Mary Ellen Mark : ช่างภาพผู้ถ่ายทอดชีวิตที่ ‘มองไม่เห็น’

<< แชร์บทความนี้

“ฉันสนใจคนที่ไม่มีโอกาส คนที่ต้องกระเสือกกระสนดิ้นรนเอาชีวิตรอด พวกเขาโชคไม่ดีพอที่จะเกิดมามีทุกอย่างพรั่งพร้อม”

ทุกวันนี้ ภาพสารคดีคนชายขอบคงไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ถ้าย้อนกลับไปในคริสต์ศตวรรษที่ 1970 Mary Ellen Markมารี เอเลน มาร์ก นับเป็นช่างภาพหญิงคนแรกๆ ที่โดดเด่นในด้านนี้ เธอใช้ภาพถ่ายเปิดตาให้ทุกคนมองเห็นคนในซอกหลืบสังคมที่มักถูกละเลย

มาร์กถ่ายทอดชะตากรรมของผู้ป่วยจิตเวช คนประหลาดในคณะละครสัตว์ โสเภณี เด็กเร่ร่อน คนข้างถนน ซึ่งเธอต้องหาวิธีสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจจนตัวแบบยอมให้บันทึกภาพได้อย่างใกล้ชิดสุดๆ 

เมื่อบวกด้วยความสามารถทางศิลปะที่โดดเด่น ผลงานของเธอจึงมีความพิเศษไม่เหมือนใคร และได้รับการตีพิมพ์ในนิตยสารชื่อดังมากมาย เช่น Life, the New York Times, the New Yorker เธอมีหนังสือรวบรวมผลงานถึง 18 เล่ม หนึ่งในนั้นคือ Ward 81 สารคดีบันทึกชีวิตคนไข้ในโรงพยาบาลอันเลื่องชื่อ  

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ร่วมกับ D1839 ขอชวนอ่านเรื่องราวของช่างภาพสารคดีหญิงระดับตำนาน ผู้กล้าเลือกทางเดินที่แตกต่าง และเชื่อว่าไม่มีอะไรที่พิเศษไปกว่าความเป็นจริงอีกแล้ว

หญิงสาวผู้หลงรักภาพสารคดี

ตอนอายุ 9 ขวบ มารี เอเลน มาร์ก เริ่มรู้จักโลกของการถ่ายภาพ เธอใช้กล้องบ็อกซ์บราวนี่บันทึกสิ่งต่างๆ รอบตัว มันเป็นตระกูลกล้องยอดนิยมที่ใช้งานง่าย และราคาไม่แพง เด็กสาวสนุกกับของเล่นชิ้นนี้มาก

ช่วงมัธยม มาร์กเป็นหัวหน้าเชียร์ลีดเดอร์ แต่ฉายแววความสามารถพิเศษในการวาดภาพ เธอจึงเข้าศึกษาด้านจิตรกรรมและประวัติศาสตร์ศิลปะที่มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ช่วงเวลานี้เองที่ความสนุกในการถ่ายภาพกลับมาอีกครั้ง  

“ตอนนั้นฉันพักที่อพาร์ตเมนต์ในฟิลาเดลเฟีย พวกเขาให้เรายืมกล้อง ฉันออกไปเดินเล่นที่ถนน พบผู้คนและถ่ายรูปพวกเขา มันเหมือนกับการผจญภัย ในตอนท้ายของวัน เมื่อได้ถ่ายภาพดีๆ มันจะเป็นความรู้สึกที่ยอดเยี่ยมและน่ายินดีมาก ‘ว้าว!’ ฉันรักสิ่งนี้ นี่คือสิ่งที่ฉันต้องการจะทำตลอดไป”

มาร์กทำงานในแผนกผังเมืองฟิลาเดลเฟียอยู่ช่วงสั้นๆ ก่อนกลับมาเรียนปริญญาโทสาขาการถ่ายภาพวารสารศาสตร์ (Photojournalist) ปีต่อมาหญิงสาวก็ได้รับทุนฟุลไบรท์เพื่อไปถ่ายภาพที่ตุรกีเป็นเวลาหนึ่งปี ช่วงเวลานี้เธอยังเดินทางไปถ่ายรูปทั่วยุโรปและอเมริกาเหนือ ถ่ายภาพผู้คนที่ผ่านพบเจอระหว่างทาง ซึ่งต่อมารวบรวมกลายเป็นหนังสือ Passport 

