บุญส่ง เลขะกุล : จาก ‘นักล่า’ มาเป็นบิดาแห่งการอนุรักษ์ธรรมชาติ

<< แชร์บทความนี้

แทบจะไม่มีผืนป่าใด ที่ไม่มีรอยเท้าของหมอบุญส่ง – ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ ช่างภาพสัตว์ป่าคนสำคัญ เขียนถึงบุคคลที่เขายกย่องไว้เช่นนั้น

อาจกล่าวได้ว่า นายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล คือนักอนุรักษ์คนแรกของเมืองไทย

60 ปีที่แล้ว ในยุคที่กฎหมายคุ้มครองธรรมชาติหย่อนยาน นายทุนจ้างชาวบ้านตัดป่าเป็นว่าเล่น คนเข้าป่าส่องไฟล่าสัตว์ หมอบุญส่งก่อตั้งนิยมไพรสมาคม กลุ่มอนุรักษ์ที่ผลักดันให้เกิดอุทยานแห่งชาติและพระราชบัญญัติคุ้มครองสัตว์ป่า เพื่อหยุดยั้งการทำลายล้าง

คุณหมอยังสนับสนุนให้เกิดพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา ตลอดจนเขียนหนังสือเผยแพร่ความรู้ให้คนรักและเห็นความสำคัญของธรรมชาติ ผลงานเด่นๆ เช่น ชีวิตของฉันลูกกระทิง หรือ Bird Guide of Thailand ล้วนสร้างแรงบันดาลใจกับคนจำนวนมาก

เรียกว่าถ้าหมอไม่ลุกขึ้นมา วันนี้ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าที่ว่าน้อยแล้ว อาจเหลือน้อยยิ่งกว่า

แต่ถ้าย้อนไปไกลกว่านั้น หลายคนอาจประหลาดใจเมื่อรู้ว่าครั้งหนึ่งหมอบุญส่งคือนักล่าฝีมือฉกาจ ผู้ลั่นไกจบชีวิตช้าง กระทิง วัวแดง ฯลฯ เพื่อเก็บสะสมงางอนและเขาสัตว์เป็นสมบัติส่วนตัว เลี้ยงสัตว์ป่าไว้ดูเล่นเพื่อความเพลิดเพลิน แต่นานวันเข้าก็พบว่าสิ่งที่ทำอยู่คือหนทางแห่งหายนะ

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ขอพาย้อนกลับไปยังช่วงเวลาที่เป็นจุดเปลี่ยนชีวิตของนายแพทย์บุญส่ง อะไรทำให้นักล่าวางปืนแล้วเดินเข้าสู่โลกฝั่งตรงข้าม มาเป็นนักอนุรักษ์ที่ต่อสู้เพื่อปกป้องสัตว์และผืนป่าให้อยู่กับเราจนถึงวันนี้

การผจญภัยและเกมล่าชีวิต

คนเราทุกคนล้วนเคยผิดพลาด สิ่งสำคัญอยู่ที่ว่า เราเรียนรู้จากมันอย่างไร

ความสนใจเกี่ยวกับธรรมชาติและสัตว์ป่าของหมอบุญส่งเกิดขึ้นตั้งแต่เด็ก สมัยเรียนอยู่ที่นครศรีธรรมราชเขาชอบออกค่ายพักแรมกับกองลูกเสือ เวลาไปซ้อมรบตามอำเภอต่างๆ ต้องเดินทางไกลผ่านป่าจริงๆ ซึ่งทำให้พบเห็นสัตว์ป่า เช่น ชะนี ลิง ค่าง กวาง เก้ง อยู่บ่อยๆ

เมื่อโตขึ้นได้ศึกษาธรรมชาติวิทยาและวิทยาศาสตร์ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำให้สนใจบรรดาสิงสาราสัตว์มากขึ้น ช่วงเวลาว่างจากการทำงานแพทย์ก็จะชวนเพื่อนไปเที่ยวป่า และเริ่มจับปืนล่าสัตว์ด้วยความรู้สึกว่าเป็นเกมที่ท้าทายและตื่นเต้น

