ย้อนกลับไปเมื่อ พ.ศ. 2504 ครั้งแรกที่เกิดกฎหมายอุทยานแห่งชาติ เมืองไทยเคยมีผืนป่าปกคลุมถึง 53 เปอร์เซ็นต์
แต่เมื่อเวลาผ่านไป สัดส่วนของป่าไม้กลับค่อยๆ ลดลงอย่างต่อเนื่อง จนทุกวันนี้เราเหลือพื้นที่ป่าไม้ 21 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ประเทศ ต้นไม้มากมายที่เคยอุดมสมบูรณ์เริ่มล้มหายตายจาก บางชนิดอยู่ในสภาวะใกล้สูญพันธุ์ แอบซ่อนอยู่ในผืนป่าไม่ถึงสิบต้น
แต่ด้วยความพยายามของคนกลุ่มหนึ่งที่อยากเห็นบ้านเมืองของเรายังคงรักษาความอุดมสมบูรณ์นี้ให้คงอยู่สืบไป จึงเกิดการแบ่งปันเมล็ดพันธุ์พืชรวมแล้วกว่า 2,000 ชนิด และนำไปสู่การเพาะพันธุ์ต้นไม้ตามพื้นที่ต่างๆ มากกว่าล้านต้น
กลุ่มขุนดง คือกลุ่มออนไลน์ที่ก่อตั้งโดย อาจารย์นพพร นนทภา เมื่อปี 2544 เพื่อสกัดกั้นขบวนการลวงโลกซึ่งมาหลอกขายกล้าไม้และทำแชร์ลูกโซ่ตามหน้ากระทู้เว็บบอร์ดต่างๆ ก่อนจะพัฒนาไปเป็นพื้นที่สาธารณะในการพูดคุย และแหล่งรวบรวมเมล็ดพันธุ์ไม้ เพื่อแจกจ่ายให้สมาชิกเกือบ 50,000 ชีวิต ที่เปี่ยมด้วยความตั้งใจอยากจะปลูกต้นไม้ให้เป็นร่มเงาของชุมชนและสังคมโดยแท้จริง
นอกจากนี้ ในปี 2559 อาจารย์นพพรยังได้ขยายแนวคิดไปสู่การจัดสร้างโรงเรียนปลูกป่า สถาบันการศึกษาเล็กๆ ที่ไม่เก็บค่าเรียน แต่อัดแน่นไปด้วยองค์ความรู้เรื่องต้นไม้แบบครบวงจร ตั้งแต่การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ การเพาะต้นกล้า รวมไปถึงการดูแลต้นไม้และสร้างป่าที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ให้เป็นความรู้ที่อยู่คู่โลกตราบนานเท่านาน
เพื่อค้นหาความลับว่า เหตุใดกลุ่มออนไลน์ที่หลายคนแทบไม่เคยเจอหน้ากันเลยสักครั้งจึงเติบใหญ่กลายเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็ง ยอดมนุษย์..คนธรรมดา และกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จึงชักชวนอาจารย์นพพรมาร่วมพูดคุยถึงเรื่องราว ความคิด ความฝันและความมุ่งมั่นที่ยิ่งใหญ่กว่าแค่การปลูกต้นไม้ แต่คือการคืนความยั่งยืนให้แก่โลกใบนี้
อาจารย์นพพรผูกพันกับผืนป่าตั้งแต่วัยเยาว์
สมัยก่อนเขามักติดตามย่าเข้าไปหาของป่าในอำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นประจำ โดยระหว่างทาง ย่าก็จะถ่ายทอดความรู้สมัยเคยติดตามปู่ อดีตหมอยาผู้เป็นสามีไปหาสมุนไพร เด็กน้อยจึงซึมซับเรื่องราวในพงไพรโดยไม่รู้ตัว
“เราไม่ได้สนใจเฉพาะต้นไม้ แต่สนใจทั้งหมดในป่า เวลาเข้าป่าต้องรู้ทั้งหมดว่าที่ผ่านตาเราคืออะไร ต้นไม้หรือสัตว์ตัวนี้ชื่ออะไร กินได้ไหม ดินแบบนี้เรียกว่าดินอะไร สิ่งแวดล้อมทุกอย่างเราต้องรู้”
พอยิ่งโตขึ้น เขาก็ยิ่งฝังใจกับเรื่องป่า หลังประสบกับเหตุการณ์ที่ป่าสมบูรณ์แห่งหนึ่งกลายเป็นที่รกร้างภายในระยะเวลาไม่กี่ปี ทำให้อยากเรียนรู้เรื่องป่าไม้มากขึ้น
“สมัยก่อนบ้านไม่มีเงิน ต้องไปทำไร่มันสำปะหลังอยู่ที่อำเภอเมือง จำได้ว่าปีแรกที่ไปเป็นป่าดงดิบเลย ต้นไม้รกชัฏ มีน้ำตก สิงสาราสัตว์ มีช้าง มีเสียงสุนัขจิ้งจอก มีเสียงเก้งกวางวิ่งไล่กันบนเขาในป่า แต่แค่ 5 ปีผ่านไป พอถางป่าทำไร่ไปเรื่อยๆ ก็ไม่เหลืออะไรเลย แม้แต่ฟืนสักดุ้น กิ้งก่าตัวเดียวยังไม่มี นี่คือตำนานดงแม่เผด และกลายเป็นภาพติดหัวว่า การมีป่านั้นดีกว่าที่โล่งๆ แบบนี้”
เด็กหนุ่มเริ่มค้นพบว่าตนเองสนใจเรื่องพันธุ์ไม้ต่างๆ แต่สมัยนั้นด้วยข้อจำกัดเรื่องความห่างไกล ทำให้ไม่ทราบว่ามีสถาบันใดที่เปิดสอนเรื่องป่า เขาจึงขอแม่เลือกศึกษาต่อด้านเกษตรศาสตร์ แต่ก็ถูกคัดค้านเต็มที่ โดยบอกว่า เขาเป็นลูกเกษตรกรอยู่แล้ว จะเรียนต่อด้านนี้ไปเพื่ออะไร ไม่เห็นมีอนาคตเลย สู้เรียนแล้วไปรับราชการ เป็นเจ้าคนนายคนดีกว่า