ราวปี ค.ศ. 1966-1967 หญิงสาวย้ายมาอยู่นิวยอร์ก และตัดสินใจทำอาชีพช่างภาพเต็มตัว โดยรับจ้างถ่ายงานทั่วไป 

งานชิ้นแรกที่จริงจังมาจากนิตยสาร Look ซึ่งส่งเธอไปลอนดอนเพื่อถ่ายเด็กติดเฮโรอีน ภาพของเด็กวัยรุ่นที่ไม่กลัวกล้อง ภาพหญิงสาวยิ้มมือข้างหนึ่งกอดลูกสุนัข อีกข้างมีเข็มฉีดยาห้อยลงมา ทำให้งานชุดนี้พุ่งขึ้นมาสะดุดตาคนอ่าน

“ฉันบังเอิญได้พบกับแพทริเซีย คาร์ไบน์ บรรณาธิการบริหารของ Look ตอนที่ถ่ายภาพให้กับนิตยสารศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยในปี ค.ศ. 1968 เธอประทับใจฉันและชวนมาทำงาน ตอนแรกฉันจะได้รับมอบหมายงานจากคนอื่น จนวันหนึ่งฉันได้ยินข่าวเกี่ยวกับโปรแกรมเลิกเฮโรอีนของเด็กหนุ่มในลอนดอนที่หน่วย St. Clement จึงลองคุยกับแพทริเซีย เธอบอกให้ไปอังกฤษเพื่อทำเรื่องนี้ ตอนนั้นฉันมีประสบการณ์น้อยมาก ต้องขอบคุณที่เธอเชื่อมั่นในตัวฉัน”

จากผลงานที่โดดเด่น ทำให้หญิงสาวได้งานเป็นช่างภาพประจำกองภาพยนตร์ฮอลลีวูดหลายเรื่อง เช่น Carnal Knowledge, Catch-22, Tropic of Cancer และ Apocalypse Now แม้จะเป็นงานที่สร้างรายได้ แต่มาร์กยังคงมองหาเรื่องราวชีวิตของผู้คนที่เธอสนใจอยู่ตลอด

“การถ่ายภาพเปลี่ยนชีวิตฉันทั้งหมด มันทำให้ฉันเปิดใจมากขึ้น เพราะฉันโชคดีที่ได้มองดูวัฒนธรรมอื่นๆ และวิถีชีวิตอื่นๆ ได้เห็นผู้คนในส่วนต่างๆ ของโลก…คนรวย คนจน คนดี คนเลว ทุกคนที่ฉันพบได้ให้อะไรกับฉันมากมาย”

ปี ค.ศ. 1975 มารี เอเลน มาร์กทราบข่าวว่าผู้กำกับ Milos Forman กำลังจะถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง One Flew Over the Cuckoo’s Nest ที่สถาบันทางจิตในรัฐโอเรกอน เธออาสารับทำงานนี้เพื่อจะได้โอกาสเข้าไปติดต่อขอถ่ายภาพคนไข้จิตเวช 

ในที่สุดมาร์กก็โน้มน้าวเจ้าหน้าที่สำเร็จ ช่างภาพหญิงได้ทำผลงานชุด Ward 81 ซึ่งต่อมาคว้ารางวัลมากมาย และทำให้ชื่อของเธอเป็นที่รู้จักไปทั่ว

จากโรงพยาบาลจิตเวช สู่ชีวิตข้างถนน

Ward 81 คือหอพักผู้ป่วยจิตเวชหญิง ซึ่งมีการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด เพื่อไม่ให้คนไข้ทำอันตรายต่อตนเองหรือผู้อื่น หากว่าไปแล้วก็แทบไม่ต่างจากชีวิตในห้องขังที่ไร้อิสรภาพและไร้คนเหลียวแล 

ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1976 มาร์ก และคาเรน (Karen Folger Jacobs) นักเขียนและนักสังคมศาสตร์ได้รับอนุญาตให้เข้าไปถ่ายภาพและสัมภาษณ์คนไข้ ทั้งคู่ใช้เวลา 36 วันในวอร์ด

