แม้อายุจะล่วงมาถึง 67 ปี แต่ ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้ก่อตั้งศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ไม่เคยหยุดทำงาน
เขากับทีมงานยังคงทุ่มเทแรงกายแรงใจ ผลิตวัคซีน ChulaCov19 mRNA อย่างเต็มกำลัง เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตลอดจนเป็นหลักประกันของระบบสาธารณสุขไทยในอนาคต ลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะเมื่อทุกคนต่างมองว่า เชื้อไวรัสนี้คงจะอยู่คู่โลกไปอีกนานแสนนาน
ที่สำคัญทำให้ประเทศไทยมีความพร้อมและความสามารถในการคิดค้นพัฒนา และผลิตวัคซีนเพื่อต่อสู้และควบคุมโรคระบาดร้ายแรงที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคต นอกจากเพื่อประเทศไทยเองแล้วยังเพื่อให้ประเทศยากจนอื่นๆ มีโอกาสเข้าถึงวัคซีนชนิด mRNA ได้เร็วขึ้น นับเป็นบทบาทหนึ่งของประเทศไทยในการร่วมช่วยกันควบคุมโรคระบาด
ตลอดระยะเวลาเกือบ 40 ปี อาจารย์เกียรติคือนักวิจัยคนสำคัญที่มีผลงานต่อเนื่อง ทั้งวิทยาศาสตร์พื้นฐาน วัคซีน โรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน
ผลงานที่เขาและคณะช่วยกันสร้างขึ้นหลายอย่างได้เปลี่ยนชีวิตของผู้ป่วยจากหน้ามือเป็นหลังมือ
หนึ่งในนั้นคือ การวิจัยเรื่องโรคเอดส์ ภายใต้การนำของ ศ.นพ.ประพันธ์ ภานุภาค และ คุณหมอและทีมงาน ไม่ว่าจะเป็น ศูนย์ HIV-NAT และศูนย์วิจัยโรคเอดส์ บุคลากรในกระทรวงสาธารณสุข และคณาจารย์ในสมาคมโรคเอดส์แห่งประเทศไทย ซึ่งทำงานเรื่องนี้มาตั้งแต่ยุคที่สังคมยังปราศจากความเข้าใจ และมักตีตราผู้ติดเชื้อว่าเป็นบุคคลที่น่ารังเกียจ จนถึงวันที่ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ
และแม้หลายครั้งที่ผลลัพธ์ของงานวิจัยจะออกมาไม่ตรงกับที่คาดหวังไว้ แต่อาจารย์ก็ไม่เคยท้อ ยังคงมุ่งมั่นทำงานอย่างต่อเนื่อง เพราะตระหนักดีว่า นี่คือภารกิจสำคัญเพื่อช่วยชีวิตคนทั่วโลก
ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ร่วมกับ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ขอพาทุกคนไปพูดคุยกับครูแพทย์ นักวิจัย นักบุกเบิก 1 ใน 30 บุคคลในโครงการคนเล็กเปลี่ยนโลก ผู้มีความฝันจะยกระดับสังคมไทยไปสู่ความยั่งยืนทางสุขภาพอย่างแท้จริง
อาจารย์เกียรติเกิดและเติบโตมาจากครอบครัวคนจีนที่อพยพเข้ามาอยู่ในแผ่นดินไทย โดยมีแม่เป็นผู้เลี้ยงดูเพียงลำพัง
เดิมทีแม่ของเขาทำงานเป็นแม่บ้านของครอบครัวเศรษฐีในภูเก็ต แต่ถึงจะมีฐานะยากลำบาก ผู้เป็นแม่ก็มองว่า ไม่มีอะไรสำคัญเท่าการศึกษา จึงส่งลูกชายคนเดียวเข้าเรียนที่ภูเก็ตไทยหัว โรงเรียนเอกชนแถวหน้าของจังหวัด
