เด็กมีปัญหา ในสายตาของคุณเป็นอย่างไร?
เถียงพ่อแม่ครูอาจารย์ ไม่ยอมเข้าเรียนหนังสือ ทะเลาะกับเพื่อน หรือไม่อยู่ในระเบียบวินัย?
ครั้งหนึ่ง รวง-รวงทัพพ์ แก้วแกมจันทร์ ก็เคยถูกตีตราจากใครหลายคนว่า เป็นเด็กมีปัญหา
เพราะเธอเคยขัดแย้งรุนแรงกับครู ถึงขั้นไม่ยอมไปโรงเรียนนานหลายเดือน
เคยรู้สึกสับสน เมื่อตอนที่พ่อจากไป เพราะไม่มีใครยอมบอกเลยว่าเกิดอะไรขึ้น
เคยเขียนจดหมายบอกรักเพื่อนผู้หญิง และชวนไปกินไอศกรีม แต่เพื่อนคนนั้นกลับบอกว่า เธอก็เป็นแค่เพียงคนเพี้ยนๆ คนหนึ่งเท่านั้น จนรวงรู้สึกผิดหวังกับตัวเอง
แต่เธอผ่านสถานการณ์เหล่านั้นมาได้ เพราะหนังสือเด็กเล่มเล็กๆ เล่มหนึ่ง และผลักดันให้เธอตัดสินใจเลือกเรียนด้านวรรณกรรมสำหรับเด็ก ด้วยความปรารถนาจะทำหนังสือที่เปิดพื้นที่ให้เด็กซึ่งเคยเผชิญสถานการณ์เดียวกัน
ก่อนจะต่อยอดมาสู่ ‘หิ่งห้อยน้อย’ คลับเล็กๆ ที่พร้อมฟังและช่วยเหลือเด็กๆ ซึ่งมีปัญหาในใจให้มีพื้นที่ระบายอย่างเต็มที่ ทั้งความหลากหลายทางเพศ การมีเพศสัมพันธ์ ความรุนแรงในครอบครัวและโรงเรียน หรือแม้แต่ความคิดเห็นต่อสังคม
ตลอดจนสร้างสื่อทางเลือกสำหรับเด็กในรูปแบบต่างๆ ทั้งเว็บไซต์ เพลง แอนิเมชัน และนิทรรศการศิลปะ เพื่อให้เด็กๆ ได้เรียนรู้และเข้าใจสถานการณ์เหล่านี้ง่ายขึ้น
และหนึ่งในประเด็นสำคัญที่เธอขับเคลื่อนคือ ผ้าอนามัยซักได้ ซึ่งทั้งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และยังคุ้มค่ากว่าในยุคที่ผ้าอนามัยยังราคาสูง ถึงขั้นเปิดระดมทุนเพื่อทำผ้าอนามัยแจกให้คนชายขอบทั้งหลาย และซื้อผ้าอนามัยเพื่อมอบให้คนยากไร้ในสถานที่ต่างๆ
ในฐานะ 1 ใน 30 บุคคลจากโครงการคนเล็กเปลี่ยนโลก ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ร่วมกับ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จึงชักชวนรวงมาร่วมพูดคุยถึงความคิด ความฝัน และความหวังที่จะสร้างสังคมเล็กๆ แห่งนี้ให้เป็นพื้นที่สำหรับทุกคนอย่างแท้จริง
รวงเกิดและเติบโตที่จังหวัดนครศรีธรรมราช
คงไม่ผิดหากจะบอกว่า ชีวิตวัยเยาว์ของรวงนั้นเต็มไปด้วยคำถามมากมาย
เธอสงสัยว่า ทำไมปู่ซึ่งเป็นตำรวจถึงสามารถมีภรรยาและลูกเยอะแยะ กระทั่งมีปัญหาตามมาเต็มไปหมด
เธอสงสัยว่า ทำไมพ่อซึ่งเป็นครูจึงเพลิดเพลินกับการดื่มเหล้า ทั้งที่ครูที่โรงเรียนต่างบอกว่า สุราเป็นสิ่งไม่ดี แต่เธอกลับรู้สึกว่าพ่อที่ดื่มเหล้า ก็ไม่ได้เป็นพ่อที่ไม่ดี
เธอสงสัยว่า ทำไมตัวเองแอบชอบเพื่อนผู้หญิง แล้วตกลงว่าเธอเป็นอะไรกันแน่ เพราะสังคมไทยบอกเสมอว่า ผู้ชายต้องชอบผู้หญิง ผู้หญิงก็ต้องชอบผู้ชาย
หากแต่คำถามสำคัญนั้นเกิดขึ้นตอนที่รวงอายุ 12 ขวบ เมื่อพ่อของเธอเสียชีวิตลง
คืนนั้นทุกคนในครอบครัวต่างไปรอที่โรงพยาบาล แต่เลือกที่จะทิ้งเธอไว้กับเพื่อนบ้านอีกคนหนึ่ง แถมก่อนไปยังล็อกประตูอีกด้วย พอทุกคนออกไปกันจนหมดบ้าน จนกระทั่งพ่อเสียชีวิตลงก็ไม่มีใครสรุปเหตุการณ์ให้รวงฟัง แต่กลับเลือกวิธีนิ่งเฉยราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น ทั้งที่ความเปลี่ยนแปลงที่ตามมานั้นเป็นเรื่องใหญ่มาก
“พ่อป่วยแบบกะทันหันคือ เส้นเลือดในสมองแตก ผู้ใหญ่คิดว่า ความเจ็บป่วย ความตายเป็นเรื่องที่เด็กไม่ควรรู้ แต่เราก็จะรู้สึกว่า ทำไมถึงพูดไม่ได้ล่ะ เด็กมันรับได้เยอะนะ เพราะเด็กมันเกิดมาพร้อมความอยากรู้อยากเห็น ความตายก็เหมือนกัน จำได้ว่าตอนนั้นเราได้ยินเสียงแม่ร้องไห้ พี่ร้องไห้หลังจากที่หมดงานศพพ่อ เราเองก็เสียใจ แต่ขณะเดียวกันก็รู้สึกว่าเขาควรมาคุยกับเราไหม เพราะเราอยู่ ป.6 แล้ว
“ตอนนั้นเหมือนทุกอย่างพังทลาย เศรษฐกิจภายในบ้านเริ่มมีปัญหา เพราะพ่อเป็นคนดูแลทั้งครอบครัวมาตลอด ซึ่งสุดท้ายเราต้องย้ายไปอยู่บ้านหลังใหม่ แล้วก็เริ่มมีคนแถวบ้านมาจีบแม่ มาพูดคุกคาม ซึ่งเราไม่โอเค แล้วแบนผู้ชายคนนั้นไปเลย คือความตายทำให้เรารู้สึกถึงความไม่มั่นคง”
