Akira Toriyama : พรวิเศษที่ไม่ได้จากเทพเจ้าของนักเขียน ‘ดราก้อนบอล’

<< แชร์บทความนี้

หากคุณเติบโตมาพร้อมกับช่อง 9 การ์ตูน ยุคน้าต๋อย เซมเบ้

เคยซื้อขนมกล่องมาเพียบ เพราะแค่อยากได้สติกเกอร์มาแปะสมุด เพื่อแลกของรางวัล

เคยปล่อยพลังคลื่นเต่า แปลงร่างเป็นซูเปอร์ไซย่า ทำผมตั้งเหมือนโมกุล

รับรองว่า คุณต้องเป็นหนึ่งในแฟนตัวยงของ ดราก้อนบอล ผลงานสุดคลาสสิกของอาจารย์ Akira Toriyama

จากเรื่องราวของจากเด็กน้อยประหลาดมีหาง นามว่า ซง โกคู ที่มีภารกิจตามหาดราก้อนบอล 7 ลูก เพื่อขอพร 1 ข้อจากเทพเจ้ามังกร

ก่อนพัฒนาสู่มหากาพย์การต่อสู้ครบรส ที่ผสมผสานทั้งเรื่อง การต่อสู้สุดมันส์ การเดินทางจากอนาคต เรื่องราวของมนุษย์หุ่นยนต์ และอื่นๆ อีกมากมาย กระทั่งถูกผลิตเป็นแอนิเมชัน และโด่งดังทั้งในและนอกญี่ปุ่น เป็น Soft Power ที่มีแฟนคลับทั่วโลก

นี่เองที่เป็นเหตุผลว่าทำไมใครต่อใครจึงยกให้ดราก้อนบอลเป็นการ์ตูนอันดับ 1 ตลอดกาล

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ขอพาทุกคนไปสัมผัสกับเรื่องราวของชายผู้ใช้ลายเส้นสร้างความทรงจำสุดวิเศษให้กับผู้อ่านทุกวัยมานานกว่า 40 ปี

ฝันที่จะไปให้ถึง

อาจารย์ Toriyama เกิดที่จังหวัดนาโกย่า

ในวัยเด็กเขาหลงใหลในการ์ตูนและนิยายไซไฟมากเป็นพิเศษ

เขาชอบอ่านเรื่องเจ้าหนูปรมาณู, เทตสึจิน หุ่นเหล็กหมายเลข 28 และโอโซมัตสึคุง รวมทั้งหลงใหลการออกแบบงานศิลป์ของดิสนีย์ โดยเฉพาะเรื่อง ทรามวัยกับไอ้ตูบ ทั้งวิธีการวาดมนุษย์และสัตว์ต่างๆ จนถึงขั้นต้องลองวาดตาม และทำให้รู้สึกสนุกกับการวาดภาพไปโดยปริยาย

ถึงอย่างนั้น เขาไม่ได้วางแผนที่จะทำงานเป็นนักเขียนการ์ตูน

เพราะสิ่งที่เขาสนใจมากกว่าคือการออกแบบ เขาเลือกเรียนต่อด้านนี้โดยตรง และทำงานเป็นกราฟฟิกดีไซเนอร์อยู่ในบริษัทโฆษณาแห่งหนึ่ง

ภารกิจหลักๆ คือทำใบปลิวโฆษณาสารพัดอย่าง ทั้งร้านขายไก่ ขายถุงเท้า เสื้อผ้าสำหรับเด็กอ่อน

แต่ด้วยปริมาณงานที่หนักหน่วง กว่าจะได้กลับบ้านก็ตี 2-3 ส่งผลให้เขาตื่นเช้ามาทำงานไม่ไหว และเข้างานสายอยู่เป็นประจำ ผลก็คือ โบนัสที่ได้รับนั้นน้อยกว่าพนักงานธุรการจบใหม่เสียอีก สุดท้าย อาจารย์จึงตัดสินใจลาออก

