หากพูดถึงเกมกีฬาที่สนุก รุนแรง เร้าใจ และมีแฟนคลับเหนียวที่สุดของโลก รับรองว่า ศึกคนชนคน อเมริกันฟุตบอล น่าจะต้องติดอันดับต้นๆ ของตารางแน่นอน
แต่ถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 40 ปีก่อน เชื่อเหลือเกินว่า มีคนไทยน้อยมากที่รู้จักกีฬาชนิดนี้ เพราะไม่ใช่กีฬาที่คนคุ้นเคยและเล่นประจำเหมือนมวย หรือฟุตบอล
ด้วยการพากย์ที่ไม่ธรรมดา ทั้งน้ำเสียง ลีลา แถมยังสอดแทรกความรู้เรื่องกฎ กติกา ทำให้ผู้ชม เพลิดเพลิน และเข้าใจถึงรูปแบบและความสนุกของอเมริกันเกมชนิดนี้อย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นหนึ่งในกีฬายอดฮิตมาถึงปัจจุบัน
ไม่ใช่เพียงอเมริกันฟุตบอลเท่านั้น เขาผู้นี้ยังชักนำกีฬาใหม่ๆ มาให้คนไทยรู้จัก ทั้งมวยปล้ำยุคใหม่ หรือบาสเกตบอล NBA
เพื่อรำลึกถึงตำนานนักพากย์คนสำคัญของเมืองไทย ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ขอพาทุกคนไปทบทวนเรื่องราวชีวิตของเขาผู้นี้
เดอะเปี๊ยก-ศุภพร มาพึ่งพงศ์
ในสมัยก่อนที่วงการทีวียังไม่คึกคักแบบวันนี้ การจะหารายการเด็ดๆ มาลงผังไม่ใช่เรื่องง่ายเลย โดยเฉพาะช่วงบ่ายวันธรรมดา ซึ่งถือว่าเป็นเวลาเน่าที่ไม่ทำเงิน
วิธีการหนึ่งที่เจ้าของสถานีชอบใช้กัน คือการกวาดต้อนลิขสิทธิ์รายการจากเมืองนอก ซึ่งก็มีทั้งหนัง การ์ตูน รวมถึงกีฬา ทำให้ยุคนั้นมีกีฬาแปลกๆ มาให้ชมกันเพียบ
แต่ถึงจะมีรายการพร้อมออกอากาศ แต่ปัญหาคือ การจะหานักพากย์ฝีมือดีไม่ใช่เรื่องง่ายเลย โดยเฉพาะกีฬาใหม่ๆ ซึ่งน้อยคนนักจะเข้าใจเรื่องกฎ กติกา
อย่างไทยทีวีสีช่อง 3 เอง ตอนนั้นก็ไปได้ลิขสิทธิ์ รายการอเมริกันฟุตบอล NFL มาเมื่อปี 2522 แล้วมาเปิดรายการใหม่ที่ชื่อ ‘เกมตะลุมบอน’
นั่นเองที่กลายเป็นจุดเปลี่ยนชีวิตของหนุ่มนักเรียนนอกผู้นี้
เดิมทีก่อนเข้าสู่วงการกีฬา ศุภพรทำงานมาแล้วหลายอย่าง ตั้งแต่รับราชการทหาร จากนั้นก็มาอยู่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย แล้วก็มีเพื่อนมาชวนตั้งบริษัทท่องเที่ยวด้วยกัน
กระทั่งวันหนึ่งเขาเห็นรายการนี้ ซึ่งเป็นกีฬาที่ติดตามเป็นประจำตั้งแต่สมัยเรียนที่สหรัฐอเมริกา ก็เลยรีบโทรศัพท์ไปสถานีเพื่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
