บรูซ แกสตัน : ฝรั่งคลั่งดนตรีไทย ปราชญ์แห่งยุคสมัย

<< แชร์บทความนี้

เพราะหลงรักคนไทย ดนตรีไทย และอาหารไทย

ทำให้ชายหนุ่มวัยยี่สิบต้นๆ ตัดสินใจปักหลักอยู่ที่นี่จนวาระสุดท้ายของชีวิต

เขาผู้นี้คือ บุคคลสำคัญที่ใครหลายคนยกให้เป็นครู

เป็นผู้นำดนตรีตะวันตกมาผสมผสานกับดนตรีไทยได้อย่างลงตัว เกิดเป็นวงดนตรี ‘ฟองน้ำ’ ที่มีชื่อเสียงไปไกลในระดับนานาชาติ

หากแต่เมื่อวันอาทิตย์ที่ 17 ตุลาคม 2564 เขาผู้นี้ได้จากไปตลอดกาล จากโรคมะเร็งตับ

เพื่อรำลึกถึงศิลปินคนสำคัญ ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ขอพาทุกคนไปสัมผัสเรื่องราว ตัวตน ความคิด และแรงบันดาลใจของ บรูซ แกสตัน ฝรั่งผู้ตั้งปณิธานให้ตัวเองว่าจะสืบสานมรดกดนตรีไทยให้คงอยู่สืบไป

หลงเมืองไทย

ย้อนกลับไปสมัยสงครามเวียดนาม สหรัฐอเมริกาส่งคนหนุ่มสาวนับหมื่นชีวิตมายังเอเชียอาคเนย์ เพื่อปกป้องดินแดนไซง่อนจากกองทัพโฮจิมินห์

บรูซ เป็นหนึ่งในผู้ที่ถูกส่งตัวมา ตอนนั้นเขาเป็นชายหนุ่มวัย 22

เขารักเสียงเพลง กินมังสวิรัติ และไม่ชอบความรุนแรง แต่เมื่อต้องมารับใช้ชาติ จึงพยายามหาทางเลือกอื่นที่พอเป็นไปได้ จนลงเอยด้วยการเป็นครูสอนดนตรีในโรงเรียนเล็กๆ ในจังหวัดพิษณุโลก ชื่อ ผดุงราษฎร์ ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของคริสตจักร

ภารกิจที่เขาอยากทำในตอนนั้น คือการสร้างวงโยธาวาทิต เพราะเขาเคยอยู่ในวงโยฯ ที่ดังมากของ University of Southern California

หากแต่วงโยฯ ของเขากลับแปลกประหลาดไม่เหมือนใคร เพราะด้วยความที่โรงเรียนจนสุดๆ จึงไม่มีเงินซื้อเครื่องดนตรีให้เด็กเล่น บรูซเลยไปซื้อขลุ่ยเลาละ 10 บาทมาให้เด็กๆ ฝึกเป่า อีกชิ้นหนึ่งก็ใช้วิธีดัดแปลงไม้ไผ่ในละแวกนั้น มาให้เด็กได้เขย่าดังแค้กๆ

พอถึงเวลาประกวด เขาก็เล่นธีมเรื่องความเงียบ ให้เด็ก 20 กว่าคนเดินพาเหรดเท้าเปล่าพร้อมกันแบบไม่มีเสียง คงเพราะความหลุดโลกเช่นนี้เอง วงของเขาก็เลยแพ้ยับเยิน แต่อย่างน้อยก็ยังฝังแน่นในใจใครหลายคน

ชีวิตที่พิษณุโลก แม้ดูเผินๆ จะเรียบง่าย แต่ก็ส่งผลต่อครูหนุ่มไม่น้อย เพราะด้วยความที่อยู่ในชนบท ไม่มีใครพูดภาษาอังกฤษเลย เขาจึงต้องฝึกทักษะการฟังและการพูดภาษาไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องเสียงวรรณยุกต์ เพราะหากพูดผิดคนฟังก็จะไม่เข้าใจ