สมัยนั้นการล่าสัตว์ไม่ผิดกฎหมาย นับเป็นเกมกีฬาพิสูจน์ความเป็นลูกผู้ชาย ที่ต้องกล้าหาญ มีจิตใจเด็ดเดี่ยวในการลั่นไก และทรหดอดทนกับชีวิตในพงไพรที่ยากลำบาก สัตว์ก็มีมากมายจนหลายครั้งมารุกรานผลผลิตการเกษตรของชาวบ้าน การล่าจึงช่วยลดจำนวนอีกทางหนึ่ง แถมยังได้เนื้อสัตว์มาแบ่งกันกินเป็นเสบียง ได้เขา งาและหนังเป็นเหมือนเหรียญรางวัลเกียรติยศ

แต่นักล่ายุคนั้นจำกัดอยู่ในวงแคบๆ เพราะเข้าป่าแต่ละครั้งใช้เงินไม่น้อย ทั้งค่าเกวียนเดินทาง ค่าจ้างลูกหาบ พรานนำทาง ซื้ออาวุธ รวมทั้งต้องซื้อ ‘ทองดำ’ หรือฝิ่นให้กับพรานด้วย

หมอบุญส่งและกลุ่มเพื่อนจะไปกับพราน ใช้วิธีตามรอยสัตว์ใหญ่ไปจนพบ ดูจากรอยเท้า รอยมูล ถ้าใช้นิ้วจิ้มมูลแล้วยังอุ่นแสดงว่าสัตว์อยู่ไม่ไกล ให้เตรียมอาวุธสำหรับเผชิญหน้า ซึ่งหมอบุญส่งนับเป็นนักล่าฝีมือดี ใช้กระสุนไม่กี่นัดก็ทำภารกิจเสร็จสิ้น

แต่มีบางครั้งที่ตกเป็นฝ่ายถูกล่าเสียเอง อย่างครั้งหนึ่งถูกช้างฝูงใหญ่ชาร์จ จังหวะนั้นตกใจจนใส่กระสุนปืนไม่ทัน ด้วยไหวพริบจึงตะโกนขู่ ทำให้ช้างตกใจและวิ่งเบี่ยงหลบไปอย่างฉิวเฉียด เรียกได้ว่าเกมนี้ถ้าพลาดอาจหมายถึงชีวิต

ความที่มองเป็นเกมส์กีฬาจริงๆ จึงมีกติกาสำคัญที่นักล่าทุกคนยึดมั่น คือไม่ยิงตัวเมีย ไม่ยิงตัวที่มีลูกอ่อน ไม่ยิงตัวผู้ที่ยังเพิ่งเริ่มหนุ่ม เพื่อให้พวกมันได้เติบโตสืบทอดเผ่าพันธุ์ต่อไป ใครละเมิดถือเป็นเรื่องขายหน้า โดนต่อว่า ล้อเลียนหรือต้องเลี้ยงโต๊ะจีนกันก็มี

เป้าหมายเน้นไปที่ตัวผู้เต็มวัยหรือชรา และต้องฆ่าให้ตายหรือตามไปจบชีวิตให้ได้ เพื่อไม่ให้สัตว์ตัวนั้นอาฆาตแค้นและกลับมาทำร้ายคนอื่นๆ

หมอบุญส่ง เขียนเรื่องนี้ไว้ในหนังสือ ธรรมชาตินานาสัตว์ ว่า

“วัวโทนที่แยกฝูงไปโดดเดี่ยว ซึ่งส่วนมากเป็นวัวชรา ไม่ใคร่สนใจในการสืบพันธุ์ การยิงวัวตัวเมียนั้นไม่ได้โทรฟี ยิ่งถ้ายิงวัวแม่ลูกอ่อนหรือวัวตั้งครรภ์ ซ้ำร้ายต้องนอนฝันร้ายด้วยภาพอันแสนเศร้าเช่นนี้ไปอีกแรมปี”