“ตอนนั้นผมถามเขาว่า ฟุตบอลอะไร อาชีพหรือเปล่า ได้มาทั้งฤดูกาลแข่งขันหรือเปล่า ผมชอบ จะได้ติดตามดู ผมอยู่อเมริกามานาน กลับมาตั้ง 5-6 ปีแล้วอยากดู แต่เขาบอกว่ายังมีปัญหาอยู่เรื่องคนพากย์นี่แล้วล่ะ แล้วก็ถามผมว่ารู้เรื่องไหม ผมก็ว่ารู้เรื่องสิ อยู่ที่โน่นผมติดตามตลอด แล้วยังไงล่ะ พอจะมีเวลามาคุยด้วยไหม ได้สิ ผมจะเอาข้อมูลไปให้ที่หนองแขม”
วันนั้นเองที่เขาได้พบกับ 2 ผู้บริหาร คือ ประวิทย์ และประชา มาลีนนท์ จากนั้นทั้งคู่ก็แนะนำให้ศุภพรรู้จักกับนักพากย์หลัก อย่างอาจารย์ชัยณรงค์ มนเทียรวิเชียรฉาย ซึ่งเวลานั้นยังไม่ได้ทำรายการ I.Q. 180 พอไปถึงอาจารย์ชัยณรงค์ก็บอกให้เขาทดลองพากย์
แต่ศุภพรไม่มั่นใจว่า จะทำได้หรือไม่ ก็เลยรีบปฏิเสธไปก่อน ทว่าด้วยแรงคะยั้นคะยอของอาจารย์ชัยณรงค์ เขาจึงตัดสินใจว่า ลองดูก็ได้เพราะมีอะไรเสียอยู่แล้ว
“สมัยผมเป็นประธานนักเรียนที่เซนต์คาเบรียล เคยพูดต่อหน้าคนมาบ้าง แต่จะให้มาทำกับโทรทัศน์คงไม่ได้ อาจารย์ก็บอกว่าได้สิ คุณนั่งดูไปกับผมอย่างนี้ แล้วเห็นที่ทำให้อยากพูด พูดเลย นั่นคือ Exactly ทำเลย นั่งดูไป อาจารย์ท่านไม่มีพื้นความรู้ทางนี้ เพราะมาจากอังกฤษ แต่ท่านเก่งนะ ผมเห็นอะไรอยากสอดใส่เข้าไป ก็พูด พูดแล้วแรกๆ มีสะดุดบ้าง อาจารย์ก็เข้ามาประครองให้จนจบด้วยดี”
ศุภพรพากย์คู่กับอาจารย์ชัยณรงค์ได้ 2 เทป อาจารย์ก็มีเหตุต้องเดินทางไปเมืองนอก 2 เดือน ก่อนไปอาจารย์ก็บอกว่า ‘คุณทำได้ ผมไปล่ะ’ จากนั้นอาจารย์ก็ไม่กลับมาพากย์อีกเลย บอกแค่ว่า ‘คุณศุภพรทำได้แล้ว ผมมีงานยุ่งเลย ทำไปเถอะ ปรึกษาช่อง 3 ดู’ นับแต่นั้นศุภพรก็เลยกลายเป็นนักพากย์หลักประจำอเมริกันฟุตบอลเรื่อยมา
เมื่อเริ่มพากย์ไปเรื่อยๆ ก็เริ่มสนุก เขาก็เลยตัดสินใจเลิกทำธุรกิจทัวร์ และหันมาทำงานพากย์จริงจัง ซึ่งสิ่งแรกนึกถึงคือ ต้องทำให้กีฬานี้บูมขึ้นมาก่อน
“ผมมาคิดดูว่า อเมริกันฟุตบอลนี่ไม่ดังเลย บางกอกโพสต์ก็ไม่ลงผลการแข่งขัน หนังสือพิมพ์อะไรก็ไม่มีผลให้เลย ผมคิดว่าขืนเป็นอย่างนี้ต่อไปสักพัก เกมนี้คงดับสูญไป ก็ปรับปรุงการบรรยายให้ข้อมูลเพิ่มเติม ลองทำแฟนคลับขึ้นมา”
เทคนิคของการพากย์แบบศุภพร คือ เน้นอธิบาย กฎ กติกา เทคนิค เพราะถือเป็นกีฬาที่ความซับซ้อนพอสมควร ถ้าไม่ทราบรายละเอียดมาก่อน อาจดูไม่รู้เรื่อง
