เดินตามฝัน ไม่แปลกเลยว่าทำไมอิทธิจึงเป็นที่รักของคนดนตรีมากมาย

โบกบินตามฝัน

หลังทำงานอยู่ RS มานานนับสิบปี อิทธิเริ่มรู้สึกเบื่อหน่ายและหมดความท้าทาย ส่วนหนึ่งเพราะค่ายเริ่มเปิดรับคนทำเพลงรุ่นใหม่เข้ามา งานของเขาจึงลดลง หลักๆ ก็จะเป็นอัลบั้มของตัวเองเสียเป็นส่วนใหญ่

แม้ได้เงินเดือนเป็นแสน แต่อิทธิกลับรู้สึกว่า ถ้ายังปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้ ไฟที่เคยมีอาจดับมอดลงไปในไม่ช้า จึงขอลาออก

“ถึงบริษัทจะเลี้ยงดูและดูแลเราให้อยู่สบาย ไม่ต้องทำอะไรก็ได้ กินเงินเดือนไปวันๆ แต่ระยะเวลาที่ยาวนานทำให้เริ่มอิ่มตัว เพราะการไม่มีอะไรทำ ก็คือการเดินไปเดินมา คอยเป็นศาลพระภูมิประจำบริษัท คอยรับไหว้จากนักร้องเด็กๆ ไม่มีอะไรทำเป็นชิ้นเป็นอัน ซึ่งผมทนไม่ได้ที่จะต้องทนอยู่เฉยๆ”

เฮียฮ้อพยายามยับยั้งถึง 3 รอบ แต่สุดท้ายก็ต้องยอม เมื่ออิทธิบอกว่า อยากเปิดบริษัทเล็กๆ ของตัวเอง โดยเฮียฮ้อมีข้อแม้ขอให้ส่งงานที่ผลิตมาให้ RS โปรโมตและจัดจำหน่าย

อิทธิจึงตั้งค่ายเพลงเล็กๆ ชื่อ Music On Earth โดยมีทีมงานที่คุ้นเคยติดตามมาสานฝัน 5-6 คน

“พี่อิทอยากมีบ้านหลังเล็กๆ สักหลังที่ทำงานแบบ Commercial อาจจะน้อยนิดหนึ่ง หรือเป็นการผสมผสานระหว่าง Commercial กับ Art ได้ลงตัว แกคิดอยู่แค่นี้ไม่ได้คิดใหญ่โตอะไร” ต๋อง วงทู หนึ่งในหุ้นส่วน เล่าถึงความคิดของพี่ชายที่เขานับถือ

แต่การทำค่ายเองไม่ได้ง่ายยังที่คิด เพราะมีหลายเรื่องให้จัดการ บางครั้งก็ตัดสินใจพลาด เช่น ตอนเขากับเทียรี่ เมฆวัฒนา ทำอัลบั้ม Heart & Soul เขาอยากทดลองเปลี่ยนผู้จัดจำหน่ายเป็น MGA ซึ่งอยู่ในเครือ Grammy เพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจ แต่ก็ทำให้ความสัมพันธ์กับฝั่ง RS มีปัญหา

ยิ่งมาเจอสภาพเศรษฐกิจตกสะเก็ด ผลิตงานกี่ชุดก็ขาดทุนตลอด ในที่สุด Music On Earth จึงปิดตัวลงไป พร้อมหนี้ก้อนโต

ต้องยอมรับความจริงว่า สถานการณ์เศรษฐกิจมันไม่ดี พี่อิทคงรู้สึกว่า โอเค พอแล้ว เราลุยมาหลายเรื่องแล้วทั้งชีวิต มันถึงเวลาที่แต่ละคนควรจะไปตามเส้นทางที่ตัวเองอยากเดินกันได้แล้ว แล้วแกก็จะบอกว่าขอบคุณทุกคน ประทับใจมากที่ยืนหยัดร่วมกับแกมาตลอดต๋องเล่าต่อ

หลังเลิกบริษัท สมาชิกแต่ละคนย้ายกันไป บางคนหันไปทำงานที่ Grammy บางคนกลับไปอยู่ RS ขณะที่อิทธิยังรู้สึกผิดหวัง ไม่อยากติดต่อกับใคร

ระหว่างนั้นเขาเดินทางไปหาภรรยาที่ต่างจังหวัด คิดหาหนทางใช้หนี้ ภรรยาแนะนำให้วางมือจากวงการ หางานอื่นแทน แต่อิทธิตระหนักดีว่า ดนตรีคือส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้ว จึงตัดสินใจฟอร์มวงเล็กๆ ขึ้นมาวงหนึ่ง รับงานในราคาถูกลงกว่าตอนมีชื่อเสียงมาก

“ผมยอมรับงานทุกอย่าง ไม่ว่าเป็นโชว์ตัวร้องเพลง 2 เพลง ได้ 1,000-2,000 ก็เอาหมด งานแสดงจึงเข้ามามากขึ้น ผมเดินสายไปทั่วประเทศ เงินที่ได้ก็เพื่อไว้เลี้ยงตัวเองกับครอบครัว”