“หากผมไปเรียนภาษาไทยในกรุงเทพฯ ก็คงเก่งยากหน่อย เพราะคนเก่งภาษาอังกฤษ ถ้าอยู่ในทุ่งในชนบทจะต้องพูดไทยให้ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่อย่างนั้นก็ไม่ได้ความ จะกินข้าวก็อดข้าว ปวดท้องก็หาห้องน้ำไม่เจอ เพราะชาวบ้านไม่รู้ว่า ‘ห้องหนาม’ เป็นอย่างไร เพราะห้องที่มันมีหนามนี่หายากนะ”

แต่สิ่งที่สำคัญมากกว่า คือเขาได้พบรักกับ ‘ดนตรีไทย’

“บ้านผมอยู่ติดป่าช้า ก็ได้ยินเพลง ‘นางหงส์’ สมัยนั้นในชนบทจะเล่นเพลงนี้เพลงเดียว เลยได้ฟังทุกวัน ผ่านป่าช้า ผมก็จะหยุดคุยกับนักดนตรีปี่พาทย์พวกนี้ แล้วก็ประทับใจวิธีบรรเลงต่างๆ ตอนนั้นมีอาการหลงประเทศไทย ดนตรีมาที่สอง อาหารมาที่สาม ที่หนึ่งคือคนไทย นิสัยคนไทย”

ครั้งนั้น อาจารย์บรูซได้ฝากตัวเป็นลูกศิษย์นักดนตรีชาวบ้าน ได้ทดลองเล่นเครื่องปี่พาทย์ อย่าง ฆ้องวง และระนาด จนรู้สึกว่า ดนตรีไทยมีเสน่ห์

เขาบอกว่า ถ้าวัดกันในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์รับรองไม่มีใครสู้ได้ ความจริงแล้ว ดนตรีไทยควรได้เผยแพร่ไปทั่วโลก เสียแต่มีจุดอ่อนเรื่องภาษา ผู้คนจึงเข้าถึงในวงจำกัด ซึ่งนับเป็นเรื่องน่าเสียดาย และนี่คงเป็นสาเหตุหนึ่งว่า ทำไมเขาจึงอยากผลักดันดนตรีไทยไปสู่วงกว้าง

ขณะเดียวกัน เขายังเริ่มสนใจพระพุทธศาสนา โดยทุกเช้าตอน 6 โมง เขาจะเดินไปวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ไปนั่งวิปัสสนาหน้าพระพุทธชินราช เขาชอบบรรยากาศที่นั่น แสงแดดที่ลอดจากหลังคา เสียงระนาดเบาๆ ที่หญิงสูงวัยตีด้วยศรัทธา พอนั่งเสร็จก็เดินไปกินปาท่องโก๋ ก่อนจะไปสอนดนตรี

อาจารย์บรูซ อยู่พิษณุโลกได้ 6 เดือน จึงโยกย้ายไปอยู่เชียงใหม่ ไปสอนดนตรีที่วิทยาลัยพายัพ ซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่สภาคริสตจักรฯ เป็นผู้ก่อตั้ง และด้วยความที่เชียงใหม่ร่ำรวยทางวัฒนธรรมมากๆ พอวันหยุดเขาก็จะตระเวนไปตามหมู่บ้านต่างๆ ไปพูดคุยกับชาวบ้าน ศึกษาดนตรีพื้นเมือง

ทว่าหลังสอนได้ 2 ปี ก็ถึงวาระต้องกลับบ้านเกิด แต่คงเพราะหลงรักเมืองไทยและดนตรีไทยไปแล้ว อาจารย์บรูซจึงอยู่สหรัฐอเมริกาได้พักเดียว ก็ย้ายกลับมาอยู่เชียงใหม่อีกครั้ง และอยู่ที่นี่ยาวเกือบสิบปี ก่อนจะย้ายตัวเองมาอยู่ที่กรุงเทพฯ

