ถ้าคุณอายุเกิน 30 ปี เชื่อว่าคงจดจำชายที่ชื่อ ดร.อภิวัฒน์ วัฒนางกูร หรือ ดร.วรฑา วัฒนะชยังกูร ได้แน่นอน
เพราะเขาเป็นพิธีกรรายการ จันทร์กะพริบ และคนนำเรื่องของสารคดีชีวิตชั้นเยี่ยมอย่าง คนค้นฅน บุคลิกที่สุภาพ อ่อนน้อม ช่างคิด ช่วยดึงความโดดเด่นของผู้ร่วมรายการมาสู่ผู้ชมได้มากที่สุด
เขาคือคนที่เพื่อนร่วมงานรัก หลายคนบอกเขาคือคนทำงานได้สมบูรณ์แบบ เป็น Perfectionist ขนานแท้ ไม่แปลกเลยว่า เหตุใดเขาจึงสามารถเนรมิตงานใหญ่ๆ อย่างเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13 ณ กรุงเทพมหานคร หรือซีเกมส์ ครั้งที่ 20 ที่บรูไน ได้งดงามและอลังการ
แม้สุดท้ายชีวิตของเขาจะไม่ได้ยืนยาวนัก หากแต่เรื่องราวตลอด 49 ปี ทั้งความสำเร็จ และความล้มเหลว ได้กลายมาเป็นบทเรียนให้ผู้คนอีกมากมายย้อนมองตัวเองอีกครั้ง
ยอดมนุษย์..คนธรรมดา อยากชักชวนทุกคนมาค้นตัวตนของชายมากความสามารถผู้นี้ว่าอะไรคือสิ่งที่เขาตกผลึกในแต่ละช่วง จนได้พบกับความหมายที่แท้จริงของชีวิต
หากพูดถึงรายการจันทร์กะพริบ คนรุ่นใหม่หลายคนอาจเกิดไม่ทัน หรือนึกไม่ออกว่าเป็นอย่างไร
จันทร์กะพริบ เป็นรายการทอล์กโชว์ยุคแรกๆ ของเมืองไทย ออกอากาศทุกวันจันทร์ 4 ทุ่มทางช่อง 7 สี มักเชิญแขกรับเชิญที่น่าสนใจ มาพูดคุยรื้อฟื้นความทรงจำเก่าๆ และเน้นแต่แง่มุมดีๆ ของชีวิต
อย่างครั้งหนึ่งเคยเชิญพุ่มพวง ดวงจันทร์ มาให้สัมภาษณ์ถึงความฝันในวัยเด็กที่อยากใส่รองเท้าสีแดงจนถึงวันที่เธอก้าวขึ้นเป็นราชินีลูกทุ่ง และตบท้ายด้วยโชว์การแสดงแบบ Excusive
หัวใจหลักของรายการจันทร์กะพริบคือพิธีกรคู่ อย่าง ดร.อภิวัฒน์ และนักร้องสาวชื่อดังยุคนั้น เจ้าของเพลง ฝัน…ฝันหวาน ผุสชา โทณะวณิก
เดิมที อภิวัฒน์ ไม่ใช่คนในแวดวงบันเทิง เขาคือนักวิชาการหนุ่มจากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ผู้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งคณบดีด้วยวัยเพียง 28 ปี ด้วยความสามารถ กับบุคลิกที่เต็มไปด้วยเสน่ห์ ทำให้นิตยสารหลายเล่มติดต่อขอสัมภาษณ์ รวมทั้งถูกทาบทามให้เป็นพรีเซ็นเตอร์โฆษณา
ความโดดเด่นนี้ไปเข้าตาทีมงาน JSL ซึ่งเวลานั้นต้องการพิธีกรที่จะช่วยสร้างความน่าเชื่อกับตัวรายการอยู่พอดี
หลายคนอาจสงสัยว่า เหตุใดเขาถึงตัดสินใจเบนเข็มไปยังงานสายนี้
อภิวัฒน์บอกว่า เขาต้องการท้าทายตัวเอง สิ่งไหนไม่เคยทำ ถ้ามีโอกาสก็อยากทดลอง
