ที่นี่เคยได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในแลนด์มาร์กของเมืองไทย
ด้วยความหรูหรา สถาปัตยกรรมอันโดดเด่น สะท้อนความเป็นไทย จึงไม่แปลกเลยว่า เหตุใด ดุสิตธานี จึงกลายเป็นสถานที่ต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองมานับครั้งไม่ถ้วน รวมทั้งเคยเป็นสถานที่จัดงานประกวด Miss Universe 1992
แต่เรื่องหนึ่งที่หลายคนอาจไม่ทราบคือ กว่าที่โรงแรม 5 ดาวแห่งนี้จะยิ่งใหญ่และกลายเป็นภาพจำที่ผู้คนทั่วโลกนึกถึงเวลามาเมืองไทย สุภาพสตรีผู้หนึ่งต้องต่อสู้ฟันฝ่าอุปสรรคมากมาย
ล้มลุกคลุกคลานมาหลายครั้ง และยังต้องต่อสู้กับทัศนคติเดิมๆ ของสังคมที่ไม่เคยเชื่อว่า ผู้หญิงก็มีความสามารถทัดเทียมและไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเพศชาย
ยอดมนุษย์..คนธรรมดา จึงอยากขอพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับเรื่องราวของ ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย หญิงแกร่งผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมโรงแรม 5 ดาวของประเทศไทย
“การสร้างดุสิตธานีเหมือนเราเข็นครกขึ้นภูเขา เพราะกำลังเราน้อยเหลือเกิน ตึกดุสิตฯ ใหญ่ก็จริง ใครๆ ว่าคงจะมีเงินมาก ความจริงไม่ใช่เลย มันใหญ่แต่เสาเท่านั้นเอง”
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2506 ท่านผู้หญิงชนัตถ์มีความคิดที่อยากจะสร้างโรงแรมสักแห่งเพื่อเป็นหน้าตาของประเทศ ที่มีมาตรฐานระดับโลก เนื่องจากเมืองไทยเวลานั้นแทบไม่มีโรงแรมระดับ 5 ดาวในเมืองไทยเลย
พอดีช่วงนั้นมีโอกาสได้เดินทางไปดูงานที่โรงแรมโอกูระที่ญี่ปุ่น แล้วเกิดความประทับใจ จึงปรึกษาประธานโรงแรมที่นี่ ถึงความเป็นไปได้ที่จะสร้างโรงแรม 5 ดาว ขนาด 500 ห้องในเมืองไทย
สิ่งแรกที่เจ้าของโรงแรมแนะนำคือ ต้องมีที่ดินก่อน หลังตระเวนทั่วกรุงเทพฯ ท่านผู้หญิงก็พบกับที่ดินขนาด 10 ไร่ ตรงข้ามสวนลุมพินี หัวมุมถนนสีลม ซึ่งเดิมเป็นของเจ้าพระยายมราช ต่อมาจึงโอนย้ายเป็นของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จึงพยายามติดต่อขอเช่า จนได้สัญญา 30 ปี พร้อมจ่ายค่าชดเชยให้ผู้เช่าเดิมอีก 10 ล้านบาท
ถึงสถานที่จะพร้อม แต่ปัญหาสำคัญคือ ต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล อย่างต่ำๆ ประมาณ 364 ล้านบาท
ชนัตถ์ตัดสินใจยอมขายสมบัติที่มีอยู่ เครื่องเพชร อัญมณี โรงแรมแห่งแรกที่รักมากซึ่งสร้างขึ้นเมื่อสิบปีก่อนก็ยังถูกนำไปขาย แม้แต่บ้านพักส่วนตัวก็เอาไปจำนอง จนได้เงินมาก้อนหนึ่งประมาณ 120 ล้านบาท ก็ยังไม่พอ จึงต้องหอบหิ้วโปรเจ็กต์นี้ไปคุยกับแหล่งเงินทุนในต่างประเทศ ทั้งญี่ปุ่น เยอรมัน ซึ่งต่างสนับสนุนโครงการนี้ด้วยการยอมปล่อยกู้ระยะยาว แต่มีเงื่อนไขว่าต้องหาธนาคารพาณิชย์ในประเทศมาค้ำประกัน ซึ่งกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้โครงการเกือบล้ม