ในช่วงนั้นเขาพยายามต่อยอดความรู้ ด้วยการเรียนดนตรีไทยแบบจริงจัง เพราะตอนนั้นกรมศิลปากรเพิ่งเปิดโรงเรียนนาฏศิลป์เชียงใหม่ แล้วก็มีครูเก่งๆ หลายคนมาช่วยสอน เขาได้หัดระนาดเอกกับ ครูสิริชัยชาญ ฟักจำรูญ หัดปี่พาทย์รอบวงกับ ครูโสภณ ซื่อต่อชาติ ศิษย์เอกของหลวงประดิษฐ์ไพเราะ จนทักษะดนตรีไทยเพิ่มพูน

เมื่อรู้สึกว่าตัวเองพร้อมแล้ว เขาก็อยากทดลองอะไรใหม่ๆ ตามสไตล์ของคนรักสนุก จึงจับดนตรีสากลมาผสมผสานกับดนตรีไทย เกิดเป็นซาวนด์ใหม่ที่แตกต่าง โดยผลงานสร้างชื่อคือ อุปรากรเรื่อง ชูชก ซึ่งเกิดจากความสนใจในพุทธชาดก อยากนำมาถ่ายทอดเป็นซีรีส์ เป็นละครสมัยใหม่ ซึ่งสุดท้ายปรากฏว่า ชูชกไม่ได้ถูกจัดแสดงแค่ในเมืองไทยเท่านั้น แต่ยังมีโอกาสได้เดินทางไปไกลถึงเยอรมนี

นั่นเองที่ทำให้ชื่อของ บรูซ แกสตัน กลายเป็นเลือดใหม่ของวงการดนตรีไทยที่ถูกจับตามอง

ต่อมาในปี 2519 เขายังร่วมกับดนู ฮันตระกูล และสมเถา สุจริตกุล ก่อตั้งภาคีวัดอรุณ ถือเป็นวงดนตรีแนวใหม่ที่นำเครื่องดนตรีตะวันออกและตะวันตกมาผสมสานกับอุปกรณ์แปลกๆ อย่าง หม้อ กะทะ แก้ว จานโลหะ หลอดไม้ไผ่ นาฬิกาปลุก ฯลฯ

อาจารย์ดนูเรียกโปรเจ็กต์ว่า เสียงดนตรีหลุดโลก มีเพื่อนๆ นักดนตรีมาช่วยกันเพียบ และกลายเป็นรากฐานสำคัญของ กลุ่มดนตรี Butterfly ซึ่งเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนเพลงไทยในยุค 80-90

กำเนิดวงฟองน้ำ

แต่หากโครงการสำคัญที่ทำให้ชื่อของอาจารย์บรูซเป็นที่รู้จักเรื่อยมา เห็นจะไม่พ้น วงฟองน้ำ วงดนตรีไทยเดิมที่เขาจับมือกับ ครูบุญยงค์ เกตุคง นักระนาดฝีมือเยี่ยม หัวหน้าวงดนตรีไทยกรุงเทพมหานคร

อาจารย์บรูซ รู้จักชื่อครูบุญยงค์ จากงานมหกรรมดนตรีไทยอุดมศึกษา ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพราะตอนนั้นมีวงดนตรีไทยมาผลัดกันบรรเลง ระหว่างที่กำลังคุยกับเพื่อน ก็ได้ยินวงหนึ่งเล่นเพลงเถา ชื่อว่า เพลงชเวดากอง ฟังแล้วประทับใจมาก จนอยากฝากตัวเป็นศิษย์คนแต่ง

“พอเพลงขึ้นแป๊บเดียว โอโห เราสังเกตนะว่า มีสำเนียงที่วิเศษมาก ผมเลยรีบไปถามหลังโรงเลยว่า ใครแต่งเพลงนี้ แล้วท่านอยู่ที่ไหน เขาก็บอกว่า ครูบุญยงค์เป็นหัวหน้าวงดนตรีไทยที่ กทม.

