แม้จะเสียชีวิตไปนานกว่า 20 ปี
แต่ชื่อของ ย.โย่ง เอกชัย นพจินดา ก็ยังเป็นที่จดจำของคนไทย
หลายคนอาจจะสงสัยว่า ย.โย่งมีอะไรโดดเด่นเหนือคนอื่น เขาจึงเป็นตำนานที่ผู้คนต่างเล่าขาน
ยอดมนุษย์..คนธรรมดา อยากพาทุกคนไปย้อนความทรงจำถึงความยิ่งใหญ่ของชายคนนี้กับเรื่องที่คุณอาจไม่เคยรู้
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2540
ข่าวการเสียชีวิตอย่างกะทันหันของ ย.โย่ง เอกชัย นพจินดา หลังจากร่วมคอร์ดเทนนิสกับ สุรางค์ เปรมปรีดิ์ เจ้าแม่ช่อง 7 ยุคนั้น กลายเป็นเรื่องช็อกวงการกีฬาเมืองไทยอย่างมาก
ไม่ใช่เพียงเพราะเขาเป็นเบอร์ 1 ของวงการนักพากย์ฟุตบอลเท่านั้น แต่ด้วยวัยเพียง 44 ปี หลายคนจึงเชื่อว่า เขายังทำอะไรได้อีกเยอะแยะ โดยเฉพาะในยุคที่ฟุตบอลจอแก้วได้กลายเป็น Content ยอดนิยมลำดับต้นๆ อย่างทุกวันนี้
ด้วยเขาผู้นี้เป็นผู้ริเริ่มหลายสิ่งหลายอย่างให้วงการกีฬา อย่าง FM99 Sport Radio วิทยุกีฬาแห่งแรกของเมืองไทยก็ได้ ย.โย่งที่ช่วยวางรากฐานตั้งแต่ตั้งไข่ หรือ ‘วันแดงเดือด’ ในเมืองไทย หลายคนคงไม่ทราบว่า ย.โย่งคือผู้เริ่มต้นด้วยการจัดงานครั้งแรกพร้อมบรรยายสดๆ ที่ The Mall บางกะปิ โดยขายบัตร 50 บาท 5,000 ใบ
แต่เหนือสิ่งอื่นใด เขายังเป็นผู้สร้างมาตรฐานให้กับวงการนักพากย์ไปยังในจุดที่ควรจะเป็น
จากเดิมที่เอ่ยแค่ชื่อหมายเลขและทีมของนักเตะก็พอแล้ว แต่ ย.โย่งกลับพากย์แบบลงรายละเอียด ทั้งชื่อทั้งตำแหน่ง เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของนักเตะ อย่างค่าตัว อาการบาดเจ็บ รวมไปถึงข้อมูลจิปาถะ อย่างกฎกติกามารยาทฟุตบอล หรือแม้แต่ประวัติสโมสร จนบางคนถึงขั้นบอกว่า “ดูบอลเป็นก็เพราะ ย.โย่ง”
นี่จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมนักพากย์ยุคต่อมาจึงต่างซูฮกให้เขาเป็นอาจารย์ (แม้บางคนจะไม่เคยเจอตัวจริงด้วยซ้ำไป)
แต่สิ่งที่หล่อหลอมให้ ย.โย่งกลายเป็นต้นแบบที่ทุกคนสามารถปรับใช้ได้ คือการสร้างต้นทุนให้กับตัวเองมากที่สุด
แม้จะไม่ได้เข้าเรียนในรั้วมหาวิทยาลัย แต่ ย.โย่งกลับแสวงหาและเติมเต็มความรู้อย่างต่อเนื่อง หลังเข้าทำงานที่หนังสือพิมพ์บ้านเมือง เขามีหน้าที่หลักคือการแปลข่าว โดยเฉพาะข่าวเกี่ยวฟุตบอล
ความจริง ย.โย่งไม่ถนัดภาษาอังกฤษเลย นักเรียน 40 คน เขาสอบภาษาอังกฤษได้เป็นที่ 32 แต่ด้วยใจที่รักกีฬาเป็นทุนเดิม เขาจึงขวนขวายอย่างหนัก ทั้งเรียนเพิ่มเติมที่สถาบันภาษาเอยูเอ รวมทั้งตระเวนหาข่าวหาข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ด้วยตัวเอง ทำให้ชื่อของเขาโดดเด่นขึ้นมาอย่างรวดเร็ว
