ยังธน : กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่อยากทำให้ทุกคนรู้ว่า ‘ฝั่งธน’ เต็มไปด้วยเรื่องราวดีๆ

<< แชร์บทความนี้

ทั้งที่อยู่แค่ฝั่งตรงข้ามของแม่น้ำเจ้าพระยา แต่หลายๆ คนกลับรู้สึกว่า ความเจริญของ ‘ฝั่งธน’ มาช้ากว่า ‘ฝั่งพระนคร’

ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้า ห้างสรรพสินค้าระดับแลนด์มาร์ก แหล่งท่องเที่ยวยามราตรี การขยายถนน การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งกว่าจะเกิดขึ้นก็ต้องใช้เวลานานร่วมสิบปี จนบางคนชอบเปรียบตัวเองว่าเป็น ‘ลูกเมียน้อย’ ของเมืองหลวงแห่งนี้

แต่ถ้ามองลึกลงไปถึงรายละเอียดต่างๆ ฝั่งธนไม่ได้ด้อยกว่าแม้แต่น้อย เพราะเต็มเปี่ยมด้วยเรื่องราวมากมาย ทั้งสถาปัตยกรรม ศิลปวัฒนธรรม หรือแม้แต่วิถีชีวิตริมฝั่งคลอง ที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติไว้ได้ไม่เสื่อมคลาย ไปจนถึงร้านอร่อยที่ส่งสูตรเด็ดจากรุ่นสู่รุ่นมาเป็นร้อยปี

เสน่ห์เหล่านี้เองที่กลายเป็นแรงผลักดันให้คนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเกิดและเติบโตที่นี่รวมตัวก่อตั้ง ‘กลุ่มยังธน’ ด้วยความมุ่งมั่นอยากจะชักชวนผู้คนทั้งรุ่นเก่ารุ่นใหม่มาช่วยกันสร้างสรรค์ และออกแบบพื้นที่บ้านเกิดให้เติบโตอย่างยั่งยืน ผ่านการพูดคุยเสวนา และกิจกรรมต่างๆ ที่น่าสนใจ

อย่างเช่น ยังธนคัพ ซึ่งชักชวนน้องๆ มาแข่งขัน Street Football บนสนามที่แคบแต่เต็มไปด้วยเรื่องราวและความผูกพัน แถมยังแฝงไปด้วยการสื่อสารประเด็นพื้นที่สาธารณะ หรือเกมท่องธน และท่องธน Guidebook เกมและหนังสือออนไลน์ที่พาทุกคนไปสัมผัสเรื่องราวของอดีตของธนบุรี ช่วยเปิดประสบการณ์เดินทางในย่านบางกอกใหญ่ให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น พร้อมกระตุ้นเศรษฐกิจในย่านไปพร้อมกัน

เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่า ถึงจะเป็นเพียงแค่คนตัวเล็กๆ แต่กลับสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้เช่นกัน ยอดมนุษย์..คนธรรมดา และกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จึงพาทุกคนมาพูดคุยกับ 5 สมาชิกของกลุ่มยังธน ทั้ง ฮินฐากูร ลีลาวาปะ, เมฆเมฆ สายะเสวี, จั่น..จิรทิพย์ เทวกุล, บูรวิพล เส็นยีหีม และแทนแทนไท นามเสน ถึงเรื่องราวการทำงานตลอดหลายปีที่ผ่านมา รวมถึงไอเดียและภาพฝันที่มีต่อฝั่งธนเพราะที่นี่ยังมีเรื่องราวดีๆ ซุกซ่อนอยู่มากกว่าที่ทุกคนคิด

ชวนเพื่อนมาร่วมเปลี่ยนเมือง

ใครจะเชื่อว่า กลุ่มยังธนเริ่มขึ้นจากการทำปริญญานิพนธ์เพียงฉบับหนึ่งเท่านั้น

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2557 ฮิน ซึ่งเวลานั้นเป็นนักศึกษาปีสุดท้ายของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จำเป็นต้องทำปริญญานิพนธ์ส่งก่อนเรียนจบ และด้วยความผูกพันกับฝั่งธนมาตั้งแต่จำความได้ จึงหยิบยกพื้นที่นี้มาเป็นหัวข้อธีสิส โดยเน้นไปยังย่านตลาดพลู เรื่อยมาจนถึงวัดราชโอรส วัดหนัง และวงเวียนใหญ่

แต่เพราะไม่อยากเขียนงานเพียงลำพัง ด้วยมองว่าหากมีคนมาร่วมแชร์ไอเดียหรือเรื่องราวต่างๆ ก็คงจะทำให้ปริญญานิพนธ์ฉบับนี้สมบูรณ์ขึ้น

เขาจึงเริ่มส่งข้อความไปยังเพื่อนที่เรียนด้านสถาปัตยกรรมจากสถาบันอื่นๆ ซึ่งต้องทำงานวิจัยก่อนเรียนจบเหมือนกันว่า มีใครสนใจทำเรื่องราวเกี่ยวกับฝั่งธนบ้างไหม ผลปรากฏว่า มีคนเสนอตัวเข้ามาพอสมควร จนเกิดเป็นกลุ่มใน Facebook ชื่อว่า ‘ไซต์อยู่ฝั่งธนท่าพระ’

“เท่าที่เคยอ่านบทที่ 1 ของธีสิสต่างๆ มันคล้ายกันไปหมด แล้วตอนนั้นเพื่อนเยอะมาก 1 คนต่อ 1 สถาบันที่สอนด้านสถาปัตยกรรม ซึ่งพอเราประกาศไป ทำให้เกิด Win-Win Situation คือผมได้เห็นธนบุรีในมุมมองที่ได้เรียนมา แต่ขณะเดียวกันเราก็ได้เห็นพื้นที่จากแว่นอื่นๆ ด้วย เพราะในสายนี้จะมีทั้งสถาปัตยกรรมภายใน สถาปัตยกรรมหลัก ภูมิสถาปัตยกรรม และสถาปัตยกรรมผังเมือง ซึ่งเราได้เห็นมุมมองครบทุกมิติ และไม่ใช่แค่เฉพาะจุดที่ผมเลือกทำเท่านั้น แต่ยังขยายไปถึงย่านใกล้เคียงอื่นด้วย”

ในเวลานั้น ฮินเสนอหัวข้อ ‘พิพิธภัณฑ์ชุมชนตลาดพลู’ ซึ่งแตกต่างจากปริญญานิพนธ์ทั่วไป เพราะเขามุ่งความสนใจไปยังเมือง ไม่ใช่แค่อาคาร หรือสถานที่ใดสถานที่หนึ่งเท่านั้น

เขาบอกเหตุผลว่า จริงๆ แล้วเมืองก็ไม่ต่างจากอาคารหลังหนึ่งที่มีหลังคาเป็นท้องฟ้า ส่วนผนังของอาคารต่างๆ เทียบได้กับผนังภายในเมือง พอคนเราเปิดประตูจากอาคารของตัวเอง ก็จะเข้ามาสู่อาคารที่ใหญ่กว่าอย่างเมืองเป็นที่เรียบร้อย

นอกจากนี้ เขายังเคยมีประสบการณ์ร่วมกับย่านตลาดพลูมาก่อน เพราะสมัยเรียนมัธยมเคยมาซ้อมดนตรีเป็นประจำ บวกกับที่นี่ถือเป็นย่านประวัติศาสตร์ย่านหนึ่ง มีร้านค้า ตลาดที่ค่อนข้างใหญ่ แถมระบบคมนาคมก็ยังหลากหลาย ทั้งรถยนต์ รถประจำทาง รวมถึงรถไฟฟ้า ซึ่งเวลานั้นใกล้เปิดให้บริการแล้ว ฮินจึงมองว่า หากมีการพัฒนาย่านตลาดพลูสู่การเป็นจุดพบปะสังสรรค์ของผู้คนในย่านฝั่งธนก็คงจะดี

จากจุดตั้งต้นนี้เอง ไม่เพียงทำให้ฮินทำปริญญานิพนธ์ได้สำเร็จตามที่ตั้งใจไว้ แต่เพื่อนๆ หลายคนที่เข้ามาช่วยยังนำข้อมูลที่แลกเปลี่ยนกันนี้ไปใช้ในงานของตัวเอง เช่น คนหนึ่งทำเรื่องแผนพัฒนาสถานีรถไฟฟ้าจากวงเวียนใหญ่ไปยังมหาชัย อีกคนทำเรื่องพื้นที่สร้างสรรค์ในย่านตลาดพลู อีกคนทำเรื่องรีสอร์ทริมคลองบางหลวง