ภาพแสนเศร้านั้น หมออาจเคยเห็นกับตา จึงบรรยายไว้อย่างละเอียด

“ลูกวัวแดงหรือลูกกระทิงจะมีความรักแม่ ห่วงแม่อย่างที่สุด หากแม่ถูกยิงตาย ลูกจะวิ่งตามฝูงไปสักพักหนึ่ง แล้วก็จะหยุด ค่อยๆ เดินกลับมาหาแม่ของมันอีก ถ้าหากแม่ถูกยิงและวิ่งไปตายอีกทางหนึ่งไกลออกไป ลูกของมันจะดมกลิ่นตามรอยไปจนพบศพ มันจะไม่รู้ว่าแม่ตายแล้วจึงตรงเข้าไปดูดนมทันที เมื่อดูดนมไม่ออกดังใจ มันก็จะเอาศีรษะไปกระแทกๆ กับเต้านมเพื่อเตือนให้นมออกอย่างน่าสงสาร มันจะอยู่กับศพแม่จนเริ่มเน่า หรือจนกว่าเสือหรือหมาไนจะได้กลิ่นซากและเข้ามากินศพแม่ ซึ่งมักก็จะได้กินลูกอันน่าสงสารอีกตัวหนึ่งด้วย”

ตลอดชีวิตการล่าสัตว์ เคยมีคนประเมินไว้ว่าหมอบุญส่งน่าจะล่าวัวแดงมากกว่า 30 ตัว กระทิงหลายสิบตัว ช้างราว 6 เชือก

แต่ระหว่างการล่านั้นเองทำให้หมอได้เรียนรู้ชีวิตของสัตว์ป่า เห็นนิสัย การกินอยู่หลับนอน วิธีการอยู่ในฝูงไปด้วย ซึ่งเป็นโอกาสที่คนส่วนน้อยได้พบเห็น หมอเก็บตัวอย่างเขาสัตว์และซากมาสตัฟฟ์ไว้ศึกษาและสะสมในพิพิธภัณฑ์ส่วนตัว ในระยะหลังหลายครั้งเลือกจะไม่ฆ่าเพราะมีเก็บอยู่แล้ว จนพรานที่ไปด้วยหัวเราะเยาะด้วยความไม่รู้

การฆ่าครั้งสุดท้าย และกำเนิดไพรนิยมสมาคม

จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ราวปี 2488 ปืนไรเฟิลแรงสูง รถจิ๊ป สปอร์ตไลต์ ที่เหลือจากสงครามหาได้ไม่ยาก ประกอบกับเส้นทางคมนาคมที่พัฒนาขึ้นในช่วงสู้รบ ทำให้การเข้าป่าล่าสัตว์ง่ายมากยิ่งขึ้น วิธีการล่าจึงเปลี่ยนไปราวพลิกฝ่ามือ

นักล่าหน้าใหม่นิยมนั่งรถไปส่องไฟล่าสัตว์ เมื่อสัตว์โดนไฟเข้าตาจะมึนงง ยืนให้เลือกยิงเหมือนเป้านิ่ง ช่วงนั้นหลายทุ่งหลายป่าในเวลากลางคืนจึงสว่างไสวด้วยสปอร์ตไลต์ราวกับมีงานฉลอง เสียงปืนดังระรัว แทบทุกคืนวันหยุด เก้ง กวาง ถูกล่าออกไปหลายๆ คันรถ ซากสัตว์ส่งเหม็นคลุ้งไปทั่ว ชีวิตถูกล่าอย่างทิ้งขว้าง ไม่มีแยกตัวผู้ตัวเมียผู้ใหญ่เด็ก ซึ่งทำให้หมอบุญส่งไม่พอใจมาก

