ชนินทร ประเสริฐประศาสน์ : แลเงา..ผู้กำกับ ‘แรงเงา’

<< แชร์บทความนี้

“..จอห์นคะ กว่าคุณจะได้ยินเสียงฉัน ตัวของฉันก็คงไปอยู่นิวยอร์กแล้ว..อีกครั้งแล้วสินะ ที่ฉันต้องโยกย้าย..”

คำพูดของ ‘พิม’ หญิงสาวที่มีถึง ‘จอน’ ชายหนุ่มเพื่อนร่วมห้อง ในภาพยนตร์เรื่อง ‘พริกขี้หนูกับหมูแฮม’ เมื่อปี 2532 ยังคงก้องอยู่ในความทรงจำของใครหลายคน

ถัดมาอีก 25 ปี ประโยคนี้กลับมาฮิตอีกครั้ง เมื่อสุดยอดวงซินธ์ป๊อปของเมืองไทย ‘Polycat’ นำคำพูดนี้มาใช้เปิดตัวเพลง ‘พบกันใหม่’ จนมียอดรับชมเกือบ 60 ล้านครั้ง

นี่คือหนึ่งในผลงานสุดคลาสสิกของนักเขียนบทมือทองแห่งวงการหนังไทย ผู้อยู่เบื้องหลังภาพยนตร์ยอดฮิตมาแล้วมากมาย ทั้ง รักแรกอุ้ม กลิ้งไว้ก่อนพ่อสอนไว้ และกาลหนึ่งเมื่อเช้านี้

ก่อนจะหันเหชีวิตมาสู่เส้นทางโทรทัศน์ เขียนบทละครจนโด่งดังมาแล้วหลายเรื่อง ทั้ง สาวน้อยคาเฟ่, สุดแต่ใจจะไขว้คว้า, สองมือแม่นี้ที่สร้างโลก ฝากดินกลิ่นดาว

แต่ที่ประสบความสำเร็จสุดขีด คือการเป็นผู้กำกับ ‘แรงเงา’ เมื่อปี 2555 ซึ่งกวาดเรตติ้งถล่มทลาย ถึงขั้นต้องมีภาค 2 ออกมา รวมถึง ‘เพลิงบุญ’ เมื่อปี 2560

เพื่อรำลึกถึงชายผู้เคยสร้างความสุข และรอยยิ้มแก่ผู้คนมาอย่างยาวนาน ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ขอพาทุกคนไปสัมผัส ตัวตน ความคิด และการทำงานของผู้กำกับมือดีของวงการบันเทิงไทย

ชนินทร ประเสริฐประศาสน์

Facebook : คิง ศรีสุภาพ

ชนินทรเป็นคนรักหนัง ชอบอ่านวรรณกรรมตะวันตก และสนุกที่ได้วิเคราะห์ตัวละคร โดยเฉพาะตัวละครที่มีปมเยอะๆ มีความดาร์กไซต์มากๆ ยิ่งดึงดูดมากพิเศษ เขาอยากทำให้สังคมได้เห็น ได้เข้าใจตัวตนของบุคคลที่หลากหลายเพิ่มขึ้น

พอเรียนจบ เขาคิดว่าอาชีพหนึ่งที่น่าจะตอบโจทย์ชีวิตได้ดีสุด คือ คนเขียนบท จึงรวมตัวกับเพื่อนฟอร์มทีมรับจ้างเขียนบทละครโทรทัศน์

หลังเขียนไปได้ 2-3 เรื่อง ในปี 2530 สมจริง ศรีสุภาพ รุ่นน้องที่นิเทศ จุฬาฯ ถูกโปรโมตให้เป็นผู้กำกับคนใหม่ของ ไทฯ จึงชักชวนเขาให้มาร่วมเขียนบทด้วย จนเกิดเป็น ‘รักแรกอุ้ม’ หนังรักแจ้งเกิดคู่ขวัญ ‘ขจรศักดิ์-จันทร์จิรา’

“แรกๆ ก็เขียนไม่เป็นหรอก ต้องฝึกอยู่นาน แต่ด้วยความที่เรารักการดูหนัง และการอ่าน ก็เลยดูตะลุยเลย ตอนนั้นมีวีดีโอให้เช่าแล้ว เหมือนเป็นการเปิดโลกทัศน์อย่างหนึ่ง โดยเฉพาะการเล่าเรื่อง เพราะเรารู้ลำดับขั้นตอนในการเล่าเรื่องว่ามันเป็นอย่างไร หนังมันจะสนุกหรือไม่สนุก ต้องเล่าอย่างไร”