“ที่โรงเรียนจีน ค่าใช้จ่ายแพงกว่าโรงเรียนทั่วไป ตอนแรกผมก็เรียนไม่เก่งหรอก แต่คุณแม่ก็ยังปันเงินบางส่วนส่งผมเรียนพิเศษภาษาจีน ซึ่งผมยิ่งซึ้งใจในสิ่งที่คุณแม่ทุ่มเทให้จริงๆ พอขึ้น ป.7 จู่ๆ ผมก็เก่งขึ้นมาเอง ทั้งหลักสูตรจีน ไทย ติดเบอร์หนึ่งเบอร์สองอยู่เรื่อยๆ โรงเรียนก็มีรางวัลเป็นตำรา ประหยัดเงินไปเยอะ พอเรียนจบ ผมก็ยังต่อโรงเรียนจีน กระทั่งขึ้น ม.ปลายจึงย้ายมาที่โรงเรียนภูเก็ตวิทยาลัย”
คงเพราะได้เห็นแม่ทำงานหนักเพื่อให้ลูกได้เรียนมาตลอด ส่งผลให้ชีวิตวัยเยาว์ของอาจารย์เกียรติมุ่งมั่นในเรื่องการศึกษาเป็นหลัก โดยกิจกรรมหนึ่งซึ่งชอบมากเป็นพิเศษคือ การติวหนังสือให้เพื่อน
พอเรียนจบสอบเข้ามหาวิทยาลัย เขาก็ตัดสินใจเลือกเป็นหมอ ส่วนหนึ่งเพราะค่านิยมของสังคมที่มองว่า คนเก่งจะต้องเรียนหมอ อีกส่วนก็มาจากความเชื่อว่า แพทย์เป็นอาชีพที่ดี ได้ช่วยชีวิตคน
ครั้งนั้นเขาเลือกคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่เพราะไม่อยากรบกวนแม่ เนื่องจากที่ผ่านมาแทบไม่มีเงินเก็บเหลือเลย จึงขอทุนการศึกษา โชคดีที่อาจารย์ที่ปรึกษาและผู้ใหญ่ที่เคารพเหมือนญาติเมตตาช่วยเจรจากับบริษัทเหมืองแร่งานทวี ซึ่งมีกองทุนช่วยเหลือนักศึกษาที่ยากจน จึงมีเงินพอไปเรียนต่อ
แม้จะไม่รู้ว่าชอบอาชีพนี้หรือเปล่า แต่พอเรียนไปเรื่อยๆ เขาก็พบว่า การเรียนแพทย์นั้นเต็มไปด้วยความสนุก เพราะไม่ได้เรียนจากตำราเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีโอกาสได้ดูแลและช่วยรักษาคนไข้ อีกทั้งการได้เห็นบรรดาครูแพทย์สามารถวินิจฉัยโรคได้โดยแทบไม่ต้องใช้เครื่องมือใดๆ นับเป็นเรื่องน่าทึ่งมาก
ที่สำคัญคือ ถึงจะเรียนปริญญาตรีแล้ว เขาก็ยังคงชอบสอน ชอบติวให้เพื่อนเหมือนเดิม นั่นเองที่กลายเป็นแรงบันดาลใจว่า หลังเรียนจบก็จะกลับมาเป็นครูแพทย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
แต่ชีวิตคนเรามักไม่ได้เป็นไปตามแผนเสมอไป เพราะหลังเรียนต่อแพทย์เฉพาะทางด้านอายุรศาสตร์ และกำลังจะได้เป็นอาจารย์เต็มตัว เขาเห็นว่า ที่ผ่านมายังไม่มีโอกาสได้ทดแทนบุญคุณแม่ ซึ่งย้ายมาอยู่ด้วยกันที่เชียงใหม่ อีกทั้งเงินเดือนอาจารย์สมัยนั้นก็น้อยนิด จึงหันมาทำงานโรงพยาบาลเอกชนแทน แล้ววันหนึ่งก็จะกลับมาทำงานที่ตั้งใจไว้
“ตอนนั้นอยู่ที่โรงพยาบาลเอกชนได้ 2-3 ปี แล้วก็ทำคลินิกส่วนตัวด้วย ก็ถือว่าตั้งตัวได้แล้ว ครอบครัวสบายแล้ว ก็จะกลับมาเรียนแพทย์ต่อยอดเฉพาะทาง ตอนแรกก็อยากจะเรียนด้านสมอง แต่เผอิญผมไปเจออาจารย์ท่านหนึ่งจากจุฬาฯ มาบรรยายที่เชียงใหม่ คือ ศ.นพ.ประพันธ์ ภานุภาค ท่านบรรยายเก่งมากเลย ซึ่งเรื่องหนึ่งที่ผมชอบมากคือ ภูมิแพ้กับภูมิคุ้มกันวิทยา พอฟังเสร็จก็รู้สึกว่า ใช่เลย ไหนๆ จะกลับมาเรียนใหม่แล้ว เรียนศาสตร์นี้ดีกว่า”
