MuvMi : แพลตฟอร์มตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า เชื่อมซอยสู่เมืองด้วยไอเดียทางเดียวกันไปด้วยกัน

<< แชร์บทความนี้

เชื่อว่ามีคนกรุงอีกมากที่ไม่อยากขับรถ ถ้าเป็นไปได้ก็อยากใช้บริการขนส่งสาธารณะมากกว่า

แต่ปัญหาคือ ระบบที่มีอยู่ยังไม่ตอบโจทย์ชีวิตเท่าใดนัก ทั้งเรื่องราคาและความปลอดภัย แถมบ่อยครั้งยังเข้าไปไม่ถึงจุดหมายปลายทางซึ่งเป็นตรอกซอกซอยขนาดเล็ก เนื่องจากรถขนส่งสาธารณะทั่วไป ทั้งรถไฟฟ้า รถประจำทาง หรือรถสองแถว มักให้บริการตามถนนสายหลักมากกว่า ซึ่งพอคนส่วนใหญ่ไม่มีทางให้เลือก สุดท้ายก็ต้องหันไปใช้รถส่วนตัว กลายเป็นปัญหาจราจรที่ไร้ทางเยียวยา

การอุดช่องว่างระหว่างขนส่งมวลชนสายหลักกับการเดินทางไมล์สุดท้าย กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ชายหนุ่ม 4 คน ได้แก่ มิก-กฤษดา กฤตยากีรณ, เมฆ-เมธา เจียรดิฐ, อั๋น-พิพัฒน์ ตั้งสิริไพศาล และ ตี้-ศุภพงษ์ กิติวัฒนศักดิ์ ลุกขึ้นมาทำ MuvMi นวัตกรรมการเดินทางที่ชักชวนให้ทุกคนมาร่วมเดินทางด้วยกันได้ โดยใช้รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าในรูปแบบแชร์ที่นั่ง ซึ่งประหยัด ปลอดภัย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แถมยังซอกแซกไปตามซอกซอยต่างๆ ได้ ไม่แพ้แท็กซี่หรือมอเตอร์ไซค์เลย

ที่ผ่านมา MuvMi ได้เปิดให้บริการตามย่านต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ ทั้งจุฬาฯ-สามย่าน, อารีย์-ประดิพัทธ์, สุขุมวิท, พหลโยธิน-เกษตร, อ่อนนุช, บางซื่อ, ชิดลม-ลุมพินี, อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ, สีลม-สาทร, ลาซาล-แบริ่ง และรัตนโกสินทร์ มีผู้ใช้บริการกว่า 10 ล้านทริปผู้โดยสาร เกิดเป็นเครือข่ายคมนาคมที่แข็งแรงที่ผู้คนในเมืองหันมานิยมใช้กันมากขึ้น

เพื่อฉายให้เห็นไอเดียและความมุ่งมั่นของพวกเขาทั้ง 4 คน ยอดมนุษย์..คนธรรมดา และกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จึงชักชวนมิก ในฐานะ CEO ของ MuvMi มาเล่าที่มาที่ไปของขนส่งมวลชนทางเลือกใหม่ และเมืองในฝันที่พวกเขาอยากเห็นต่อไปในอนาคต

ไปฉันไปด้วยคน

เมืองยิ่งใหญ่ ใช่ว่าการเดินทางจะยิ่งสะดวก

เพราะหากใช้รถส่วนตัว ก็ต้องเผชิญกับปัญหารถติด แต่ถ้าใช้รถสาธารณะก็อาจต้องรับมือกับการต่อรถหลายเที่ยว กว่าจะไปถึงจุดหมาย ต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก หรือบางครั้งปลายทางก็ไม่มีขนส่งมวลชนเข้าถึงอีกต่างหาก กลายเป็นปัญหาอิหลักอิเหลื่อที่แก้ไม่ตกสักที

มิกคือหนึ่งในผู้ที่ต้องเผชิญกับวิกฤตการเดินทางในเมืองหลวง

แม้ส่วนตัวจะเป็นคนชอบรถมาตลอด ถึงขั้นเรียนปริญญาตรี-โท-เอก ด้านวิศวกรรมยานยนต์โดยเฉพาะ แถมยังเคยทำวิจัยเรื่องรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติสมัยได้ทุนไปเรียนต่อที่อังกฤษ แต่พอกลับมาเมืองไทยกลับต้องเผชิญวิกฤตจราจรบ่อยๆ จนรู้สึกเครียด สุดท้ายจึงต้องหันมานั่งรถไฟฟ้าไปทำงานแทน

