ยังมีคนอีกไม่น้อยที่เชื่อว่า คนพิการทำงานไม่ได้เพราะมีข้อจำกัดทางร่างกาย แต่คนพิการกลุ่มหนึ่งที่จังหวัดนครราชสีมา พิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่า พวกเขาไม่เพียงทำงานได้ดีไม่แพ้ใคร แต่ยังสามารถรวมตัวกันทำธุรกิจเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้อีกด้วย!
จากการเห็นโอกาสเมื่อมีการแก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 มาตรา 35 ที่เปิดโอกาสให้บริษัทและสถานประกอบการต่างๆ สามารถสนับสนุนทุนให้คนพิการประกอบอาชีพได้ตามความถนัดและความสนใจของตนเอง ทำให้สมาชิกชมรมเครือข่ายคนพิการ จังหวัดนครราชสีมา จำนวน 18 คน รวมตัวกันลุกขึ้นมาทำการเกษตรบนที่สูง
พวกเขามีทั้งคนพิการทางการเคลื่อนไหว คนพิการทางการสื่อสาร และคนพิการทางสติปัญญา แต่ไม่เคยหวาดหวั่นกับความยากลำบาก ทุกคนช่วยกันคิด ช่วยกันทำ ลองผิดลองถูกจนพัฒนามาเป็นแปลงเกษตรผสมผสาน มีการนำโซลาร์เซลล์เข้ามาช่วยทุ่นแรงในการรดน้ำและจ่ายปุ๋ย ก่อนต่อยอดมาสู่ @View Share Farm ฟาร์มสเตย์ที่สวยงามท่ามกลางอากาศอันเย็นสดชื่นของอำเภอวังน้ำเขียว
นักท่องเที่ยวที่มาเยือน นอกจากจะได้ชิมผักผลไม้สดกรอบจากแปลง ยังสัมผัสกับบรรยากาศธรรมชาติได้อย่างเท่าเทียม เพราะการออกแบบสิ่งปลูกสร้างต่างๆ คำนึงว่าทุกคนต้องใช้งานได้สะดวก ไม่ว่าคนทั่วไป คนพิการ หรือผู้สูงอายุ ที่สำคัญคือได้เห็นวิถีการทำงานของคนพิการอย่างใกล้ชิด ซึ่งจะเติมพลังบวก และรับแรงบันดาลใจดีๆ จากพวกเขากลับไปเป็นของฝาก
ยอดมนุษย์..คนธรรมดา และกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จึงชักชวน 3 ตัวแทนจากวิสาหกิจชุมชน กลุ่ม @View Share Farm นำโดย โต้ง–พงษ์เทพ อริยเดช, เอ๋–สำเภา จงเยือกกลาง และ ดำรงค์ สินธศักดิ์ศิริ มาร่วมพูดถึงเส้นทางที่ผ่านมา และแนวคิดการทำงานที่ไม่เคยยอมแพ้ ซึ่งช่วยตอกย้ำให้ทุกคนเห็นว่า คนพิการคืออีกพลังที่สำคัญในการขับเคลื่อนสังคม
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2556 โต้งได้รับเลือกให้เป็นประธานชมรมเครือข่ายคนพิการ จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของตัวแทนจาก 32 อำเภอ เพื่อหาทางช่วยเหลือคนพิการในโคราชที่มีมากถึงราว 98,000 คน
ภารกิจของเครือข่ายในช่วงแรก คือทำโครงการให้ความรู้เกี่ยวกับสิทธิคนพิการและผู้ดูแล หลังจากนั้นก็ขยายไปสู่การสนับสนุนกายอุปกรณ์ที่จำเป็น เช่น รถวีลแชร์ รถเข็นโยก ขาเทียม
แต่พอลงพื้นที่ไปสัมผัสกับชีวิตคนพิการบ่อยครั้งเข้า ทางกลุ่มกลับพบว่า สิ่งที่คนพิการต้องการมากกว่าความรู้เรื่องสิทธิและอุปกรณ์ คืออาชีพ สำหรับเลี้ยงปากท้อง
“สิ่งที่เราไปเห็นคือ มันไม่จบแค่ช่วยอุปกรณ์ คนพิการต้องการมีอาชีพ มีรายได้ เราก็เลยปรึกษากับประธานชมรมของแต่ละอำเภอว่าจะทำยังไงถึงทำให้คนพิการและผู้ดูแล มีอาชีพที่จะเลี้ยงตัวเองได้ ทำให้ความเป็นอยู่ของเขาดีขึ้น” เอ๋ ย้อนภาพถึงจุดเริ่มต้น
ในช่วงเวลานั้นเอง เป็นจังหวะเดียวกับที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 โดยมีการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 35 ที่เปิดโอกาสให้นายจ้างหรือสถานประกอบการที่ไม่สะดวกจะรับคนพิการเข้าทำงาน ตามมาตรา 33 และไม่ประสงค์จะส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ตามมาตรา 34 สามารถใช้ประโยชน์จากมาตรา 35 ด้วยการให้เงินสนับสนุนคนพิการแบบรายปี ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ บรรดาสมาชิกในชมรมจึงศึกษารายละเอียด และพูดคุยกันว่า น่าจะลองใช้ประโยชน์จากกฎหมายมาตรานี้
