ย้อนกลับไปสิบปีที่แล้ว ตอนที่ความรู้ความสนใจในการดูแลและตัดแต่งต้นไม้ใหญ่ให้มีสุขภาพดีและสวยงามน่ามองยังไม่เป็นที่รู้จักและแพร่หลายเหมือนทุกวันนี้
ชะตากรรมของต้นไม้ใหญ่ในบ้านเราจัดว่าน่าสงสาร เพราะถ้าโชคร้ายไปอยู่ในพื้นที่ที่กำลังจะมีการพัฒนา ต่อให้จะอยู่คู่บ้านคู่เมืองมาเป็นร้อยปี ก็อาจจะถูกถอนรากถอนโคนได้ภายในกี่ไม่วัน
บางต้นต่อให้มีชีวิตรอด ถ้ากิ่งก้านไปรบกวนสิ่งปลูกสร้าง ก็อาจจะถูกตัดจนโกร๋นแทบไม่เหลือใบ หรือไม่ก็ถูกลิดกิ่งจนเว้าแหว่งไม่น่ามอง แต่ที่ดูแล้วขัดใจสายตาคนเมืองมากๆ คือ ต้นที่ถูกบั่นยอด ลิดกิ่ง จนเหมือนต้นไม้ที่พิกลพิการมาอยู่บนเกาะกลางถนน
ความจริงที่แสนโหดร้ายนี้ จุดประกายให้กลุ่มคนที่รักต้นไม้ และอยากให้ทุกคนเห็นคุณค่าของพื้นที่สีเขียว มาร่วมแรงร่วมใจกันรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมในชื่อ BIG Trees Project ซึ่งปัจจุบันพัฒนาเป็น ‘มูลนิธิรักษ์ไม้ใหญ่’
แม้ภารกิจแรกของพวกเขาที่อยากจะปกป้องต้นจามจุรีอายุร้อยปีหลายสิบต้นในซอยสุขุมวิท 35 จะไม่สำเร็จ แต่พวกเขาไม่ยอมแพ้ เปลี่ยนความผิดหวังเป็นพลัง เดินหน้าเป็นสื่อกลางในการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับต้นไม้ผ่านทางโซเชียลมีเดีย พร้อมจับมือกับภาครัฐและภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนกิจกรรมในการดูแลรักษาต้นไม้ใหญ่
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา BIG Trees Project ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงมากมาย แต่ผลงานชิ้นโบแดงที่นำไปสู่การดูแลต้นไม้ใหญ่อย่างยั่งยืน คือ การฝึกอบรมรุกขกรอาสา เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการดูแลต้นไม้ใหญ่ทั่วประเทศ นอกจากจะช่วยรักษาต้นไม้ใหญ่หลายต้นเอาไว้ได้แล้ว ยังพิสูจน์ให้เห็นว่าการพัฒนาเมืองไม่จำเป็นต้องแลกกับการทำลายต้นไม้เสมอไป
ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ร่วมกับ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ขอชวนไปรู้จักกับ 1 ใน 30 บุคคลที่ทำงานเพื่อสร้างสังคมที่ยั่งยืนจากโครงการคนเล็กเปลี่ยนโลก สันติ โอภาสปกรณ์กิจ และ อรยา สูตะบุตร สองผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม Big Trees Project ที่มีความมุ่งมั่นอยากดูแลต้นไม้ใหญ่ พร้อมปลูกต้นไม้ในใจคนให้หันมารักและหวงแหนต้นไม้ เพราะเชื่อว่า เมื่อใดที่ต้นไม้ในใจคนเติบใหญ่ เมื่อนั้นเมืองก็จะน่าอยู่
ภาพความทรงจำในวัยเด็กของอรยาที่มีต้นไม้เขียวขจีรายล้อมอยู่รอบ ๆ ไม่เคยเลือนหายไปกับกาลเวลา แต่เมื่อมองไปรอบตัววันนี้ กลับไม่เหมือนวันวาน พื้นที่สีเขียวถูกแทนที่ด้วยโครงการขนาดใหญ่และตึกสูง จนทำให้อรยา อดีตนักโฆษณาที่ผันตัวมาเป็นนักแปล ก่อนจะมาเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกกับตัวเองว่า เธอต้องลงมือทำอะไรสักอย่าง เพื่อให้เมืองน่าอยู่ขึ้น
ก่อนจะมาลงเอยที่ BIG Trees Project อรยาผ่านประสบการณ์ทำงานร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนเมืองให้น่าอยู่ยิ่งขึ้นมาหลายโครงการ