แต่ปัญหาไม่ได้หมดแค่นั้น เนื่องจากออฟฟิศกับสถานีรถไฟฟ้านั้นห่างกันราว 1 กิโลเมตร หากให้เดินเท้าไปช่วงเย็นๆ ก็คงไม่เป็นปัญหา แต่ถ้าเป็นตอนกลางวัน อากาศร้อนๆ ก็ไม่ไหวเหมือนกัน ส่วนจะให้ไปใช้บริการมอเตอร์ไซค์วินก็ไม่สบายใจ ขณะที่แท็กซี่ก็แพงเกินไป เพราะฉะนั้นคงจะดีไม่น้อย หากมีนวัตกรรมมาช่วยอุดปัญหาตรงนี้ จนมาได้แรงบันดาลใจจากรถสามล้อเครื่องที่ให้บริการแถวถนนพระราม 4

“ตอนเช้าๆ คนไม่ค่อยใช้รถสามล้อเท่าไหร่ อาจเพราะแพงกว่ามอเตอร์ไซค์ แต่ตอนเที่ยงพักกินข้าวคนใช้เต็มเลย ซึ่งคงเกี่ยวกับเรื่องการแชร์ด้วย เพราะพอแชร์ได้ ต้นทุนก็ถูกลง อีกอย่างคือทุกคนรู้จักกัน ดังนั้นก็จะรู้อยู่แล้วว่าแต่ละคนจะไปไหน พอดีเวลานั้นเทคโนโลยีมือถือเริ่มพัฒนาแล้ว เราก็เลยคิดว่าจะเป็นไปได้ไหมที่แต่ละคนจะแชร์รถกัน ต่อให้ไม่ต้องรู้จักกันก็ตาม จึงนำมาสู่ไอเดียนี้

ครั้งแรกยังไม่ได้คิดว่าต้องเป็นสามล้อ แต่พอมาดูดีๆ แล้ว สามล้อมีจุดแข็งที่ความคล่องตัวสูง และเหมาะกับสภาพถนนของเมืองไทยในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะพื้นที่ซึ่งเป็นซอยแคบๆ และถ้าเราไปดูในยุโรป เมืองเก่าๆ ก็จะเห็นสามล้อเหมือนกัน เพราะของเขาเป็นถนนไม่ใหญ่มาก เราจึงมองว่าสามล้อเหมาะจะเป็นแพลตฟอร์มที่จะนำไปพัฒนาต่อ

มิกจึงรวบรวมสมัครพรรคพวกที่คุ้นเคย มาตั้งบริษัทชื่อ Urban Mobility Tech ประกอบด้วย อั๋น เพื่อนจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งทำงานเรื่องยานยนต์มานาน เคยบุกเบิกรถป๊อปหรือรถโดยสารภายในจุฬาฯ รุ่นแรก ตั้งแต่สิบกว่าปีก่อน

ต่อมาคือ ตี้ เพื่อนเตรียมพัฒน์อีกคน ซึ่งแม้จะจบสถาปัตยกรรมศาสตร์ แต่ที่ผ่านมาก็กลับไปช่วยบริหารธุรกิจของครอบครัว จึงมีประสบการณ์เกี่ยวกับการตลาดค่อนข้างมาก ที่สำคัญยังมีไอเดียซนๆ มานำเสนอเพื่อนๆ อยู่เสมอ และสุดท้ายคือ เมฆ เพื่อนสมัยเรียนปริญญาเอก ซึ่งเชี่ยวชาญการพัฒนาระบบซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์เป็นพิเศษ

เมื่อได้ทีมครบถ้วน ทั้งหมดก็เริ่มวางโมเดลการทำงานในฝัน โดยพวกเขาเลือกรถสามล้อไฟฟ้ามาเป็นหัวใจในการขับเคลื่อน แม้ในช่วงปี 2559 รถยนต์ไฟฟ้าจะเป็นเรื่องใหม่ แถมมีราคาสูง แต่ทั้งสี่ก็เชื่อว่า เทคโนโลยีนี้ตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อมมากที่สุด และในอนาคตราคาก็จะถูกลงเรื่อยๆ

ส่วนเส้นทางการเดินรถก็จะเน้นเป็นโซนหรือย่านที่ไม่ใหญ่นัก เพื่อเชื่อมต่อตรอกซอกซอยต่างๆ กับระบบขนส่งมวลชนอื่นๆ

“เป้าหมายของเราคืออยากแก้ปัญหาเรื่องการเดินทางในเมือง เราต้องการบริการชุมชน อย่างไรถึงช่วยให้เขาเดินทางง่ายขึ้น โดยไม่ต้องพึ่งพารถส่วนตัวมาก”