“ข้อดีของมาตรา 35 ก็คือมีตัวเลือกอีก 7 อย่างสำหรับการจ้างงาน มีตัวหนึ่งก็คือ ช่วยเหลืออื่นใด คือเป็นการส่งเสริมอาชีพโดยอิสระ ถ้าเราต้องการทำอาชีพอะไร ก็สามารถใช้มาตรา 35 ตัวนี้ได้เลย แล้วก็ไม่ต้องไปทำงานในสถานประกอบการด้วย” เอ๋อธิบาย
“ตรงนี้เป็นอะไรที่ดีมาก เพราะมันเป็นการจ้างงานที่เข้าถึงคนพิการโดยตรง ไม่ต้องไปผ่านทางใดทั้งสิ้น” โต้งกล่าวเสริม
ราวปี 2558 พวกเขา ซึ่งประกอบด้วยคนพิการหลากหลาย ทั้งคนพิการทางการเคลื่อนไหว คนพิการทางการสื่อสาร และคนพิการทางสติปัญญา เริ่มเดินสายขอเข้าไปนำเสนอกับสถานประกอบการหลายแห่ง ทุกที่ต่างพูดว่ามองเห็นประโยชน์ของการจ้างงานคนพิการด้วยวิธีนี้ แต่ความที่เป็นกฎหมายใหม่ จึงยังไม่มีใครมั่นใจกล้าตอบรับให้ความช่วยเหลือ
แม้จะกลับมาพร้อมความผิดหวัง และมีสมาชิกขอถอนตัวออกไป จนเหลือแนวร่วมแค่ 18 คน แต่ทางกลุ่มก็ไม่หมดหวัง ยังคงเดินหน้าขับเคลื่อนต่อไป
ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนั้นเอง พวกเขาได้รู้จักกับมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม นำโดย อภิชาติ การุณกรสกุล ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการผลักดันการจ้างงานคนพิการตามมาตรา 35 มูลนิธิฯ จึงเข้ามาเป็นตัวกลางให้ทางกลุ่มได้เป็น 1 ใน 14 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อไปนำเสนอโครงการกับผู้ประกอบการถึงการใช้ประโยชน์จากเงินสนับสนุนตามมาตรา 35 จำนวน 119,720 บาทต่อคนต่อปี
ตอนนั้น ทางกลุ่มตัดสินใจเลือกทำโครงการเกษตรบนเชิงเขา ซึ่งสร้างความประหลาดใจให้ใครต่อใครไม่น้อย เพราะดูแล้วไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคนพิการที่มีข้อจำกัดด้านการเคลื่อนไหว
“มีแต่คนบอกว่า คนพิการทําเกษตรพื้นที่ราบก็ยากแล้วนะ แล้วบนที่สูงจะทำได้หรือ ผมก็เลยอธิบายว่า คนพิการและผู้ดูแลส่วนใหญ่ที่นี่โดยพื้นฐานทำเกษตรอยู่แล้ว ปลูกข้าว ปลูกมัน ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ผมขอเวลาอีก 6 เดือน เดี๋ยวคนพิการจะทําให้ดูว่าเป็นยังไง” โต้งเล่า
ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ ในที่สุดพวกเขาก็ได้รับเงินสนับสนุนรายปีจากบริษัท เอชจีเอสที (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อเริ่มต้นโครงการส่งเสริมอาชีพการปลูกข่าเหลือง เวลานั้นข่าเหลืองนับเป็นพืชเศรษฐกิจยอดนิยม เพราะปลูกง่าย ให้ผลผลิตดี 8 เดือนเก็บเกี่ยวได้ แถมราคาดีและเป็นที่ต้องการของตลาด แม้แต่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปก็ยังมีข่าเหลืองเป็นส่วนผสม
“ตอนแรกเราตั้งใจจะใช้พื้นที่อำเภอเมืองหรือไม่ก็ที่อำเภอครบุรี ซึ่งคุณอภิชาติลงพื้นที่ไปดูแล้วก็บอกว่าเหมาะสำหรับทำโครงการ แต่ด้วยเหตุผลหลายๆ อย่าง ก็เลยไม่ได้ใช้พื้นที่ตรงนั้น เราก็กลับมาคิดกันว่าจะทำยังไงกันดี ในเมื่อเราทำโครงการเสนอไปแล้ว ก็ต้องดำเนินการต่อ เราก็เลยเสนอว่า ใช้ที่ของเราที่วังน้ำเขียวก็ได้ แต่ไกลนะ ตอนนั้นมันเหมือนเป็นภาคบังคับมากกว่า สุดท้ายก็เลยได้มาทำที่นี่” เอ๋กล่าว
แต่ขึ้นชื่อว่าเป็น “การเกษตร” แล้ว ย่อมไม่มีสูตรสำเร็จ ผลผลิตขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยที่ไม่อาจควบคุม โดยเฉพาะดินฟ้าอากาศ ดังนั้นต่อให้ศึกษาข้อมูลและตั้งใจดูแลแปลงปลูกอย่างดี ก็ไม่วายเจอปัญหาอากาศหนาวและเชื้อราจนข่ายุบ ผลผลิตเสียหายไปกว่าครึ่ง
