AriAround : ผู้คิดค้นเครื่องมือแลกเปลี่ยนความใจดี สู่การสร้างชุมชนอารีย์ที่น่าอยู่และเอื้อเฟื้อกัน

<< แชร์บทความนี้

‘อารีย์’ ย่านเก่าที่วันนี้กลายเป็นพื้นที่ของคนมีสไตล์ เต็มไปด้วยคาเฟ่สวยๆ ร้านอาหารทันสมัย กิจการของคนรุ่นใหม่ แต่จริงๆ แล้วยังมีปัญหาซุกซ่อนอยู่ไม่ต่างจากชุมชนเมืองอื่นๆ ทั้งการจัดการขยะ ราคาที่ดินและค่าเช่าพุ่งสูง ร้านเก่าแก่ล้มหายตายจากไป เอกลักษณ์ดั้งเดิมสูญหายไปทีละน้อย

คนหนุ่มสาวกลุ่มหนึ่งที่ผูกพันกับย่านอารีย์มาเนิ่นนาน อยากเห็นย่านที่พวกเขารักยังคงมีความน่าอยู่อาศัย จึงลุกขึ้นมาเสริมพลังความเป็นชุมชน ผ่านการขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ ในนามของกลุ่ม AriAround

เริ่มจากการคิดค้น AriCoin เหรียญแห่งความใจดี ซึ่งใช้เงินซื้อไม่ได้ แต่ได้มาจากการแยกขยะ การแบ่งปันความสามารถ หรือการใช้เวลาทำกิจกรรมอาสาสมัครในชุมชน เหรียญนี้สามารถนำไปแลกสิทธิพิเศษต่างๆ จากร้านค้าภายในย่าน และใช้เข้าร่วมกิจกรรมที่น่าสนใจ ในอีกทางคือเครื่องมือกระตุ้นให้ชาวชุมชนมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันด้วย

การรวมตัวของพวกเขายังนำไปสู่การเป็นปากเสียงแทนชาวอารีย์ ด้วยการจัดกระบวนการฟังความคิดเห็น เชื่อมโยงภาคีเครือข่าย ทั้งพูดคุยกับหน่วยงานภาครัฐเพื่อขอใช้พื้นที่สาธารณะให้เกิดประโยชน์กับทุกคนมากที่สุด การออกนโยบายต่างๆ ให้สอดรับกับความต้องการ รวมไปถึงการอนุรักษ์พื้นที่สีเขียวซึ่งเหลือน้อยมากในเมืองใหญ่ไว้ให้ผู้คนได้สัมผัสธรรมชาติ 

อีกด้านหนึ่งพวกเขายังสืบค้นและบอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ ที่มาที่ไปของย่าน งานสถาปัตยกรรมที่โดดเด่น ร้านค้าระดับตำนาน โดยหวังว่าจะทำให้เกิดการเห็นคุณค่า และช่วยกันรักษาเอกลักษณ์เหล่านี้ไว้ไม่ให้ถูกทำลาย หรือถูกเปลี่ยนแปลงโดยไม่เชื่อมโยงกับความเป็นมาของพื้นที่

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา และกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ อยากชวนไปพูดคุยกับ อรุอรุณี อธิภาพงศ์ และ ใหม่นภัทร จาริตรบุตร สมาชิกกลุ่ม AriAround ถึงเส้นทางในการทำงานที่ผ่านมา ผลลัพธ์จากการแลกเปลี่ยนความโอบอ้อมอารี ตลอดจนการลงมือทำด้วยความเชื่อที่ว่า การพึ่งพากันของชุมชน จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของทุกคนให้ดีขึ้นได้

ปลุกพลังแห่งการแบ่งปัน

มีคำกล่าวว่า คนเป็นอย่างไร เมืองก็เป็นแบบนั้น การเปลี่ยนแปลงเมืองให้ยั่งยืนจึงต้องเริ่มจากคนในเมืองลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตัวเองเสียก่อน

แม้ไม่ใช่คนสะพานควายโดยกำเนิด แต่อรุก็มีความผูกพันกับย่านใกล้เคียงอย่างอารีย์และประดิพัทธ์อยู่ไม่น้อย เพราะมีเพื่อนพี่น้องที่รู้จักอาศัยอยู่แถวนี้กันเยอะ กว่าสิบปีที่แล้วเธอเคยเปิดร้านกาแฟในซอยพหลโยธิน 14 โดยชั้นบนเป็นที่พักของเพื่อนๆ ส่วนชั้นล่างเป็นคาเฟ่ที่ให้คนมาพบเจอกัน ไม่ต้องนั่งขลุกอยู่ในคอนโดเพียงอย่างเดียว

พอได้มาใช้ชีวิตอยู่นานวันเข้า อรุพบว่าพื้นที่ละแวกนี้มีเสน่ห์หลายอย่าง ทั้งความเป็นเมืองที่เดินได้ มีซอยเล็กซอยน้อยที่เชื่อมต่อกันหมด ตั้งแต่คลองบางซื่อถึงคลองสามเสน ผู้คนในย่านก็หลากหลายทั้ง ข้าราชการเก่า หนุ่มสาวออฟฟิศ คนหาเช้ากินค่ำ นักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมถึงนักสร้างสรรค์ที่มักมาจับกลุ่มกันตั้งสำนักงาน หรือเช่าบ้านอยู่แถวนี้ ร้านอาหารก็มีหลายระดับ ถ้าใจกลางอารีย์ราคาอาจค่อนข้างสูง ถัดออกไปราคามักถูกลง อย่างแถววัดไผ่ตันยังมีอาหารใส่บาตรถุงละ 10 บาทขายอยู่

แต่ด้วยความที่คนอาศัยหนาแน่น ย่อมไม่พ้นมีปัญหาตามมา หนึ่งในนั้นคือเรื่องการจัดการขยะมูลฝอย ซึ่งแต่ละวันในช่วงหัวค่ำจะพบเห็นถุงขยะใบโตตามริมถนน รอเจ้าหน้าที่มาเก็บ เป็นภาพที่ดูขัดแย้งกับความทันสมัยเก๋ไก๋ในช่วงกลางวัน

“บางทีเราพาสุนัขเดินตอนสัก 2 ทุ่ม ก็จะเห็นขยะกองพะเนินเลย น้ำขยะก็นอง หนูวิ่งมาคุ้ย พี่คนเก็บขยะก็ต้องมานั่งแยกขยะ ต้องมาฉีกถุงแต่ละถุง แล้วตอนที่เราเห็นก็คือช่วงโรคระบาด รู้สึกช็อกว่า โห! คนกลัวติดกันมากเลย แต่พี่เขายังต้องมานั่งฉีกถุงขยะของทุกคน มันน่าจะมีวิธีจัดการที่ดีกว่านี้ได้”

ความเจริญของย่านอารีย์ ยังทำให้ความต้องการใช้พื้นที่มีสูงขึ้น ราคาที่ดินและค่าเช่าจึงสูงตาม ส่งผลให้ร้านอาหารดั้งเดิมหายไป เช่นร้านราดหน้าจานละ 40 บาทอยู่ไม่ได้ กระทบถึงคนในย่านที่ต้องจ่ายแพงตามไปด้วย หรือร้านเก่าที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานจนเหมือนเป็นเอกลักษณ์ของย่าน ถูกแทนที่ด้วยร้านใหม่ในเครือบริษัทยักษ์ที่พบเห็นได้ทั่วไป