กระทั่งปี 2533 เกิดจุดพลิกผันขึ้น เมื่ออาจารย์นพพรได้ยินข่าวการเสียชีวิตของ สืบ นาคะเสถียร อดีตหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ทำให้ทราบว่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีคณะวนศาสตร์ เปิดสอนเกี่ยวกับเรื่องป่าไม้โดยตรง จึงเบนเข็มไปทางนี้ และคงเป็นจังหวะของชีวิตที่ปีนั้นมีโควตาส่งมาที่โรงเรียนพอดี ครูแนะแนวจึงเสนอชื่อของเขาไป
ชีวิตในกรุงเทพฯ ได้เปิดโลกทัศน์ให้เด็กอีสานผู้นี้อย่างมาก เขาได้เรียนรู้หลากหลายสิ่ง ทั้งวนศาสตร์ชุมชน ซึ่งสอนการจัดการป่าไม้ในชุมชนให้ตอบโจทย์ชีวิต รวมถึงวนวัฒนวิทยา ซึ่งว่าด้วยการจัดสวนป่า ตลอดจนวิชาเลือกต่างๆ ทั้งจิตวิทยาและมานุษยวิทยา เพื่อจะได้เข้าใจมุมมองของผู้คนในสังคมได้ถ่องแท้ยิ่งขึ้น
“เราต้องการทำงานชุมชน ทำงานกับชาวบ้าน เพราะตอนเด็กๆ ที่เราเห็นการถางป่ามันเหมือนเป็นแผลในใจ เราจึงอยากฟื้นฟูป่าแล้วทำให้ทุกคนอยู่ร่วมกันได้ ขณะเดียวกันเราก็อยากเป็นนักเพาะพันธุ์ไม้ที่เก่ง แต่พอเรียนไปสักพัก เหมือนขาดช่วง เรียนแต่เลกเชอร์อย่างเดียว ไม่ค่อยได้ลงมือปฏิบัติเท่าไหร่ แล้วบังเอิญด้วยความที่เรายากจน รศ.ดร.อุทิศ กุฏอินทร์ จึงดึงไปช่วยงานวิจัยด้านชีววิทยาป่าไม้ ซึ่งพอไปอยู่เรารู้สึกทึ่งที่อาจารย์เดินไปไหนก็รู้จักต้นไม้ทุกต้น สุดท้ายเราจึงตัดสินใจเรียนสายนี้โดยตรง
“จุดเด่นของชีววิทยาป่าไม้ คือปลูกป่าเก่ง เพราะรู้จักพรรณไม้หมด รู้เรื่องสิ่งแวดล้อม ความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงสิ่งต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน ถือเป็นพื้นฐานของวนศาสตร์เลย ซึ่งรุ่นหนึ่งมีคนเรียนน้อยมาก เพราะต้องจำเยอะ แล้วคนที่เรียนก็มักเรียนเก่ง แต่มีเราคนเดียวที่ไม่เก่ง ก็อาศัยซึมซับจากอาจารย์เรื่อยมา ซึ่งอาจารย์ก็จะครอบหัวว่า ต่อไปพวกคุณต้องยิ่งใหญ่ ต้องไปถึงจุดสูงสุดของสาขางานที่ทำ ซึ่งก็เป็นแบบนั้นจริงๆ เพราะทุกคนที่อยู่ไลน์เดียวกันต่างก็เป็น Top 10 ของประเทศหมดเลย”
หลังเรียนจบ อาจารย์นพพรก็เลือกเส้นทางไม่ต่างจากนักเรียนป่าไม้ทั่วไป ด้วยการสอบเข้ากรมป่าไม้ แต่พอดีตรงกับช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ จากที่เคยมีตำแหน่งบรรจุ 200 กว่าอัตรา กลับเหลือเพียง 150 คน ปรากฏว่าเขาได้อันดับที่ 152 แม้จะพลาดหวัง แต่ก็เป็นจังหวะเดียวกับที่เพื่อนของรุ่นพี่ ซึ่งทำงานอยู่ที่สถาบันการศึกษาแห่งหนึ่ง ต้องการนักวนศาสตร์ที่มีพื้นเพเป็นคนอีสานเข้าไปทำงานเกี่ยวกับเรื่องพรรณไม้ เพื่อนร่วมรุ่นจึงขอให้เขารับงานนี้ แล้วก็ทำเรื่อยมากว่า 25 ปี
ข้อดีอย่างหนึ่งก็คือ ทำให้เขารู้จักต้นไม้ที่เกี่ยวข้องกับทางยา เป็นความรู้ใหม่นอกเหนือจากสมัยเรียนปริญญาตรีซึ่งคณะวนศาสตร์เน้นศึกษาเรื่องไม้ที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจเป็นหลัก ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เขามีความเข้าใจเรื่องป่าไม้ที่หลากหลายยิ่งขึ้น รวมทั้งเป็นอีกต้นทุนหนึ่งที่ใช้ในการก่อตั้งกลุ่มขุนดง
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2544 เคยมีมิจฉาชีพตระเวนโพสต์ข้อความตามเว็บบอร์ดต่างๆ ชักชวนให้คนปลูกต้นกฤษณาแล้วจะรับซื้อคืนในราคาสูง เพียงแต่สมาชิกต้องซื้อพันธุ์ไม้จากเขาเท่านั้น
ด้วยความเป็นนักวิชาการป่าไม้ จึงทราบดีว่า การปลูกต้นกฤษณานั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และใช้เวลาปลูกนานหลายปี แต่หลายคนไม่รู้จึงตกเป็นเหยื่อของขบวนการลวงโลก เสียเงินหลักแสนหลักล้านเพื่อลงทุนซื้อกล้าไม้ บางคนกลายเป็นหนี้สินที่ไม่รู้ว่าอีกกี่สิบปีถึงจะใช้หมด
อาจารย์นพพรจึงเข้าไปตอบโต้พร้อมกับให้ความรู้ที่ถูกต้อง