“แล้ววันเสาร์-อาทิตย์นั่นเอง ผมก็จับรถไฟลงมากรุงเทพฯ เลย แล้วก็ตรงไปที่ กทม. ถามว่าขอพบครูบุญยงค์ ผมก็เข้าไปแนะนำตัวแบบฝรั่งเลยว่า ได้ฟังเพลงชเวดากองแล้วก็ประทับใจมาก อยากต่อเพลงกับครู แล้วก็อยากฝากตัวเป็นลูกศิษย์ ตอนแรกท่านตกใจมากที่อยู่ๆ ก็มีฝรั่งโดดเข้าไปถามเรื่องนี้ แต่ท่านเป็นผู้ใหญ่ที่ใจกว้างมาก ก็เลยได้เป็นลูกศิษย์ท่านตั้งแต่นั้นเรื่อยมา”

การเรียนกับครูบุญยงค์ ต้องเรียกว่าเข้มข้นมาก เพราะถึงครูจะดุแค่ไหน เขาก็ไม่เคยท้อ ทุ่มเทฝึกทุกอย่าง ส่วนครูเองมีความรู้อะไรก็ถ่ายทอดแบบหมดเปลือก ทั้งเพลงหน้าพาทย์พิธีกรรม เพลงประโคม เพลงหมู่ เพลงเดี่ยว รวมทั้งช่วยทำเพลงประกอบภาพยนตร์อีกต่างหาก

“บรูซฉลาดมากทางด้านทำเพลง อย่างเรื่องเงาะป่า ตอนนั้นผมเป็นคนให้เพลง แล้วบรูซเป็นคนเรียบเรียง เขาถามว่าเอากลองแขกเข้าไปตีดีไหม แต่ผมว่าไม่เพราะหรอก ให้เอากระบอกในห้องอัดเสียงมาทำตัวผู้ตัว ตัวเมียตัวก็สำเร็จแล้วผมจะตีเป็นกลองเอง เสียงมันก็เหมือนอยู่ในป่าในดอย มันเหมาะสมนะ แล้วบรูซก็คิดอันหนึ่งคือ จะเข้ป่า เขาเอากีตาร์เสียๆ มาตั้งเป็นกล่องไม้ขีดบนกีตาร์ ก้านธูปแต่ละก้านดีดเป็นเสียง หัวเขาร้ายจริงๆ พอเล่นออกมาได้ เขาบอกว่าเป็นเสียงจะเข้ป่า เพลงเรื่องเงาะป่านี้ได้รับรางวัลสุพรรณหงส์ แต่ผมไม่ได้ไปรับหรอก ดูโทรทัศน์อยู่ที่บ้าน” ครูบุญยงค์กล่าวถึงศิษย์รัก

กระทั่งปี 2522 ระหว่างทำดนตรีด้วยกัน ทั้งคู่คุยกันถึงสังคมไทยยุคนั้นว่า เดี๋ยวนี้คนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่มีช่องว่างเยอะเกินไป อย่างเรื่องคำพูดคำจา การแต่งกาย หรือทัศนคติ

บางคนก็ยึดติดของเก่าแบบไม่ลืมหูลืมตา บางพวกก็ไม่รับของเก่าเลย เอาแต่ของใหม่จากตะวันตก ก็เลยอยากตั้งวงดนตรีที่ยึดแนวทางสายกลาง โดยชื่อ ฟองน้ำ เป็นชื่อของเพลงโบราณที่อยู่ในเพลงเรื่อง ‘จิ้งจกทอง’ ซึ่งใช้ประกอบพิธีทางพระพุทธศาสนาขณะพระกำลังฉันเพล ที่สำคัญยังเป็นเพลงแรกที่ทั้งคู่เล่นด้วยกัน

“ปรัชญาของเพลงอยู่ที่ว่า เรากำลังเดินทางสายกลาง ถ้าหากพระมีแต่อาหารอย่างเดียว พระอาจจะหลงในความอร่อยของอาหารได้ ดังนั้นเขาเลยจัดให้เป็นสองอย่าง คือ ดนตรีและอาหาร ให้พระอยู่สายกลางระหว่างดนตรีและอาหาร”