นอกจากจะเป็นสมาชิกของกลุ่ม ‘บางกอกฟอรั่ม’ ซึ่งเป็นการรวมตัวของภาคประชาชนจากหลากหลายสาขาอาชีพ ทั้งนักวิชาการ อาจารย์ แพทย์ สื่อมวลชน ฯลฯ ที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงของเมือง โดยมีผลงานชิ้นโบแดงที่ภูมิใจมาถึงทุกวันนี้ คือ กิจกรรมถนนคนเดิน ถนนวัฒนธรรม ที่จัดขึ้นที่ถนนพระอาทิตย์ทุกวันอาทิตย์ ซึ่งไม่เพียงเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของกรุงเทพฯ ที่มีถนนคนเดิน แต่ยังจุดประกายให้มีการริเริ่มกิจกรรมถนนคนเดินในอีกหลายเมือง ไม่ว่าจะเป็นที่เชียงใหม่ หรือสงขลา
“เรารู้สึกว่ามันมีเชื้อขึ้นมาแล้วว่า ถ้าเราจะเปลี่ยนแปลงเมือง มันจะไปเปลี่ยนแบบรอนายกฯ สั่งมา หรือรอผู้ว่าฯ ถูกใจ ที่สุดแล้วมันคงนาน แต่ว่าเริ่มทำอะไรที่มันเป็นการทดลอง จำลองให้เห็น ถ้าเกิดคนได้เห็นว่า ถนนเส้นหนึ่งพอเอารถยนต์ออกไป แล้วมีแต่คนเดินเป็นจักรยาน หรือว่าจะเป็นรถเข็นก็ตาม บรรยากาศมันรื่นรมย์กว่าเยอะ จะแวะซื้อหนังสือร้านนี้ จะกินกาแฟร้านนั้น มันเปลี่ยนบรรยากาศไปเลย แล้วก็คิดว่าทำให้ช่วงนั้นถนนพระอาทิตย์ยังเป็นสัญลักษณ์ของการรวมกลุ่มของภาคประชาชน ภาคประชาสังคมเป็นครั้งแรกๆ ของเมืองไทยก็ว่าได้”
อรยายังเป็นสมาชิกของชมรมหรี่เสียงกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของคนเพียงไม่กี่คน ที่อยากเห็นกรุงเทพฯ เป็นเมืองสงบและมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยเริ่มจากประเด็นใกล้ตัวอย่าง การยื่นจดหมายถึงผู้บริหารรถไฟฟ้าบีทีเอส เพื่อขอให้ลดเสียงโทรทัศน์สำหรับการโฆษณาที่ติดตั้งอยู่บริเวณชานชาลาและในรถไฟฟ้า ซึ่งสร้างความเครียดและรบกวนเวลาพักผ่อนของผู้โดยสาร รวมไปถึงการรวมกลุ่มกับผู้อยู่อาศัยในย่านราชดำริ เจรจากับเจ้าของโครงการก่อสร้างให้เลิกงานตอน 4 ทุ่ม
ขณะที่สันติ ผู้เป็นสามีนั้น ทำงานเป็นที่ปรึกษาด้านการเงิน และไม่ได้มีความสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นทุนเดิม แต่พอภรรยาสนใจด้านนี้ เลยได้มีโอกาสเข้ามาช่วยงาน ตั้งแต่ตอนที่ทำชมรมหรี่เสียงกรุงเทพฯ จนมาถึงโครงการกรุงเทพฯ เดินสบาย เพื่อปรับปรุงทางเท้าตรงหน้าห้างฯ เซ็นทรัลเวิลด์
“จุดเริ่มต้นของโครงการนี้ เกิดจากเราสองคนไปเที่ยวฝรั่งเศส แล้วเห็นว่าทางเท้าของเขาเดินสะดวกดี ผิดกับบ้านเราที่ทางเท้าเดินไม่สะดวก ทำให้หลายคนไม่อยากเดิน เลยคิดว่าอยากจะกลับมาปรับปรุง โดยเริ่มจากเซ็นทรัลเวิลด์ เพราะตอนนั้นคอนโดฯ เราอยู่แถวราชดำริ” สันติเล่า ก่อนเสริมว่า
“ด้วยความที่เราทำชมรมหรี่เสียงมาก่อน เลยรู้จักกับทางเจ้าหน้าที่เขต ก็เลยไปชวนมาทำโครงการ มีไปชวน กทม. ซึ่งสมัยนั้นคุณอภิรักษ์ โกษะโยธินเป็นผู้ว่าฯ ก็สนใจ แล้วก็ไปชวนผู้ประกอบการที่อยู่บนถนนราชดำริ พวกโรงแรม อาคาร พวกคอนโด สถานทูต กาชาด มาลงขันช่วยกันปรับปรุงทางเท้า เราก็ใช้วิธีว่าหน้าบ้านใครหน้าบ้านมันช่วยกันรับผิดชอบ หลังจากนั้นก็ไปชวน สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) ซึ่งเขายินดีช่วย แถมยังติดต่อกลุ่มคนพิการ เพื่อมาช่วยดูว่า ทางเท้าที่เราสร้างได้มาตรฐาน แบบที่แม้แต่คนพิการ ซึ่งเป็นกลุ่มที่อ่อนแอที่สุดในสังคมใช้ได้จริงหรือเปล่า เพราะถ้าคนพิการใช้ได้ คือทุกคนใช้ได้แน่นอน”
หลังจากได้โจทย์เรียบร้อย โครงการปรับปรุงทางเท้าทั้งหมดก็ใช้เวลาเพียง 2-3 เดือนจึงสำเร็จลุล่วง มีทางลาดสำหรับรถเข็น พื้นถนนเรียบ กว้าง เดินสบาย และยังคงใช้การได้ดีมาจนถึงปัจจุบัน