มาร์กบรรยายไว้ในคำนำของหนังสือว่า คนไข้ในวอร์ดมีหลายแบบ ทั้งคนที่เข้ามาหาแล้วบอกว่า ‘ช่วยด้วย!’ คนที่เคยกระโดดออกจากหน้าต่างชั้น 4 จนบาดเจ็บ คนที่ดวงตาเหม่อลอย ผู้หญิงที่แต่งหน้าจัด สวมชุดประหลาด ฉีดน้ำหอมกลิ่นฟุ้ง บางคนพยายามหนี บางคนรักษาจนได้ออกไปข้างนอก แต่สุดท้ายก็ต้องกลับมา เธอได้เห็นความเป็นมนุษย์อีกหลายด้านจากที่นี่

มาร์กและคาเรน จะนอนพักในในห้องเล็กๆ ข้างวอร์ด 81 ทั้งคู่เข้าร่วมกิจกรรมทุกอย่างร่วมกับผู้ป่วย ตั้งแต่กินข้าว ว่ายน้ำ ดูโทรทัศน์ เต้นรำประจำสัปดาห์กับคนไข้จากวอร์ดชาย และเมื่อมองเห็นสิ่งที่น่าสนใจ เธอจะบันทึกภาพ 

หนึ่งในภาพที่ผู้คนจดจำมากที่สุดจากผลงานชุดนี้ คือภาพคนไข้หญิงนอนในอ่างอาบน้ำ สยายผมพาดขอบอ่าง มาร์กต้องอาศัยไหวพริบและความพยายามกว่าจะได้มา

“เรารู้ว่าข้อจำกัดคืออะไร แต่ถ้าอยากจะให้ภาพถ่ายมีความใกล้ชิดมากขึ้น เราต้องพยายามก้าวข้ามข้อจำกัดนั้นไปให้ได้ อย่างภาพผู้หญิงในอ่างอาบน้ำ ตอนที่ถ่ายเรารู้สึกหวาดระแวง เพราะเพื่อนต้องไปรบกวนความสนใจของผู้ช่วยให้อยู่ที่ห้องโถง ส่วนฉันไปที่อ่างอาบน้ำและถ่ายภาพ นั่นทำให้ฉันได้ภาพที่ใกล้ชิด ตอนดูภาพที่ออกมา มันรู้สึกน่าประหลาดใจอย่างยิ่ง”

ผลงานชุดนี้ทำให้มาร์กรู้สึกเห็นอกเห็นใจคนชายขอบมากขึ้น หลังจากที่วอร์ด 81 เผยแพร่ออกไป โรงพยาบาลจิตเวชหลายแห่งก็เริ่มเปลี่ยนนโยบาย ยอมปล่อยให้คนไข้กลับสู่ครอบครัวมากกว่าเดิม 

อีก 2 ปีต่อมา ช่างภาพหญิงก็ได้ตีพิมพ์หนังสือที่สร้างชื่ออีกครั้ง คือ Falkland Road: Prostitutes of Bombay คราวนี้เธอเล่าเรื่องราวของโสเภณีบนถนนสายหนึ่งในอินเดีย 

 ความจริงแล้วเธอเคยจะทำเรื่องนี้ตั้งแต่ตอนเดินทางมาอินเดียครั้งแรกในปี ค.ศ. 1968 แต่ก็ถูกขับไล่อย่างเกลียดชังและก้าวร้าว เกือบจะถูกชายขี้เมาต่อยหน้าด้วยซ้ำ ผ่านมาอีก 10 ปี เธอกลับมาพร้อมความมุ่งมั่นมากขึ้น แม้ว่าช่วงแรกจะโดนดูถูกเช่นเดิม แต่เธอก็อดทน จนเวลาผ่านไป 3 เดือนจึงตีสนิทและถ่ายภาพหญิงขายบริการได้สำเร็จ

“ผู้ชายจะมาล้อมตัวฉัน ส่วนผู้หญิงจะตะโกนด่าและเขวี้ยงขยะใส่ บางคนคิดว่าฉันบ้า…แต่เมื่อเวลาผ่านไปผู้คนก็เห็นความพยายามของฉัน พวกเขาเริ่มอยากรู้ว่าฉันมาทำไมและสนใจอะไร ในที่สุดฉันก็เริ่มมีเพื่อน”

ความทุ่มเทแบบนี้เองที่ทำให้มาร์กได้ภาพที่คนอื่นไม่มีวันได้ เช่น ภาพขณะหญิงสาวให้บริการลูกค้าในซ่องแสงไฟสีฉูดฉาด ภาพของแม่เล้าผู้มั่งคั่ง ภาพสาวบริการนอนในซ่องที่อึดอัดไม่ต่างจากรูหนู 