“ผมรู้สึกว่า พิธีกรไม่ต่างจากการเป็นครู เพราะมันใช้ทักษะการพูด บวกกับการสร้างศรัทธา อย่างตอนที่เราสอน ศรัทธามาได้ 2 ทาง คือศรัทธาในการเป็นครูของเรา กับศรัทธาในเนื้อหาที่เราสอน
“งานพิธีกรก็เช่นเดียวกัน เราก็ทำให้ผู้ชมซึ่งดูเราอยู่ในจอทีวี รู้สึกว่าสิ่งที่เราพูด สิ่งที่เรากำลังสัมภาษณ์ มันน่าฟัง น่าศรัทธาที่จะติดตาม”
ทว่าการทดลองครั้งนั้นไม่ง่ายเลย หลายครั้งเล่นเอาด็อกเตอร์หนุ่มเกือบถอดใจไปเหมือนกัน
ด้วยความเป็นมือใหม่ ทุกอย่างจึงเต็มไปด้วยความตึงเครียด แม้จำบทได้ แต่การถ่ายทอดกลับไม่เป็นธรรมชาติเลย จนต้องเทคใหม่หลายรอบ
ครั้งหนึ่งทีมงานเชิญดาราอาวุโส ส. อาสนจินดา มาร่วมรายการ วันนั้นอภิวัฒน์พูดตะกุกตะกักจน ป๋า ส. คงรำคาญเลยพูดว่า “คิดว่ามันจะพูดผิด มันก็พูดผิดนะ” เสมือนเป็นการสอนว่า อย่ากลัว ให้เดินหน้าต่อไป
สิ่งเหล่านี้เองกลายเป็นบทเรียนให้เขากลับมาทบทวนตัวเองใหม่ว่า ควรทำอย่างไรให้ก้าวพ้นจากกรอบที่ตัวเองสร้างไว้ได้
อุปสรรคแรกคือ ความสัมพันธ์กับพิธีกรคู่ ซึ่งแทบไม่มีเวลาสนทนาหรือพูดคุยอย่างจริงจัง เพราะถึงช่วงเบรกต่างคนก็แยกย้ายไปศึกษาบทของตัวเอง พอถ่ายจบก็กลับบ้าน แล้วไปเจอกันอีกทีวันถ่ายทำ
วันหนึ่งหลังเลิกรายการ เขาเลยชวนพิธีกรสาวไปกินข้าวต้มรอบดึก ทำให้มีโอกาสได้พูดคุยเรื่องชีวิตประจำวัน เรื่องส่วนตัว เรื่องครอบครัวมากขึ้น จนกลายเป็นกิจวัตรทุกสัปดาห์ ทำให้ทั้งคู่เริ่มสนิทสนม และทำงานเข้าขาขึ้นเรื่อยๆ
ไม่เพียงแค่นั้น ก่อนเทปออกอากาศ เขา และโปรดิวเซอร์จะต้องมานั่งดูจอมอนิเตอร์คอยสังเกตว่า แต่ละเทปการทำหน้าที่ของเขาเป็นอย่างไร
หลายครั้งที่อภิวัฒน์พบว่า บทบาทของตัวเองหายไป เพราะเพลิดเพลินกับการฟังมากเกิน จนลืมทำหน้าที่หลักของพิธีกร อย่างการเชื่อมโยงแขกรับเชิญเข้ากับผู้ชมทางบ้าน หรือบางครั้งคำถามก็ไม่แรงพอให้แขกรับเชิญหันหน้ามาหา
“ช่วงนั้นผมต้องเร่งตัวเองขึ้น เช่นรับงานพิเศษเป็นพิธีกรข้างนอกในงานต่างๆ เป็นพิธีกรเดี่ยวบ้าง คู่กับคนอื่นบ้าง ประสบความสำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้าง แต่ก็เป็นเวทีที่สอนผมอีกเวที เพราะแต่ละงานที่เป็นอีเว้นต์มีรูปแบบแตกต่างกันไป ไม่มีอะไรซ้ำ ทำให้ได้ประสบการณ์มากมายที่นำเข้ามาใช้ในรายการได้”