กระทั่งปี 2553 ด้วยความที่ทำงานกับเครือข่ายภาคประชาสังคมมาตลอด ทำให้พอได้ข่าวว่าจะมีการตัดต้นจามจุรีอายุร้อยปีนับสิบต้นที่ซอยสุขุมวิท 35 เพื่อทำศูนย์การค้าแห่งใหม่ สันติและอรยาจึงได้รวมกลุ่มกับคนรักต้นไม้ เพื่อหาวิธีปกป้องต้นไม้ใหญ่เหล่านั้น
“เราเริ่มต้นจากการรวมตัวของคนไม่กี่สิบคน และเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 3,000 คน ภายในไม่กี่วัน หลังข่าวนี้แพร่กระจายไปในโซเชียลเน็ตเวิร์ก เราก็พยายามที่จะไปคุยกับเจ้าของเพื่อหาทางออกร่วมกัน แต่เจ้าของเขาคงรำคาญ ขี้เกียจคุยกับเราแล้ว สุดท้ายเขาตัดต้นไม้ทิ้งหมดเลย แล้วก็เกิดอาคารขนาดใหญ่ขึ้นมา” อรยาเล่าถึงที่มาของกลุ่ม
ตอนนั้นแม้จะเสียใจและแค้นใจ แต่อย่างน้อยพอเห็นว่าพลังของคนรักต้นไม้ถูกจุดติดแล้ว แทนที่จะปล่อยให้สลายไป ทางกลุ่มเห็นพ้องกันว่าควรเกาะกลุ่มทำงานกันต่อไป จึงเปิดเพจ Facebook โดยใช้ชื่อว่า ‘BIG Trees’ เพื่อสื่อสารเกี่ยวกับต้นไม้ และเรียกร้องไม่ให้มีการโค่นหรือตัดทำลายต้นไม้
“บ้านเราไม่ได้มีกฎหมายบังคับว่า เวลาจะพัฒนาที่ดิน ต่อให้เป็นที่ดินส่วนตัว ก็ต้องไปแจ้งกับรัฐว่า ที่ดินตรงนี้มีต้นไม้เก่าแก่กี่ต้น เราจะมีแผนการดูแลต้นไม้เก่าแก่อย่างไร หรือถ้าจะขอตัด มีเหตุผลอะไร ทำให้พอมีการพัฒนาที่ดิน ต้นไม้มักถูกตัดเป็นอย่างแรก ดังนั้น ตอนที่คิดว่าเราจะทำงานกันต่อ เราก็มีโจทย์ว่าอยากจะผลักดันเรื่องนี้ โดยตกลงกันว่าจะลองดูกันสักปีว่าจะไปได้ไกลแค่ไหน” สันติเสริม
ในช่วงขวบปีแรก สันติฉายภาพให้เห็นการทำงานของกลุ่ม BIG Trees Project ว่า พวกเขาตั้งต้นจากการอาศัยพลังของโซเชียลมีเดียเป็นช่องทางในการสื่อสารกับคนเมือง โดยอาศัยแต้มต่อจากการเป็นโซเชียลมีเดียด้านคุณภาพชีวิตเพจแรกๆ ของเมืองไทย บวกกับการนำเสนอเนื้อหาที่ไม่ได้วิชาการจ๋า เพราะทีมงานที่อยู่เบื้องหลังก็ไม่ได้มีความรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมแบบเฉพาะทาง อาจจะรู้พอๆ กับคนทั่วไปหรือมากกว่านิดหน่อย จึงทำเนื้อหาออกมาได้เข้าใจง่าย ส่งผลให้ BIG Trees Project เป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็ว
ส่วนรูปแบบการทำงาน ด้วยความที่เป็นการรวมตัวแบบหลวมๆ ของกลุ่มคนจากหลากหลายสาขาอาชีพ ทุกคนมีงานประจำของตัวเอง จึงไม่ได้นิยามตนเองว่าเป็น NGO เพราะฉะนั้นจึงไม่รวมกลุ่มกันเพื่อคัดค้านหรือต่อว่าหน่วยงานรัฐ แต่จะใช้วิธีขอความร่วมมือ บางทีก็นำไอเดียไปเสนอ เพื่อชวนภาครัฐมาหาทางออกร่วมกัน
กิจกรรมที่ BIG Trees Project ทำมีตั้งแต่โครงการ 100 ต้นไม้มหานคร ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกับ กทม. และกลุ่มภาคี ชวนคนรักต้นไม้ส่งภาพถ่ายต้นไม้ใหญ่ที่มีคุณค่าเข้ามาประกวดกัน โดยจะมีหลักเกณฑ์ในการคัดตั้งแต่ต้นไม้ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ, ต้นไม้สูงที่สุดในกรุงเทพฯ ซึ่งจะวัดจากเส้นรอบวงและความสูงของต้น แต่ถ้าเป็นต้นไม้สวยสมบูรณ์ที่สุด และทรงคุณค่าน่าประทับใจที่สุดในกรุงเทพฯ จะตัดสินจากผลโหวตของประชาชน
จากโครงการประกวดต้นไม้ ก็ต่อยอดมาสู่โครงการ ‘Bangkok Car Free Sunday’ ซึ่งเป็นการร่วมมือกับ กทม. และภาคีเครือข่ายอีกเช่นกัน ชวนคนกรุงเทพฯ มาขี่จักรยานพร้อมกับดูแลต้นไม้