ในช่วงปี พ.ศ. 2562 อรุมีโอกาสได้ไป WWOOFing หรือเป็นอาสาสมัครในฟาร์มต่างแดน ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ระยะเวลา 6 เดือนนั้นเองที่เปิดมุมมองให้เห็นว่า การที่ชุมชนเข้มแข็ง และช่วยเหลือกัน มีส่วนสำคัญที่ทำให้เมืองน่าอยู่กว่าเดิม

“จุดที่เราไปคือเมืองพอร์ตแลนด์ คนที่นั่นเขามีส่วนร่วมในการดูแลกันเองเยอะมาก เราเห็นสวนคนเมืองที่ใช้พื้นที่ส่วนกลางร่วมกัน เขาไปขอใช้สนามหน้าบ้านคนอื่นเพื่อปลูกอาหาร เมื่อได้ผลผลิตแล้วก็เอาไปแบ่งให้เจ้าของบ้าน หรือมีห้องสมุดที่ไม่ได้มีแค่หนังสือ แต่สามารถยืมสิ่งต่างๆ ได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือช่าง อุปกรณ์สวนหรือของที่เราไม่ได้ใช้ประจำทุกวัน คนจึงไม่จําเป็นต้องซื้อมาเก็บไว้ อาสาสมัครของห้องสมุดก็ไม่ได้ค่าจ้างเป็นเงิน แต่เป็นอาหารส่วนเกินของซูเปอร์มาร์เก็ตที่ยังกินได้อย่างปลอดภัย

ความเป็นชุมชนของเขาสูงมาก จนทำให้เราเห็นว่า การพึ่งพากันภายในชุมชน ทำให้คุณภาพชีวิตของทุกคนดีขึ้นได้

อรุกลับมาจากสหรัฐอเมริกาได้ไม่นาน ก็เป็นจังหวะที่เทศกาลสร้างสรรค์ Bangkok Design Week 2020 ขยายพื้นที่มาจัดในย่านอารีย์-ประดิพัทธ์ เป็นครั้งแรก เธอดูรายละเอียดแล้วสะดุดใจกับโครงการ Eats Meet Waste ของนักออกแบบกลุ่ม Cloud-floor ซึ่งมุ่งเน้นศึกษาผลกระทบจากอุตสาหกรรมอาหารภายในย่าน ทั้งการวิจัยข้อมูลขยะ การให้ป้ายรางวัลแก่ร้านที่ร่วมมือในการจัดการขยะและของเสียเพื่อสื่อสารความรับผิดชอบให้ลูกค้ารับรู้ การทดลองนำวัตถุดิบที่เหลือจากครัวมาปรุงเป็นอาหารจานใหม่

แต่พอเธอไปชมงานจริงกลับพบว่า โครงการทำขึ้นเฉพาะในช่วงเทศกาลเท่านั้น จบงานแล้วไม่ได้สานต่อ อรุรู้สึกเสียดายแนวคิดนี้ จึงไปคุยกับเพื่อนคือ ตุ้ย-ธิดารัตน์ ไทยานนท์ นักออกแบบจาก Faiyen Design Studio ที่จัดแสดงงานในเทศกาลเช่นกัน ตุ้ยพาอรุไปพบกับ ฟิวส์-นัฐพงษ์ พัฒนโกศัย และ โจ-ดลพร ชนะชัย สองผู้ก่อตั้ง Cloud-floor ก่อนที่ต่างฝ่ายจะไปชวนเครือข่ายมาช่วยกันระดมความคิด เพื่อลงมือทำอะไรสักอย่างที่จะเกิดประโยชน์กับคนในพื้นที่ต่อไป จนในที่สุดเกิดเป็นแพลตฟอร์มชื่อว่า ‘AriAround’ โดยอรุและเพื่อนๆ ชาวอารีย์อาสารับไม้มาดำเนินงานต่อ

“ตอนนั้นคิดกันว่าประเด็นของชุมชนมีอะไรบ้าง ก็เลยทําแบบสอบถามขึ้นมา เพราะมันมีหลายประเด็นที่น่าสนใจ อย่างเราเป็นคนที่อินเรื่องการจัดการขยะ เพราะเราแยกขยะ แต่พอแยกขยะแล้วมันไม่มีที่ไป ต้องไปส่งไปรษณีย์ เลยอยากทำเรื่องนี้

“นิ่ม (ณัฐนิช ชัยดี) ชอบกิน นิ่มก็อยากจะเล่าเรื่องอาหารในพื้นที่ เพราะว่าย่านอารีย์มันก็มีปัญหาว่าร้านเดิมๆ ค่อยๆ หายไป เราจึงอยากแนะนําให้คนรู้จักร้านท้องถิ่น ที่ไม่ใช่เชนสโตร์ ส่วนใหม่สนใจเรื่องประวัติศาสตร์ย่าน ครอบครัวเขาอยู่ที่นี่มา 3 รุ่นตั้งแต่คุณปู่ ใหม่มีความฝันมายาวนานแล้วว่าอยากเล่าเรื่องของย่านนี้ แล้วเขาเป็นนักเขียน เพราะฉะนั้นก็อยากจะปล่อยของ พอมีหลายๆ คนเข้ามา ทำให้เกิดมิติการพัฒนาเมืองที่หลากหลายขึ้น”

จากไอเดียที่กระจัดกระจายของแต่ละคน สุดท้ายแล้วตกผลึกกลายมาเป็นการให้ความสำคัญกับ 3 เรื่อง คือ Zero Waste ทำอย่างไรให้เกิดขยะเหลือทิ้งน้อยที่สุด Circular Economy คือเศรษฐกิจหมุนเวียน ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนแบ่งปันทรัพยากร ไม่จำเป็นต้องบริโภคหรือซื้อใหม่ทุกอย่าง อีกเรื่องคือ Community Connection เชื่อมโยงให้คนในชุมชนได้รู้จักกัน นับเป็นภารกิจของ AriAround ที่ตั้งเป้าในการทำเมืองให้น่าอยู่ยิ่งขึ้น

ความท้าทายคือจะเชื่อมโยงทั้งหมดได้อย่างไร อรุจึงนึกถึงความเป็นชุมชนที่เข้มแข็งของชาวพอร์ตแลนด์ ซึ่งทุกคนพึ่งพากัน ใช้ความชำนาญของตนเองช่วยเหลือคนอื่น เป็นการแลกเปลี่ยนสิ่งที่ตัวเองมีกับเพื่อนบ้านโดยไม่ต้องใช้เงิน ไอเดียนี้ทำให้กลุ่มคนหนุ่มสาวชาวอารีย์คิดถึงการสร้าง ‘เหรียญ’ คล้ายกับสกุลเงินของตัวเอง ขึ้นมาเป็นตัวกลางในการดึงคนมาทำอะไรดีๆ ให้ชุมชนร่วมกัน