แต่สิ่งที่ทำให้เธอผ่านพ้นปมในใจมาได้คือ หนังสือเล่มเล็กๆ ที่ชื่อ เพลงดวงดาว ของวาวแพร – นามปากกาของ มกุฏ อรฤดี ศิลปินแห่งชาติ ซึ่งเล่าถึงอ้อมเดือน เด็กหญิงที่แม่จากไปชั่วนิรันดร์
“อาจารย์มกุฏเขียนหนังสือเกี่ยวกับเด็กที่มีความเปราะบางหลายกลุ่ม เช่นเด็กพิการมี 11 นิ้ว เด็กชายจากดาวอื่น เด็กที่อยู่กับแม่ซึ่งเป็นโรคเรื้อน เด็กมุสลิมซึ่งต้องขนข้าวไปขาย แล้วก็มีเรื่องเพลงดวงดาวนี่แหละที่พูดถึงความตาย ทำให้เราเริ่มเข้าใจถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เริ่มยอมรับได้ ทำให้เราสนใจเรื่องพวกนี้ จำได้เลยว่าตอนนั้นถึงจะอยู่ ป.6 ก็ไปซื้อตารางรายชื่อคณะสำหรับเอนทรานซ์มากางดูว่ามีอะไรบ้าง แล้วเราก็ขีดเลย วรรณกรรมเด็ก ฉันจะเรียนเรื่องนี้”
แม้สถานการณ์เลวร้ายจะผ่านไปได้เปลาะหนึ่ง แต่ก็ยังมีอีกหลายเหตุการณ์ที่เข้ามากระทบจิตใจของรวง หนึ่งในนั้นคือ บรรยากาศในโรงเรียน ซึ่งดูไม่เป็นมิตรกับเธอเอาเสียเลย
รวงจำได้ดีว่า ตอนนั้นเป็นคาบทดลองวิทยาศาสตร์ เธอถามครูว่า ทำไมไม่ใช้มีดปอกสายไฟ แทนที่จะใช้คีมตัดลวดเพราะสายไฟนั้นเส้นบางมาก แต่กลายเป็นว่า เธอถูกครูมองว่าเป็นเด็กที่ไม่เชื่อฟัง ต่อต้านครู และถูกตำหนิอย่างรุนแรงว่า ‘พ่อแม่ไม่สั่งสอน’ แถมยังถูกพูดจากระทบกระเทียบเรื่อยมา จนสุดท้ายรวงจึงเลือกไม่ไปโรงเรียนนานถึง 3 เดือน
“เราแต่งชุดนักเรียนแล้วก็ไปโรงเรียนทุกวัน แต่ไม่เข้าเรียน ไปห้องสมุดประชาชน ไปหอสมุดแห่งชาติของจังหวัดบ้าง และพอเราไม่เข้าห้องเลย ครูเขาก็ใช้วิธีขีดชื่อเราออกจากรายชื่อนักเรียนในห้อง จนตอนหลังแม่ต้องพาไปพบจิตแพทย์ ซึ่งหมอก็บอกว่าไม่มีอะไรหรอก ลูกคงเครียดไปเอง และสุดท้ายคนที่ช่วยเราออกจากโรงเรียน นั่นคือ พี่ชาย เพราะเขาไปเห็นว่า ครูทำไม่ดีกับเราจริงๆ ก็เลยไปบอกกับแม่ คือเหมือนต้องมีใครไปคอนเฟิร์มก่อนว่าเราเจอปัญหาจริงๆ สุดท้ายอีกไม่กี่วัน แม่ก็ย้ายโรงเรียนให้เลย แล้วเราก็กลับมาเป็นเด็กเรียนเหมือนเดิม”
ถึงชีวิตของรวงจะสนุกกับการได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ อยู่ตลอด แต่เธอก็ตระหนักดีว่า ชีวิตในโรงเรียนไม่ใช่สิ่งที่ปรารถนา ยิ่งช่วงมัธยมปลาย ซึ่งเธอต้องไปเป็นสมาชิกของโรงเรียนเก่าแก่แห่งหนึ่ง ที่เต็มไปด้วยขนบธรรมเนียมประเพณีมากมาย ได้เห็นการกลั่นแกล้งในหมู่เพื่อนฝูง แม้ว่าตัวเธอจะไม่ได้เป็นเป้าหมายของการรังแกนั้นก็ตาม และยังได้เห็นเด็กบางคนที่เป็นเหมือนตัวประหลาดของโรงเรียน
“เราเป็นผู้หญิงที่ชอบผู้หญิง ที่ผ่านมาเราก็สงสัยตัวเองตลอดว่า เราเป็นอะไร ยุคนั้นอินเทอร์เน็ตเริ่มมาแล้ว ก็พยายามค้นดู ทำให้เห็นว่าข้อมูลเหล่านี้สำคัญมาก โดยเฉพาะคนที่ไม่กล้าถามหรือพูดคุยกับผู้ใหญ่ เราก็เลยคิดว่า ต่อไปอยากจะทำสื่อที่ช่วยเปิดพื้นที่ให้เด็กเหล่านี้บ้าง”
หลังเรียนจบ ม.6 รวงตัดสินใจมาศึกษาต่อด้านวรรณกรรมสำหรับเด็กที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒอย่างที่ฝัน ที่นี่เป็นเสมือนโลกใหม่ของเธอ เพราะเนื้อหาที่เรียนนั้นไม่ได้จำกัดเพียงแค่การเล่านิทาน แต่ต้องเข้าใจพัฒนาการ และจิตวิทยาของเด็กด้วย
เนื่องจากงานคลาสสิกหลายเล่มมีเบื้องหลังความคิดและแง่มุมทางสังคมสอดแทรกอยู่ เช่น ผลงานของ Roald Dahl อาทิ Charlie and the Chocolate Factory หรืออย่างเรื่องสั้น รักต่างสี ของ Nadine Gordimer ที่แปลโดย จิตราภรณ์ วนัสพงศ์ ก็กินใจรวงมาก เป็นเรื่องของเด็กซึ่งมีพ่อเป็นเจ้าของไร่และแม่เป็นทาส ใช้ชีวิตในไร่ด้วยความสัมพันธ์ของคนที่เหยียดสีผิวกับทาสที่อิหลักอิเหลื่อ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า แต่ละสังคมนั้นมีความซับซ้อนเพียงใด