ธนาคารส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่าผู้หญิงตัวเล็กๆ จะแบกรับโครงการขนาดใหญ่เช่นนี้ได้ไหว แต่ที่สำคัญกว่า คือพวกเขามองไม่เห็นว่าการทำโรงแรมขนาดใหญ่บนพื้นที่เช่าจะสร้างรายได้ที่มั่นคงได้อย่างไร
“บางทีก็นึกปวดร้าวนะที่แบงก์บ้านเราเขาดูกันที่หลักทรัพย์มากกว่าที่จะดูตัวโครงการดูความเป็นไปได้ในอนาคต ตอนที่เดินออกมามือเปล่าแล้วทอดน่องมาเรื่อยๆ จากสะพานเหล็กจนถึงโรงแรมปรินซเซสไม่รู้มาได้ยังไงกัน”
โชคดีที่ ไพศาล นันทาภิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารแหลมทอง มองว่าโครงการนี้น่าจะมีอนาคต จึงยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ แต่เนื่องจากแหลมทองเป็นเพียงธนาคารเล็กๆ ไม่สามารถค้ำประกันโครงการใหญ่ขนาดนี้ได้ลำพัง ไพศาลจึงประสานกับธนาคารกรุงไทยให้ช่วยการันตีอีกแห่ง ทำให้โครงการที่ใกล้ถูกปิดฝาโลง ฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง
หลังหมดอุปสรรคเรื่องทุนประเดิม ก็มาถึงเรื่องบริหารจัดการ
ด้วยความที่พื้นที่ตรงนี้อยู่ตรงข้ามกับพระบรมราชานุสาวรีย์ ในหลวงรัชกาลที่ 6 ท่านผู้หญิงได้ถวายเครื่องสักการะ พร้อมทำพิธีขอพระบรมราชานุญาตรื้อสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ฝั่งตรงข้าม พอดีกับนึกขึ้นมาได้ว่า รัชกาลที่ 6 ทรงมีโครงการเมืองในฝัน ซึ่งเป็นต้นแบบของประชาธิปไตย ชื่อ ‘ดุสิตธานี’ จึงได้นำชื่อนี้ใช้เป็นชื่อของโรงแรมแห่งใหม่
ส่วนสถาปัตยกรรมได้ความร่วมมือจาก Yozo Shibata แห่งบริษัท Kanko Kikaku Sekkeisha ซึ่งเป็นผู้ออกแบบโรงแรมโอกุระ มาช่วยดูแล พร้อมยังได้ทีมสถาปนิกอาสาสมัครจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบโรงแรม มาเป็นที่ปรึกษา คอยช่วยเหลือด้านปรับปรุงแบบแปลนและแผนผังของโรงแรมให้เหมาะสมที่สุด
จุดเด่นของโรงแรมดุสิตธานี คือการผสมผสานอย่างลงตัวของวัฒนธรรมไทยสากล ท่านผู้หญิงพยายามสอดแทรกความเป็นไทยลงไป โดยก่อนเริ่มงานได้พาทีมงานญี่ปุ่นไปศึกษาศิลปะไทยผ่านวัดวาอารามต่างๆ เพื่อเป็นแนวทางการออกแบบ จนได้รูปแบบประยุกต์ที่ดูทันสมัยเป็นตึกรูปทรงสามเหลี่ยม ตัวอาคารหลักมีผังเป็นรูปเหลี่ยมปลายตัด ตั้งบนฐานสามเหลี่ยมลดหลั่นสอบเข้าทีละชั้น และบนยอดแต่งกรวยปลายแหลมเรียวคล้ายยอดเจดีย์ ได้แรงบันดาลใจจากยอดพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม
แม้แต่เรื่องโลโก้โรงแรม ถึงจะเขียนด้วยภาษาอังกฤษ แต่ก็เป็นการเขียนด้วยลีลาเอกลักษณ์แบบไทยๆ จนกลายเป็นสัญลักษณ์อันโดดเด่นและเป็นที่จดจำมาจนถึงทุกวันนี้
แต่ก็ใช่ว่าทุกอย่างจะดำเนินไปได้อย่างง่ายดาย ด้วยทุนทำงานที่น้อยมาก ทำให้ท่านผู้หญิงจัดตั้งบริษัทขึ้นเพื่อระดมทุนพร้อมระดมทุนในหมู่เพื่อนฝูงและคนรู้จัก โดยออกเป็นหุ้นกู้ หุ้นละ 100 บาท วิธีการนี้สร้างความเชื่อมั่นแก่สาธารณชนว่า การบริหารงานของดุสิตธานีนั้นโปร่งใสและน่าเชื่อถือ รวมทั้งยังทำให้ไม่ต้องแบกภาระดอกเบี้ยจากธนาคารมากนัก
อย่างไรก็ดี เธอก็พยายามจัดสรรงบประมาณอย่างรัดกุม เพื่อให้ทุกบาททุกสตางค์ถูกใช้อย่างคุ้มค่าที่สุด
“เราเป็นผู้ดูแลเองทั้งหมด ตั้งแต่การสั่งซื้อเสาเข็มไปจนถึงไม้จิ้มฟันสำหรับใช้ในห้องอาหาร.. โดยการก่อสร้าง ดิฉันจ้างผู้รับเหมารายย่อยแยกงาน เช่นการตอกเสาเข็มโครงสร้าง งานประปา ไฟฟ้าและเครื่องปรับอาหาร โดยตัดผู้รับเหมารายใหญ่ออก ทำให้ลดราคาลงได้ถึง 20 เปอร์เซ็นต์
“บางอย่างเราก็ลงมือทำเอง เช่นการทำสวนในน้ำตก ไม่มีงบประมาณ ดิฉันกับลูกๆ ก็ใช้เวลาเย็นปรับดินแล้วซื้อต้นไม้มาลง ลูกเมียของคนงานก็มาช่วยทำในเวลาค่ำ ตกดึกก็มาทานข้าวด้วยกัน ก็สนุกดี แล้วเราก็ซื้อต้นปาล์มมาปลูก ต้นปาล์มทุกต้นที่นี่ ดินฉันปลูกด้วยมือตัวเองหมด”
ไม่เพียงแค่นั้น ท่านผู้หญิงยังใช้กลยุทธ์ประชาสัมพันธ์ตัวเอง ด้วยการหอบหิ้วเอาแบบจำลองของโรงแรมที่ยังสร้างได้ไม่ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ไปนำเสนอในงานประชุม PATA Adventure Travel and Responsible Tourism Conference and Mart ที่ซีแอตเทิล ปรากฏว่าประธานกรรมการโรงแรม WESTERN ซึ่งมีสาขาอยู่ทั่วโลกสนใจอยากดึงดุสิตธานีเข้ามาในเครือข่าย จึงตัดสินใจซื้อหุ้นจำนวนหนึ่ง และเป็นครั้งแรกของอุตสาหกรรมโรงแรมที่มีต่างชาติเข้ามาร่วมทุนกับนักธุรกิจในประเทศ
แม้งานที่ทำจะหนักและเครียด ถึงขั้นนอนไม่หลับ บางทีก็นั่งร้องไห้อยู่คนเดียว แต่ท่านผู้หญิงก็ไม่เคยท้อ พยายามต่อสู้ดิ้นรนอย่างสุดกำลัง จนความฝันตลอดหลายปีก็เป็นความจริง
ดุสิตธานีเปิดตัว ในเดือนกุมภาพันธ์ 2513 กลายเป็นโรงแรมที่ใหญ่ที่สุดของประเทศในเวลานั้น ด้วยความสูง 23 ชั้น และมีห้องพักมากถึง 525 ห้อง ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ และยังก่อให้เกิดกระแสการสร้างโรงแรมหรูขึ้นในเมืองไทยตามมาอีกมากมาย
“คุณเคยเห็นเจ้านายคนไหนบ้างที่ยอมยกมือไหว้ลูกน้องก่อน ทำอย่างนี้ได้กับแขกด้วยแล้วยิ่งไปกันใหญ่”
คือคำบอกเล่าของพนักงานคนหนึ่งที่ทำงานในเครือดุสิตธานีมานานหลายสิบปี สะท้อนทัศนคติในการทำงานบริการตลอด 24 ชั่วโมงของผู้หญิงที่ชื่อชนัตถ์ได้อย่างดี
