ชัยณรงค์ มนเทียรวิเชียรฉาย : I.Q. 180 ตำนานรายการคณิตคิดไว’ เว่อร์’

<< แชร์บทความนี้

“..8 4 3 2 0 ใส่เครื่องหมายทางคณิตศาสตร์เข้าไปให้ได้คำตอบต่อไปนี้ หรือใกล้เคียงที่สุด..”

ประโยคแสนคลาสสิก กับเสียงที่ใครหลายคนคุ้นเคยเป็นอย่างดี

นี่คือ I.Q.180 รายการตอบปัญหาทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ยอดนิยมที่อยู่คู่โทรทัศน์ไทยมานานเกือบ 20 ปี

แม้จะลาหน้าจอไปตั้งแต่ยุควิกฤตเศรษฐกิจ แต่ผู้คนจำนวนไม่น้อยกลับจดจำภาพของรายการนี้ได้เด่นชัด

โดยเฉพาะเด็กเก่งที่สามารถคิดเลขไวกว่าเครื่องคิดเลข บางคนใช้เวลาเพียงเสี้ยววินาทีก็สามารถแก้โจทย์ปัญหาได้อย่างมหัศจรรย์

หากแต่เบื้องหลังความสำเร็จนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า มีชายคนหนึ่งอยู่เบื้องหลัง ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ขอพาทุกท่านย้อนความทรงจำเกือบ 40 ปีเมื่อรายการนี้เริ่มต้นออกอากาศ เพื่อพูดคุยกับ ชัยณรงค์ มนเทียรวิเชียรฉาย พิธีกรผู้สร้างสรรค์และทำให้รายการ I.Q.180 ยังอยู่ในความประทับใจของผู้คนไม่รู้ลืม

กำเนิด I.Q.180

รู้หรือไม่ รายการ I.Q.180 เริ่มต้นจากความบังเอิญ

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2525 ระหว่างที่อาจารย์ชัยณรงค์กำลังเดินทางไปไต้หวัน เขาได้พบกับผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ของเครือซิเมนต์ไทย ซึ่งนั่งเก้าอี้บนเครื่องบินติดกันพอดี

หนึ่งในหัวข้อสนทนาคือ เครือซิเมนต์ไทยมีงบสนับสนุนรายการโทรทัศน์เหลืออยู่ก้อนหนึ่ง เนื่องจากรายการที่เคยสนับสนุนเรตติ้งไม่ค่อยดีนัก และใกล้หลุดผังเต็มที จึงอยากให้ลองนำเสนอรายการสาระประโยชน์มาสักรายการ โดยมีงบสนับสนุนเป็นเวลา 1 ปี และถ้าได้รับความนิยมก็ค่อยสนับสนุนต่อเนื่องกันไป

จังหวะนั้นอาจารย์มีแนวคิดจะทำกิจกรรมถามตอบปัญหาวิชาการในโรงเรียนเซนต์จอห์นซึ่งตัวเองเป็นผู้อำนวยการอยู่แล้ว โดยได้แรงบันดาลใจมาจากรายการ ‘Master Mind’ ของอังกฤษ เลยถือโอกาสนี้นำความคิดนี้ไปเสนอต่อสปอนเซอร์ ซึ่งก็ได้รับการตอบรับทันที

“Master Mind เป็นรายการถามตอบที่มีเรตติ้งสูง ถึงบางคำถามคำตอบฟังแล้วไม่เข้าใจ แต่ขนาดคนขับรถยังบอกว่าดูทุกอาทิตย์ ซึ่งเสน่ห์ของรายการก็มาจากรูปแบบที่กระชับ เร็ว แล้วคนที่มาตอบก็เก่งด้านนั้นจริงๆ ไม่ว่าถามอะไรตอบได้หมด”

ส่วนชื่อรายการนั้น ครั้งแรกมีแผนจะใช้คำว่า ‘ติวสอบ’ เพราะตั้งใจให้เด็กนักเรียนที่ดูรายการเหมือนติวสอบไปในตัว

แต่เผอิญระหว่างที่อยู่ในไต้หวัน อาจารย์เจอรายการโทรทัศน์รายหนึ่งชื่อ I.Q.180 ซึ่งฟังแล้วสะดุดหูทันที จึงสอบถามไปยังผู้เกี่ยวข้องว่า ชื่อนี้มีลิขสิทธิ์หรือไม่ จึงได้คำตอบว่า คนส่วนใหญ่เชื่อว่า I.Q.180 คือระดับสติปัญญาของ Albert Einstein เพราะฉะนั้นไม่มีใครจดลิขสิทธิ์คำนี้ได้ จึงตัดสินใจเลือกใช้คำนี้เป็นชื่อรายการแทน

I.Q.180 ออกอากาศครั้งแรกทางช่อง 9 ช่วงเย็นวันอาทิตย์ โดยรูปแบบนั้นต่างจากที่ผู้ชมทุกในยุคหลังคุ้นเคยพอสมควร เพราะเปลี่ยนเป็นมุ่งเน้นเฉพาะคณิตศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์เท่านั้น

“ตอนแรกเป็นการถามตอบวิชาต่างๆ รายการครึ่งชั่วโมง คำถามน่าจะอยู่ที่ประมาณ 100-200 คำถาม พูดง่ายๆ สอบเทอมนี้ ตั้งแต่หน้าหนึ่งถึงหน้าสุดท้ายที่มีการเรียนถามหมดทุกเรื่อง คุณไม่ต้องเดา และคุณไม่ต้องไปกลัวว่า ใครจะรู้คำถามก่อนหรือเปล่า เพราะมันอยู่ในนั้นทั้งหมดที่เรียน เพียงแต่ผมนำมาถามทุกหน้า จิ้มลงไปตรงไหนก็จะเจอเนื่อหาที่ผมจะถาม ดังนั้นเด็กที่เตรียมมาดี เขาจะตอบได้เลย”