อีกแรงบันดาลใจมาจาก ครูสมาน กาญจนะผลิน ซึ่งเขามองว่าเป็นนักประยุกต์ดนตรีไทยที่นำเครื่องดนตรีสากลเข้ามาผสมผสานกับดนตรีแบบดั้งเดิม เช่นใส่ไวเบอร์โฟน ใส่เปียโน เข้าไป แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังคงรักษาแบบแผนที่ครูบาอาจารย์สั่งสมมาไม่เปลี่ยนแปลง

เพราะฉะนั้นงานของฟองน้ำจึงไม่ใช่การเปลี่ยนดนตรีไทยให้เป็นแบบฝรั่ง แต่เป็นการหาช่องให้ดนตรีฝรั่งสามารถเป็นส่วนหนึ่งของดนตรีไทยได้อย่างลงตัว

“วงฟองน้ำคือ ดนตรีไทยเดิมที่มาจากมรดกของครูมนตรี ตราโมท, ครูบุญยงค์ เกตุคง, ครูสมาน กาญจนะผลิน ส่วนบรูซ เป็นแค่ตัวการ แค่ตัวดำเนินไปตัวหนึ่ง แต่กระแสนี้เป็นกระแสของไทย ผมก็เป็นแค่ส่วนหนึ่งที่เป็นลูกศิษย์ของครู เพราะฉะนั้นเวลาวงฟองน้ำไปเล่นที่ไหน ก็ต้องอัญเชิญครูบาอาจารย์ด้วย คือให้เพลงของครูปรากฏเต็มหน่วยครบสมบูรณ์ อาจมีการแต่งสีสัน เพื่อเอาใจคนฟังนิดหน่อย แต่ว่าต้องถูกต้อง คือวิชาไทยโบราณเราถือในเรื่องนี้มากๆ”

สำหรับ อาจารย์บรูซแล้วเป้าหมายของเขา คือ การรักษาภูมิปัญญาของคนรุ่นเก่าให้คงอยู่ เพราะเพลงจำนวนไม่น้อยหากฟองน้ำไม่ทำไม่เก็บไว้ ก็จะสูญหายไปแน่นอน ขณะเดียวกัน เขาก็อยากยกระดับมาตรฐานของวงการดนตรีไทยให้แข็งแรงขึ้น

เขาเปรียบเทียบว่า คนฟังก็เหมือนกับเด็กที่อยากกินขนมอยู่ร่ำไป แน่นอนการกินขนมไม่ใช่เรื่องผิด แต่ถ้าอยากให้เขาเจริญเติบโตจริงๆ ต้องกินอาหารที่มีประโยชน์ด้วย

อย่างไรก็ตาม การพาวงดนตรีไปสู่ผู้ฟังในวงกว้างนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย พวกเขาต้องผ่านความยากลำบากนับไม่ถ้วน อย่างในยุคที่นักร้องเพลงป๊อปทั่วไปได้เงินค่าจ้างเป็นหมื่นเป็นแสน แต่สมาชิกฟองน้ำได้ค่าแสดงแค่ 500 บาทต่อคน หรือเวลาไปแสดงที่ไหน ก็มักมีเสียงดูถูกเหยียดหยามว่า จะไหวเหรอ

แต่พวกเขาก็ไม่ท้อ พยายามนำเสนองานที่แตกต่าง จนกระทั่งมีโอกาสได้เดินสายแสดงในต่างประเทศ จนเป็นที่รู้จักในวงกว้าง

ว่ากันว่า ช่วงที่ได้รับความนิยมสูงสุด ฟองน้ำต้องแบ่งทีมออกเป็น 2 ชุด คือ ฟองน้ำอาวุโส ประกอบด้วยครูบาอาจารย์ที่เปี่ยมล้นด้วยประสบการณ์ มีครูบุญยงค์เป็นผู้นำ กับฟองน้ำหนุ่ม มีอาจารย์บรูซเป็นผู้นำ เน้นนักดนตรีรุ่นใหม่ ที่เชี่ยวชาญดนตรีตะวันตก แต่เล่นโดยอาศัยเอกลักษณ์ของไทย