ทว่าด้วยข้อมูลมหาศาลที่ถูกแชร์ลงกรุ๊ป รวมทั้งความฝันส่วนตัวที่ไม่อยากเห็นพิพิธภัณฑ์ชุมชนตลาดพลูจบลงแค่ในกระดาษ ฮินจึงตัดสินใจไปฝึกงานหาความรู้เพิ่มเติมกับผู้เชี่ยวชาญตามสถาบันต่างๆ เช่น สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) จึงมีโอกาสได้ลงไปสำรวจชุมชนเก่าแก่ 35 แห่งทั่วประเทศ อีกทั้งยังได้พบกับเมฆ ซึ่งสนใจเรื่องการออกแบบและวางผังเมืองเหมือนกัน และต่อมาได้รวมกลุ่มกันตั้งบริษัท CROSSs and Friends เมื่อปี 2559 เพื่อขับเคลื่อนงานสถาปนิกชุมชน เช่น การออกแบบโรงพยาบาล ออกแบบห้องฉุกเฉิน เป็นต้น

พอดีในปีเดียวกัน องค์กรสร้างสรรค์เพื่อสังคม iCARE ได้จัดกิจกรรม iCARE Awards 2016 : เสกไอเดียเปลี่ยนโลก ชักชวนคนรุ่นใหม่มาร่วมกันส่งไอเดียที่จะช่วยโลกนี้ให้ดีขึ้น ฮิน เมฆ รวมถึง ชัช-ชัชวาล สุวรรณสวัสดิ์ สถาปนิกเจ้าของ Everyday Architect Design Studio ซึ่งคุ้นเคยกันมาตั้งแต่ช่วงที่ฮินทำปริญญานิพนธ์ จึงตั้งทีมเฉพาะกิจชื่อ ‘ทางเท้าสร้างยิ้ม’ เพื่อทำหน้าที่เป็นสื่อกลางชักชวนผู้คนในชุมชนตลาดพลูมาออกแบบพื้นที่ทางเท้าสาธารณะร่วมกัน

เราชักชวนเพื่อนๆ ให้นำธีสิสของตัวเองมาเล่าว่าใครคิดอะไรบ้าง แต่เราไม่ได้ทำแค่ภายในเท่านั้น เรายังใช้โซเชียลมีเดียชักชวนผู้ที่สนใจมาร่วมแชร์ไอเดียด้วย ซึ่งหลายคนที่ไม่ได้จบสถาปัตย์แต่สนใจเรื่องการพัฒนาเมืองก็เข้ามาด้วย เช่นเพื่อนที่โรงเรียนวัดราชโอรสที่เรียนเรื่องการเมือง นักโบราณคดี รวมถึงเครือข่ายภาคประชาสังคม เช่น เพจสิทธิคนเดินเท้า ฮินเล่าต่อ

หลังได้ข้อสรุปจากการพูดคุยคร่าวๆ พวกเขาจึงยกทีมไปสำรวจในชุมชน แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้น ฮินได้พบเพจหนึ่งที่น่าสนใจชื่อว่า ‘ถามสิ..อิฉันคนตลาดพลู’ มีลีลาการพูดคุยที่กวนๆ แต่น่าสนใจ เลยส่งข้อความไปถามว่าสนใจมาลงพื้นที่ไหม โดยเรียกแก๊งของตัวเองว่า ‘ยังธน’ เพื่อให้ดูกวนๆ เหมือนกัน แต่ทำไปทำมากลับกลายเป็นชื่อที่อยู่คู่กันถึงทุกวันนี้

พอดี ต้น-ชลิดา ทัฬหากาญจนากุล แอดมินเพจเรียนจบด้านวรรณกรรม แต่ไม่ได้ทำงานตรงสายเนื่องจากต้องรับช่วงกิจการข้าวขาหมูของครอบครัว บวกกับที่ผ่านมายังไม่เคยลงไปสำรวจเส้นทางในตลาดพลูจริงจัง จึงรับคำเชิญชวน ซึ่งผลจากการเดินทัวร์ก็ทำให้พวกเขาได้เห็นและเข้าใจถึงปัญหาและความต้องการของผู้คนในย่านนี้มากยิ่งขึ้น

“เราจบโครงการ iCare ด้วยการทำกราฟฟิตี แต่พอดี CROSSs เป็นออฟฟิศที่เน้นกระบวนการมีส่วนร่วม เราจึงอยากเห็นคนเยอะๆ มาช่วยกันทำ เพื่อให้ทุกคนมีความทรงจำร่วมกัน แต่นอกจากการแต้มสีแล้ว เรายังทำบอร์ดประชาสัมพันธ์ ซึ่งในบอร์ดไม่มีข้อมูลอะไรเลย แต่มีหัวข้อที่เราโยนเข้าไปว่า ตลาดพลูในอดีต ปัจจุบัน อนาคต และที่เขาอยากเห็นนั้นเป็นอย่างไร ทำเป็นบอร์ดน้องกุยช่าย 4 ตัวแปะไว้ แล้วย้ายสถานที่ทุกสัปดาห์ เช่นสถานีรถไฟ ใต้สะพาน และปากซอยกุยช่ายสะพานหัน

“ส่วนเหตุผลที่เราใช้ตัวกุยช่าย เพราะตอนทำธีสิสเราออกแบบมาสคอตด้วย โดยเราเห็นว่าในงานสถาปัตย์มักสนใจแค่เรื่องอาคาร แต่สิ่งที่ขาดไปคือธุรกิจที่จะช่วยให้อาคารหรือสิ่งปลูกสร้างไปต่อได้ เช่น การจัดทัวร์ท่องเที่ยว การบริหารจัดการเงิน เลยมาคิดว่า จะดีไหมถ้าเราสร้างอะไรสักอย่างเพื่อเป็นภาพจำของผู้คน นี่จึงเป็นการเรียนรู้ร่วมกันทั้งแก๊งยังธนและถามสิ..อิฉันคนตลาดพลู”

ที่สำคัญ ภายหลังโครงการทางเท้าสร้างยิ้มผ่านพ้นไป ปรากฏว่ามีนักวิชาการและคนรุ่นใหม่ที่สนใจเรื่องเกี่ยวกับฝั่งธนติดต่อเข้ามาขอข้อมูลเป็นจำนวนมาก บ้างก็ชักชวนไปร่วมเวทีเสวนา ในที่สุดพวกเขาตัดสินใจเดินหน้ากลุ่มยังธนต่อไป เพื่อเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงผู้คนในพื้นที่ที่ต้องการสร้างสรรค์และอยากลงมือพัฒนาพื้นที่นี้อย่างเป็นรูปธรรม

จุด.รวม.(คนฝั่ง)ธน

เรื่องหนึ่งที่แต่ละคนสัมผัสได้คือ คนฝั่งธนมักมีอารมณ์ร่วม และความเป็นหนึ่งเดียวกันมากกว่าคนฝั่งพระนคร

“คนฝั่งธนมีความเป็นพวกพ้อง อย่างผมตอนเรียนฝั่งนู้น ก็จะมีเพื่อนที่เป็นเด็กฝั่งธนนับนิ้วได้เลย เราเดินข้ามสะพาน นั่งเรือกลับด้วยกัน หรือถ้ารู้ว่าใครเป็นเด็กฝั่งธนก็จะสนิทเป็นพิเศษ ซึ่งเรื่องนี้เหมือนกับตอนที่เราไปทำที่ตลาดพลู ก็จะได้ยินคำว่าคนตลาดพลู บางคนถึงจะย้ายไปอยู่ที่อื่นแล้ว แต่ยังเรียกตัวเองว่าคนตลาดพลูอยู่ คือมันมีความเป็นชุมชนแม้จะอยู่ในเมืองก็ตาม” เมฆฉายภาพ

เพราะฉะนั้น ในเดือนกรกฎาคม 2560 ฮินและชัชจึงร่วมกันเปิดเพจ ‘ยังธน’ ขึ้นเป็นพื้นที่ส่วนกลางที่เปิดเวทีสำหรับใครที่มีไอเดีย อยากจะพัฒนาฝั่งธนมาแลกเปลี่ยนกัน

กระทั่งในปีถัดมา พวกเขาได้รับทุนจากโครงการ Media Information and Digital Literacy (MIDL) ของสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน หรือ สสย. ซึ่งสนใจเรื่องพื้นที่สร้างสรรค์ของเยาวชน จึงตัดสินใจทำเวิร์กช็อปชักชวนผู้ที่สนใจมาร่วมพูดคุย ในเวทีที่ชื่อ ‘จุด.รวม.ธน | Thonburi Assembly’ ทำให้ได้พบกับคนที่มีความสนใจเหมือนกัน เช่น จั่น และ ฮุ้ง-กนกพร อัศวเมธิกาพงศ์ ซึ่งเป็นนักวิชาการอยู่ที่ศูนย์บริการวิจัยและออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)

“ปัญหาหนึ่งคือเราไม่รู้เลยว่าในฝั่งธนมีใครทำอะไรบ้าง เราจึงอยากจัดเวทีที่นำทุกคนมาเจอกัน จะได้มาแชร์ว่าใครอยู่ตรงไหน และทำอะไรบ้าง” ฮินอธิบาย