“เราเข้าไปเขียนอยู่หลายแห่ง เพราะตอนนั้นไม่มีใครทำหน้าที่ให้ความรู้แก่ชาวบ้านเลย ไม่มีใครมาฟันธงหรือกล้าการันตีว่านี่คือขบวนการลวงโลก ให้ข้อมูลเท็จ อีกอย่างคือคนลวงโลกไปบอกว่าตัวเองจบวนศาสตร์ ซึ่งเรารับไม่ได้เพราะเด็กวนศาสตร์เขารู้กันหมดว่าใครเป็นใคร เนื่องจากคนเรียนน้อย มีแห่งเดียวในประเทศ ซึ่งพอเราไปเขียนก็เท่ากับมีคนพูด 2 คนแล้ว เขาจะเชื่อใคร ซึ่งคนที่คิดตามบริบทก็จะชอบใจที่เราพูด และภายหลังก็เริ่มจับกลุ่มตามกันมากระทั่งเกิดเป็นแก๊งขุนดง”
คำว่า ‘ขุนดง’ มีที่มาจากชีวิตของอาจารย์ที่เติบโตมาในป่าดงพงไพรที่อุดมสมบูรณ์ ขณะเดียวกันก็เป็นฉายาหนึ่งที่ผู้คนมักเรียกขานผู้ที่จบจากคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ต่อมาเมื่อกลุ่มขยายตัวก็มีการก่อตั้งเว็บบอร์ดสาธารณะ เน้นคุยเรื่องป่าไม้เป็นหลัก พร้อมกับแจกจ่ายเมล็ดพันธุ์ให้ผู้ที่สนใจโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
“ตอนนั้นมีคำถามเกิดขึ้นว่า ถ้าเราไม่ปลูกตามที่เขาบอก แล้วจะให้ปลูกอะไร ผมก็เลยบอกว่าเดี๋ยวจะพาปลูกตามหลักวิชาการ โดยเบื้องต้นให้รับพันธุ์ไม้ไปก่อน ซึ่งพันธุ์ไม้นี้ก็เก็บจากในขอนแก่น ในอีสานนี่แหละ เจอตรงไหนก็เก็บแจกหมด แล้วก็สอนเพาะพันธุ์ พร้อมกับให้ความรู้ไปด้วย อย่างต้นสะเดา ประโยชน์ของเนื้อไม้เป็นแบบนี้ ต้องปลูกดินแบบนี้ กี่ปีถึงจะตัดได้
“ก่อนแจกจะต้องมีการคัดแม่ไม้ก่อนว่าดีไหม ต้องทดลองก่อนอย่างน้อย 1 ปี ซึ่งเหตุผลที่ต้องคัด ก็เพื่อให้ได้ไม้ที่มีคุณภาพที่สุด สมมติเราอยากได้ท่อนซุงเยอะๆ เราก็ต้องเลือกจากต้นที่ให้ท่อนซุงเยอะใช่ไหม ดังนั้นถ้าพ่อแม่สูงชะลูด ตอตรง รุ่นลูกรุ่นหลานก็ต้องหน้าตาแบบนี้ไม่หนีกันหรอก แต่ถ้าเราไม่คัด เกิดแม่มันอ้วน เตี้ย ท่อนซุงน้อย ลูกก็ต้องสุขภาพไม่ดี บางทีแทนที่จะอยู่ได้ 500 ปี ก็เหลือแค่ 100 กว่าปี ซึ่งเท่ากับว่าเราขาดทุนช่วงเวลาในการฟื้นฟูป่า”
สำหรับวิธีการเก็บพันธุ์ไม้ของอาจารย์จะเกิดขึ้นหลังเลิกงาน โดยเขาจะขี่มอเตอร์ไซค์ตระเวนไปตามจุดต่างๆ เก็บเมล็ดพันธุ์ และในช่วงค่ำคืน ระหว่างรับชมโทรทัศน์ ก็จะนั่งบรรจุเมล็ดพันธุ์เตรียมส่งให้บรรดาสมาชิก กลายเป็นงานอดิเรกที่ยิ่งทำก็ยิ่งเพลิดเพลิน
ช่วงเริ่มต้นที่มีสมาชิกอยู่ราว 200-300 คน อาจารย์นพพรทำทุกอย่างคนเดียว ส่วนคนอื่นๆ ก็มีหน้าที่รับความรู้และเมล็ดพันธุ์ไปเพาะให้ถูกต้องเท่านั้น ซึ่งความแตกต่างของพันธุ์ไม้ระหว่างกลุ่มขุนดงกับหน่วยงานทั่วไปคือ หลากหลายกว่า เพราะมีทั้งประดู่ป่า แดง มะค่า ชิงชัน กระพี้เขาควาย สะเดา มะขามป้อม สมอพิเภก สมอไทย เป็นต้น ซึ่งบางชนิดอาจไม่ตอบโจทย์ทางเศรษฐกิจ แต่มีคุณค่าในการสร้างความหลากหลายให้เกิดขึ้นกับผืนป่า
ต่อมาเมื่อสมาชิกเพิ่มมากขึ้น จึงมีอาสาสมัครเข้ามาช่วยพัฒนาเว็บไซต์ khundong.com โดยแต่ละคนต่างไม่เคยเจอหน้าค่าตากัน แต่ก็เต็มใจช่วย เพราะเห็นถึงความมุ่งมั่นของผู้ก่อตั้ง กระทั่งเมื่อโซเชียลมีเดียเติบโต อาจารย์นพพรจึงโยกย้ายสมาชิกไปอยู่ใน Facebook พร้อมกับตั้งกลุ่ม ‘ขุนดง…พันธุ์ไม้ฟรี24ชั่วโมง’ ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกเกือบ 50,000 คน
สำหรับวิธีการทำงานของกลุ่มขุนดงนั้นเน้นการแจกเมล็ดพันธุ์ ไม่ได้แจกต้นกล้า เพราะการจัดส่งทำได้ลำบากกว่า ค่าใช้จ่ายก็สูง ทำให้โอกาสที่จะขยายพันธุ์ในวงกว้างทำได้ยากขึ้น แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าคือ เมื่อคนเราได้เพาะเมล็ดเองตั้งแต่แรกก็จะเกิดความรักและความผูกพัน อยากเห็นต้นไม้นั้นเจริญเติบโต อีกอย่างหนึ่งคือ แม้ว่าเมล็ดพันธุ์จะแจกฟรี แต่ค่าจัดส่ง ปลายทางจะต้องเป็นฝ่ายรับผิดชอบ
“กติกาข้อแรกคือ ห้ามขายเด็ดขาด ดังนั้นเราจึงต้องมีหลักการสกรีนคน การที่ให้ทุกคนเสียค่าส่งเอง เพราะถ้าคุณรับผิดชอบแค่นี้ไม่ได้ อย่าไปปลูกป่าเลย ปลูกป่าต้องใช้พลังมากกว่านี้ อีกเรื่องคือเราไม่ได้แจกเยอะ แจกแค่พอไปปลูกของส่วนตัว เช่นมีตะแบกดง 100,000 ฝัก เราให้คนละ 30 ฝักเท่านั้น ซึ่งเอาไปขายไม่ได้อยู่แล้ว ดังนั้นคนที่เป็นพ่อค้าจริงๆ ก็จะไม่เข้ามาในขุนดง เพราะไม่มีผลประโยชน์อะไร”