“การปลูกพืชเชิงเดี่ยว ถ้ารอดหมดก็คือกำไร แต่ถ้าตาย คือตายหมดเลย ปีนั้นเราปลูก 20 ไร่ ตอนแรกข่างามมาก เขียวสวยเลย แต่พออาทิตย์ต่อมายุบหายไปครึ่งหนึ่ง โชคดีที่เราแบ่งแปลงทดลองปลูกไว้ 2 แบบ ส่วนที่ปลูกแบบคลุมฟางยังเหลือผลผลิตให้ขาย เลยมีรายได้กลับมาบ้าง” โต้งเล่า
บทเรียนครั้งนั้น ทำให้พวกเขากลับมาจับเข่าคุยกันใหม่ และเป็นจังหวะเดียวกับที่บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ เข้ามารับช่วงการสนับสนุนทุนรายปีแก่คนพิการ จึงช่วยแนะนำให้สมาชิกชมรมฯ ทดลองปรับเปลี่ยนมาทำเกษตรแบบผสมผสานแทนเพื่อลดความเสี่ยง นำไปสู่การแบ่งโซนปลูกพืช โดยนอกจากข่าเหลืองแล้ว ก็ยังเริ่มปลูกมันสำปะหลัง ข้าวโพดข้าวเหนียวหวาน และพืชผักสวนครัว ควบคู่กันไปเพื่อเพิ่มความหลากหลาย รวมทั้งนำนวัตกรรมอย่างโซลาร์เซลล์เข้ามาใช้ในระบบสูบน้ำและรดน้ำตามแปลงที่ตั้งเวลาเอาไว้ ช่วยให้ประหยัดค่าไฟลง จากเดิมที่ต้องจ่ายถึงเดือนละ 8,000 บาท
การวางระบบรดน้ำแบบนี้ ยังเอื้อต่อการทำงานของคนพิการ แทนที่จะต้องถือฝักบัว สายยางไปรดน้ำเอง พอมีตัวช่วยก็ทำให้พวกเขาเหลือหน้าที่เพียงแค่คอยตรวจดูว่าน้ำที่รดลงตรงจุดหรือไม่ ปุ๋ยละลายไหม หรือมีหัวจ่ายไหนตันหรือเปล่า รวมทั้งคอยเก็บผลผลิต ส่วนงานอื่นๆ ในฟาร์ม เช่นการลงแปลงปลูกพืชหรือกำจัดวัชพืช ก็นัดหมายสมาชิกในกลุ่มมารวมตัวช่วยกันทำเดือนละครั้ง
หัวใจในการบริหารงานฟาร์มที่พวกเขายึดมั่นคือ ไม่ด่วนตัดสินว่าใครทำอะไรได้หรือไม่ได้ แต่ใช้วิธีพูดคุยสร้างความเข้าใจที่ตรงกัน และจ่ายงานตามความสามารถของคนพิการแต่ละคน
“คนพิการที่มาทำงานกับเรา ทุกคนมีงานทำหมด แต่การทำงานของคนพิการแต่ละคน เราต้องแยกให้เขาทำตามความถนัด อย่างคนหูหนวก ถ้าเป็นงานถางหญ้า ขึ้นแปลง เขาทำได้นะ หรือคนแขนขาด เขาสามารถพลิกแพลงใช้ประโยชน์จากแขนข้างเดียวได้ อย่างขาขาดก็ตัดหญ้าได้ ตรงนี้ทุกคนชอบปล่อยของ ใครทำอะไรได้ เขาจะปล่อยออกมา ที่นี่เราแจกงานตามสภาพความพิการ อย่างผมเป็นมนุษย์ล้อ จะให้ไปถางหญ้าก็คงไม่ได้ ผมก็จะอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ คอยวางแผน คิดแผนเป็นหลัก เอ๋ก็จะเป็นฝ่ายบัญชี คอยดูตัวเลขค่าใช้จ่ายทุกอย่าง”
หลังจากสั่งสมชั่วโมงบินในการทำเกษตรอยู่หลายปี พวกเขาค่อยๆ มองหาวิธีใหม่ๆ ที่จะช่วยเข้ามาต่อยอดงานเกษตรที่ทำอยู่ ในที่สุดก็เกิดเป็นไอเดียการทำฟาร์มสเตย์ที่บริหารโดยคนพิการทั้งหมดในนาม ‘@View Share Farm’
นับเป็นความโชคดีของทางชมรมเครือข่ายคนพิการ จังหวัดนครราชสีมา ที่ได้พันธมิตรอย่างบริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) เพราะทางบริษัทไม่ได้มอบทุนให้ปีต่อปีเหมือนกับสถานประกอบการอื่น แต่มองถึงการเป็นเพื่อนร่วมงานในระยะยาว ที่พร้อมสนับสนุนไอเดียที่เป็นประโยชน์และนำไปต่อยอดได้ หนึ่งในนั้นคือ คำแนะนำให้ต่อยอดจากการทำเกษตรผสมผสานไปสู่การทำฟาร์มสเตย์
“เขาบอกว่าเหมือนกับการจ้างพนักงาน 1 คน ถ้าจ้างปีเดียวแล้วให้ออกก็ไม่ได้อะไร มันต้องมีเวลาให้ได้เรียนรู้และพัฒนา ดังนั้นกับคนพิการเขาก็อยากให้เป็นการสนับสนุนระยะยาว 3 ปีหรือ 5 ปี ตรงนี้ต้องขอบคุณมาก เพราะทำให้พวกเราได้รับโอกาสที่ดีและต่อเนื่อง
“ที่สำคัญ เขาไม่ได้แค่ให้ๆ เงินไปเถอะ แต่มาช่วยออกความคิดด้วย บอกว่าตรงนี้ภูมิประเทศได้ พื้นที่ดี อากาศดี ทำไมไม่เปลี่ยนเป็นฟาร์มสเตย์เกษตรเชิงท่องเที่ยวดูล่ะ ผมเองก็คิดว่าน่าลอง เลยกลับมาคุยกับทางกลุ่มว่าจะทำอย่างไรกันดี” โต้งย้อนภาพถึงจุดเริ่มต้นของ @View Share Farm