ในวันนั้น นอกจากทุกคนจะได้รู้จักกันแล้ว ยังมีการแลกเปลี่ยนและนำเสนอตัวอย่างกิจกรรมที่น่าสนใจที่อาจต่อยอดได้ อาทิ กิจกรรมชักเย่อระหว่างคนฝั่งธนกับฝั่งพระนครที่สะพานพระพุทธยอดฟ้า หรือการรีโนเวตตรงลานพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช รวมถึงเปิดช่อง YouTube ยังธน Channel รายการแนะนำผู้คนและสถานที่ที่น่าสนใจในย่าน

หากแต่กิจกรรมแรกที่เป็นรูปเป็นร่างคือ คลองสานเฟส 2019 เทศกาลปล่อยของย่านคลองสาน ! ตอน ‘เดินดูหนัง – นั่งดูน้ำ’ ซึ่งพวกเขาจัดล้อไปกับงาน Bangkok Design Week โดยรูปแบบของงานเป็นการสำรวจเส้นทางบนถนนเจริญรัถซึ่งเป็นแหล่งค้าเครื่องหนังที่ใหญ่ที่สุดในฝั่งธน รวมถึงชิมอาหารฮาลาล ริมน้ำเจ้าพระยา ณ ชุมชนมัสยิดสุวรรณภูมิ

“ตอนนั้นทาง มจธ. เขามีโครงการย่านนวัตกรรมอยู่ พี่ฮุ้งซึ่งเป็นหัวหน้าโปรเจ็กต์จึงถามว่า ยังธนสนใจทำอีเวนต์นี้ไหม จัดสัก 2 สัปดาห์เพื่อฉายภาพเกี่ยวกับคลองสาน ย่านแรกคือเจริญรัถ ซึ่งเด่นเรื่องเครื่องหนัง เวลาที่เราอยากทำงาน DIY เราจะนึกถึงที่นี่เป็นแห่งแรกๆ เราจึงนำเสนอเจริญรัถในมุมที่มากกว่าหนัง เพราะฉะนั้นนอกจากการทำเวิร์กช็อปแล้ว เรายังพาผู้คนไปเดินช้อปปิง ไปสำรวจสถานที่ต่างๆ ซึ่งเหมือนจะ Unseen และน่าค้นหา เช่นโรงปั๊มหนัง และศาลเจ้า อีกย่านหนึ่งที่เราไปจับคือมัสยิดสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นมัสยิดเก่าแก่ซอยเจริญนคร 7 ข้าง ICONSIAM ซึ่งในงานจะมีการตกแต่งแสงไฟ กิจกรรมเวิร์กช็อปทำอาหารฮาลาล รวมทั้งเดินท่องเที่ยวย่านคลองสานด้วย” ฮินกล่าวต่อ

แม้จะเป็นเพียงระยะเวลาสั้นๆ แต่คลองสานเฟส 2019 กลับกลายเป็นองค์ความรู้ที่พวกเขาสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับกิจกรรมต่อๆ ไปได้ ที่สำคัญยังได้พบกับผู้คนมากมาย ซึ่งหลายคนก็กลายมาเป็นกำลังหลักที่ช่วยขับเคลื่อนกลุ่มยังธน อาทิ บู สมาชิกในชุมชนมัสยิดสุวรรณภูมิ ซึ่งเผอิญเป็นนักเรียน ชั้น ม.6 ที่สนใจเรื่องการพัฒนาบ้านเกิด และเคยถ่ายภาพและทำหนังสั้นเกี่ยวกับเรื่องนี้มาก่อน

พอกลุ่มยังธนมาจัดกิจกรรมที่หน้าบ้าน เขาจึงเข้าไปพูดคุยและนำเสนอผลงานของตัวเอง จนนำไปสู่การชวนมาระดมสมอง ซึ่งจัดขึ้นทุกวันพฤหัสบดีที่ออฟฟิศ CROSSs เพื่อมาค้นหาคำตอบว่า ‘เราอยากจะพัฒนาอะไรในย่านของเรา’

จำได้ว่าไปประชุมกับพี่ๆ วันแรก ผมเตรียมสไลด์ไป 40 หน้า เพราะเราอยากทำ Community Branding บ้านตัวเอง ผมวิเคราะห์มาแล้วว่าอยากได้แบบนี้ ซึ่งเรื่องหนึ่งที่เราถนัดคือเรื่องสื่อสาร เลยอยากลองมาทำงานกับพี่ๆ และพอเล่าเรื่องบ้านเราแล้ว ก็อยากให้กว้างกว่าแค่ซอย เพราะฝั่งธนถือเป็นบ้านของเราทั้งหมด บูย้อนความทรงจำ

หากแต่กิจกรรมที่ทำให้กลุ่มยังธนเป็นที่รู้จัก และนำไปสู่การรวมพลังกับเครือข่ายในพื้นที่อย่างกว้างขวาง คือ ‘ยังธนคัพ’ เทศกาลลูกหนังขนาดย่อมที่ชักชวนน้องๆ มาแข่งขัน Street Football บนสนามที่เล็กๆ แคบๆ แต่เปี่ยมไปด้วยเรื่องราวและความผูกพัน ซึ่งไอเดียนี้ต่อยอดมาจากวงเสวนา จุด.รวม.ธน โดยมี อ๊อฟ-ศกวรรณ์ สุขสบาย ซึ่งเป็นตัวแทนชุมชนปากคลองสาน เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการผลักดัน

ยังธนคัพ ตั้งต้นมาจากคำเปรยของจั่นว่าอยากทำกิจกรรมกับเยาวชนบ้าง อ๊อฟจึงเอ่ยขึ้นมาว่า แถวบ้านบริเวณป้อมป้องปัจจามิตรมีสนามฟุตบอลเล็กๆ อยู่แห่งหนึ่ง ทุกคนเตะฟุตบอลกันบนป้อมเลย ผลปรากฏว่า คำพูดนี้เข้าไปสะกิดความสนใจของสมาชิกแต่ละคน เนื่องจากหลายคนต่างชอบเตะฟุตบอล แต่ขาดสนาม จึงถือโอกาสนี้ลงไปสำรวจพื้นที่เพื่อหาความเป็นไปได้

สิ่งหนึ่งที่พวกเขาสัมผัสได้จากการเตะบอลแบบนี้ ไม่เพียงตอบโจทย์เรื่องกีฬาเท่านั้น แต่ยังช่วยกระชับความสัมพันธ์ของผู้คนในชุมชน ช่วยคลี่คลายปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับเยาวชน

“พี่อ๊อฟเป็นคนที่มีอารมณ์ร่วมกับเรื่องนี้มาก เขาบอกว่าสมัยยังเป็นเด็กจนถึงตอนนี้ ใครก็ตามที่มาเตะบอลตรงนี้จะไม่ยุ่งกับยาเสพติดเลย คือเขาจะรู้กันว่า หากคนไหนไม่ขึ้นมาบนป้อม แสดงว่าหลุดเข้าไปสู่วงจรของอบายมุขแล้ว ดังนั้นเขาจึงอยากเห็นกิจกรรมที่เป็นทางเลือกที่คอยช่วยโอบอุ้มเด็กในชุมชน เพราะถ้าเป็นเด็กตัวเล็กๆ แล้วไปเตะบอลที่สนามใต้สะพานสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชหรือสนามใหญ่ๆ มักจะมีเจ้าถิ่นรุ่นพี่ที่เก่งกว่าอยู่ สนามแบบนี้จึงเป็นเหมือนปะการังให้สัตว์ตัวเล็กๆ ได้มีพื้นที่แสดงตัวตน ส่วนชื่อกิจกรรม ‘ยังธนคัพ’ ชัชเป็นคนเสนอขึ้นมา โดยคำว่า ‘คัพ’ มาจากคับ คือถึงจะคับแคบก็ยังเตะได้” เมฆเล่าที่มาที่ไป

จากนั้นพวกเขาจึงเริ่มไปทำความรู้จักกับประธานชุมชนต่างๆ ช่วยกันแนะนำสนามฟุตบอลที่น่าสนใจ ทั้งชุมชนมัสยิดสุวรรณภูมิ ตลาดพลู ซางตาครู้ส เป็นต้น

ขณะเดียวกันยังมีการตระเวนสำรวจหาสนามอื่นๆ ที่น่าสนใจ โดยพบว่าใน 3 เขตฝั่งธน คือ ธนบุรี คลองสาน บางกอกใหญ่ มีชุมชนรวมกัน 118 ชุมชน แต่มีสนามเพียงแค่ 37 สนามเท่านั้น แต่ที่น่าสนใจกว่าคือบางสนามก็ไม่ได้เปิดกว้างสำหรับเยาวชนสักเท่าใด ทีมยังธนจึงหวังว่า กิจกรรมนี้จะช่วยให้ผู้คนหันมาใส่ใจการสร้างพื้นที่สาธารณะที่เป็นของทุกคนอย่างแท้จริง

ผลจากการหารือและทำความเข้าใจกับผู้นำชุมชนต่างๆ นำมาสู่การเปิดสนามแข่ง 5 แห่ง คือ สนามใต้สะพานตลาดพลู สนามใต้สะพานริมคลองวัดโมลีโลกยาราม สนามริมทางรถไฟชุมชนมัสยิดสวนพลู สนามริมน้ำชุมชนมัสยิดสุวรรณภูมิ และสนามชุมชนกุฎีจีน โดยเริ่มเตะตั้งแต่เดือนตุลาคมจนถึงสิ้นปี 2562