การเดินหน้าแจกจ่ายเมล็ดพันธุ์ พร้อมกับถ่ายทอดความรู้ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ค่อยๆ บ่มเพาะทักษะของสมาชิกกลุ่มขุนดง หลายคนพัฒนาตัวเองจนกลายเป็นผู้แจกจ่ายเมล็ดพันธุ์ ส่งผลให้เกิดการแพร่กระจายของพันธุ์ไม้อื่นๆ ทั่วประเทศ ไม่ใช่เฉพาะถิ่นอีสานเหมือนสมัยที่อาจารย์นพพรทำเพียงคนเดียว และหากสมาชิกคนใดมีเมล็ดพันธุ์แต่ไม่สะดวกแจก ก็ส่งมาให้อาจารย์หรือผู้นำกลุ่มคนอื่นๆ ช่วยแจกแทนได้
“ขุนดงเราเริ่มจากวิชาการหมดเลย สมัยก่อนเราจะเขียนชุดข้อมูลว่า บทที่ 1 การคัดเลือกแม่ไม้ บทที่ 2 การสำรวจพื้นที่ สำรวจดิน สำรวจป่า ในป่ามีอะไรบ้าง แหล่งน้ำเป็นยังไง ไม่ใช่ว่าอยากเก็บก็เก็บ อยากแจกก็แจก ดังนั้นใครจะเก็บแจก ต้องมาแจ้งชุดข้อมูลก่อนว่าเอามาจากไหน เชื่อไหม ทุกวันนี้สมาชิกเก่งกว่าเราอีก เรามีหน้าที่แค่กดไลก์ ชมว่าเยี่ยม ถูกต้องแล้ว คอนเฟิร์มให้เขาดีใจ
“โดยต้นไม้แต่ละชนิดจะมีลักษณะความเป็นอยู่ไม่เหมือนกัน ซึ่งคนที่รับไปก็ต้องรู้ทั้งหมด บางต้นมาจากใต้ อาจปลูกที่อีสานลำบากหน่อย ปลูกที่เหนือไม่ได้ หรือถ้าจะปลูกที่อีสานจริงๆ ก็จะต้องให้น้ำเท่ากับภาคใต้ ต้องให้ความชื้นสัมพัทธ์ใกล้เคียงกัน หรือไม้ดอย ถ้าไม่ปลูกที่เหนือก็ต้องปลูกในพื้นที่ที่มีความหนาวสะสมถึง แต่ถ้าต้นไหนที่เราไม่ได้ย้ำอะไร ก็แสดงว่าปลูกได้หมด”
นับตั้งแต่ก่อตั้ง กลุ่มขุนดงแจกต้นไม้ไปแล้วกว่า 3,000 ชนิด น่าจะถือว่าเป็นกลุ่มที่แจกมากสุดลำดับต้นๆ ของโลก ต้นไม้บางชนิดที่เคยอยู่ในสถานภาพเกือบสูญพันธุ์ ทั่วประเทศมีไม่ถึงสิบต้น ก็กลับมาเจริญเติบโต ขยายพันธุ์ไปตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วเมืองไทย
“ต้นทะลอก ตามรายงานของกรมป่าไม้บอกว่ามีแค่ 3 ต้น เป็นต้นไม้วงศ์ยางนาที่อยู่ตามป่าลุ่มน้ำ ซึ่งที่มันใกล้สูญพันธุ์เพราะปัญหา Climate Change ระบบน้ำในที่ลุ่มไม่ต่อเนื่อง อาจจะท่วมมาแล้วแห้งเลย หรือบางทีลูกมันร่วงลงน้ำแล้วลอยออกโขง ออกทะเล ไม่มีโอกาสได้เกาะผืนป่า แต่พอดีตอนนั้นมีขุนดงท่านหนึ่งไปเจอต้นทะลอกที่รอยต่อระหว่างบุรีรัมย์กับโคราช ก็เลยเอามาให้เราแจก พอแจกปุ๊บ ปีนั้นต้นดันออกเยอะ จนทุกวันนี้มีหลายหมื่นต้นแล้ว”
การทำงานของกลุ่มขุนดงจึงถือเป็นการสำรองพันธุกรรมพืชไม่ให้สูญหาย เพราะยังมีต้นไม้อีกมากที่ไม่ได้ถูกศึกษาละเอียด และบางทีในอนาคต ต้นไม้เหล่านี้อาจกลายเป็นกุญแจที่ช่วยให้เราทุกคนผ่านพ้นวิกฤตไปได้ โดยเฉพาะในยุคที่ทั่วโลกต้องรับมือกับโรคอุบัติใหม่
“ถ้าเรามองในเรื่องของประโยชน์กับมนุษย์ ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงตลอด รวมถึงโรคภัยไข้เจ็บก็เปลี่ยนแปลง ดังนั้นสิ่งที่เรายังไม่รู้ประโยชน์ น่าห่วงมากกว่าอันที่เรารู้ประโยชน์ เพราะบ่อยครั้งเราก็ไปทำลายในสิ่งที่ไม่รู้ ทำให้สูญไปก่อน ทั้งที่ต่อไปมันอาจมีประโยชน์สำหรับอนาคตก็ได้”
แต่ที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันคือ การสร้างกัลยาณมิตรที่เหนียวแน่น เพราะทุกคนมีเป้าหมายเดียวกัน คือ อยากจะรักษาทรัพยากรป่าไม้ให้คงอยู่ในเมืองไทยต่อไป
ปัจจุบัน นอกจากการแจกเมล็ดพันธุ์พืช กลุ่มขุนดงยังมีกิจกรรมหลักคือ การหาทุนจัดซื้อเมล็ดพันธุ์หายาก เช่น ช้างม่วง กระบากใหญ่ ตะแบกดง หรือต้นพิมเสน การบูร ซึ่งเป็นไม้ที่มีมูลค่าในอดีต แต่กลับมีปริมาณน้อยลงเรื่อยๆ ซึ่งหากสมาชิกกลุ่มคนใดพบ ก็มาเบิกเงินเพื่อนำไปแจกต่อได้