ขณะที่วิธีใช้บริการก็ไม่ใช่การโบกรถอยู่ข้างถนน แต่ทุกอย่างจะดำเนินการผ่านแอปพลิเคชัน โดยผู้โดยสารฃเลือกจุดหมายปลายทางที่ต้องการ จากนั้นระบบก็จะคำนวณเส้นทางเพื่อหารถไปรับ การเดินทางนี้มีทั้งระบบเหมายกคัน และระบบแชร์กับผู้โดยสารอื่น ซึ่งแต่ละคันรองรับได้ 6 คน สำหรับแบบหลังนั้น บางครั้งรถอาจจะต้องขับอ้อมเพื่อไปส่งผู้โดยสารคนอื่นก่อน แต่ข้อได้เปรียบคือ ราคาที่ถูกกว่าแบบแรก รวมถึงย่อมเยากว่ารถสาธารณะอีกหลายประเภท

ทว่าการเปลี่ยนไอเดียให้กลายเป็นความจริงต้องใช้เวลา โดยเฉพาะการพัฒนารถสามล้อไฟฟ้า ซึ่งอั๋นเป็นผู้รับผิดชอบ ดังนั้นหลังจากเมฆพัฒนาซอฟต์แวร์เสร็จเรียบร้อย ทั้ง 4 คนจึงสร้างโมเดลธุรกิจอื่น เพื่อทดสอบตลาดและเรียนรู้การทำงานของระบบปฏิบัติการต่างๆ

Tuk Tuk Hop บริการการท่องเที่ยวรอบเกาะรัตนโกสินทร์ ด้วยรถสามล้อเครื่องจึงถือกำเนิดขึ้น

เพราะการเดินทางท่องเที่ยวในย่านนี้โดยเฉพาะชาวต่างชาติค่อนข้างลำบาก อย่างเวลาจะเดินทางจากวัดพระแก้วไปยังวัดเบญจมบพิตรหรือภูเขาทองก็ทำได้ยาก บ่อยครั้งอยากนั่งแท็กซี่ แต่คนขับก็ไม่ยอมกดมิเตอร์ พวกเขาจึงนำแนวคิดการท่องเที่ยวแบบ Hop-On Hop-Off ซึ่งเป็นที่นิยมในต่างประเทศมาประยุกต์ใช้ โดยนักท่องเที่ยวสามารถให้รถจอดตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ได้ และพอเที่ยวเสร็จก็ใช้แอปพลิเคชันเพื่อเรียกรถคันใหม่ โดยจ่ายเงินเพียงครั้งเดียว ที่สำคัญยังเป็นการเปิดประสบการณ์เที่ยวด้วยรถตุ๊กตุ๊ก ซึ่งเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ของประเทศไทยอีกด้วย

ไม่เพียงแค่นักท่องเที่ยวต่างชาติที่สนใจ คนไทยจำนวนไม่น้อยก็นิยมใช้บริการของ Tuk Tuk Hop โดยเฉพาะกลุ่มไหว้พระ 9 วัด เพราะหากคิดค่าโดยสารแบบเหมาทั้งวันแล้ว ต้องถือว่าทั้งถูกและสะดวกกว่านั่งแท็กซี่ค่อนข้างมาก นับเป็นโมเดลที่ประสบความสำเร็จและจุดกระแสการท่องเที่ยวได้ดีพอสมควร

ประสบการณ์จาก Tuk Tuk Hop กลายเป็นพื้นฐานสำคัญที่ช่วยให้พวกเขาเดินหน้าสู่โมเดล MuvMi ที่คิดไว้ตั้งแต่เริ่มแรก โดยหลังจากใช้เวลาพัฒนารถอยู่ 2 ปีเต็ม ในที่สุด รถสามล้อไฟฟ้ารุ่นแรก ซึ่งมีบริษัทบ้านปูมาช่วยสนับสนุนงบประมาณ และบริษัทไทยรุ่งยูเนียนคาร์ มาช่วยเรื่องการผลิต ก็สำเร็จลุล่วง พร้อมออกเดินทาง เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ของชาวกรุงเทพฯ

ทุกอย่างคือการเรียนรู้

MuvMi มาจากคำว่า Move Me เปิดตัวครั้งแรกในช่วงปลายปี 2561 ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะส่วนหนึ่งของโครงการ Chula Smart City ซึ่งบริหารโดยสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ โดยมีรถตุ๊กตุ๊กให้บริการทั้งหมด 2 คัน

