ท่ามกลางกระแสการตั้งคำถามถึงจริยธรรม และจรรยาบรรณ ของสื่อสารมวลชนไทย..
ยอดมนุษย์..คนธรรมดา อยากชักชวนทุกคน มารู้จักเรื่องราวชีวิตของ อิศรา อมันตกุล
ชายผู้ได้ชื่อว่าเป็น ผู้บุกเบิกสารคดีข่าว เป็นนายกสมาคมนักข่าวฯ คนแรก และยังเป็นนักเขียนมือทองที่มีผลงานเรื่องสั้น-นวนิยาย เสียดแทงโครงสร้างสังคมอย่างตรงไปตรงมานับร้อยเรื่อง
ไม่แปลกเลยที่ผู้กุมอำนาจรัฐหลายคนจึงมองเขาเป็นศัตรู ถึงขั้นส่งตัวเข้าเรือนจำนานเกือบ 6 ปี
แต่ถึงอย่างนั้น ชีวิตหลังลูกกรง ก็ไม่เคยทำให้จิตวิญญาณของสื่อมวลชนถอยลงแม้แต่น้อย เขายังคงปรารถนาจะเห็นสังคมไทยดีงามและเป็นธรรมอย่างแท้จริง
แม้จะฝันเป็นนักหนังสือพิมพ์มาตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม เนื่องจากหลงใหลการขีดเขียนมาตลอด
ทว่าเมื่อถึงเวลาจริงๆ อิศรากลับไม่ได้ทำอย่างที่คิด
หลังจบการศึกษาที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนฯ พร้อมคะแนนภาษาอังกฤษอันดับ 1 ของประเทศ เขาก็หันไปทำงานอยู่ห้างฝรั่งพักหนึ่ง ก่อนเกิดอาการเบื่อหน่าย และหันเหชีวิตตามคณะมิชชันนารีลงไปสอนหนังสือที่นครศรีธรรมราช
แต่เหมือนเบื้องบนจะกำหนดชีวิตมาแล้วว่าเขาต้องเป็น ‘นักข่าว’
เพราะหลังเตร็ดเตร่อยู่ปักษ์ใต้นาน 2 ปี คุณแม่ของเขาก็เรียกตัวให้กลับกรุงเทพฯ ด่วน เนื่องจากกลัวว่าลูกชายสุดที่รักจะกลายเป็นนักเลงชายแดนเสียก่อน
เมื่อกลับถึงพระนคร ด้วยความที่อยู่ว่างไม่ได้ อิศราในวัย 19 ปี จึงเขียนเรื่องสั้นของตัวเอง แล้วเดินทางไปส่งให้ ครูอบ ไชยวสุ เจ้าของนามปากกา ‘ฮิวเมอริสต์’
จากเนื้อเรื่องและลีลาการเขียนที่น่าสนใจ ครูอบจึงนำผลงานนั้นไปตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ประชามิตรรายวัน ของคณะสุภาพบุรุษที่ครูรับผิดชอบ พร้อมชักชวนให้อิศรามาทำงานด้วยกัน
“ลงไปได้ไม่กี่วัน ครูท่านก็เรียกตัวไปพบบอกว่า ไอ้หนูเอ๊ย เอ็งชอบเขียนหนังสือแกว่งขาหาตะรางนักเรอะ ผมบอกครับชอบที่สุด ครูท่านเลยว่างั้นอย่าเตะฝุ่นให้มันเดือดร้อนเทศบาลเขาเลยวะ มาอยู่ด้วยกันดีกว่า จากวันนั้นแหละ ผมเลยได้ปั้นจิ้มปั้นเจ๋อเข้าไปอยู่ในโลกหนังสือพิมพ์กับเขา”