อีกส่วนหนึ่งก็บริจาคให้สาธารณกุศล เช่น ช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติต่างๆ ทุนการศึกษาสำหรับนักเรียนเรียนดี ทุนวนศาสตร์ รวมถึงทุนช่วยเหลือบุคคลที่มีบทบาทในการอนุรักษ์ต้นไม้และผืนป่า เช่น เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่เสียชีวิตระหว่างปฏิบัติหน้าที่ เช่น ร.ต.ต.วิชัย สุริยุทธ หรือที่ทุกคนรู้จักกันในชื่อ ดาบวิชัย คนบ้าปลูกต้นไม้ ซึ่งก่อนจะเสียชีวิตก็ต้องเข้าออกโรงพยาบาลอยู่บ่อยครั้ง กลุ่มขุนดงจึงระดมทุนด้วยการเปิดประมูลต้นไม้ จากนั้นก็นำรายได้ทั้งหมดไปมอบให้โดยไม่หักค่าใช้จ่าย
“น้องที่เขาใหญ่โดนช้างเหยียบตาย เมียกำลังจะคลอดลูก เราก็ระดมทุนไปช่วย เพราะพวกเราคิดว่าผู้ที่มีคุณูปการต่อโลกใบนี้ควรได้รับการดูแล อย่างน้อยๆ ก็ถือเป็นการขอบคุณเขา เรายังเคยคิดเลยว่า ถ้าเป็นนายกฯ จะให้เงินสนับสนุนคนที่ปลูกป่าสำเร็จ จะรวยจะจนก็ให้ไปเถอะ เพื่อกระตุ้นให้คนอยากปลูกป่า ซึ่งทุนเหล่านี้เราถือหลักว่าต้องใช้ให้หมด ไม่มีกั๊กไว้ หาเงินเป็นงวดๆ ไม่มีกองกลาง เพื่อความโปร่งใส”
ผลจากการสื่อสารที่มีพันธุ์ไม้เป็นสื่อกลางได้เชื่อมร้อยให้กลุ่มออนไลน์แห่งนี้ยังคงแข็งแรง และเติบโตกลายเป็นเครือข่ายปลูกต้นไม้ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองไทย
หากถามว่าเหตุใดคนไทยถึงควรปลูกป่า ปลูกต้นไม้
แน่นอนว่า ภาวะโลกรวนที่กำลังคุกคามโลก คือปัจจัยหลักที่ทำให้ทุกคนต้องหวนกลับมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมจริงจัง โดยเฉพาะการเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อช่วยกักเก็บคาร์บอน และดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากชั้นบรรยากาศ
แต่ที่สำคัญยิ่งกว่า ต้นไม้แต่ละชนิดล้วนมีความสัมพันธ์ต่อระบบนิเวศ การรู้จักต้นไม้มากขึ้น อาจจะนำไปสู่การตอบหลายๆ คำถาม เช่น ความลับหนึ่งที่อาจารย์นพพรค้นพบโดยบังเอิญ คือต้นไม้สามารถพยากรณ์วันฝนตกได้แม่นยำ 100 เปอร์เซ็นต์
วันที่ 29 มีนาคม 2548 ระหว่างที่เขากำลังเดินจากหอพักนักศึกษาไปโรงอาหาร ได้เกิดเหตุลมพายุพัดลูกยางนาจำนวนมากร่วงหล่นใส่ศีรษะ ด้วยความเป็นนักวิชาการป่าไม้ จึงเก็บลูกยางนาเหล่านั้นมาศึกษา และตั้งใจว่าในวันที่ 29 มีนาคมของปีถัดไป ก็จะกลับมาเก็บอีกครั้งหนึ่ง
แต่พอถึงวันที่รอคอย ปรากฏว่าลูกยางนานั้นแห้งหมด ไม่สดเหมือนที่เคยเก็บได้ในปีก่อน จึงถามแม่ค้าละแวกนั้น ทำให้ทราบว่า เมล็ดยางนาร่วงตั้งแต่วันที่ 15-16 แล้ว
ระหว่างนั้นเองอาจารย์นพพรนึกถึงคำครู อย่าง รศ.ดร.อุทิศ ที่เคยพูดว่าต้นยางนากระจายพันธุ์ด้วยลมฝน ถ้าวันไหนฝนตกมักมีลูกยางนาร่วง จึงอยากพิสูจน์ข้อเท็จจริงของเรื่องนี้ และกลายเป็นแรงบันดาลใจให้เริ่มเรียนรู้วัฏจักรชีวิตของต้นยางนาแบบละเอียด
“เราเริ่มเก็บชุดข้อมูลพันธุ์ไม้วงศ์ยางนาทั้ง 9 ชนิดในขอนแก่น ดูการติดดอกออกผล นับวันดอกบานจนถึงวันที่แก่ เพราะเราอยากรู้ว่าวันที่มันร่วงจะมีฝนไหม เราเน้นดอกร่วงเพราะว่าต้นมันสูง เรามองไม่เห็นดอกบาน แล้วพอดอกร่วงจนถึงฝนร่วงจะมีฝนหรือเปล่า เอามาชนิดละ 10 ต้น ผลปรากฏว่า ทุกชนิดให้ผลแม่นยำ 100 เปอร์เซ็นต์”
ไม่ใช่เพียงแค่ยางนาเท่านั้น ยังมีต้นไม้อีกหลายชนิดที่ใช้คำนวณสภาพอากาศของพื้นที่ต่างๆ ได้ เช่น กระเบา ชุมแสง หรือมะกอกน้ำ หากเมล็ดแก่เมื่อไหร่ แสดงว่าปีนั้นน้ำจะท่วม เพราะเมล็ดของพืชเหล่านี้กระจายพันธุ์ด้วยการลอยน้ำ หรือหากปีไหนที่ต้นเต็งออกดอก ถือเป็นสัญญาณว่าปีนั้นสภาพอากาศจะแห้งแล้ง เนื่องจากต้นเต็งนั้นเติบโตในป่าเต็งรัง และชอบอากาศร้อน
ประโยชน์ของการรับทราบข้อมูลต่างๆ ช่วยให้ทุกคนวางแผนและปรับเปลี่ยนการทำงานของตัวเองได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะเกษตรกร ซึ่งต้องพึ่งพาฟ้าฝนตลอดเวลา หรือแม้แต่สมาชิกกลุ่มขุนดงเองก็คำนวณเวลาในการเก็บเมล็ดพันธุ์พืชเพื่อแจกจ่ายได้ โดยเฉพาะต้นยางนา ซึ่งต้องเก็บในจังหวะที่ลูกร่วงจากต้นใหม่ๆ ไม่เช่นนั้นเมล็ดอาจจะฝ่อไปเสียก่อน