อาจารย์เกียรติจึงได้ตัดสินใจลาออกจากงานที่กำลังรุ่งโรจน์ในโรงพยาบาลเอกชน และเดินทางมาขอเรียนต่อกับอาจารย์ประพันธ์ที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“เป็นช่วงที่ลำบากมาก เพราะเพิ่งมีลูกคนแรก แต่ด้วยความที่อยากเป็นหมอด้านนี้เลยคุยกับภรรยา ซึ่งเขาก็ใจกว้างมาก เพราะจริงๆ คลินิกผมก็กำลังรุ่ง งานที่โรงพยาบาลก็รุ่งเหมือนกัน แต่ผมว่ามันไม่ใช่ อนาคตผมอยากเป็นครูแพทย์ เราจึงหันหลังกลับไปเรียนต่อ ทั้งๆ ที่อายุก็ไม่น้อยแล้ว ตอนนั้นต้องนั่งเครื่องบินขาไปและรถไฟขากลับทุกสัปดาห์ เงินเดือนจากจุฬาฯ แทบไม่เหลือ รายจ่ายของครอบครัวก็มาจากคลินิกที่เราเปิดแค่เสาร์-อาทิตย์ ดำเนินชีวิตแบบนั้นอยู่ 2 ปีเต็ม บางคนคงนึกว่า คนนี้มันเพี้ยนหรือเปล่า”
ผลของการได้มาเป็นลูกศิษย์ ต่อมาก็เขาก็กลายเป็นหนึ่งในทีมงานของอาจารย์ประพันธ์ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้และพัฒนาจนเป็นครูแพทย์และนักวิจัยที่ทำประโยชน์แท้จริงให้แก่วงการแพทย์และประเทศในช่วงต่อมา
เพราะอาจารย์ประพันธ์เป็นครูแพทย์ที่เป็นแบบอย่างทั้งทางด้านความเป็นครู ความเป็นคุณหมอและนักวิจัยที่ทุ่มเทและมีจิตใจดีงาม ที่สำคัญยังเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านโรคภูมิแพ้และโรคภูมิคุ้มกัน ต่อมาท่านยังเป็นผู้วินิจฉัยคนไข้เอดส์รายแรกๆ ในประเทศไทย รวมถึงเป็นผู้ก่อตั้งคลินิกนิรนาม และศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย อีกด้วย
พอเรียนจบ เขาก็รับคำชักชวนให้มาทำงานที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ หลังคิดอยู่พักใหญ่ เพราะวางแผนจะตั้งรกรากอยู่ที่เชียงใหม่ แต่ในที่สุด เขาก็เลือกทำตามฝัน และเดินทางไปดูงานที่สหรัฐอเมริกาอีก 2 ปี เพื่อเติมเต็มความรู้
“การเดินทางไปดูงานมันช่วยหล่อหลอมความเป็นนักวิชาการให้เรา อย่างที่หนึ่งที่ผมไปคือ สถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐอเมริกา หรือ NIH ไปอยู่กับ Dr.Clifford Lane ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทีมวิจัยขนาดใหญ่ของ Dr.Anthony Fauci สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศของที่นี่ ถือเป็นศูนย์รวมของนักวิทยาศาสตร์เก่งๆ ระดับโลก มีประชุมวิชาการทุกสัปดาห์ ทำให้เราเห็นงานวิจัยมากมาย เช่น โรคนี้มีผลต่อเซลล์อย่างไร มีผลต่อระดับโมเลกุลอย่างไร เพราะประเทศที่ก้าวหน้านั้น มีการลงทุนวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเยอะมาก”
ผลของการเปิดโลกกว้าง เป็นแรงผลักดันสำคัญให้อาจารย์เกียรติอยากจะกลับมาทำงานวิจัยคุณภาพสูงทางด้านวัคซีน เรื่องโรคเอดส์ และการวิจัยทางคลินิกที่เมืองไทย
ถึงในใจอยากจะกลับเมืองไทยมาทำวัคซีน แต่เวลานั้นอาจารย์เกียรติมีภารกิจสำคัญที่เร่งด่วนกว่า คือ การช่วยอาจารย์ประพันธ์บุกเบิก ‘ศูนย์วิจัยเอดส์ สภากาชาดไทย’