รายการได้รับความนิยมอย่างสูง ครั้งหนึ่งอาจารย์เคยไปจัดรายการสดที่สวนอัมพรในสัปดาห์วันเด็กแห่งชาติ ปรากฏว่ามีเด็กมารอกันเต็ม เพื่อถามว่าสมัครเข้ามาตอบปัญหาในรายการนานหลายเดือน แต่ทำไมยังไม่ได้สักที เพราะหลายคนอยากใช้รายการนี้เป็นเวทีเพื่อแสดงออกถึงความเก่งและใช้เป็นตัวชี้วัดความสามารถของตัวเอง

นอกจากนี้ ยังมีการรวบรวมคำถาม-คำตอบ จัดพิมพ์เป็นหนังสือ จำหน่ายในราคาต้นทุน โดยรายได้มอบให้มูลนิธิเพื่อสร้างสถาบันการศึกษาวิชาการจัดการแห่งประเทศไทย และมูลนิธิช่วยนักเรียนขาดแคลนในพระบรมราชินูปถัมภ์ เพื่อสนับสนุนการศึกษาของเด็กด้อยโอกาส

ทว่าหลังทำ I.Q.180 ไปได้ 3-4 ปี รายการก็เริ่มถึงจุดอิ่มตัว เพราะคำถามเริ่มหมด พอดีกับช่วงนั้นมีโอกาสได้เข้าไปชมรายการโทรทัศน์รายการหนึ่งที่โมนาโก ซึ่งเกี่ยวกับการคำนวณคณิตศาสตร์ โดยรอบสุดท้ายจัดในหอประชุมใหญ่ของประเทศ จุคนได้เป็นพันคน ก็รู้สึกว่าสนุก น่าสนใจ มีประโยชน์ดี นอกจากนี้ยังเป็นการสนับสนุนเด็กให้สนใจคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ สองวิชาสำคัญซึ่งช่วยต่อยอดการเรียนรู้ระดับอุดมศึกษาได้อีกหลายแขนง

อาจารย์เลยต่อยอดมาสร้างสรรค์เป็นรายการใหม่ ออกแบบกติกาง่ายๆ ด้วยการตั้งโจทย์ ประกอบด้วยเลข 5 ตัว แล้วให้เด็กใส่เครื่องหมายคณิตศาสตร์ต่างๆ ทั้ง บวก ลบ คูณ หาร ถอดรูท ยกกำลัง ให้ได้คำตอบที่ตรงหรือใกล้เคียงตัวเลขที่กำหนดไว้ที่สุด โดยมีเครื่องมือสำคัญคือคอมพิวเตอร์สุ่มตัวเลข ซึ่งพิธีกรคนดังยืนยันว่าได้มาตรฐานและยุติธรรมที่สุด

“ผมได้ช่างที่ดีพยายามปรับแก้ระบบให้ออกมาดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการให้ตัวเลขวิ่ง เสียงที่ฟังแล้วเร้าใจ เราก็เปลี่ยนเสียงไปเรื่อย จนกระทั่งรู้สึกว่าโอเคแล้ว แล้วถ้าใครมาด้านหลัง จะมีสายเต็มไปหมดดูไม่จืดเลย เพราะสมัยนั้นระบบดิจิทัลยังไม่มี เป็นอนาล็อกอยู่ สายจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก”

หากแต่สิ่งที่ท้าทายยิ่งกว่ารูปแบบรายการ คือความพร้อมของผู้ร่วมรายการ อาจารย์ยอมรับว่าช่วงแรกกังวลไม่น้อยว่า เด็กไทยจะสามารถคิดเลขเร็วได้หรือไม่ เพราะสมัยนั้นรายการถามตอบทั่วไปจะให้เวลาคิด แต่เมื่อจัดรายการจริงๆ ก็พบว่าเด็กไทยมีศักยภาพไม่แพ้ที่เด็กที่อื่นในโลกเลย สามารถตอบได้ทันที ด้วยเทคนิควิธีคิดที่น่าสนใจ คือต่อให้ยังไม่รู้คำตอบ ก็กดปุ่มขอตอบเรียบร้อยแล้ว

“เขาต้องการเวลาเพียงไม่กี่วินาที เพราะขณะที่ผมกำลังถามว่า คนที่ 2-3-4 ได้เท่าไหร่ เขาจะใช้ช่วงไม่กี่วินาทีนี้ หาวิธีทำให้ได้คำตอบที่ต้องการได้ ถามว่าทำไมถึงทำได้ ส่วนใหญ่มีสูตรอยู่ในสมองของเขา ยกตัวอย่างเช่นสูตรคูณ ทุกคนท่องแม่ 2-12 ได้ แต่เขาได้ถึง 20-30 และถ้าโจทย์มี 0 โจทย์มี 1 โจทย์มีเลข 9 เขาจะหาวิธีนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ยังไงบ้าง”

ความเก่งนี้ ครูเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด เพราะหากตรวจสอบกลับยังโรงเรียนของเด็กที่ชนะ จะพบว่าครูที่นั่นเอาใจใส่มาก ครูบางคนถึงขั้นจำลองรายการมาไว้ที่โรงเรียนเลย ฉะนั้นสำหรับเด็กบางคน แม้จะเพิ่งมาในห้องส่ง 2-3 ครั้ง แต่ความจริงอาจจะเคยผ่านบททดสอบแบบนี้มาแล้วเป็นครั้งที่ 100-200 มาแล้วที่โรงเรียนก็เป็นได้