พอเรียนจบ รวงก็เข้าทำงานกับสำนักพิมพ์ และมูลนิธิต่างๆ ที่ผสิตหนังสือสำหรับเด็ก หากแต่ปัญหาหนึ่งที่พบคือ หนังสือเด็กในเมืองไทยนั้นถูกจำกัดมาก ส่วนใหญ่มักนำเสนอแต่เรื่องราวที่สวยงาม ด้วยมองว่าเด็กเป็นผ้าขาวที่บริสุทธิ์ และมักเต็มไปด้วยการยัดเยียดคุณธรรมและหลักวิชาการ ส่วนประเด็นอ่อนไหว อย่างความรุนแรง ครอบครัวแตกแยก ความตาย กลับถูกมองข้าม ทั้งที่ความจริงแล้ว มีเด็กมากมายที่ต้องเผชิญเรื่องราวเหล่านี้
“เราเคยไปเล่านิทานให้เด็กที่ป่วยเป็นมะเร็งในวอร์ดของโรงพยาบาล แล้วมันมีเรื่องเซนซิทีฟเต็มไปหมด เช่น การถ่ายเลือด หรือเด็กหลายคนไม่รู้ว่าตัวเองกำลังจะตาย ไม่รู้เลยว่าเขาต้องอยู่กับการตัดชิ้นส่วนของร่างกายออกไป เราเคยทำรีเสิร์ชว่าน่าจะมีหนังสือเด็กที่พูดเรื่องความตายในเมืองไทยไม่ถึง 5 เล่มด้วยซ้ำ แล้วไม่ใช่แค่หนังสือเด็กเท่านั้น แม้แต่บทความหรือสื่อทั่วๆ ไปก็ไม่เคยพูดถึง เพราะมองว่านี่เป็นเรื่องรุนแรง สะเทือนขวัญ สุดท้ายก็กลายเป็นความเพิกเฉย”
ในปี 2561 รวงจึงตัดสินใจขอทุนไปเรียนต่อที่ Kanthari International ประเทศอินเดีย ซึ่งสถาบันการศึกษาทางเลือกแห่งนี้เองได้เปลี่ยนโลกของรวงไปโดยสิ้นเชิง และยังเป็นจุดเริ่มต้นให้เธอลุกขึ้นมาทำ ‘หิ่งห้อยน้อย’ โครงการเล็กๆ ที่หวังเป็นพื้นที่ให้แก่เด็กๆ ที่ต้องเผชิญกับความรุนแรงหรือเรื่องราวที่สังคมไม่ยอมอธิบายจนเกิดเป็นปมในใจ เหมือนครั้งหนึ่งที่เธอเคยประสบมา
Kanthari International เป็นสถาบันการศึกษาที่ Sabriye Tenberken หญิงตาบอดซึ่งเคยได้รับการเสนอชื่อให้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ กับคู่หู Paul Kronenberg ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2550 ด้วยความตั้งใจที่จะสร้างบุคคลที่สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้ หลังจากเคยบุกเบิกโครงการ Braille Without Borders เพื่อช่วยเหลือเด็กตาบอดในลาซา เมืองหลวงของทิเบต ที่ถูกพ่อแม่ล่ามโซ่ตรวนกักขังไว้ในบ้านเนื่องจากความเชื่อเรื่องเวรกรรม ให้เข้าสู่ระบบโรงเรียนสอนเด็กตาบอด
สิ่งที่ดึงดูดรวงได้มากที่สุด คือ Sabriye นั้นเข้าใจเรื่องความซับซ้อนของมนุษย์แต่ละคน เธอยังจำได้ว่า ครั้งแรกที่กรอกใบสมัคร ทางโรงเรียนให้เลือกตอบว่า คุณมีเพศอะไร ระหว่างชาย หญิง หรือเพศอื่นๆ ซึ่งถือเป็นประเด็นที่แปลกใหม่มาก โดยเฉพาะในมุมมองของคนไทยในเวลานั้น ซึ่งอาจเป็นเพราะผู้ก่อตั้งโรงเรียนก็เป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศเช่นกัน จึงเข้าใจประเด็นนี้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ยังมีการแบ่งกลุ่มตามความถนัดของแต่ละคนเป็นสีต่างๆ คือ เขียว เหลือง ส้ม แดง และม่วง โดยได้แรงบันดาลใจมาจากสีของ Kanthari หรือพริกขี้หนูนั่นเอง โดยรวงอยู่ในกลุ่มสีม่วง ซึ่งหมายถึงผู้เปลี่ยนแปลงสังคมโดยใช้ศิลปะ เช่น ภาพยนตร์ แอนิเมชัน เพลง การเต้นรำ หรือเกม
โดยเนื้อหาการเรียนนั้น มีประเด็นหนึ่งที่รวงสนใจมากเป็นพิเศษ คือ สิ่งต้องห้ามในสังคม (Taboo) หรือสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกหวาดกลัว ซึ่งแต่ละสังคมจะมี Taboo แตกต่างกัน
ตัวอย่างง่ายๆ เช่น เครื่องหมายสวัสติกะ ซึ่งทั่วโลกต่างตั้งข้อรังเกียจ เพราะเป็นสัญลักษณ์ของนาซี แต่ในสังคมอินเดียแล้ว นี่คือสัญลักษณ์ของศาสนาฮินดู พุทธ และเชน ที่สืบทอดมานานหลายพันปี หมายถึงความอุดมสมบูรณ์
สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า กฎ จารีต บุคคล หรือสัญลักษณ์ใดๆ ซึ่งเป็นข้อห้ามของบางสังคม แต่พอมาอยู่ในอีกสังคมหนึ่งอาจกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาได้
“จำได้ว่า ครั้งแรกเราต้องเรียนเรื่องงูกับหมา เพราะงูก็เป็นเหมือนสิ่งอันตรายในความรู้สึกของใครหลายคนเหมือนกัน อย่างเพื่อนที่ตาบอด เขาก็จะกลัวมาก เพราะถูกสอนมาตลอดว่าอย่าเข้าใกล้ แต่ที่นี่ก็บอกให้เราไปจับจริงๆ เพื่อจะได้รู้ว่า บางทีงูก็ไม่ใช่สัตว์ที่น่ากลัวเสมอไป แล้วเขาก็แนะนำว่าเวลาเห็นงูควรทำอย่างไร เพราะในสังคมอินเดียเขาไม่ตีงู เขาบูชางูกัน”
