Helena Harris : BANANAS IN PYJAMAS กล้วยหอมจอมซน

<< แชร์บทความนี้

“นายคิดเหมือนที่ฉันคิดไหม B1”

“ฉันก็คิดเหมือนที่นายคิด B2”

หากคุณอายุเกิน 25 ปี คงจำประโยคนี้ได้แน่นอน เพราะนี่คือรายการยอดฮิตขวัญใจทุกหนูๆ ที่ออกอากาศทุกคืนทางช่อง 7 สีเมื่อสิบกว่าปีก่อน

ความจริงไม่ใช่แค่ประเทศไทยเท่านั้นที่ ‘กล้วยหอมจอมซน’ หรือ ‘Bananas in Pyjamas’ ฮิตติดลมบน

แต่รายการความยาว 5 นาทีจากสถานีโทรทัศน์ ABC ของออสเตรเลียนี้เป็นที่นิยมกว่า 100 ประเทศทั่วโลก แถมยังมีแฟนคลับระดับหลายร้อยล้านคน ยืนยันได้จากการที่เคยได้รับเกียรติให้เป็น 1 ใน 5 ไอคอนของประเทศออสเตรเลียที่ปรากฎตัวในพิธีปิด โอลิมปิกซิดนีย์เกมส์ เมื่อปี 2543 ร่วมกับคนดังอย่างนักร้องสาว Kylie Minogue หรือโปรกอล์ฟ Greg Norman แถมหลังจบงานบรรดานักกีฬาชื่อดังจากทั่วโลกกว่า 30-40 คนมารุมล้อมขอลายเซ็นคู่หูฝาแฝดแน่นขนัด

บุคคลหนึ่งที่ควรได้รับเครดิตมากที่สุด คงหนีไม่พ้น Helena Harris โปรดิวเซอร์และผู้ผลักดันจนรายการนี้กลายเป็นตำนานระดับโลก

ก่อนที่ B1 และ B2 จะกลายเป็นขวัญใจของเด็กๆ เรื่องราวของพวกเขาเคยปรากฏอยู่ในเพลงของ Carey Blyton ซึ่งเขียนขึ้นตั้งแต่ปี 2512 เพื่อประกอบการเต้นของเด็กอนุบาล กระทั่งวันหนึ่งในปี 2535 เมื่อ Harris เดินทางไปดูละครของลูกๆ Amy และ Morgan ที่โรงเรียนจึงได้พบกับตัวละครที่โดดเด่นมาก นั่นคือ กล้วยหอมซึ่งกำลังวิ่งไล่หมีเท็ดดี้

“ตอนนั้นฉันมั่นใจว่า หากทำให้กล้วยหอมดูเด็กลง น่าเกลียดน้อยลง รับรองว่าเด็กๆ จะต้องรักมันแน่นอน”

เธอจึงนำไอเดียนี้มาเสนอสถานีโทรทัศน์ซึ่งเธอทำงานอยู่

แต่กว่าจะได้เริ่มต้นทำนั้นก็ช่างยากลำบากเหลือเกิน ไหนจะงบประมาณจำกัด แถมยังต้องทะเลาะกับฝ่ายบริหารบ่อยครั้ง

“ตอนที่บอร์ดของ ABC ได้ยินว่าฉันกำลังทำโชว์ที่มีกล้วยหอม 2 ตัว นอนอยู่ในห้องเดียวกัน นั่นคือช่วงยุคต้น 90 พวกเขาต่างรู้สึกวิตกกังวลกับเรื่องนี้มาก ฉันพยายามอธิบายว่าพวกเขาเป็นฝาแฝดกัน สามารถนอนห้องเดียวกันได้ แต่ดูเหมือนพวกเขาก็ยังไม่ชอบไอเดียนี้เท่าใดนัก”