การไม่ยอมแพ้ เรียนรู้และค่อยๆ ปรับตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เปิดใจรับฟังความเห็นจากคนรอบข้าง บวกกับคาแรกเตอร์ที่เป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่เคยก้าวล้ำ หรือจาบจ้าง หยาบคาย ต่อแขกรับเชิญเลย ทำให้บทบาทการเป็นพิธีกรของรายการจันทร์กะพริบเด่นชัดมากขึ้น
หากแต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่า คือการเรียนรู้และค้นหาว่า ความหมายที่แท้จริงของงานคืออะไร
งานพิธีกรทำให้เขาใกล้ชิดกับความเป็นมนุษย์ และได้สัมผัสกับจิตใจที่แท้จริงของผู้คนมากขึ้น
“ทุกชีวิตที่ผมได้สนทนา ทำให้ได้เรียนรู้ถึงวิธีการมองชีวิตว่ามีทั้งมุมมืดและมุมสว่าง เรียนรู้ชีวิตของคนแต่ละคนว่าเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นจิตวิญญาณของผม ผมชอบทำงานแบบนี้
“การเป็นพิธีกรจึงเป็นการตอบสนองความต้องการของชีวิต เหมือนได้เรียนรู้ ได้ศึกษา ได้อุทาหรณ์ ได้ข้อคิดอะไรมากมายจากชีวิตเหล่านั้น ซึ่งผมเองก็อยากแบ่งปันแก่ผู้ชม อยากดึงเรื่องของเขาออกมาให้สวยงามที่สุด” อภิวัฒน์ เล่าไว้หนังสือ มองชีวิตผ่านมะเร็ง
กว่า 11 ปีของรายการจันทร์กะพริบ มีเรื่องราวมากมายกว่า 500 เรื่องถูกถ่ายทอดออกมา แต่เรื่องหนึ่งที่ผู้ชมอาจไม่เคยเห็นจากหน้าจอ คือเบื้องหลังความสำเร็จของ อภิวัฒน์ วัฒนางกูร ซึ่งไม่ได้มาง่ายๆ หากต้องแลกด้วยความทุ่มเท และความกล้าที่จะลุกขึ้นมาเผชิญหน้ากับตัวเอง
เพราะนี่คือวิถีทางที่พิธีกรอย่างเขา ช่วยให้แขกรับเชิญ หรือ ‘พระจันทร์’ ส่องแสงที่งดงามไปยังผู้ชมได้อย่างสมบูรณ์
“ผมเป็นคนมากเกินไปเสมอ..ทำอะไรก็จะเกินไว้ก่อน”
หากเราเรียกคนที่นิยมความสมบูรณ์แบบ 100% ว่า Perfectionist บางทีอภิวัฒน์ก็อาจจัดอยู่ในคนกลุ่มนี้
เขาเคยเล่าว่า ช่วงที่เสนองานกับลูกค้าเคยทำแผนไปเสนอมากถึง 3 แผน
“ผมไม่ชอบใช้วิธีดึงนั่นดึงนี่ออก เพราะงานแต่ละงานที่ผมคิดก็เหมือนการตัดเสื้อ ถ้าลูกค้าไม่พอใจเรื่องราคา แล้วผมต้องการลดราคาค่าเสื้อ ด้วยการตัดแขนออกไปข้างหนึ่งเพื่อประหยัดผ้า เสื้อก็จะไม่สมบูรณ์ แต่เพื่อให้เหมาะสมกับงบประมาณที่ย่อมเยาขึ้น ผมจึงคิดอีกแบบหนึ่งเผื่อสำรองไว้ ไม่ถึงกับเผื่อเลือก แต่เผื่อให้เหมาะเจาะกับสิ่งที่ลูกค้าต้องการมากที่สุด”
อภิวัฒน์มักบอกเสมอว่าการคิดมากย่อมดีกว่าการคิดน้อย ที่สำคัญการคิดมากนี้ยังรวมถึงการคาดคะเนความรู้สึกของผู้อื่น การคิดเผื่อไปถึงสถานการณ์ล่วงหน้า ตลอดจนเหตุการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิด อย่างสมาชิกในทีมเกิดป่วยกะทันหัน แล้วจะแก้ปัญหากันอย่างไร