เมื่อผลงานชุดนี้ออกมาก็ก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมในสังคม นิวยอร์คไทม์เรียกมันว่า ‘ล้วงลึกแต่ไม่อุจาด เศร้าแต่ไม่ฟูมฟาย’ ทำให้คนมากมายได้เข้าใจถึงตลาดค้าหญิงสาวในบอมเบย์ ชีวิตของแมงดาและแม่เล้า ที่ทุกคนต่างมีความฝัน แต่ชีวิตบังคับให้เลือกเส้นทางนี้

จากผลงานชิ้นนี้ ยิ่งทำให้มาร์กได้รับการยกย่อง ในด้านการเปิดใจตัวแบบให้เธอถ่ายรูปได้อย่างใกล้ชิด ซึ่งช่างภาพหญิงเน้นย้ำว่า ไม่มีอะไรที่สำคัญไปกว่า การเข้าหาอย่างซื่อสัตย์และสร้างความสัมพันธ์กับทุกคนที่ถ่าย พยายามเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของพวกเขา

“ทุกคนถามว่าฉันทำได้อย่างไร มันไม่มีสูตรสำเร็จ ขึ้นอยู่กับว่าคุณเป็นใครและพูดคุยกับคนอื่นอย่างไร จงเป็นตัวของตัวเอง เขาจะเชื่อใจก็ต่อเมื่อคุณมั่นใจในสิ่งที่คุณทำ พวกเขาจะรู้สึกได้ทันที ฉันรู้สึกรำคาญช่างภาพที่พยายามเข้าหาตัวแบบโดยไม่ใช้กล้องในตอนแรก สร้างความสัมพันธ์ส่วนตัวแล้วจึงค่อยเอากล้องออกมา ฉันว่ามันหลอกลวง คุณควรจะปรากฏตัวพร้อมกับกล้องเพื่อแสดงความตั้งใจที่ชัดเจน ผู้คนจะยอมรับคุณหรือไม่ก็เป็นสิทธิของเขา”

อย่างไรก็ตาม กฎสำคัญอีกข้อของเธอคือระวังความปลอดภัยของตนเอง

มาร์กไม่อยากถูกฆาตกรรม หรือโดนขโมยกล้อง ทุกครั้งที่เธอต้องเข้าไปทำงานในสถานที่ที่ไม่น่าไว้วางใจ เธอจะผูกมิตรกับใครสักคนในละแวกนั้นไว้ล่วงหน้า หรืออาจจ้างผู้ช่วยมาทำงานเป็นเพื่อน บางครั้งเธอให้คนที่ติดตามรอข้างนอก ถ้าเธอยังไม่กลับมาใน 20 นาที ให้โทรศัพท์แจ้งตำรวจทันที 

เพราะไม่มีอะไรคุ้ม ถ้าไม่ได้กลับออกมาอีกแล้ว

ความท้าทายสำหรับผม คือการพยายามดึงพลังภายในของพวกเขาออกมา มันเป็นส่วนหนึ่งของความลับที่ซ่อนอยู่ในตัวทุกคน

Mary Ellen Mark : ช่างภาพผู้ถ่ายทอดชีวิตที่ ‘มองไม่เห็น’

ชีวิตจริงที่มหัศจรรย์

กล้องประจำตัวของมาร์ก มักจะเล็กและเบา ติดเลนส์ไวแสงความยาวโฟกัส 28 หรือ 35 เพื่อให้หยิบขึ้นมาเก็บภาพที่เกิดขึ้นตรงหน้าได้ทัน โดยเฉพาะบนถนน ที่เหตุการณ์น่าสนใจมักเกิดในเสี้ยววินาที 

น้อยครั้งมากที่เธอจะเซ็ตหรือปั้นแต่งภาพให้ออกมาตามที่ต้องการ ช่างภาพหญิงคนนี้เชื่อว่า ชีวิตจริงของมนุษย์ มีความงามในตัวอยู่แล้ว 

“ความจริงเป็นสิ่งที่พิเศษ ฉันคิดเสมอว่ามันคงดีกว่า ถ้าให้ตัวแบบแสดงความพิเศษของเขาออกมาเอง เราเพียงใส่ไอเดียลงไปว่าภาพควรจะเป็นแบบไหน 