เมื่อปี 2527 เอดส์ถือเป็นโรคใหม่ เพิ่งพบในเมืองไทย คนส่วนใหญ่จึงไม่เข้าใจและรู้สึกรังเกียจ เพราะคิดว่าติดต่อกันง่าย ผู้ติดเชื้อบางคนถึงขั้นโดนไล่ออกจากงาน ไล่ออกจากหมู่บ้าน โรงพยาบาลหลายแห่งก็ไม่ยอมรับผู้ป่วย อาจารย์ประพันธ์จึงพยายามสร้างองค์ความรู้ และตั้งคลินิกนิรนาม เพื่อให้บริการตรวจเลือดและรักษาโรค รวมทั้งมอบหมายให้ทีมงานทำวิจัย เพื่อนำไปขยายผลและหาวิธีจัดการโรคอย่างมีประสิทธิภาพ
“ตอนนั้นเราก็ทยอยทำวิจัย ทยอยให้การศึกษา ซึ่งข้อดีอย่างหนึ่งของความเป็นหมอคือ ถ้าเราชี้แจงประชาชน เขาก็ฟังนะ เช่นโรคนี้ไม่ได้ติดง่ายๆ หากไม่ได้มีเพศสัมพันธ์กันจริงๆ หรือไปรับเลือดเขามา เช่นมีแผลเลือดออกเยอะแยะ แล้วเราเอามือที่เป็นแผลไปจับ พอเราทำความเข้าใจไปเรื่อยๆ สังคมก็เข้าใจและอยู่ด้วยกันได้”
นอกจากนี้ ยังมีการแลกเปลี่ยนความรู้กับต่างประเทศ อาจารย์ประพันธ์ร่วมกับศาสตราจารย์อีกสองท่านจากออสเตรเลียและเนเธอร์แลนด์ ก่อตั้งศูนย์วิจัยนานาชาติ ที่เรียกว่า ศูนย์ประสานความร่วมมือระหว่างไทย ออสเตรเลีย เนเธอร์แลนด์ เพื่อการศึกษาวิจัยทางคลินิกด้านโรคเอดส์ หรือ HIV-NAT ทำหน้าที่ศึกษาวิจัยสูตรยาต้านไวรัสเอดส์ และวิธีการรักษาผู้ติดเชื้อ HIV ตลอดจนเป็นศูนย์ฝึกอบรมและศึกษาดูงานแก่บุคลากรทางการแพทย์ทั้งในประเทศและเอเชียแปซิฟิก
ตลอดหลายสิบปี ศูนย์วิจัยเอดส์ร่วมกับทั้งหน่วยงานภายในประเทศและต่างประเทศต่างๆ สร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับโรคนี้แก่วงการแพทย์ เพราะแม้ปัจจุบันโรคเอดส์จะไม่สามารถรักษาให้หายขาด แต่ก็สามารถควบคุมได้ แถมยารักษาก็ไม่แพง ถ้ากินยาอย่างสม่ำเสมอก็สามารถมีชีวิตอยู่จนแก่เฒ่าได้เหมือนคนปกติทั่วไป
ที่สำคัญพวกเขายังพยายามสร้างงานวิจัยใหม่ๆ เพื่อช่วยเหลือคนไทย เช่น การวิจัยเรื่องวัณโรค โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น โรคไวรัสตับอักเสบบีและซี รวมถึงโจทย์วิจัยที่น่าสนใจมากมาย
“การวิจัยสำคัญคือการวิจัยที่พบว่า ยาต้านเอดส์ในยุคแรกที่มีราคาสูง ขนาดของยาที่ประเทศตะวันตกแนะนำให้กินกันทั่วโลกนั้นตั้งอยู่บนผลวิจัยของคนผิวขาวหรือผิวดำ ซึ่งน้ำหนักตอนป่วยอยู่ที่ 70-80 กิโลกรัม แต่คนเอเชียปกติตอนแข็งแรงก็หนักแค่ 50-60 กิโลกรัม แล้วพอป่วยก็ลดต่ำกว่า ซึ่งพอไปกินยาที่โดสเท่าฝรั่ง ก็เลยเกินความจำเป็นไปเยอะ ผลการวิจัยพบว่า ขนาดยาที่แนะนำให้คนไทยมีปริมาณมากเกินจำเป็นประมาณ 30-50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมีผลทำให้ค่ายาแพงขึ้น ผลข้างเคียงอาจจะเพิ่มขึ้น ผลวิจัยพบว่า ยาต้านเอดส์บางชนิดที่ราคาสูง สามารถลดปริมาณเหลือครึ่งโดส ปรากฏว่าได้ผลเท่ากัน แต่ประหยัดไปครึ่งหนึ่ง”
ในฐานะอดีตรองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเอดส์ สภากาชาดไทย อาจารย์เกียรติย้ำว่า หัวใจสำคัญของการทำงานคือ ทีมงานที่เข้มแข็ง เพราะงานลักษณะนี้ไม่มีทางจะทำได้แค่คนเดียว แน่นอนว่าอาจมีหัวเรือที่คอยนำ แต่ถ้าทุกคนไม่สนับสนุนกันก็คงยากที่จะไปถึงฝั่งฝัน