วันแรกที่เข้าสำนักงานคณะสุภาพบุรุษ อิศราได้เจอกับพี่ใหญ่ของวงการ ทั้ง กุหลาบ สายประดิษฐ์, มาลัย ชูพินิจ, ชิต บุรทัต, มนัส จรรยงค์ และประยูร จรรยาวงษ์
กุหลาบหรือศรีบูรพา เลยถือโอกาสทดสอบความสามารถของเด็กหนุ่ม โดยให้แปลข่าวต่างประเทศ พร้อมชี้ไปหลังตู้ว่า “ดิกชันนารีอยู่บนหลังตู้หนังสือ สงสัยเปิดดูได้” แต่อิศราไม่ได้เดินไป เขานั่งอ่านข่าวแล้วก็แปลรวดเดียวเสร็จ ศรีบูรพาจึงมอบหมายให้ดูแลข่าวต่างประเทศ
เมื่อกลับมาถึงบ้าน เขาก็เล่าให้แม่ฟัง แม่บอกเพียงว่า “ดีแล้ว เอ็งติดตะรางเพราะทำงานหนังสือพิมพ์ มันยังโก้กว่าติดตะรางเพราะเป็นหัวไม้ ”
นับตั้งแต่ก้าวแรกเมื่อปี 2482 จนถึง พ.ศ. 2512 ปีสุดท้ายในชีวิต อิศราก็แทบไม่เคยปล่อยมือจากการเป็นนักหนังสือพิมพ์อีกเลย
อิศราผ่านงานหนังสือพิมพ์มามากมายหลายฉบับ ทั้งสุภาพบุรุษ, สุวัณภูมิ, บางกอกรายวัน, พิมพ์ไทยเบื้องหลังข่าว, เอกราช, สยามนิกร, เกียรติศักดิ์, บางกอกเดลิเมล์ และเดลินิวส์
แรกเริ่มอิศราเติบโตมาในสายข่าวต่างประเทศ แต่ด้วยความสามารถแบบรอบด้าน บวกกับสัญชาตญาณข่าวแบบดีเยี่ยม ทำให้เขาก้าวขึ้นเป็นหัวหน้ากองบรรณาธิการอย่างรวดเร็ว
เขาสามารถควบคุม พร้อมแนะนำเทคนิคว่า ควรหาข่าวอย่างไร แตกประเด็นแบบไหน อย่างข่าวรัฐมนตรีกินป่าที่จังหวัดยะลา อิศราจะเป็นคนวางแผน และมอบหมายให้คนนั้นไปหาป่าไม้ คนนี้ไปหากำนัน เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงกลับมามากที่สุด
นอกจากนี้ เขายังสามารถพัฒนาข่าวชิ้นหนึ่งให้มีมิติหลากหลาย ลึกซึ้ง และน่าสนใจขึ้น กลายเป็นสารคดีเชิงข่าวที่สามารถนำเสนอติดต่อกันได้หลายวัน อย่างสารคดีเชิงข่าวเรื่องยาวเรื่องแรกของประเทศ คือ คดีปล้นร้านทองเบ๊ลี่แซ เขียนข่าวโดย สมบูรณ์ วิรยศิริ ก็มีอิศราเป็นผู้ควบคุมการผลิตแบบใกล้ชิด โดยสารคดีในหนังสือพิมพ์เอกราชเรื่องนี้ได้รับความนิยมสูงมาก ถึงขึ้นนำไปสร้างเป็นละครเวที และต่อมาก็ถูกพัฒนาเป็นภาพยนตร์เรื่องศาสนาของนางโจร
เช่นเดียวกับช่วงที่ทำหนังสือพิมพ์ไทยใหม่ยุคใหม่ อิศราเห็นว่าข่าวอาชญากรรมส่วนใหญ่ มักสนใจแต่ข่าวคนตาย ทั้งที่ยังมีข่าวอีกมากที่ควรหยิบขึ้นมาตีแผ่ เช่นความเดือดร้อนของประชาชนที่ถูกอำนาจมืดคุกคาม จนไทยใหม่กลายเป็นกระบอกเสียงของสังคมอย่างแท้จริง