ในช่วงที่เคว้งคว้างคิดว่าจะไปทางไหนดี ก็บังเอิญเหลือบไปเห็น Shounen Magazine วางเรียงรายอยู่ในร้านกาแฟ และมีประกาศเชิญชวนให้ส่งผลงานเข้าประกวด ซึ่งรางวัลอันดับ 1 ก็ยั่วยวนใจสุดๆ ถึง 500,000 เยน แน่นอน อาจารย์ไม่ได้คิดว่าตัวเองจะชนะการประกวด ขอแค่ได้รางวัลชมเชยก็พอใจแล้ว แต่น่าเสียดายที่เขาส่งผลงานไม่ทันเดดไลน์

และจังหวะที่ต้องนึกว่าจะทำยังไงต่อ เขาก็เกิดฉุกคิดว่า Shonen Jump ก็อาจจะจัดประกวดเหมือนกัน ซึ่งปรากฏว่า มีจริงๆ แต่เงินรางวัลน้อยกว่ามาก ประมาณ 100,000 เยน แต่สำหรับนักวาดหน้าใหม่แล้ว อย่างน้อยก็ถือเป็นก้าวแรกที่ต้องลองเสี่ยง

แม้มั่นใจในเรื่องฝีมือ แต่ผลลัพธ์ไม่เป็นดังคาด ผลงานล้อเลียน Star Wars ที่บรรจงส่งไป ไม่ผ่านการประกวด แต่แทนที่จะท้อใจ เขากลับมุ่งมั่นว่ายังไงก็ต้องได้เงินจากการประกวดให้ได้ จึงรีบส่งงานใหม่ไปทันที

สุดท้าย Kazuhiko Torishima บรรณาธิการใหญ่ของ Shonen Jump แจ้งว่า เขาได้รับสัญญา ขอให้ส่งงานมาที่เขาโดยตรง และเมื่ออาจารย์ Toriyama ถามบรรณาธิการว่า สนใจอะไรในตัวเขา ก็ได้คำตอบกลับว่า ถูกใจเรื่องการเขียนตัวอักษรมากกว่าลายเส้นหรือเรื่องราวที่นำเสนอมา

“การที่ผมไม่ได้รับรางวัลเป็นสิ่งที่ดีเหมือนกัน เพราะถ้าได้รับเงินรางวัล ผมก็คงจะพอใจกับสิ่งนั้นและเลิกเขียนไป”

นักเขียนหนุ่มจึงต้องฝึกซ้อมอย่างหนัก ส่งผลงานให้พิจารณาอยู่เรื่อยๆ ทว่าสุดท้ายงานส่วนใหญ่มักจะไปลงเอยที่ถังขยะ กระทั่งมาสำเร็จที่ Wonder Island ผลงานเรื่องแรกที่ได้รับโอกาสให้ตีพิมพ์ แต่น่าเสียดายที่เรื่องนี้ไม่ได้รับความนิยมเสียเลย

สุดท้ายบรรณาธิการคนเดิมจึงแนะนำว่าคุณดูจะวาดรูปสาวๆ เก่งนะ ทำไมไม่ลองวาดผู้หญิงให้เป็นตัวละครหลักดูล่ะเขาจึงทดลองวาดเรื่อง Tomato, Girl Detective

ต่อมาอาจารย์ Toriyama ก็ประสบความสำเร็จสุดขีดจากมังงะซึ่งมีตัวละครหลักเป็นหุ่นยนต์ผู้หญิง คือเรื่อง Dr.Slump หรือที่ทุกคนรู้จักกันในชื่อ ดร.สลัมป์ กับหนูน้อยอาราเล่ ในปี 2523 ถึงขั้นได้รับรางวัล และถูกนำไปผลิตเป็นแอนิเมชันฉายในช่วงไพร์มไทม์

“ความจริงผมอยากวาดอะไรที่แมนกว่านี้ แต่ Torishima บอกให้ผมวาดหุ่นยนต์สาวเป็นตัวเอก ผมจึงไม่มีทางเลือก ซึ่งก่อนที่จะเริ่มซีรีส์ ผมก็รีบวาดเนื้อหามาประมาณ 2 บท แต่คงเพราะหน้ามันบาง เขาก็เลยรวมเนื้อหาเข้าไว้ด้วยกัน ทำให้ผมไม่มีสต๊อกเหลือเลย และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของนรก”