“การอยู่ที่นี่ถ้าไม่ขี้เกียจก็จะทำให้ได้อะไรเยอะเลย อย่างผมเวลาอ่านหนังสือต่างประเทศ ถ้าติดขัดอะไรผมก็จะค้น ต้องถามให้รู้ ต้องคลุกกับมันให้รู้จริง และการอ่านมากๆ ก็ทำให้เรารู้มาก”
การเสพสื่อที่หลากหลาย ทั้งหนังสือ ภาพยนตร์ ดนตรี เปรียบเสมือนคลังข้อมูลที่ ย.โย่งสามารถหยิบใช้ได้ตลอดเวลา
อย่างคอลัมนิสต์กีฬาระดับโลกที่อ่านทุกวัน ก็ช่วยทำให้เขาเข้าใจฟุตบอลอย่างทะลุปรุโปร่ง ได้เห็นการวิเคราะห์ที่เหนือชั้นไปอีกระดับ แม้แต่นิยายกำลังภายใน เขาก็โปรดปรานไม่แพ้กัน เพราะนอกจากสะท้อนปรัชญาชีวิตได้ลึกซึ้งแล้ว ภาษาที่ใช้ก็มีความพิเศษ สามารถนำมาปรับใช้กับงานเขียนหรืองานพากย์ได้อีกด้วย
เครื่องยืนยันที่สะท้อนได้ดีที่สุด คือคอลัมน์คัมภีร์ฟุตบอล ในนิตยสารสตาร์ซอคเก้อร์ ที่ ย.โย่งเขียนประจำ
“การตอบจดหมายทำให้โย่งแตกฉานมากขึ้น เพราะคนที่เขียนมานั้นไม่ได้ถามเรื่องฟุตบอลอย่างเดียว ถามเรื่องสารพัด เมื่อคุณลองภูมิมา ผมก็ต้องโชว์ภูมิค้นทั้งหมด หรือคุณถามเป็นกลอน ผมก็ตอบเป็นกลอน คุณถามบ้า ผมก็ตอบบ้า” พิศณุ นิลกลัด เพื่อนรักคนสำคัญของ ย.โย่ง กล่าว
ด้วยนิสัยที่รักการทำงาน บวกกับความรู้ลึกรู้จริง เมื่อเข้ามาสู่โลกของนักพากย์ ย.โย่งจึงกลายเป็นแถวหน้าอย่างรวดเร็ว
‘ถึงจะเสียงไม่หล่อ แต่ก็น่าฟัง’ น่าจะเป็นคำจำกัดความที่ดีสุดของเอกชัย นพจินดา
แรงบันดาลใจแรกของการพากย์ ต้องย้อนกลับไปเมื่อปี 2519 เมื่อหนังสือพิมพ์บ้านเมืองส่งเขาไปทำข่าวไกลถึงอังกฤษ อ.ชัยณรงค์ มนเทียรวิเชียรฉาย แห่งรายการ 180IQ ซึ่งเป็นผู้ดูแล บอกว่า ย.โย่งชอบวิธีพากย์บอลแบบอังกฤษมาก
“เขาชอบสไตล์การพากย์ที่เหมาะกับจังหวะ ช่วงจังหวะเวลาของแต่ละคนที่เด่นๆ ที่กำลังมีบทบาทในช่วงจังหวะนั้น คือเขาชอบว่า ข้อมูลต้องมีและแม่น อันที่สอง คือนักพากย์อังกฤษจะไม่พากย์ตลอด”
การให้ความสำคัญกับจังหวะจึงเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับ ย.โย่งมาตลอด
บางครั้งเขาก็จะปล่อยให้ผู้ชมฟังเสียงลูกบอลถูกเตะ หรือปล่อยเสียงกองเชียร์ในสนาม หรือช่วงเงียบๆ ก็ฟังผู้บรรยายเมืองนอกพูดแล้วสรุปเป็นภาษาที่เข้าใจง่ายสั้นๆ
“การจะพากย์ให้สนุกขึ้นกับเกม สิ่งที่มันเกิดขึ้นในจอ แล้วเราก็ต้องเอนเตอร์เทนต์คนดูด้วย หากเกมไม่มัน ผมก็คงเข็นให้รู้สึกสนุกด้วยไม่ได้ ก็ต้องหาประเด็นอะไรก็ได้ที่มันน่าสนใจ คือต้องทำอย่างไรให้คนดูหน้าจอไม่ปิดไปช่องอื่น”
ผมเวลาอ่านหนังสือต่างประเทศ ถ้าติดขัดอะไรผมก็จะค้น ต้องถามให้รู้ ต้องคลุกกับมันให้รู้จริง และการอ่านมากๆ ก็ทำให้เรารู้มาก
เช่นเดียวกับความเม่นและเป๊ะ ย.โย่งก็แสดงให้เห็นตั้งแต่ครั้งแรกที่พากย์คู่บราซิล-ฝรั่งเศส ในฟุตบอลโลก 1986 เพราะเขาสามารถพูดชื่อนักเตะได้หมด จนถึงขั้นมีคนโทรศัพท์เข้ามาถามว่าดูผ่านจอแล้วรู้ได้อย่างไร?