ทั้งหมดนี้เป็นเพราะอิศราเชื่อมั่นในพลังของสื่อมวลชน เสรีภาพเป็นเรื่องสำคัญ เขาจึงไม่เคยปล่อยให้นายทุนหรือผู้มีอิทธิพลหน้าไหนมามีอำนาจเหนือการทำงานของกองบรรณาธิการ
จริงอยู่ที่อิศราเป็นคนสุภาพถ่อมตัว ไม่เคยนินทาใครลับหลัง ถึงขั้นมีคนบอกว่า ถ้าอิศราด่าใครแสดงว่าคนนั้นคบไม่ได้ แต่เขาพร้อมเสมอที่ใช้ปากกาต่อสู้กับผู้มีอำนาจที่มีพฤติกรรมไม่โปร่งใส กระทั่งรัฐบาลหลายชุดต้องส่งสันติบาลมาเยี่ยมเยียนถึงโรงพิมพ์
ตลอดการเป็นนักข่าวกว่า 3 ทศวรรษ อิศราตระหนักดีว่า นักข่าวคือ บุคคลที่มีอิทธิพลและสามารถกำหนดทิศทางของสังคม จึงต้องมีความเป็นกลาง มีจรรยาบรรณ อย่างการรายงานข่าวก็ต้องทำอย่างถูกต้องเที่ยงธรรม หากไม่แน่ใจอย่าเพิ่งรายงาน และถ้าเกิดข้อผิดพลาดต้องรีบแก้ไขให้ถูกต้อง
ที่สำคัญคือต้องไม่นำเสนอข่าวที่ละเมิดความเป็นส่วนตัวของบุคคลใด เว้นแต่เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ไม่เสนอข่าวที่เสื่อมทรามทางศีลธรรม ไม่แทรงแซงความเห็นส่วนตัวลงไป ตรวจสอบแหล่งที่มาของข่าว และกรณีที่ต้องปกปิดแหล่งข่าว ก็ต้องรักษาความลับให้ดีที่สุด
การเสนอข่าวอาชญากรรมต้องพึงระลึกเสมอว่า ผู้ต้องหายังเป็นผู้บริสุทธิ์ อย่าด่วนประณามว่าเป็นผู้กระทำผิด เพียงเพื่อหวังให้ข่าวมีสีสัน การเรียกผู้ต้องหาด้วยถ้อยคำรุนแรง เช่น อาชญากรเหี้ยม เป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวัง และสุดท้ายคือ ต้องไม่รับสินบนไม่ว่าจะมาในรูปแบบใดก็ตาม
“หนังสือพิมพ์ในสายตาของคนทั่วไปอาจเป็นเศษกระดาษซึ่งเมื่ออ่านเสร็จแล้วก็โยนทิ้งไป หรืออย่างดีก็เก็บเอาไว้ชั่งกิโลขายเจ๊ก แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ผมอยากจะกล่าวว่า หนังสือพิมพ์คือเอกสารทางประวัติศาสตร์อย่างหนึ่ง และนักข่าวก็ไม่ใช่อื่นไกล คือผู้บันทึกประวัติศาสตร์วันต่อวัน สัปดาห์ต่อสัปดาห์ เดือนต่อเดือน ปีต่อปีนั่นเอง หนังสือพิมพ์วันนี้ย่อมจะกลายเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในวันหน้าไปอย่างแน่นอนมิพักต้องสงสัยเลย”
ด้วยจิตวิญญาณของสื่ออันแข็งแกร่ง ไม่แปลกเลยว่า ทำไมนักข่าวร่วมยุคจึงยกให้อิศราเป็นต้นแบบที่อยากเจริญรอยตา