ความสำเร็จของเรื่องแรก ทำให้ทั้งคู่มีผลงานตามมาอีกหลายเรื่อง เช่น ‘พริกขี้หนูกับหมูแฮม’ ซึ่งพวกเขาไปอ่านเจอเรื่อง ‘จดหมายถึงเพื่อน’ ของวาณิช จรุงกิจอนันต์ แล้วประทับใจจึงร่างเป็นไอเดีย ให้ชายหญิงคู่หนึ่งที่ต้องมาใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน ด้วยสถานการณ์บังคับ โดยมีฉากหลังเป็นซานฟรานซิสโก

อีกเรื่องคือ ‘กลิ้งไว้ก่อนพ่อสอนไว้’ หนังแนว Coming of age อารมณ์ Nostalgia ซึ่งทั้งคู่ได้แรงบันดาลใจการย้อนอดีตเล่าเรื่องตัวเองสมัยเรียน จนมาสร้างแก๊งหินกลิ้ง เด็กมัธยมสุดแสบที่เต็มไปด้วยวีรกรรมสุดห้าว ว่ากันว่าวันแรกที่เข้าโรงมีคนมาแห่จองตั๋วกันตั้งแต่ 7 โมงเช้าเลยทีเดียว

ส่งผลให้หลายคนยกให้ สมจริง-ชนินทร เป็นดูโอ้นักเขียนบทหนังวัยรุ่นเบอร์ 1 แห่งยุค 90s

แต่ถึงหนังจะโด่งดัง ชนินทรกลับมองว่า ผลงานที่ออกมายังไม่ยังตรงใจเท่าใดนัก เขาอยากเขียนบทให้ลึกซึ้งขึ้น เปิดโอกาสผู้ชมจินตนาการได้เอง แต่ดูเหมือนตลาดเวลานั้นยังไม่พร้อมเท่าที่ควร

“รสนิยมคนดูหนังสมัยนั้นมันจำกัด เราทำหนังแบบให้คนคิดเองไม่ได้ สังคมเรา หนังคือความบันเทิงอย่างแท้จริง อย่าให้คิดอะไรทั้งนั้น ทำให้การเขียนหนังยากมาก เพราะต้องตกผลึกทางความทั้งหมดภายในระยะเวลาชั่วโมงครึ่ง แต่ก็ถือว่าสนุกนะ”

หลังจากนั้น เขาก็ตัดสินใจพักงานเขียนบทหนังไปพักใหญ่ ก่อนจะกลับมาเขียนเรื่องสุดท้ายให้ บัณฑิต ฤทธิ์ถกล ซึ่งปกติไม่ยอมใครเขียนบทให้ โดยบัณฑิตให้เหตุผลว่า “เขาเป็นคนที่เขียนบทได้ตรงใจ คือในงานของเขาจะมีความบันเทิง และสาระที่ดีด้วย”

ปรากฏว่า ‘กาลครั้งหนึ่งเมื่อเช้านี้’ ขาดทุนยับ แต่กวาดรางวัลมาเพียบ ซึ่งรวมถึงบทด้วย ตั้งแต่นั้นมาชนินทรก็วางมือ หันมาเขียนบทละครอย่างเดียว โดยใช้นามปากกา ‘เติม’ ‘วรรณนึก’ ‘นรอินทร์’ และ ‘Sanctuary’

“โลกของหนังกับโลกของละคร เป็นคนละโลกกัน หนังไม่มีข้อจำกัด จะคิด จะเล่าเรื่อง ใส่เนื้อหาก็อยู่ที่เรา แต่ละคร คนดูเป็นกลุ่มที่เรียกว่า Soap ส่วนใหญ่จะวนเวียนอยู่ที่เรื่องชิงรักหักสวาท แม่ผัวลูกสะใภ้ ซึ่งเราก็ไม่อยากทำเรื่องแบบนั้น ก็เลยเขียนแนววัยรุ่น Comedy หรือแนวสังคมแทน

“ช่วงแรกก็เขียนแนวสังคมที่เป็นดราม่าจัดๆ อย่างสองมือแม่นี้ที่สร้างโลก แต่ตอนนั้น ก็ยอมรับว่าเขียนไม่เป็น ก็เลยศึกษาเรื่อยมา พอตอนหลังก็เลยหันมาจับตลาดอย่างอื่นๆ บ้าง สุดท้ายมานั่งคิดว่า ชาวบ้านเขาชอบดูอะไรบ้าง แล้วจึงเริ่มมาเขียนบทเรื่องสาวน้อยคาเฟ่ ซึ่งมีครบทั้งเพลง ทั้งอารมณ์ขัน”