ขณะเดียวกัน ศุภพรก็มีจุดเด่นตรงที่น้ำเสียงอันนุ่มลึก ชวนฟัง ไม่พยายามชี้แนะอะไรมากเกิน มีลูกล่อลูกชนเต็มไปหมด อย่างช่วงแรกๆ ที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้จะเชียร์ทีมอะไร เขาก็บอกไปเลยว่า ‘ชอบใจโลโก้และสีบนหมวกของทีมไหน ก็เชียร์ทีมนั้นเลย’ แถมยังมีข้อมูลที่น่าสนใจมาประกอบอีกเพียบ ทั้งฟอร์มการเล่นของแต่ละทีม นักกีฬาเด่นๆ หรือแม้แต่ประวัติศาสตร์ของเมืองที่เกี่ยวข้องกับทีมต่างๆ ไม่แปลกเลยที่แฟนกีฬาในยุคนั้นจึงติดเสียงศุภพรกันงอมแงม
นอกจากนี้เขายังจัดตั้งชมรมอเมริกันฟุตบอลในไทย มีการพบปะและเล่นอเมริกันฟุตบอลแบบไม่มีการปะทะกัน เรียกว่า Flag football คือมีธงหรือผ้าเช็ดหน้าเหน็บไว้ที่เอวด้านหลัง ผู้เล่นทีมรับต้องดึงผ้าผืนนี้ออกจากเอวผู้ถือลูกทีมบุกแทนการแท็กเกิล
ตลอดจนออกนิตยสาร ‘อเมริกันฟุตบอล’ รวบรวมข่าวสารมานำเสนอสมาชิกที่มีอยู่ร่วมพันคน รวมถึงทำหนังสือชื่อ ‘โปรอเมริกันฟุตบอล’ เป็นคู่มือของคนอยากดูอเมริกันฟุตบอล เพราะเล่าทั้งประวัติศาสตร์ กฎกติกา ข้อมูลประจำของแต่ละทีม จนฐานผู้ชมขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
“ตอนนั้นก็หาข้อมูลจากสำนักข่าวสารอเมริกัน มีเพื่อนรุ่นพี่ชื่อคุณเทศภักดิ์ นิยมเหตุ ทำงานอยู่ที่นั่น แกอ่านหนังสือ Star Stripe อ่านจบแล้ว ผมก็ขอแกมาเก็บข้อมูล ขณะเดียวกัน ญาติพี่น้องผมที่อเมริกาก็ส่งข้อมูลมา จนเป็นข้อมูลแจกสมาชิกได้นั่นแหละ”
จากกลยุทธ์ต่างๆ ที่ศุภพรหยิบขึ้นมาใช้ ทำให้ความนิยมอเมริกันฟุตบอล NFL ถึงขีดสุด ถึงขั้นช่อง 7 ต้องไปซื้ออีกลิขสิทธิ์ ลีกรองอย่าง USFL มาฉายแข่ง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก เพราะปราศจากตัวชูโรงอย่าง เดอะเปี๊ยก
กระทั่งปี 2525 ชาติเชื้อ กรรณสูต บอสใหญ่ช่อง 7 สี เสนอตำแหน่งบรรณาธิการข่าวกีฬาและต่างประเทศให้ศุภพร ซึ่งเขาก็ตอบรับ เนื่องจากตอนนั้นช่อง 3 ไม่ได้มีแผนที่จะพัฒนาข่าวกีฬาอย่างจริงจัง โดยหลังจากนั้นช่อง 7 ก็ทุ่มเต็มที่ ด้วยการคว้าลิขสิทธิ์ NFL มาครอง รวมถึงศึก Super Bowl จนกระแสอเมริกันฟุตบอลยิ่งบูมขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ศึกจอแก้วของอเมริกันฟุตบอลยังคงดำเนินอย่างต่อเนื่อง เกิดการแย่งชิงลิขสิทธิ์กันบ่อยครั้ง จากช่อง 7 มาเป็น IBC ก่อนวกกลับมายังช่อง 3 อีกครั้ง หากสิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนคือ ศุภพร ที่เปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของรายการนี้