“เราคิดกลไกขึ้นมาอันหนึ่งชื่อว่า AriCoin คือเหรียญของการแลกเปลี่ยนความโอบอ้อมอารี การที่เราจะได้เหรียญมานั้น คุณใช้เงินซื้อไม่ได้ แต่คุณต้องทำความดีอะไรบางอย่าง ซึ่งความดีในที่นี้อาจเป็นการแยกขยะ นำขยะพลาสติกไปส่งที่หน่วยของ AriAround หรือสอนเพื่อนบ้านเล่นกีตาร์ ให้ยืมของใช้บางอย่างในบ้าน พอได้เหรียญมาก็สามารถเอาไปใช้กับร้านค้าหรือพาร์ตเนอร์ของเรา แลกอะไรบางอย่างที่ธรรมดาแล้วทางร้านอาจจะไม่ได้ขาย แต่เป็นสิ่งที่เขาให้ได้โดยที่ไม่ได้เสีย เช่น ถ้ามีขวดน้ำก็ ใช้ AriCoin เติมน้ำฟรี หรือว่าแลกของที่เขาทดลองทำอยู่หลังบ้านไปฟรี” ใหม่ช่วยอธิบาย

ข้อดีอีกอย่างคือ ผู้ใช้ไม่รู้สึกว่าการทำความดีหรือแบ่งปันเป็นภาระหน้าที่ แต่เหมือนกำลังเล่นเกมสะสมคะแนนที่สนุกและท้าทาย เพื่อนำไปแลกสิทธิประโยชน์ต่างๆ

“ตอนแรกมีไอเดียคิดกันไปไกลว่าเป็นคูปองมั้ยหรือว่าเป็นจตุคามรามเทพ ทำเหรียญขึ้นมาจากพลาสติกรีไซเคิล แต่คุยไปคุยมาจนจบที่การเป็นแอปพลิเคชันที่มีเหรียญแบบดิจิทัล เราคุยกันนานมาก น่าจะราว 6 เดือน ถึงเริ่มพัฒนาแอป” อรุเล่าถึงการกำเนิดแอปพลิเคชัน

นอกจากอรุ นิ่ม ใหม่ ตุ้ยแล้ว ยังมีสมาชิกเริ่มต้นอีก 2 คน คือ พิม ภิรมย์ ที่ถนัดด้านการออกแบบประสบการณ์ UI/UX และ เจง-ธารีรัตน์ เลาหะพรสวรรค์ ชาวสาธุประดิษฐ์ที่คุ้นเคยกับย่านอารีย์อย่างดี ทั้ง 6 คน มารวมหัวช่วยกันคิด และผลักดันอย่างเต็มที่ เพื่อให้แอปพลิเคชัน AriAround ตัวต้นแบบ ออกมาทันให้ทุกคนได้รู้จักและทดลองใช้ ภายในงานเทศกาล Bangkok Design Week ปีถัดมา

และนี่เองคือจุดเริ่มต้นของการสร้างเครื่องมือแห่งการแบ่งปัน ที่ช่วยปลุกพลังความเป็นชุมชนให้แน่นแฟ้นกว่าเดิม

กระจายความอารีให้อะราวด์

ชื่อ AriAround ไม่เพียงสื่อถึงย่านอารีย์และพื้นที่รอบๆ อย่างประดิพัทธ์ สะพานควาย ไปจนถึงสนามเป้าเท่านั้น แต่ยังเชื่อมโยงกับคำว่า ‘อารีอารอบ’ ซึ่งหมายถึง ความโอบอ้อมอารี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่อีกด้วย โดยมีเหรียญ AriCoin เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนความใจดีต่อกัน

แม้ทีมผู้ก่อตั้งจะชัดเจนตั้งแต่แรกแล้วว่าพุ่งเป้าการทำงานไปที่เรื่อง Zero Waste Circular Economy และ Community Connection แต่พวกเขาอยากแนะนำตัวให้คนทั่วไปรู้จักในมุมการจัดการขยะเพียงมิติเดียวก่อน

ในเทศกาล Bangkok Design Week 2021 ซึ่งเลื่อนมาจัดในเดือนกรกฎาคม ปี 2564 เพราะพิษของโรคระบาด กลุ่ม AriAround จึงเปิดตัวแอปพลิเคชันตัวต้นแบบ พร้อมกับเปิดบูธ ชักชวนให้นำขยะรีไซเคิลมาแลก AriCoin หากเป็นขวดน้ำพลาสติกประเภท PET แลกได้ 5 AriCoin กระป๋องอะลูมิเนียมแลกได้ 10 AriCoin ส่วนใครประสงค์จะบริจาคหนังสือ แลกได้ถึง 20 AriCoin เมื่อสะสมเหรียญได้สัก 100 AriCoin ก็สามารถนำไปแลกผลิตภัณฑ์บางอย่างในย่านได้

“อยากให้รู้สึกว่าแค่อะไรเล็กๆ น้อยๆ อย่างแค่การแยกขวดก็นับว่าเป็นความใจดีกับชุมชนแล้ว ใจดีกับคนเก็บขยะ ใจดีกับสิ่งแวดล้อม ตอนแรกต้องยอมรับว่าระบบแอปพลิเคชันยังไม่สมบูรณ์ แต่เราอยากลองดูว่ามีคนสนใจมากน้อยแค่ไหน

“พวกเราก็ไปประสานกับร้านประมาณ 20 ร้าน พูดตรงๆ ก็คือใช้ Connection เพราะว่าคนยังไม่รู้จักเรา เลยต้องเป็นแนวให้เพื่อนๆ แนะนํากันไป หรือบางร้านยอมช่วย เพราะเขาเห็นความตั้งใจจริงของเรา” อรุเล่าถึงความยากในช่วงแรกๆ

สิทธิประโยชน์ของการแลกเหรียญ ทางทีม AriAround ไม่อยากให้เป็นการลดราคา เพราะอาจรบกวนทางร้านมากเกินไป จึงขอเป็นการมอบผลิตภัณฑ์เล็กๆ น้อยๆ หรือกิจกรรมที่ทำให้ได้รู้จักร้านแห่งนั้นมากขึ้น เช่น ร้าน Some Time Blue ทําขนมปังซาวร์โดวจ์ได้อร่อยแต่คนอาจไม่ทราบ ก็สามารถใช้ AriCoin แลกขนมปังมาลองชิมได้ ร้านกาแฟอีกแห่งตรง Somewhere ประดิพัทธ์ ถ้านำแก้วส่วนตัวไปเอง แล้วใช้ AriCoin จะได้เพิ่มไซส์เครื่องดื่ม ซึ่งเป็นการสนับสนุนการลดขยะอีกทาง หรือสนามกีฬากลางแจ้ง Shot Selections มีบริการให้ทดลองเล่นฟรี 1 ชั่วโมง ใครอยากลองเล่นพิกเกิลบอล สามารถใช้เหรียญแลกได้ หรือถ้าเป็นคนชอบต้นไม้ ที่ร้าน Lilou & Laliart ก็มีต้นไม้ให้แลกไปปลูก