แม้การสร้างธุรกิจใหม่นั้นต้องใช้ทุนและเวลา แต่พอเป็นคนพิการก็ยิ่งยากเป็นสองเท่า แต่พวกเขาประเมินแล้วว่า การทำฟาร์มสเตย์ นอกจากช่วยให้มีรายได้เพิ่มจากการเข้าพักและศึกษาดูงาน ยังสามารถนำผลผลิตจากฟาร์มเกษตรมาปรุงอาหาร หรือแปรรูปเพื่อจำหน่ายแก่ผู้มาเยือนอีกด้วย รวมถึงเป็นโอกาสในการแลกเปลี่ยนความคิด ส่งต่อเรื่องราวการทำงานของคนพิการ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้แขกที่มาพัก เพียงเท่านี้ก็น่าจะคุ้มค่าในการทำขึ้นมาแล้ว
ด้วยความที่สมาชิกทุกคนเป็นคนพิการ มีความหลากหลายแตกต่างกันไป ดังนั้นแนวคิดของฟาร์มสเตย์ที่วางไว้ คือ เป็นสถานที่ที่พร้อมต้อนรับคนทุกเพศทุกวัย ไม่ว่าเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ คนพิการ ทุกคนต้องไปไหนมาไหนได้สะดวก หากมีผู้ดูแล ก็ควรออกแรงน้อยที่สุดในการเคลื่อนย้ายคนพิการ เพื่อให้ทุกคนที่มาสัมผัสได้ถึงความเท่าเทียม
ถ้ามาเยือนฟาร์มสเตย์แห่งนี้ จะเห็นได้ว่ามีทางลาดซ่อนอยู่ด้านหลังอาคารที่พัก ส่วนอาคารแปรรูปผลผลิตที่มีร้านกาแฟ ก็มีทางลาดด้านข้างสำหรับขึ้นไปชมวิวมุมสูงบนดาดฟ้า พวกเขาไม่ติดตั้งลิฟต์ เพราะที่วังน้ำเขียวไฟฟ้าไม่เสถียร การใช้ลิฟต์น่าจะเป็นปัญหามากกว่าประโยชน์
ในส่วนของห้องพักนั้น มีทั้งแบบเตียงนอนและฟูกนอนบนพื้น ให้เลือกตามความชอบ โดยการเลือกเฟอร์นิเจอร์คำนึงถึงการใช้งานของคนพิการด้วย เช่น เตียงต้องมีระดับเดียวกับรถวีลแชร์ และฐานล่างเปิดเพื่อให้สอดล้อเทียบ ซึ่งทำให้ขึ้นลงสะดวก รายละเอียดเหล่านี้ต้องอาศัยความเข้าใจและใส่ใจ
ห้องน้ำทุกห้องในฟาร์มสเตย์ก็คิดมาให้ใช้งานได้ร่วมกันหมดสำหรับทุกคน ทั้งการออกแบบให้กว้าง มีประตูสไลด์ที่ล็อกง่าย ติดตั้งบาร์สำหรับจับทรงตัว ไปจนถึงตั้งใจเลือกโถสุขภัณฑ์ไซส์ยุโรปที่มีขนาดใหญ่ และติดตั้งอย่างแน่นหนา เพื่อให้ใช้งานได้อย่างมั่นใจ และปลอดภัย
“การติดตั้งบาร์ ชักโครก เราต้องคุมเองว่าต้องทำให้แข็งแรง อย่างฐานชักโครกไม่ใช่เอาไปวาง และเอากาวยาแนวไปยา ต้องผสมปูน หรือจะให้ดีต้องยิงพุกยึดด้วยเลย เพราะการโยนตัวของมนุษย์ล้อจะแรงมาก และความสูงของชักโครกเวลาปิดฝารองนั่งแล้วต้องไม่เกิน 50 เซนติเมตร เพราะจะพอดีกับการยกตัวของมนุษย์ล้อ ส่วนหัวฉีดชำระ ถ้าจะให้ดีต้องมี 2 ฟังก์ชัน กดได้และก็งัดได้ เพราะคนพิการบางคนกดหรืองัดได้แค่อย่างเดียว” โต้งแจงรายละเอียดไอเดียหลักๆ ในการออกแบบสิ่งเหล่านี้ล้วนมาจากสมาชิกในกลุ่ม ซึ่งเข้าใจความต้องการของคนพิการด้วยกันอย่างดี
จุดที่ถือเป็นไฮไลต์ของ @View Share Farm ก็คือการออกแบบสระว่ายน้ำที่มีทางลาดลงไปด้วย เพื่อให้คนใช้วีลแชร์สามารถลงไปเล่นน้ำ สัมผัสความเย็นฉ่ำในสระได้ไม่ต่างจากคนอื่น
“บางคนก็จะบอกว่า สระน้ำคนพิการเหรอ เราบอกว่าคนทั่วไปก็ลงได้ เราเห็นทริปครอบครัวมา พ่อแม่ลูกลงสระ เล่นน้ำกับลูก สอนลูกว่ายน้ำ ส่วนมนุษย์ล้อ คนพิการที่มาก็มาลงเล่น บางคนมาบอกว่าเชื่อไหม ตั้งแต่พิการมา 10 ปี ไม่เคยลงเล่นน้ำเลย มาเล่นน้ำที่นี่เป็นครั้งแรกตั้งแต่พิการ เขามีความสุขมาก”
ที่ผ่านมา ลูกค้าของฟาร์มสเตย์มีทั้งกลุ่มครอบครัว กลุ่มเกษียณอายุ กลุ่มเพื่อนที่ต้องการมาพักผ่อนหรือเลี้ยงรุ่น รวมถึงกลุ่มคนที่ต้องการศึกษาดูงานเกี่ยวกับการทำฟาร์มเกษตร
ที่นี่จึงมีห้องประชุม รองรับได้ประมาณ 30 คน ให้บริการผู้ที่มาเป็นหมู่คณะ เวลากลางคืนก็ปรับเปลี่ยนเป็นห้องคาราโอเกะสำหรับทำกิจกรรมบันเทิงได้ หรือถ้ามาเยือนตรงกับช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตบรรดาแขกผู้เข้าพักก็จะได้มาร่วมเก็บผักและผลไม้สดๆ จากฟาร์ม ที่หมุนเวียนออกตลอดทั้งปี เช่น มะยงชิด เงาะ ลำไย น้อยหน่า ลิ้นจี่ พุดทรานมสด มัลเบอร์รี ข้าวโพดข้าวเหนียว กล้วยหอม พืชผักสวนครัว ซึ่งนักท่องเที่ยวคนไหนอยากเก็บไปทำอาหาร หรือนำกลับบ้าน ทางฟาร์มก็ไม่หวง