“อย่างโครงการ “Bangkok Car Free Sunday” เราจับเทรนด์ปั่นจักรยานที่มาแรง เพื่อชวนคนเมืองมาทำกิจกรรมร่วมกัน ไหนๆ มาขี่แล้ว ก็ไปช่วยกันดูแลต้นไม้ ด้วยการเก็บขยะที่โคนต้นไม้ หรือบางครั้งก็ให้พกค้อนไปช่วยกันถอนตะปูที่ตอกอยู่ตามลำตัน อย่างที่สนามหลวง ต้นไม้บางต้นมีตะปูใหญ่ตอกไว้ลึกมาก ต้องใช้ค้อน 3 อันกว่าจะงัดออกมาได้” อรยาเล่า
“ส่วนเหตุผลที่เราเลือกจับมือกับ กทม. และภาคีต่างๆ เพราะเราไม่ได้มองว่าตัวเองเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องการรณรงค์ ดังนั้นถ้าจะทำกิจกรรมอะไรก็ตาม เราจะทำงานเป็นเครือข่าย ซึ่งก็ไม่ง่าย เพราะต้องรับฟังความเห็นของหลายฝ่าย ซึ่งบางครั้งอาจจะมีไอเดียที่หลากหลายบ้าง” สันติเสริม
ผลพลอยได้จากการทำกิจกรรมต่างๆ ของ BIG Trees Project ไม่ต่างจากการหว่านเมล็ดพันธุ์ในใจคน ทำให้การรวมกลุ่มของคนเมืองเพียงไม่กี่หยิบมือ ค่อยๆ ขยายวงกว้าง และทำให้คนในสังคมหันมารักและหวงแหนต้นไม้ เห็นได้จากการที่มีคนทนไม่ไหวที่เห็นต้นไม้ใหญ่ในกรุงเทพฯ อยู่ในสภาพ ‘ไม่ตายก็เลี้ยงไม่โต’ เพราะบางต้นถูกลิดกิ่งทอนใบเสียจนโกร๋นแทบไม่เหลือร่มเงา หรือไม่ก็เว้าแหว่ง เพื่อหลบเลี่ยงสายไฟที่ระโยงระยาง
“พอเราทำเรื่องต้นไม้ไปเรื่อยๆ ก็เริ่มเห็นกระแสคนเมืองที่อยากช่วยดูแลต้นไม้ เริ่มตั้งคำถามว่า ทำไมต้นไม้ในกรุงเทพฯ ถึงไม่สวยเลย ใบหงิกๆ งอๆ หรือ ลำต้นโกร๋นไม่เหลือใบ ถ้าไปเทียบกับเมืองอื่น อย่างในญี่ปุ่น ต้นไม้เขาสวยเหมือนแกะสลักทุกต้น แม้แต่สิงคโปร์ มาเลเซีย ลาว เวียดนาม ต้นไม้เขาก็สวยกว่าบ้านเรา พูดง่ายๆ ไม่มีเมืองไหนที่ต้นไม้น่าเกลียดเท่ากับเมืองไทย” สันติฉายภาพให้เห็น
เมื่อเป็นแบบนี้เลยทำให้ทั้งคู่ต้องกลับมาทบทวนว่า หรือ BIG Trees Project จะมาผิดทาง เพราะในขณะที่พวกเขาพยายามรณรงค์ให้มีพื้นที่สีเขียวและต้นไม้ใหญ่ในเมืองมากขึ้น แต่พอหันกลับมาดูสภาพต้นไม้ใหญ่ในเมืองที่มีอยู่ กลับแทบดูไม่ได้
ด้วยความที่ตอนนั้นทั้งคู่เริ่มรู้จักกับนักวิชาการที่มีความรู้เรื่องต้นไม้ หนึ่งในนั้น คือ ศาสตราจารย์กิตติคุณ เดชา บุญค้ำ ราชบัณฑิต และศิลปินแห่งชาติปี 2549 ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นครูใหญ่แห่งวงการต้นไม้ใหญ่ และเป็นคนแรกๆ ที่นำวิชาภูมิสถาปัตยกรรมและรุกขกรรมมาเผยแพร่ในเมืองไทย จึงได้ช่วยชี้ทางสว่างว่า ก้าวแรกของการรณรงค์เรื่องพื้นที่สีเขียวมากขึ้น คือ การทำต้นไม้ใหญ่ที่มีอยู่แล้วให้ดีเสียก่อน
“ตอนนั้นเราก็ตกใจนะ เพราะเป็นเรื่องใหญ่ที่เราไม่เคยคิดมาก่อน เราคิดแต่จะรณรงค์อย่างเดียว คิดว่า เดี๋ยวทุกอย่างก็ดีขึ้น แต่พอได้ฉุกคิดแบบนี้ ด้วยความที่เราทำงานกับ กทม. มาหลายกิจกรรม จนมีความคุ้นเคย เลยไปถามเขาในฐานะเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการดูแลต้นไม้ตามถนนและสวนสาธารณะว่า ทำไมถึงตัดต้นไม้ไม่ดี เขาก็ตอบตรงๆ ว่า ไม่รู้เหมือนกันว่าวิธีตัดต้นไม้ที่ดี หรือตัดแบบถูกวิธีต้องทำอย่างไร ก็เลยตัดอย่างนี้มาตลอด” สันติเล่าอย่างออกรส
หลังจากได้เห็นต้นตอของปัญหาต้นไม้ในเมืองใหญ่ ตั้งแต่นั้นบทบาทการทำงานของ BIG Trees Project ก็ค่อยๆ เบนเข็มมาสู่การปกป้องต้นไม้ใหญ่จากการถูกตัดแบบไม่ถูกวิธี เพราะที่ผ่านมา หลายคนอาจคิดว่าการตัดต้นไม้เป็นเรื่องง่ายๆ แต่จริงๆ แล้ว การตัดต้นไม้ที่ดีต้องตัดอย่างมีความรู้ความเข้าใจ ตั้งแต่การดูทรงของต้นไม้ รู้ว่ากิ่งไหนควรตัดหรือควรเก็บไว้ ตลอดจนตำแหน่งของการตัดด้วย ต้องไม่ชิด ไม่เฉียง และไม่ยาวเกินไป