ครั้งนั้นมีการวางกติกาคร่าวๆ เช่น นักเตะต้องอายุไม่เกิน 16 ปี ทีมหนึ่งมีสมาชิกได้ไม่เกิน 5 คน แบ่งเป็นผู้เล่นหลัก 3 คนและสำรองอีก 2 คน แต่ละทีมสมัครได้ไม่เกิน 2 สนาม โดยมีกติกาง่ายๆ คือ แข่งคู่ละ 10 นาที หากผลเสมอต่อเวลา 3 นาที ดวลหนึ่งต่อหนึ่ง ใครยิงได้ก่อนชนะไปเลย ไม่มีล้ำหน้า ห้ามกระแทกรุนแรง ไม่มีผู้รักษาประตู เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีกติกาพิเศษสำหรับแต่ละสนาม โดยยึดจากลักษณะทางกายภาพ เช่น สนามที่ชุมชนมัสยิดสวนพลูนั้นมีกำแพงขนาบข้าง จึงไม่มีเส้นข้างสนาม พวกเขาเลยออกกติกาสำหรับที่นี่ว่าสามารถใช้ลูกชิ่งได้ หรือบางสนามห้ามเข้ากรอบเขตโทษ เพราะสนามแคบเกินไป กลายเป็นเสน่ห์ที่ทำให้การแข่งขันน่าสนใจยิ่งขึ้นไปอีก

หลังจากประกาศเปิดรับสมัคร มีเหล่านักเตะเข้ามาลงชื่อร่วมประลองฝีเท้ากันอย่างล้นหลาม เฉลี่ยสนามละ 12-15 ทีม โดยแชมป์และรองแชมป์ของแต่ละสนามจะได้รับสิทธิ์แข่งขันในรอบสุดท้าย เพื่อหาแชมป์ยังธนคัพต่อไป

“ตอนแรกคิดว่าอยากจะแข่งนัดชิงตรงวงเวียนพระเจ้าตากในช่วงวันพระเจ้าตากเลย พยายามไปคุยกับเขตธนบุรี เพราะเขาจะมีกิจกรรมต่างๆ เช่น มวยคาดเชือก ฟันดาบ แต่ไม่เคยแข่งจัดฟุตบอล สุดท้ายก็น่าเสียดายที่ไม่ได้ เราจึงย้ายไปจัดตรงสนามใต้สะพานสาทรแทน ซึ่งมีเรื่องโรแมนติกดรามาเกิดขึ้น เนื่องจากคู่ชิงชนะเลิศ ทีมหนึ่งดันหลุดมาจากฝั่งพระนคร ชื่อ เช้าฟาดผัดฟักเย็นฟาดฟักผัด ! จากพญาไท ชิงกับทีมป้อมป้องปัจจามิตร D (สาธรจอมพลัง) ซึ่งเป็นตัวแทนของฝั่งธน แล้วชัชซึ่งดูแมทช์นั้นด้วยก็มาเล่าให้ฟังว่า น้องทีมอื่นๆ มานั่งเชียร์เพื่อนฝั่งธน แล้ววินาทีที่เด็กฝั่งพระนครชนะ มีจังหวะที่แต่ละคนหันมามองหน้าแล้วน้ำตาซึมพร้อมกัน เหมือนความรู้สึกแพ้ร่วม” เมฆเล่าพร้อมเสียงหัวเราะ

หากแต่สิ่งที่น่าสนใจมากกว่าผลแพ้ชนะคือ ยังธนคัพได้กลายเป็นเวทีที่ดึงดูดผู้คนในฝั่งธนให้เข้ามาพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดกัน อย่างเช่น มีน้องคนหนึ่งไม่ได้มาลงแข่งขัน แต่กลับหอบแฟ้มผลงานแนะนำตัวมาขอสมัครเป็นกรรมการโดยไม่คิดค่าจ่ายใดๆ ขอแค่เพียงประกาศนียบัตรฉบับเดียวเท่านั้น

“วันที่น้องเข้ามา ผมเห็นตัวเองในวันแรกที่มานั่งตรงนี้เลย เพราะเขาเตรียมกฎ เตรียมดีไซน์ต่างๆ มาเต็มไปหมด เช่น ถ้าแข่งทีมละ 3 คน เราทำแบบนี้น่าจะสนุกกว่า คือทําการบ้านมาเต็มที่ เราก็เลยให้ตัดสินเลย 5 สนามแรก และต่อมาภายหลัง น้องคนนี้ก็กลายมาเป็นอาจารย์พละ เดินสายรับตัดสินเกมต่างๆ ซึ่งเรารู้สึกดีใจที่เป็นจุดเชื่อมดึงดูดคนแบบนี้ให้เข้ามาทำงานด้วยกัน” บูย้อนความทรงจำ

นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน เครือข่ายภาคประชาสังคมเข้ามาช่วยเหลือเต็มไปหมด แม้กระทั่งพรรคการเมืองยังส่งคนเข้ามาร่วมกิจกรรม พวกเขาถือโอกาสนี้จัดเวทีล้อมวงคุยเพื่อหาแนวทางในการพัฒนาพื้นที่สาธารณะควบคู่ไปด้วย และไม่เพียงแค่นั้น หลังจบกิจกรรมไปได้พักหนึ่ง ก็พบว่าสนามในชุมชนหลายแห่งเริ่มมีการพัฒนาปรับปรุง ทั้งทำความสะอาด ทาสี ติดไฟ รวมถึงลงขันค่าส่วนกลางเพื่อดูแลจัดการสนามในระยะยาว นับเป็นการเปลี่ยนแปลงที่น่ายินดี

เช่นเดียวกับกลุ่มยังธนที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด ทั้งวิธีคิด วิธีจัดการ ซึ่งประสบการณ์เหล่านี้ก็ได้กลายเป็นพื้นฐานสำคัญในวันที่พวกเขาชักชวนผู้คนมาร่วมสร้างฝั่งธนในฝันไปด้วยกัน

“ตอนแรกที่คุยกับพี่อ๊อฟ เราคิดสเกลเล็กมาก อย่างรางวัลก็ง่ายๆ สปอนเซอร์เป็นคุณป้าข้าวหมูแดงในชุมชน แต่ตอนหลังเริ่มมีคนเข้ามาเรื่อยๆ แม้แต่วันสุดท้าย ซึ่งเราไม่รู้หรอกว่ารางวัลเป็นอะไรบ้าง ต้องมาเกลี่ยหน้างาน หรือช่วงที่มีน้องกรรมการ เราก็อยากมีค่าตัวให้น้องบ้าง หรือคุยกับประธานชุมชน แกบอกว่าลุงจัดที่จอดรถไว้แล้วนะ มีพยาบาลให้ด้วย คือทุกอย่างเกิดขึ้นโดยที่เราไม่ได้ตั้งตัว เราจึงต้องเรียนรู้เกี่ยวกับการจัดการสิ่งต่างๆ ไปพร้อมกัน” เมฆอธิบาย

มันเหนื่อยกว่าที่คิด แต่ในทางกลับกันเราก็ได้เรียนรู้ที่จะทำงานในพื้นที่มากขึ้น ได้รู้วิธีติดต่อประสานงาน ได้รู้จักคนมากขึ้น เหมือนการเปิดพื้นที่ว่า ลุงคนนี้อยู่ตรงนี้ เด็กกลุ่มนี้อยู่ตรงนั้น แล้วเขาทำอะไรได้บ้าง ซึ่งพอเราเจองานยากตั้งแต่แรก ก็เลยทำให้โปรเจ็กต์ต่อๆ ไปง่ายขึ้น เหมือนเรามีข้อมูลเบื้องต้นไว้เรียบร้อยแล้วจั่นช่วยสรุป

ฝั่งธนมีเรื่องให้เล่ามากกว่าที่คิด

แม้ฝั่งธนจะมีเรื่องราวดีๆ ซุกซ่อนอยู่ตามชุมชนต่างๆ เต็มไปหมด ทั้งศิลปวัฒนธรรม ประเพณี ประวัติศาสตร์ อาหาร หรืออาชีพหายาก แต่ทั้งหมดนี้ก็อาจจะยังเป็นเรื่องลับๆ ที่ไม่มีใครรู้ต่อไป หากไม่มีการหยิบยกมาถ่ายทอดหรือบอกต่อให้สาธารณชนรับทราบ

เพราะฉะนั้น นอกจากกิจกรรมหรืออีเวนต์ต่างๆ แล้ว อีกขาหนึ่งที่กลุ่มยังธนให้ความสำคัญไม่แพ้กันคือ การสื่อสาร โดยช่วงที่ทำโครงการยังธนคัพ พวกเขาก็ได้รับทุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพื่อทำโครงการ ‘สื่อยุวธน’ ชักชวนเยาวชนที่อยู่ในละแวกสนามแข่งขันต่างๆ มาช่วยกันผลิตสื่อเล่าเรื่องราวเสน่ห์และเอกลักษณ์ของชุมชนบ้านเกิดของตัวเอง