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ภารกิจของกลุ่มขุนดงจะเป็นการปลูกต้นไม้ แต่พวกเขาก็มีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น คือ การคืนระบบนิเวศที่ดีสู่สังคมไทยด้วย
“การสร้างระบบนิเวศที่เหมาะสมเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะฉะนั้นถ้าใครมีกำลังหรืองบประมาณ เราก็อยากให้เขาไปสร้างป่าที่ดียิ่งขึ้น เช่นมีน้องคนหนึ่งอยู่ที่สิงห์บุรี พื้นที่ของเขาเป็นป่าลุ่มน้ำ จึงมีน้ำเหลือเฟือ แต่ถ้าเทียบกับภาคใต้แล้ว ปริมาณน้ำฝนไม่ถึง เพราะฉะนั้นถ้าเขาอยากสร้างป่าดิบชื้นเหมือนภาคใต้ เราก็ต้องแนะนำว่าควรอัดอะไรเข้าไป
“อย่างคุณหมอคนหนึ่ง ที่ดินของแกเป็นป่าเบญจพรรณ แต่เรามองว่าเขาสร้างป่าที่ดีกว่านี้ได้ เราก็พยายามเสนอให้เขาสร้างป่าที่มีความชื้น และมีความหลากหลาย จะได้เก็บคาร์บอนได้มากขึ้น ปล่อยออกซิเจนได้มากกว่า เพื่อที่โลกของเราจะได้เย็นขึ้น”
สิ่งเหล่านี้คือคุณค่าที่กลุ่มขุนดงพยายามผลักดันให้ทุกคนเข้าใจและร่วมด้วยช่วยกัน เพื่อช่วยกันสร้างความเปลี่ยนแปลงแก่โลก และยังกลายเป็นพื้นฐานสำคัญในวันที่อาจารย์นพพรตัดสินใจต่อยอดการทำงาน จากโลกออนไลน์มาสู่โลกความเป็นจริง
เราเคยเก็บข้อมูลของนักเรียนว่า ทุกคนจะปลูกป่าน้อยสุด 5 ไร่ สูงสุดอยู่ที่ 200 ไร่ต่อปี ถ้าเฉลี่ยก็อยู่ที่ 50 ไร่ต่อคนต่อปี และถ้ายังมีคนเข้ามาเรียนเรื่อยๆ เราก็จะมีป่าที่อุดมสมบูรณ์มากขึ้น
หลังจากศึกษาและเผยแพร่ความรู้ด้านป่าไม้มาอย่างต่อเนื่อง อาจารย์นพพรก็เริ่มเกิดความคิดว่าคงจะดีไม่น้อยหากชวนคนมาเรียนรู้และฝึกปฏิบัติ เพราะจะทำให้เข้าใจกระบวนการปลูกป่าอย่างถ่องแท้ แต่ติดปัญหาคือไม่มีพื้นที่พอที่จะทำได้
“เราไม่มีสมบัติอะไรเลย มีแค่บ้านกับที่ดิน เงินเดือนก็ชนเดือน จนเมื่อปี 2558 มีรุกขกรคนหนึ่งถามว่า หากมีที่ดินสักแปลงจะทำอะไร แล้วเขาก็เสนอว่า น่าทำไม้ล้อมขาย จะได้มีเงิน เราก็คิดอยู่พักหนึ่ง แล้วก็ตอบเขาไปว่า อยากทำโรงเรียนปลูกป่า อยากตั้งศูนย์เรียนรู้สำหรับขุนดง เพราะที่ผ่านมาเราสอนแต่ในออนไลน์ ไม่เคยพาคนลงไปทำจริงๆ”
แล้วความตั้งใจของอาจารย์นพพรก็กลายเป็นจริง เมื่อมีลูกศิษย์อยากให้เขาช่วยหาที่ดินแถวอีสานสัก 20 ไร่ พอดีที่ดินผืนติดกับบ้านกำลังปล่อยขาย อาจารย์จึงเสนอให้มาซื้อที่นี่ พอซื้อเสร็จเรียบร้อย ลูกศิษย์คนเดิมก็บอกให้อาจารย์นำที่ดินผืนนี้ไปใช้ประโยชน์
สุดท้ายเขาจึงพัฒนาเป็นโรงเรียนปลูกป่า โดยมีข้อแลกเปลี่ยนว่าทรัพยากรใดๆ ที่เกิดขึ้นถือเป็นกรรมสิทธิ์ของลูกศิษย์คนนั้น เพื่อตอบแทนที่อนุญาตให้ใช้พื้นที่ได้ฟรี
โรงเรียนปลูกป่า หรือ Forest Plantation School ตั้งอยู่ในอำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น โดยเน้นการสอนตั้งแต่เรื่องพื้นฐาน เพื่อให้ทุกคนปลูกป่าได้ถูกต้องและปฏิบัติได้จริง ที่สำคัญคือไม่มีการเก็บค่าใช้จ่าย ทุกคนเข้าเรียนได้ฟรี เพราะอาจารย์นพพรอยากส่งต่อความรู้นี้ให้อยู่คู่โลกอย่างแท้จริง
เนื่องจากที่ผ่านมา องค์ความรู้ต่างๆ ทั้งนิเวศชีววิทยา วนวัฒนวิทยา หรือวนศาสตร์ชุมชน มักกระจุกตัวอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย คนทั่วไปไม่มีโอกาสเข้าถึง
ศูนย์เรียนรู้ของปราชญ์ชาวบ้านบางแห่งก็มีปัญหาเรื่องความถูกต้อง เพราะคิดแนวปฏิบัติขึ้นเอง โดยไม่ได้ศึกษาหลักวิชาการ ส่งผลให้เวลาไปกระจายความรู้แก่ชาวบ้านในพื้นที่จึงเกิดข้อผิดพลาดตามไปด้วย หรือแม้แต่ภาครัฐในบางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็อาจไม่ได้ขับเคลื่อนอย่างเต็มกำลัง เพื่อให้เกิดผลลัพธ์การปลูกป่าที่ดีที่สุด