อย่างไรก็ตาม เขาก็พยายามสร้างทายาทมารับช่วงต่อ เช่น พรพรหม จุลกทัพพะ, สุเมธ รัตนเพ็ญชาติ จนมีแฟนคลับติดตามไม่น้อย ส่วนศุภพรจึงค่อยๆ วางมือไปในที่สุด
นอกจากจุดกระแสอเมริกันฟุตบอลในบ้านเรา ศุภพรยังเป็นคนแรกๆ ที่แนะนำกีฬาหลากหลายชนิดให้คนไทยได้รู้จัก ทั้ง กอล์ฟ เทนนิส บาสเกตบอล หรือแม้แต่มวยปล้ำทั้งฝั่งญี่ปุ่นและอเมริกา
จากข้อมูลของ Romancini ในเว็บไซต์ Pantip เล่าว่า คนไทยได้ชมบาสเกตบอล NBA ครั้งแรก เมื่อปี 2523 โดยศุภพรแนะนำให้ช่อง 3 นำเทปบันทึกภาพมาฉายระหว่างรอฤดูกาลใหม่ของ NFL ซึ่งพอเริ่มฉายก็เริ่มมีแฟนคลับติดตามมากขึ้น ทีมต่างๆ อย่าง LA. Lakers, ฺBoston Celtics, Philadelphia 76ers กลายเป็นขวัญใจของคอกีฬาอย่างรวดเร็ว
ต่อมาเมื่อย้ายมาพากย์ที่ช่อง 7 เขาก็นำมวยปล้ำหญิงจากญี่ปุ่นเข้ามาฉาย หลังจากที่ อาจารย์เจือ จักษุรักษ์ เคยบุกเบิกพามวยปล้ำเข้ามาตั้งแต่ยุคช่อง 5 ยังเป็นฉายแบบขาวดำ ก่อนจะหายไปจากหน้าจอเป็นสิบๆ ปี
นักมวยปล้ำที่เป็นไฮไลต์ ในช่วงที่ศุภพรพากย์ คือ Dump Matsumoto นักมวยปล้ำหญิงร่างใหญ่ ซึ่งมีท่าไม้ตายอย่าง ‘ซูเปอร์ซูเพล็กซ์’ ด้วยการทิ้งตัวใส่คู่ต่อสู้เหมือนกับรถดัมป์ ว่ากันว่าในยุคนั้น รายการมวยปล้ำโด่งดังถึงขั้นสถานีคู่แข่งต้องสั่งซื้อมาฉายบ้าง
พอถึงยุคโฮมวิดีโอครองเมือง เขาก็เป็นกำลังสำคัญของวิดีโอสแควร์ ปลุกกระแสมวยปล้ำจนฮิตถล่มทลาย ด้วยลีลาการพากย์ที่เป็นเอกลักษณ์ ข้อมูลแน่นปึ๊ก กระทั่งผู้ชมติดอกติดใจ
ที่สำคัญ เขายังมีส่วนสร้างนักพากย์มวยปล้ำฝีมือดีอีกหลายคน หนึ่งในนั้นก็คือ น้าติง-สุวัฒน์ กลิ่นเกษร อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งแต่ก่อนเคยพากย์มวยปล้ำหญิงและกีฬาอื่นๆ ที่ช่อง 3 แต่ยังไม่ได้โด่งดังเท่าใดนัก
“ตอนนั้นมีบริษัทชื่อวิดีโอเวิลด์ซื้อมวยปล้ำมาชุดหนึ่งเป็นของ AWA มาติดต่อให้พี่ศุภพรไปพากย์ แต่ตามมารยาทแกไปไม่ได้เนื่องจากพากย์ให้วิดีโอสแควร์อยู่ วันหนึ่งแกโทรศัพท์มาหา ตอนนั้นเรารู้จักเขาเพราะเขาดัง แต่เขาไม่รู้จักเราหรอก รู้แค่พากย์ให้ช่อง 3 แกก็ชวนให้ไปพากย์ที่วิดีโอเวิลด์ เราตกลงทันที พากย์ไปได้ยี่สิบกว่าม้วน บริษัทเลิก ..