ไม่เพียงเท่านั้น ทั้งคู่ยังร่วมกันสร้างผลงานสำคัญอย่างเช่น เจ้าพระยาคอนแชร์โต เพื่อเฉลิมฉลองในวาระกรุงเทพฯ อายุครบ 200 ปี เล่าเรื่องปรัชญาความเชื่อของคนไทยเรื่องพุทธศาสนา และวัฏจักรแห่งชีวิต ผ่านเรื่องราวของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นสายเลือดหลักของกรุงรัตนโกสินทร์

นอกจากนี้ ยังนำวงฟองน้ำไปแสดงในมหกรรมดนตรีราชสำนัก ณ กรุงลอนดอน และประพันธ์เพลง Thailand the golden Paradise เพื่อเฉลิมฉลองปีท่องเที่ยวไทย ตลอดจนได้แสดงในงานสำคัญ อย่างเช่นซีเกมส์ เอเชียนเกมส์ หรืองานครบรอบการครองราชย์ 50 ปีของในหลวง ร.9 ฯลฯ

จนในที่สุดเพลงของพวกเขาจึงค่อยๆ ซึมลึกเข้ามาในชีวิตประจำวันของผู้คน และกลายเป็นความคุ้นเคยเรื่อยมาตลอด 40 กว่าปี

“..เปิดทีวีทีไร ก็ต้องต้องเจอเพลงของเราประกอบ โดยเฉพาะในขณะที่เขาอยากจะรู้สึกถึงความภูมิใจในความเป็นไทย หรืออารมณ์สงบ ความดีงาม ความบริสุทธิ์ของบรรยากาศไทย บางที คนบอกว่า เราเป็นดนตรีสำหรับคนกลุ่มน้อย แต่พูดไปแล้ว เราเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยทีเดียว เพลงของเราเข้าถึงทุกระดับของสังคม ไม่ว่าโทรทัศน์ วิทยุ แม้จะไม่ได้เอ่ยชื่อฟองน้ำก็ตาม..”

ดนตรีเพื่อประชาชน

ในปี 2542 อาจารย์บรูซได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่แก่วงการดนตรีไทย เมื่อเขานำวงฟองน้ำ เข้าไปแสดงในโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง ด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่า อยากใกล้ชิดประชาชน

“ช่วงเอเชียนเกมส์ ผมกับแอ๊ด คาราบาว ได้ทำงานร่วมกัน ก็เลยได้เป็นเพื่อนกัน แล้วมีวันหนึ่งไปคุยกับแอ๊ดที่บ้าน แอ๊ดก็พูดขึ้นมาประโยคหนึ่งว่า เป็นนักดนตรีต้องเล่นให้คนฟัง นี่คือความสุขของนักดนตรี คำพูดนี้สะเทือนใจผมมากๆ เพราะว่าช่วงนั้นเราทำงานอยู่ในห้องอัดตลอด อย่าคิดว่าการทำอัลบั้มจะได้ใกล้ชิดประชาชน ไม่ใช่ เวลาทำงานอัลบั้มเพลงเสร็จแล้วจึงออกมาแสดงความเสิร์ตต่างๆ นั่นต่างหากคือความสุขของคนทำงานดนตรี

“เราอยู่ในห้องอัดกัน 2 ปีเต็มๆ เพื่อทำงานรับใช้ประเทศชาติ ซึ่งถือเป็นงานสำคัญที่ภาคภูมิใจ เพราะเป็นงานสร้างภาพพจน์ของประเทศไทยให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายถึงทั่วโลก แต่งานคอนเสิร์ตคือส่วนที่ขาดหาย ก็ได้มาคุยกับคุณเสถียร เศรษฐสิทธิ์ ที่กำลังจะเปิดโรงเบียร์อยู่พอดี ผมจึงเสนอว่าถ้าวงฟองน้ำมาเล่นจะเป็นอย่างไร”