แม้จะมีรูปแบบอาจดูแล้วจำเจสักหน่อย แต่ด้วยความเก่งของเด็ก บวกกับการทำงานควบคู่กับโรงเรียนต่างๆ ตลอดจนการดำเนินรายการที่รวดเร็ว ฉับไว และตามเด็กทัน กลายเป็นส่วนผสมที่ลงตัว และทำให้รายการดูน่าติดตามยิ่งขึ้น

“แม้ไม่ใช่รายการสด แต่เราไม่มีการเทคใหม่ เพราะมันจะหมดรสชาติ แน่นอนมันอาจดูเหมือนยาก เพียงแต่ว่าเราต้องแม่นเวลาเขาเฉลย สมมติ 5+3 คือ 8 ต้องได้กับเขาเดี๋ยวนั้นเลย ไม่ใช่ว่าเขาเฉลยเรายังคิดตามอยู่ เพราะรายการเราเป็นคณิตศาสตร์ที่ไม่สูงเกินไป ระดับมัธยมต้น-มัธยมปลาย ยังไม่ถึงแคลคูลัส คนก็น่าจะคิดตามได้ เราต้องการที่จะให้รายการไม่หนักหรือลึกจนเกินไป เพราะจะหมดสนุก”

นอกจากนี้การจัดรายการโดยไล่ตามลำดับชั้น จาก ม.1-6 ไปเรื่อยๆ ก็ทำให้ไม่เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ โดยแชมป์ของแต่ละสัปดาห์จะเข้าแข่งขันต่อทันทีไม่ได้ ต้องเว้นไปอย่างน้อยครั้งหนึ่ง ทำให้มีพื้นที่สำหรับเด็กหน้าใหม่ๆ อยู่เสมอ โดยช่วงที่สนุกสุดน่าจะเป็นตอนที่แชมป์แต่ละคนมาเจอกัน เพราะไม่มีใครต่างยอมอ่อนข้อให้กันเลย

หากแต่เหตุการณ์ที่ทำให้รู้สึกภูมิใจที่สุด คือ การที่เด็กจากต่างจังหวัดในโรงเรียนที่ห่างไกล สามารถเอาชนะเด็กในเมืองจากโรงเรียนดังๆ ได้ สะท้อนว่า เด็กทุกคนต่างมีศักยภาพ ขอแค่เพียงเปิดพื้นที่ให้เขาได้แสดงออก

“โอ้โห้! มันกระหึ่มไปทั้งจังหวัด บังเอิญเราเป็นรายการอัดเทป แล้วพออัดรายการเสร็จเราจะบอกเด็กเลยว่าเทปนี้จะไปออกอากาศวันที่เท่าไร เขาจะบอกทั้งจังหวัด ซึ่งวันนั้นทั้งจังหวัดแทบไม่ต้องดูรายการอื่นแล้ว

ด้วยเหตุนี้จึงไม่แปลกเลยว่า เหตุใดจึงโด่งดังและมีแฟนคลับติดตามอยู่ทั่วประเทศ

“ครั้งหนึ่งผมไปทำวิจัย แล้วก็มีการสุ่มตัวอย่าง ต้องเข้าไปในบ้านที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งในอำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา แล้วรถเข้าถึงยากมาก ต้องลุยถนนลูกรังเข้าไปหลายกิโล ตอนนั้นผมบ่นไปเรื่อยว่าทำไมบ้านเลขที่นี้มันลึกลับเหลือเกิน หวังว่าเป็นบ้านเดียวเท่านั้นนะที่ต้องเข้ามาลึกขนาดนี้ จนกระทั่งไปถึงบ้านนั้นเจอคุณยายเจ้าของสวน แกบอกว่าแค่ได้ยินเสียงก็รู้แล้วว่าอาจารย์ชัยณรงค์มา เพราะดูรายการเป็นประจำ แล้วสั่งให้ตาไปเก็บส้มโอ จากต้นที่หวงที่สุด ไม่ขายให้ใครมาผมกิน”

I.Q.180 ออกอากาศอยู่ช่อง 9 นานหลายปี แล้วจึงย้ายมาอากาศทางช่อง 5 พร้อมเปลี่ยนชื่อรายการใหม่ 180 I.Q. และย้ายกลับมาช่อง 9 อีกครั้ง ก่อนจะปิดตัวถาวร โดยตลอด 18 ปีที่ออกอากาศ รายการนี้ไม่ได้สร้างแค่แรงบันดาลใจให้เด็กๆ หันมาสนใจคณิตศาสตร์เท่านั้น แต่ยังมีส่วนผลักดันให้เด็กบางคนก้าวไกลไปสู่ระดับโอลิมปิกวิชาการ และอีกไม่น้อยที่สามารถเข้าศึกษาต่อยังคณะที่มีตัวเองคาดหวัง

แม้ที่ผ่านมาจะมีเสียงเรียกร้องให้รายการกลับมาเสมอ แต่อาจารย์ก็เชื่อว่า รายการทุกรายการต่างมีจังหวะและช่วงเวลาของตัวเอง บางทีการปล่อยให้เป็นตำนานที่คนไม่ลืมเช่นนี้ อาจเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับ I.Q.180 แล้วก็เป็นได้

ครูตลอดชีวิต

“ผมเป็นครูมาตลอดชีวิต”

คุณเชื่อเรื่องความหมายของการมีชีวิตอยู่หรือไม่ สำหรับอาจารย์ชัยณรงค์แล้ว ความหมายนั้นคือ ‘การเป็นครู’

เมื่อ 30 ปีที่แล้ว เขาเคยให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Hi-Class ว่า “ตอนจบอัสสัมชัญ ศรีราชา บราเดอร์มงฟอร์ด-อธิการ ท่านเซ็นในสมุดเฟรนชิปหน้า 1 ของผม ว่า ผมมีลักษณะเป็นครูที่ดี และท่านก็เขียนชวนให้ผมเป็นครูที่นั่นเสียเลย พอผมอ่านผมก็หัวเราะ เป็นครู ผมไม่เคยคิดและไม่คิดที่จะเป็นด้วย ไม่เคยจริงๆ”