“ผู้ใดจะเล่นกีฬาล่าสัตว์ใหญ่ก็ควรเล่นแบบนักกีฬา คือเล่นอย่างแบบตามรอยอันต้องใช้ชั้นเชิงพรานอย่างแท้จริง นักกีฬาไม่ควรทรยศต่อกีฬาอันมีเกียรติของตน โดยเล่นกีฬาโกงคือแอบนั่งยิงในที่ปลอดภัยอยู่บนห้างอย่างชาวบ้านที่มุ่งแต่จะเอาเนื้อเป็นอาหารและไม่ประสงค์จะเล่นกีฬานี้แต่อย่างใด

“การส่องไฟยิงจากรถก็มีความเลวทรามในการเล่นกีฬา โกงเท่าๆ กับการนั่งห้าง เพราะมุ่งแต่จะฆ่าโดยไม่ใช้ชั้นเชิงพรานและอยู่ในที่ปลอดภัยในรถยนต์ อันเป็นการมัดมือชก ไม่ให้โอกาสสัตว์ในการต่อสู้เสียเลย ทั้งไม่ได้ใช้ความอดทนเหนื่อยยากในเกม” หมอบุญแสดงความเห็นไว้ในหนังสือ ล่ากระทิง

ช่วงนั้นเองที่คุณหมอบุญส่งตัดสินใจไม่ล่าอีกแล้ว โดยการลั่นไกครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นหลังจากมีชาวบ้านมาขอร้องให้ไปช่วยยิงช้างป่าที่เข้ามาทำร้ายคนในหมู่บ้าน

ช้างพลายงางามเชือกนั้นดูเหมือนจะฉลาดหลอกล่อให้หมอและพรานตามรอยอย่างยาวนานถึง 19 วัน ฝนตกหนักจนเสื้อผ้าเปียกปอน ต้องนอนอยู่กับดินแฉะๆ จนแทบจะถอดใจอยู่แล้ว แต่วันสุดท้ายช้างมาปรากฎตัวใกล้ที่พัก เหมือนมันจะมารอคอยให้ยิง เมื่อช้างล้มจึงเห็นตามตัวของมันมีรอยถูกยิงมาหลายนัด ทำให้ทราบสาเหตุที่ช้างตัวนั้นดุร้าย หมอบันทึกความรู้สึกเวลานั้นไว้ว่า

“เมื่อทุกอย่างจบสิ้นลง ฝนตกลงมาอย่างหนักไม่ลืมหูลืมตา มันเป็นความรู้สึกที่บอกไม่ถูก ทั้งหนาวทั้งร้อนในเวลาเดียวกันใน ใจชมเชยความชาญฉลาดของมัน และหากว่ามันไม่เป็นอันตรายต่อชาวบ้านแล้ว มันจะยังคงมีโอกาสท่องเที่ยวหากินต่อไป”

ชาวบ้านทั้งหลายดูจะตื่นเต้นดีใจกันยกใหญ่ แต่สำหรับหมอบุญส่งแล้ว เขาตั้งสัจจะกับตนเองว่า ช้างพลายโทนเชือกนี้เป็นสัตว์ป่าตัวสุดท้ายสำหรับชีวิตการล่าสัตว์ เขาจะเลิกยิงปืนอีกต่อไป ไม่สนใจแม้แต่งางามของมัน

การยิงสัตว์แบบล้างเผ่าพันธุ์ที่เกิดขึ้นสร้างความสลดใจให้กับหมอบุญส่งมาก ทำให้คิดว่าหากปล่อยเช่นนี้ต่อไปคงจะไม่มีสัตว์ป่าหลงเหลือ และจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศในอนาคต ดังนั้นต้องมีการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่สัตว์ แต่รวมถึงป่าที่เป็นที่อาศัยของสัตว์ด้วย