“ถ้ามาโคราช ก็จะต้องได้กินผัดหมี่ กับส้มตำ เราจะเก็บผักสด เก็บมะละกอมาตำ บางช่วงที่มัลเบอร์รีออก ก็จะมีกิจกรรมเก็บมัลเบอร์รี รับประทานกันสดๆ จากต้นด้วย” เอ๋เล่า
“เราบอกว่าเก็บได้เลยแล้วหยอดตู้ เราไม่ได้คิดเงินเพิ่ม เพราะอยากให้คล้ายๆ กับพี่มาหาน้อง เพื่อนมาหาเพื่อน แล้วก็มาเก็บผักหรือผลไม้ไปทำกินกัน” โต้งช่วยเสริม
ผลผลิตที่เหลือ พวกเขาจะเอามาแปรรูป อย่างมัลเบอร์รีนำมาทำแยม ลูกอม น้ำมัลเบอร์รีสกัดเข้มข้น หรือนำกล้วยหอมมาทำเป็นกล้วยตาก ซึ่งนับว่าไม่เหมือนใคร
ไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทางกลุ่มได้เพิ่มธุรกิจใหม่ คือการผลิตน้ำดื่มสะอาดในระบบ RO (Reverse Osmosis) เพื่อใช้ในฟาร์มสเตย์ และนำออกไปจำหน่ายตามชุมชนโดยรอบ หลังคณะกรรมการคุยกันว่าควรจะมองหาธุรกิจอีกสักอย่างที่ทำรายได้ต่อเนื่องและคงที่ ผลปรากฏว่าเสียงตอบรับค่อนข้างดี จนเป็นรายได้หลักอีกทางในตอนนี้
“ที่นี่เราแปรรูปตั้งแต่ใต้ดินยันบนฟ้า อย่างใต้ดินก็คือเราสูบน้ำบาดาลขึ้นมารดผัก รดผลไม้ จนได้ผลิตผลมาจำหน่าย ที่เหลือก็แปรรูป ส่วนบนฟ้า เราแปรรูปแสงแดดด้วยการใช้โซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้า ดึงน้ำขึ้นมาเก็บไว้ใช้ในฟาร์ม แล้วก็เอามาผลิตน้ำดื่ม RO ด้วย” โต้งอธิบายแบบสนุกๆ
ส่วนที่มาของชื่อ @View Share Farm ที่ติดหูและความหมายดี โดยพ้องเสียงกับคำว่า Wheelchair ที่แปลว่ารถเข็นนั้น มาจากไอเดียของพงษ์เทพ ที่วันหนึ่งขับรถไปกับทีมงาน แล้วมองกระจกหลังไปเห็นรถวีลแชร์ จึงปิ๊งขึ้นมา นอกจากชื่อนี้จะสื่อถึงกลุ่มคนพิการอย่างพวกเขาแล้ว ยังมีความหมายถึงการแบ่งปัน ทั้งแบ่งปันวิวทิวทัศน์อันสวยงามของวังน้ำเขียว และแบ่งปันเรื่องราวของคนพิการที่ไม่เคยยอมแพ้ให้กับผู้ที่เดินทางเข้ามา
ผลผลิตความสุขหลากหลายรูปแบบจาก @View Share Farm ทำให้ฟาร์มสเตย์แห่งนี้ค่อยๆ เติบโต จากเป้าหมายที่อยากจะพิสูจน์พลังของคนพิการ สู่ผู้มอบพลังบวกให้สังคม
ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำให้ @View Share Farm เป็นมากกว่าที่พักให้บริการนักท่องเที่ยว แต่ยังเป็นพื้นที่แห่งการพักผ่อน สัมผัสวิถีเกษตรกรรมอย่างใกล้ชิด และส่งต่อแรงบันดาลใจการทำงานของคนพิการให้แก่ทุกคนที่มาเยือน
ความสุขของทีมงานจึงไม่ใช่เพียงแค่ผลกำไรที่เข้ามาจุนเจือชีวิตของพวกเขา แต่เป็นความสุขใจจากการที่ได้เป็นผู้มอบความสุข และทำให้แขกที่มาพักมีรอยยิ้ม
“คนที่เขามาเยี่ยมชม เขาบอกว่าชอบหลายอย่าง อันดับแรกก็ชอบสถานที่ วิวสวย อากาศดี การต้อนรับและอัธยาศัยของเรา สิ่งที่เขาประทับใจมากที่สุด คือความร่วมมือของคนพิการ ได้เห็นคนพิการทำอะไรได้มากมาย” ดำรงค์เล่าบ้าง
ลูกค้าบางคนมาไกล ระหว่างทางต้องขึ้นเขา ผ่านหลายโค้ง นั่งรถจนเมื่อยกว่าจะถึง แต่พอลงจากรถแล้วได้เห็นบรรยากาศ เจอกับอากาศเย็นๆ กินอาหาร ลงเล่นน้ำในสระ รวมถึงได้ฟังเรื่องราวที่มาของฟาร์มแห่งนี้ พวกเขาก็รู้สึกหายเหนื่อย เหมือนได้ชาร์จแบตเตอรี รับพลังบวก จนมีไม่น้อยที่ขออยู่ต่อ หรืออยากมาซ้ำอีกครั้ง
หลายครอบครัวยังถือโอกาสนี้พูดคุยกับทีมงานคนพิการ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ เล่าความคิด ฟังคำแนะนำซึ่งอาจนำกลับไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้