ความจริงแล้วก่อนหน้านี้ชีวิตของท่านผู้หญิงไม่มีช่วงใดที่เฉียดใกล้กับคำว่าธุรกิจโรงแรมเลย
พ่อของเธอเป็นเจ้าของโรงเลื่อยไม้ชื่อดังอยู่ริมคลองหัวลำโพง ส่วนแม่ก็ทำธุรกิจโรงสีข้าวอยู่ที่สระบุรี
จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นในช่วงที่เธอกำลังเรียนอยู่ที่โรงเรียนเตรียมธรรมศาสตร์และการเมือง เพื่อวางแผนไปเป็นนักกฎหมายหญิง แต่ช่วงนั้นเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดการทิ้งระเบิดกันทั่วกรุง โดยเฉพาะแถวเทเวศน์ซึ่งไม่ไกลจากบ้านพักนัก แม่เลยส่งตัวให้ไปอยู่กับญาติที่ต่างจังหวัด
พอหมดสงคราม ท่านผู้หญิงเรียนไม่ทันเพื่อนฝูง จึงขอไปเรียนต่อสหรัฐอเมริกา แต่ด้วยความอ่อนภาษาอังกฤษจึงสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ ต้องไปเรียนกวดวิชาก่อน พอปีถัดมาไปสอบอีกก็ยังไม่เข้าไม่ได้ เลยตัดสินใจกลับบ้าน
ก่อนกลับก็ถือโอกาสไปเที่ยวและเข้าพักในโรงแรมแห่งหนึ่ง จึงเกิดความคิดว่าอยากทำธุรกิจอะไรสักอย่าง เพราะคิดว่าการทำโรงแรมก็คงไม่ยากนัก แถมงานก็ดูอิสระ ได้แต่งตัวสวยๆ ทำงานในสถานที่สบายๆ อีกต่างหาก
หากแต่ความจริงนั้นกลับต่างที่คิดอย่างสิ้นเชิง!!
หลังกลับเมืองไทยจึงขอยืมเงินพ่อแม่มาทำโรงแรมสูง 3 ชั้น บนที่ดินของพี่สาว บริเวณปากซอยโอเรียนเต็ล เธอดูแลเองทุกอย่างตั้งแต่ก่อสร้าง รวมทั้งดูแลตกแต่งห้องพักทั้ง 60 ห้อง โดยจุดเด่นคือที่นี่เป็นโรงแรมแรกของประเทศที่มีสระว่ายน้ำ
“ดิฉันยอมรับว่าทำไปโดยความคิดว่าอยากจะทำเท่านั้น ไม่ได้คิดด้วยซ้ำว่าจะมีใครมาพักหรือเปล่า จนเมื่อเปิดโรงแรมแล้วถึงได้ทราบว่าธุรกิจโรงแรมช่วงนั้นไม่เหมาะกับผู้หญิง คนเขามองว่าผู้หญิงไม่น่าไปยุ่งกับงานอย่างนี้”
เพราะคนสมัยนั้นมักมองว่า โรงแรมเป็นสถานที่อโคจร เป็นงานที่น่ารังเกียจ พ่อแม่ที่อันจะมีกินสักหน่อย จึงมักไม่ชอบให้บุตรหลานมายุ่งกับงานเหล่านี้ แต่ด้วยความที่เป็นคนกล้าเสี่ยง และอยากพิสูจน์ตัวเอง เลยทุ่มสุดตัวเพื่อให้โรงแรมนี้ประสบความสำเร็จให้ได้
โรงแรมปริ๊นเซส เปิดทำการเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2492 พร้อมทูลเชิญสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จมาเป็นประธานในพิธี
ช่วงแรกของการทำโรงแรมเต็มไปด้วยปัญหามากมาย ส่วนหนึ่งมาจากการที่ไม่เคยมีประสบกาณ์มาก่อน
“โดนแขกต่อว่ามาก เดี๋ยวน้ำไม่ไหล ไฟก็ดับ แขกนั่งรถสามล้อมีปัญหาบ้าง ใครบ่นใครว่าก็พยายามวิ่งไปหา ไปขอโทษ ไม่คิดที่จะโกรธ เพราะมันเป็นความผิดของเราที่ไม่สามารถอำนวยความสะดวกสบายกับเขาได้ เราก็พยายามหาทางแก้ไข บางครั้งคนทำความสะอาดไม่มา เราก็ต้องไปทำแทน ล้างห้องน้ำก็เคยไปช่วยเขา เพราะถือว่าเป็นงานที่ต้องทำร่วมกัน คำว่าเหนื่อยไม่ต้องพูด บางวันมีเวลาพักผ่อนน้อยมาก”