หมอจึงร่วมมือกับเพื่อนฝูงอีกหลายคนจัดตั้ง ‘นิยมไพรสมาคม’ เมื่อปี 2496 ทำงานโดยมีจุดประสงค์เพื่อคุ้มครองสัตว์ป่า ป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ ตลอดจนรักษาสภาพแวดล้อมหรือนิเวศวิทยาซึ่งเสื่อมโทรมลงมาก

ผลงานหนึ่งที่สำคัญของนิยมไพรสมาคม คือรณรงค์ขับเคลื่อนให้มีกฎหมายคุ้มครองสัตว์ป่า และอุทยานแห่งชาติ

ตอนนั้นหมอบุญส่งอายุ 46 ปี หอบเขาสมัน เขาละองละมั่งที่ใกล้สูญพันธุ์ เข้าร้องทุกข์กับพรรคการเมืองต่างๆ เขียนจดหมายนับร้อยฉบับ แต่หลายรัฐบาลก็รับไว้พอเป็นพิธี บ้างแก้ไขตัดทอน แล้วก็แช่เรื่องนิ่งเงียบไม่ส่งเข้าสภา พอถึงรัฐบาลพรรคเสรีมนังคศิลาจึงมีการประกาศเป็นกฎหมาย แต่หั่นใจความจนเหลือแค่หน้าเดียว บังคับใช้แทบไม่ได้ ออกก็เหมือนไม่ได้ออก

ระหว่างนี้หมอบุญส่งถูกโจมตีว่า เขาต่อสู้เพื่อเก็บป่าไว้สำหรับหาความสุขกับเพื่อนพ้อง เพราะคนจำนวนมากยังติดภาพที่เขาเป็นนักล่าสัตว์

Jeffrey A.McNeely ผู้อำนวยการองค์กรระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) เล่าว่า เย็นวันหนึ่งหมอปรับทุกข์กับเพื่อนๆ ว่าที่โดนโจมตีอย่างหนัก เพราะเขาเคยเป็นนักล่าสัตว์มาก่อน เพื่อนจึงปลอบโดยอธิบายว่าสิ่งที่ผ่านมาทำให้เขารู้จักรักสัตว์ป่า และมันก็ไม่ได้เป็นการฆ่าทำลายล้าง หมอบุญส่งยังบอกอีกว่าเขารู้สึกผิดบาป ดังนั้นจึงตั้งใจว่าทำงานอนุรักษ์ให้ดีที่สุดเพื่อลบความรู้สึกผิดนี้

หลายครั้งที่การทำงานไปขัดแย้งกับผลประโยชน์ของคนอื่น หนึ่งในนั้นคือพ่อค้าสัตว์ป่าซึ่งเป็นเพื่อนเก่าแก่ หมอจำต้องอธิบายว่าสิ่งที่ทำนั้นเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติซึ่งจะส่งผลดีกับคนทุกคน บางครั้งก็มีข่าวว่าเขาถูกตั้งค่าหัว หมอถึงกับสั่งเสียกับครอบครัวว่าถ้าถูกจับจะทำอย่างไร ถึงตายจะต้องทำอย่างไร โดยเขาตั้งใจจะพูดความจริงเท่านั้น

จนมาถึงรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ความพยายามของนิยมไพรสมาคมจึงสำเร็จ เมื่อมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า เมื่อปี 2503 ระหว่างนั้นนิยมไพรสมาคมก็ผลักดันให้มีการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติควบคู่กันด้วย หมอบุญส่งถึงกับเชิญท่านจอมพลขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปดูป่าดงพญาเย็นจากบนฟ้าด้วยกัน ภาพที่เห็นคือผืนป่าที่โล่งเตียนเป็นหย่อมอย่างน่าใจหาย ในที่สุดก็มีการประกาศอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของประเทศไทย เมื่อปี 2504

สิ่งที่ตั้งใจสำเร็จไปเปลาะหนึ่ง แต่หมอรู้ว่าแค่นั้นยังไม่พอ

การอนุรักษ์ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ใช้ แต่เป็นการใช้อย่างฉลาด