“บางทีลูกเขาก็จะถามพ่อแม่ว่า ทําไมคุณอาเดินแบบนี้ หรือทำไมนั่งรถเข็น พ่อแม่เขาก็บอกว่าอย่าไปถาม เราบอกว่าไม่เป็นไร และถือโอกาสสอนไปในตัวว่า ถ้าเราข้ามถนนไม่ดู ก็อาจจะโดนรถชน หรือถ้าเป็นกลุ่มวัยทำงาน เขาก็จะถามเลยว่า พี่เป็นแบบนี้ได้สิทธิอะไร เราก็จะบอกไป เขาก็เหมือนได้เรียนรู้ไปในตัว หรือบางคนถือโอกาสเตือนเพื่อนว่าให้เลิกขับรถเร็ว ถ้าเป็นเคสผู้สูงอายุเข้ามา เขาเห็นเรา ก็จะได้แรงบันดาลใจไปกระตุ้นหลานให้กระเตื้อง ลุกขึ้นมาทำอะไรบ้าง” โต้งกล่าว
ผู้มาเยือนจำนวนไม่น้อยได้เห็นเรื่องราวของ @View Share Farm จากสื่อต่างๆ จึงตั้งใจพาสมาชิกในบ้านที่เป็นคนพิการมาเยี่ยมเยียนดูการทำงานของพี่ๆ ซึ่งโต้งและเพื่อนทีมงานก็จะให้การต้อนรับอย่างดี และพร้อมให้คำปรึกษาการใช้ชีวิตในด้านต่างๆ
“เราจะถามเขาว่าอยากทำอะไรต่อ แนะนำครอบครัวที่มีคนพิการว่าจะต้องดูแลกันอย่างไร บางคนหมดกำลังใจ บางครอบครัวกำลังท้อแท้ เราก็จะบอกว่าพวกเรายังทำได้ แล้วทำไมคุณจะทำไม่ได้ มันเหมือนเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้สึก ความคิด คำพูด เพื่อจะได้ไปดำเนินชีวิต ทำภารกิจของตัวเองต่อไป”
การเกิดขึ้นของ @View Share Farm ไม่เพียงเปลี่ยนแปลงชีวิตของคนพิการกลุ่มหนึ่ง แต่ยังสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ชุมชนรอบๆ ด้วย จากเมื่อหลายปีที่แล้วบริเวณนี้ยังเป็นป่าข้าวโพด ไม่มีความเจริญ จนถึงวันนี้มีหลายอย่างที่พัฒนาขึ้น ทั้งถนนหนทาง ระบบสาธาณูปโภค รวมถึงมีการจ้างคนในชุมชนเข้ามาทำงานในฟาร์ม เกิดการกระจายรายได้ออกไป ช่วยเหลือกันเมื่อเดือดร้อน
“จากตอนแรกที่มีแต่คนบอกว่ามาทําอะไรกัน ทําได้เหรอ ตอนนี้เขาไม่พูดแล้วนะ เพราะเขาเห็นแล้ว สังคมรอบๆ ก็ยอมรับพวกเรา มันมีการต่อยอดไปต่างๆ นานา ได้ทั้งคนพิการ ผู้ดูแลคนพิการ ชุมชนที่เราอยู่ และชุมชนข้างๆ ถ้าเป็นงานบุญ งานกฐิน ถ้าเขาอยากได้ผลไม้ อยากได้กล้วย เราก็เอาไปช่วย ถ้ามีคนในชุมชนเสียชีวิต เราก็จะเอาน้ำดื่มที่เราผลิตไปช่วย ถามว่า ทำไมต้องช่วยด้วย ก็เพราะการที่เราอยู่ในชุมชน อยู่ในสังคม เราอยู่ตัวคนเดียวไม่ได้ เราต้องมีเพื่อนบ้าน ซึ่งก็คือชุมชนรอบๆ นั่นเอง”
แต่ทุกอย่างที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ความสำเร็จหรือความเก่งของใครเพียงคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นผลจากการรวมพลังของกลุ่มคนพิการที่เชื่อมั่นในศักยภาพของตัวเอง และเปลี่ยนพลังออกมาเป็นผลงานให้ทุกคนได้เห็น
ถ้าคนพิการยืมจมูกคนอื่นหายใจ เมื่อเขาไม่ให้ลมหายใจเราก็ตาย แต่ถ้าเราหายใจเองได้ตลอดโดยการทำงาน เราก็อยู่รอดได้โดยไม่เป็นภาระใคร
คนทั่วไปอาจเริ่มต้นธุรกิจจากศูนย์ แต่คนพิการกลุ่มนี้เหมือนเริ่มต้นทุกอย่างจากติดลบ
โต้ง เคยเป็นพนักงานบริษัทเอกชน ก่อนประสบอุบัติเหตุจนกระดูกคอหัก นอนติดเตียงอยู่ 3-4 ปี ในที่สุดเขารวบรวมพลังใจ ลุกขึ้นมาใช้ชีวิตแบบมนุษย์ล้อ และไม่เคยหยุดฝึกฝนหาความรู้เพิ่มเติม
เอ๋ พิการทางการเคลื่อนไหว ด้วยความที่เป็นผู้หญิงจึงอาย กลัวการออกไปเจอสังคมภายนอก กระทั่งวันหนึ่งก้าวข้ามความกลัว กล้าเปลี่ยนแปลงตัวเอง จนสามารถขับรถยนต์ และทำทุกอย่างได้ไม่ต่างจากคนไม่พิการ
ดำรงค์ จากกำลังหลักของครอบครัว ต้องกลายเป็นคนพิการเมื่อลูกคนเล็กเพิ่งคลอดได้ 20 วัน หลังจากเดินไม่ได้อยู่ 2 ปี เขาก็ฮึดสู้ขึ้นมาทำกายภาพบำบัด มองหาอาชีพที่ทำแล้วได้เงินทุกวัน จนมาขายลูกชิ้นทอด และทำนาทำการเกษตรเป็นอาชีพเสริม จนได้รับเลือกเป็นรองประธานชมรมฯ สมัยเดียวกับโต้ง