ด้วยความใส่ใจในการบริการอย่างมาก ทำให้โรงแรม 4 ดาวแห่งนี้ขยายกิจการอย่างรวดเร็ว จาก 60 ห้อง กลายเป็น 100 ห้อง มีแขกต่างชาติมาพักอย่างต่อเนื่อง สามารถทำกำไรได้ปีหนึ่งหลายสิบล้านบาท
แต่สิ่งสำคัญยิ่งกว่าคือ ประสบการณ์ต่างๆ จากปริ๊นเซสได้กลายเป็นรากฐานที่ท่านผู้หญิงใช้เป็นแนวทางในการบริหารและจัดการโรงแรมดุสิตธานีต่อมา โดยเฉพาะด้านบุคลากรที่ต้องมีหัวใจของนักบริการอย่างเต็มที่
“ดิฉันพยายามใช้วิธีฝึกคนขึ้นมา เรามีการจัดฝึกอบรมคนงาน บางแผนกเปิดฝึกอบรมถึง 6 เดือนล่วงหน้า บางแผนก 3 เดือน โดยเราเอาเจ้าหน้าที่จากสหรัฐอเมริกามาเป็นครูสอน เราต้องการให้ออกมาเพอร์เฟ็กต์ที่สุด เอาเด็กใหม่ๆ เฟรชๆ มาทำ ทำให้เราไม่จำเป็นต้องแย่งเอาตัวบุคลากรที่อื่นมา และยังเป็นการทำให้เด็กใหม่ที่ไม่เคยอยู่ในวิชาชีพได้มีงานทำ”
นอกจากนี้ยังพยายามเดินสายไปพักตามโรงแรมต่างๆ ทั่วโลก โรงแรมไหนมีชื่อเสียงก็ต้องบินไปดู รวมถึงการส่งพนักงานบางคนไปเรียนต่อเมืองนอก เพื่อจะนำกลับมาปรับปรุงบริการของดุสิตธานี
แต่ที่สำคัญสุด คือการทำตัวเองเป็นแบบอย่างที่ดี ท่านผู้หญิงมักบอกกับลูกๆ เสมอ คือ เราเป็นนายต้องมาทำงานก่อนและกลับทีหลังลูกน้อง เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีแก่พนักงาน ที่สำคัญต้องหมั่นเดินไปทักทายลูกค้า เวลาเจอใครท่านผู้หญิงไม่เคยแสดงความเป็นเจ้าของโรงแรมออกมาเลย แต่จะพูดคุยเป็นกันเองกับทุกคน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ยังรวมถึงวิธีปฏิบัติตัวต่อพนักงานทุกคนด้วย
ด้วยหัวใจการบริการที่เป็นหนึ่ง ก่อให้เกิด Dusit Do’s ซึ่งเปรียบเสมือนแนวทางในการทำงานที่พนักงานทุกคนต้องยึดถือ เช่น ‘ทักทาย’ ด้วยการส่งสายตา ส่งรอยยิ้ม พร้อมกับคำว่าสวัสดีทุกคนที่พบแขก ‘ใช้ชื่อ’ คือควรจดจำชื่อแขกให้และเรียกชื่อทุกครั้งที่มีโอกาส หรือ ‘รับฟังแล้วปฏิบัติ’ โดยตั้งใจฟังแขกเพื่อให้เข้าใจบทสนทนาอย่างแท้จริง อย่ากล่าวแทรก อย่าขัด แล้วจึงทำงานตามที่แขกต้องการ ซึ่งส่งผลให้บริการของเครือดุสิตธานีมีมาตรฐานและได้รับการยอมรับในระดับสากลจนถึงปัจจุบันนี้
คงไม่ผิดหากจะกล่าวว่า ท่านผู้หญิงชนัตถ์คือตัวแทนของผู้หญิงมากความสามารถ ที่กลายเป็นต้นแบบแก่สตรีอีกมากมายในเมืองไทย โดยเฉพาะแวดวงธุรกิจ
“ในการทำงานดิฉันไม่เคยคิดจะแข่งกับผู้ชาย เพราะคิดว่าความเป็นผู้หญิง ยังไงเราก็สู้ผู้ชายไม่ได้ เราควรยอมรับ เพราะโอกาสและสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยมีให้กับผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ตามขนบธรรมเนียมของเรา”