หนึ่งผู้ที่ยืนยันได้ดีที่สุด คือผู้ช่วยตลอดกาล ธราวุธ นพจินดา เผยเทคนิคของพี่ชายว่า รายชื่อนักเตะทั้ง 22 คนต้องจำให้ได้ และต้องให้คล่องปาก ต่อให้มีเวลาเพียง 5 นาทีก็ตาม
“สมัยก่อนต้องรอให้มันขึ้นมาบนจอแล้วรีบจด พี่โย่งจดเลขคู่ ผมจดเลขคี่ แล้วพอจดเสร็จก็มาวางตำแหน่ง ซ้าย-ขวา ก็จะง่ายขึ้นเวลาเรามองเกม ถ้าบอลมาอยู่ตำแหน่งนี้ของสนาม จากนั้นเราก็จะมาดูว่าใครบ้างจะเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้บ้าง”
การทำการบ้าน การเตรียมตัวให้พร้อม 100% คือหัวใจหลักที่ ย.โย่งยึดถือเรื่อยมากว่า 20 ปี และกลายเป็นเครื่องการันตีถึงคุณภาพของผู้ชายคนนี้ แม้จะพลิกบทบาทไปเป็น ผู้ประกาศข่าว พิธีกร ผู้ผลิตรายการ หรือนักจัดรายการวิทยุก็ตาม
ในโลกที่ผู้คนมักแสวงหา ‘โอกาส’ แต่สำหรับชายคนนี้ การจัดการกับโอกาสสำคัญยิ่งกว่านั้น เพราะเมื่อได้โอกาสมาแล้ว เขากลับเลือกที่จะ ‘ต่อยอด’ และ ‘ฝึกตน’ ให้พร้อมในทุกๆ ด้าน ทั้งการค้นคว้าข้อมูล เปิดรับสิ่งใหม่ๆ จากบุคคลรอบข้าง
แม้สุดท้ายสวรรค์จะได้พรากชีวิตของเอกชัย นพจินดา ไป แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยสูญหายไปก็คือ จิตวิญญาณ ของคนทำงาน ที่กลายเป็นแม่แบบและแรงบันดาลใจให้แก่ใครอีกหลายคน
นักข่าวคนสำคัญผู้ทำให้ข่าวกลายเป็นรายการสามัญประจำบ้าน
นักเล่านิทาน เจ้าของรายการ ‘บ้านเด็กดี’ ที่อยู่ในความทรงจำของเด็กไทยยุค 90
ย้อนเรื่องราวของนักสร้างสรรค์หญิงจากออสเตรเลีย ผู้ริเริ่มตัวละคร ‘กล้วยหอมจอมซน’ ซึ่งกลายเป็นขวัญใจคนทั่วโลก
ซิทคอมในตำนาน เรื่องราวของ 3 พี่น้องตระกูลเบญจวรการ ที่ยังคงอยู่ในใจผู้คนมานานกว่า 3 ทศวรรษ
Strawberry Cheesecake รายการวาไรตี้สำหรับคนวัยพรีทีน ยุคต้นปี 2000 ที่นำเด็กสาวสิบกว่าคน มาเป็นพิธีกร และทำให้ใครหลายคนต้องยอมตื่นเช้าวันอาทิตย์
เส้นทางชีวิตของ จอห์น นูโว จากศิลปินยอดนิยม สู่ผู้บุกเบิกสื่อไอทีของเมืองไทย
เครือข่ายที่ทำงานเรื่องการ ‘ตายดี’ เพื่อช่วยให้ผู้คนสามารถจากไปได้มีความสุข และลดความขัดแย้งแก่คนรอบใกล้ที่คอยดูแลด้วย
เครือข่ายอนุรักษ์ที่อยากส่งต่อเรื่องราว ความรู้เกี่ยวกับวาฬบรูด้า และผองเพื่อนในท้องทะเล เพื่อให้ทุกคนลุกขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งในการปกปักรักษาสิ่งมีชีวิตและทรัพยากรธรรมชาติใต้ผืนน้ำให้คงอยู่ตลอดไป
ตำนานศิลปินร็อก ผู้จุดกระแสเพลงเก็บตะวันให้ข้ามกาลเวลา รวมทั้งยังเป็นผู้สร้างยุคใหม่ให้แก่ RS สู่การเป็นเบอร์ 2 ของวงการเพลงไทยอย่างแท้จริง
คุณยายผู้เป็นสัญลักษณ์ของละครเมืองไทย ที่มีผลงานต่อเนื่องมากว่า 40 ปี ทั้ง คู่กรรม สายโลหิต บุพเพสันนิวาส
Armchair ศิลปินขวัญใจวัยรุ่นยุคอินดี้ ผู้บุกเบิกเพลงบอสซาโนวา เจ้าของเพลงฮิตสุดละมุนที่ยังตรึงอยู่ในใจแฟนเพลงถึงวันนี้
นักเขียนการ์ตูนที่พาผลงานมังงะจากเอเชียให้โด่งดังไปไกลทั่วโลก ปลุกกระแสดราก้อนบอล ให้เข้าอยู่ในใจเด็กๆ ยาวนานกว่า 3 ทศวรรษ
COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO. ALL RIGHTS RESERVED.