…เพราะคงไม่มีใครที่จะพูดเรื่องเราได้ดีเท่าตัวของเราเอง

“พื้นที่ที่เด็กเข้ามาเล่นกันเป็นพื้นที่สาธารณะที่แอบซ่อนอยู่ในชุมชน คนภายนอกอาจจะไม่ค่อยรู้ ซึ่งมันมีคุณค่าอยู่ เพราะมันบอกเรื่องเอกลักษณ์ของชุมชน ความเป็นย่านในฝั่งธน เราจึงใช้กิจกรรมฟุตบอลเป็นตัวนำ เพื่อให้เกิดการสื่อสารกับคนภายนอกว่า จริงๆ แล้วของดีของฝั่งธนนั้นยังมีอีกหลายอย่างที่คุณอาจจะยังไม่เห็น ทั้งอาคารที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ หรือชุมชนที่อยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข” จั่นอธิบายการทำงาน

ครั้งนั้นยังธนผนึกกำลังกับทีม Redek ซึ่งนำโดย .พุทธ แสงกล้า จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มจธ. จัดกิจกรรมที่ชื่อว่าจากเล่าสู่เรื่องพาน้องๆ มาเวิร์กช็อปวิธีทำสื่อวิดีโอ โดยเน้นเนื้อหา 3 หัวข้อ คือ ชุมชนของเรา ทีมฟุตบอลของเรา และเรื่องราวที่ไม่เคยมีใครรู้มาก่อนในชุมชนของเรา ซึ่งกว่าที่คลิปจะออกมาได้ แต่ละคนต้องระดมสมอง ช่วยกันค้นหาประเด็นที่จะหยิบยกมาเล่า จนนำมาสู่ความสามัคคี และความรู้สึกอยากมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนของตัวเองมากยิ่งขึ้น แม้พวกเขาจะไม่ได้ร่วมเตะบอลด้วยก็ตาม

ผลงานที่ออกมามีตั้งแต่รายการ ‘ตามใจขา พาเที่ยวชุมชนวัดหงส์’ โดยติดตามน้องๆ ไปเยี่ยมชมของดีในชุมชนวัดหงส์รัตนาราม ทำความรู้จัก ‘กลุ่มบ้านนี้ดีจัง ร้องรำทำเพลง’ ซึ่งเป็นกลุ่มเยาวชนที่ทำงานศิลปะ ไปดูสระน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งสร้างโดยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช คลิปต่อมาคือ ‘มัสยิดสุวรรณภูมิอยู่ฝั่งธน ไม่ใช่สมุทรปราการ’ นำเสนอในรูปแบบหนังสั้นที่ว่าด้วยชุมชนเล็กๆ ที่มีสนามฟุตบอลซ่อนอยู่ และวิดีโอชิ้นสุดท้ายคือ ‘เมื่อป้อมทำให้ผมแข็งแรง’ ถ่ายทอดเรื่องราวของเยาวชนและผู้คนที่เติบโตมากับการเตะบอลที่ป้อมป้องปัจจามิตร ซึ่งช่วยให้พวกเขาหลุดพ้นจากบ่วงของอบายมุข

โดยทั้งหมดนี้ได้ถ่ายทอดลงในเพจยังธน ควบคู่กับบทความที่ชัชเขียนขึ้น อาทิ สนามแต่ละแห่งมีจุดเด่นอะไรบ้าง เบื้องหลังของทีมฟุตบอลแต่ละทีม ทีมกรรมการของยังธนคัพ หรือแม้แต่เรื่องน่ารู้ในชุมชนต่างๆ ซึ่งช่วยขยายความเข้าใจของผู้คนที่มีต่อฝั่งธนให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

แต่ผลงานใดๆ คงไม่เทียบเท่ากับการสร้างพื้นที่แก่เด็กในชุมชนที่ไม่เคยมีโอกาส ได้แสดงตัวตนและความสามารถผ่านกิจกรรมต่างๆ ซึ่งพวกเขาอาจจะนำไปใช้เป็นเครื่องมือต่อยอดในการสร้างอนาคตที่ดีแก่ตัวเอง อย่างเช่น เยาวชนหลายคนก็ย้อนกลับมาเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการผลิตสื่อของกลุ่มยังธน

เช่นในปี 2562 กลุ่มคาเฟ่ Can Do และกลุ่มคลองสร้างสรรค์ ได้ร่วมกันจัดเทศกาลในชุมชนบางมด ชื่อ Bangmod Fest ครั้งที่ 4 ทางกลุ่มยังธนจึงเข้ามาช่วยทำโครงการ ‘เที่ยวคลองลองเล่า’ ชวนเยาวชน 20 คน มาเล่าเรื่องชุมชนริมคลองบางมด ผ่านศิลปะแขนงต่างๆ โดยก่อนจะผลิตงานก็มีการทำเวิร์กช็อป พาน้องๆ ขึ้นเรือจากวัดพุทธบูชา ไปเยี่ยมเยียนสวนมะพร้าวน้ำหอมและสวนส้มบางมด รวมถึงศาลเจ้าแม่ทับทิม จากนั้นจึงนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์เพื่อผลิตเป็นชิ้นงาน ทั้งภาพถ่าย ภาพวาด และงานเขียน

โดยผลงานทั้งหมดถูกส่งไปยังตัวแทนชุมชนคลองบางมด และทีมงาน Bangmod Fest เพื่อให้คำแนะนำและปรับแต่งจนได้ผลงานที่เสร็จสมบูรณ์ แล้วนำไปเผยแพร่ต่อในเทศกาล รวมถึงเพจยังธน ด้วยความหวังอยากให้ผู้ที่มาเยี่ยมชมเทศกาลได้รับรู้ถึงศักยภาพของคนรุ่นใหม่ ที่สามารถสร้างสรรค์ผลงานที่โดดเด่นโดยคงเอกลักษณ์ดั้งเดิมของชุมชนเก่าได้อย่างลงตัว

นอกจากนี้ พวกเขายังมีส่วนร่วมมอบความรู้แก่เยาวชนเรื่องการปรับปรุงพื้นที่สาธารณะริมคลองบางมด เพื่อให้คนพิการเข้าถึงได้ รวมถึงผลิตบทความเกี่ยวกับผู้คนที่น่าสนใจในย่านฝั่งธน เช่น วงดนตรีกลองยาวในชุมชนข้างโรงเรียนเสสะเวชวิทยา คณะสิงโตลูกพระเพลิง ตลาดพลู และชมรมกระบี่กระบอง โรงเรียนธนบุรีวรเทพีพลารักษ์ เพื่อให้คนทั่วไปได้รับทราบถึงมรดกทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาที่สั่งสมมานานหลายทศวรรษของชาวฝั่งธน

สำหรับพวกเขาแล้ว เสน่ห์ของการทำสื่อไม่ใช่เพียงแค่การได้เผยแพร่ข้อมูลไปสู่วงกว้างเท่านั้น เพราะระหว่างทาง ทีมงานยังได้ออกไปพูดคุยกับกลุ่มคนที่สนใจเรื่องการพัฒนาเมือง เข้าใจว่าอะไรคือปัญหาที่แท้จริง และควรจะเดินไปในทิศทางใด จนนำไปสู่การขยายเครือข่ายกับกลุ่มประชาสังคมอื่นๆ เช่น กิจกรรมสวนสานธารณะ Klongsan Pop-Up Park 2020 ตามหาพื้นที่สีเขียวในย่านคลองสาน ร่วมกับ we!park ซึ่งขับเคลื่อนเรื่องการเปลี่ยนสถานที่รกร้างให้เป็นที่สาธารณะขนาดย่อมสำหรับคนเมือง

“เดิมทีตรงนี้เป็นโกดังเก่า แล้วกำแพงหรือตัวโครงสร้างพังลงไป เลยกลายเป็นที่โล่ง พอว่างก็มีขยะมาถมจนเต็ม” บูช่วยฉายภาพถึงสวนสานธารณะในชุมชนช่างนาค-สะพานยาว

ทาง we!park พยายามเชื่อมเครือข่ายต่างๆ เพื่อจัด Festival เราก็เลยช่วยนำกิจกรรมของเครือข่ายต่างๆ มาเสริม เช่น ชวนน้องๆ นักเตะมาแข่งมินิยังธนคัพ มีวงดนตรีกลองยาว ชวนพี่ๆ ตลาดพลูมาทำกิจกรรมภาพเก่าเล่าเรื่อง จากนั้นเราก็ลงไปทำประชาคมกับชาวบ้านในเรื่องแนวทางการพัฒนาสวน แต่ความท้าทายคือ ที่ดินตรงนี้เป็นพื้นที่เช่า ทำให้บางคนรู้สึกขาดความเป็นเจ้าของร่วม แต่ตอนนี้หลายคนก็เริ่มตื่นตัวบ้างแล้ว ซึ่งถือเป็นนิมิตหมายที่ดี เนื่องจากปกติเวลาทำโปรเจ็กต์กับชุมชนจะต้องดูความเข้มแข็งก่อน ถ้าเกิดอันนั้นต้องผลักดันเยอะเหลือเกิน เราก็จะรู้สึกว่าไม่เวิร์กหรอก เพราะไม่มีประโยชน์ที่เราจะทำแค่คนเดียว จั่นช่วยเติมเต็มข้อมูล