บางทีนี่อาจเป็นโชคชะตาที่ถูกลิขิตไว้ เพราะตั้งแต่เด็กก็มีความผูกพันกับเรื่องการเรียนรู้ตลอดเวลา

อาจารย์เติบโตขึ้นในครอบครัวที่พ่อเป็นคุณครู บวกกับถูกส่งตัวไปศึกษาต่อในโรงเรียนประจำ ซึ่งเป็นสังคมที่พึ่งพาอาศัยกันค่อนข้างมาก ในฐานะของเด็กที่มีผลการเรียนค่อนข้างดี จึงรับหน้าที่ติวหนังสือให้เพื่อนเรื่อยมา

แม้แต่ตอนที่เริ่มทำงานประจำแห่งแรก แทนที่จะเลือกทำงานในองค์กรที่ให้เงินเดือนสูง แต่กลับเลือกองค์การวิจัยระหว่างประเทศ ภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งให้เงินเดือนเพียง 1,250 บาท น้อยกว่าเพื่อนรุ่นเดียวกันกว่าครึ่ง ด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่าเป็นงานใหม่ที่ไม่เคยมีใครทำในประเทศนี้

“งานที่ผมทำเป็น Market Research ซึ่งตอนนั้นไม่มีสอนในเมืองไทย แล้วฝรั่งคนที่รับผมเข้าทำงานบอกว่า ครึ่งวันบ่ายของทุกวัน เขาจะสอนผม เท่ากับผมเรียนฟรีแล้วยังได้เงินใช้ และเมื่อผมเรียนไปๆ เขาขึ้นเงินเดือนให้เรื่อย ในที่สุดเกิน ผมชนะคนอื่นเรื่องเงินเดือนหมดเลย เพราะมันเป็นงานที่หายาก เป็นการทำวิจัยเกี่ยวกับตลาด ไปสำรวจตลาด สำรวจความคิดประชาชน”

หลังทำงานได้ประมาณ 3 ปี ครูเก่าที่นับถือย้ายมาเป็นครูใหญ่ที่เซนต์จอห์น และต้องการคนช่วย จึงชักชวนให้มาร่วมงาน ในแผนกคอมเมิร์ช อาจารย์เลยตอบตกลง พร้อมเซ็นสัญญาเป็นเวลา 3 ปี

“ปกติครูไม่มีทำสัญญา คือได้เป็นแล้วก็อยู่กันตลอดชีวิต แต่ผมทำสัญญาโดยได้เงินเดือนเท่ากับที่ทำได้จากข้างนอก แล้วมีโบนัสให้เมื่อผมอยู่ครบสัญญา เพราะตอนนั้นผมตั้งใจว่าครบ 3 ปีจะไปเรียนต่างประเทศ และอาจทำงานด้วย ปรากฏว่าพอครบสัญญา เซนต์จอห์นก็บอกขอให้เป็นครูใหญ่แล้วกัน และต่อสัญญาอีก 3 ปี ซึ่งตอนนั้นเราก็นึกชอบชีวิตครูแล้วด้วย”

หากพูดถึงจุดเด่นการเป็นครูของอาจารย์ชัยณรงค์ คงหนีไม่พ้นเรื่องสไตล์และเทคนิคการสอนที่ไม่เหมือนใคร

หลายๆ ครั้งเขาใช้ตัวเองเป็นหนูทดลอง เพื่อหาประสบการณ์ต่างๆ แล้วนำกลับมาถ่ายทอดให้นักเรียนฟัง เช่น การเดินสายไปสมัครงานตามบริษัทต่างๆ ว่าแต่ละแห่งเขามีกระบวนการในการรับสมัครอย่างไร พบเจอกับปัญหาอะไรบ้าง ต้องเตรียมตัวอย่างไร เวลาผู้สมัครเจอผู้สัมภาษณ์ต้องระวังเรื่องอะไรบ้าง หรือแม้แต่เครื่องพิมพ์ดีดที่ใช้เป็นเครื่องพิมพ์ดีดไฟฟ้าหรือเครื่องพิมพ์ดีดธรรมดาก็นำมาเล่าให้นักเรียนฟังหมด ซึ่งที่ผ่านมามีหลายแห่งที่รับเข้าทำงานจริงๆ แต่ก็ได้ปฏิเสธไป เขาก็รับคนที่ติดสำรองเข้าไปแทน เพราะจุดประสงค์ของเราคือ การนำประสบการณ์จริงมาสอนนักเรียนของเรา

อาจารย์บอกว่า เสน่ห์สำคัญของการเป็นครูนั้นอยู่ที่ ‘เด็ก’ เด็กทุกยุคทุกสมัยล้วนไม่ต่างกัน พวกเขามีความคิดของตัวเอง มีความต้องการ มีความใฝ่ฝัน เพราะฉะนั้นครูจึงควรส่งเสริมสิ่งเหล่านี้ เพียงแต่จะทำอย่างไรถึงจะเหมาะสมกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป

“สมัยผมเป็นเด็ก ห้องสมุดคือสถานที่ที่ดีที่สุดในการหาความรู้ นอกเหนือจากความรู้ที่เราได้ครู แต่ทุกวันนี้เราได้ความรู้จากมือถือ ความรู้อยู่ทุกที่ ดังนั้นเวลาใครบอกว่ามือถือทำให้เด็กเสีย หากเราไม่สอนไม่อธิบาย ก็จะเห็นแต่ข้อเสียของมือถือในการเรียนของเด็ก บางทีก็ควรทำหลักสูตรขึ้นมาเลย 1 ชั่วโมง 1 อาทิตย์ ให้รู้ถึงกึ๋นไปเลยว่า ใช้มือถืออย่างไรถึงดีและมีประโยชน์กับชีวิตการเรียน”