เพราะครั้งแรกที่เขาเริ่มวาดนั้น บรรณาธิการบอกว่า ‘วาดไปเถอะ สัก 10 สัปดาห์ก็จบแล้ว’ แต่ทำไปทำมา เรื่องนี้ถูกลากยาวนานถึง 4 ปีเต็ม

“ตอนนั้นผมยุ่งมาก จนแทบไม่ได้นอนเลย ช่วงที่หนักสุดคือ ไม่ได้หลับ 4 วัน ได้นอนแค่ 20 นาที เพื่อจะมาทำงานต่ออีก 3 วัน ซึ่งสไตล์ของ ดร.สลัมป์ คือแต่ละบทต้องเป็นไปตามกฎเกณฑ์ ผมต้องคิดเรื่องราวใหม่ๆ ทุกครั้งซึ่งยากมาก จนเมื่อเนื้อหาหมดลง ผมจึงขอร้อง Torishima ว่าอยากจะหยุดเขียน ซึ่งเขาก็ตอบกลับมาว่า ‘ถ้าคุณเริ่มเรื่องใหม่ในอีก 3 เดือนต่อมาได้ คุณถึงจะเลิกได้’ ผมก็คิดกับตัวเองว่านี่มันหมายความว่ายังไง แต่หากผมอยากจะจบก็ต้องยอมรับเงื่อนไขนี้”

จุดนี้เองที่กลายเป็นก้าวกระโดดของนักเขียนผู้นี้จนโด่งดังและกลายเป็นตำนาน

มังงะพลิกชีวิต

ในเวลานั้นอาจารย์ Toriyama ชื่นชอบเฉินหลงสุดๆ เขามักจะค้นคว้าหาหนังกังฟูมาชมระหว่างเขียนงานไปด้วย โดยเฉพาะไอ้หนุ่มหมัดเมา ดูซ้ำเป็นสิบๆ รอบ จน Torishima บอกว่า ทำไมไม่วาดงานที่เกี่ยวกับกังฟูเลยล่ะ แต่เขาก็ปฏิเสธด้วยเหตุผลว่า ของที่ชอบกับของที่อยากวาดนั้นไม่เหมือนกัน

แต่สุดท้ายเขาก็ทดลองเขียนเรื่องสั้นเกี่ยวกับเด็กชายที่เชี่ยวชาญศิลปะการต่อสู้ออกมาเรื่องหนึ่งชื่อ Dragon Boy ซึ่งก็ได้รับความนิยมพอสมควร

เพราะฉะนั้นเมื่อได้รับโจทย์ใหญ่จากบรรณาธิการให้คิดเรื่องมาแทน ดร.สลัมป์ เขาจึงนำเรื่องนี้มาต่อยอด โดยหยิบเรื่องไซอิ๋ว ซึ่งเป็นการเดินทางไปอัญเชิญพระไตรปิฎกของพระถังซัมจั๋งกับลูกศิษย์มาดัดแปลงให้ทันสมัยมากขึ้น จนเกิดเป็นเรื่อง Dragon Ball

โดยไอเดียแรก เขาอยากจะให้ตัวเอกเป็นลิงจริงๆ แต่พอคิดไปคิดมา มันจะดูเหมือนต้นฉบับไปหน่อย ก็เลยเปลี่ยนมาเป็นเด็กชายธรรมดา ชื่อโกคู แต่พิเศษหน่อยตรงที่เขามีหางด้วย

“ตัวเอกใน Dragon Boy มีปีก ซึ่งข้อดีคือแค่เห็นปีกก็รู้เลยว่าเป็นเขา พอมาเป็นโกคู ผมก็เลยให้หางกับเขา เพราะฉะนั้นต่อให้เขาจะซ่อนอยู่หลังก้อนหิน ถ้าคุณเห็นหาง คุณก็จะรู้ว่านั่นคือ โกคู