หากข่าวคือกระจกสะท้อนความเป็นจริงของสังคม เรื่องสั้นและนวนิยายนับร้อยเรื่องที่อิศราเขียนก็คงเป็นเสมือนภาพวาดสะท้อนความหวังที่เขามีต่อสังคมไทย
ความจริงแล้ว การเขียนวรรณกรรมของนักหนังสือพิมพ์ยุคเก่าเป็นเรื่องปกติมาก
ศรีบูรพา เขียน ข้างหลังภาพ ลูกผู้ชาย แลไปข้างหน้า, ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ก็มีงานที่น่าสนใจอย่าง สี่แผ่นดิน ไผ่แดง กาเหว่าที่บางเพลง แม้แต่ เสนีย์ เสาวพงศ์ ซึ่งเป็นทั้งนักเขียนร่วมยุคและเพื่อนสนิทของอิศรา ก็สร้างงานสุดคลาสสิก อย่าง ปิศาจ และความรักของวัลยา
อิศราโดดเด่นขึ้นจากนวนิยายเรื่อง นักบุญ-คนบาป เมื่อปี 2486
เขามีผลงานหลายประเภททั้งนวนิยาย เรื่องสั้น สารคดี บทความ บทวิเคราะห์ แม้แต่คอลัมน์สอนสแลงภาษาอังกฤษ เขาก็ยังเขียน ว่ากันว่ามีอาจารย์หลายคนติดตามและนำไปใช้สอนในมหาวิทยาลัย
หากถามว่าปัจจัยอะไรที่ทำงานของอิศราน่าสนใจ อย่างแรกคงไม่พ้น ภาษาที่มีความสวิงสวาย สะดุดตา ต่างจากวรรณกรรมแนวขนบเดิมๆ ที่หลายคนคุ้นเคย
อย่างการนำกริยาของอย่างหนึ่งมาใช้กับอีกอย่างหนึ่ง เช่น ชีพจรของงานเต้นเร็วถี่ขึ้นเป็นลำดับ หรือ บางตอนก็อื้อพร่าเหมือนเสียงซ่าของคลื่นที่ยื่นปากจูบชายหาย ซึ่งอ่านแล้วดูแปร่งๆ ไปบ้าง แต่ก็สื่อภาพสื่ออารมณ์ได้ชัดเจน
ไม่แปลกเลยว่าทำไมคนรุ่นเก่าสมัยนั้นหลายคนทนสำนวนของเขาไม่ได้ แต่คนรุ่นใหม่ต่างติดใจสำนวนแบบทันสมัยของเขา ซึ่งหนึ่งในแฟนคลับตัวจริง ก็คือ อาจินต์ ปัญจพรรค์ ซึ่งมักพูดเสมอว่า งานของอิศราเป็นแรงบันดาลใจทำให้เขาเขียนเรื่องสั้นชุด ‘เหมืองแร่’ ขึ้นมา
หากแต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าภาษา คือแก่นความคิดที่ถูกนำเสนอออกมา
ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อดีตคณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกว่า งานของอิศราคือการต่อสู้ของคนธรรมดาสามัญ เพื่ออิสรภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ นำเสนอผ่านเรื่องราวของนักสู้ที่มีหลายลักษณะ หลายชีวิต แต่ทุกคนมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ การกลับไปหาความเป็นมนุษยธรรม และความเป็นเจ้าเหนือตัวเอง