“การที่ร้านมาร่วมกับเรา ก็จะช่วยให้คนที่สะสมเหรียญรู้จักเขามากขึ้น อย่างร้านกาแฟในย่านมีเยอะมากเลย คนก็ไม่รู้ว่าแต่ละร้านแตกต่างกันยังไง พอเป็นแบบนี้เขาก็รู้แล้วว่าร้านนี้ขนมปังซาวร์โดวจ์อร่อย ร้านนี้มีของดีแบบนี้ คนก็อยากไปทดลอง ไม่เช่นนั้นก็จะกระจุกตัวกันอยู่แต่ต้นซอยอารีย์ แต่ไม่รู้จักร้านที่ซ่อนๆ อยู่ในพื้นที่”

ผลลัพธ์จากการเปิดตัว AriAround นั้นถือว่าเกินความคาดหมายของทีมงาน เพราะในเทศกาลช่วงสั้นๆ มีผู้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันถึงราว 1,000 คน ทั้งที่พัฒนาเสร็จแค่เพียงเวอร์ชัน iOS ยังไม่มี Android

แต่ที่ทำให้ใจฟูยิ่งกว่า คือมีคนที่แบกขยะจากพระราม 2 จากบางนา ซึ่งอยู่ไกลจากย่านอารีย์ เพื่อนำมาส่ง เพราะเขาอยากช่วยสนับสนุน มีคนถ่ายคลิปไปช่วยโปรโมตจนคนตามมาอีกเพียบ รวมทั้งเริ่มมีสื่อให้ความสนใจมาขอสัมภาษณ์ และสำคัญที่สุดคือมีคนในย่านที่ได้คุยกันแล้วอยากมาช่วยทำด้วย คนหนึ่งเป็นนักวิจัยด้านสิ่งแวดล้อม อีกคนหนึ่งทำงานบริษัทสตาร์ทอัป กลายเป็นได้ทีมงานเพิ่มมาอีก

หลังจบเทศกาลแล้ว พวกเขาไม่อยากให้กิจกรรมแลกเหรียญจบลงไปด้วย อรุจึงอาสาเปิดบ้านตัวเองเป็นจุดรับขยะรีไซเคิล พร้อมกับประกาศในเพจชวนให้ทุกคนมาส่งต่อได้ จากนั้นจึงขยับมาเริ่มงานด้าน Community Connection โดยมองหากิจกรรมที่จะช่วยเชื่อมต่อคนย่านอารีย์ให้รู้จักกัน

พอดีกับไปเห็น บาส-ปรมินทร์ วัฒน์นครบัญชา เพื่อนในย่านคนหนึ่งที่สนใจเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ ทุกสัปดาห์บาสจะออกไปเดินสำรวจธรรมชาติในย่าน แล้วไปโพสต์ในกรุ๊ป อารีย์ Community ชวนคนอื่นๆ มาเดินด้วยกัน ทีม AriAround มองว่ากิจกรรมนี้ดีและอยากสนับสนุน จึงติดต่อกับบาสเพื่อพูดคุยขอช่วยประชาสัมพันธ์กิจกรรม และขอใช้เหรียญ AriCoin สำหรับการเข้าร่วมเดิน จนในที่สุดเกิดเป็นกิจกรรม Ari Ecowalk จัดต่อเนื่องเป็นประจำเกือบทุกเดือนมาตั้งแต่ปี 2565

“Ari Ecowalk คือกิจกรรมที่พาคนไปเชื่อมโยงกับธรรมชาติในเมือง ในย่านอารีย์ อย่างปกติเราเห็นพื้นที่สีเขียวก็อาจจะแค่ดูเฉยๆ แต่ Ari Ecowalk จะทำให้เราได้เห็น ฟัง ได้กลิ่น ได้ชิม ได้สัมผัสธรรมชาติมากขึ้น พอสัมผัสปุ๊บทำให้เรารู้สึกหวงแหนธรรมชาติในเมืองมากขึ้น ได้ทำความรู้จักกับสิ่งมีชีวิตที่อยู่รอบตัวเรา เมื่อก่อนเราอาจจะเห็นว่านกก็เป็นนก เป็นจุดหนึ่ง แต่พอเรารู้รายละเอียดมากขึ้น รู้จักสายพันธุ์ของมัน ก็เหมือนเรามีเพื่อนมากขึ้น เดินไปเดินมา ก็เกิดการรวมตัวกันของคนที่สนใจธรรมชาติ

“กิจกรรมนี้ไม่ได้เก็บเงิน แต่การมาร่วมฟรีๆ มันก็ไม่แฟร์กับบาส ดังนั้นพอมีการแลกเหรียญ AriCoin คนมาร่วมเขาก็ต้องไปทำอะไรบางอย่างก่อน บางคนไปแยกขยะ บางคนไม่อยากแยก ก็อาจช่วยเขียนบทความให้ ถือว่าแลกเปลี่ยนความถนัดความสนใจกัน”

จากการเดินสำรวจด้วยความสนใจของคนไม่กี่คน ไม่น่าเชื่อว่าต่อมาจะขยายไปสู่การรวมตัวกันเพื่อปกป้องธรรมชาติของชาวอารีย์ เมื่อมีช่วงหนึ่งที่พวกเขาได้ข่าวว่ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งตั้งอยู่ในย่าน มีแผนจะปรับปรุงพื้นที่หน้าบึงในกระทรวงเป็นลู่วิ่งออกกำลังกาย โดยใช้พลาสติกรีไซเคิลมาทำเป็นพื้นทางเดิน แต่ด้วยความที่พวกเขาเคยมาเดิน Ari Ecowalk สำรวจบึงแห่งนี้แล้ว และพบว่าสภาพแวดล้อมบริเวณนั้นเงียบสงบ มีความอุดมสมบูรณ์ของพืชพรรณและสิ่งมีชีวิตต่างๆ ทั้งบรรดาฝูงนกอพยพ แมลงปอ กุ้ง ปลา เต่า

จากภายนอกที่เสียงรถราดัง พอเดินเข้ามาแล้วทุกอย่างเงียบลงเหมือนเดินเข้าไปในป่า เพราะฉะนั้นหากมีการสร้างลู่วิ่งให้มนุษย์จำนวนมากเข้ามา น่าจะทำให้สัตว์เหล่านี้อยู่ไม่ได้ ความหลากหลายทางชีวภาพ ระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์ย่อมเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง รวมทั้งไม่ไกลจากบึงแห่งนี้ มีลู่วิ่งภายในกรมประชาสัมพันธ์อยู่แล้ว ซึ่งอยู่ห่างไปเพียงแค่ 500 เมตร

พวกเขาจึงตัดสินใจยื่นจดหมาย 2 ฉบับ ถึงกระทรวงฯ เพื่อขอให้ใช้พื้นที่ให้คนเห็นคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมกับแนบบทวิจัยที่ว่าการสัมผัสธรรมชาติจะช่วยลดความเครียด ทำให้จิตใจผ่อนคลาย เพิ่มพัฒนาการการเรียนรู้ให้cdjเด็กๆ และกระตุ้นให้พวกเขาเกิดความหวงแหนอนุรักษ์ธรรมชาติ