หลังจากนั้น รวงก็ต้องทำโปรเจกต์เพื่อนำเสนอช่วงท้ายเทอม โดยทุกคนสามารถสร้างสรรค์ได้อย่างเต็มที่ เช่น บางคนทำสารคดีเกี่ยวกับชุมชนแออัด บางคนทำคอนเสิร์ตรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อม ส่วนรวงเลือกทำเกม โดยมุ่งเป้าไปยังกลุ่มเด็กนักเรียนหญิงที่ถูกคุกคามทางเพศ เพราะเธอก็เคยเจอเหตุการณ์แบบนี้เหมือนกัน ทั้งในโลกความจริง และโลกออนไลน์
รวงตั้งชื่อโปรเจกต์ของตัวเองว่า ‘หิ่งห้อยน้อย’ โดยได้แรงบันดาลใจมาจากวรรณกรรมเรื่องหิ่งห้อย ของ รพินทรนาถ ฐากุร บวกกับลักษณะทางกายภาพของหิ่งห้อยที่น่าจะนำไปขยายต่อ
“เรารู้สึกว่า หิ่งห้อยเป็นสัตว์ที่อยู่ในบริเวณที่อุดมสมบูรณ์ แล้วก็ดูมีความลับ ทุกคนสนใจมัน เราจึงเลือกใช้หิ่งห้อย เพราะอยากให้เด็กทุกคนอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ส่วนคำว่าน้อยก็หมายถึงเด็กนั่นเอง”
ตอนนั้นรวงต้องลงพื้นที่ไปตามโรงเรียนต่างๆ เพื่อสำรวจว่าเด็กแต่ละคนมีปัญหาอะไรบ้าง แล้วก็นำไปออกแบบเป็นเกมบันไดงู โดยนำ Taboo ในวัฒนธรรมอินเดีย เช่นเทพเจ้าทั้งหลาย เข้ามาผสมลงในเกม คล้ายๆ เป็นอุปสรรคเวลาที่ผู้เล่นทอยลูกเต๋า
ทว่าหลังจากนำไปทดลองเล่นในโรงเรียน นักเรียนสนใจกันค่อนข้างเยอะ แต่โรงเรียนกลับไม่อนุญาตให้ดำเนินการ เพราะมองว่า ขัดกับขนบธรรมเนียมของระบบการศึกษา รวงและเพื่อนๆ จึงนำเกมนี้ไปเล่นตามพื้นที่สาธารณะแทน ซึ่งปรากฏว่าได้รับเสียงตอบรับที่ดีมาก
“เราทำโครงการนี้อยู่ 7 เดือน และตอนสุดท้ายเราต้องขึ้นพูดบนเวทีว่า สิ่งที่ทำมาทั้งหมดมันย้อนกลับมาที่ตัวเองอย่างไร โดยระหว่างนั้นก็มีการดีเบต มีคนมาท้าทายเราตลอด เช่น ตอนแรกเราตั้งใจว่าปลายทางจะทำเป็นหนังสือ เพราะเรามาจากสายเขียนและทำหนังสือเด็ก แต่เขาก็ถามว่า ทำไมต้องพิมพ์ด้วย พิมพ์เยอะๆ แล้วจะเก็บไว้ไหน และถ้าไม่มีเงินจะทำอย่างไร
“มาตอนหลังเราจึงมองเห็นการเข้าถึงสื่อของเด็กรูปแบบใหม่ว่า พฤติกรรมการเสพสื่อของเด็กเปลี่ยนไปแล้ว หันมาสู่โลกออนไลน์มากขึ้น ก็เลยเปลี่ยนใจ หันมาสร้างสื่อเด็กทางอินเทอร์เน็ตแทนดีกว่า”
หากแต่รวงยอมรับว่า เวลานั้นยังไม่แน่ใจเรื่องเทคนิคการนำเสนอสักเท่าใด จนมาเริ่มกระจ่างชัด ตอนที่ไปเที่ยวเบลเยียมกับเยอรมนี แล้วเห็นหนังสือเด็กที่วางขาย บางเล่มพูดเรื่องการเมือง สงคราม การลี้ภัย หรือแม้กระทั่งความตาย เธอจึงเก็บเก็บไอเดียเหล่านี้ไว้ เพื่อนำมาต่อยอดตอนกลับเมืองไทย
เดือนมิถุนายน 2561 เว็บไซต์และเฟซบุ๊ก Hinghoy Noy เริ่มปรากฏบนโลกออนไลน์ ภายใต้แนวคิดว่า ขอเป็นเพื่อนที่คอยสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนตั้งคำถาม แสดงออก แม้ประเด็นนั้นจะเป็นเรื่องอ่อนไหว หรือสังคมปิดกั้น ไม่ยอมอนุญาตให้เด็กทำความเข้าใจ โดยทุกคนสามารถใช้งานได้อย่างอิสระ และปลอดภัย ไม่ต้องระบุตัวตน เพศ และอายุ
ระหว่างนั้นเธอก็เขียนโครงการขอทุนสนับสนุนจากองค์กรต่างๆ กว่า 20 แห่ง แต่ดูเหมือนจะไม่มีใครเข้าใจสิ่งที่เธอนำเสนอเลย จนสุดท้ายได้รับทุนจาก Internews ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศ แต่แหล่งทุนก็ไม่ได้ให้ทำเรื่อง Taboo โดยตรง เพราะอยากให้ทำเรื่องการกลั่นแกล้งกันบนโลกออนไลน์ ซึ่งในสมัยนั้นก็ถือเป็นเรื่องใหม่ของสังคมเช่นกัน
และผลของการเก็บข้อมูล รวงพบว่า เรื่องราวนั้นรุนแรงกว่าที่คิดมาก บางคนถูกกลั่นแกล้งจนถึงขั้นฆ่าตัวตายเลยก็มี
“มีตั้งแต่ด่ากัน แคปรูปไปด่า ไปประจาน โดยเฉพาะในต่างจังหวัดรุนแรงมาก เพราะเด็กหลายคนไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ อยู่กับปู่ย่าตายาย ซึ่งเด็กไม่ฟังอยู่แล้ว เขามีอะไรก็ตามเพื่อนหมด กินน้ำกระท่อมก็มี หรืออย่างเคสที่เราลงไปทำ เป็นเน็ตไอดอล ซึ่งถูกบุลลีหนักจากเพื่อนในโรงเรียนที่รู้สึกหมั่นไส้ หรือบางคนก็มีปัญหาอัตลักษณ์ทับซ้อน ทั้งเรื่องเพศ ครอบครัว ศาสนา เช่น เด็กบางคนเป็นเลสเบียน แล้วถูกข่มขืนตั้งแต่เด็ก พอวันหนึ่งเขาก็อยากฝังยาคุม แล้วก็มีปัญหาเกี่ยวกับความเชื่อตามมา”