บุญส่ง เลขะกุล : จาก ‘นักล่า’ มาเป็นบิดาแห่งการอนุรักษ์ธรรมชาติ

บิดาแห่งการอนุรักษ์

เพราะเข้าใจดีว่า คนไม่กี่คนในนิยมไพรสมาคม คงไม่อาจต่อสู้เพื่อป่าและสัตว์ได้ตลอดไป

นายแพทย์บุญส่งจึงทำงานเผยแพร่ความรู้ด้านธรรมชาติควบคู่กับการเรียกร้องข้อกฏหมาย นอกจากกลุ่มเด็กๆ แล้วยังพยายามปลูกฝังความรักความเข้าใจที่มีต่อเพื่อนร่วมโลกและผืนป่าที่สร้างคุณประโยชน์มากมายให้กับสรรพชีวิต ให้ประชาชนทั่วไปรับรู้

นิตยสาร นิยมไพร รายเดือน ออกสู่สายตาคนอ่านในปี 2501 มีข่าวสารความรู้เรื่องสัตว์และธรรมชาติอัดแน่นทั้งเล่ม ถ่ายทอดมาจากประสบการณ์ทั้งชีวิตของหมอบุญส่ง นอกจากนั้นหมอยังเขียนและแปลบทความลงในหนังสือพิมพ์และนิตยสารต่างๆ รวมกว่า 100 เรื่อง และไปปรากฎตัวในมหาวิทยาลัย โรงเรียน โทรทัศน์วิทยุ เพื่อบรรยายความรู้เหล่านี้ออกไปสู่วงกว้าง

หนังสือ ธรรมชาตินานาสัตว์ ได้รับการจัดให้เป็นหนังสือดี 100 เล่มที่คนไทยควรอ่าน หนังสือ ชีวิตของฉันลูกกระทิง นับเป็นหนังสือในดวงใจของใครหลายคน เล่าถึงเรื่องของลูกกระทิงที่ตามแม่ไปเที่ยวในป่าและทำความรู้จักกับเพื่อนพ้องสัตว์นานาชนิด รวมทั้งความโหดร้ายของ “อ้ายพวกสัตว์สองขา” หรือมนุษย์

หมอบุญส่งยังได้จัดทำคู่มือสัตว์เพื่อใช้อ้างอิงประกอบการศึกษา เช่น คู่มือดูผีเสื้อในเมืองไทย คู่มือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในเมืองไทย นกป่าดง เล่มที่สำคัญคือคู่มือดูนกเมืองไทย Bird Guide of Thailand ซึ่งไม่เคยมีใครทำมาก่อน หมอเชื่อว่าการดูนกจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้หลายคนรักธรรมชาติ

ในการตีพิมพ์ครั้งแรกๆ หมอบุญส่งลงทุนวาดรูปนกด้วยตัวเอง โดยศึกษาจากซากนก (Skin) เพื่อความถูกต้องแม่นยำ ในการตีพิมพ์ครั้งต่อมานักวาดคนอื่นก็ต้องทำลักษณะเดียวกัน

สิ่งที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้กัน คือการที่หมอบุญส่งสร้างบุคลากรด้านธรรมชาติไว้ให้กับเมืองไทยหลายคน เช่น จารุจินต์ นภีตะภัฏ ผู้เปรียบเหมือนลูกนอกไส้ของหมอบุญส่ง และเป็นคนสานต่อการสร้างพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา ซึ่งเป็นความฝันของหมอจนสำเร็จ

ศิษย์รักอีกคนคือ กิตติ ทองลงยา นักสัตวศาสตร์ชื่อดัง ผู้ค้นพบนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร และค้างคาวกิตติ ค้างคาวที่เล็กที่สุดในโลก รวมถึงอีกหลายคนที่คงเอ่ยชื่อตรงนี้ไม่หมด