นอกจากการเข้าไปเป็นภาคีร่วมกับเครือข่ายต่างๆ พวกเขายังริเริ่มเว็บไซต์จุดรวมธน หรือ Thonburi Union เพื่อรวบรวมฐานข้อมูลที่น่าสนใจ ทั้งผู้คนและสถานที่ในฝั่งธนให้เป็นหนึ่งเดียว และกลายเป็นคลังสมบัติขนาดใหญ่ที่สามารถต่อยอดและพัฒนาเป็นนวัตกรรมต่างๆ ได้ไม่รู้จบ

หนึ่งในนั้นคือ เกมท่องธน Game of Thon เมื่อปี 2564 ซึ่งนำเกมออนไลน์มาประยุกต์เข้ากับพื้นที่บางกอกใหญ่ พร้อมกับชวนทุกคนมาร่วมผจญภัย และตามหาเรื่องราวในอดีตของธนบุรีไปด้วยกัน

สาเหตุที่เลือกบางกอกใหญ่มาพัฒนาเป็นเกม เพราะพื้นที่นี้ไม่ค่อยได้รับการพูดถึงในวงกว้างมากนัก หลายคนมักนึกออกเพียงแค่วัดอรุณราชวราราม ทั้งที่ความจริงแล้ววัดแจ้งเป็นเพียงแค่ประตูบานแรกที่จะพาทุกคนไปรู้จักกับเสน่ห์อีกนับไม่ถ้วน ทั้งร้านค้า สถานที่สำคัญทางศาสนาและประวัติศาสตร์ รวมถึงลักษณะของตัวเขตซึ่งเป็นเกาะที่มีคลองและแม่น้ำล้อมรอบ ดังนั้นโจทย์สำคัญที่พวกเขาอยากตีให้แตกคือ ทำอย่างไรให้ทุกคนอยากเดินทางเที่ยวไปทั่วเกาะ

เวลานั้นทีมต้องลงพื้นที่ไปทำความเข้าใจถึงปัญหาของชุมชนย่อยๆ กว่า 30 ชุมชน แล้วมาคิดว่าเกมของพวกเขาจะช่วยตอบสนองอย่างไรได้บ้าง

ขณะเดียวกันก็ต้องตามหาจุดเด่นเพื่อนำมาขยายหรือทำให้เด่นชัดขึ้น เช่นชุมชนวัดโมลีโลกยาราม เป็นชุมชนที่ชาวพุทธและมุสลิมอาศัยอยู่ร่วมกันมาเนิ่นนาน สิ่งปลูกสร้างจึงมีความหลากหลาย ทั้งมัสยิดต้นสน วัดโมลีโลกยาราม แล้วถ้าเขยิบออกไปก็จะมีวัดหงส์รัตนาราม ซึ่งล้วนแต่มีมิติทางประวัติศาสตร์เชื่อมไปถึงสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี รวมถึงยังได้พบกับผู้คนที่มีความหลากหลาย เช่น มัคคุเทศก์เรือ หรือคนทำไอศกรีมโฮมเมด

ส่วนปัญหาก็จะมีตั้งแต่ คนมาเที่ยวเยอะ แต่ใช้จ่ายน้อย เนื่องจากหมดไปกับร้านค้ารอบวัดอรุณราชวรารามแล้ว ร้านที่อยู่ลึกเข้าไปจึงไม่ค่อยมีลูกค้า หรือหลังจากรถไฟฟ้าเปิดใช้งาน ก็เป็นเหตุให้ร้านค้าระหว่างจุดเชื่อมถูกละเลย เพราะคนไม่ได้แวะเวียนมายังจุดนั้นอีกแล้ว

เกมนี้เป็นเหมือนการรวมสมองของทุกคนเข้าไว้ด้วยกัน คือพอดีช่วงนั้นเรามีน้องรุ่นใหม่มาช่วยทำกราฟฟิก แล้ววันหนึ่งเขาก็ชงม็อกอัพขึ้นมาว่าอยากทำเกมแบบนี้ เมื่อเรามีกำลัง มีความสามารถของคนที่มันดูว้าว เราก็เลยได้ข้อสรุปว่ามาทำเกมกัน แต่ขณะเดียวกันเราก็อยากให้เกมนี้ไปช่วยแก้ปัญหาของชุมชนด้วย ดังนั้นถ้าเรารวมเยาวชนที่กำลังอินกับเกมมาช่วยกันทำเรื่องนี้ แล้วก็ดึงผู้เชี่ยวชาญ ประธานชุมชนมาเป็นกรรมการ กลไกเกมนี้ก็น่าจะถูกพัฒนาต่อได้ เมฆอธิบาย

เมื่อได้ข้อมูลครบถ้วนตามที่ต้องการ พวกเขาจึงเปิดรับไอเดียของน้องๆ คนรุ่นใหม่ แต่ทว่าในขณะที่ทุกอย่างกำลังเดินไปด้วยดี ก็เกิดวิกฤตโรคระบาด ทำให้ทุกอย่างหยุดชะงัก ดังนั้นแทนที่จะพาน้องๆ ลงไปสำรวจชุมชน ก็ต้องเปลี่ยนมาเป็นการเตรียมข้อมูลพื้นฐาน แล้วทำเวิร์กช็อปออนไลน์แทน พร้อมวางโจทย์ว่าจะทำอย่างไรให้ผู้คนออกมาข้างนอก เยี่ยมชมชุมชนต่างๆ หลังจากที่สถานการณ์โควิดเริ่มดีขึ้น

ครั้งนั้นน้องๆ ได้เสนอไอเดียที่หลากหลายและน่าสนใจ ตั้งแต่ ให้ผู้เล่นหาวิธีไขปริศนาที่เชื่อมโยงกับสิ่งรอบตัวในเมืองบางกอกใหญ่ นำรูปถ่ายไปแปะตามแผนที่ภายในชุมชน มีระบบกิลด์หรือระบบเล่นกับเพื่อน เพื่อที่ผู้เล่นจะได้จับกลุ่มรวมกันทำงาน เป็นต้น

จนสุดท้ายก็ตกผลึกออกมาในลักษณะมีเกมใหญ่ที่ครอบคลุมทั้งหมดอยู่เกมหนึ่ง แล้วภายในก็จะมีมินิเกมย่อยๆ ชักชวนให้ผู้คนลงไปเก็บการ์ดหรือไขปริศนาตามชุมชนต่างๆ เช่นใส่หมายเลขตัวที่ 3 ที่อยู่ตรงป้ายรถเมล์ในจุดนั้นๆ เพื่อจะได้ไปสู่ด่านถัดไป ดังนั้นพวกเขาจึงใช้ชื่อเกมนี้ว่า ‘เกมท่องธน’ เหมือนเป็นสะพานที่เชื่อมโยงเกม ชุมชน และผู้คนเข้าไว้ด้วยกัน และเมื่อคนเข้ามาในชุมชน ก็ย่อมจะเกิดการซื้อขายแลกเปลี่ยน ซึ่งนำไปสู่การกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไปด้วย

ส่วนเนื้อหาของเกม พวกเขาได้นำประวัติศาสตร์ช่วงที่ย้ายเมืองหลวงจากกรุงธนบุรีไปยังอีกฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยาเข้ามาผูกโยง โดยมีกลุ่มที่ชื่อว่า ‘ภราดรแห่งธนบุรี’ เป็นสมาคมลับที่ทำงานรับใช้ทางการอยู่ ซึ่งพอทราบว่าบ้านเมืองกำลังวุ่นวายและถึงจุดสิ้นสุดแล้ว จึงนำสมบัติสำคัญไปซุกซ่อนตามสถานที่ต่างๆ แล้วรอคอยให้ภราดรรุ่นหลังมาช่วยค้นหา เพื่อฟื้นคืนธนบุรีอีกครั้งหนึ่ง

“ผมเป็นคนชอบเล่นเกม ก็อยากให้สตอรีมาแบ็กอัพ ตอนนั้นก็คิดถึงธาตุพื้นฐาน 4 ธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ ถ้ามาผูกกับบางกอกใหญ่จะเป็นอย่างไร จากนั้นก็เริ่มผูกเรื่องสไตล์ Fiction มีกลุ่มสมาคมลับนำสมบัติไปซ่อนไว้ ก่อนจะวาร์ปมายังปัจจุบันที่ผู้เล่นต้องค้นหาสมบัติ โดยตัวปริศนาลายแทงก็จะผูกกับธาตุทั้ง 4 ซึ่งเราก็ต้องไปดูว่าจะเกี่ยวข้องกับพื้นที่อะไรได้บ้าง เช่น ธาตุไฟ เราก็เอาไปผูกกับวัดอรุณฯ เพราะอรุณแปลว่าดวงอาทิตย์ แต่ว่าตอนหลังพอเกิดโควิดขึ้นมา เราก็ต้องปรับเนื้อหานิดหน่อย เหลือแค่เส้นทางของธาตุไฟธาตุเดียว” แทน ในฐานะทีมออกแบบอธิบาย