“ตอนนั้นเรามีโอกาสได้พูดคุยกับ รศ.ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล ซึ่งเวลานั้นเป็นรองอธิการบดีจุฬาฯ ดูแลสำนักทรัพย์สินฯ อาจารย์เคยเห็นตัวอย่างงานของเราจาก Tuk Tuk Hop แล้วก็พอเข้าใจคอนเซ็ปต์ของ MuvMi ว่าทำไมถึงต้องทำเฉพาะย่านด้วย อาจารย์ก็เลยบอกให้มาทดลองที่นี่ ถือเป็นโอกาสดี เพราะนอกจากเรื่องพื้นที่แล้ว จุฬาฯ ยังอนุญาตให้เราติดตั้งที่ชาร์จไฟฟ้าด้วย เพราะถ้าย้อนกลับไปเวลานั้น จุดชาร์จรถไฟฟ้าในเมืองไทยหายากมาก”

จุดเด่นอย่างหนึ่งของโครงการ Chula Smart City คือ มีระบบคมนาคมให้นิสิตนักศึกษา บุคลากร รวมถึงประชาชนทั่วไปที่เข้ามาในพื้นที่เลือกใช้หลากหลาย โดยเฉพาะ CU POP BUS หรือ ‘รถป๊อป’ รถโดยสารพลังงานไฟฟ้าที่ให้บริการฟรี ดังนั้นในช่วงแรกที่เข้าไปในจุฬาฯ จึงมีผู้ตั้งคำถามไม่น้อยว่า โมเดลแบบ MuvMi จะไปรอดได้อย่างไร

แต่พวกเขาก็มั่นใจว่า การเดินทางแต่ละอย่างตอบโจทย์ความต้องการไม่เหมือนกัน อย่างรถป๊อปถึงบริการฟรี แต่ก็มีจุดอ่อนตรงที่มีเส้นทางที่กำหนดชัดเจนมาแล้ว ซึ่งหากไม่ตรงกับจุดหมายที่ต้องการก็ไปไม่ได้เหมือนกัน แถมบางครั้งกว่ารถจะมาถึงก็กินเวลานาน จึงอาจไม่เหมาะในสถานการณ์ที่เร่งด่วน

เราพยายามให้บริการเป็น On-Demand คือเรียกเมื่อไหร่ก็ได้ตามความต้องการ ไม่ต้องรอรอบเวลา ไม่ได้วิ่งตามเส้นทางประจำแบบที่เคยมีอยู่ เพราะถ้าเรามองภาพในอดีตจะเห็นว่าการเดินทางขนส่งมวลชนจะมีลักษณะเป็น Fixed Route เป็นสถานี เป็นป้ายชัดเจน เพราะการทำราคาให้คนเข้าถึงได้ ต้องกำหนดจุดนัดพบที่คนมาได้เยอะๆ หรือถ้าคุณอยากได้ความสะดวกสบายก็เรียกแท็กซี่ได้ แต่ว่าแพงนะ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราทำคือ การสร้างจุดสมดุล โดยราคาเข้าถึงได้ แต่ก็ตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะของแต่ละคน

อีกอย่างคือ ด้วยความที่จุฬาฯ เป็นศูนย์รวมของคนรุ่นใหม่ จึงค่อนข้างเปิดรับและกล้าทดลองนวัตกรรมต่างๆ อยู่เสมอ โดยโมเดลที่ MuvMi นำมาใช้คือ การนำระบบข้อมูลและการประมวลผลทางคอมพิวเตอร์มาจับคู่ผู้โดยสารในแต่ละเที่ยว บริหารจัดการเส้นทาง เพื่อให้ไปถึงจุดหมายปลายทางในระยะเวลาที่รวดเร็วขึ้น แต่ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย บ่อยครั้งระบบก็ผิดพลาด จึงต้องอาศัยความอดทนที่จะลองผิดลองถูกร่วมกันของทั้งเจ้าของแพลตฟอร์ม คนขับ และผู้ใช้บริการ

“ช่วงเริ่มต้นมีหลายอย่างที่ท้าทายเหมือนกัน ตั้งแต่ผลิตรถไม่ทัน พอผลิตทันแล้วคนขับจะหาจากไหน บางพื้นที่ก็อาจจะต้องรอนาน หรือบางครั้งระบบก็ยังคำนวณเส้นทางออกมาไม่ดีพอ จึงสั่งให้คนขับวิ่งรถวนรอบสระน้ำจุฬาฯ 2 รอบ จนคนขับโทรศัพท์มาบอกว่า ไม่ใช่ระบบแล้ว นี่คนแกล้งกันต่างหาก ซึ่งพอเราไปดู ปรากฏว่าเกิดจากผู้ใช้กดยกเลิกแล้วก็เรียกใหม่ ซึ่งเขาไม่รู้ตัว แล้วระบบก็ทำตาม