ถึงแม้จะยอมรับสภาพของสังคม แต่เธอไม่เคยปล่อยให้สิ่งเหล่านี้เป็นอุปสรรคในการทำงานเลย
ในช่วงแรกของการเปิดดุสิตธานี ด้วยความที่ลงทุนไปมาก แถมยังต้องใช้หนี้แก่ธนาคาร ทำให้ 3 ปีแรกขาดทุนอย่างต่อเนื่อง แต่เธอก็พยายามเร่งใช้หนี้จนหมด กระทั่งปีที่ 4 ดุสิตธานีก็สามารถทำกำไรได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย และขยายกิจการไปได้อีกหลายสิบแห่ง ทั้งในและต่างประเทศ
ขณะเดียวกันก็ต้องพยายามแก้ปัญหาต่างๆ ที่เข้ามาท้าทายความสามารถ เช่น นักลงทุนต่างชาติ ซึ่งหลังทำงานร่วมกันสักระยะ ก็พบว่ามีวัฒนธรรมแตกต่างเกินไป จนต้องเจรจาขอซื้อหุ้นคืน แต่โชคดีที่ดุสิตธานีนั้นมีบริการที่โดดเด่นมาก ทำให้โรงแรมหรูระดับโลก ยังคงส่งแขกมาพักที่นี่เรื่อยมา ข่าวคราวเรื่องการเวนขึ้นที่ดินเพื่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินสถานีสีลม รวมถึงความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลกระทบต่อจำนวนผู้เข้าพักและรายได้ของโรงแรมโดยตรง
“คนทำโรงแรมนี่เหมือนกับคนขายปฏิทิน ต้องรีบขายให้หมด เพราะปีหน้าก็ขายไม่ได้แล้ว ทุกวันนี้เราจะมานั่งคอยให้คนเดินเข้ามาวอล์กอินไม่ได้ ต้องขายล่วงหน้า และต้องขายนานๆ ทีเดียว เพราะการขายของโรงแรมนี่มันผิดจากธุรกิจอื่น ถ้าไม่มีลูกค้าก็เท่ากับเราไม่มีรายได้ แต่รายจ่ายมันฟิกซ์ตายตัวไปแล้ว”
อีกปัญหาหนึ่งที่ดุสิตธานีเผชิญอยู่เสมอ คือ บุคลากรไม่เพียงพอต่อการขยายตัวของธุรกิจท่องเที่ยว เพราะสมัยก่อนบ้านเรายังไม่มีโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยที่สอนเกี่ยวกับวิชาชีพนี้โดยตรง ท่านผู้หญิงเลยคิดทำโรงเรียนของตัวเองขึ้นมา เพื่ออุดช่องว่างตรงนี้ แม้ช่วงแรกผู้ถือหุ้นจะคัดค้าน เนื่องจากต้องใช้ทุนสูงมาก และโอกาสสร้างกำไรมีน้อยมาก แต่เธอก็เห็นว่าเรื่องนี้จะเป็นประโยชน์ระยะยาว ทั้งแก่ดุสิตธานีเอง รวมถึงประเทศชาติ
ในที่สุดโรงเรียนการโรงแรมดุสิตธานีก็ถือกำเนิดขึ้นในปี 2536 ก่อนพัฒนาต่อยอดจนเป็นวิทยาลัยดุสิตธานี ผลิตบุคลากรเพื่อรองรับการเจริญเติบโตของอุตสากรรมท่องเที่ยวมาแล้วไม่ต่ำกว่าพันชีวิต
“ดิฉันคิดว่าเราสามารถเป็นแหล่งที่ผลิตบุคลากรได้ดีทีเดียว เพราะเรามีโรงแรมอยู่หลายแห่ง ที่เป็นแบบ City Hotel ก็อีกลักษณะหนึ่ง Resort Hotel ก็อีกลักษณะหนึ่ง เพราะฉะนั้นเรามีแหล่งที่จะให้นักเรียนสามารถไปฝึกงานได้ เพราะการที่จะเรียนวิชาชีพนี้มันจำเป็นต้องมีสถานที่ฝึก เราไม่ใช่นั่งเรียนตามทฤษฎี เอาตำรามาสอนนี่ไม่เพียงพอ”