แม้เป็นเวลาที่ลำบากมากสุด แต่ด้วยการสู้สุดใจ ไม่ยอมแพ้กับโชคชะตา ทำให้อิทธิลุกขึ้นยืนได้อีกครั้งหนึ่ง

ถึงบริษัทจะเลี้ยงดูและดูแลเราให้อยู่สบาย ไม่ต้องทำอะไรก็ได้ กินเงินเดือนไปวันๆ แต่ระยะเวลาที่ยาวนานทำให้เริ่มอิ่มตัว

อิทธิ พลางกูร : เสียงเพลงของตะวันที่ไม่เคยดับ

มิตรภาพท่ามกลางวิกฤต

ท่ามกลางเส้นกราฟชีวิตที่เริ่มกระเตื้องขึ้น วันหนึ่งอิทธิก็ได้รับข่าวร้ายครั้งใหญ่ เขาป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะที่ 4

เรื่องเกิดขึ้นในคืนหนึ่ง ระหว่างที่เขานั่งอ่านหนังสือบนเตียงที่คอนโด ก็รู้สึกว่ามีอะไรแฉะๆ เปียกๆ อยู่รอบตัว เมื่อมองไป ก็พบว่ามีเลือดทะลักออกจากก้นเยอะมาก จึงรีบลุกขึ้นผลักประตูหาคนมาช่วย พอดีเจอคนรู้จักเลยช่วยพาส่งโรงพยาบาลได้ทัน

พอไปถึงหมอก็ส่งเข้าห้องไอซียูทันที รุ่งเช้าก็ผ่าตัดเอาก้อนเนื้อออก โดยผมเป็นคนเซ็นชื่อผ่าเอง เพราะยังไม่มีญาติมาเยี่ยม การผ่าตัดสามารถผ่าเนื้อร้ายออกมาได้แค่ 70% อีก 30% ต้องปล่อยไปก่อน เพราะอยู่ใกล้กับเส้นประสาทด้านล่าง ซึ่งเป็นจุดที่อันตรายมาก

ครั้งนั้นอิทธิต้องให้คีโม ฉายแสง ให้เลือด และนอนโรงพยาบาล อยู่นานร่วมเดือน โดยภรรยาและลูกๆ ซึ่งเดินทางมาจากพิษณุโลก คอยดูแลเขาใกล้ชิด กระทั่งสุขภาพเริ่มฟื้นคืนกลับมา สามารถกลับมาเล่นคอนเสิร์ตได้

หากแต่ร่างกายที่แข็งแรงขึ้น ทำให้อิทธิย่ามใจนึกว่าหายดีแล้ว เขากลับไปใช้ชีวิตแบบเดิมๆ นอนดึก ไม่ใส่ใจเรื่องโภชนาการ แล้ววันหนึ่งก็เกิดการอุดตันที่สำไส้ ถูกส่งตัวไปผ่าตัดอีกรอบ แต่คราวนี้อาการกลับไม่ดีขึ้น ถึงขั้นต้องเจาะไตสองข้าง ใส่ท่อ PCN เพื่อให้ปัสสาวะไหลลงถุงเก็บ ส่งผลให้เขาไม่สามารถเดินสายทำงานได้ เงินทองที่เคยเก็บไว้ก็เริ่มหร่อยหรอลงเรื่อยๆ

โชคดีที่มีกำลังใจจากคนรอบข้าง ทั้งครอบครัว เพื่อนฝูง และแฟนเพลง รวมทั้งเริ่มมีกระแสเรียกร้องอยากให้เขากลับมาทำเพลงอีกครั้ง อิทธิจึงมีพลังลุกขึ้นมาทำอัลบั้มใหม่ โดยได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อนฝูงที่คุ้นเคยมานาน อาทิ เต้งธนิต และ ต๋องสุรพันธ์

ทว่าการทำอัลบั้มใหม่ ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะทำเสร็จไม่รู้จะขายให้ใคร จะผลิตเองก็คงไม่ไหว แต่ท่ามกลางความรู้สึกกังวล เขาก็ได้รับข่าวดีว่า เฮียฮ้อจะมาเยี่ยม

“เฮียมาพบผมด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม จับแขนผมถามอาการต่างๆ แล้วบอกว่า พี่มีอะไรให้ผมช่วย บอกมาเลย ผมจะช่วย ผมจึงบอกว่า เรื่องเงินทองผมก็ต้องการ แต่สิ่งที่ผมอยากจะให้ช่วยไม่ใช่เงินทอง แต่เป็นเรื่องที่ผมทำอัลบั้มไว้ชุดหนึ่งใกล้เสร็จแล้ว ผมอยากให้เฮียช่วยให้อัลบั้มนี้มีโอกาสได้ออกในนาม RS อีกครั้ง เฮียได้ยินก็ยิ้มแล้วพยักหน้าบอกว่า โอเคเลยพี่ ผมช่วยพี่ได้ทุกอย่าง พี่รีบทำมาเลย”