หลักคิดอย่างหนึ่งของชนินทรคือ แม้ละครจะมีเป็นสิบตอน แต่ทุกฉาก ทุกตัวละคร ต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน ไม่ใช่เขียนไปเรื่อยเปี่อย ไม่เช่นนั้นผู้ชมจะรู้สึกว่าดูแล้วเสียเวลา

ที่สำคัญคือ ต้องยึดธีมหรือแก่นของเรื่อง รวมทั้งชี้ให้เห็นได้ว่า สุดท้ายละครเรื่องนี้ให้ประโยชน์อะไรกับสังคม

เพราะฉะนั้นละครแต่ละเรื่องอาจต้องเวลาเขียนหลายเดือน บางเรื่องต้องเวลา 1-2 เดือนถึงเริ่มซึมเข้า ถึงรู้ว่าเขาควรจะเขียนไปในทิศทางไหน บางครั้งยังต้องลงพื้นที่จริง ไปสำรวจอาชีพของคนกลุ่มต่างๆ เพื่อจะได้เข้าใจและเห็นภาพมากที่สุด

Instagram : joychonticha

คนดูจะต้องดูด้วยสติ จิตสำนึกที่ดี คนเราในปัจจุบันไม่เห็นความบกพร่องของตัวเอง โยนความผิดให้คนอื่น

ชนินทร ประเสริฐประศาสน์ : แลเงา..ผู้กำกับ ‘แรงเงา’

อย่างเช่น แรงเงา เมื่อปี 2555 แม้จะไม่ได้เขียนบทเอง แต่ในฐานะผู้กำกับ เขาอธิบายว่า แก่นของละครเรื่องนี้ คือ ความล้มเหลวของครอบครัวไทยสมัยใหม่ที่เป็นชนชั้นกลาง

“นพนภา คือหญิงแม่ค้า ผู้ไม่เคยดูแลลูก เอาแต่เงิน ข่มผัว ความล้มเหลวนี้ส่งผลไปถึงลูก ส่งผลไปถึงผัว ซึ่งผัวนั้นก็สนแต่เรื่องเซ็กซ์อย่างเดียว ตัวละครที่รายล้อมก็จะพูดประเด็นนี้ อย่างคนใช้ทำไมถึงมีบทบาท เพราะเห็นธาตุแท้ของนาย บางทีมันก็กัด แต่ไม่ใช่กัดเพื่อให้เกิดอารมณ์ขันโป แต่กัดในประเด็น เช่น คุณนายนั่งดูโทรทัศน์แล้วก็บ่นว่าทำไมต้องห้ามเด็กอายุ 18 ดู ฉันดูตั้งแต่ 8 ขวบไม่เห็นเป็นอะไร คนใช้ก็บอกว่า คุณนายเป็นคนดีจังเลยนะคะ นี่คือการจิกกัด การเสียดสีแบบหนึ่ง หรือทำไมคนใช้จึงต้องเจ๋อ เพราะเขาหมั่นไส้จริตความเป็นชนชั้นกลางของครอบครัวนี้ เพราะตัวคนใช้คือคนที่เห็นสัจธรรมมากกว่านายมันเสียอีก ซึ่งประเด็นเหล่านี้จะเป็นบริบทที่อยู่ภายในละคร”

ด้วยความพิถีพิถันทำให้เกิดผลงานยอดนิยมตามมาหลายเรื่อง เช่น คุณชายปวรุจ ต้มยำลำซิ่ง และยังนำมาสู่โอกาสสำคัญในชีวิต อย่างการเป็นผู้กำกับละคร

ความจริงแล้ว ชนินทรเริ่มกำกับละครมาตั้งแต่ ปี 2533 แต่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไหร่ เพราะฉายชนคู่กรรม เวอร์ชันพี่เบิร์ด จากนั้นก็ไม่ได้ทำอีกเลย จนกระทั่งปี 2542 ทางช่อง 3 จึงติดต่อให้มากำกับละครเรื่อง ท่านชายในสายหมอก แล้วก็ตามมาด้วย อุบัติรักจากฟากฟ้า จันทร์เอ๋ยจันทร์เจ้า บริษัทบำบัดแค้น เลื่อมพรายลายรัก แต่ที่ถือเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ที่สุด เห็นจะไม่พ้น ‘แรงเงา’