เช่นเดียวกับ ลาว คำหอม ศิลปินแห่งชาติ ที่บอกว่า ตัวละครของอิศราหลายตัวฉลาด กล้าหาญ ซึ่งอ่านดูแล้วอาจหาได้ยากในชีวิตจริง แต่อิศราตั้งใจเขียนขึ้นมาเพื่อฉายภาพในอุดมคติ ที่อยากจะเห็นคนแบบนี้เกิดขึ้นมาในสังคมไทย
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัจจัยสำคัญที่หล่อหลอมความคิดของอิศรา มาจากงานและสิ่งแวดล้อมที่พบเจอ
เขามักเขียนเรื่องสั้นในหนังสือพิมพ์ กระทุ้งภาพปัญหาของสังคม ทั้งความเหลื่อมล้ำ การเอารัดเอาเปรียบ ความด้อยโอกาสของคนชนบท ความอยุติธรรม รวมถึงการเมืองการปกครอง ที่แม้จะเป็นประชาธิปไตย แต่ประชาชนก็ไม่ได้มีสิทธิเสรีภาพอย่างแท้จริง
ในรัฐบาลทั่วไป เขาเคยเขียนถึงความเหินห่างของผู้แทนอันทรงเกียรติที่เมื่อเลือกตั้งเสร็จก็ละทิ้งประชาชน สนใจแต่การประจบสอพลอผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่า อย่างเรื่องสั้น ‘เขาขอพบนายก รมต.’ อิศราชี้ให้เห็นว่า แม้จะเป็นนายกรัฐมนตรีในยุคเสรี แต่การพบตัวได้นั้นช่างเป็นเรื่องยากเย็น เพราะท่านเป็นบุคคลสำคัญ ไม่มีเวลามาพบราษฎรตัวเล็กๆ ที่อยู่คนละระดับ
เช่นเดียวกับสมัยรัฐบาลเผด็จการทหาร เขาก็ไม่หวั่นเกรงอำนาจรัฐ และเลือกจะใช้เรื่องสั้นเป็นเครื่องมือทิ่มแทงโครงสร้างการเมืองไทยแบบตรงไปตรงมา
เรื่องสั้น ‘เขาตะโกนหานายกรัฐมนตรี’ เล่าเรื่องนายทหารนอกราชการที่หนีกรุงไปอยู่ในชนบท และพยายามปรับปรุงชีวิตของชาวบ้านให้ดีขึ้น แต่ต้องมาพบจุดเปลี่ยนเหมือนถูกข้าราชการท้องถิ่นรังแก จึงเรียกร้องขอพบนายกรัฐมนตรีคนใหม่จากการรัฐประหาร
อิศราเขียนวิพากษ์ผู้ถืออำนาจว่า “…การปฏิวัตินั้นไม่ใช่การได้รับเชิญไปในงานเลี้ยง ซึ่งหูทั้งสองข้างจะได้ยินได้ฟังแต่คำสรรเสริญเยินยอจากแขกเหรื่อ …. แต่ผู้ทำการปฏิวัติจะต้องกล้าหาญพอทีจะเงี่ยหูฟังคำวิพากษ์วิจารณ์จากราษฎร ด้วยการวางใจให้เที่ยงธรรมที่สุด ราษฏรทุกคนเป็นเจ้าของประเทศเท่าๆ กัน นายกรัฐมนตรีก็ดี ท่านข้าหลวงก็ดี ผู้หมวดก็ดี จะผูกขาดเอาความรักความห่วงใยในชาติไปเป็นของตัวฝ่ายเดียวหาได้ไม่ ชาวนา กรรมกร คนยากจน พวกผมก็มีส่วนที่จะร่วมรักร่วมห่วงใยในชาติเหมือนกันและทัดเทียมกัน..”