แต่ปัญหาคือ คนที่มีความรู้เกี่ยวกับการตัดไม้อย่างถูกต้อง ที่เรียกว่ารุกขกร หรือหมอต้นไม้ กลับมีอยู่เพียงหยิบมือในเมืองไทย ดังนั้น ถ้าอยากให้ต้นไม้ใหญ่ทั่วประเทศได้รับการดูแลโดยรุกขกร ไม่ใช่ใครก็ได้ที่แค่ได้รับมอบหมายให้มาตัดก็ตัด แล้วจะต้องทำอย่างไร
ภารกิจสำคัญของ BIG Trees Project คือ การตั้งโรงเรียนสอนตัดต้นไม้เพื่อสร้างรุกขกร พร้อมกับจัดการฝึกอบรมให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพมหานคร การไฟฟ้านครหลวง หรือแม้แต่อาสาสมัครที่สนใจ
“ตอนนั้น เราใช้วิธีเข้าไปพบกับทีมที่ปรึกษาของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ซึ่งเป็นผู้ว่า กทม. ในยุคนั้น เพื่อเสนอว่าจะส่งทีมรุกขกรอาสามาแนะนำวิธีการตัดแต่งที่ถูกต้องให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ ชวนไปสาธิตให้ดูว่า แทนที่จะแก้ปัญหาด้วยการโค่นต้นไม้ทิ้งทั้งต้นหรือตัดแบบเท่ากันหมดทุกกิ่ง เรามีวิธีตัดแต่งอย่างไรให้ต้นไม้ยังมีรูปทรงสวยงาม และไม่ไปรบกวนโครงสร้างอาคารใกล้เคียง” อรยาเล่าถึงช่วงแรกๆ ที่นำองค์ความรู้ไปถ่ายทอด
นอกจากการฝึกอบรมรุกขกรแล้ว BIG Trees Project ยังเข้าไปเป็นตัวกลางเวลามีข้อพิพาทเกี่ยวกับต้นไม้ใหญ่ ระหว่างภาครัฐที่มองว่าจะตัดต้นไม้เพื่อป้องกันอันตราย กับประชาชนที่อยากให้รักษาต้นไม้ใหญ่ไว้ ด้วยการส่งทีมรุกขกรอาสาเข้าไปช่วยสำรวจและแก้ปัญหา หรืออย่างกรณีที่จะมีการตัดต้นประดู่ที่อยู่ในแนวเชื่อมต่อสกายวอล์กหน้า Groove Central World พอรู้ข่าว BIG Trees Project จึงเข้าช่วยเจรจาจนรักษาต้นไม้ไว้ได้ ด้วยการช่วยปรับแบบและตัดแต่งบางกิ่งออก
อีกเคสที่สันติและอรยายกเป็นให้เคสที่ Win-Win ทุกฝ่าย ก็คือ การได้ช่วยชีวิตต้นมะขามที่สนามหลวง และยังทำให้ภาครัฐได้เห็นถึงพลังของจิตอาสาที่พร้อมให้ความร่วมมือกับภาครัฐ ในช่วงพระราชพิธีบรมศพของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่มีการตั้งซุ้มอาหาร จัดกิจกรรม มีห้องน้ำสาธารณะมาตั้ง ซึ่งทำให้สภาพต้นมะขามรอบสนามหลวงบอบช้ำ
“ครั้งนั้นเราเสนอกับ กทม. ว่า จะชวนดูแลต้นมะขามในช่วงที่มีการใช้พื้นที่สนามหลวงอย่างเข้มข้น โดยที่ กทม. ไม่ต้องตั้งงบ ไม่ต้องจ้างคน เราจะขอความร่วมมือจากประชาชนที่มาเป็นจิตอาสา ซึ่งก็ประสบความสำเร็จมาก มีอาสาสมัครมาช่วยเยอะ ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐก็รู้สึกว่าได้ผ่อนแรงและเห็นว่างานบางอย่างถ้าตกลงกันได้ดี ทำความเข้าใจกันให้ถูกต้อง ประชาชนก็พร้อมมาช่วย กทม. เต็มที่”
หรืออย่างเคสต้นตะเคียนอายุ 200 ปี ที่ริมคลองหลอด หน้าวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร ที่ได้รับความเสียหายจากการปรับพื้นที่รอบต้นไม้หลายครั้ง BIG Trees Project ก็เข้าไปช่วยฟื้นฟู จนต้นตะเคียนเก่าแก่กลับมาออกดอกและผลอีกครั้ง สามารถนำมาเพาะต่อเป็นต้นตะเคียนต้นใหม่ได้
และนอกเหนือจากการดูแลต้นไม้ใหญ่ในกรุงเทพฯ แล้ว BIG Trees Project ยังไปช่วยดูแลต้นไม้ใหญ่ทั่วประเทศอีกด้วย