“ความสำเร็จที่เกิดขึ้นเพราะเราช่วยกัน อย่างกรณีโรคเอดส์ การวิจัยที่ดีมีส่วนทำให้คนไทยเข้าถึงยา ซึ่งสมัยก่อนยาราคาแพงมาก แต่เราก็ใช้งานวิจัยเพื่อให้ได้ยามา ทั้งยาจากต่างประเทศ หรือจากสถาบันมูลนิธิต่างๆ อีกอย่างคือการสร้างความรู้ที่ถูกต้องแก่ประชาชน และสร้างหมอกับเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ เพื่อให้เกิดการดูแลอย่างต่อเนื่อง”
อีก 10 ปีข้างหน้าเราจะยืนอยู่จุดไหนในเวทีโลก? คือสิ่งที่อาจารย์เกียรติตั้งคำถามถึงอนาคตของประเทศ
แม้โควิด-19 จะเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่มุมหนึ่งก็ต้องยอมรับว่า นี่คือจุดเปลี่ยนสำคัญของเมืองไทย ธุรกิจที่เคยสร้างรายได้มหาศาลอย่างการท่องเที่ยว ได้รับผลกระทบอย่างหนัก กระทั่งหลายแห่งต้องปิดตัว เช่นเดียวกับการผลิตวัคซีน ซึ่งถูกละเลยมาตลอด ก็ได้รับความสนใจจากหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะรัฐบาลซึ่งสนับสนุนงบประมาณถึง 2,316 ล้านบาท เพื่อผลิตวัคซีน ChulaCov-19
“สิ่งที่เราต้องการให้สนับสนุนมี 3-4 ข้อ ซึ่งได้เสนอท่านนายกรัฐมนตรี และได้รับการเห็นชอบสนับสนุนมีดังนี้ หนึ่งคือต้องทำเหมือนประเทศรวย เอาเงินมากอง อย่างเช่นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วในช่วงแรกของโรคระบาดที่สหรัฐอเมริกา รัฐบาลลงทุนกับการพัฒนาวัคซีนเจ็ดชนิดพร้อมกันโดยยังไม่มีทางรู้เลยว่าวัคซีนชนิดไหนจะสามารถใช้ได้จริง มีการอนุมัติทุนให้เจ้าละ 800-1,000 ล้านเหรียญ 7 เจ้า สำเร็จหรือเปล่ายังไม่รู้ ซึ่งสุดท้ายก็ได้วัคซีนที่ใช้ได้จริงมา 3 เจ้า แต่ของเราขอ 3,000 ล้านบาท เอามาวางไว้ก่อน จะได้ไม่ต้องมาขอทีละครั้ง เพราะเสียเวลามาก เพียงแค่ให้เบิกตามจริง โดยมีคณะกรรมการช่วยดูแล พูดง่ายๆ คือทำให้มันยืดหยุ่น แต่โปร่งใส ตรวจสอบได้ เพื่อให้เราสามารถทำงานได้คล่องตัวขึ้น
“ต่อมาคือกติกาการขึ้นทะเบียนในภาวะฉุกเฉิน อย.ต้องกำหนดให้ชัดเจนว่า จะยึดหลักสากลแบบไหน ใช้ขนาดตัวอย่างเท่าไหร่ เราจะได้ดำเนินโครงการได้อย่างมีเป้าหมายและมีแผนการชัดเจน และหากทดสอบในคนแล้วผลออกมาดี แทนที่รัฐบาลจะสั่งวัคซีนจากต่างประเทศอย่างเดียว อาจจะต้องกล้าจองวัคซีนไทยอย่างน้อย 5 ล้านโดสต่อปี เพื่อให้โรงงานมีเงินไปเริ่มผลิต ซื้อเครื่องจักร จ้างคนงาน เพราะถ้าเราขึ้นทะเบียนได้ แต่ไม่มีวัคซีนฉีดก็ไม่มีประโยชน์”
อาจารย์เกียรติเชื่อว่า หากมีการพัฒนาอย่างเป็นระบบ นอกจากจะสร้างความมั่นคงทางสาธารณสุขแล้ว อาจนำไปสู่การต่อยอดสร้างอุตสาหกรรมใหม่แก่ประเทศไทยก็เป็นได้