ตอนแรกดูเหมือนการเรียกร้องเรื่องนี้จะถูกปฏิเสธ เพราะไม่มีความคิดเห็นใดๆ กลับมา แต่ทุกคนไม่ยอมแพ้ พยายามพูดไปเรื่อยๆ เท่าที่มีโอกาส จนผ่านไปประมาณ 1 ปี น้องๆ ในกลุ่มนักอนุรักษ์ไปเล่าและชวน ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ อดีตประธานมูลนิธิโลกสีเขียวมาเดินสำรวจ ในที่สุดเกิดเป็นกระบวนการรับฟังความคิดเห็น เมื่อต้นปี 2566

“อธิบดีกรมควบคุมมลพิษในตอนนั้น ท่านเห็นด้วย พอเกิดการฟังความคิดเห็นก็เกิดการปรับแบบกลายเป็นพื้นที่ Rewilding สำหรับฟื้นคืนธรรมชาติในเมือง เราพบกันคนละครึ่ง คือยังมีการใช้บล็อกที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิลอยู่ แต่ทำเป็นพื้นที่ที่คนนั่งรถเข็นสามารถเข็นเข้าไปชมธรรมชาติได้เหมือนกัน แต่ไม่ใช่ลู่วิ่งแล้ว มันเกิดความหลากหลายของการใช้งานพื้นที่สีเขียวมากขึ้น อันนี้เป็นสิ่งที่ภูมิใจมากว่า การที่คนมารวมตัวกันทำอะไรกันสักอย่าง มันสร้างความเปลี่ยนแปลงได้จริงๆ”

แนวคิดเหรียญแห่งความใจดีที่ชาวอารีย์เริ่มต้นกันขึ้นมา ไม่เพียงมีส่วนทำให้มีการแยกขยะมากขึ้น แต่ยังค่อยๆ เชื่อมร้อยคนที่มีความสนใจคล้ายกันเข้ามา และเริ่มปรับเปลี่ยนให้ชุมชนแห่งนี้มีความน่าอยู่มากขึ้นทีละน้อย

เรื่องเล่าชาวอารีย์

งานอีกส่วนที่พวกเขาทำควบคู่กับการแลกเปลี่ยนความใจดี คือการเล่าเรื่องของชุมชนอารีย์ในมิติต่างๆ ทั้งกิจกรรมที่จัดขึ้นภายในย่าน บุคคลที่น่าสนใจ ร้านอาหาร ชุมชน ไปจนถึงประวัติศาสตร์ และสถาปัตยกรรม

ในเพจ แอปพลิเคชัน และเว็บไซต์ AriAround มีคอลัมน์ที่ชื่อว่า AriTimes ทำหน้าที่นี้โดยเฉพาะ ซึ่งเป็นเหมือนการค้นคว้า เรียบเรียง และจัดเก็บเรื่องราวของย่านอารีย์ไว้ก่อนเลือนหายไป โดยทีมงานที่รับผิดชอบดูแลหลักคือ ใหม่ ผู้เกิดและเติบโตในย่านอารีย์มาทั้งชีวิต

ใหม่อยากสืบค้นข้อมูลประวัติศาสตร์ย่านอยู่ก่อนแล้ว หลายปีก่อนออฟฟิศของเขามีโครงการจะทำเรื่องราวชุมชน จึงให้นักเขียนไปหาข้อมูลบ้านเกิดของตนเอง ตอนนั้นใหม่ไปที่หอสมุดแห่งชาติ แต่ต้องกลับบ้านมือเปล่า เพราะไม่มีหนังสือเกี่ยวกับย่านอารีย์ ถ้าจะเปิดค้นจากหนังสือพิมพ์เก่า เขาก็ไม่รู้จะต้องเริ่มหาจากตรงไหน

“ผมทิ้งเรื่องนี้ไปเป็นปีจนกระทั่งพี่นิ่มมาชวน บอกว่า AriAround จะมีขาหนึ่งที่เกี่ยวกับเรื่องประวัติศาสตร์ย่าน เหมือนกับเป็นความพยายามครั้งที่ 2 แต่แทนที่เราจะหาข้อมูลจากหนังสือ ผมก็หาจากพ่อแม่ตัวเองนี่แหละ คุยไปเรื่อยๆ ถามพ่อถามแม่ไปเรื่อยๆ” นักเขียนหนุ่มเล่าถึงการทำงาน

ใหม่เริ่มตั้งแต่ตั้งคำถามกับคำนิยาม ‘ย่านผู้ดีเก่า’ ที่หลายคนมักพูดถึงย่านอารีย์ ใครคือผู้ดีคนนั้น และเก่าที่ว่าคือเก่าแค่ไหน หลังจากลองสืบค้นดูก็พบว่า แท้จริงแล้ว ย่านอารีย์น่าจะเกิดขึ้นราว 80-90 ปีก่อน ถือว่าไม่เก่ามากเมื่อเทียบกับย่านเก่าอื่นๆ เช่นเจริญกรุงหรือพระนคร

แรกเริ่มเดิมทีเจ้าของพื้นที่ คือ นายห้างอีแอม กาติ๊บ (E.M.Katib) พ่อค้าชาวอินเดีย มาซื้อที่ดินริมถนนพหลโยธิน บริเวณซอยอารีย์ในปัจจุบัน และย้ายมาอยู่ราวปี พ.ศ. 2479 หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยชื่อซอย ‘อารีย์’ ก็ตั้งขึ้นมาจากชื่อไทยของนายห้างคือ ‘อารีย์ สุขวิรัชย์’ นั่นเอง

นายห้างอีแอม กาติ๊บก็มีที่เยอะ เกือบ 100 ไร่ หรือประมาณ 40,000 ตารางวา ต่อมาก็จัดสรรที่ดินขาย แล้วมันก็สอดรับกับช่วงที่เมืองกำลังขยายพอดี พวกผู้ดีกลุ่มหนึ่งย้ายจากย่านเมืองเก่าไปแถวสุขุมวิท นานา อีกกลุ่มหนึ่งเขาก็เขยิบมาอยู่แถวๆ นี้ มันนำมาสู่การเกิดขึ้นของย่านนี้ ที่เป็นบ้านพักอาศัยของคนที่มีอันจะกินเวลานั้น

นอกจากนายห้างแล้ว ยังมีเจ้าของที่ดินดั้งเดิมคนสำคัญอีก 5-6 คน เช่น คุณหญิงแหวน กาญจนาคม ครอบครองที่ดินตรงซอยพหลโยธิน 2 นายศักดิ์ ไทยวัฒน์ เจ้าของที่ดินแถวซอยสายลม กลุ่มทหารที่เป็นเจ้าของที่ดินแถวเสนาร่วม ถ้าเลยไปทางประดิพัทธ์ก็จะเป็นที่ดินของตระกูลเสรีเริงฤทธิ์ ด้วยความที่แต่ละคนต่างมีที่ดินมาก จึงพยายามจัดสรรให้เป็นแปลงย่อยๆ และตัดถนนให้เข้าถึงแต่ละแปลงให้มากที่สุด ทำให้พื้นที่ในย่านมีลักษณะเป็นบล็อกๆ สามารถเดินได้ทะลุถึงกันเกือบทั้งหมด