“พอทำงานไปเรื่อยๆ เครือข่ายของเราก็ใหญ่ขึ้น อย่างทางกรมศิลปากร ซึ่งดูแลวัดและวังทั่วประเทศ ก็ให้เราไปช่วยดูแลต้นไม้ใหญ่ที่เริ่มรบกวนสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งที่ผ่านมา เขาไม่รู้จะทำอย่างไร ก็ใช้วิธีตัดโค่นทิ้ง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย พอมีเรา ก็จะส่งรุกขกรอาสาไปช่วยฝึกอบรม แนะนำวิธีตัดแต่งอย่างถูกต้อง อย่างเช่นที่วังสมเด็จพระนารายณ์ ที่ลพบุรี, อุทยานโบราณ ที่สุโขทัย อยุธยา และเพชรบุรี
“บางเคสก็มีเครือข่ายหรือคนที่รู้ว่า BIG Trees Project ทำเรื่องนี้ แจ้งเข้ามา อย่างเช่นต้นยางนาที่ถนนสารภี (ถนนสายเชียงใหม่–ลำพูน) เราก็ส่งรุกขกรอาสาที่เชียงใหม่ไปช่วยฟื้นฟูระบบราก เพื่อให้ต้นไม้แข็งแรงขึ้น รวมถึงเคสที่นครศรีธรรมราช ตอนเจอพายุปลาบึก ทำให้ต้นยางนากับต้นตะเคียนเสียหาย ตอนนั้นนอกจากจะส่งรุกขกรไปช่วยดูแล ยังต่อยอดไปสู่การทำงานกับหน่วยงานในท้องถิ่น จัดอบรมรุกขกรในภาคใต้ และมีการสำรวจเพื่อเก็บข้อมูลต้นไม้ใหญ่ที่มีความสำคัญในนครศรีธรรมราชอีกด้วย” สันติยกตัวอย่างการทำงานตลอดหลายปีของ Big Trees Project
ต้นไม้ในเมืองไม่ได้มีเพื่อความสวยงามหรือเพื่อประดับประดาเท่านั้น แต่เป็นเรื่องความอยู่รอด เพื่อที่จะไม่ให้สุขภาพทางกายและใจทรุดโทรมไปกว่านี้
ในวันที่ BIG Trees Project เติบโตมาเกินสิบปี ถ้าจะให้สรุปว่าอะไรคือกุญแจสำคัญที่ทำให้การทำงานของกลุ่มค่อนข้างคืบหน้าและเห็นผล สันติตั้งชื่อกลยุทธ์นี้ว่า ‘วิธีตบจูบ’
“เมืองไทยเวลาจะทำอะไรกับหน่วยงานรัฐให้ได้ผล ต้องเหมือนละคร ที่ต้องทั้งตบและจูบ เพราะถ้าตบอย่างเดียว อาจทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน ทำงานร่วมกันไม่ได้ ในทางกลับกันจะมาแนวจูบ ขอความร่วมมืออย่างเดียว ก็อาจจะไม่ค่อยคืบหน้า”
นอกจากทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นมิตรแล้ว พวกเขายังคิดถึงการปลูกต้นไม้ในใจคนด้วยการพยายามเปลี่ยนรสนิยมคนเมือง แทนที่จะมองไม่เห็นความสำคัญของต้นไม้ ก็กลับมามองว่าต้นไม้เป็นสิ่งมีค่าที่ต้องหวงแหน
“เหมือนสมัยก่อน คนไทยไม่อยากเลี้ยงหมาแมว ก็เอาไปปล่อยวัดหรือฆ่าทิ้ง แต่ตอนนี้ค่านิยมเปลี่ยนไป หมาแมวกลายเป็นทรัพย์สินที่คนเห็นคุณค่า เราอยากให้มุมมองแบบนี้เกิดขึ้นกับต้นไม้ มองว่าต้นไม้เป็นสิ่งที่มีชีวิต” สันติกล่าวต่อ
อีกหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนกิจกรรมของ BIG Trees Project คือ เน้นการทำงานแบบยืดหยุ่น เปิดกว้างให้ทุกคนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้
“เราไม่ได้ขอให้ประชาชนมาร่วมประชุมกับเรา อาจจะไม่ต้องมาร่วมทุกกิจกรรม แต่ช่วยเป็นหูเป็นตา เป็นตำรวจต้นไม้ เห็นว่าต้นไหนส่อแววจะโดนโค่น โดนตัด แค่แจ้งเข้ามา เดี๋ยวเราจัดการต่อให้ หรืออย่างการทำงานกับหน่วยงานรัฐ ก็ไม่ต้องใช้งบประมาณของรัฐ หรือใช้น้อยมาก พอมาทำงานร่วมกันทุกฝ่ายก็แฮปปี้” อรยาเสริม
สำหรับก้าวต่อไปของ BIG Trees Project ทั้งคู่วาดภาพไปถึงอนาคตที่ยั่งยืนกว่า ด้วยการเลือกต่อยอดจากเครือข่ายเล็กๆ ไปสู่ ‘มูลนิธิรักษ์ไม้ใหญ่’ เพื่อให้การประสานงานกับหน่วยงานรัฐง่ายขึ้น และสามารถมีโมเดลในการทำงานที่ยั่งยืน คล้ายๆ กับมูลนิธิสืบนาคะเสถียรที่มีภารกิจในการดูแลผืนป่า สำหรับมูลนิธิรักษ์ไม้ใหญ่ ก็หวังจะเป็นมูลนิธิเล็กๆ ที่ดูแลต้นไม้ใหญ่ในเมือง
สุดท้ายนี้ ถ้าถามว่า ต้นไม้ใหญ่สำคัญกับเมืองอย่างไร ?