“หลายๆ ประเทศ เช่น เกาหลีใต้ เขามีวิสัยทัศน์ว่า ทุก 10-15 ปี จะไปยืนอยู่ตรงไหนของเวทีโลก ซึ่งตอนนี้เขามองไปที่เทคโนโลยีการแพทย์ อย่างวัคซีน mRNA เราเริ่มก่อนเขาเกือบครึ่งปี แต่ตอนนี้เขาเข้าสู่เฟส 3 แล้ว ส่วนหนึ่งเพราะเงินเขาเยอะด้วย แต่สิ่งสำคัญคือ นโยบายของรัฐกล้าลงทุนให้อุตสาหกรรมได้เกิด เช่นเดียวกับเอกชนก็กล้าลงทุน โดยเน้นไปที่คุณภาพจริงๆ ซึ่งการที่บ้านเราจะทำได้แบบนั้น ต้องมีจุดยืนที่ชัดเจนว่า จะเติบโตไปทางไหน เช่นเทคโนโลยีทางการแพทย์ ไบโอเทค หรือเป็นแหล่งผลิตอาหารคุณภาพสูงที่ขายทั่วโลก หรือจะเป็นเรื่องพลังงานสีเขียว เรากล้าบอกไหมว่า ภายใน 7 หรือ 10 ปี เราจะมีรถยนต์ไฟฟ้าใช้ทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้อุตสาหกรรมมันงอกเร็ว”
เพราะฉะนั้น เวลานี้โจทย์ของศูนย์วิจัยวัคซีน จึงไม่ได้หยุดอยู่ที่เพียงแค่วัคซีนโควิด-19 เท่านั้น แต่ยังวางแผนที่จะนำเทคโนโลยี mRNA Vaccine ไปต่อยอดสร้างวัคซีนชนิดใหม่ๆ เช่น วัณโรค ไข้เลือดออก ไข้ฉี่หนู หรือแม้แต่มะเร็งบางชนิด โดยเน้นไปยังชนิดที่คนเอเชียเป็นกันเยอะ ซึ่งถ้าประสบความสำเร็จก็มั่นใจว่าคุณภาพที่ออกมาจะไม่แพ้ที่ใดในโลก
ทุกครั้งเราจะช้ากว่าประเทศอื่นเสมอ ซึ่งสร้างความเสียหายเยอะ ผมเลยบอกเขาว่า ไม่อยากจะมานั่งรออย่างเดียวอีกแล้ว เราอยากจะทำของตัวเอง
อีก 10 ปีข้างหน้าเราจะยืนอยู่จุดไหนในเวทีโลก? คือสิ่งที่อาจารย์เกียรติตั้งคำถามถึงอนาคตของประเทศ
แม้โควิด-19 จะเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่มุมหนึ่งก็ต้องยอมรับว่า นี่คือจุดเปลี่ยนสำคัญของเมืองไทย ธุรกิจที่เคยสร้างรายได้มหาศาลอย่างการท่องเที่ยว ได้รับผลกระทบอย่างหนัก กระทั่งหลายแห่งต้องปิดตัว เช่นเดียวกับการผลิตวัคซีน ซึ่งถูกละเลยมาตลอด ก็ได้รับความสนใจจากหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะรัฐบาลซึ่งสนับสนุนงบประมาณถึง 2,316 ล้านบาท เพื่อผลิตวัคซีน ChulaCov-19
“สิ่งที่เราต้องการให้สนับสนุนมี 3-4 ข้อ ซึ่งได้เสนอท่านนายกรัฐมนตรี และได้รับการเห็นชอบสนับสนุนมีดังนี้ หนึ่งคือต้องทำเหมือนประเทศรวย เอาเงินมากอง อย่างเช่นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วในช่วงแรกของโรคระบาดที่สหรัฐอเมริกา รัฐบาลลงทุนกับการพัฒนาวัคซีนเจ็ดชนิดพร้อมกันโดยยังไม่มีทางรู้เลยว่าวัคซีนชนิดไหนจะสามารถใช้ได้จริง มีการอนุมัติทุนให้เจ้าละ 800-1,000 ล้านเหรียญ 7 เจ้า สำเร็จหรือเปล่ายังไม่รู้ ซึ่งสุดท้ายก็ได้วัคซีนที่ใช้ได้จริงมา 3 เจ้า แต่ของเราขอ 3,000 ล้านบาท เอามาวางไว้ก่อน จะได้ไม่ต้องมาขอทีละครั้ง เพราะเสียเวลามาก เพียงแค่ให้เบิกตามจริง โดยมีคณะกรรมการช่วยดูแล พูดง่ายๆ คือทำให้มันยืดหยุ่น แต่โปร่งใส ตรวจสอบได้ เพื่อให้เราสามารถทำงานได้คล่องตัวขึ้น