“หลังรับงานจากลูกค้ามา ผมจะเลือกทีมทำงาน เริ่มด้วยการถ่ายทอดสิ่งที่ลูกค้าต้องการหรือไม่ก็วางทิศทางให้กับทีมว่าควรจะทำเป็นรูปแบบไหน ประเด็นคือผมท่องหนังสือสอบไม่เป็น หมายความว่าลูกน้องไปคิดมาเสร็จแล้วให้ผมนั่งดูเพื่อเตรียมพรีเซ็นต์ ผมทำอย่างนั้นไม่เป็น และทำได้ไม่ดีด้วย ตัวเองจะต้องลงไปคลุกอยู่กับทีมตั้งแต่แรก ฉะนั้นเวลาที่ผมนำเสนองานจึงไม่ใช่เรื่องยากเลย แค่เล่าถึงสิ่งที่ผมคิดกับลูกน้องว่าเป็นมายังไง
“งานที่ผมทำส่วนใหญ่เป็นงานอีเวนต์ซึ่งเป็นงานที่เร่ง มีปัญหาและความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา มากน้อยต่างกัน ถ้าเราไม่อยู่กับมันตั้งแต่แรกจะไม่มีวันแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้เลย โดยปัญหาส่วนใหญ่มักเป็นเรื่องเครื่องมือ เช่นระหว่างฉายวิดีโอแนะนำผู้บริหารสูงสุดของบริษัทลูกค้า แล้วเกิดไม่มีเสียงออกมา ผมก็จะเดินขึ้นบนเวที แล้วให้หยุดวิดีโอ บอกกับคนดูว่าวิดีโอชุดนี้เราตั้งใจทำมาดีมาก เพราะฉะนั้นผมขอฉายใหม่ ซึ่งเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับลีลาการเป็นพิธีกรของเราส่วนหนึ่ง แต่ขณะเดียวกันก็เป็นสำนึกรับผิดชอบของเราซึ่งเป็นผู้ดูแลงานด้วย”
แต่แม้งานที่ทำจะหนักหน่วงและเต็มไปด้วยความเครียด แต่เขาก็ไม่เคยรู้สึกเป็นทุกข์ ยังคงมีความสุขและสนุกที่ได้เห็นงานที่ตัวเองสร้างขึ้นสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
ไม่ว่าจะเป็นพิธีเปิด-ปิดเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 13 ซึ่งกรุงเทพมหานครเป็นเจ้าภาพ ซึ่งเขาร่วมทำ ตั้งแต่คิด เสนองาน และยังเป็นผู้บรรยายอีกด้วย หรืองานแสดงขบวนเรือพระราชพิธีพยุหยาตราชลมารค ระหว่างการประชุมโอเปก เมื่อปี 2546 ซึ่งได้รับเสียงชื่นชมจากนานาชาติอย่างยิ่ง
และที่สำคัญสุดคือ พิธีเปิด-ปิดซีเกมส์ ครั้งที่ 20 ที่บรูไน ซึ่งเขาต้องเดินทางไปเสนองานถึง 8 ครั้ง บางครั้งต้องรอคอยตั้งแต่เช้ายันค่ำ เพราะนัดหมายถูกเลื่อนไปกะทันหัน จนสุดท้ายขายงานผ่านแล้ว ทว่าช่วงลงนามเซ็นสัญญากลับมีบริษัทหนึ่งมาแย่งงานหน้าตาเฉย ซึ่งเขาก็ใช้ความจริงใจเข้าสู้ จนสามารถดึงงานกลับมาได้ และกลายเป็นผลงานชิ้นโบแดงของเขาและเจเอสแอล