แม้สุดท้าย ปลายทางของตัวละครจะพบกับความล้มเหลว แต่สิ่งที่ซุกซ่อนอยู่ในเรื่องสั้นไม่กี่สิบหน้าก็คือ ความตั้งใจของคนตัวเล็กๆ ที่อยากจะผลักดันสังคมไปสู่ความดีงาม โดยที่ทุกคนมีส่วนร่วมได้อย่างแท้จริง ดังวาระที่เขาเคยได้บันทึกไว้
“ข้าพเจ้าเป็นคนสามัญคนหนึ่ง ซึ่งมั่นหมายจะเขียนเฉพาะเรื่องราวของประชาชนเพื่อถ่ายทอดความคิด ความรู้สึก ความดิ้นรน และความหวังจากประชาชนไปสู่ประชาชน เพราะประชาชนเท่านั้นที่เป็นผู้กำลังต่อสู้ และกำลังทำงานเพื่อสร้างเสรีภาพอันถูกต้อง และศตวรรษแห่งสามัญชน”
หนังสือพิมพ์คือเอกสารทางประวัติศาสตร์อย่างหนึ่ง และนักข่าวก็ไม่ใช่อื่นไกล คือผู้บันทึกประวัติศาสตร์วันต่อวัน
ทั้งชีวิตของอิศรา เขายืดหยัดต่อสู้เพื่อความไม่ถูกต้องเสมอมา ไม่แปลกว่า เหตุใดเขาจึงถูกเพ่งเล็งจากผู้มีอำนาจอยู่ตลอด
หลังจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจจอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งเป็นลูกน้องตัวเอง เมื่อเดือนตุลาคม 2501 ก็ได้ออกคำสั่งจับกุมนักหนังสือพิมพ์ และศัตรูทางการเมืองเข้าคุก พร้อมตั้งข้อหาว่า มีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์
นักหนังสือพิมพ์หลายคนถูกคุมตัว อาทิ กุหลาบ สายประดิษฐ์, กรุณา กุศลาศัย, สุวัฒน์ วรดิลก และแน่นอนว่ารวมไปถึง อิศรา อมันตกุล
การจับครั้งนี้ไม่มีการสืบสวนสอบสวนใดๆ เป็นการจับขังไว้เฉยๆ
เชวง กัทลีระดะพันธ์ หนึ่งในผู้ถูกจับ เล่าว่า “ส่วนมากพวกนักการเมืองจะทำประวัติ โดยการสืบให้สันติบาล คนนั้นบ้างคนนี้บ้างที่มีชื่ออยู่ในหนังสือพิมพ์ เขาก็จดชื่อเข้าบัญชีไว้.. โดยเฉพาะฉบับไหนที่มีการเสนอข่าว เรียกว่าไม่ได้สนับสนุนเขาหรือเป็นปฏิปักษ์ ซึ่งพวกนี้โดยมากเป็นนักการเมือง พอสฤษดิ์ปฏิวัติขึ้นมา เขาก็ไม่รู้ว่าใครจะมาอะไร มาจากไหน มีชื่ออยู่ในนั้นก็ออกหมายจับหมด หลายสิบคน พวกนักข่าว นักการเมือง นักหนังสือพิมพ์ บรรณาธิการหลายฉบับ ที่ตายไปแล้วหลายคน ก็ถูกจับกันไป”
แม้จะไร้อิสรภาพ แต่อิศราก็ไม่เคยท้อ ด้วยนึกถึงคำสอนของแม่ที่ว่า “เอ็งติดตะรางเพราะทำงานหนังสือพิมพ์ มันยังโก้กว่าติดตะรางเพราะเป็นหัวไม้ ”
เขายังเขียนงานอย่างต่อเนื่องทั้งคอลัมน์ และเรื่องสั้นผ่านนามแฝงต่างๆ มากมาย กระทั่งจอมพลสฤษดิ์ ถึงแก่กรรมเมื่อปลายปี 2506 อิศราจึงถูกปล่อยตัวในปีถัดมา รวมเวลาติดคุกนาน 5 ปี 10 เดือน
จากนั้นเขาก็กลับมาโลดแล่นในวงการหนังสือพิมพ์อีกครั้ง พร้อมสร้างสรรค์ผลงานอีกมากมาย ด้วยความหวังที่สร้างสังคมที่ดียิ่งขึ้น