“บางทีพอเป็นการเดินทางเส้นทางเดียวกัน คนนั่งก็จะรู้สึกว่าเขาควรจะได้เลี้ยวซ้าย แต่รถกลับเลี้ยวขวา ทั้งที่บางทีเลี้ยวขวาแค่นิดเดียว เพราะไปรับหรือส่งอีกคนหนึ่ง แล้วค่อยกลับมา ซึ่งหลายๆ เรื่องก็ต้องมาปรับปรุง หรือใช้เวลาอธิบายเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน”

หลังใช้เวลาพัฒนาระบบอยู่พักใหญ่ ระบบต่างๆ ก็เริ่มเข้าที่เข้าทาง มีนักเรียน นิสิตนักศึกษา รวมถึงผู้คนในละแวกสามย่านเข้ามาใช้บริการเป็นจำนวนมาก และเกิดกระแสปากต่อปาก ผู้ก่อตั้งทั้ง 4 คน จึงคิดว่าอาจถึงเวลาแล้วที่จะขยายเส้นทางของ MuvMi ตามที่ตั้งใจไว้แต่แรก

จากสามย่านสู่กรุงเทพฯ

เคยมีคนเปรียบกรุงเทพฯ ว่าเป็นเหมือนใยแมงมุม เพราะไม่ว่าไปจุดไหนก็เต็มไปด้วยตรอกซอกซอยมากมาย บางคนถึงขั้นบอกว่า ต่อให้เข้าซอยไปแล้ว แต่ถ้าไม่มี GPS ก็อาจหลงทางได้

เพราะฉะนั้นการเลือกพื้นที่แห่งที่ 2 ของ MuvMi จึงไม่ใช่โจทย์ง่ายๆ เลย ครั้งนั้นพวกเขาตัดสินใจเลือกโซนอารีย์-ประดิพัทธ์

เหตุผลแรกคือ ออฟฟิศของ MuvMi ตั้งอยู่ที่นี่ ทั้ง 4 คนจึงพอเข้าใจสภาพปัญหาและสิ่งที่ผู้คนต้องการพอสมควร แต่อีกเหตุผลที่สำคัญกว่าคือ ที่นี่เป็นเสมือนภาพสะท้อนที่ชัดเจนของเมืองหลวง เพราะเป็นย่านเก่าที่ไม่มีการวางผังเมืองมาตั้งแต่ต้น พื้นที่ในซอยก็ค่อนข้างแคบจนรถยนต์แทบสวนกันไม่ได้ ที่สำคัญยังอยู่ใกล้รถไฟฟ้าทั้งอารีย์และสะพานควาย เต็มไปด้วยพนักงานออฟฟิศหลายหมื่นคน ดังนั้นหากพัฒนาระบบที่นี่ได้สำเร็จ ก็ย่อมไม่ใช่เรื่องลำบากที่จะขยายบริการไปสู่โซนอื่นๆ

“คนทำงานจะแตกต่างจากนิสิตนักศึกษา เพราะถ้าเป็นเด็กพอเขาเห็นก็อยากลองเลย แต่พอโตขึ้นมาหน่อยก็ต้องอาศัยเวลา เราก็ต้องไปเจาะจุดตามออฟฟิศต่างๆ ว่าเป็นแบบนี้นะ แล้วทำไมเราต้องวิ่งเป็นโซน ทำไมไปจุฬาฯ หรือที่ไกลๆ ไม่ได้ เริ่มไปเปิดจุดให้บริการตามแลนด์มาร์กสำคัญ เช่น ตามสถานี BTS หรือคอนโดมิเนียม โดยคอนเซ็ปต์ที่เราวางไว้คือ การอยู่ร่วมกันอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย ดังนั้นเราจะไม่ทับป้ายรถเมล์ หรือหากเกิดมีวินมอเตอร์ไซค์ เราก็จะถอยออกมาหน่อย”

ที่สำคัญยังเปิดโอกาสให้ผู้ใช้บริการมีส่วนร่วมในการกำหนดจุดรับส่งที่เอื้อต่อการใช้งานมากที่สุด เพื่อให้ MuvMi ตอบโจทย์ชีวิตประจำวันของทุกคนได้อย่างแท้จริง และหลังจากนั้นไม่นาน ชื่อของบริการรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้านี้ก็กลายเป็นตัวเลือกหนึ่งที่ผู้คนในละแวกนั้นนึกถึง