นอกจากตัวเกมแล้ว พวกเขายังทำคู่มือผจญภัย ‘ท่องธน Guidebook’ ด้วยการนำเส้นทางหลักมาแตกเป็นเส้นทางย่อยๆ เพื่อให้ผู้เล่นสามารถผจญภัยหรือรู้จักสถานที่ที่น่าสนใจซึ่งซุกซ่อนอยู่ตามชุมชนเก่าๆ เพิ่มเติม ตลอดจนไปพูดคุยกับบรรดาร้านค้าเพื่อที่เวลาผู้เล่นเก็บแต้มได้ก็จะได้นำไปแลกเปลี่ยนหรือเป็นส่วนลดเวลาเข้าไปใช้บริการ

“ความท้าทายคือ ตอนแรกเราเข้าไปคุยกับร้านค้าต่างๆ เพื่อขอการสนับสนุนรางวัล เวลาที่ผู้คนนำแต้มมาแลก ด้วยความที่มันเป็นเรื่องใหม่มาก ป้าบางคนเขาก็งง ป้าต้องกดแบบไหนนะลูก ซึ่งเราก็ต้องคุยเยอะเหมือนกัน แต่ส่วนใหญ่เขาก็จะให้ความร่วมมือ” จั่นอธิบาย

“บางครั้งเราต้องแก้ปัญหาด้วยการนำป้ายไปติดตามจุดต่างๆ บอกวิธีเล่น วิธีดาวน์โหลด ซึ่งปรากฏว่าได้ผลมาก อย่างบางคนที่เขาไม่รู้จักเกม แต่พอเห็นร้านอาหาร ก็เลยเข้าไปโหลดเกมก่อน เพื่อจะได้นำคูปองไปใช้เป็นส่วนลดอีกที” เมฆช่วยขยายความ

ทว่าด้วยความที่เกมนั้นผูกโยงกับสถานที่จริงจำนวนมาก พอเวลาเปลี่ยนไป บางสถานที่ก็อาจไม่เหมือนเดิม เช่น ป้ายรถประจำทางที่ถูกเคลื่อนย้ายอยู่บ่อยครั้ง อาคารบางหลังก็ถูกรื้อถอนกลายเป็นอย่างอื่น ทำให้ไม่สามารถควบคุมได้ครบถ้วน

ถึงอย่างนั้น เมื่อเทียบกับประสบการณ์ที่ผู้เล่นได้รับ มุมมองและทัศนคติที่มีต่อเมืองระหว่างที่เดิน เกิดการกระจายรายได้ โดยเฉพาะในช่วงที่เพิ่งผ่านวิกฤตโรคระบาดได้ไม่นาน หรือแม้แต่เสียงชื่นชมของผู้เล่น รวมถึงไอเดียการสื่อสารที่ยังสามารถต่อยอดได้อีก ก็ถือเป็นผลลัพธ์ที่คุ้มค่าเกินกว่าที่คาดคิดไว้แล้ว

คนฝั่งธนมีความเป็นพวกพ้อง ถ้ารู้ว่าใครเป็นเด็กฝั่งธนก็จะสนิทเป็นพิเศษ และบางคนถึงจะย้ายไปอยู่ที่อื่นแล้ว แต่ยังเรียกตัวเองว่าคนฝั่งธนอยู่ คือมันมีความเป็นชุมชนแม้จะอยู่ในเมืองก็ตาม

ยังธน : กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่อยากทำให้ทุกคนรู้ว่า ‘ฝั่งธน’ เต็มไปด้วยเรื่องราวดีๆ

สู่เมืองที่ทุกคนเป็นเจ้าของ

“ความจริงแล้ว เราอาจจะไม่ได้ขับเคลื่อนในเชิงองค์กรสักเท่าไหร่ เพราะเรารวมตัวกันหลวมๆ ถ้าใครสนใจอะไร แล้วมีคนอื่นที่สนใจหรืออินด้วยและเกี่ยวกับฝั่งธน เราก็พร้อมที่จะลงไปทำ เช่นอินเรื่องเกมก็ทำเกม อีกช่วงอินเรื่อง NFT ก็ทำ NFT ส่วนคนไหนที่ไม่อิน ก็ไม่เป็นไร ไว้โปรเจ็กต์หน้าก็ได้” จั่นเล่าถึงภาพการทำงานของยังธน

สำหรับพวกเขาแล้ว ยังธนเปรียบเสมือนแพลตฟอร์มที่รวบรวมผู้ที่มีไอเดีย มีความฝัน มีความตั้งใจอยากจะสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้บ้านเกิดเข้าไว้ด้วยกัน โดยอาจไม่จำเป็นต้องมีผลตอบแทนใดๆ

เพราะฉะนั้น ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าโครงการที่ยังธนเข้าไปมีส่วนร่วมจะค่อนข้างหลากหลาย แต่ทั้งหมดล้วนมีเป้าหมายเดียวกันคือ การแสวงหาความร่วมมือจากทุกภาคส่วน

อย่างเมื่อปี 2566 พวกเขาก็ไปร่วมมือกับ Bangkok Design Week จัดกิจกรรมที่วงเวียนใหญ่-ตลาดพลู ซึ่งถือเป็น 2 ทำเลทางเศรษฐกิจและประวัติศาสตร์ของชาวฝั่งธน โดยเฉพาะที่ตลาดพลู ยังธนมาในธีม ‘อภินิหารตลาดพลู’ พาทุกคนไปย้อนความทรงจำผ่านกิจกรรมในบ้านเก่าและตรอกซอกซอยต่างๆ มีกิจกรรมสนุกๆ อย่าง อภินิหาร เซียมซีตลาดพลูกินดึก พาทุกคนมาทำนายเซียมซีว่า ค่ำคืนนี้จะไปรับประทานอาหารที่ร้านไหนดี เพราะที่นี่มีของอร่อยให้เลือกสรรเต็มไปหมด ไม่เพียงแค่นั้น ยังชักชวนทุกคนมาร่วมส่งเสียงสะท้อนถึงภาพอนาคตที่อยากเห็นในย่านแห่งนี้

ด้วยเสียงตอบรับที่คึกคัก พวกเขาจึงต่อยอดการทำงานโดยจับมือกับกรุงเทพมหานคร ทำโครงการย่านสร้างสรรค์ตามย่านสำคัญ อาทิ บางกอกใหญ่และตลาดพลู ชักชวนพี่น้องประชาชนมาช่วยกันระดมสมองวางแผนจัดกิจกรรม เพื่อสร้างเศรษฐกิจการท่องเที่ยวในชุมชนที่ยั่งยืน รวมทั้งชูอัตลักษณ์ของตัวเองให้โดดเด่นขึ้น

เพราะคงจะดีไม่น้อย หากผู้คนในแต่ละย่านมียุทธศาสตร์ในการพัฒนาพื้นที่ของตัวเอง โดยไม่ต้องรอเพียงแค่ส่วนกลางอย่างเดียว จนนำไปสู่กิจกรรมที่น่าสนใจ เช่น กิจกรรมอบรมมัคคุเทศก์น้อย ชวนเพื่อนเที่ยวตลาดพลู หรืออย่างที่บางกอกใหญ่ ก็มีโครงการชิมวิชาบางกอกใหญ่ พาเยาวชนคนรุ่นใหม่ไปพบกับ 4 ศาสตร์วิชาที่ไม่มีในห้องเรียน ทั้งเรียนศิลปะกับศิลปินแห่งชาติ หัดงานฝีมือการทำว่าวจุฬา ศึกษาเรื่องอาหารผัดไทยสูตรเลื่องชื่อกับบ้านสวนกลางกรุง และฝึกตีกลองยาวกับวงดนตรีมืออาชีพ แต่ที่สำคัญกว่าคือ เกิดผู้นำชุมชนรุ่นใหม่ที่มาช่วยขับเคลื่อนพื้นที่ต่อไปในระยะยาว

เช่นเดียวกับการส่งเสริมคุณค่าและเรื่องราวของย่านต่างๆ ในฝั่งธนให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง เพราะที่ผ่านมา พวกเขาพบว่าผู้คนจำนวนไม่น้อยอยากเล่าเรื่องบ้านเกิดของตัวเอง แต่ไม่อยากใช้คำที่เหมารวมแบบ ‘ยังธน’ จึงทดลองหยิบเอาย่านหรือหัวข้อย่อยๆ ที่น่าสนใจมานำเสนอ