“เมล็ดพันธุ์ที่แจกกัน เขาก็ไปจ้างชาวบ้านเก็บทั้งนั้น ถามว่าทำไมนักวิชาการป่าไม้ไม่ไปเก็บเอง หรือตั้งทีมที่มีความสามารถไปเก็บ ซึ่งจะทำให้ได้เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพสูงกว่า หรือแม้แต่การคัดแม่ไม้ เขาขายแม่ไม้พะยูง กิโลกรัมละ 5,000 บาท แต่ชาวบ้านขายแค่กิโลกรัมละ 1,200 บาท อย่าว่าแต่คนทั่วไปเลย หน่วยราชการต่างๆ ก็ยังไปซื้อกับชาวบ้าน ทำให้คนเข้าไม่ถึงแม่ไม้ที่มีคุณภาพ”
อาจารย์จึงอยากให้โรงเรียนปลูกป่าแห่งนี้เป็นตัวแทนที่ช่วยกระจายความรู้ที่ถูกต้อง และเป็นวิชาการไปสู่วงกว้าง เพราะฉะนั้น เนื้อหาที่หยิบยกขึ้นมาสอน จึงต้องเข้าถึงง่าย ตอบโจทย์ที่ทุกคนต้องการ ทำตามแล้วสำเร็จแน่นอน ที่สำคัญคือ ไม่ได้เก็บค่าสอน อย่างมากก็เพียงแค่ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง เช่น ค่าอุปกรณ์ ค่าอาหาร และค่าเครื่องดื่ม
โดยคอร์สแรกที่ทุกคนต้องผ่านคือ การปลูกป่าแบบประณีต ซึ่งจะสอนตั้งแต่เรื่องพื้นฐาน เช่น นิเวศวิทยาดั้งเดิมของพื้นที่เป็นอย่างไร เป็นป่าแบบไหน เพื่อจะได้คัดเลือกพันธุ์ไม้ให้เหมาะสม
“พื้นที่โรงเรียนปลูกป่าแห่งนี้เดิมเป็นป่าเต็งรัง ถ้าเราเอาพันธุ์ไม้ในป่าเต็งรังมาปลูก ก็รอดทุกต้น ไม่ต้องดูแลเยอะ แต่ถ้าเอายางนาซึ่งเป็นไม้ป่าดิบมาปลูก จะต้องดูแล 4-5 ปีถึงจะรอด เรื่องดินเรื่องน้ำ เรื่องฤดูกาลก็สำคัญ ทุกอย่างสัมพันธ์กันหมด”
จากนั้นก็จะเข้ามาสู่การคัดเลือกแม่ไม้ ตามมาด้วยการเก็บเมล็ดพันธุ์และการแบ่งประเภท การเพาะเมล็ด การย้ายชำ การทำกล้าไม้คุณภาพ การดูแลกล้าไม้ การใส่เชื้อจุลินทรีย์ การทำกล้าไม้ให้แกร่ง การลิดกิ่ง การแก้ปัญหาโรคและแมลงตามหลักนิเวศวิทยา เป็นต้น
“สิ่งที่คนขาดเยอะที่สุดคือคัดแม่ไม้ เมื่อขาดตั้งแต่ข้อแรกแล้ว ข้ออื่นจะไปต่อได้อย่างไร ก็เหมือนคัดพันธุ์หมู พ่อพันธุ์แม่พันธุ์เขาขายกันตัวละเป็นสิบล้าน ขณะที่ไม้สักต้นใหญ่ๆ ก็ขายเป็นล้านเหมือนกัน แต่ไม่มีการคัดแม่พันธุ์ และไม่ใช่แค่ชาวบ้านนะ เกือบทุกศูนย์ในเมืองไทยก็ไม่มี ดังนั้นสายขุนดง สายโรงเรียนปลูกป่าจึงให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก”
ต่อมาเมื่อความนิยมเพิ่มขึ้นก็มีเสียงเรียกร้องให้อาจารย์ขยายความรู้เพิ่มเติมจากการปลูกป่าแบบประณีต จึงเกิดหลักสูตรใหม่ๆ อาทิ การล้อมต้นไม้ขนาดเล็กและหลักการดูแลต้นไม้ในเขตเมือง รวมถึงการปลูกไม้ผลตามหลักนิเวศวิทยา
“ปัญหาของหลายคนเวลาปลูกต้นไม้คือ ปลูกถี่เกินไปแล้วไม่กล้าตัด ซึ่งถ้าเราสอนตามปกติ เราจะสอนให้ปลูกระยะที่เหมาะสมไปเลย แต่เมื่อเขาปลูกไปแล้วจะทำอย่างไร ในปี 2563 เราเลยเริ่มสอนล้อมไม้ขึ้นมา ซึ่งผลที่ตามมาคือ นอกจากจะแก้ปัญหาปลูกถี่ ยังทำให้เกิดอาชีพล้อมไม้ขายขึ้นมา เพื่อป้อนตลาดไม้ในเมือง ทำให้ไม้ในเขตเมืองเป็นไม้คุณภาพ ตั้งอยู่ได้โดยไม่ต้องค้ำ
“พอปีถัดมา ก็มีนักเรียนมาถามเรื่องไม้ผล เราก็ตอบไปตามหลักวิชาการ เขาก็ถูกใจแล้วถามว่าสอนเรื่องไม้ผลด้วยได้ไหม ซึ่งเมื่อคุณกล้าเรียนเราก็กล้าสอน และต่อไปเราก็ตั้งใจว่า พอทุกคนมีป่า ก็จะมีของอยู่ของกิน เราก็จะเปิดคอร์สอาหาร ให้คนรู้จักว่าอาหารแบบ Original ของอีสาน แล้วขยายไปสู่ชีวิตจริง ได้รู้ว่ารสชาติของเคมีกับอินทรีย์นั้นแตกต่างกันอย่างไร”
นับตั้งแต่ปี 2559 โรงเรียนปลูกป่าขยายตัวต่อเนื่อง จากรุ่นแรกที่มีนักเรียนแค่คนเดียว ขยายมาสู่การสอนปีละ 3 รุ่น เฉลี่ยปีละไม่ต่ำกว่า 700 คน หลายคนเป็นสมาชิกขุนดงมาก่อน แต่ก็มีอีกไม่น้อยที่เคยพยายามปลูกป่า แต่ล้มเหลวจึงเข้ามาขอความรู้ ซึ่งอาจารย์ก็สนับสนุนเต็มที่ พร้อมตอบทุกคำถาม แบ่งปันเทคนิคและช่วยแก้ปัญหาต่างๆ เพื่อให้ทุกคนปลูกป่าปลูกต้นไม้ได้ลุล่วง