นอกจากการเข้าไปอยู่ในใจของผู้โดยสารให้ได้แล้ว การพัฒนาต่อยอดของเดิมที่มีอยู่ให้ดียิ่งขึ้นก็เป็นอีกเรื่องที่ละเลยไม่ได้ อย่างรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าที่ใช้งานอยู่นั้น ก็ต้องมีการพัฒนาปรับปรุงสม่ำเสมอ ทั้ง การจัดวางที่นั่ง วัสดุและขนาดความกว้างของตัวเบาะ หรือแม้แต่ความสูงของรถ เพื่อให้ผู้ใช้บริการรู้สึกสบาย ทุกคนเข้าออกรถได้สะดวก ไม่เบียดเสียด เพราะหัวใจของ MuvMi คือการเดินทางด้วยกัน

เช่นเดียวกับเรื่องความปลอดภัย คำพูดหนึ่งที่มิกเคยกล่าวกับอั๋นตั้งแต่ครั้งแรกที่เริ่มพัฒนารถคือ ต้องให้ลูกของตัวเองสามารถนั่งบนรถได้ด้วย เพราะฉะนั้นก่อนจะเริ่มออกวิ่ง จึงมีการทดสอบโครงสร้างความแข็งแกร่ง ซึ่งผลลัพธ์ที่ออกมาก็อยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ

ส่วนคนขับก็ต้องมีการอบรมอย่างดี เพราะแม้บางคนจะเคยขับรถสามล้อเครื่องมาก่อน แต่รถไฟฟ้านั้นไม่เหมือนกัน ทั้งน้ำหนัก ตัวเครื่อง เสียงรถ ซึ่งหากไม่คุ้นเคยก็ยากจะขับได้ดี จึงต้องมีการอบรมให้ความรู้ นำแบบทดสอบต่างๆ มาฝึกปฏิบัติ เช่น ถอยหลังอย่างไร ถ้าเจอกรวยต้องทำอย่างไร รวมถึงแนะนำให้ทุกคนคาดเข็มขัดนิรภัย และหากรายใดไม่เคยมีใบอนุญาตขับรถสาธารณะมาก่อน ทีมงานของ MuvMi ก็รับอาสาเป็นผู้พาทุกคนไปสอบที่กรมขนส่งทางบกให้อีกด้วย

การสนับสนุนให้ทุกคนมีหัวใจของการเป็นผู้บริการที่ดีก็สำคัญไม่แพ้กัน โดย MuvMi มีหลักคิดว่า Happy driver, happy customer พนักงานต้องมีความสุข มีเวลาทำงานที่ชัดเจน ไม่รู้สึกกดดัน เพราะคนขับนั้นถือเป็นด่านหน้าที่ใกล้ชิดกับลูกค้า หากทุกคนมีอัธยาศัยดี ทำงานด้วยความสุข ลูกค้าก็ย่อมอยากกลับมาใช้บริการเรื่อยๆ

ปัจจุบัน MuvMi มีรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าให้บริการมากกว่า 700 คัน เดินทางมาแล้วกว่า 10 ล้านเที่ยว ผู้ใช้บริการเฉลี่ยวันละ 20,000 คน โดยมีจุดรับส่งไปแล้วกว่า 3,000 จุด ครอบคลุม 12 พื้นที่ให้บริการ ไม่ว่าจะเป็น อโศก, พหลโยธิน-เกษตร, อ่อนนุช หรือลาซาล-แบริ่ง รวมทั้งมีแนวคิดจะขยายไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ ทั้งหมดนี้ก็เพื่อตอบโจทย์การเดินทางของคนเมืองหลวงอย่างแท้จริง

รถของเรามันเคลื่อนย้ายไปไหนง่าย แล้วก็มีจุดชาร์จเต็มไปหมด ไม่เหมือนสมัยก่อนที่ต้องทำจุดชาร์จเองทั้งหมด ทำให้การเลือกเปิดพื้นที่ทำได้ง่ายขึ้น แต่หลักๆ เราก็ยังล้อไปตาม BTS กับ MRT เพราะอย่างน้อยก็ผ่านการวิเคราะห์เส้นทางมาแล้วว่า คนใช้เยอะเท่าไหร่ ซึ่งถือเป็นข้อบ่งชี้ได้ระดับหนึ่งว่าชุมชนตรงนี้มีคนแค่ไหน แต่ความท้าทายคือแต่ละโซนก็มีปัญหาและความต้องการไม่เหมือนกัน ซึ่งเราก็ต้องเรียนรู้ อย่างสุขุมวิทกับเกษตรพหลโยธิน คนก็จะกังวลเรื่องรถติด เราก็ต้องมาดูว่าพื้นที่เป็นอย่างไร และจะพัฒนาอะไรได้