คงไม่ผิดหากกล่าวว่า หมอบุญส่งเป็นคนปลูกเมล็ดพันธุ์ที่ทำให้เกิดนักอนุรักษ์หลายคนในยุคต่อมา

“การอนุรักษ์ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ใช้ แต่เป็นการใช้อย่างฉลาด” คือใจความสำคัญที่อดีตนักล่าคนนี้ย้ำอยู่เสมอ

วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2535 นายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล จากไปอย่างสงบ ชื่อของเขาได้รับการนำไปตั้งเป็นชื่อสัตว์หลายชนิด เช่น ค้างคาวหน้ายักษ์หมอบุญส่ง นกปรอทเล็กตาขาวหมอบุญส่ง กระรอกหลากสีหมอบุญส่ง ฯลฯ ซึ่งจะคงอยู่ตลอดไป เช่นเดียวกับเรื่องราวและผลงานอนุรักษ์ที่หมอได้บุกเบิกเอาไว้ ซึ่งคงจะถูกเล่าขานต่อไปยังคนรุ่นหลัง

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะมีใครสักคนลุกขึ้นมาต่อสู้ปกป้องเพื่อนร่วมโลกที่ไม่มีปากเสียงมากขนาดนี้ แต่หมอบุญส่งทำสิ่งนั้นเพราะความรัก ดังที่เขาได้กล่าวไว้เมื่อตอนรับรางวัล J. PAUL GETTY สำหรับการอนุรักษ์ธรรมชาติและสัตว์ป่าโลก เมื่อปี 2522 ว่า

“ทั้งหมดเริ่มต้นมากจากความความสนุก ความตื่นเต้นในเกมล่าสัตว์ แล้วผมก็เริ่มอยากจะรู้จักเหยื่อที่ล่ามากขึ้น บางทีมันอาจเริ่มมาจากเหตุผลที่ค่อนข้างเห็นแก่ตัว คืออยากจะรู้นิสัยและวิถีชีวิตของพวกมัน แล้วผมก็ตกหลุมรักสัตว์ที่มองเห็นผ่านกระบอกปืนมากขึ้นเรื่อยๆ และค่อยๆ ตระหนักว่า ถ้าเราไม่ปกป้องและเห็นคุณค่าความจำเป็นของพวกมัน ในที่สุดพวกมันก็จะหายไปโดยไม่กลับมาอีกเลย..

“เมื่อผมละสายตาจากปืนมากเท่าไร ก็ยิ่งเห็นความมหัศจรรย์ของสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติมากเท่านั้น มันขยายมุมมองและความสนใจไปอีกมากมาย จากที่เคยอยู่แค่ในประเทศ ก็ขยายไปครอบคลุมทั่วทั้งโลก จากไทย ไปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินเดีย แอฟริกา และอเมริกา..”

ภาพและข้อมูลประกอบการเขียน

  • หนังสืออนุสรณ์ในการพระราชทานเพลิงศพนายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล ท.ม., ต.ช. ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันเสาร์ที่ 6 มิถุนายน พุทธศักราช 2535
    หนังสือ หากป่าไม้ ยังอยู่ยั้ง ยืนยง
  • ชีวิตของฉันลูกกระทิง, ธรรมชาตินานาสัตว์
  • เที่ยวป่า โดยนายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล
  • นิตยสารสารคดี ฉบับที่ 96 เดือนกุมภาพันธ์ 2536
  • นิตยสารสารคดี ฉบับที่ 266 เดือนมกราคม 2550
  • นิตยสารสารคดี ฉบับที่ 273 เดือนพฤศจิกายน 2550
  • หนังสือ ตัวตนในราวไพร ของนายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล โดยเปลว ปัทมา

<< แชร์บทความนี้

RELATED POSTS
LATEST

Keep In Touch

COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO.  ALL RIGHTS RESERVED.