นอกจากนี้ยังมีมูลนิธิ หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน สถาบันการศึกษา รวมถึงปราชญ์ชาวบ้านที่อยากเติมเต็มความรู้ เพื่อจะนำปรับใช้และขยายต่อในพื้นที่ของตัวเองได้ถูกต้อง กระทั่งโรงเรียนปลูกป่ากลายเป็นแหล่งเรียนรู้ขนาดใหญ่ที่ได้รับการยอมรับและความเชื่อมั่นจากทุกภาคส่วน
แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าคือ การที่ลูกศิษย์เหล่านี้กลับบ้านไปลงมือปลูกป่า จนขยายไปนับหมื่นนับแสนไร่ทั่วประเทศ กลายเป็นเครือข่ายสิ่งแวดล้อมที่เข้มแข็ง บางคนทำหน้าที่เป็นครู คอยถ่ายทอดความรู้ให้ชาวบ้านในพื้นที่ หรือแม้แต่ในเมืองใหญ่ พื้นที่น้อยๆ ก็ยังสร้างพื้นที่ป่าขนาดย่อมๆ ได้
“เราเคยเก็บข้อมูลของนักเรียนว่า ทุกคนจะปลูกป่าน้อยสุด 5 ไร่ สูงสุดอยู่ที่ 200 ไร่ต่อปี ถ้าเฉลี่ยก็อยู่ที่ 50 ไร่ต่อคนต่อปี และถ้ายังมีคนเข้ามาเรียนเรื่อยๆ เราก็จะมีป่าที่อุดมสมบูรณ์มากขึ้น
“สิ่งเหล่านี้ถือเป็นความสำเร็จ เพราะเดิมทีเราเริ่มต้นจากตัวคนเดียวที่อยากกอบกู้โลกให้มีต้นไม้เยอะขึ้น แต่วันนี้เราสามารถขยายจากต้นไม้หนึ่งต้นกลายเป็นหมู่ไม้ จากหมู่ไม้กลายเป็นป่า ฉะนั้นทุกคนที่เข้ามาจึงถือเป็นกัลยาณมิตรที่ช่วยทำให้โลกนี้ดีขึ้น และนี่คือภารกิจที่เราอยากทำให้สำเร็จในชีวิตนี้”
ปฏิบัติการชุมชนเปลี่ยนโลก : โครงการของเพจยอดมนุษย์..คนธรรมดา ซึ่งนำเสนอเรื่องราวของ 15 ชุมชนหรือเครือข่ายที่รวมพลังกันทำงานเพื่อความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
กลุ่มขุนดง และโรงเรียนปลูกป่า คือเครือข่ายชุมชนต้นแบบประเด็นดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบ (SDGs ข้อที่ 13), ประเด็นปกป้อง ฟื้นฟู และส่งเสริม การใช้ระบบนิเวศบนบกและการจัดการป่าอย่างยั่งยืน (SDGs ข้อที่ 15) และประเด็นเสริมสร้างความแข็งแกร่งของกลไกการดำเนินงาน และฟื้นฟูหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs ข้อที่ 17)
Top Chef Thailand คนแรกของประเทศ กับความตั้งใจที่อยากสร้างความยั่งยืนทางอาหารให้แก่สังคมไทย
ศิลปินแห่งชาติ บรรณาธิการสำนักพิมพ์ผีเสื้อ ผู้พยายามสร้างวัฒนธรรมการอ่านให้เกิดขึ้นในสังคมอย่างแท้จริง
นักเขียนนิทานเด็ก เจ้าของผลงาน ‘อีเล้งเค้งโค้ง’ กับความฝันอันยิ่งใหญ่ที่อยากยกระดับการอ่านให้เด็กไทยทั่วประเทศ
เครือข่ายที่ทำงานเรื่องการ ‘ตายดี’ เพื่อช่วยให้ผู้คนสามารถจากไปได้มีความสุข และลดความขัดแย้งแก่คนรอบใกล้ที่คอยดูแลด้วย
นักขับเคลื่อนทางสังคม ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ หิ่งห้อยน้อย พื้นที่เล็กๆ ที่เปิดรับฟังเรื่องที่เด็กๆ ไม่กล้าเล่าให้คนอื่นฟัง
กลุ่มออนไลน์ที่เกิดจากการแบ่งปันความรู้เรื่องเมล็ดพันธุ์ ต่อยอดมาสู่การสร้างโรงเรียนปลูกป่าที่มีเป้าหมายอยากรักษาพันธุ์ไม้ดีๆ ให้อยู่คู่เมืองไทยตลอดไป
‘คนฝั่งธน’ รุ่นใหม่ ที่อยากขอทำหน้าที่เป็นสื่อกลาง คอยชักชวนผู้คนในพื้นที่ ให้มาร่วมกันบอกเล่าถึงเสน่ห์ของเมืองหลวงเก่าแห่งนี้
กลุ่มออนไลน์ที่เกิดจากการแบ่งปันความรู้เรื่องเมล็ดพันธุ์ ต่อยอดมาสู่การสร้างโรงเรียนปลูกป่าที่มีเป้าหมายอยากรักษาพันธุ์ไม้ดีๆ ให้อยู่คู่เมืองไทยตลอดไป
เครือข่ายที่ทำงานเรื่องการ ‘ตายดี’ เพื่อช่วยให้ผู้คนสามารถจากไปได้มีความสุข และลดความขัดแย้งแก่คนรอบใกล้ที่คอยดูแลด้วย
เครือข่ายอนุรักษ์ที่อยากส่งต่อเรื่องราว ความรู้เกี่ยวกับวาฬบรูด้า และผองเพื่อนในท้องทะเล เพื่อให้ทุกคนลุกขึ้นมาช่วยปกป้องทรัพยากรธรรมชาติใต้ผืนน้ำให้คงอยู่ตลอดไป
ตำนานศิลปินร็อก ผู้จุดกระแสเพลงเก็บตะวันให้ข้ามกาลเวลา รวมทั้งยังเป็นผู้สร้างยุคใหม่ให้แก่ RS สู่การเป็นเบอร์ 2 ของวงการเพลงไทยอย่างแท้จริง
คุณยายผู้เป็นสัญลักษณ์ของละครเมืองไทย ที่มีผลงานต่อเนื่องมากว่า 40 ปี ทั้ง คู่กรรม สายโลหิต บุพเพสันนิวาส
COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO. ALL RIGHTS RESERVED.