ความสำเร็จทั้งหมดจึงเป็นผลมาจากความทุ่มเท ใส่ใจ และใส่พลังความสามารถแบบเต็มกำลัง เพื่อให้งานที่ออกมากลายเป็นสิ่งที่ทุกคนภาคภูมิใจได้อย่างแท้จริง
ครอบครัวคือเบ้าหลอมสำคัญที่สุดของชีวิตมนุษย์
อภิวัฒน์เติบโตมาในครอบครัวทหารอากาศ แม้มีศักดิ์เป็นหลานชายของจอมพลอากาศ เฉลิมเกียรติ วัฒนางกูร แต่ก็ไม่ได้มีเงินทองหรือทรัพย์สมบัติอะไรมากมายนัก
วิธีการเลี้ยงของพ่อแม่ คือต้องช่วยเหลือตัวเอง อย่างตอนที่หัดเดิน เวลาล้ม พ่อไม่เคยอุ้มเขาเลย แต่จะคอยกระตุ้นให้เขายืนได้ด้วยของตัวเอง พอโตขึ้นก็ต้องรับผิดชอบทุกอย่างในบ้าน ทั้งซักผ้า รีดผ้า ปัดกวาดเช็ดถู จัดบ้าน รวมถึงจัดการค่าใช้จ่ายต่างๆ ภายในบ้าน
สิ่งหนึ่งที่อภิวัฒน์ถูกปลูกฝังมาเสมอคือ “คนเราต้องยืนบนส้นตีนของตัวเองให้ได้” ที่สำคัญคือ สมบัติอย่างเดียวที่พ่อแม่จะให้ได้นั้น ไม่ใช่ทรัพย์สินเงินทอง แต่เป็นสติปัญญา
ด้วยเหตุนี้เอง ในวันที่เขาตัดสินใจเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา พ่อแม่จึงยอมขายที่นาเพื่อให้ได้เงินก้อนเป็นทุนรอนให้ลูกชายคนนี้ นี่เองที่กลายเป็นแรงผลักดันให้พยายามเรียนจบให้เร็วที่สุด
ทว่าชีวิตในเมืองนอกนั้นเต็มไปด้วยความท้าทาย เขาต้องเผชิญกับอุปสรรคมากมายในชีวิต โดยเฉพาะการสื่อสาร เพราะถึงจะเรียนจบจากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาขาการสอนภาษาอังกฤษ แต่พอขึ้นเครื่องบิน เขากลับฟังสิ่งที่แอร์โฮสเตสพูดไม่เข้าใจเลย และยิ่งเข้าห้องเรียนก็ยิ่งหนัก เพราะเรียนไม่รู้เรื่อง จดเลกเชอร์ไม่เคยทัน
เวลานั้นเขารู้สึกท้อ อยากกลับบ้าน ร้องไห้เขียนจดหมายหาแม่ ซึ่งแม่ก็ตอบกลับมาว่า อย่ากลัวในสิ่งที่มองไม่เห็น ให้ทำใจสบายๆ และลุกขึ้นมาเผชิญหน้ากับปัญหา
วันนั้นเองที่เขาเริ่มต้นฝึกภาษาอังกฤษใหม่หมดด้วยการอ่านหนังสือมากๆ ฟังเพลงเยอะๆ เปิดดูรายการทอล์กโชว์ของ Phill Donahil ศึกษาวิธีออกเสียง ดูโฆษณา ดูหนัง พยายามเรียนรู้ถึงวิถีชีวิตของคนอเมริกันว่าเป็นอย่างไร จนสุดท้ายเริ่มตกผลึก และปรับตัวได้
ขณะเดียวกันก็พยายามพัฒนาตัวเองให้ทัดเทียมกับเพื่อนร่วมรุ่นที่ส่วนใหญ่อาวุโสกว่าหลายปี ทั้งอ่านหนังสือ ทำรายงาน ศึกษาค้นข้อมูล ตลอดจนแลกเปลี่ยนความรู้มากๆ ซึ่งผลจากความพยายามนี่เองที่ทำให้เขาสามารถเรียนจบปริญญาโทได้ภายใน 11 เดือน