ในมุมมองของใหม่ สามารถแบ่งช่วงการพัฒนาสำคัญของย่านอารีย์ออกเป็น 4 ช่วงใหญ่ๆ ช่วงแรกคือการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของนายห้างและกลุ่มชนชั้นผู้ดี ช่วงที่ 2 คือช่วงทหาร G.I. ซึ่งย่านสะพานควายมีฐานทัพของทหารอเมริกันมาตั้ง ทำให้เกิดธุรกิจโรงแรม บาร์ ไนท์คลับ ขึ้นมากมายในละแวกนั้น ช่วงที่ 3 คือยุคของพนักงานออฟฟิศ การเข้ามาถึงของอาคารสำนักงานธนาคารกสิกรไทย อาคาร IBM และสำนักงานต่างๆ อีกช่วงหนึ่งคือเมื่อมีรถไฟฟ้า BTS วิ่งผ่าน ซึ่งทำให้คนจากภายนอกเข้ามาถึงซอยอารีย์ได้ง่ายขึ้น จนกลายเป็นย่านที่มีคาเฟ่ผุดขึ้นมากมายอย่างเช่นทุกวันนี้

เรื่องราวเหล่านี้ ใหม่แตกประเด็นและเขียนเป็นบทความสั้นๆ ออกมาเรื่อยๆ บางทีก็สอดแทรกเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่น่ารู้ อย่างชื่อซอยสายลม คุณปู่ของเขาเป็นคนตั้ง เพราะเห็นว่าที่นี่ลมพัดแรง คนอื่นเรียกตามจนกลายเป็นชื่อซอยมานับแต่นั้น

ไม่เพียงบอกเล่าเรื่องราว เขายังไปหาภาพเก่าที่คนส่วนมากไม่เคยเห็นมานำเสนอ อาทิ ภาพนายห้างอีแอม กาติ๊บและครอบครัว ภาพน้ำท่วมหน้าซอยสีฟ้า ภาพถ่ายทางอากาศในอดีตของชาวตะวันตกที่เห็นแถวนี้ยังเป็นทุ่งโล่งไกลสุดลูกหูลูกตา ซึ่งก็มีคนที่สนใจติดตามอ่านกันอยู่ไม่น้อย

อีกเรื่องหนึ่งที่เกิดจากความสนใจส่วนตัว คือ สถาปัตยกรรมในย่าน

ใหม่พยายามสืบค้น จนพบที่มาที่ไปของสิ่งปลูกสร้างหลายแห่งที่เขาคุ้นตามาตั้งแต่เด็ก อย่างเช่น สะพานลอยสามเหลี่ยมปากซอยอารีย์ เป็นฝีมือการออกแบบของ ศ.ดร.รชฎ กาญจนะวณิชย์ วิศวกรที่มีชื่อเสียงมากในยุคเมื่อ 50 ปีที่แล้ว โดยใช้เทคนิคการสร้างที่เรียกว่า ‘Space Truss’ เหมือนกับสะพานทางรถไฟข้ามแม่น้ำสายใหญ่ๆ หรือการสร้างธนาคารทีทีบี สาขาสนามเป้า ที่ออกแบบอาคารให้เหมือนกับเป็นป้อมปราการ เพราะในอดีตแถวนั้นมีแต่ทุ่งนา ธนาคารจึงต้องแสดงออกถึงความแข็งแกร่ง ความมั่นคงของสถาบันการเงิน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ลูกค้า

ถามว่าทำไมทีม AriAround จึงอยากหยิบเรื่องราวประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรมของอารีย์ขึ้นมาเล่า คำตอบคือ พวกเขาตั้งใจให้ผู้คนมองเห็นคุณค่าของสิ่งที่เป็นรากเหง้า เป็นอัตลักษณ์ของย่าน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการช่วยกันอนุรักษ์ และต่อยอดโดยเชื่อมโยงกับความเป็นมาในอดีตของพื้นที่

“ที่คิดก็คือ สมมติว่ามีคนจะทำคาเฟ่แห่งใหม่ เขาสามารถใช้ข้อมูลที่เราทำไว้ ไปจ้างสถาปนิกออกแบบคาเฟ่ที่เชื่อมโยงกับพื้นที่ งานออกแบบก็จะแฝงความเป็นเอกลักษณ์ของย่านเข้าไปด้วย หรืออย่างการเล่าเรื่องสถาปัตยกรรม และแลนด์มาร์กที่ถูกลืมในย่าน มันมาจากที่เราพยายามจะสร้างอีกเส้นทางหนึ่งของการท่องเที่ยว แทนที่จะมานั่งตามร้านกาแฟอย่างเดียว ถ้าเรามี Cultural Route ไปเดินดูตึกในย่าน สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ ก็น่าจะทำให้คนรู้จักย่านมากกว่าเดิม” ใหม่เผยความตั้งใจ

ในยุคที่ย่านอารีย์กำลังฮอตฮิต ใครๆ ก็อยากเข้ามาทำธุรกิจ จนเกิดความเสี่ยงที่อาจนำไปสู่การพัฒนาที่ไร้ทิศทางในอนาคต นี่จึงเป็นอีกวิธีหนึ่งที่คนรุ่นใหม่ในชุมชนใช้ต่อสู้ เพื่อไม่ให้อัตลักษณ์ดั้งเดิมของย่านถูกกลืนหายไป

สังคมกรุงเทพฯ ตรงนี้ทุกคนต่างคนต่างอยู่ เราก็อยู่แต่ในบ้านและออกไปที่อื่น แต่พอมีกิจกรรมขึ้นมา ทำให้เราปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น อารีย์สำหรับเราจึงเป็นมากกว่าแค่ย่าน แต่เป็นเหมือนเพื่อน เรามีเพื่อนอยู่แถวนี้

AriAround : ผู้คิดค้นเครื่องมือแลกเปลี่ยนความใจดี สู่การสร้างชุมชนอารีย์ที่น่าอยู่และเอื้อเฟื้อกัน

สู่บทบาทตัวแทนของชุมชน

ด้วยความที่เป็นงานอาสา และสมาชิก AriAround แต่ละคนต่างมีภารกิจรัดตัว การขับเคลื่อนจึงไม่รวดเร็วฉับไวชนิดเห็นความเปลี่ยนแปลงยิ่งใหญ่ในชั่วข้ามคืน แต่หลายสิ่งหลายอย่างก็พัฒนาขึ้นมากจากวันแรก

ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มจุดรับขยะรีไซเคิล จากที่เคยมีบูธเดียวในช่วงเทศกาล Bangkok Design Week ปีแรก และย้ายมาใช้บ้านของอรุเป็นศูนย์กลางการรวบรวม เทศกาลปีต่อมาพวกเขาจึงไปคุยกับร้านค้าต่างๆ และ Community Space ภายในย่าน เพื่อขอตั้งบูธรับขยะรีไซเคิลเพิ่มอีก 4 จุด โดยให้พนักงานเป็นคนกดให้เหรียญได้เลย ข้อดีคือคนไปส่งขยะสะดวกขึ้นเพราะมีหลายจุด ขณะที่ร้านค้าก็มีคนแวะเวียนมามากขึ้น