“ต่อมาพี่ศุภพรมีปัญหากับวิดีโอสแควร์ เลยแยกทีมมาเปิดบริษัททำมวยปล้ำแข่งชื่อไอทีวี ห้องอยู่ติดกันเลย พอทีวีสแควร์ไม่มีพี่ศุภพร ความนิยมจึงลดลงเรื่อยๆ เท่านั้นไม่พอพี่ศุภพรติดต่อหาน้าติงชวนมานั่งพากย์คู่กัน เราเลยเป็นที่รู้จักมากขึ้น” น้าติงกล่าวถึงผู้เป็นเสมือนครูแห่งวงการนักพากย์
และนี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของอเมริกันเกมส์ที่โด่งดังในเมืองไทย ซึ่งมีชายที่ชื่อ ‘ศุภพร’ อยู่เบื้องหลัง
หากถามว่าเทคนิคอะไรที่ทำให้ศุภพรประสบความสำเร็จ
ส่วนสำคัญก็คือการที่เขาไม่ได้เน้นอธิบายว่าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นบนจอเท่านั้น แต่ยังพยายามทำให้ทุกคนเข้าใจและซึมซับเกมกีฬาไปพร้อมกัน เพราะฉะนั้น ข้อมูลจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ศุภพรต้องเตรียมไปให้มากที่สุด
“อย่างตอนที่พากย์อเมริกันฟุตบอล แล้วมันเกิดฮิตขึ้นมา ผมพยายามถามตัวเองว่าที่คนชอบ เป็นเพราะผมบรรยายดี หรือว่าชอบเพราะผมรู้เรื่องอเมริกันฟุตบอลแล้วทำให้เขาเข้าใจได้ มันก็เป็นสิ่งที่ท้าทาย การเป็นผู้บรรยายก็เหมือนกับพิธีกร จะเอาแขกรับเชิญที่ไหนมา เราก็ต้องดำเนินรายการได้ เพราะฉะนั้นคุณจะเอากีฬาอะไรมา ผมก็ต้องพากย์ได้ แต่ไม่ใช่ผมต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องพวกนั้น
“สมมติให้ผมบรรยายสนุกเกอร์ ผมไม่จำเป็นต้องเป็นเซียนหรอก แต่เราต้องรู้บทบาทของเรา ต้องทำอย่างไร ต้องรู้เกมสนุกเกอร์ ต้องรู้ประวัติบุคคลว่า การเล่นแบ่งเป็นอย่างไร แบ่งสไตล์หลัก สไตล์ปลีกย่อย เหมือนเทนนิสมีเสิร์ฟวอลเลย์ ท้ายคอร์ด กรานด์สโตรก”
ที่สำคัญการพากย์ต้องไม่พยายามชี้แนะมากเกินไป ศุภพรย้ำเสมอว่า นักพากย์ไม่ใช่เทวดา ไม่ได้รู้ไปหมดทุกอย่าง บางคนพากย์ด้วยความไม่รู้ทำให้กลายเป็นความผิดพลาด ดังนั้นเขาจะพยายามฟังเสียงบรรยายจากต่างประเทศเป็นหลัก ซึ่งมีข้อเด่นตรงตรงเรื่องข้อมูล การวิเคราะห์เกม ซึ่งสามารถมาผสมผสานกับการพากย์ของตัวเองให้น่าสนใจขึ้น
“เราจะฟังภาษาอังกฤษแล้วเราก็พูดมาเป็นไทย แต่ข้อมูลดิบ คือข้อมูลที่เราได้มาจากการค้นคว้านั่นอีกเรื่องหนึ่ง พอเข้าเกม ข้อมูลพื้นฐานข้อมูลดิบเราก็โปรยออกไปก่อน การบรรยายกีฬาไม่ใช่การยัดเยียดข้อมูลให้ผู้ชม เราต้องรู้ว่าคนดูเขาสนุกตรงไหน เขาอยากได้ อยากรู้อะไรบ้าง”
ที่สำคัญ การบรรยายให้ได้อรรถรส ผู้พากย์ต้องสนุกกับเกมให้ได้ก่อน ถึงจะทำให้ผู้ชมสนุกได้ด้วย ส่วนเรื่องจังหวะการพูดอย่างไรให้น่าฟัง อาจต้องใช้เวลาประสบการณ์ ค่อยๆ เรียนรู้ และพยายามหาสไตล์ของเอง ซึ่งนั่นจะทำให้การบรรยายโดดเด่นและเป็นที่จดจำ