และเมื่อตัดสินใจเรียนต่อปริญญาเอก ตามคำแนะนำของพ่อแม่ เขาก็ทุ่มเทสรรพกำลังที่มี ตั้งเป้าหมายชีวิตอย่างจริงจัง เพื่อจะได้กลับมาทำงานที่บ้านเกิดอย่างที่ทุกคนคาดหวังไว้
นอกจากนี้เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของครอบครัวที่เพิ่มขึ้น เขาก็ตัดสินใจรับงานพิเศษ 2 งานพร้อมกัน ท่ามกลางความเป็นห่วงของคนรอบข้างที่กลัวว่าจะเรียนไม่จบ แต่ด้วยความมุ่งมั่นและการจัดสรรตารางเวลาที่ดี ทำให้บริหารชีวิตตลอด 3 ปีครึ่งโดยไม่มีปัญหา สามารถ A ทุกวิชา แถมยังจบคว้าดุษฎีบัณฑิตเป็นอันดับ 1 ของรุ่นด้วย
“สัจธรรมอย่างหนึ่งที่ผมค้นพบ ในชีวิตผมไม่เคยได้อะไรมาโดยไม่ต้องลงทุนลงแรง มีอาชีพสุจริตเดียวที่ทำให้ได้ในสิ่งที่ผมมีอยู่คือ การเอาตัวเองลงไปทำงานอย่างเต็มที่ ซึ่งทั้งหมดนี้ก็มาจากการที่พ่อแม่ของผม ท่านทำทุกอย่างเพื่อให้ผมมีการศึกษานั่นเอง”
ผมไม่เคยได้อะไรมาโดยไม่ต้องลงทุนลงแรง มีอาชีพสุจริตเดียวที่ทำให้ได้ในสิ่งที่ผมมีอยู่คือ การเอาตัวเองลงไปทำงานอย่างเต็มที่
หากถามว่า อะไรคือสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตมนุษย์
งาน.. เงิน.. ครอบครัว.. ชื่อเสียงเกียรติยศ ?
บางทีอาจไม่มีคำตอบใดถูกต้องที่สุด เพราะแต่ละคนย่อมมีปัจจัยชีวิตที่แตกต่างกันไป
เรื่องที่ท้าทายยิ่งกว่าคือ คุณจะสามารถบริหารจัดการสิ่งต่างๆ ให้เหมาะสมได้อย่างไร
ในวัย 47 ปี ระหว่างเดินทางไปเยี่ยมบุตรสาวที่ออสเตรเลีย อภิวัฒน์พบว่าตัวเองถ่ายเป็นเลือด แต่เพราะภารกิจงานที่คั่งค้างเต็มไปหมด ทำให้ใช้เวลาอีกพักใหญ่ถึงได้ไปตรวจร่างกายจริงจัง
ผลจากการตรวจพบก้อนเนื้อบริเวณลำไส้ใหญ่ และเมื่อตรวจละเอียดก็พบว่าเป็นเซลล์มะเร็ง
เขาตัดสินใจผ่าตัดทันที ด้วยความเชื่อว่าผ่าเสร็จแล้วจะได้กลับไปทำงานต่อ ทว่าผลสุดท้ายกลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะมะเร็งแพร่กระจายไปยังตับ และถึงใช้เคมีบำบัดต่อเนื่อง แต่ก็ไม่หายจนต้องเปลี่ยนยาใหม่ รวมทั้งปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตทั้งหมด
“ก่อนมีปัญหาสุขภาพ ผมเป็นคนที่จัดชีวิตตัวเองง่ายมาก งานมาก่อนสิ่งอื่นเสมอ ถึงเวลามีงานด่วนเข้ามา ผมไม่เคยมีเวลาให้ใคร อดนอน 3 วัน 3 คืนไม่สะทกสะท้าน ร่างกายยังแข็งแรงดี มีคนเคยบอกผมว่า ออกกำลังกายบ้างนะ ผมบอกไม่เป็นไรครับ วันหนึ่งเดินขึ้นเดินลงตรวจงานให้ลูกน้อง ออกไปหาลูกค้า ร่างกายมีความเคลื่อนไหวมากพออยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาอะไรอีก
“และโดยนิสัย ผมเป็นคนดื่มน้ำน้อย ตั้งน้ำไว้แก้วหนึ่ง วันหนึ่งยังไม่หมดเลย ส่วนใหญ่ผมได้น้ำจากกาแฟ ดื่มได้เรื่อยๆ ตลอดทั้งวัน เรียกว่าผมใช้ชีวิตผิดสุขลักษณะหมดทุกอย่าง แถมยังมีความเครียดที่เป็นปฏิกิริยาตัวเร่งให้เกิดมะเร็งอย่างดี”
คำพูดของพ่อที่เคยพร่ำสอนตั้งแต่เด็ก “คนเราต้องได้ทั้งปริญญาวิชาการและปริญญาชีวิตด้วย” กลับมาย้ำเตือนถึงเรื่องราวที่ผ่านมา เพราะถึงเป็นคนเรียนเก่ง ทำอะไรหลายอย่างได้ดี แต่กลับรู้ไม่เท่าทันชีวิต จึงต้องลงเอยด้วยอาการเจ็บป่วยเช่นนั้น
เขาเริ่มหันมาดูตัวเองอย่างจริงจัง ฝึกสมาธิ เล่นโยคะ สร้างกล้ามเนื้อ กินอาหารเพื่อสุขภาพ ใช้เวลาร่วมกับครอบครัวมากขึ้น พร้อมกับตั้งเป้าหมายชีวิตว่า ต้องหายจากโรคนี้ให้ได้ และหากหายขาด ก็ตั้งปณิธานจะไม่หวนกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิมอีก
นอกจากละทิ้งวิถีชีวิตเดิมๆ แล้วอีกสิ่งที่เขาตัดสินใจปล่อยไป คือชื่อ ‘อภิวัฒน์ วัฒนางกูร’ และเริ่มต้นใหม่ในชื่อ ‘วรฑา วัฒนะชยังกูร’
“ผมรู้สึกคนที่ชื่อ อภิวัฒน์ วัฒนางกูร ใช้ชีวิตมา 47 ปีเต็มอย่างเหนื่อยยากมากๆ อย่างตรากตรำมากๆ ผมคิดว่าให้เขาได้พักผ่อนเถอะ ให้อภิวัฒน์จบบทบาทของเขาไปให้เถอะ ให้ วรฑา วัฒนะชยังกูร เริ่มต้นปีที่ 48 ในร่างกายที่มีความรู้สึกว่าได้อะไรมาใหม่ๆ เกิดการเรียนรู้มากมายในช่วงที่ได้พักฟื้น
“ยกตัวอย่างเช่น อภิวัฒน์ วัฒนางกูร ไม่เคยรู้เลยว่า ตัวเองเป็นที่รักของคนมากขนาดนี้ แต่เขามารู้เอาเมื่อป่วยไข้ เขาไม่เคยรู้เลยว่า จริงๆ คนที่นั่งทำงานอยู่กับเขาทุกเมื่อเชื่อวัน รักเขามากเลยนะ ห่วงเขามากเลยนะ ในรูปแบบที่แตกต่างกัน มันกลายเป็นกิจวัตรในตัวในใจเขาที่จะต้องเป็นห่วงผม
“เพราะฉะนั้นให้อภิวัฒน์จบบทบาท ให้เขาได้พักผ่อน ถ้าจะดำเนินชีวิตต่อไปในรูปแบบใหม่ ผมเชื่อว่าอภิวัฒน์ทำไม่เป็น ให้วรฑาได้เริ่มต้นใหม่ในวิถีทางที่เขาคิดค้นขึ้นมาว่า มันน่าจะดีกับชีวิตที่เหลืออยู่ ซึ่งจะยาวนานสักขนาดไหนก็แล้วแต่ให้ดำเนินชีวิตไปเรื่อยๆ ในรูปแบบที่เขาคิดว่ามันดีต่อวรฑา”
หลังต่อสู้กับโรคมะเร็งร้ายมานานนับปี ผลการรักษาไม่ได้ดีขึ้นมากนัก กำลังวังชาที่เคยมีเริ่มถดถอยน้อยลงทุกที ซึ่งเป็นผลจากสารเคมีที่สั่งสมในร่างกายอย่างต่อเนื่อง แต่เขาก็ไม่เคยท้อถอย ยังคงมีความหวังอยู่เสมอ ช่วงนั้นเองที่วรฑาหันมาใช้วิธีรักษาแบบธรรมชาติมากขึ้น ปฏิบัติธรรมควบคู่ไปด้วย