หลายคนอาจจะตอบว่า เพราะช่วยให้ร่มเงา ให้ออกซิเจน และฟอกอากาศให้บริสุทธิ์
แต่จริงๆ แล้วต้นไม้ยังช่วยลดอุณหภูมิ ถ้าเปรียบเทียบในฤดูเดียวกัน ประเทศสิงคโปร์จะเย็นกว่าบ้านเรา 2-3 องศาเซลเซียส เพราะมีพื้นที่สีเขียวช่วยควบคุมอุณหภูมิ นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่ชี้ชัดว่า กลิ่นหอมระเหยจากน้ำมันของต้นไม้ ยังทำให้เรารู้สึกผ่อนคลาย ลดความเครียด และช่วยกระตุ้นภูมิต้านทานได้อีกด้วย
“ต้นไม้ในเมืองไม่ได้มีเพื่อความสวยงามหรือเพื่อประดับประดาเท่านั้น แต่เป็นเรื่องความอยู่รอด เพื่อที่จะไม่ให้สุขภาพทางกายและใจทรุดโทรมไปกว่านี้ ลองนึกภาพ ถ้าเราอยู่แต่ในตึกสูงๆ อยู่แต่ในห้อง ในออฟฟิศ ในที่ที่ติดแอร์ แล้วไม่ได้ออกมาข้างนอกเลย สภาพจิตใจนอกจากจะเครียด โดดเดี่ยวแล้ว จะเป็นคนที่ไม่สนใจใคร อยู่แต่กับตัวเอง เอาตัวเองเป็นที่ตั้งอย่างเดียว ดังนั้นการที่มีพื้นที่เปิดข้างนอก ทำให้คนที่อยู่ในเมืองได้ออกมาออกกำลังกาย พักผ่อนหย่อนใจแล้วก็ได้พบปะกัน แล้วก็มีปฏิสัมพันธ์” อรยาฉายภาพให้เห็นความจำเป็นของต้นไม้ในเมือง
อีกมุมที่น่าสนใจ คือ ขณะที่บางคนอาจจะตีค่าต้นไม้เป็นตัวเลขว่าเก็บไว้ไม่คุ้มเท่าขายที่ดินไปพัฒนาต่อ แต่สันติชวนให้คิดต่างว่า ถ้ามองต้นไม้เป็นสิ่งจำเป็น เหมือนน้ำ ไฟฟ้า หรืออากาศ ซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์ขาดไม่ได้ เมื่อนั้นก็ไม่จำเป็นต้องตีมูลค่าเป็นตัวเงิน เพราะสุดท้ายแล้ว หนทางที่จะสร้างความยั่งยืนได้อย่างแท้จริง คือ การหาทางออกร่วมกัน ระหว่างมนุษย์ ต้นไม้ใหญ่ และเมือง
“ธรรมชาติของต้นไม้ใหญ่ไม่ได้อยากอยู่ในเมือง ดังนั้นพอต้องมาอยู่ในเมือง ก็ต้องปรับตัวเยอะมาก ปัญหาหลักๆ ของต้นไม้ใหญ่ที่อยู่ใกล้สิ่งก่อสร้าง คือ เวลาอยากได้อาหารและน้ำเยอะ ก็จะพยายามแผ่รากออกไปเยอะๆ ซึ่งก็อาจจะไปสร้างปัญหาให้ระบบท่อน้ำ หรือกินพื้นที่ มนุษย์ก็เลยพยายามไปจำกัดพื้นที่รากของต้นไม้ หรือเวลาต้นไม้อยากได้แสง ก็จะเอนหนีจากตึก ทำให้ลำต้นเอียง เสี่ยงต่อการหักโค่น ซึ่งพอเป็นแบบนั้น มนุษย์ก็เลือกที่จะตัดต้นไม้ แทนที่จะหาวิธีอยู่ร่วมกัน เช่น ถ้ารู้สึกว่า ต้นไม้มีใบเยอะแล้วเป็นภาระก็อาจเลือกปลูกต้นที่มีใบน้อย หรือถ้ากลัวว่ากิ่งต้นไม้จะไปทำให้ไฟดับ แทนที่จะตัดต้นไม้ทิ้งหมด ก็อาจจะใช้วิธีตัดแต่งให้กิ่งหลบสายไฟ ทั้งหมดเป็นเรื่องของการปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกัน”
และทั้งหมดนี้คือมุมมองของสันติและอรยา สองผู้ร่วมก่อตั้ง BIG Trees Project ที่มีความหวังอยากจะเห็นเมืองที่โอบล้อมไปด้วยต้นไม้ใหญ่และพื้นที่สีเขียว
แม้วันนี้ ภาพเมืองในฝันอาจจะยังไม่สมบูรณ์แบบ ยังมีเหตุการณ์ตัดแต่งต้นไม้พลาดอยู่เรื่อยๆ แต่อย่างน้อยพวกเขาก็รู้สึกว่าชีวิตนี้ได้รับการเติมเต็ม และเชื่อว่าเชื้อไฟของความตั้งใจที่จะดูแลต้นไม้ให้ดีขึ้น ได้เกิดขึ้นแล้วในหลายๆ หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งในหัวใจคนไทยหลายๆ คน