นอกจากความเข้าใจแล้ว เทคนิคการสื่อสารก็เป็นอีกเรื่องที่สำคัญ อาจารย์มักหยิบเรื่องเล่าที่น่าสนใจมานำเสนอหน้าเสาธงเวลาเข้าแถวตอนเช้าบ้าง ในห้องเรียนบ้าง เชื่อหรือไม่ว่า นักเรียนเก่าที่จบจากเซนต์จอห์น 30/40 ปีแล้วยังจดจำสิ่งที่ถ่ายทอดได้อยู่เลย

“ผมมีเรื่องราวเก็บไว้อยู่ในกระเป๋านี่เยอะ อย่างเวลาสอนผมจะเริ่มด้วยการเล่าเรื่องก่อนเสมอ แต่ผมจะไม่เล่าจนจบ เรามาเรียนกันก่อน ถ้าตั้งใจเรียนดี ก่อนหมดชั่วโมงจะเล่าตอนจบชองเรื่องนี้ให้ หรือเวลาไปบางโรงเรียน เด็กประถมเจี๊ยวจ๊าวมาก ครูก็ตะโกนให้เงียบๆ ซึ่งมันก็เบาไปนิดเดียว แล้วก็เหมือนนกกระจอกเหมือนเดิม ผมเลยขออนุญาตลองหน่อย โดยพูดแค่ว่า ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว เด็กครึ่งหนึ่งหยุดคุยกันแล้วนะ กระต่ายกับเต่า มันท้าแข่งกันหลายครั้ง เพราะกระต่ายมันแพ้มาแล้ว คราวนี้เงียบหมด

“ส่วนเด็กโตต้องเล่าเรื่องจริง เช่น ใครบ้างเคยเห็น ชั้นบนสุดของโรงแรม มีน้ำกระฉอกออกมาเป็นน้ำตก โรงแรมนี้มีน้ำตก แต่ที่แท้ มันเป็นน้ำจากสระว่ายน้ำ เกิดแผ่นดินไหวที่เหนือมะนิลา แล้วตึกระฟ้าเป็นคอนโดมิเนียมสูง มีสระว่ายน้ำอยู่ด้านบน น้ำกระฉอกออกมาหมดเลย แสดงว่าเป็นแผ่นดินที่ไหวแรงมาก ผู้ใหญ่ต้องเล่าเรื่องจริง เขาถึงจะฟัง จากนั้นค่อยดึงเข้ามายังเรื่องที่จะสอนต่อไป แต่ถ้าเริ่มได้เพียง 1-2 นาที เริ่มง่วงกัน แสดงว่าเราไม่ได้ความสนใจจากเขาแล้ว ต้องเปลี่ยนวิธีใหม่”

หากนับตั้งแต่ก้าวแรกที่เข้าสู่สายอาชีพครู ก็เป็นเวลาประมาณ 50 ปีแล้ว อาจารย์ยังคงมีความสุขกับงานนี้ไม่เปลี่ยนแปลง และไม่มีสักครั้งที่คิดจะหยุดหรือเลิกเป็นครู

“ผมไม่คิดว่าจะมีอะไรมาดึงผมจากความเป็นครูได้ เรื่องเงินไม่ต้องพูดถึง สมมติมาบอกว่าจะให้เงินเป็นแสน ก็ไม่สนใจ ทำไมไม่อยากลาออกจากการเป็นครู ก็เพราะหน้าที่ของเราคือการปั้นเด็ก แล้วคนที่อยู่กับเด็กตลอดเวลาเท่านั้นถึงจะเห็นการเติบโต เรามีความสุขจริงๆ เป็นความสุขกว่าการได้ทำงานอย่างอื่น เพราะเราได้เห็นเขาโตวันโตคืนด้วยความรู้และลักษณะนิสัยที่เราปั้นเขาขึ้นมา จนกระทั่งจบออกไปทำงาน ซึ่งตรงนี้ตีค่าออกเป็นตัวเงินไม่ได้จริงๆ”

BBC เปิดโลกกว้าง

หากพูดถึงจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตของอาจารย์ชัยณรงค์ เชื่อว่าคงไม่มีเรื่องใดเทียบเท่าการเป็นผู้ประกาศประจำสถานีวิทยุกระจายเสียง BBC กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร

ความจริงเขาไม่ได้คิดที่จะทำงานสายสื่อมวลชนมาก่อน แต่เมื่อกลางปี 2514 ได้เห็นประกาศรับสมัครงานในหนังสือพิมพ์ Bangkok Post จึงอยากทดลองสมัคร เพื่อนำประสบการณ์ตรงนี้มาถ่ายทอดให้นักเรียนเซนต์จอห์นเหมือนที่เคยทำมาตลอด แต่เมื่อลองสมัครก็พบว่า BBC นั้นต่างจากหน่วยงานอื่นๆ ที่เคยสมัครอย่างสิ้นเชิง

“ผมไม่เคยเจอกระบวนการคัดสรรแบบนี้มาก่อน เขาใช้เวลา 6 เดือนในการรับสมัคร เดือนแรก เขาประกาศว่าใครสนใจเป็น BBC Broadcaster ก็ให้สมัครไป ผมก็เขียนไป ยังเก็บสำเนาเอามาติดให้เด็กดูด้วยว่าครูไปสมัครงาน BBC พอเดือนที่ 2 เขามีจดหมายตอบมาว่าได้รับแล้ว และได้ทำ Short List ระดับหนึ่ง ซึ่งคุณเป็นหนึ่งในจำนวนผู้ที่เขาคัดเลือกให้กรอกใบสมัครในแบบฟอร์ม พอผมกรอกเสร็จก็ส่งไป