แม้อาจไม่สามารถทำให้มะเร็งทุเลาได้ แต่ก็ช่วยให้จิตใจสงบขึ้น เขาเริ่มตกผลึกกับชีวิต นึกถึงคำพูดหลายคำที่เคยพูดเช่น “ผมตายไม่ได้” แท้จริงเป็นเพราะกลัวตายต่างหาก เขาเริ่มคลายห่วงต่างๆ ที่เกาะกุมชีวิต และพร้อมเผชิญหน้ากับความตาย
ในหนังสือมองชีวิตผ่านมะเร็ง ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 4 วรฑาได้ตีพิมพ์บทบันทึกสุดท้าย พร้อมถ่ายทอดความรู้สึกผ่านประโยคสั้นๆ ว่า “ผมบอกกับตัวเองได้เสมอทุกวันว่า พร้อมจะตาย..ผมไม่ได้ยินดีที่จะตาย แต่พร้อมที่จะตายเท่านั้นเอง”
ก่อนที่จะจากไปอย่างสงบ หลังจากนั้นอีกหนึ่งเดือน
นอกจากบทบาทนักพากษ์ เอกชัย นพจินดา หรือ ย.โย่ง ยังเป็นเจ้าของคอลัมน์ยอดฮิตในนิตสารสตาร์ซ็อกเกอร์
เรื่องราวของรายการสารคดีเดินทางที่มีหนังเป็นแรงบันดาลใจ
นักเล่านิทาน เจ้าของรายการ ‘บ้านเด็กดี’ ที่อยู่ในความทรงจำของเด็กไทยยุค 90
รายการโทรทัศน์ที่มีแฟนคลับติดตามมานานกว่า 40 ปี และเป็นต้นแบบสำคัญของรายการเด็ก และวงดนตรี XYZ
ย้อนเรื่องราวของนักสร้างสรรค์หญิงจากออสเตรเลีย ผู้ริเริ่มตัวละคร ‘กล้วยหอมจอมซน’ ซึ่งกลายเป็นขวัญใจคนทั่วโลก
นักข่าวคนสำคัญผู้ทำให้ข่าวกลายเป็นรายการสามัญประจำบ้าน
โลกดนตรี ตำนานรายการคอนเสิร์ตกลางแจ้ง ที่ศิลปินยุค 1970-2000 อยากขึ้นแสดงมากที่สุด เพราะใครที่มีโอกาสได้ขึ้นเวทีนี้ แสดงว่าดังแล้ว
ห้องทดลองกฎหมายของ รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร ที่ทำงานเรื่องการพิสูจน์สิทธิเรื่องสัญชาติ เพื่อให้ทุกคนได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม
เครือข่ายคนรุ่นใหม่ที่อยากรักษาเสน่ห์ของพื้นที่อารีย์ พร้อมกับรักษาชุมชนที่ยั่งยืนด้วยการใช้กุศโลบายที่ดึงดูดให้คนทุกมีส่วนร่วม
นักออกแบบแดนปัตตานีที่รวมกลุ่มกันจัดกิจกรรม เพื่อเปลี่ยนภาพจำๆ เดิมของชายแดนใต้ ไปสู่กลายเป็นเมืองสร้างสรรค์
จากครูอาสาที่มาสอนดนตรีในชุมชนคลองเตย สู่การต่อยอด เพื่อสร้างโอกาสให้เด็กๆ ได้มีพื้นที่ที่จะเติบโตอย่างงดงาม
แรงบันดาลใจของพระอีสานผู้ไม่มีโอกาสได้เรียนต่อ สู่การสร้างโอกาสทางการศึกษาด้วยพลังงานแสงอาทิตย์
COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO. ALL RIGHTS RESERVED.