ในบั้นปลายชีวิต อิศราป่วยเป็นมะเร็งลิ้น ถึงจะพูดลำบาก แต่ความคิดและอุดมการณ์สื่อก็ยังเต็มเปี่ยมไม่เปลี่ยนแปลง
แถมสิน รัตนพันธุ์ ตำนานคอลัมน์ลัดดาซุบซิบ เล่าว่าวันที่เขาไปเยี่ยม นักเขียนอาวุโสป่วยหนักมาก มีสายน้ำเกลือระโยงระยางเต็มไปหมด อิศราก็ยังยิ้มออก เขาจับปากเขียนข้อความขยุกขยิกบนกระดาษแล้วส่งให้แถมสินอ่าน ข้อความนั่นว่า “คุณแถมสิน ผมไม่เสียใจเลยที่เกิดมาเป็นหนังสือพิมพ์”
อิศราหมดลมไปด้วยวัย 48 ปี หลังรักษาตัวได้เกือบปี แต่สิ่งที่ไม่เคยหมดไป คือปณิธานและจิตวิญญาณคนข่าวที่พร้อมบอกเล่าความจริงสู่สาธารณชน
บทบรรณาธิการแรกของหนังสือพิมพ์ The Nation ที่สะท้อนอุดมการณ์ และความทะเยอทะยานของสุทธิชัย หยุ่น ในวัย 26 ปี
นักข่าวโทรทัศน์คนแรกของเมืองไทย ผู้นำเสนอภาพเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 สู่สาธารณะจนกลายเป็นบุคคลล้มละลายอยู่นานหลายปี
สุดยอดนักข่าว ผู้เป็นต้นแบบของสื่อมวลชน จนนำชื่อไปใช้เป็นสถาบันของสมาคมนักข่าวฯ
นักข่าวคนสำคัญผู้ทำให้ข่าวกลายเป็นรายการสามัญประจำบ้าน
ย้อนเรื่องราวของนักสื่อมวลชน ผู้ยกระดับช่อง 9 จากแดนสนธยา สู่การเป็นสถานีโทรทัศน์เพื่อสังคมไทย
นักข่าวคนสำคัญ ผู้ทำให้ข่าวต่างประเทศกลายเป็นเรื่องที่ทุกคนคุ้นเคยและรู้สึกใกล้ตัวมากยิ่งขึ้น
‘คนฝั่งธน’ รุ่นใหม่ ที่อยากขอทำหน้าที่เป็นสื่อกลาง คอยชักชวนผู้คนในพื้นที่ ให้มาร่วมกันบอกเล่าถึงเสน่ห์ของเมืองหลวงเก่าแห่งนี้
กลุ่มออนไลน์ที่เกิดจากการแบ่งปันความรู้เรื่องเมล็ดพันธุ์ ต่อยอดมาสู่การสร้างโรงเรียนปลูกป่าที่มีเป้าหมายอยากรักษาพันธุ์ไม้ดีๆ ให้อยู่คู่เมืองไทยตลอดไป
เครือข่ายที่ทำงานเรื่องการ ‘ตายดี’ เพื่อช่วยให้ผู้คนสามารถจากไปได้มีความสุข และลดความขัดแย้งแก่คนรอบใกล้ที่คอยดูแลด้วย
เครือข่ายอนุรักษ์ที่อยากส่งต่อเรื่องราว ความรู้เกี่ยวกับวาฬบรูด้า และผองเพื่อนในท้องทะเล เพื่อให้ทุกคนลุกขึ้นมาช่วยปกป้องทรัพยากรธรรมชาติใต้ผืนน้ำให้คงอยู่ตลอดไป
ตำนานศิลปินร็อก ผู้จุดกระแสเพลงเก็บตะวันให้ข้ามกาลเวลา รวมทั้งยังเป็นผู้สร้างยุคใหม่ให้แก่ RS สู่การเป็นเบอร์ 2 ของวงการเพลงไทยอย่างแท้จริง
คุณยายผู้เป็นสัญลักษณ์ของละครเมืองไทย ที่มีผลงานต่อเนื่องมากว่า 40 ปี ทั้ง คู่กรรม สายโลหิต บุพเพสันนิวาส
COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO. ALL RIGHTS RESERVED.