“ยกตัวอย่างตอนที่ฉันถ่ายภาพคณะละครสัตว์ที่อินเดีย คนเลี้ยงช้างมีความมั่นใจสูงมาก เมื่อฉันขอถ่ายภาพ เขาเอางวงช้างด้านหลังมาพันรอบคอตนเอง ภาพที่ออกมาสวยงามมาก ฉันไม่คิดมาก่อนเลยว่าเขาจะทำอย่างนั้น” 

ผลงานซีรีส์ Streetwise ในปี ค.ศ. 1983 มาร์กทำหน้าที่เล่าความจริงอันมหัศจรรย์ของบรรดาเด็กเร่ร่อนในซีแอตเทิล ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเมืองที่น่าอยู่ที่สุดในสหรัฐอเมริกาเวลานั้น โดยมีตัวแบบที่สำคัญคือเด็กสาวที่ชื่ออีริน แบล็กเวลล์ (Erin Blackwell) หรือที่รู้จักในนาม ‘Tiny’ – ไทนี่

มาร์กเห็นไทนี่ในลานจอดรถของดิสโก้เธคแห่งหนึ่ง เธอมีใบหน้าสวยงามและบุคลิกที่โดดเด่น เด็กสาวอายุ 13 ปีมากับเพื่อนหญิงอีกคน ทั้งคู่สวมเสื้อสเวตเตอร์รัดรูป กางเกงยีนส์รัดรูป และแต่งหน้าจัด พวกเธอหนีออกจากบ้านมา ติดยาและหาวิธีเอาตัวรอดทุกวิถีทาง รวมถึงการขายตัว 

ช่างภาพหญิงเข้าไปผูกมิตร และขอตามเด็กสาวไปถ่ายภาพอีกหลายครั้ง หนึ่งในภาพของไทนี่ที่ผู้คนจดจำได้มากที่สุด คือตอนที่เธอสวมชุดเดรสแขนกุดสีดำ มีผ้าตาข่ายคลุมผม ในท่วงท่าโอบกอดตัวเอง วันนั้นเป็นวันฮาโลวีน เด็กสาวบอกว่าเธอแต่งตัวเป็นโสเภณีชาวฝรั่งเศส ภาพที่ออกมาเหมือนเป็นภาพแฟชั่นมากว่าสารคดีเด็กเร่ร่อน เมื่อผลงานชิ้นนี้เผยแพร่ในนิตยสาร Life ก็ทำให้คนในสังคมพูดถึงคุณภาพชีวิตของเด็กข้างถนนอย่างกว้างขวาง

มาร์กยังตามถ่ายไทนี่ มาต่อเนื่องยาวนานถึง 30 ปี รวมถึงถ่ายภาพคนจรจัด ครอบครัวคนเร่ร่อนอีกไม่น้อย จะเห็นได้ว่าสิ่งที่เธอสนใจวนเวียนอยู่กับคนที่ไร้โอกาสในสังคม

“ฉันสนใจคนที่อยู่ชายขอบ และรู้สึกถึงความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับพวกเขา ไม่มีใครเลือกได้ว่าจะเกิดมาในบ้านที่ร่ำรวยหรือยากจนสุดขีด ถึงพวกเขาจะจนแต่ก็มีความเป็นมนุษย์อยู่มาก สิ่งที่ฉันต้องการคือทำให้คนอื่นๆ ยอมรับการมีอยู่ของคนเหล่านี้”

“การถ่ายภาพมีความใกล้เคียงกับการเขียนมากที่สุด เพราะคุณใช้กล้องเป็นเครื่องมือถ่ายทอดความคิด รูปภาพที่ไม่มีคำบรรยาย ก็ควรจะถ่ายทอดความคิดได้”

แมรี เอลเลน มาร์ก เสียชีวิตในวัย 75 ปี เธอได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในช่างภาพสารคดีที่ยอดเยี่ยมที่สุดในยุคของเธอ 

งานของมาร์กไม่เพียงแค่โดดเด่นสะดุดตา แต่ยังทำหน้าที่เล่าเรื่องราวของคนกลุ่มที่สังคมมองไม่เห็นได้อย่างทรงพลังอีกด้วย

ภาพและข้อมูลประกอบการเขียน

  • maryellenmark.com
  • wikipedia.org/Mary_Ellen_Mark
  • theguardian.com
  • nytimes.com
  • americansuburbx.com
  • YouTube ; Leica Camera
  • anothermag.com

<< แชร์บทความนี้

RELATED POSTS
LATEST

Keep In Touch

COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO.  ALL RIGHTS RESERVED.