“จากนั้นผมก็เพิ่มดราก้อนบอลเข้าไป ถ้าคุณรวบรวมได้ครบ 7 ลูก ความปรารถนาของคุณก็จะเป็นจริง ผมอยากให้ตัวละครค้นหาสิ่งเหล่านี้ อยากให้เขาผ่านการเดินทางเหมือนในไซอิ๋ว โดยบลูม่า ก็คือพระถังซัมจั๋ง อูลอนคือตือโป๊ยก่าย และหยำฉาคือซัวเจ๋ง โดยผมตั้งใจว่า จะให้เรื่องจบหลังจากพวกเขารวบรวมดราก้อนบอลเสร็จแล้ว”

แต่หลังเผยแพร่ในปี 2527 ดราก้อนบอลกลับไม่ได้รับความนิยมเหมือน ดร.สลัมป์ อันดับความนิยมของอาจารย์ Toriyama ตกลงจากหัวกระดานมาอยู่อันดับที่ 15 เขาจึงแก้ปัญหาด้วยการเพิ่มฉากการต่อสู้ โดยเฉพาะฉากลานประลอง ศึกชิงเจ้ายุทธภพ พร้อมกับเปลี่ยนทิศทางของเรื่องไปสู่การต่อสู้จริงจัง ทำให้ได้เสียงตอบรับดีขึ้นเรื่อยๆ และกลายเป็นอีกเรื่องยาวที่เขาเขียนต่อเนื่องนานหลายปี

ทว่าความท้าทายของการวาดดราก้อนบอล คือแม้แต่ตัวผู้เขียนก็คาดเดาอนาคตของเรื่องไม่ได้ อย่างในศึกชิงเจ้ายุทธภพ เขาไม่รู้ว่าด้วยซ้ำว่าจะวาดใครชนะดี โดยตอนแรกตั้งใจจะให้โกคูชนะ แต่จากผลสำรวจของนิตยสาร เกือบทุกเสียงต่างโหวตให้โกคู ทำให้เขาเปลี่ยนใจ และคิดหาหนทางว่าจะทำอย่างไรดี โกคูถึงจะไม่ได้เป็นแชมป์ ซึ่งสุดท้ายเขาก็เขียนให้โกคูพ่ายแพ้ต่อผู้เฒ่าเต่า

จากนั้นอาจารย์ Toriyama ก็เริ่มพัฒนาตัวละครใหม่ๆ เสริมเข้ามา วางพลอตเรื่องให้ซับซ้อนมากยิ่งขึ้นจนถึงขั้นออกไปสู่นอกโลก ข้ามมิติกาลเวลา มีมนุษย์ต่างดาว ซึ่งทั้งหมดนี้ก็มีพื้นฐานจากความสนใจหนังไซไฟตั้งแต่วัยเยาว์ นอกจากนี้ บ่อยครั้งผู้อ่านก็มีส่วนสำคัญที่ช่วยกำหนดว่าตัวละครใดที่จะอยู่หรือไป

“เบจิต้าปรากฏตัวครั้งแรก เขาเป็นเพียงตัวร้าย แต่เนื่องจากเขาได้รับความนิยมอย่างมาก เขาจึงอยู่ในซีรีส์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ซึ่งถึงผมจะไม่ค่อยชอบเขาเท่าใดนัก แต่การมีเขาอยู่ก็ช่วยได้มาก”

ตลอด 11 ปีที่ตีพิมพ์นั้น ดราก้อนบอลประสบความสำเร็จสูงสุด ขายได้เฉพาะในญี่ปุ่นประเทศเดียวถึง 159.5 ล้านเล่ม รวมถึงยังถูกต่อยอดไปทำเป็นการ์ตูนทีวี และภาพยนตร์การ์ตูน

แน่นอนทั้งหมดนี้ มาจากความพยายาม การไม่หยุดพัฒนา และพร้อมจะสอดแทรกไอเดียสร้างสรรค์ใหม่ๆ และประสบการณ์จากทุกช่วงชีวิต เข้ามาผสมผสานตลอดเวลา จนกลายเป็นงานที่โดดเด่น เป็นเอกลักษณ์ และนำสมัยอยู่ตลอดเวลา