‘เวลาที่เหลือ’ ผลงานชุดสุดท้ายของอิทธิ วางแผนเมื่อเดือนพฤษภาคม 2547

เนื้อเพลงส่วนใหญ่ของอัลบั้มเป็นเชิงบวก มากกว่าจะเป็นเรื่องอกหัก ผิดหวัง เพราะอิทธิบอกว่า หลังป่วยเป็นมะเร็ง เขาได้รับความช่วยเหลือจากผู้คนมากมาย จึงไม่อยากแต่งเพลงแง่ลบออกมา และอยากให้เพลงเหล่านี้เป็นการแสดงความขอบคุณกับน้ำใจที่ได้รับตลอดมา

นอกจากนี้ มีการรวมตัวทำอัลบั้มพิเศษเก็บตะวัน : A Tribute to อิทธิ พลางกูร เพื่อนำรายได้มาช่วยเหลือเป็นค่ารักษามะเร็ง ตลอดจัดคอนเสิร์ตระดมทุน โดยมีเพื่อนศิลปินที่คุ้นเคยมาช่วยกัน แบบไม่เกี่ยวข้องกับสังกัด

หากช่วงก่อนคอนเสิร์ต 1 เดือน อาการของอิทธิขึ้นๆ ลงๆ เช่นวันหนึ่งตื่นขึ้นมาแล้วไม่มีเสียง ครั้งนั้นทีมงาน RS พยายามเสนอวิธีแก้ปัญหาด้วยการลิปซิงส์แทน แต่ด้วยจิตวิญญาณศิลปิน อิทธิขอใช้เทคนิคนี้เป็นวิธีสุดท้าย โดยระหว่างนั้นก็พยายามออกกำลังกาย ยกน้ำหนัก เดินช้าๆ จูงหมาเดินรอบหมู่บ้าน จนเสียงค่อยๆ คืนกลับมา

พอถึงวันแสดงจริง แม้จะเจ็บปวดจากการเจาะไต แต่อิทธิกลับแสดงให้ทุกคนเห็นถึงพลังการต่อสู้ เขาสามารถยืนร้องเพลง หัวเราะและเล่นดนตรีได้อย่างดีเยี่ยม จนบรรยากาศของคอนเสิร์ตสนุกสนานและเป็นที่ประทับใจของแฟนๆ ซึ่งติดตามมานานเกือบ 20 ปี

อิทธิบอกว่าเขายังมีฝันที่อยากทำอีกมาก ทั้งอัลบั้มใหม่ หรือลงทุนซื้อบ้านใหม่ให้ครอบครัว แต่น่าเสียดายที่สุดท้ายแล้วอิทธิก็ไม่ได้ทำตามหวัง

เพราะหลังคอนเสิร์ตจบไปได้ไม่นาน มะเร็งได้ลุกลามไปทั่วลำไส้ใหญ่ กระเพาะปัสสาวะ และกระจายเข้าสู่กระแสเลือด อิทธิถูกส่งตัวเข้าห้องไอซียูอีกรอบ ก่อนจะปิดฉากตำนานลง ในช่วงเย็นของวันที่ 11 พฤศจิกายน 2547

แต่ถึงอย่างนั้นก็เชื่อเหลือเกินว่า ดนตรีของอิทธิและความสุขที่เขามอบให้จะไม่มีวันจางหายจากความทรงจำของคนฟังเพลงแน่นอน

ภาพและข้อมูลประกอบการเขียน

  • หนังสือ เส้นทาง ดนตรี ชีวิต อิทธิ พลางกูร เรียบเรียงโดย บุษกร ลิขัตศิลปกุล
  • หนังสือ Dear– Itti Balangura จดหมายที่ส่งไปไม่ถึง โดย ญาดา พลางกูร
  • นิตยสาร หญิงไทย ปีที่ 14 ฉบับที่ 330 ปักษ์แรก เดือนกรกฎาคม 2532
  • นิตยสาร ผู้หญิง ปีที่ 14 ฉบับที่ 267 ปักษ์หลัง เดือนกันยายน 2539
  • นิตยสาร BOSS ปีที่ 8 ฉบับที่ 91 เดือนพฤศจิกายน 2542
  • นิตยสาร กุลสตรี ปีที่ 34 ฉบับที่ 810 ปักษ์แรก เดือนตุลาคม 2547
  • นิตยสาร DDT ปีที่ 1 ฉบับที่ 10 เดือนตุลาคม 2548
  • หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก ฉบับวันศุกร์ที่ 12 พฤศจิกายน 2547

<< แชร์บทความนี้

RELATED POSTS
LATEST

Keep In Touch

COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO.  ALL RIGHTS RESERVED.