หลังจากเก็บข้อมูลอยู่พักใหญ่ รวงกับทีมงานจึงถอดบทเรียนออกมาเป็นแอนิเมชัน 5 ตอน โดยใช้ชื่อว่า ‘หิ่งห้อยน้อยตะลุยแดนไซเบอร์’ นำเสนอเรื่องราวของมินนี่ เน็ตไอดอลวัยรุ่นชื่อดัง ซึ่งกำลังโดนกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในโลกออนไลน์ ปรากฏว่า ซีรีส์ชุดนี้ได้รับความนิยมค่อนข้างสูง มียอดรับชมหลายแสนครั้ง และนำไปสู่ประเด็นถกเถียงกันพอสมควร
จากนั้นเธอก็เริ่มนำเสนอประเด็นอื่นๆ ที่น่าสนใจ เช่น เพลงที่พูดถึงคุณพ่อเลี้ยงเดี่ยวซึ่งต้องรับมือกับลูกสาวซึ่งมีประจำเดือนครั้งแรก รวมถึงเริ่มเปิดพื้นที่ให้กับเด็กที่มีปัญหาต่างๆ อาทิ ป่วยซึมเศร้าแล้วไม่รู้จะคุยกับใครดี ท้องไม่พร้อม พ่อแม่ทะเลาะและตั้งใจจะหย่าร้างกัน หรือแม้แต่เด็กที่มีเรื่องกับครูในโรงเรียน
“มีคนมาปรึกษาในเว็บไซต์อยู่ตลอด ตั้งแต่เรื่องบูลลี เรื่อง LGBT ก็เยอะเหมือนกัน บางคนถูกล้อ หรือแอบชอบใครสักคนแล้วรู้สึกสับสน แต่ที่ฮอตฮิตสุดคือเรื่องประจำเดือน เช่นเด็กมาถามว่าประจำเดือนมาไม่ปกติ หนูจะทำยังไง ท้องหรือเปล่า มีเพศสัมพันธ์ไม่ได้ป้องกันด้วย เพราะบางคนก็ไม่อยากปรึกษาพ่อแม่ ซึ่งเบื้องต้นเราก็ต้องให้ความรู้สึกดีๆ กับเขา และเข้าใจว่านี่เป็นทุกข์ที่ยิ่งใหญ่ ไม่อย่างนั้นเขาคงไม่มาบอกเราหรอก จากนั้นถึงค่อยให้คำปรึกษา หรือบางเรื่องก็ส่งไปให้เครือข่ายที่ทำงานเรื่องนี้โดยตรง เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืน”
สำหรับรวงแล้ว สิ่งหนึ่งที่นึกถึงเสมอคือ ภาพของตัวเองในวัยเยาว์ เธอไม่อยากให้เด็กหลายคนจมอยู่กับปัญหาหรือเต็มไปด้วยคำถามแบบนั้น เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่าหิ่งห้อยน้อยอาจทำอะไรได้ไม่มาก แต่บางทีการได้รับฟัง และชี้ให้เห็นว่ายังมีแสงสว่างเล็กๆ อยู่บ้าง เท่านั้นก็อาจเพียงพอแล้วที่จะช่วยให้ชีวิตของคนคนหนึ่งได้พบกับทางออกตามแบบฉบับของตัวเอง
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2561 มีหนังอินเดียเรื่องหนึ่งชื่อ Pad Man โด่งดังไปทั่วโลก เพราะถ่ายทอดชีวิตของ Arunachalam Muruganantham ชายที่ใครหลายคนยกย่องให้เป็นนักปฏิวัติผ้าอนามัยของแดนภารตะ ในฐานะผู้ค้นคว้าและสร้างเครื่องผลิตผ้าอนามัยคุณภาพดี ราคาถูก เพื่อให้คนทั่วไปซื้อได้
เพราะแม้ประจำเดือนจะเป็นเรื่องธรรมชาติของผู้หญิง แต่สำหรับสังคมอินเดียแล้ว กลับเป็นเรื่องต้องห้าม หลายคนมองว่าเป็นของสกปรกน่ารังเกียจ เป็นเรื่องน่าอับอาย ยิ่งการใช้ผ้าอนามัยยิ่งแล้วใหญ่ เพราะมีคนจำนวนไม่น้อยเชื่อฝังลึกว่า หากใช้ผ้าอนามัยจะทำให้ตาบอดบ้าง หาสามีไม่ได้บ้าง แต่ที่หนักสุดคือ ก่อนหน้านี้รัฐบาลอินเดียเก็บภาษีผ้าอนามัยสูงถึง 12 เปอร์เซ็นต์
หลายคนจึงต้องหาทางเลือกอื่นมาทดแทนผ้าอนามัย บางคนใช้เศษผ้า แกลบ ทราย ข้าวเปลือก ขี้เถ้า เศษฟาง ใบไม้แห้ง หรือแม้แต่พลาสติก เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อน แต่ก็มีอีกหลายคนที่ปฏิเสธไม่ใช้เลย รวงเองก็เช่นกัน เมื่อต้องไปอยู่อินเดีย ก็เตรียมตัวเตรียมใจรับมือกับเรื่องนี้
“ผ้าอนามัยที่นี่แพงมาก อย่างเมืองไทยประมาณ 60-70 บาท แต่อินเดียราคา 200 บาท ทั้งๆ ที่ค่าแรงแค่วันละ 150 เอง ซึ่งเราต้องอยู่ที่นั่น 8 เดือน ก็เลยตั้งใจว่าจะไม่ยอมซื้อผ้าอนามัยที่นี่เด็ดขาด จึงเตรียมจากเมืองไทยไป 3 ห่อ แต่พอไปอยู่จริง ด้วยความที่ร่างกายผอมลง เมนส์ก็เลยมาไม่ปกติ จึงใช้ไม่มาก แล้วเพื่อนหลายคนก็แนะนำว่ามีแบบถ้วยขาย ซึ่งตอนอยู่เมืองไทยมีเพื่อนมาเลย์แนะนำเหมือนกัน ซึ่งแพงมาก พันกว่าบาท แต่ที่นี่ขายแค่ 150 บาทเอง แต่พอใช้แล้วรู้สึกไม่เหมาะกับตัวเอง จึงกลับมาใช้แบบเก่า”