ผมอยากให้ MuvMi เป็นส่วนหนึ่งในการเดินทางของคนในเมือง ทำให้เขาเปลี่ยนความคิดว่าไม่จำเป็นต้องมีรถของตัวเองก็ได้ เหมือนกับในยุโรปซึ่งคุณไปไหนก็ได้โดยไม่ต้องใช้รถ

MuvMi : แพลตฟอร์มตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า เชื่อมซอยสู่เมืองด้วยไอเดียทางเดียวกันไปด้วยกัน

สร้างโลกที่ดีกว่าเดิม

แม้ MuvMi จะเป็นองค์กรธุรกิจ แต่เป้าหมายที่ผู้ก่อตั้งต่างใฝ่ฝันคือ การยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในสังคมไทยให้ดีขึ้น

อย่างปัญหาจราจรที่หมักหมมมาหลายทศวรรษก็คงคลี่คลายได้ หากผู้คนหันมาใช้รถสาธารณะแทนรถส่วนตัวกันมากขึ้น แต่แน่นอนสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าระบบขนส่งสาธารณะที่เป็นเส้นเลือดฝอยของกรุงเทพฯ ยังไม่ได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้น

นี่คือสาเหตุสำคัญที่พวกเขาผลักดันโมเดลธุรกิจนี้มาอย่างต่อเนื่อง โดยนับตั้งแต่ก่อตั้งมีเรื่องราวที่น่าประทับใจเกิดขึ้นเต็มไปหมด

“ผมเคยขึ้นรถกับคุณป้าคนหนึ่ง ตอนนั้นผมงงมากว่าทำไมเขาถึงใช้แอปเป็น เพราะอย่างแม่ผมยังสอนยากเลย แต่พอคุยก็ทำให้เรารู้ว่า เขาไม่มีทางเลือกอื่นในการเดินทาง เพราะเดินไม่ไหวแล้ว และถ้าจะไปไหนก็ต้องพึ่งพาลูก จะให้นั่งแท็กซี่ตลอดก็ไม่ไหว ดังนั้น MuvMi จึงเป็นเครื่องมื่อที่ช่วยให้เขาได้เดินทางไปยังพื้นที่ต่างๆ หรืออย่างตอนเปิดที่จุฬาฯ ใหม่ๆ จากเดิมที่พ่อแม่จะต้องไปรอรับลูกที่โรงเรียนสาธิตฯ ก็บอกให้มาขึ้น MuvMi แทน”

ไม่ใช่แค่ฝั่งผู้ใช้บริการเท่านั้นที่ได้รับประโยชน์ เพราะคนขับเองหลายคนก็ได้มีงานมีอาชีพที่มั่นคง เพราะที่นี่มีรายได้ค่อนข้างแน่นอน มีประกันอุบัติเหตุ ที่สำคัญคือระบบเป็นฝ่ายจัดสรรคิวผู้โดยสารให้ จึงไม่ต้องหาผู้ใช้บริการเองแบบรถสาธารณะทั่วไป

ปัจจุบันมีคนขับทั้งประจำและชั่วคราวรวมแล้วกว่า 800 คน หลายคนเป็นสุภาพสตรี บ้างก็เป็นผู้สูงอายุ อย่างเช่น กรณีหนึ่งที่มิกยกตัวอย่างขึ้นมา คือคุณลุงซึ่งเป็นอดีตเชฟชื่อดัง แต่ภายหลังเกษียณอายุ จึงอยากหากิจกรรมยามว่าง จนได้มาเป็นพนักงานขับรถที่นี่ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมแจกรางวัลสำหรับลูกของพนักงานขับรถที่เรียนดี หรือช่วงที่ประเทศต้องเผชิญกับโรคระบาด นักท่องเที่ยวไม่เดินทางเข้ามา คนขับรถสามล้อหลายคนก็ผันตัวมาขับ MuvMi ชั่วคราว ทำให้เลี้ยงครอบครัวไปได้ในยามวิกฤต