การเล่นในผับของวงฟองน้ำ โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ เพราะเขาคิดเสมอว่า นี่ไม่ใช่แค่เล่นประกอบบรรยากาศ แต่เน้นความเสมอภาคกันระหว่างศิลปินกับลูกค้า เช่นการเล่นเพลงที่ลูกค้าชื่นชอบหรือนิยม อย่างเพลงประกอบภาพยนตร์ดังๆ เพลงลูกทุ่ง

แต่ขณะเดียวกันก็นำเสนอเพลงที่อาจจะฟังยากหน่อย หรือต้องใช้สมาธิในการฟังเพลง เช่นเพลงไทยโบราณ โดยยังนำมาเสนอในรูปแบบใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต แต่ก็ยังคงหลักวิชาการที่ครูบาอาจารย์ถ่ายทอดไว้อย่างครบถ้วน โดยเพลงหนึ่งที่ถูกขออยู่บ่อยๆ ก็คือ ค้างคาวกินกล้วย

“ค้างคาวกินกล้วยบรรเลงเมื่อไหร่ ไม่ว่ารูปแบบไหนคนก็ชอบ และสนุกสนาน แต่ผมไม่อยากให้ว่ากันเป็นเพลงๆ อยากให้มองโดยผลงานรวมของครูบาอาจารย์ที่มุ่งไปหาสัจจะว่า เสียง ลีลา ท่วงทำนองหน้าทัพจะเป็นอย่างไร จึงจะเหมาะกับจิตใจมนุษย์ ศิลปะเป็นจุดมุ่งหมายของครูอาจารย์ จนกลายเป็นความอมตะ หมายความว่าไม่ว่ายุคไหนคนก็รับได้”

แต่แน่นอน กว่าทุกอย่างจะลงตัว ต้องใช้เวลาอยู่พักหนึ่ง เพราะสิ่งสำคัญของการขึ้นเวทีแบบนี้ คือ การจับอารมณ์ของผู้ชมให้ได้ มีเหมือนกันที่เล่นไปแล้วไม่มีเสียงตอบรับเลย เขาก็ต้องหาวิธีปรับเปลี่ยน เพื่อเอาชนะใจและทำให้ผู้ชมรู้สึกสนุกสนานไปด้วยกัน

อาจารย์บรูซบอกว่า ศิลปินที่เก่งต้องไม่มีอัตตา ต้องสามารถวิเคราะห์ วิจารณ์ตัวเองอย่างเฉียบขาด ต้องไม่ยึดมั่นถือมั่น หรือแม้แต่เขาปรบมือ แต่ถ้าเรารู้ว่าเล่นไม่ดี ก็ต้องพยายามปรับปรุง

การเรียนรู้ผู้ชมอยู่ตลอด การหาจุดสมดุลที่เหมาะสม โดยยังคงรักษาอัตลักษณ์ไปพร้อมกัน ทำให้ฟองน้ำกลายเป็นวงดนตรีที่อยู่ข้ามกาลเวลา แต่ละคืนที่แสดงจะมีผู้ชมนับพันมาชม

สำหรับอาจารย์บรูซแล้ว นี่คือความสำเร็จที่สำคัญ เพราะนอกจากเขาจะสามารถนำภูมิปัญญาของครูบาอาจารย์เข้ามาอยู่ในใจของผู้คนได้แล้ว ที่มากกว่านั้นคือ เขายังสร้างความสุข และเสียงเฮฮาได้ตลอด 2 ทศวรรษที่แสดงในโรงเบียร์แห่งนี้

“..การบรรเลงดนตรีของวงฟองน้ำสนุก เพราะว่า ไฮโซ มิดโซ โลโซ ข้างโซ เหนือโซ ใต้โซ นี่มาฟังวงฟองน้ำเล่นหมด อะไรโซๆ ทั้งหลายถ้าเป็นโซไซตี้ มาได้หมดเลย นี่เป็นเสน่ห์ของวงฟองน้ำว่าไม่จำกัดคนฟังเลย..”