“เราต้องทำตัวเป็นคนดูทางบ้านว่า พอดูตรงนี้เราเกิดคำถาม อยากรู้ตรงนี้ขึ้นมา คนบรรยายเขาให้เลยตรงนั้น นั่นคือความเหมาะสม บางทีเรามีข้อมูลเยอะ เตรียมไว้แล้วไม่ได้พูดหรอก มันไม่มีจังหวะ ใส่เข้าไปก็ไม่มีประโยชน์อะไร”
อย่างไรก็ตาม มีบ่อยครั้งที่อะไรๆ ก็ไม่พร้อม ผู้พากย์ก็ต้องมีปฏิภาณไหวพริบ และพยายามใช้ของเก่าที่มีอยู่ในหัวให้มากที่สุด แต่ถ้ามีข้อมูลน้อยจริงๆ เขาจะเน้นพูดกว้างๆ ไม่เฉพาะเจาะจง เน้นเรื่องแอกชั่น เรื่องความตื่นเต้นเป็นหลัก และอีกเรื่องที่เขายึดเสมอคือ เลี่ยงการพนัน และเลี่ยงการเมือง เพื่อจะได้ไม่เกิดปัญหาภายหลัง
ตลอดหลายสิบปีที่อยู่ในวงการพากย์ ศุภพรบอกว่า การเป็นผู้บรรยายกีฬาไม่มีสูตรสำเร็จที่แน่นอน ดังนั้นจึงไม่สามารถระบุชัดเจนว่าอะไรคือความถูกต้อง ขึ้นอยู่การยอมรับมากกว่า ซึ่งที่ผ่านมา เขาอาจโชคดี เพราะเริ่มต้นจากกีฬาที่ไม่มีใครรู้จัก แต่ในทางกลับกัน หากเขาเริ่มบรรยายกีฬา อย่างมวย หรือฟุตบอล ก็คงถูกถล่มเละ และอาจต้องใช้เวลาอีกนานในการพิสูจน์ตัว
แต่ทั้งหมดไม่มีอะไรสำคัญไปกว่า ความพยายาม ความตั้งใจ และพร้อมให้สิ่งที่ดีที่สุดแก่ผู้ชม
การเป็นผู้บรรยายก็เหมือนกับพิธีกร จะเอาแขกรับเชิญที่ไหนมา เราก็ต้องดำเนินรายการได้ เพราะฉะนั้นคุณจะเอากีฬาอะไรมา ผมก็ต้องพากย์ได้
หลังทำงานอยู่ที่ช่อง 7 สี ราว 1 ปี 3 เดือน เส้นทางชีวิตของศุภพรก็เปลี่ยนไปอีกครั้ง เมื่อได้รับคำชวน สันติ ภิรมย์ภักดี แห่งบุญรอด บริวเวอรี่ เพื่อนร่วมชั้นที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล ให้มาช่วยผลักดัน CSR เกี่ยวกับกีฬาให้เบียร์สิงห์
ศุภพรเห็นเป็นเรื่องดี เพราะรู้สึกอิ่มตัวกับงานข่าวแล้ว เนื่องจากธุรกิจโทรทัศน์สมัยนั้นค่อนข้างปรับตัวช้า โอกาสที่จะได้ทำข่าวเชิงลึกหรือทำอะไรใหม่ๆ อย่างที่ตั้งใจไว้เป็นเรื่องยากมาก จึงตอบตกลง โดยมีข้อแม้ว่า เขายังสามารถรับงานพากย์กีฬาได้เหมือนเดิม
“สมัยผมเรียนหนังสือ ผมเห็นระบบที่อเมริกาเขาสนับสนุนคนให้เล่นกีฬา ผมเคยไปเป็นครูฝึกสอนช่วงปิดภาคฤดูร้อน สอนเด็กนักเรียน สอนฟุตบอล คืออยู่ที่นั่นหากผมอยากเรียนเทนนิสก็ได้เรียน อยากเรียนกอล์ฟก็ได้เรียน ส่วนคนไทยมันถูกจำกัดเฉพาะเด็กที่มีโอกาสหรือมีฐานะเท่านั้น ผมเลยตั้งปณิธานในใจว่า สักวันหนึ่ง เมื่อผมมีโอกาส ผมจะให้คนไทยได้สัมผัสสิ่งที่ผมเคยสัมผัสมาบ้าง”
หน้าที่หลักของศุภพรคือใช้งบประมาณซึ่งสันติอนุมัติให้ไปสนับสนุนนักกีฬาต่างๆ ทั้งเทนนิส กอล์ฟ กรีฑา ฟุตบอลเยาวชน วินด์เซิร์ฟ เรือใบ ธนู แบดมินตัน ทำโครงการสู่โอลิมปิก และกิจกรรมจิปาถะอีกต่างๆ มากมาย เพื่อให้วงการกีฬาในเมืองไทยแข็งแรง