เส้นทางชีวิตของทั้ง 3 คนนั้นคล้ายกับคนพิการคนอื่นๆ ในกลุ่ม คือต้องดิ้นรนฝ่าฟัน โดยไม่มีเส้นทางลัดใดๆ เพราะฉะนั้นในวันนี้ที่พวกเขามีธุรกิจของตนเอง และมีรายได้นำมาเลี้ยงดูครอบครัวโดยไม่เป็นภาระของใคร จึงนับเป็นความภูมิใจอย่างยิ่งในชีวิต
“ถ้าคนพิการยืมจมูกคนอื่นหายใจ ถ้าเขาไม่ให้ลมหายใจเราก็ตาย แต่ถ้าเราหายใจเองได้ตลอดโดยการทำงาน เราก็อยู่รอดได้โดยไม่เป็นภาระใคร” โต้งพูดถึงความสำคัญของการที่คนพิการได้ทำงาน
“อย่างผมเองรู้สึกภูมิใจนะครับที่สามารถส่งลูกเรียนได้ คนหนึ่งใกล้จะจบ และเราก็อยู่ในสังคมได้ อย่างไม่ต้องก้มหน้าหลบใคร อีกอย่างหนึ่งคือพอเราอยู่ตัวแล้ว เราก็สามารถช่วยเหลือคนอื่นที่ด้อยโอกาสในกลุ่มได้ คือไม่ใช่เราคนเดียว แต่ดึงคุณภาพชีวิตคนอื่นขึ้นมาได้ด้วย อันนี้เป็นความภูมิใจที่ดีมากๆ” ดำรงค์กล่าวด้วยความปลาบปลื้มใจ
จากวันแรกที่ตั้งต้นจากสมาชิก 18 คน ถึงวันนี้กลุ่มของพวกเขาขยายเป็นกว่า 60 คน ดำเนินงานในรูปแบบของสหกรณ์ โดยจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน @View Share Farm แหล่งเงินทุนหลักยังมาจากการสนับสนุนของผู้ประกอบการตามมาตรา 35
ทุนส่วนหนึ่งนำมาใช้ในการดำเนินการในฟาร์ม และมีการจ่ายเงินปันผลทุกปี อีกส่วนหนึ่งจะนำมาพิจารณาเพื่อเป็นเงินทุนสนับสนุนให้กับสมาชิกในกลุ่มที่แยกไปประกอบอาชีพแบบรายบุคคล ความยากในการบริหารเงินส่วนนี้คือต้องพิสูจน์ผลงานให้เห็นว่า เมื่อแยกตัวออกไปแล้ว พวกเขาสามารถไปต่อยอดธุรกิจได้จริง ซึ่งก็มีสมาชิกไม่น้อยที่ยกระดับชีวิตตนเองขึ้นมาได้จากเงินก้อนนี้
อย่างคนหนึ่งได้รับทุนไปปลูกดาวเรือง ทุกวันนี้เขาสามารถปลูกขายส่งทั้งตลาดไท ทั้งตลาดสี่มุมเมือง จนมีรถขับ มีรายได้สามารถเลี้ยงตัวเองและครอบครัว
บางคนก็นำไปลงทุนเลี้ยงไก่ไข่ หรือมนุษย์ล้ออีกคนหนึ่งนำไปลงทุนเลี้ยงหมู ก่อนต่อยอดมาเป็นการผสมพันธุ์หมูเอง และขายลูกหมู ซึ่งสร้างกำไรเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว
มาถึงวันนี้ @View Share Farm ไม่เพียงเป็นโมเดลของการทำธุรกิจของคนพิการที่ทำให้สังคมเห็นว่า คนพิการเมื่อรวมพลังกัน ไม่ได้เป็นภาระแต่เป็นพลัง พวกเขายังเป็นต้นแบบให้กับกลุ่มคนพิการในจังหวัดอื่นๆ มาดูงาน เช่น อุบลราชธานี หนองบัวลำภู ตาก ประจวบคีรีขันธ์ ฯลฯ
“ตรงนี้เราอยากให้คนเห็นว่า คนพิการสามารถทำอาชีพได้ทุกอย่าง สำหรับเราขอเป็นตัวอย่างในการประกอบอาชีพแบบกลุ่ม ถามว่ายากไหม ยากแน่นอน เพราะไม่เหมือนการทำงานคนเดียว แต่ข้อได้เปรียบของคนพิการที่รวมกลุ่มกัน คือเราแชร์ความคิด แชร์ประสบการณ์ แชร์ทุกอย่างที่มี ถ้าเป็นภาษาบ้านๆ ก็ทอดผ้าป่าความคิด เพื่อให้การดำเนินงานออกมาดีที่สุด” โต้งกล่าว
แน่นอนว่าระหว่างทางไม่ได้ราบรื่นเหมือนโรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะต่างคนต่างที่มา ต่างความคิด แต่ทุกคนก็ยึดถือเป้าหมายของกลุ่มเป็นหลัก ช่วยกันวางแนวทาง สร้างความเข้าใจร่วมกัน และเคารพกติกา ในที่สุดก็จะผ่านปัญหาและอุปสรรคไปได้
“ถามว่าเหนื่อยไหม ท้อไหม ก็มีบ้างนะ แต่ผมบอกเลยว่า สิ่งที่ผมท้อตอนนี้ไม่เท่ากับความรู้สึกท้อตอนที่นอนติดเตียง ตอนนี้ถึงจะเหนื่อย เพราะต้องผลักดันไปทั้งกลุ่ม แต่สุดท้ายแล้วมันก็ต้องมีทางออกทางใดทางหนึ่ง” โต้งกล่าวในฐานะผู้นำ
สำหรับอนาคต พวกเขามองว่า อยากจะขยายจากธุรกิจเกษตรเชิงท่องเที่ยว ต่อยอดออกไปสู่ชุมชนท่องเที่ยว ภายในระยะทาง 10 กิโลเมตรรอบฟาร์มสเตย์ ซึ่งมีทั้งวัด สวนองุ่น สวนพุทรา สวนทุเรียน ผลิตภัณฑ์หมู่บ้าน หากเกิดขึ้นก็จะทำให้ผู้มาเยือนมีกิจกรรมที่หลากหลาย และยังเป็นการกระจายรายได้ออกไปในชุมชน