คนเล็กเปลี่ยนโลก : โครงการของเพจยอดมนุษย์..คนธรรมดา ซึ่งนำเสนอเรื่องราวของ 30 บุคคลผู้สร้างสังคมที่ยั่งยืน และช่วยกันสร้างคุณค่าสำคัญที่จะช่วยพลิกฟื้นประเทศ ท่ามกลางวิกฤตโรคระบาด โดยได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
สันติ โอภาสปกรณ์กิจ และอรยา สูตะบุตร คือบุคคลต้นแบบประเด็นทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความทั่วถึง ปลอดภัย พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและยั่งยืน (SDGs ข้อที่ 11), ประเด็นดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบ (SDGs ข้อที่ 13) และประเด็นเสริมสร้างความแข็งแกร่งของกลไกการดำเนินงาน และฟื้นฟูหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs ข้อที่ 17)
อาจารย์แพทย์และนักวิจัย ผู้พยายามสร้างรากฐานความมั่นคงทางด้านสุขภาพแก่สังคมไทย ผ่านการสร้างวัคซีนรักษาโรค
ครูผู้สร้างโรงเรียนพอดี พอดี โรงเรียนเพื่อเด็กพิเศษ โดยได้แรงบันดาลใจมาจากวรรณกรรมเยาวชนโต๊ะโตะจัง
หนุ่มพังงาที่อยากพลิกฟื้นบ้านเกิดให้ดีขึ้นด้วยกีฬาโต้คลื่น จนนำมาสู่การผลักดัน Khaolak Surf Town และเทศกาลการเล่นเซิร์ฟระดับประเทศ
เจ้าของบาร์แจ๊ซ ผู้ริเริ่มโครงการต่างๆ ทั้งดนตรี สิ่งแวดล้อม สังคม เพื่อยกระดับเมืองเชียงใหม่ให้เป็นดินแดนที่ของทุกคนอย่างแท้จริง
จากกลุ่มรณรงค์ในโลกออนไลน์ที่คัดค้านการตัดต้านต้นไม้เก่าแก่เพื่อสร้างคอนโด สู่นักขับเคลื่อนที่ปลุกกระแสการรักษ์ไม้ใหญ่ในเมือง
เภสัชกรหญิง ผู้บุกเบิกยาสมุนไพรอภัยภูเบศร พร้อมฝันอันยิ่งใหญ่ที่อยากจะทำให้ปราจีนบุรีเป็นเมืองแห่งสมุนไพร
‘คนฝั่งธน’ รุ่นใหม่ ที่อยากขอทำหน้าที่เป็นสื่อกลาง คอยชักชวนผู้คนในพื้นที่ ให้มาร่วมกันบอกเล่าถึงเสน่ห์ของเมืองหลวงเก่าแห่งนี้
กลุ่มออนไลน์ที่เกิดจากการแบ่งปันความรู้เรื่องเมล็ดพันธุ์ ต่อยอดมาสู่การสร้างโรงเรียนปลูกป่าที่มีเป้าหมายอยากรักษาพันธุ์ไม้ดีๆ ให้อยู่คู่เมืองไทยตลอดไป
เครือข่ายที่ทำงานเรื่องการ ‘ตายดี’ เพื่อช่วยให้ผู้คนสามารถจากไปได้มีความสุข และลดความขัดแย้งแก่คนรอบใกล้ที่คอยดูแลด้วย
เครือข่ายอนุรักษ์ที่อยากส่งต่อเรื่องราว ความรู้เกี่ยวกับวาฬบรูด้า และผองเพื่อนในท้องทะเล เพื่อให้ทุกคนลุกขึ้นมาช่วยปกป้องทรัพยากรธรรมชาติใต้ผืนน้ำให้คงอยู่ตลอดไป
ตำนานศิลปินร็อก ผู้จุดกระแสเพลงเก็บตะวันให้ข้ามกาลเวลา รวมทั้งยังเป็นผู้สร้างยุคใหม่ให้แก่ RS สู่การเป็นเบอร์ 2 ของวงการเพลงไทยอย่างแท้จริง
คุณยายผู้เป็นสัญลักษณ์ของละครเมืองไทย ที่มีผลงานต่อเนื่องมากว่า 40 ปี ทั้ง คู่กรรม สายโลหิต บุพเพสันนิวาส
COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO. ALL RIGHTS RESERVED.