กระทั่งมาช่วงหลัง ศุภพรก็ตัดสินใจถอยหลังจากวงการนักพากย์ และปล่อยให้เป็นเรื่องของคนรุ่นใหม่เต็มตัว พร้อมก่อตั้งบริษัท สปอร์ต แมเนจเม้นท์ กรุ๊ป จำกัด เพื่อทำงานด้านส่งเสริมกีฬาเต็มตัว ภายใต้การสนับสนุนของเครือบุญรอดฯ เช่นเดิม โดยมีผลงานอย่าง การเป็นแกนหลักในการจัดตั้งเอเชียนทัวร์ ทัวร์กอล์ฟในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีส่วนอย่างยิ่งให้วงการกอล์ฟในเมืองไทยเจริญเติบโต และกลายเป็นหนึ่งในกีฬายอดนิยมที่สร้างชื่อเสียงแก่ประเทศ
ศุภพรจากไปเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2550 ด้วยวัย 61 ปี แม้จะมีภารกิจอีกมากมายที่ยังทำคั่งค้างอยู่ โดยเฉพาะการผลักดันนักกอล์ฟมืออาชีพของไทยไปสู่ระดับสากล หากแต่สิ่งที่เขาได้วางรากฐานเอาไว้ ทั้งงานพากย์ และงานกีฬา ก็กลายเป็นเครื่องยืนยันถึงความสำเร็จที่จะอยู่ในใจของผู้คนอีกนานแสนนาน
นักพากย์ฟุตบอล ผู้เปิดโลกให้คนไทยเข้าใจและอินกับฟุตบอลอังกฤษ และซึมเข้ากระแสเลือดมาจนทุกวันนี้
นอกจากบทบาทนักพากษ์ เอกชัย นพจินดา หรือ ย.โย่ง ยังเป็นเจ้าของคอลัมน์ยอดฮิตในนิตสารสตาร์ซ็อกเกอร์
เสียงแห่งความทรงจำของนักพากย์การ์ตูนเบอร์ 1 ของเมืองไทย
สัมผัสเรื่องราวของอาจารย์นักพากย์ ผู้ทำให้มวยปล้ำบูมในเมืองไทย
นักพากย์ ผู้เปิดประตูให้รู้จัก NFL และเป็นต้นแบบของผู้บรรยายอีกมากมาย
สุดยอดนักพากย์ฟุตบอลและผู้ประกาศข่าวกีฬาแห่งเรื่องเล่าเช้านี้ที่ครองใจผู้ชมผู้ฟังมานานกว่า 3 ทศวรรษ
โลกดนตรี ตำนานรายการคอนเสิร์ตกลางแจ้ง ที่ศิลปินยุค 1970-2000 อยากขึ้นแสดงมากที่สุด เพราะใครที่มีโอกาสได้ขึ้นเวทีนี้ แสดงว่าดังแล้ว
ห้องทดลองกฎหมายของ รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร ที่ทำงานเรื่องการพิสูจน์สิทธิเรื่องสัญชาติ เพื่อให้ทุกคนได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม
เครือข่ายคนรุ่นใหม่ที่อยากรักษาเสน่ห์ของพื้นที่อารีย์ พร้อมกับรักษาชุมชนที่ยั่งยืนด้วยการใช้กุศโลบายที่ดึงดูดให้คนทุกมีส่วนร่วม
นักออกแบบแดนปัตตานีที่รวมกลุ่มกันจัดกิจกรรม เพื่อเปลี่ยนภาพจำๆ เดิมของชายแดนใต้ ไปสู่กลายเป็นเมืองสร้างสรรค์
จากครูอาสาที่มาสอนดนตรีในชุมชนคลองเตย สู่การต่อยอด เพื่อสร้างโอกาสให้เด็กๆ ได้มีพื้นที่ที่จะเติบโตอย่างงดงาม
แรงบันดาลใจของพระอีสานผู้ไม่มีโอกาสได้เรียนต่อ สู่การสร้างโอกาสทางการศึกษาด้วยพลังงานแสงอาทิตย์
COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO. ALL RIGHTS RESERVED.