หากแต่ชีวิตที่อินเดีย ทำให้รวงเห็นปัญหาเต็มไปหมด เช่น การทิ้งผ้าอนามัยกันเกลื่อนกลาด พอเข้าไปในโรงเรียนก็มีเตาเผาโดยเฉพาะ แถมคนส่วนใหญ่ก็ไม่รู้ว่าจะจัดการผ้าอนามัยใช้แล้วอย่างไร
กระทั่งพอมีหนังเรื่อง Pad Man ก็เกิดกระแสเรียกร้องให้ปฏิรูปเรื่องผ้าอนามัย เริ่มมีการปลูกฝังทัศนคติที่ถูกต้อง เกิดองค์กรที่ขับเคลื่อนเรื่องผ้าอนามัยจริงจัง มีผ้าอนามัยซักได้ ซึ่งใช้ผ้าเป็นตัวซับเลือดแทนพลาสติกจำหน่าย เกิดการยกเลิกภาษี และในที่สุดราคาของผ้าอนามัยก็ลดลงตามลำดับ
ประสบการณ์ครั้งนั้นกลายเป็นแรงผลักดันให้รวงอยากทำงานเรื่องผ้าอนามัยที่บ้านเกิด เพราะเห็นว่าประเด็นนี้เชื่อมโยงกับกลุ่มคนชายขอบหลายกลุ่ม และสอดคล้องกับเป้าหมายของหิ่งห้อยน้อยที่อยากสร้างพื้นที่ใหม่ๆ แก่ผู้คนในสังคม
พอกลับมาถึงเมืองไทย ก็มีเพื่อนคนหนึ่งแนะนำว่า แถวเชียงใหม่มีคนที่ทำผ้าอนามัยซักได้ ไม่ลองเอาไปใช้บ้างหรือ ซึ่งรวงก็ตอบตกลงทันที
“เราพบว่ามีกลุ่มคนชายขอบที่เขาพูดไม่ได้หรือเข้าไม่ถึงผ้าอนามัย เช่นกลุ่ม Intersex คือมีอวัยวะทั้งเพศหญิงและชายอยู่ในร่างกาย แล้วสมมติเขาเกิดต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำชาย แล้ววันหนึ่งมีประจำเดือน เขาจะลำบากมาก บางคนก็แพ้ผ้าอนามัย พอใช้แล้วปวดแสบ พูดกับใครก็ไม่ได้เพราะอาย ต้องไปหาผ้าอนามัยแบบสอด ซึ่งหาซื้อยากมาก
“และพอเราศึกษาไปเรื่อยๆ ก็พบข้อมูลว่า กลุ่มชาติพันธุ์ที่เข้าไม่ถึงร้านค้าทั่วไปและไม่มีรายได้พอ เขาก็ไม่ได้ใช้ผ้าอนามัยเหมือนกัน เขาทำกันเองหรือปล่อยให้ไหลตามธรรมชาติ หรือบางกลุ่มใช้ผ้าอนามัย แต่ขอเป็นแบบซักได้ เพราะไม่อยากให้ของพวกนี้ไปทำลายสิ่งแวดล้อม สร้างขยะในแผ่นดินของเขา สุดท้ายเราก็เลยตัดสินใจจับประเด็นนี้ควบคู่กับประเด็นเรื่องเด็ก”
แต่การขับเคลื่อนเรื่องผ้าอนามัยในสังคมไทยกลับไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะถึงแม้สถานการณ์จะไม่รุนแรงแบบอินเดีย แต่พอเป็นเรื่องในร่มผ้าแล้ว พ่อแม่หลายคนไม่ยอมคุยกับบุตรหลาน ครูอาจารย์ไม่ยอมสอนนักเรียน เพราะถูกฝังหัวมาตลอดว่า เพศศึกษาเป็นเรื่องต้องห้ามสำหรับเด็ก แถมบางครั้งเวลามีคนออกมาพูดเรื่องนี้ ก็มักถูกตอบโต้อย่างหยาบคายและรุนแรง
เพราะฉะนั้น เมื่อปลายปี 2562 ช่วงที่กระแสเรื่องภาษีผ้าอนามัยแรงขึ้น ซึ่งตรงกับตอนที่โควิด-19 เริ่มระบาดใหม่ๆ รวงจึงรวมกลุ่มกับเพื่อนๆ ระดมทุนซื้อผ้าอนามัยไปแจกให้คนยากไร้ เธอเรียกคนกลุ่มที่มาช่วยว่า ‘แก๊งเพื่อนเมนส์’ โดยมีข้อเรียกร้องสำคัญคือ ให้ภาครัฐปรับลดภาษีผ้าอนามัยให้เป็นศูนย์ จัดสวัสดิการผ้าอนามัยฟรีแก่เด็กและผู้หญิงที่ขาดรายได้ รวมถึงคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ช่วยรองรับเรื่องประจำเดือน
ไม่เพียงแค่นั้น เวลาไปแจกผ้าอนามัยแต่ละครั้ง พวกเธอจะใช้โอกาสนี้พูดคุยกับผู้คน เพื่อสร้างความตระหนักว่า นี่เป็นสิ่งที่ควรใส่ใจ เพราะเป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์
“บางคนเขาก็เลือกที่จะไม่รับ เพราะรู้สึกว่าไปเหยียดเขา คือมันเป็นเรื่องที่อ่อนไหวมาก แต่บางคนเขาก็บอกว่า ช่วงนี้ใช้ทิชชูแทน ไม่กล้าบอกสามี เป็นข้อมูลที่เราฟังแล้วก็สะเทือนใจเหมือนกัน
“ที่สำคัญคือ สังคมไม่กล้าตั้งคำถาม พอเป็นเรื่องเพศ เรื่องเมนส์ มันใกล้กันมากจนเหมือนเป็นเรื่องเดียวกัน แล้วผูกไปถึงเรื่องการท้อง ทำให้ยิ่งพูดไม่ได้ หรือต้องพูดเงียบๆ แบบกระซิบ จะเปลี่ยนผ้าอนามัยก็ต้องแอบทำ หรือเมนส์เลอะแล้วเสียความมั่นใจ กลัวซึม กลัวเปื้อน กลัวมีกลิ่น การกดทับแบบนี้ทำให้ความรู้เรื่องเพศศึกษา เรื่องอนามัยเจริญพันธุ์ ไม่ถูกพูดถึงจริงจังสักที”
เพราะฉะนั้นการขับเคลื่อนของแก๊งเพื่อนเมนส์ จึงเป็นเสมือนหมุดหมายหนึ่งที่ช่วยให้เกิดการพูดคุยในสังคมอย่างจริงจัง