แต่สุดท้าย Harris ก็สามารถผ่านสถานการณ์ยุ่งยากมาได้ และเริ่มต้นวางตัวละครต่างๆ โดยอิงประสบการณ์มาจากลูกๆ ของตัวเอง ซึ่งนอกจากกล้วยหอมที่เป็นฝาแฝดกันแล้ว ยังมีหมีเพื่อนบ้านอีก 3 ตัว คือ Morgan Amy และ Lulu ซึ่ง 2 ใน 3 ที่ถูกตั้งชื่อตามลูกๆ ของเธอ ส่วนอีกตัวนั้นมาจากชื่อเพื่อนของลูกอีกที ส่วนเจ้าหนูใส่หมวกที่ออกมาในตอนที่ 2 นั้น เป็นไอเดียจากหนึ่งในตากล้องรายการ

B1 และ B2 เป็นเจ้าของบ้านสองชั้น เขาจะลงจากบันไดมาทุกเช้าตามที่บทเพลงได้บอกเล่าไว้ และถ้าพวกเขาไม่ต้องไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องวุ่นๆ ก็จะใช้เวลาที่มีไปกับการตรวจตราชายหาดใกล้ๆ

“พวกเขาไม่ได้ซื่อบื้อ แต่ก็ไม่ได้ฉลาดอะไร ก็เป็นกล้วยหอมที่มีชีวิตธรรมดาๆ เราไม่ได้พยายามจะใส่อะไรที่มันฉลาดซับซ้อนหรือต้องตีความหมายเข้าไปเลย”

“คุณมีเวลา 4 นาที 20 วินาทีเพื่อบอกเล่าเรื่องราวดีๆ ต้องวางโครงเรื่องตั้งแต่ต้น-กลาง-จบ โดยต้องสอดคล้องกับชีวิตจริงของเด็กอนุบาล ซึ่งตัวละครที่เราสร้างขึ้นส่วนใหญ่ก็เอามาจากชีวิตของลูกๆ เป็นหลัก เพราะฉันคิดว่า เด็กทั่วโลกก็คงต้องเจอสถานการณ์อะไรแบบนี้มาเหมือนๆ กัน”

ด้วยคาแรคเตอร์กล้วยหอมที่น่ารักและเรื่องราวที่ใกล้ตัวเด็กๆ หลังออกอากาศเพียงตอนเดียวในวันที่ 20 กรกฎาคม 2535 กล้วยหอมจอมซนก็กลายเป็นที่พูดถึงไปทั่วเมือง Harris บอกว่า เธอเคยได้ยินคุณแม่บางคนคุยกันว่า ต้องรีบกลับบ้านไปดูรายการ บางทีก็เป็นพวกลูกๆ ที่รบเร้าให้พ่อแม่รีบกลับบ้าน เพื่อให้ทันดูกล้วยหอม

เหตุการณ์ที่ทำให้เธอรู้ว่า ตัวละครนี้มีพลังในการดึงดูดคนมหาศาล คือตอนที่พวกเขาไปออกงานร่วมกับ Sydney Symphony Orchestra วันนั้นฝนตกกระหน่ำ แต่ผู้ชมทั้งเด็กและผู้ใหญ่กว่า 195,000 คนก็ตื่นเต้นกันสุดๆ ทันทีที่กล้วยหอมปรากฏตัวบนเวที

ความสำเร็จครั้งนี้ Harris วิเคราะห์ว่า มาจากปัจจัย 2 อย่างคือ หนึ่งคือ ประสิทธิภาพของ ABC ในฐานะทีวีสาธารณะที่สามารถจัดสรรและกำหนดกกรอบเนื้อหาของรายการสำหรับเด็กเล็กและเด็กโตได้อย่างเหมาะสม จนทีมงานสามารถผลิตรายการเด็กยอดฮิตติดอันดับโลกได้มากมาย ทั้ง Big Square Eye หรือ Hi-5 เสียอย่างเดียวคือ งบประมาณที่ทุ่มน้อยเกินไปหน่อย ทำให้ทีมงานไม่สามารถใส่ฉากที่น่าตื่นตาตื่นใจได้มากกว่านี้