ไม่เพียงแค่นั้น ร้านค้าหลายร้านในย่านที่ MuvMi วิ่งผ่าน ก็ขอให้ช่วยเปิดจุดรับส่งบริเวณหน้าร้าน หรือบางร้านก็อุดหนุนซื้อ MuvMi Voucher ซึ่งเป็นคูปองค่าโดยสารเพื่อบริการลูกค้า เพราะร้านเหล่านี้มักมีที่จอดรถจำกัด ส่งผลให้เกิดปัญหาจราจรติดขัด ลูกค้าบางคนต้องไปจอดรถไกลจากร้านเป็นกิโลเมตรแล้วเดินมา จนมีไม่น้อยที่เปลี่ยนใจหันไปร้านอื่นแทน ซึ่งพอร้านซื้อคูปองให้สิทธิพิเศษลูกค้านั่งรถตุ๊กตุ๊กได้ฟรี ก็ทำให้ใช้บริการได้สะดวกขึ้น ช่วยมัดใจลูกค้าได้อีกไม่น้อย

อีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กันคือ สิ่งแวดล้อม เพราะจากโมเดลธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า จึงไม่เกิดการเผาผลาญน้ำมันหรือแก๊สแบบรถทั่วไป

นับตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปี 2567 MuvMi ช่วยลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ไปแล้วกว่า 2,400 ตัน ซึ่งแม้อาจไม่ใช่ตัวเลขที่มากมาย แต่ก็ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีของการเปลี่ยนแปลงในระยะยาว โดยเฉพาะในเวลาที่เมืองหลวงของเราเต็มไปด้วยฝุ่นละอองที่มีอันตรายรุนแรง

ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ MuvMi เกิดขึ้น แม้ต้องยอมรับว่า ยังอยู่ห่างไกลจากความสำเร็จที่วางไว้ แต่อย่างน้อยสิ่งที่มิกและเพื่อนเริ่มต้นขึ้นก็ช่วยจุดประกายให้สังคมหันมาตระหนักถึงการสร้างสังคมที่ยั่งยืนไปด้วยกัน

สำหรับก้าวต่อไป พวกเขายังคงเดินหน้าพัฒนาระบบของตัวเองไม่หยุด อาทิ การร่วมมือกับกรุงเทพมหานครผลักดันหลักสูตรพนักงานขับรถสามล้อไฟฟ้า การทดลองบริการใหม่ๆ เช่น การรับส่งข้าวของต่างๆ หรือ Roami ซึ่งเป็นการนำระบบแบบ MuvMi เข้าไปใช้กับรถสองแถวในพื้นที่พัทยา เช่นเดียวกับ Tuk Tuk Hop ก็ไม่ได้หายไปไหน แต่ยังคงทำหน้าที่ให้บริการนักท่องเที่ยวที่ทยอยกลับมาเที่ยวเมืองไทยอีกครั้ง หลังวิกฤตทางด้านสุขภาพผ่านพ้นไป

เรายังอยู่ในจุดเริ่มต้น ความจริงผมอยากให้ MuvMi มีอิมแพกต์มากกว่านี้เยอะๆ ให้เป็นส่วนหนึ่งในการเดินทางของคนในเมือง ทำให้เขาเปลี่ยนความคิดว่าไม่จำเป็นต้องมีรถของตัวเองก็ได้ เหมือนกับประเทศในยุโรปซึ่งคุณไปไหนมาไหนก็ได้โดยไม่ต้องใช้รถ รวมทั้งทำยังไงก็ได้ให้ร้านค้าต่างๆ ไม่จำเป็นต้องอยู่บนถนนใหญ่ติด BTS เท่านั้น ไม่อย่างนั้นร้านที่อยู่ตามซอกหลืบจะทำอย่างไร ซึ่งถ้าเราทำได้สำเร็จ ก็น่าจะช่วยให้เศรษฐกิจในชุมชนดียิ่งขึ้น

โครงการปฏิบัติการชุมชนเปลี่ยนโลก

ปฏิบัติการชุมชนเปลี่ยนโลก : โครงการของเพจยอดมนุษย์..คนธรรมดา ซึ่งนำเสนอเรื่องราวของ 15 ชุมชนหรือเครือข่ายที่รวมพลังกันทำงานเพื่อความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

MuvMi คือเครือข่ายชุมชนต้นแบบประเด็นสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีความต้านทานและยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ครอบคลุมยั่งยืนและส่งเสริมนวัตกรรม (SDGs ข้อที่ 9), ประเด็นทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความทั่วถึง ปลอดภัย พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและยั่งยืน (SDGs ข้อที่ 11), ประเด็นสร้างหลักประกันให้มีรูปแบบการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน (SDGs ข้อที่ 12), ประเด็นดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบ (SDGs ข้อที่ 13) และประเด็นเสริมสร้างความแข็งแกร่งของกลไกการดำเนินงาน และฟื้นฟูหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs ข้อที่ 17)

<< แชร์บทความนี้

RELATED POSTS
LATEST

Keep In Touch

COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO.  ALL RIGHTS RESERVED.