ต่อมารวงก็ได้นำประเด็นนี้มาผูกโยงกับการทำงานเรื่องเด็กมากขึ้น เพราะสังเกตเห็นว่าเด็กจำนวนมากก็ยังขาดความรู้ ยืนยันได้จากข้อความมากมายที่ส่งเข้ามาถึง เธอจึงเริ่มออกแบบสื่อใหม่ๆ เผยแพร่ในช่องทางออนไลน์ของหิ่งห้อยน้อย ตั้งแต่เพลงที่นำเสนอเรื่องพ่อกับลูกสาวที่มีประจำเดือน ไปจนถึง E-Book การ์ตูนเมื่อเลือดเดือนมาเยือนฉัน ซึ่งนำเสนอความเข้าใจเรื่องประจำเดือนทุกแง่มุมรวม 30 ตอน
หากแต่งานที่ท้าทายที่สุดคือ การผลักดันเรื่องผ้าอนามัยซักได้ เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ของสังคม ด้วยการนำวัสดุในท้องถิ่นมาผลิต โดยตั้งใจจะทำจากผ้า 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะสิ่งหนึ่งที่รวงเรียนรู้คือ ผ้าอนามัยที่ใช้อยู่ทุกวันนี้ไม่ได้ตอบโจทย์ชีวิตของทุกคนเสมอไป ทั้งเรื่องเงินที่เสียไปแต่ละเดือน และเรื่องสุขอนามัยที่ดี แต่ผ้าอนามัยแบบซักได้ มีอายุการใช้งานนานถึง 2-3 ปี ราคาประมาณชิ้นละ 100 บาท แถมไม่สร้างขยะให้แก่โลกอีกด้วย
ภาพหนึ่งที่เธออยากเห็นคือ การที่พ่อแม่มอบผ้าอนามัยซักได้เป็นของขวัญแก่ลูกหลานในโอกาสที่มีประจำเดือนครั้งแรก เพื่อสร้างทัศนคติใหม่แก่เด็กและเยาวชนว่า การมีประจำเดือนไม่ใช่เรื่องน่าอายหรือน่ารังเกียจ แต่เป็นสัญลักษณ์หนึ่งของการก้าวสู่ความเป็นผู้ใหญ่ ตลอดจนหวังให้เกิดพื้นที่การพูดคุยเรื่องเพศ เรื่องประจำเดือน ในครอบครัว ห้องเรียน และสังคม มากยิ่งขึ้น
รวงเชื่อมั่นว่า นี่คือหนทางที่จะช่วยลดปัญหาต่างๆ ทั้งเรื่องอนามัยเจริญพันธุ์ การตั้งครรภ์ไม่พร้อม หรือแม้แต่เรื่องสุขภาพจิต เพื่อยกระดับสังคมไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน
“เรื่องผ้าอนามัยเป็นสิ่งที่ภูมิใจมาก เพราะมันเริ่มมาจากไม่มีอะไรเลย จนวันนี้กลายเป็นสิ่งที่หลายคนพูดถึง เริ่มมีพื้นที่มากขึ้น ที่สำคัญคือ เรารู้ว่าอย่างน้อยไม่ได้ทำเรื่องนี้เพียงลำพัง แต่ยังมีเพื่อนอีกหลายคนที่ออกมาขับเคลื่อน ซึ่งเรามั่นใจว่า ในที่สุดก็จะเกิดความเปลี่ยนแปลงตามมาแน่นอน”
เรารู้สึกว่า หิ่งห้อยเป็นสัตว์ที่อยู่ในบริเวณที่อุดมสมบูรณ์ แล้วก็ดูมีความลับ ทุกคนสนใจมัน เราจึงเลือกใช้หิ่งห้อย เพราะอยากให้เด็กทุกคนอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ส่วนคำว่าน้อยก็หมายถึงเด็กนั่นเอง
แม้จะทำงานเรื่องเด็กมาต่อเนื่องหลายปี แต่รวงพบว่า ทุกวันนี้มีเรื่องท้าทายให้รับมืออยู่ตลอดเวลา ส่วนหนึ่งมาจากอิทธิพลของโลกออนไลน์ที่เคลื่อนไปเร็วมาก ทั้ง Facebook, Twitter, Tik Tok จนหลายครั้งก็ตามไม่ทัน
ที่สำคัญคือ มีองค์ความรู้ใหม่ๆ เข้ามาเปลี่ยนมุมมองและทัศนคติของคนยุคนี้ให้กว้างไกลขึ้น เช่น ซีรีส์เรื่อง Sex Education ซึ่งพลิกมุมมองเรื่องเพศ หยิบเรื่องลับๆ อย่างเซ็กซ์ขึ้นมาพูดคุยอย่างตรงไปตรงมา และทำให้วัยรุ่นเข้าใจเรื่องเพศศึกษาอย่างถ่องแท้ มากกว่าการศึกษาภายในห้องเรียนเสียอีก
หรือแนวคิด Non-binary ซึ่งเป็นการนิยามเรื่องเพศโดยไม่ยึดติดกับชายหญิงอีกต่อไป ภายใต้ความเชื่อที่ว่า คนเราจะมีเพศอะไรนั้นขึ้นอยู่กับสำนึกและตัวตนของคนผู้นั้นเอง
แต่ถึงการทำงานจะซับซ้อนและหนักขึ้น รวงก็ไม่เคยหยุดที่จะเรียนรู้และขับเคลื่อนความตั้งใจ เพราะยังมีคนอีกไม่น้อยที่ต้องเผชิญการถูกมองข้ามจากคนรอบข้าง
เพื่อกระตุ้นให้ทุกคนหันมาใส่ใจเสียงเล็กๆ เมื่อเดือนเมษายน 2564 รวงจึงเป็นโต้โผจัดงานที่ชื่อ ‘Silent Voices Matter เมื่อความเงียบกู่ก้อง’ นิทรรศการที่รวบรวมผลงานศิลปะหลายแขนง ทั้งภาพถ่าย คอมพิวเตอร์กราฟิก ภาพวาด งานปั้นเซรามิก และสื่อผสมผสาน
ครั้งนั้นรวงชักชวนศิลปิน 11 คนที่มีความสนใจเรื่องเด็ก มาสร้างผลงานตามสไตล์ของตัวเอง โดยมีวัตถุดิบสำคัญอย่าง เรื่องราวของเด็กๆ ที่ถ่ายทอดเข้ามาในเว็บไซต์หิ่งห้อยน้อย หรือ Google Form ซึ่งรวงเปิดไว้ให้ทุกคนได้ระบายสิ่งที่อยู่ในใจอย่างเต็มที่