ดิฉันพยายามใช้วิธีฝึกคนขึ้นมา.. เอาเด็กใหม่ๆ เฟรชๆ มาทำ ทำให้เราไม่จำเป็นต้องแย่งเอาตัวบุคลากรที่อื่นมา และยังเป็นการทำให้เด็กใหม่ที่ไม่เคยอยู่ในวิชาชีพได้มีงานทำ
ตลอด 70 ปีบนเส้นทางสายอาชีพโรงแรม จากคนที่ไม่เคยรู้เรื่องราวเกี่ยวกับธุรกิจนี้มาก่อน ต้องอาศัยการเรียนรู้จากการพูดคุยกับลูกค้า ค่อยๆ ปรับเปลี่ยน ปรับปรุงบริการให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าเสมอ
เพราะฉะนั้นจึงไม่แปลกเลยว่า เหตุใดผู้คนในอุตสาหกรรมโรงแรมทั่วโลกจึงต่างยกย่องให้ท่านผู้หญิงชนัตถ์เป็นหนึ่งในผู้ยิ่งใหญ่ของวงการ เทียบเท่า Adrian Zecha เจ้าของ Aman Resorts หรือ Michael Kadoorie ผู้ก่อตั้ง Peninsula Hotels ยืนยันได้จากการที่ The Hong Kong Polytechnic University สถาบันการศึกษาด้านการท่องเที่ยวและโรงแรม มอบรางวัล SHTM Lifetime Achievement Award หรือผู้ประสบความสำเร็จสูงสุดของวิชาชีพนี้แด่ท่านผู้หญิง
หากแต่ไม่มีงานเลี้ยงใดที่ไม่มีวันเลิกรา แม้จะไม่เคยตั้งเป้าว่าจะเกษียณมาก่อน แต่หลังอายุ 84 ปี ท่านผู้หญิงก็ตัดสินใจผันตัวเองไปรับหน้าที่ที่ปรึกษาและประธานกิตติมศักดิ์ของบริษัท โดยส่งมอบหน้าที่บริหารจัดการต่างๆ ในเครือดุสิตธานีแก่ ชนินทธ์ โทณวณิก บุตรชายคนโต อย่างเต็มตัว
เช่นเดียวกับโรงแรมที่เธอรักเสมือนลูกคนหนึ่งเพราะปั้นมากับมือของตัวเอง แต่เมื่อไม่สามารถให้บริการที่ดีที่สุดเหมือนเช่นในอดีต ด้วยภาพรวมของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป มีโรงแรมระดับ 5 ดาว ทั้งของกลุ่มทุนไทยเอง และกลุ่มต่างชาติ ซึ่งมีข้อเปรียบทั้งเรื่องความทันสมัย หรือขนาดใหญ่ที่กว้างขวางกว่าเปิดให้บริการมากมายเต็มไปหมด ส่งผลให้ดุสิตธานี ซึ่งค่อนข้างเก่า และไม่สามารถปรับขยายตัวตึกได้ เนื่องจากรูปทรงอาคารที่เป็นสามเหลี่ยม ไม่สามารถต่อสู้ในตลาดที่มีการแข่งขันรุนแรงเช่นนี้ได้
ที่สำคัญต้องยอมรับว่า ปัจจุบันเครือดุสิตธานีมีโรงแรมมากมายทั่วโลก และยังรับบริหารจัดการโรงแรมอื่นๆ อีกนับร้อยแห่ง หากไม่สามารถทำโรงแรมแม่ให้ได้มาตรฐาน ย่อมส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถืออย่างแน่นอน
หลังพิจารณาข้อดีข้อเสียต่างๆ แล้ว ผู้บริหารจึงมองว่า เมื่อดุสิตธานีไม่สามารถตอบโจทย์เรื่องโรงแรมที่ดีที่สุด ตามความตั้งใจดั้งเดิมแล้ว ก็ควรรื้อโรงแรมเก่า เพื่อสร้างใหม่เป็นแบบ Mixed-Use คือมีทั้งส่วนที่เป็น มีทั้งโรงแรม คอนโดมิเนียม ออฟฟิศ และส่วนที่เป็นค้าปลีก โดยถอดส่วนที่เอกลักษณ์ของโรงแรมบางอย่าง เช่นยอดสีทอง เสาเอก หรืองานโมเสกหน้าอาคาร เพื่อนำกลับมาติดตั้งในโรงแรมใหม่ด้วย พร้อมกับประสานไปยังมหาวิทยาลัยศิลปากร ในการเก็บข้อมูลต่างๆ ของตัวอาคาร ทั้งด้านสถาปัตยกรรม วิศกรรม โบราณคดี มัณฑนศิลป์ เพื่อนำรูปแบบเดิมกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของโรงแรมที่จะเปิดให้บริการใหม่