ถ้าคุณรวบรวมได้ครบ 7 ลูก ความปรารถนาของคุณก็จะเป็นจริง ผมอยากให้ตัวละครค้นหาสิ่งเหล่านี้ อยากให้เขาผ่านการเดินทางเหมือนในไซอิ๋ว

Akira Toriyama : พรวิเศษที่ไม่ได้จากเทพเจ้าของนักเขียน ‘ดราก้อนบอล’

เขาคือแรงบันดาลใจของทุกคน

นี่จึงเป็นเหตุผลให้เขายังเป็นแรงบันดาลใจให้นักเขียนมังงะรุ่นน้องอีกมากมาย ดังที่อาจารย์ Eiichiro Oda ผู้วาดการ์ตูนเรื่องวันพีช กล่าวว่า “…เขาสร้างยุคที่ทั้งเด็กและผู้ใหญ่สนุกไปกับการอ่านมังงะ และทำให้เห็นว่ามังงะทำอะไรได้บ้าง… เขาไม่ได้เป็นเพียงคนวาดมังงะเท่านั้น แต่คือรากฐานในวัยเด็กของเหล่าผู้สร้างที่ทำงานอยู่ในทุกอุตสาหกรรม การดำรงอยู่ของเขาเปรียบเสมือนต้นไม้ใหญ่”

เช่นเดียวกับอาจารย์ Masashi Kishimoto ผู้เขียนเรื่องนารูโตะ ซึ่งบอกว่าตั้งแต่ประถม ก็มี ดร.สลัมป์กับดราก้อนบอล เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต การได้อ่านดราก้อนบอลทุกสัปดาห์ ทำให้เขาลืมเรื่องแย่ๆ ได้เสมอ เขาอยากจะสร้างงานแบบอาจารย์ Toriyama ชายคนนี้เป็นดาวนำทางชีวิตของเขาตลอดมา

จากความสำเร็จอันยิ่งใหญ่นี่เอง ทำให้ดราก้อนบอลกลายเป็นผลงานที่ถูกนำไปฉายทั่วโลก มีแฟนที่คอยติดตามอยู่หน้าจอหลายร้อยล้านคน เช่นเดียวกับมังงะก็ถูกแปลเป็นภาษาต่างๆ มากมาย

ไม่เพียงแค่นั้นยังมีการต่อยอดไปสู่การพัฒนาเป็นเกมคอมพิวเตอร์ แถมยังถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ที่ใช้คนแสดงจริงๆ จากสตูดิโอชั้นนำ เป็นส่วนหนึ่งของสวนสนุก รวมถึงตัวละครต่างๆ ยังถูกนำมาผลิตเป็นสินค้าที่ระลึกจำหน่ายให้แก่แฟนๆ ที่ติดตามมาตลอด

สำหรับอาจารย์ Toriyama แล้ว การที่แฟนๆ ซึ่งไม่ใช่คนญี่ปุ่น แต่กลับชื่นชมดราก้อนบอลเป็นเรื่องที่เกินความคาดหมาย เขารู้สึกมีความสุขและหวังที่จะให้ผลงานนี้เป็นแรงบันดาลใจที่ช่วยดึงตัวตนของแต่ละคนออกมา กล้าที่จะคิดและฝันในแบบฉบับของตัวเอง เหมือนที่เขาทำตลอดชีวิตการเป็นนักเขียนการ์ตูน

แม้วันนี้อาจไม่มีพรวิเศษที่มาชุบชีวิตของอาจารย์ Akira Toriyama ได้ หากแต่ผลงานอันยิ่งใหญ่ที่ชายผู้นี้ได้ทุ่มเทมาตลอดชีวิต จะคงอยู่ในหัวใจของแฟนๆ ทุกคนไม่เปลี่ยนแปลง

ภาพและข้อมูลประกอบการเขียน

  • เว็บไซต์ Kanzenshuu
  • เว็บไซต์ The H&R Group
  • นิตยสาร Shonen Jump Vol. 1, #1 January 2003

<< แชร์บทความนี้

RELATED POSTS
LATEST

Keep In Touch

COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO.  ALL RIGHTS RESERVED.