เริ่มต้นจากเพจ ‘อิสรภาพ i S R P’ ซึ่งว่าด้วยเรื่องราวบนถนนอิสรภาพ และ ‘ธนBrewรี’ ซึ่งพูดถึงร้านกาแฟในฝั่งธนบุรี เนื่องจากครั้งหนึ่งคลองสานเคยปลูกกาแฟมาก่อน แถมยังมีโรงคั่วและร้านกาแฟกระจายอีกหลายแห่ง จึงควรมีช่องทางที่ช่วยให้ธุรกิจนี้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ซึ่งหากทั้งสองเพจนี้ขับเคลื่อนไปด้วยดี ยังธนก็มีแผนจะต่อยอดไปสู่พื้นที่อื่นๆ เช่น บางอ้อ บางพลัด หนองแขม และจรัญสนิทวงศ์

“เพจอิสรภาพ i S R P จะเล่าเรื่องราวใน 4 เขต คือคลองสาน ธนบุรี บางกอกใหญ่ บางกอกน้อย ซึ่งแต่ละแห่งจะมีคาแรกเตอร์ต่างกันชัดเจน อย่างลาดหญ้า คลองสานจะมีเอกลักษณ์หนึ่งที่ทำให้เรารู้ว่าอยู่ลาดหญ้าแล้วคือ หมูกระทะแล้วก็ฟุตบาทที่ค่อนข้างกว้างประมาณ 4-5 เมตร แต่ถ้าเราไปบ้านแขก ธนบุรี เราจะเห็นเสาไฟสีเขียว ส่วนบางกอกใหญ่ เป็นเขตที่เล็กกว่าบางกอกน้อย แต่มีพื้นที่สาธารณะเยอะมาก ขณะที่บางกอกน้อย ด้วยความเป็นที่ของทหารเรือ แล้วยังมีโรงพยาบาลใหญ่ตั้งอยู่ มีกำแพงหนาๆ ตั้งอยู่เยอะ เวลาเดินผ่านจะมีความรู้สึกร้อนๆ และพอไปถึงย่านพรานนกคนจะแน่นมาก แล้วยังมีแผงกั้นสีเขียวตลอดทั้งทางอีกด้วย” ฮินอธิบาย

แต่ถึงเขตต่างๆ จะมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกัน แต่ทั้งหมดต่างมีจุดร่วมบนถนนสายนี้เหมือนกัน อย่างบ้านผมอยู่คลองสานจะไปเรียนที่ทวีธาฯ ก็ต้องใช้ถนนเส้นนี้ หรือคนไปศิริราชก็ใช้เหมือนกัน เรารู้สึกว่าหลายคนมีประสบการณ์ร่วมเยอะ เลยอยากหยิบขึ้นมาเล่า แล้วใช้ภาษาที่ตรงขึ้น ประเด็นชัดขึ้น เพื่อจะได้สื่อสารชัดเจนขึ้น บูช่วยขยายความ

ทว่าเป้าหมายของทีมยังธนไม่ได้มีเพียงการสื่อสารเท่านั้น แต่ยังต้องตอบโจทย์เรื่องคุณภาพชีวิตที่ดี ยกระดับทุนทางวัฒนธรรมไปสู่มิติอื่นๆ ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม

ไอเดียหนึ่งที่พวกเขาคิดกันมาตลอด คือการทำอย่างไรให้ผู้ที่เชี่ยวชาญศาสตร์แขนงต่างๆ ซึ่งกระจายอยู่ทั่วฝั่งธน ไม่ว่าจะเป็นยอดฝีมือเรื่องงานศิลปะ อย่างแทงหยวก เชิดสิงโต ทำว่าวจุฬา ตีกลองยาว ไปจนถึงความรู้ทั่วไป อย่างงานช่าง การทำอาหาร การทำขนม การนวด การประดิษฐ์ ได้พบกับผู้ที่สนใจและอยากเรียนรู้วิชาเหล่านี้ เพราะนอกจากบรรดากูรูจะได้ส่งต่อภูมิปัญญาที่สั่งสมมาตลอดไปสู่คนรุ่นหลังแล้ว สิ่งที่ตามมาอาจก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ หรือต่อยอดไปสู่ธุรกิจที่ช่วยให้ชุมชนเข้มแข็งและหยัดยืนกลายเป็นศูนย์กลางที่ดึงดูดผู้คนในอนาคตได้

หากถามว่าตลอดหลายปีที่กลุ่มยังธนขับเคลื่อนได้สร้างความเปลี่ยนแปลงแก่พื้นที่ฝั่งซ้ายของกรุงเทพมหานครอย่างไรบ้าง แน่นอนว่าคงไม่ใช่การพลิกเมืองจากหน้ามือเป็นหลังมือ แต่อย่างน้อยพวกเขาก็ทำให้เสียงของคนตัวเล็กตัวน้อยเป็นที่สนใจของสังคม รวมถึงยังมีคนอีกมากมายที่ลุกขึ้นมาขับเคลื่อน และช่วยกันสร้างความเปลี่ยนแปลงแก่บ้านเกิด

“ก่อนหน้านี้แทบไม่มีภาคีภาคประชาชนเข้าไปทำกิจกรรมกับภาครัฐเลย แต่ตอนนี้มียังธน มีกลุ่มคนรักตลาดพลู มีอีกหลายๆ เครือข่ายที่เข้ามาทำงานมากขึ้น หรือแม้แต่การประชาสัมพันธ์ที่เข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ เช่นโปสเตอร์งานลอยกระทงของเขตธนบุรี เมื่อปี 2566 พวกเราก็ช่วยทำให้ หรือแม้แต่ Reels ใน Facebook เดิมทีไม่มีใครทำสักเท่าใด แต่พอเราทำเป็นตัวอย่าง ไปช่วยแนะนำว่าการถ่ายแบบนี้ไม่ยากเลย แถมผลตอบรับยังเยอะด้วย เขาก็เริ่มทำตามบ้าง” ฮินยกตัวอย่าง

“ยังธนช่วยเขย่าทั้งฝั่งภาครัฐที่ดูแข็งมากๆ แล้วยังไปเขย่าฝั่งชุมชนที่อาจจะนิ่งๆ ให้เริ่มทำอะไรสักอย่างร่วมกัน จนวันนี้เขาสามารถทำได้เองโดยไม่จำเป็นต้องมีเรา เช่น ตลาดพลูที่เราเริ่มทำตั้งแต่แรกๆ แต่ตอนนี้หลายโปรเจ็กต์เกิดขึ้นได้โดยไม่เกี่ยวกับเรา ซึ่งถือเป็นความเปลี่ยนแปลงที่น่าดีใจ” บูช่วยต่อยอด

“ผมอาจจะมองในแง่ความสัมพันธ์มากกว่า การทำยังธนทำให้เราได้เพื่อนมากขึ้น ได้คุยกับแต่ละคนลึกกว่าแค่มาทำโครงการ บางทีเขาอาจจะแนะนำว่าไปรู้จักคนนี้สิ หรือทิศทางการทำงานของเจ้าหน้าที่เขตก็เปลี่ยนไป เริ่มคุยง่ายขึ้น จำได้เลยว่าตอนแรกๆ บางเขตต้อง Walk-in เข้าไป พูดไปแล้วฟังบ้างไม่ฟังบ้าง แต่ตอนนี้พอมีชื่อยังธน ดึงเข้ามาเลย การทำงานภาคีแข็งแรงขึ้นมาก แน่นอนว่าเราอาจจะไม่ใช่หัวหอกหรือผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง แต่พอเรามีเพื่อนมากขึ้น เห็นประเด็นที่ลึกขึ้น ไม่ได้คุยแค่คนไม่กี่คน มีการไปลากคนอื่นๆ เข้ามา ส่งผลให้หลายเรื่องเริ่มขยับไปได้” เมฆสรุป

ทั้งหมดนี้คือ เรื่องราวของคนกลุ่มเล็กๆ ที่เปี่ยมด้วยความสร้างสรรค์ ที่มีความเชื่อร่วมกันว่าทุกคนมีพลังในการสร้างความเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีได้ ทำให้เมืองหลวงเก่าแห่งนี้กลับมามีคุณค่าและเข้าใจถึงเสน่ห์ของตัวเอง จนนำไปสู่ความภาคภูมิใจของผู้คนที่ได้เกิดและเติบโตเป็นคนฝั่งธน

โครงการปฏิบัติการชุมชนเปลี่ยนโลก

ปฏิบัติการชุมชนเปลี่ยนโลก : โครงการของเพจยอดมนุษย์..คนธรรมดา ซึ่งนำเสนอเรื่องราวของ 15 ชุมชนหรือเครือข่ายที่รวมพลังกันทำงานเพื่อความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

ยังธน คือเครือข่ายชุมชนต้นแบบประเด็นทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความทั่วถึง ปลอดภัย พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและยั่งยืน (SDGs ข้อที่ 11) และประเด็นเสริมสร้างความแข็งแกร่งของกลไกการดำเนินงาน และฟื้นฟูหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs ข้อที่ 17)

<< แชร์บทความนี้

RELATED POSTS
LATEST

Keep In Touch

COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO.  ALL RIGHTS RESERVED.