อีกส่วนหนึ่งก็มาจากความทุ่มเทของทีมงาน เช่นการที่นักแสดงที่รับบทกล้วยหอมทั้ง 2 คน ต้องเข้าคอร์สฝึกหนัก เพื่อให้สามารถถ่ายทอดอารมณ์ต่างๆ เช่นดีใจ เสียใจ ร้องไห้ ได้อย่างสมบทบาท แม้ว่าชุดจะหนักและร้อนเพียงใด แถมการออกเสียงก็ยากลำบาก เพราะไมโครโฟนเล็กๆ ที่ติดข้างในชุด คุณภาพแย่มาก จนต้องอัดเสียงใหม่ในสตูดิโออีกรอบ

แต่เพื่อความสุขของเด็กๆ พวกเขาก็ทนได้ ยิ่งได้มาทราบว่า กล้วยหอมกลายเป็นตัวละครที่มีอิทธิพลต่อชีวิตของผู้ชมมากมาย ก็ยิ่งทุ่มเทเต็มที่ เช่น เด็กคนหนึ่งที่กำลังต่อสู้กับโรคร้ายและอยากได้กำลังใจจากคู่แฝด พวกเขาก็เดินทางไปเยี่ยมถึงโรงพยาบาลทำให้เด็กคนนั้นมีความสุขมาก

คำว่า B1-B2 ยังกลายเป็นศัพท์ประจำชาติ เช่นตอนที่อดีตนายกรัฐมนตรี Bob Hawke แต่งงานใหม่กับผู้หญิงที่ชื่อ Blanche d’Alpuge หนังสือพิมพ์ก็เรียกพวกเขาวว่า B1-B2 เรื่อยมา ไม่เพียงแค่นั้น กล้วยหอมยังมีโอกาสได้เป็นแขกของอดีตประธานาธิบดี Bill Clinton แห่งสหรัฐอเมริกา ระหว่างเยือนกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร รวมถึงเกือบมีภาพยนตร์ยาวเป็นของตัวเอง เสียดายที่โครงการนี้พับไปเสียก่อน แต่ถึงอย่างนั้นก็มีของที่ระลึกเกี่ยวกับพวกเขาออกมามากมาย ทั้งแสตมป์ และเหรียญที่ระลึก 5 เซ็นต์กับ 20 เซ็นต์ ในวาระครบ 25 ปีของการกำเนิดรายการ

แม้สุดท้ายกล้วยหอมจอมซนจะออกอากาศได้เพียง 9 ปีเศษ โดยเทปสุดท้ายนั้นออนแอร์เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2544 และมีแอบกลับมาในเวอร์ชั่นแอนิเมชันอยู่ 2 ปีเศษ แต่ก็เชื่อได้เลยว่า เรื่องราวอันน่าสนุกของสองคู่หูและผองเพื่อนจะยังคงตราตรึงในใจผู้คนทั่วโลกไปอีกนานแสนนาน

พวกเขาไม่ได้ซื่อบื้อ แต่ก็ไม่ได้ฉลาดอะไร ก็เป็นกล้วยหอมที่มีชีวิตธรรมดาๆ เราไม่ได้พยายามจะใส่อะไรที่มันฉลาดซับซ้อนหรือต้องตีความหมายเข้าไปเลย

Helena Harris : BANANAS IN PYJAMAS กล้วยหอมจอมซน

ภาพและข้อมูลประกอบการเขียน

  • นิตยสาร Metro Magazine ฉบับที่ 137 Summer 2003
  • เว็บไซต์ BUSTLE, ABC, Daily Telegraph
  • เว็บไซต์ Wikipedia

<< แชร์บทความนี้

RELATED POSTS
LATEST

Keep In Touch

COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO.  ALL RIGHTS RESERVED.