“เดือนที่ 3 ก็ได้รับจดหมายให้ไปสอบข้อเขียนที่ British Council พอเข้าไปในห้อง เราเห็นนักประกาศ นักวิทยุดังๆ ในยุคนั้นหลายคน ก็คิดในใจว่าเราจะสู้พวกนี้ได้หรือนี่ แต่ผมก็ตอบกับตัวเองว่า เรามาหาความรู้ไปสอนเด็ก ตอนนั้นเขาก็เอาข่าวมาให้เราแปล ทำเสร็จเขาก็เก็บไป เดือนที่ 4 มีจดหมายมาอีกให้ไปทำ Voice Test คือเขาอยากดูว่าเสียงของเราเป็นยังไง ก็ไปสถานทูตอังกฤษ มีสตูดิโอเล็กๆ ปรากฏว่าเขาให้อ่านกระดาษที่เราเขียนแปลนั่นเอง โดยแต่ละเดือนเขาก็จะตัดคนจนเหลือน้อยลงไปเรื่อยๆ

“พอเดือนที่ 5 บอกให้มาสอบสัมภาษณ์ เราก็ไป ปรากฏว่าเขาไม่ได้สัมภาษณ์หรอก แต่เขาให้ผู้สมัครอีกคนมาสัมภาษณ์กันและกัน เพื่อดูเทคนิคว่าเราถามยังไง และเวลาที่มีคนถามเราตอบยังไง และพอเดือนที่ 6 เขาตอบมาว่า คุณเป็นคนที่อยู่ในกลุ่ม Short List ที่คัดไว้ เจ้าหน้าที่จะบินมาสัมภาษณ์เป็นภาษาอังกฤษ เราก็โอเคไปสัมภาษณ์ พอสิ้นเดือนก็มีจดหมายแจ้งมาว่า บัดนี้กระบวนการคัดเลือกได้เสร็จสิ้นแล้ว เรารับ 1 คนและเป็นคุณ ก็รู้สึกดีใจมาก แบบนี้ไม่ตอบรับคงไม่ได้”

หากปัญหาคือ อาจารยย์ยังติดสัญญากับทางเซนต์จอห์นอีกประมาณ 4 เดือนจนสิ้นสุดปีการศึกษาก่อน จึงตอบกลับว่าต้องสอนให้ครบกำหนดเสียก่อน ทาง BBC จะรอได้ไหม หากรอไม่ได้ก็คงต้องสละสิทธิ์ ซึ่ง BBC ก็แจ้งกลับมาว่าไม่มีปัญหา ขณะที่อีกทางก็ไปพูดคุยกับอาจารย์สมัย ชินะผา เจ้าของโรงเรียนเซนต์จอห์นว่า ขอเวลา 5 ปีไปหาประสบการณ์ใหม่ๆ ที่ BBC กรุงลอนดอน แล้วจะกลับมาซึ่งอาจารย์สมัยก็ยินดี

ชีวิตในฐานะสื่อมวลชน เป็นเรื่องท้าทายไม่น้อย เพราะต้องเริ่มต้นตั้งแต่ศูนย์ ทั้งการเข้าอบรมหลักสูตรการใช้ไมโครโฟน การสัมภาษณ์ การผลิตรายการ โดยหน้าที่หลักๆ มีทั้งการแปลข่าว นำเสนอข่าว รวมถึงเป็นแขกรับเชิญในรายการทีวีของ BBC เวลาที่มีข่าวเกี่ยวกับประเทศไทย ขณะเดียวกัน เขาใช้โอกาสนี้ส่งแผ่นเพลงจากฝั่งอังกฤษที่กำลังเป็นที่นิยม กลับเมืองไทยให้เพื่อนสนิทอย่าง ดำรง พุฒตาล ใช้เปิดในรายการวิทยุและโทรทัศน์ด้วย

แต่งานที่สนใจสุดคือ การทำรายการการศึกษา เพราะทำให้มีโอกาสได้เดินทางไปศึกษาดูงานตามโรงเรียนต่างๆ ทั่วเกาะอังกฤษ ซึ่งกลายมาเป็นพื้นฐานหลักที่ใช้ประโยชน์เมื่อกลับมาทำงานที่เซนต์จอห์น

อย่างวิธีตรวจสอบความเข้าใจของเด็ก ซึ่งอังกฤษใช้วิธีถามคำถาม และถ้านักเรียนคนไหนตอบได้ให้ยกมือ ครูก็จะเป็นฝ่ายเรียกให้ตอบ ข้อดีของวิธีนี้คือ ครูจะสามารถสังเกตเห็นได้เลยว่า เด็กในห้องมากน้อยแค่ไหนที่เข้าใจ และควรเน้นย้ำการสอนเรื่องใดให้มากขึ้น ซึ่งต่อมาการยกมือเพื่อขอตอบก็เริ่มแพร่หลายไปทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย

“ผมได้เรียนรู้มหาศาล และการที่ผมได้ไปดูโรงเรียนต่างๆ ทุกแห่งโดย BBC เป็นคนติดต่อไป มันคือ VIP เวลาไปแต่ละครั้ง เขาต้อนรับอย่างดีมาก บางโรงเรียนต้องไปอยู่หลายวัน และถ้าผมไปเองผมจะต้องมีเงินกี่แสนกี่ล้านถึงจะได้ดูงานนับเป็นร้อยๆ โรงเรียนเช่นนี้ และติดต่อไปก็อาจได้รับการปฏิเสธด้วย”