“ต่อมาคือกติกาการขึ้นทะเบียนในภาวะฉุกเฉิน อย.ต้องกำหนดให้ชัดเจนว่า จะยึดหลักสากลแบบไหน ใช้ขนาดตัวอย่างเท่าไหร่ เราจะได้ดำเนินโครงการได้อย่างมีเป้าหมายและมีแผนการชัดเจน และหากทดสอบในคนแล้วผลออกมาดี แทนที่รัฐบาลจะสั่งวัคซีนจากต่างประเทศอย่างเดียว อาจจะต้องกล้าจองวัคซีนไทยอย่างน้อย 5 ล้านโดสต่อปี เพื่อให้โรงงานมีเงินไปเริ่มผลิต ซื้อเครื่องจักร จ้างคนงาน เพราะถ้าเราขึ้นทะเบียนได้ แต่ไม่มีวัคซีนฉีดก็ไม่มีประโยชน์”
อาจารย์เกียรติเชื่อว่า หากมีการพัฒนาอย่างเป็นระบบ นอกจากจะสร้างความมั่นคงทางสาธารณสุขแล้ว อาจนำไปสู่การต่อยอดสร้างอุตสาหกรรมใหม่แก่ประเทศไทยก็เป็นได้
“หลายๆ ประเทศ เช่น เกาหลีใต้ เขามีวิสัยทัศน์ว่า ทุก 10-15 ปี จะไปยืนอยู่ตรงไหนของเวทีโลก ซึ่งตอนนี้เขามองไปที่เทคโนโลยีการแพทย์ อย่างวัคซีน mRNA เราเริ่มก่อนเขาเกือบครึ่งปี แต่ตอนนี้เขาเข้าสู่เฟส 3 แล้ว ส่วนหนึ่งเพราะเงินเขาเยอะด้วย แต่สิ่งสำคัญคือ นโยบายของรัฐกล้าลงทุนให้อุตสาหกรรมได้เกิด เช่นเดียวกับเอกชนก็กล้าลงทุน โดยเน้นไปที่คุณภาพจริงๆ ซึ่งการที่บ้านเราจะทำได้แบบนั้น ต้องมีจุดยืนที่ชัดเจนว่า จะเติบโตไปทางไหน เช่นเทคโนโลยีทางการแพทย์ ไบโอเทค หรือเป็นแหล่งผลิตอาหารคุณภาพสูงที่ขายทั่วโลก หรือจะเป็นเรื่องพลังงานสีเขียว เรากล้าบอกไหมว่า ภายใน 7 หรือ 10 ปี เราจะมีรถยนต์ไฟฟ้าใช้ทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้อุตสาหกรรมมันงอกเร็ว”
เพราะฉะนั้น เวลานี้โจทย์ของศูนย์วิจัยวัคซีน จึงไม่ได้หยุดอยู่ที่เพียงแค่วัคซีนโควิด-19 เท่านั้น แต่ยังวางแผนที่จะนำเทคโนโลยี mRNA Vaccine ไปต่อยอดสร้างวัคซีนชนิดใหม่ๆ เช่น วัณโรค ไข้เลือดออก ไข้ฉี่หนู หรือแม้แต่มะเร็งบางชนิด โดยเน้นไปยังชนิดที่คนเอเชียเป็นกันเยอะ ซึ่งถ้าประสบความสำเร็จก็มั่นใจว่าคุณภาพที่ออกมาจะไม่แพ้ที่ใดในโลก
อีกภารกิจหนึ่งที่อาจารย์เกียรติตั้งใจไว้ ก่อนจะถอยไปเป็นที่ปรึกษาให้นักวิจัยรุ่นใหม่คือ การพัฒนาศูนย์วิจัยวัคซีนให้สามารถแข่งขันในระดับโลกได้ เพราะต้องยอมรับว่า ทุกวันนี้ยังทำงานแบบราชการ เจ้าหน้าที่หรือสถานที่ก็มีจำกัด ไม่สามารถขยายได้ ซึ่งแนวทางที่ช่วยแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน คือพัฒนาเป็น Social Enterprise หรือธุรกิจเพื่อสังคม
“ทุนส่วนใหญ่ก็อาจจะมาจากการบริจาคที่ไม่หวังผลตอบแทน อีกส่วนก็คือบริษัทหรือนายทุนที่ไม่รีบร้อนทำกำไร และไม่ได้ต้องการกำไรสูงสุด และยอมรับความเสี่ยงสูงที่เกิดขึ้นได้ เพราะหลักการของธุรกิจแบบนี้ ไม่สามารถปันผลได้เกิน 15 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากรายได้ส่วนที่เหลือก็ต้องกลับมาหมุนให้หน่วยงานนี้เดินต่อได้
“แต่เหตุผลที่ต้องทำเป็นบริษัท เพราะอย่างน้อยเราก็สามารถจ้างบุคลากรที่ทำงานเต็มเวลาแบบเมืองนอกได้ มีคุณหมอ มีนักวิทยาศาสตร์เก่งๆ นักเคมี นักสัตว์ทดลอง นักเทคนิคการแพทย์ ทั้งคนไทยหรือคนต่างชาติ มาช่วยกันคิดเรื่องยากที่ตอบโจทย์โลกด้วย และถ้าของออกมาดี สามารถไปขายได้ทั่วโลก รายได้ก็เอากลับมาหมุนเพื่อจ้างคนเก่งๆ เข้ามา แล้ววัคซีนที่ออกมายังสามารถช่วยเหลือประเทศยากจนได้ด้วย นั่นคือความหวังที่พวกเราอยากจะเห็นต่อไป”