วงฟองน้ำคือ ดนตรีไทยเดิมที่มาจากมรดกของครูมนตรี ตราโมท, ครูบุญยงค์ เกตุคง, ครูสมาน กาญจนะผลิน ส่วนบรูซ เป็นแค่ตัวการ แค่ตัวดำเนินไปตัวหนึ่ง

บรูซ แกสตัน : ฝรั่งคลั่งดนตรีไทย ปราชญ์แห่งยุคสมัย

ทำงานจนหยดสุดท้าย

“..ไม่มีเกษียณ ถ้ามีชีวิตอยู่ก็ทำงานศิลปะ ตายไปแล้วชาติต่อไปก็ขอเป็นนักดนตรีต่อ..” อาจารย์บรูซ เคยตอบคำถามว่า เขามีความคิดที่จะหยุดทำงานเพลงหรือไม่

แม้ต่อมาวงการดนตรีช่วงหลังๆ จะเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงมากมาย แต่เขาก็ไม่เคยหมดสนุก ยังคงพยายามนำเสนอสิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา อย่างเช่นการสร้างโอเปราชุด A Boy and A Tiger สอนดนตรี ประพันธ์เพลงให้กับกลุ่มเยาวชนบ้านเกดาร์ ซึ่งเป็นผู้ติดเชื้อ HIV โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทลายกำแพงอคติของคนในสังคมที่มีต่อผู้ป่วยโรคเอดส์

ความมุ่งมั่นของอาจารย์บรูซ ทำให้เขากลายเป็นคนต่างชาติคนแรกที่ได้รับรางวัลศิลปาธร

และต่อมาในช่วงที่สุขภาพอ่อนแรง หลังตรวจพบว่าเป็นมะเร็งตับ อาจารย์บรูซก็ไม่ยอมหยุดผลิตงานใหม่ๆ แต่กลับเร่งทำงานออกมาให้มากที่สุด

เช่นโครงการหนังสือปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตร ของอาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ เขาก็เข้าไปมีส่วนร่วมในส่วนของภาคดนตรี หรือในช่วงที่สถานบันเทิงถูกปิดจาก Covid-19 นักดนตรีทำงานไม่ได้ อาจารย์บรูซก็เข้ามาสนับสนุนกิจกรรม เปิดหมวกเฟสติวัล เพื่อช่วยเหลือกลุ่มคนเหล่านี้

ไม่แปลกที่ใครๆ ต่างรักและเคารพอาจารบรูซ และแม้วันนี้ร่างกายของเขาจะดับสูญไป หากแต่จิตวิญญาณและความทุ่มเทที่มีต่อดนตรีไทยจะไม่จางหาย และยังคงอยู่ในความทรงจำของใครต่อไปอีกนานแสนนาน

ภาพและข้อมูลประกอบการเขียน

  • วารสาารสถาาบันวิจัยศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปีที่ 2 ฉบับที่ 1 กรกฎาคม-ธันวาคม 2543
  • นิตยสารกรุงเทพ 30 ปีที่ 1 ฉบับที่ 8 เดือนมิถุนายน 2530
  • นิตยสารสารคดี ปีที่ 1 ฉบับที่ 3 เดือนเมษยายน 2528
  • นิตยสารกินรี ปีที่ 18 ฉบับที่ 6 เดือนมิถุนายน 2544
  • นิตยสารดิฉัน ฉบับปักษ์หลัง เดือนเมษายน 2525
  • หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 19 มีนาคม 2543
  • หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 28 สิงหาคม 2555
  • สูจิบัตร คอนเสิร์ต ร่วมสมัย ฟองน้ำ วันที่ 17 กันยายน 2556
  • ไทยรัฐออนไลน์ วันที่ 5 สิงหาคม 2555
  • ย้อนรอยความทรงจำของครูบรูซ แกสตัน ที่จังหวัดพิษณุโลก โดย Anant Narkkong
  • ไทยบันเทิง Thai PBS วันที่ 17 ตุลาคม 2564

<< แชร์บทความนี้

RELATED POSTS
LATEST

Keep In Touch

COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO.  ALL RIGHTS RESERVED.