แต่สิ่งที่ถือเป็นก้าวสำคัญ คือเริ่มมีคนมองว่ากลุ่ม AriAround เป็นเหมือนตัวแทนของชาวอารีย์ ที่สามารถเชื่อมโยงคนในชุมชน และเป็นปากเป็นเสียงแทนผู้อยู่อาศัยได้ หลายหน่วยงานจึงมาขอความช่วยเหลือ ชวนไปให้ความคิดเห็น หรือชวนไปร่วมจัดกิจกรรมอยู่เป็นประจำ

“มันเริ่มจากเราเชื่อมร้านค้า ชุมชน ศิลปินต่างๆ มาทำกิจกรรมในงาน Bangkok Design Week ก่อน คนจึงเห็นเราเป็นเหมือนตัวแทนของย่าน มาชวนทำกิจกรรมต่างๆ เช่น เขตพญาไทต้องทำถนนคนเดิน AriAround มาช่วยหน่อย กรมประชาสัมพันธ์อยากเพิ่มมิติตลาดของคนอารีย์ในงานลอยกระทงประจำปี ก็ชวนเราไปทำ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติอยากให้อารีย์เป็นย่านนวัตกรรม ก็เชิญเราเข้าไปเป็นตัวแทนของชุมชน แต่พวกเราก็เป็นแค่คนในชุมชนคนหนึ่ง ไม่สามารถตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง จึงต้องมาเอาเสียงจากคนในย่านเข้าไปสมทบว่าสิ่งที่หน่วยงานต่างๆ อยากจะทำ คิดว่ามันควรไปในทิศทางไหน

อย่างในช่วงเทศกาล มีนักออกแบบ 2 ทีมที่ทำเรื่องผู้สูงอายุเหมือนกัน เราก็ไปชวนเขามาทำงานด้วยกัน คุยกันแล้วยังหาสถานที่ไม่ได้ เราก็ไปช่วยดูพื้นที่ให้ จริงๆ แล้ว AriAround มีบทบาทคล้ายๆ กับ Community Advocate (ผู้สนับสนุนชุมชน) เป็นคนทำงานเชื่อมให้เกิดสิ่งต่างๆ ระหว่างคนภายในและคนภายนอกพื้นที่ อรุอธิบาย

อีกตัวอย่างหนึ่งที่แสดงถึงบทบาทนี้ คือเมื่อปี 2565 กรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งตั้งอยู่ภายในย่าน อยากเปิดพื้นที่ให้ชาวอารีย์ได้มีส่วนร่วมในงานลอยกระทงประจำปี จึงมาชวนกลุ่ม AriAround ไปร่วมจัดตลาดด้วย จากเดิมที่มีแต่ร้านค้า OTOP จากทั่วประเทศ อรุจึงไปประกาศหาร้านค้าในย่านที่สนใจ เพื่อเข้าไปเพิ่มความหลากหลายและแปลกใหม่ให้แก่ตลาด จนกลายเป็นตลาดชุมชนสร้างสรรค์ AriAround Community Market โซนรวมสินค้าและของกินที่คนอารีย์ชอบ อาทิ โกโก้ บราวนี อาหารเพื่อสุขภาพ ปรากฏว่าเสียงตอบรับค่อนข้างดี คนที่มาเดินบอกว่ามีกลิ่นอายของย่านอารีย์อยู่ด้วย แทนที่จะมีแต่ร้านขายของดีประจำจังหวัด หรือผลิตภัณฑ์ชุมชนอย่างเดียว

นอกจากนี้พวกเขายังเป็นตัวแทนไปคุยกับหน่วยงานต่างๆ ในย่าน เพื่อขอใช้พื้นที่สาธารณะให้เกิดประโยชน์กับทุกคนในชุมชนมากที่สุด อย่างเช่น การขอใช้พื้นที่สวนสาธารณะกรมประชาสัมพันธ์มาจัดกิจกรรมที่ไม่ใช่แค่การออกกำลังกาย เพราะปกติแล้วคนจะวิ่งหรือเดินบนลู่วิ่งรอบสวนเท่านั้น แต่พื้นที่ตรงกลางว่างอยู่ สามารถเปิดให้คนเข้าไปนั่งพูดคุยกัน เข้าไปเชื่อมโยงกับธรรมชาติ หรือจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ได้

ในเทศกาล Bangkok Design Week 2023 เป็นปีแรกที่พวกเขาเปลี่ยนสวนสาธาณะแห่งนี้ให้กลายเป็น Creative Park มีทั้งจัดแสดงงานศิลปะ ชวนเด็กๆ มาวาดรูประบายสีเล่นกันในสวน ทำเวิร์กชอปสิ่งประดิษฐ์ เปิดพื้นที่พูดคุยแลกเปลี่ยนกันเรื่องหนังสือและธรรมชาติ ที่เป็นไฮไลต์คือการแสดงหุ่นเชิด ‘เจ้าขุนทอง’ รายการเด็กที่ผูกพันกับคนไทยมากว่า 30 ปี ซึ่งกำเนิดในย่านอารีย์-ประดิพัทธ์ เช่นกัน ทำให้หลายคนที่ไม่ใช่คนออกกำลังกาย ได้มีโอกาสมาใช้พื้นที่สีเขียวตรงนี้เป็นครั้งแรก

และเมื่อปี 2567 พวกเขาก็ยังคงใช้พื้นที่สวนธารณะแห่งเดิมจัดงาน โดยมีทั้งกิจกรรม ‘เมืองเล่นได้’ ที่ร่วมกับสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน และมูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา ชวนเด็กๆ และพ่อแม่ มาสนุกกับเครื่องเล่นต่างๆ เปิดจินตนาการให้เล่นได้โดยอิสระ มีกิจกรรมพูดคุยแนะนำเทคโนโลยีที่ช่วยเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ผู้สูงอายุ และปิดท้ายด้วยการชวนคนในชุมชนหยิบตะกร้าแล้วออกมาปิกนิกกัน พร้อมชมการแสดง ที่น่ารักคือมีคนนำอาหารมาแบ่งปันเพื่อนบ้านคนอื่นๆ ด้วย

“สวนสาธารณะกรมประชาสัมพันธ์ เป็นพื้นที่ที่คนเข้าไปใช้งานกันเป็นประจำอยู่แล้ว เป็นพื้นที่ของทุกคน เราก็เลยอยากชวนให้เห็นว่า ถ้าคนมานั่งรวมกัน มันอาจเกิดอะไรดีๆ กิจกรรมเหล่านี้จะทำให้เกิดการพูดคุยกัน และทำความรู้จักกันมากขึ้น” อรุอธิบายความตั้งใจ ที่ตรงตามภารกิจ Community Connection

ตั้งแต่ AriAround ถือกำเนิดขึ้นเมื่อปี 2564 เป็นต้นมา พวกเขาได้เข้าไปมีส่วนร่วมให้เกิดและสนับสนุนกิจกรรมมากมายในอารีย์ นอกจากที่กล่าวถึงไปแล้ว ยังมีงานย่อยๆ ที่เกิดอย่างต่อเนื่องตลอดทาง เช่น ตลาดนัดล้นสนามที่มีการชวนเพื่อนๆ นำของมือสองในบ้านมาขาย กิจกรรมเที่ยวบ้านเพื่อน พาไปรู้จักอารีย์ให้ลึกขึ้น จัดตลาดชุมชน จัดเวิร์กชอปต่างๆ ทั้งหมดนี้ช่วยทำให้ชุมชนคึกคักอยู่ตลอด รวมถึงยังไปช่วยชุมชนแฟลตเฉลิมลาภที่อยู่ไม่ไกลกัน ในการจัดการขยะอาหารอีกด้วย