แม้สิ่งที่อาจารย์เกียรติคิดอาจไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ แต่ตราบใดที่เราทุกคนยังมีความหวังที่จะเห็นเมืองไทยพัฒนาทัดเทียมกับนานาประเทศ และพร้อมช่วยกันผลักดันเต็มที่ บางทีวันหนึ่งเป้าหมายนี้ก็อาจกลายเป็นจริง และพลิกประเทศนี้ไปสู่สังคมที่ยั่งยืนก็เป็นได้
คนเล็กเปลี่ยนโลก : โครงการของเพจยอดมนุษย์..คนธรรมดา ซึ่งนำเสนอเรื่องราวของ 30 บุคคลผู้สร้างสังคมที่ยั่งยืน และช่วยกันสร้างคุณค่าสำคัญที่จะช่วยพลิกฟื้นประเทศ ท่ามกลางวิกฤตโรคระบาด โดยได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม คือบุคคลต้นแบบประเด็นสร้างหลักประกันการมีสุขภาพดีและส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในทุกวัย (SDGs ข้อที่ 3)
รู้จักหมอนพพร หมอผู้โด่งดังที่ทำให้คนไทยรู้ว่าเพศศึกษาไม่ใช่เรื่องน่าอาย และใกล้ตัวกว่าที่คิด
เครือข่ายคนรุ่นใหม่ที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเมือง อย่างสร้างสรรค์ และเข้าใจถึงปัญหาของพื้นที่อย่างแท้จริง
เภสัชกรหญิง ผู้บุกเบิกยาสมุนไพรอภัยภูเบศร พร้อมฝันอันยิ่งใหญ่ที่อยากจะทำให้ปราจีนบุรีเป็นเมืองแห่งสมุนไพร
ฝันอันยิ่งใหญ่ของเจ้าชายหนุ่มที่ทุ่มเททั้งชีวิตเพื่อการสร้างโรงพยาบาลศิริราช ให้สามารถเป็นที่พึ่งของคนไทยได้อย่างแท้จริง
นักอนุรักษ์ทรัพยากรทะเล ผู้อยู่เบื้องหลังนโยบายการดูแลสิ่งแวดล้อม และช่วยยังสื่อสารไปยังประชาชนว่า ทำไมเราถึงต้องทะเล
กลุ่มเครือข่ายคนรุ่นใหมที่ทำงานขับเคลื่อนการอนุรักษ์คลองในพื้นที่ฝั่งธนบุรี
โลกดนตรี ตำนานรายการคอนเสิร์ตกลางแจ้ง ที่ศิลปินยุค 1970-2000 อยากขึ้นแสดงมากที่สุด เพราะใครที่มีโอกาสได้ขึ้นเวทีนี้ แสดงว่าดังแล้ว
ห้องทดลองกฎหมายของ รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร ที่ทำงานเรื่องการพิสูจน์สิทธิเรื่องสัญชาติ เพื่อให้ทุกคนได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม
เครือข่ายคนรุ่นใหม่ที่อยากรักษาเสน่ห์ของพื้นที่อารีย์ พร้อมกับรักษาชุมชนที่ยั่งยืนด้วยการใช้กุศโลบายที่ดึงดูดให้คนทุกมีส่วนร่วม
นักออกแบบแดนปัตตานีที่รวมกลุ่มกันจัดกิจกรรม เพื่อเปลี่ยนภาพจำๆ เดิมของชายแดนใต้ ไปสู่กลายเป็นเมืองสร้างสรรค์
จากครูอาสาที่มาสอนดนตรีในชุมชนคลองเตย สู่การต่อยอด เพื่อสร้างโอกาสให้เด็กๆ ได้มีพื้นที่ที่จะเติบโตอย่างงดงาม
แรงบันดาลใจของพระอีสานผู้ไม่มีโอกาสได้เรียนต่อ สู่การสร้างโอกาสทางการศึกษาด้วยพลังงานแสงอาทิตย์
COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO. ALL RIGHTS RESERVED.