งานกำกับท้าทายกว่างานเขียนบท เพราะสัมพันธ์กับผู้คนมากมาย และใช้ศาสตร์ต่างๆ เข้ามาช่วย เพื่อให้ผู้ชมเชื่อว่าทั้งหมดนี้คือเรื่องจริง โดยยังคงความสนุกและน่าติดตามไว้ให้ได้

อย่างไรก็ตาม ชนินทรกลับบอกว่า เพิ่งกระจ่างถึงศาสตร์การทำละครว่าต้องทำอย่างไรให้ Mass ตอนกำกับแรงเงานี่เอง

พี่สมรักษ์ ณรงค์วิชัย (ผอ.ฝ่ายรายการช่อง 3) บอกว่าเรื่องมันใกล้ตัวคนดู ทำให้เราได้เรียนรู้ว่า เรื่องที่ผ่านๆ มา มันไกลตัวคนดู แรงเงาเป็นเหมือนศูนย์รวมของความจริงที่เกิดขึ้นในใจมนุษย์ทุกคน พอเราทำอะไรที่ทำให้คนดูเชื่อ หรือรู้สึกว่าใกล้ตัว มันประสบความสำเร็จไปครึ่งหนึ่งแล้ว

“อย่างฉากหนึ่งเป็นฉากแตกหักของบ้าน คือ พ่อจับได้ว่าลูกชายเป็นเกย์ ก็เอาเข็มขัดฟาด แม่เข้าไปปกป้องลูก พ่อบอกว่าให้ถามมันสิว่า มันเป็นตุ๊ดหรือเปล่า ผมบอกนักแสดงว่า ตอนแม่หันไปถาม ไม่ต้องตอบนะ แต่ให้หันไปกอดแม่เท่านั้นแหละ ปล่อยโฮกันทั้งหมด นั่นคือคำตอบ .. มันคือการแสดงให้คนดูว่านี่ไม่ใช่การแสดงแล้ว แต่มันคือเรื่องจริง เรากำลังดูชีวิตของอีกครอบครัวหนึ่งอย่างใกล้ชิด

“ที่สำคัญ มันยังสะท้อนบางอย่างไปสู่ผู้ชม ผ่านการเสียดสี ซึ่งคนดูจะต้องดูด้วยสติ จิตสำนึกที่ดี คนเราในปัจจุบันไม่เห็นความบกพร่องของตัวเอง โยนความผิดให้คนอื่น นี่คือประเด็นการเลี้ยงที่ว่าทำไมสังคมเรา โดยเฉพาะสถาบันครอบครัวถึงอ่อนแอไปหมด เพราะคนเราอยู่บนสังคมบริโภคนิยม ซึ่งครอบครัวของนพนภาในแรงเงาบอกประเด็นนี้ออกมาชัดเจนมาก

ความสำเร็จในแรงเงา กลายมาเป็นพื้นฐานที่ชนินทรนำมาประยุกต์ใช้กับการสร้างงานเรื่องต่อมา ทั้ง ดาวเคียงเดือน สะใภ้จ้าว และเพลิงบุญ ต่างได้รับการันตีในแง่คุณภาพ เป็นภาพสะท้อนถึงความตั้งใจอันแรงกล้าที่อยากส่งต่อความสุขไปถึงผู้ชมทางบ้าน

แม้วันนี้ผู้กำกับผู้นี้จะเลือกหยุดตำนานของตัวเองไว้เพียงแค่นี้ แต่เชื่อว่าผลงานที่เขาสร้างสรรค์มาตลอด 3 ทศวรรษ จะคงอยู่ในใจของใครหลายคนไปอีกนา

ภาพและข้อมูลประกอบการเขียน

  • นิตยสาร mars ปีที่ 11 ฉบับที่ 121 พฤศจิกายน 2555 
  • วิทยานิพนธ์ แนวคิดในการเชื่อมโยงสื่อและวิธีการในการกำกับการแสดงของผู้กำกับละครโทรทัศน์ที่มีผลงานในละครเวทีและภาพยนตร์ โดย พริมรตา เดชอุดม คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • Bioscope Magazine Online วันที่ 29 ธันวาคม 2560 และ 29 มีนาคม 256

<< แชร์บทความนี้

RELATED POSTS
LATEST

Keep In Touch

COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO.  ALL RIGHTS RESERVED.