แม้เป็นการทำงานที่เหนื่อย ต้องทุ่มเทเวลา พลังกาย พลังใจ บางครั้งต้องเจออุปสรรคถาโถมเข้ามาอย่างหนักหน่วง แต่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นก็ทำให้คนหนุ่มสาวกลุ่มนี้รู้สึกว่าได้รับความสุขกลับมาไม่แพ้กัน

จากวันที่เปิดตัวมาจนถึงต้นปี 2567 มีคนส่งต่อขวดน้ำพลาสติก PET มาแล้วกว่า 7,000 ชิ้น กระป๋องอีกกว่า 1,200 ชิ้น หนังสือกว่า 700 เล่ม โดยขยะประเภทพลาสติกจะมี CirPlas ซึ่งเป็นธุรกิจเพื่อสังคมมารับไปจัดการต่อ กระป๋องเคยฝากทีม Greenery ไปรีไซเคิล ส่วนหนังสือ อรุตั้งใจรวบรวมไว้เพื่อทำเป็นห้องสมุดในวันข้างหน้า

กลไกแลกขยะกับเหรียญ ทำให้ขยะถูกแยกไปกำจัดอย่างถูกทาง แถมส่งผลให้หลายคนเปลี่ยนพฤติกรรมด้วย อย่างบางคนเคยบริโภคน้ำดื่มขวดพลาสติก พอสะสมขวดเพื่อนำมาแลกเหรียญจึงเห็นว่าตนเองสร้างขยะเยอะมาก ในที่สุดเขาตัดสินใจไปติดเครื่องกรองน้ำแทน หรือมีคุณป้าคนหนึ่ง พยายามแยกขยะ แต่ทำไปทำมาท้อใจ จนได้มาคุยกันจึงทำให้คุณป้ามีกำลังใจแยกขยะต่อ

“เรารู้สึกว่า การที่พวกเรามาทำเรื่องพวกนี้ มันช่วยเรื่องสุขภาพใจด้วย พอเราได้แชร์ความสนใจ ความชอบ แล้วได้คุยกับคนที่สนใจร่วมกัน เราจะรู้สึกหายเหนื่อย มีพลังบวกขึ้น สมมุติเราเจอคนที่ทำงานเรื่องขยะด้วยกัน โห ชีวิตแฮปปี้มาก เพราะว่าคนเราต้องการความเป็นเพื่อน เป็นพวกพ้องหรือแลกเปลี่ยนไอเดียความคิดกัน ภารกิจก็คือเราสร้างพื้นที่ให้คนออกมาแสดงความเป็นตัวเอง” อรุเล่าความประทับใจ

การทำ AriAround ทำให้พวกเขาได้พบเจอกับเพื่อนๆ มากมาย อย่างใหม่ที่แต่ก่อนมีแต่พี่น้องเพื่อนโรงเรียน เพื่อนที่ทำงาน พอมาร่วมกลุ่มก็ทำให้เขามีเพื่อนบ้านจริงๆ เป็นครั้งแรกในวัยเกือบ 30 ปี

“สังคมกรุงเทพฯ ตรงนี้ทุกคนต่างคนต่างอยู่ เราก็อยู่แต่ในบ้านและออกไปที่อื่น พอมีกิจกรรมขึ้นมา มันทำให้เราปฏิสัมพันธ์กับคนที่นี่มากขึ้น อารีสำหรับเราจึงเป็นมากกว่าแค่ย่าน แต่มันเหมือนกับเป็นเพื่อน เรามีเพื่อนอยู่แถวนี้” นักเขียนหนุ่มกล่าว

ที่ผ่านมา ภารกิจของการสร้างชุมชนชาวอารีย์ถือว่าอยู่ในช่วงเริ่มต้นเท่านั้น พวกเขายังมีอะไรอีกมากมายที่อยากทำต่อ ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงแอปพลิเคชันให้ดียิ่งขึ้น การขยายกลไกแลกเหรียญไปสู่งานอาสาสมัครต่างๆ หรือการทำสวนชุมชนให้คนมาสัมผัสธรรมชาติ ทั้งหมดนี้เหมือนกับเป็นโครงการที่ไม่มีวันจบ ทำต่อไปได้เรื่อยๆ จนกว่าจะเห็นผลสำเร็จที่น่าพอใจ

“ถ้าเราไม่ได้ทำอะไร เราก็คงได้แต่เป็นคนที่ชี้ แล้วก็บอกว่าแย่มาก ทำไมไม่จัดการแบบนั้นแบบนี้ แล้วมันจะเก็บอยู่ข้างในกลายเป็นความตึงเครียด แต่พอเราทำอะไรออกไปบางอย่าง เราถึงรู้ว่ามีข้อจำกัด มีกระบวนการ มีระยะเวลา ทำให้เราเข้าใจโลกมากขึ้น ความทุกข์จากการชี้มือแล้ววิพากษ์วิจารณ์ก็ลดลง ความตึงเครียดภายในได้ระบายออกมาเป็นการลงมือทำ และยิ่งพอเห็นมันออกดอกออกผลก็ทำให้เราใจฟูขึ้น เรารักพื้นที่มากกว่าเดิม ทำให้เราเห็นว่าทุกคนอยากมีส่วนร่วม ทุกคนใจดี แล้วเราอยากเห็นการที่คนออกมาแลกเปลี่ยนความใจดีกัน ขยายออกไปในพื้นที่อื่นๆ ไปทั่วประเทศไทยหรือทั่วโลกเลย” อรุสรุป

เรื่องราวของคนหนุ่มสาวกลุ่มนี้คือ อีกตัวอย่างหนึ่งที่ช่วยย้ำว่า ความเปลี่ยนแปลงที่ดีในชุมชนจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อทุกคนลุกขึ้นมาช่วยกันลงมือทำ

โครงการปฏิบัติการชุมชนเปลี่ยนโลก

ปฏิบัติการชุมชนเปลี่ยนโลก : โครงการของเพจยอดมนุษย์..คนธรรมดา ซึ่งนำเสนอเรื่องราวของ 15 ชุมชนหรือเครือข่ายที่รวมพลังกันทำงานเพื่อความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

AriAround คือเครือข่ายชุมชนต้นแบบประเด็นทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความทั่วถึง ปลอดภัย พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและยั่งยืน (SDGs ข้อที่ 11), ประเด็นสร้างหลักประกันให้มีรูปแบบการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน (SDGs ข้อที่ 12), ประเด็นดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบ (SDGs ข้อที่ 13) และประเด็นเสริมสร้างความแข็งแกร่งของกลไกการดำเนินงาน และฟื้นฟูหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs ข้อที่ 17)

<< แชร์บทความนี้

RELATED POSTS
LATEST

Keep In Touch

COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO.  ALL RIGHTS RESERVED.