แม้วันนี้โรงแรมดุสิตธานีจะปิดตำนานลง ท่ามกลางความเสียดายของผู้คนมากมายที่เติบโต และได้เห็นพัฒนาการของ “ดินแดนแห่งสรวงสวรรค์” นี้มาเกือบ 50 ปี หากสิ่งสำคัญที่ไม่ได้สูญหายไป คือปณิธานและความมุ่งหวังที่จะสร้างสิ่งที่ดีที่สุดของท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย เพื่อเป็นแรงบันดาลใจและความภูมิภาคใจของคนไทยตราบนานเท่านาน
ผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์อมรินทร์ ร้านนายอินทร์ และนิตยสารชั้นนำของเมืองไทย ผู้เปิดโลกการอ่านให้คนไทยมามากมายหนังสือ
เรื่องราวของนักธุรกิจแดนอาทิตย์อุทัย ที่แม้จะเข้าสู่ช่วงวัยเกษียณ แต่ก็ตัดสินใจเข้ามาช่วยกอบกู้สายการบินของชาติจนกระทั่งผ่านพ้นวิกฤตขาดทุนได้สำเร็จ
นักธุรกิจผู้สร้างดอกบัวคู่ กับชีวิตที่ต้องต่อสู้ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ใหม่แก่ยาสีฟันสมุนไพรว่า ถึงจะดำแต่ก็ดี
เจ้าสัว ผู้ก่อตั้งเครือสหพัฒน์ เติบโตก้าวกระโดดจากธุรกิจรุ่นพ่อ ด้วยการมองเห็นน้ำหนักที่แตกต่างของเสื้อกับน้ำตาล
หนุ่มนักเรียนนอกโนเนม ชื่อ เดช บุลสุข ทำอย่างไรให้ แมคโดนัลด์ ฟาสต์ฟูดส์เจ้าดังแห่งอเมริกัน ยอมขายเฟรนไชนส์เป็นรายแรกในเมืองไทย
ตำนานการสร้าง ยาคูลท์ ของผู้บริหารเดลินิวส์ จากนมที่คนเคยคิดว่าเป็นเสีย สู่นมเปรี้ยวที่ทุกคนผูกพันมานานกว่า 50 ปี
เครือข่ายที่ทำงานเรื่องการ ‘ตายดี’ เพื่อช่วยให้ผู้คนสามารถจากไปได้มีความสุข และลดความขัดแย้งแก่คนรอบใกล้ที่คอยดูแลด้วย
เครือข่ายอนุรักษ์ที่อยากส่งต่อเรื่องราว ความรู้เกี่ยวกับวาฬบรูด้า และผองเพื่อนในท้องทะเล เพื่อให้ทุกคนลุกขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งในการปกปักรักษาสิ่งมีชีวิตและทรัพยากรธรรมชาติใต้ผืนน้ำให้คงอยู่ตลอดไป
ตำนานศิลปินร็อก ผู้จุดกระแสเพลงเก็บตะวันให้ข้ามกาลเวลา รวมทั้งยังเป็นผู้สร้างยุคใหม่ให้แก่ RS สู่การเป็นเบอร์ 2 ของวงการเพลงไทยอย่างแท้จริง
คุณยายผู้เป็นสัญลักษณ์ของละครเมืองไทย ที่มีผลงานต่อเนื่องมากว่า 40 ปี ทั้ง คู่กรรม สายโลหิต บุพเพสันนิวาส
Armchair ศิลปินขวัญใจวัยรุ่นยุคอินดี้ ผู้บุกเบิกเพลงบอสซาโนวา เจ้าของเพลงฮิตสุดละมุนที่ยังตรึงอยู่ในใจแฟนเพลงถึงวันนี้
นักเขียนการ์ตูนที่พาผลงานมังงะจากเอเชียให้โด่งดังไปไกลทั่วโลก ปลุกกระแสดราก้อนบอล ให้เข้าอยู่ในใจเด็กๆ ยาวนานกว่า 3 ทศวรรษ
COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO. ALL RIGHTS RESERVED.