“พวกเราเองไม่ได้คาดหวังอะไรมาก แค่อยากให้ที่นี่ยังสามารถดูแลทั้งคนพิการในกลุ่ม รวมทั้งดูแลคนในชุมชนที่มาทำงานร่วมกับเรา ช่วยดึงให้เกิดเรื่องของเศรษฐกิจในชุมชนด้วย” เอ๋พูดถึงภาพที่อยากเห็นในวันข้างหน้า
ทั้งหมดนี้คือ เรื่องราวของ @View Share Farm ต้นแบบของชุมชนที่สะท้อนให้เห็นว่า คนพิการ คือ อีกพลังสำคัญที่สร้างการเปลี่ยนแปลงบางอย่างให้เกิดขึ้นในสังคมได้เช่นกัน
ปฏิบัติการชุมชนเปลี่ยนโลก : โครงการของเพจยอดมนุษย์..คนธรรมดา ซึ่งนำเสนอเรื่องราวของ 15 ชุมชนหรือเครือข่ายที่รวมพลังกันทำงานเพื่อความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
@View Share Farm คือเครือข่ายชุมชนต้นแบบประเด็นยุติความยากจนทุกรูปแบบในทุกที่ (SDGs ข้อที่ 1), ประเด็นส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน การจ้างงานที่มีคุณค่า (SDGs ข้อที่ 8), ประเด็นลดความไม่เสมอภาคภายในและระหว่างประเทศ (SDGs ข้อที่ 10) และประเด็นเสริมสร้างความแข็งแกร่งของกลไกการดำเนินงาน และฟื้นฟูหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs ข้อที่ 17)
เครือข่ายคนรุ่นใหม่ที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเมือง อย่างสร้างสรรค์ และเข้าใจถึงปัญหาของพื้นที่อย่างแท้จริง
เจ้าของบาร์แจ๊ซ ผู้ริเริ่มโครงการต่างๆ ทั้งดนตรี สิ่งแวดล้อม สังคม เพื่อยกระดับเมืองเชียงใหม่ให้เป็นดินแดนที่ของทุกคนอย่างแท้จริง
เครือข่ายอนุรักษ์ที่อยากส่งต่อเรื่องราว ความรู้เกี่ยวกับวาฬบรูด้า และผองเพื่อนในท้องทะเล เพื่อให้ทุกคนลุกขึ้นมาช่วยปกป้องทรัพยากรธรรมชาติใต้ผืนน้ำให้คงอยู่ตลอดไป
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง ที่ต้องบริหารงานภายใต้ข้อจำกัดมากมาย แต่เขาก็ไม่ท้อ เพื่อให้ประชาชนทุกเชื้อชาติสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างเท่าเทียม
เภสัชกรหญิง ผู้บุกเบิกยาสมุนไพรอภัยภูเบศร พร้อมฝันอันยิ่งใหญ่ที่อยากจะทำให้ปราจีนบุรีเป็นเมืองแห่งสมุนไพร
แรงบันดาลใจของเพื่อน 4 คนที่อยากช่วยแก้ปัญหาจราจรในเมืองกรุง จึงรวมตัวกันพัฒนาแพลตฟอร์มรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าเพื่อให้ที่มีจุดหมายปลายทางใกล้เคียงกัน มาร่วมเดินทางด้วยกันได้
เครือข่ายอนุรักษ์และดูแลแม่น้ำบางปะกง เพื่อให้เป็นสายน้ำที่อุดมไปด้วยความหลากหลายทางธรรมชาติยังคงอยู่ต่อไป เพื่อความยั่งยืนของประเทศไทย
ฟาร์มสเตย์จากโคราชที่ก่อตั้งโดยกลุ่มพิการ ซึ่งพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นถึงศักยภาพที่ยิ่งใหญ่ด้วยการสร้างสถานที่ท่องเที่ยวที่พร้อมรองรับทุกคน
แรงบันดาลใจของเพื่อน 4 คนที่อยากช่วยแก้ปัญหาจราจรในเมืองกรุง จึงรวมตัวกันพัฒนาแพลตฟอร์มรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าเพื่อให้ที่มีจุดหมายปลายทางใกล้เคียงกัน มาร่วมเดินทางด้วยกันได้
คู่รักนักเพศวิทยาที่ตัดสินใจเปิดพื้นที่ปลอดภัยให้ทุกคนได้มาพูดคุยเรื่องเพศของตัวเองอย่างตรงไปตรงมา พร้อมเป็นสื่อกลางถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องเพศที่เหมาะสมต่อสาธารณชน
องค์กรที่ทำหน้าที่ผู้พิทักษ์อาหาร ส่งต่ออาหารส่วนเกินจากภาคส่วนต่างๆ เพื่อสร้างความสุขให้แก่ผู้คนที่ขาดแคลน และปราศจากโอกาส
‘คนฝั่งธน’ รุ่นใหม่ ที่อยากขอทำหน้าที่เป็นสื่อกลาง คอยชักชวนผู้คนในพื้นที่ ให้มาร่วมกันบอกเล่าถึงเสน่ห์ของเมืองหลวงเก่าแห่งนี้
COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO. ALL RIGHTS RESERVED.