ไม่เพียงรายการการศึกษาเท่านั้นที่ต้องรับผิดชอบ อาจารย์ยังขอทาง BBC ผลิตรายการกีฬาซึ่งเป็นความสนใจส่วนตัว ทำให้มีโอกาสได้เดินทางไปดูกีฬาต่างๆ ทั้งฟุตบอล เทนนิส ซึ่งทางสถานีนอกจากจะหาตั๋วที่ดีที่สุดให้แล้ว ยังแนะนำเทคนิคการรายงานข่าวกีฬาที่ดีว่า ไม่ใช่เพียงแค่บรรยายเท่านั้น แต่ต้องทำการบ้าน เช่นใครแข่งกันใคร ประวัติของนักกีฬา บรรยากาศในสนาม เพื่อให้ผู้ฟังเห็นภาพตามไปด้วย

แต่เรื่องหนึ่งที่น่าบันทึกไว้ คือการที่อาจารย์ติดต่อไปยังหนังสือพิมพ์แนวหน้า ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ไทยฉบับเดียวที่ส่งมาให้สถานีวิทยุ BBC ในอังกฤษ เพื่อชักชวนให้ทำกิจกรรมทายปัญหาฟุตบอลโลก โดยให้ผู้อ่านส่งโปสการ์ดมายัง BBC ผ่านทางสถานทูตอังกฤษ และผู้โชคดี 1 คนจะได้มาเที่ยวพร้อมกับเจอนักเตะอังกฤษชื่อดัง ซึ่งครั้งนั้นนอกจากผู้ชนะแล้ว ทางหนังสือพิมพ์บ้านเมืองยังส่งผู้สื่อข่าวกีฬาที่ชื่อ ‘เอกชัย นพจินดา’ ไปเยือนเกาะอังกฤษเป็นครั้งแรก โดยเขารับหน้าที่ไกด์พา ย.โย่ง เยือนสนามฟุตลอลต่างๆ รวมทั้งสนามกีฬา Wembley ซึ่งต่อมากลายเป็นต้นทุนที่เขาใช้ในงานเขียนคอลัมน์ และพากย์กีฬาเรื่อยมา

หลังทำงานครบ 5 ปี ทาง BBC ได้ต่อสัญญาเพิ่มอีก 1 ปี แต่เนื่องจากได้ให้คำมั่นกับอาจารย์สมัยไว้แล้ว จึงตัดสินใจขอลาออก ซึ่งถือเป็นคนแรกของสถานีเลยก็ว่าได้ที่ออกก่อนครบกำหนดสัญญา

แต่ถึงจะไม่ได้ทำงาน BBC ทว่าเส้นทางในฐานะสื่อมวลชนก็ยังดำเนินต่อมา โดยเขาได้รับเชิญให้ร่วมบรรยายกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 8 ที่กรุงเทพมหานคร เมื่อปี 2521 โดยนำองค์ความรู้จาก BBC มาประยุกต์ใช้ จนเกิดเป็นกระแสโด่งดัง และเป็นหนึ่งในต้นแบบของการพากย์กีฬาในปัจจุบันนี้

“ครั้งนั้นผมประจำสนามศุภชลาศัย ช่วงว่างๆ เราก็เดินลุยไปตามทีมต่างๆ ไปถามว่าโค้ชว่านักกีฬาเป็นยังไง เคยชนะอะไรบ้าง แล้วตอนบรรยายก็ใส่เรื่องพวกนี้เข้าไป เช่นจับตาดูหมายเลข 4 ดีๆ เขาชนะมา 3 ครั้งติดแล้ว เขาหวังจะชนะเป็นครั้งที่ 4 ก็ทำให้คนติดตามด้วยความสนใจมากขึ้น แล้วบ่อยครั้งที่ผมขอลากไมโครโฟนลงสนาม เพื่อจะได้สัมภาษณ์คนชนะว่าเขาดีใจแค่ไหน”

ผลจากการบรรยายเกมกีฬาครั้งนั้น ทำให้อาจารย์กลายเป็นนักพากย์เบอร์ต้นๆ ของเมืองไทยในช่วงนั้น และนำไปสู่การต่อยอดไปสู่งานอื่นๆ บนจอโทรทัศน์ ทั้งการนำเสนอรายกีฬาช่อง 3 ด้วยการนำรายการกีฬาจากต่างประเทศมาออกอากาศ เป็นผู้ประกาศข่าวหลักของ ททบ.5 เป็นพิธีกรรายการสารคดี ‘ความรู้คือประทีป’ ของ ESSO ทางช่อง 9 และที่สำคัญสุดก็คือรายการ I.Q.180

ผมไม่คิดว่าจะมีอะไรมาดึงผมจากความเป็นครูได้ เรื่องเงินไม่ต้องพูดถึง สมมติมาบอกว่าจะให้เงินเป็นแสน ก็ไม่สนใจ ทำไมไม่อยากลาออกจากการเป็นครู ก็เพราะหน้าที่ของเราคือการปั้นเด็ก

ชัยณรงค์ มนเทียรวิเชียรฉาย : I.Q. 180 ตำนานรายการคณิตคิดไว’ เว่อร์’

โรงเรียนดีๆ หัวใจสำคัญของการศึกษา

แม้รายการ I.Q.180 จะหยุดออกอากาศไปนานแล้ว แต่อาจารย์ชัยณรงค์ก็ไม่เคยวางมือจากงานการศึกษา

ไม่ว่าจะเป็นการรับหน้าที่ผู้บริหารเครือเซนต์จอห์นกระทั่งเกษียณอายุ รวมทั้งเดินทางไปต่างจังหวัดเพื่อช่วยเด็กในชนบท เพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาแก่เด็กๆ ที่ด้อยโอกาส

หนึ่งในโรงเรียนที่เริ่มต้นพัฒนาคือ โรงเรียนเซนต์จอห์นท่าบม อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย

“จริงๆ ผมไปดูหลายที่ แต่ที่นี่ไปยากสุด ไกลสุด ตอนนั้นมีแต่ดินลูกรัง โทรศัพท์มีแต่ตู้ สายยังไม่มา แต่ตอนนั้นเริ่มมีมือถือแล้ว แต่ต้องปืนต้นไม้ เพราะสัญญาณมันอ่อนมาก ถ้าลมพัดแรงหน่อยก็ไม่มีสัญญาณแล้ว แต่เราก็ไป เพราะเราเคยเอาเด็กยากจนจากต่างจังหวัดมาเรียนที่กรุงเทพฯ ปรากฏว่ากลับไปบ้านเขาเสียเด็ก เพราะเขาคุ้นเคยกับการเดินห้างสรรพสินค้า แต่พอกลับไปที่หมู่บ้าน แม้แต่ 7-Eleven ยังไม่มีเลย”

อาจารย์บอกว่าเป้าหมายสำคัญที่สุด คือการพิสูจน์ให้สังคมไทยเห็นว่า หากทำโรงเรียนดีๆ ให้นักเรียนในพื้นที่ทุรกันดาร เด็กก็สามารถเติบโตเป็นทรัพยากรที่ดีของชาติได้เช่นกัน

“เราพบว่าโรงเรียนในชนบทหลายแห่งใช้คอมพิวเตอร์บริจาครุ่นที่ใช้นานแล้ว ใช้ได้บ้างไม่ได้บ้าง ถ้าอย่างนี้เด็กไม่ได้อะไร แต่พอผมไปทำโรงเรียนที่หมู่บ้านท่าบม เอาคอมพิวเตอร์ดีๆ ไปให้ ไม่มีอินเทอร์เน็ต ก็เชื่อมต่อดาวเทียมแทน ปรากฏว่านักเรียนเรียนได้ แล้วก็ทำได้ไม่แพ้เด็กกรุงเทพฯ ไม่แพ้โรงเรียนใหญ่เลย ขอแค่ได้เข้าถึงเทคโนโลยีที่ดี และที่สำคัญมีครูที่ดี มีจิตวิญญาณ อาจไม่ต้องเก่งมาก แต่ขอให้เป็นครูที่รักเด็ก สนใจเด็ก และพยายามเต็มที่เพื่อเด็ก แค่นั้นก็พอแล้ว”

เพราะในมุมของอาจารย์แล้ว การศึกษาควรเป็นพื้นที่สำหรับคนทุกคน เป็นเครื่องมือช่วยให้ชีวิตคนดีขึ้น การจำกัดการศึกษาให้อยู่ในวงของคนเก่ง คนรวยหรือคนที่มีโอกาสดีเท่านั้นจึงไม่ควรเกิดขึ้น

“ผมเชื่อว่าเด็กทุกคนไม่ว่าเก่งหรือไม่เก่ง สามารถทำงานได้ดี เพียงแต่ว่าเราต้องเตรียมพร้อมให้เขา อย่างสมัยผมยังบริหารอยู่ ผมเอาภาษาอังกฤษเป็นหลัก เพราะเชื่อว่าถ้ามีแต่ภาษาไทย เราก็จะได้แต่ภาษาไทย แต่ถ้ารู้ภาษาอังกฤษ โลกจะกว้างขึ้นอีกเยอะ ผมจึงลงทุนให้ Cambridge มานั่งที่เซนต์จอห์น เพื่อให้มาช่วยว่า ทำอย่างไรไม่ให้การเรียนภาษาอังกฤษซึ่งที่ผ่านมาเป็นการเรียนการสอนแค่เพื่อการสอบ เพราะสิ่งที่ผมต้องการ คือต่อให้เขาสอบได้ 0 ก็ใช้ภาษาอังกฤษได้ เหมือนคุณไปหาแม่ค้าที่ตลาด แล้วจับมาสอบภาษาไทย ให้มาสอบแม่กก แม่กบ เขาอาจสอบตกหมดเลย แต่ก็ใช้ภาษาไทยได้”

แม้ในความจริงแล้วการปฏิรูปการศึกษาไทยให้เหมาะสำหรับทุกคนอาจทำได้ไม่รวดเร็ว ไม่ต่างจากเรือลำใหญ่ที่เวลาต้องเคลื่อนเปลี่ยนทิศทาง จะทำได้ช้ามาก แต่การที่เราได้เริ่มทำอะไรสักอย่าง ถึงแม้ไม่ใหญ่โตมาก ก็อาจนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงได้เช่นกัน

เหมือนครั้งหนึ่งที่อาจารย์เคยจุดประกายเรื่องวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ให้เด็กไทยจำนวนไม่น้อย ผ่านรายการเล็กๆ ที่มีความยาวเพียงครึ่งชั่วโมงนั่นเอง

ภาพและข้อมูลประกอบการเขียน

  • สัมภาษณ์ อาจารย์ชัยณรงค์ มนเทียรวิเชียรฉาย วันที่ 24 เมษายน 2562
  • นิตยสาร Hi-Class ปีที่ 3 ฉบับที่ 34 เดือนกันยายน-ตุลาคม 2529
  • นิตยสารผู้นำธุรกิจ ปีที่ 3 ฉบับที่ 25 เดือนมกราคม 2532
  • นิตยสารสไตล์ ปีที่ 3 ฉบับที่ 27 ปี 2530
  • MGR Online วันที่ 16 มิถุนายน 2549
  • นิตยสารผู้จัดการ ปีที่ 2 ฉบับที่ 23 เดือนมิถุนายน 2528

<< แชร์บทความนี้

RELATED POSTS
LATEST

Keep In Touch

COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO.  ALL RIGHTS RESERVED.