“เรามองว่า ศิลปะช่วยทำให้พื้นที่สร้างสรรค์ขยายตัวมากขึ้น และมีพลังในการเข้าถึงคนทุกคน ที่สำคัญหลายครั้งยังกลายเป็นแฮชแท็กกระจายไปในโลกอินเทอร์เน็ตได้ด้วย”
ขณะเดียวกัน การสร้างพื้นที่ปลอดภัยแก่เด็กและเยาวชนก็เป็นสิ่งที่รวงทำมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะท่ามกลางสถานการณ์ที่สังคมมีความขัดแย้งสูง เพราะสำหรับรวงแล้ว ไม่ว่าเด็กแต่ละคนจะมีความคิดหรือความเชื่อต่างกันอย่างไร ก็ควรได้รับการปกป้องและรับฟังอย่างจริงใจ เพื่อหาจุดตรงกลางที่ทุกคนสามารถหยัดยืนในสังคมได้โดยเท่าเทียม
ทั้งหมดนี้คือ ความฝันของนักขับเคลื่อนตัวเล็กๆ คนหนึ่ง ที่อยากเห็นทุกคนกล้าลุกขึ้นมาพูด กล้านำเสนอปัญหาต่างๆ อย่างตรงไปตรงมา ด้วยความเชื่อที่ว่า ต่อให้เสียงของแต่ละคนอาจจะไม่ได้ดังมากนัก แต่ถ้าทุกคนรวมกันได้ บางทีเสียงเหล่านั้นก็อาจจะเปลี่ยนโลกได้เช่นกัน
และนี่เองคือ หนทางสำคัญที่ช่วยให้เมืองไทยเติบโตและก้าวเดินด้วยความสุขอย่างแท้จริง
คนเล็กเปลี่ยนโลก : โครงการของเพจยอดมนุษย์..คนธรรมดา ซึ่งนำเสนอเรื่องราวของ 30 บุคคลผู้สร้างสังคมที่ยั่งยืน และช่วยกันสร้างคุณค่าสำคัญที่จะช่วยพลิกฟื้นประเทศ ท่ามกลางวิกฤตโรคระบาด โดยได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
รวงทัพพ์ แก้วแกมจันทร์ คือบุคคลต้นแบบประเด็นบรรลุความเสมอภาคระหว่างเพศ และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้หญิงและเด็กหญิงทุกคน (SDGs ข้อที่ 5), ประเด็นลดความไม่เสมอภาคภายในและระหว่างประเทศ (SDGs ข้อที่ 10) และประเด็นส่งเสริมสังคมที่สงบสุขและครอบคลุมที่เอื้อต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้ทุกคนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม สร้างสถาบันที่มีประสิทธิภาพ มีความรับผิดชอบและทุกคนสามารถเข้าถึงในทุกระดับ (SDGs ข้อที่ 16)
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง ที่ต้องบริหารงานภายใต้ข้อจำกัดมากมาย แต่เขาก็ไม่ท้อ เพื่อให้ประชาชนทุกเชื้อชาติสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างเท่าเทียม
กลุ่มเครือข่ายคนรุ่นใหมที่ทำงานขับเคลื่อนการอนุรักษ์คลองในพื้นที่ฝั่งธนบุรี
นักอนุรักษ์ทรัพยากรทะเล ผู้อยู่เบื้องหลังนโยบายการดูแลสิ่งแวดล้อม และช่วยยังสื่อสารไปยังประชาชนว่า ทำไมเราถึงต้องทะเล
นักอนุรักษ์ผู้เป็นแรงบันดาลให้นักเคลื่อนไหวด้านธรรมชาติรุ่นใหม่ เป็นผู้บุกเบิกค่ายเยาวชนเชียงดาว
นักวิจัยแห่งจุฬาฯ ผู้ทำงานเรื่องขยะมายาวนาน และเป็นผู้บุกเบิกโครงการ Chula Zero Waste
นักวิจัยทำงานเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรเชียงดาว พร้อมกับพัฒนาพื้นที่แห่งนี้ให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวตามวิถีธรรมชาติที่ยั่งยืน
โลกดนตรี ตำนานรายการคอนเสิร์ตกลางแจ้ง ที่ศิลปินยุค 1970-2000 อยากขึ้นแสดงมากที่สุด เพราะใครที่มีโอกาสได้ขึ้นเวทีนี้ แสดงว่าดังแล้ว
ห้องทดลองกฎหมายของ รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร ที่ทำงานเรื่องการพิสูจน์สิทธิเรื่องสัญชาติ เพื่อให้ทุกคนได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม
เครือข่ายคนรุ่นใหม่ที่อยากรักษาเสน่ห์ของพื้นที่อารีย์ พร้อมกับรักษาชุมชนที่ยั่งยืนด้วยการใช้กุศโลบายที่ดึงดูดให้คนทุกมีส่วนร่วม
นักออกแบบแดนปัตตานีที่รวมกลุ่มกันจัดกิจกรรม เพื่อเปลี่ยนภาพจำๆ เดิมของชายแดนใต้ ไปสู่กลายเป็นเมืองสร้างสรรค์
จากครูอาสาที่มาสอนดนตรีในชุมชนคลองเตย สู่การต่อยอด เพื่อสร้างโอกาสให้เด็กๆ ได้มีพื้นที่ที่จะเติบโตอย่างงดงาม
แรงบันดาลใจของพระอีสานผู้ไม่มีโอกาสได้เรียนต่อ สู่การสร้างโอกาสทางการศึกษาด้วยพลังงานแสงอาทิตย์
COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO. ALL RIGHTS RESERVED.