รู้หรือไม่ ครั้งหนึ่งสองซูเปอร์สตาร์ เบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย์ กับ ปุ๊–อัญชลี จงคดีกิจ เคยถูกขนานนามให้เป็นคู่จิ้นแห่งวงการบันเทิง
หลังผู้ชมทั่วประเทศต่างพากันฟินกับฉากหวานสุดแสนโรแมนติก ในภาพยนตร์ ‘ด้วยรักคือรัก’ ผลงานการสร้างของ ม.จ.ทิพยฉัตร ฉัตรชัย เจ้าพ่อหนังรักระดับตำนานของเมืองไทย
หากย้อนกลับไปยุค 80 ต่อมาจนถึงต้นยุค 90 เชื่อว่า คงไม่มีใครไม่รู้จักผู้กำกับผู้นี้
เพราะหนังของเขา ไม่ว่าจะเป็น รักเอย จงรัก ด้วยรักและผูกพัน ขอแค่คิดถึง หรือหากคุณรักใครสักคน ต่างกุมหัวใจของแฟนหนังวัยรุ่นจนอยู่หมัด
ด้วยเนื้อหาชวนฝัน เพลงประกอบไพเราะกินใจ และที่ขาดไม่ได้คือ ภาพทิวทัศน์ที่แสนตระการตา เสมือนพาผู้ชมหลุดเข้าไปในโลกแห่งจินตนาการ ซึ่งไม่ว่าจะย้อนกลับมาชมกี่ครั้ง ก็ยังสัมผัสถึงกลิ่นอายความสุขตลบอบอวลไม่เปลี่ยนแปลง
นี่คือสาเหตุสำคัญว่าเหตุใดหนังของท่านทิพย์จึงฝังแน่นในใจใครหลายคน แม้เวลาจะผ่านไปนานกว่า 3 ทศวรรษแล้วก็ตาม
เพื่อระลึกถึงความทรงจำอันงดงาม ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ขอพาทุกคนย้อนอดีตกลับไปรู้จักเรื่องราวชีวิตและความคิดของ Prince of Romance แห่งวงการภาพยนตร์อีกครั้ง
“ท่านเป็นผู้ที่ริเริ่มทำหนังฟีลกู๊ดเป็นคนแรกๆ เลย ท่านทำหนังต้องสวยงาม ท่านต้องหาวิวสวยๆ ตรงข้ามกับผม ผมเองมองเห็นแต่สิ่งน่าเกลียด” คือคำจำกัดความที่ท่านมุ้ย–ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล มีต่อผู้กำกับหนังรุ่นพี่
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2521 มีหนังรักเรื่องหนึ่งปรากฏขึ้นบนแผ่นฟิล์ม พร้อมกับข้อความโปรยแสนหวานว่า ‘หากจะรักแล้ว รักใครก็จงรักเถิด ความรักบรรเจิด พริ้งเพริดหนักหนา’
รักเอย เล่าเรื่องราวความรักของหนุ่มสาวสองคู่ที่ไม่ลงตัว เพราะนางเอกซึ่งเป็นสาวเชียงใหม่ ดันไปหลงรักหนุ่มเมืองกรุงที่มาเที่ยวเหนือ แต่ปัญหาคือเขามีครอบครัวอยู่แล้ว เมื่อความรักสุกงอม ฝ่ายชายจึงรับปากว่าจะหย่ากับภรรยา โดยไม่รู้เลยว่าเธอกำลังตั้งครรภ์ แต่ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกิน ปมความรักก็ถูกคลี่คลายลง เมื่อหนุ่มชาวกรุงสำนึกได้และขอคืนดีกับภรรยา ส่วนหญิงสาวก็พบว่าคนที่แอบรักเธอสุดหัวใจอีกคนคือ พระเอกผู้เป็นเหมือนเพื่อนสนิทนั่นเอง
ภาพยนตร์เรื่องนี้ นอกจากจะแจ้งเกิดให้พระเอกน้องใหม่นาม พิศาล อัครเศรณี ยังถือเป็นการสร้างลายเซ็นครั้งสำคัญของอดีตนักโฆษณามือทองที่ผันตัวมาทำหนัง เพราะไม่เพียงแค่ความสนุกของเนื้อเรื่องแล้ว ท่านทิพย์ยังหยิบนำความงดงามของเชียงใหม่มาถ่ายทอด ผสมผสานกับความไพเราะของบทเพลงอย่างลงตัว จนกลายเป็นภาพจำที่ถูกนำปรับมาใช้กับภาพยนตร์อีกหลายเรื่อง
ครั้งนั้นท่านทิพย์เคยอธิบายวิธีการทำงานของตัวเองว่า ต้องให้ความสุข และให้ความเพลิดเพลินแก่ผู้ชมมากที่สุด ดังนั้นหนังเครียดหรือหนังซีเรียสคงไม่ทำ พร้อมกันก็ต้องไม่ทำให้นายทุนเจ๊งด้วย
“หากถามว่า หนังของผมเป็นยังไง หนึ่งเลยวิวสวย สองเพลงเพราะ สามตัวแสดงน่ารัก แฟนหนังของผมเขาขับรถมาจอด ซื้อตั๋วเข้าไปดูหนัง 2 ชั่วโมง เขาไม่ต้องการความเครียด อยากดูสิ่งสวยๆ งามๆ ไปดูความน่ารักของคนเล่น ให้เพลิดเพลินไปเรื่อยๆ ไม่ต้องการอะไรที่เป็นเรื่องเป็นราวจากผม”
เพราะฉะนั้น อย่าแปลกใจว่า ทำไมหลายครั้งที่ท่านทิพย์จึงยกกองไปถ่ายทำในสถานที่สวยๆ ทั้งในและต่างประเทศ อย่างภาพยนตร์เรื่องเกาะรัก ท่านทิพย์ได้เลือกเอาใต้ทะเลอันดามันมานำเสนอ จนหลายคนใฝ่ฝันอยากจะแวะเวียนไปเยี่ยมชมฝูงปลาและปะการังด้วยตัวเองสักครั้งในชีวิต หรือด้วยรักและผูกพัน ขอแค่คิดถึง และจงรัก ท่านทิพย์ก็พาทุกคนไปสัมผัสทิวทัศน์อันแปลกตาทั่วยุโรป
“ใครจะไปดูหนังผมแล้วทำใจนะ อยากให้ดูแล้วยิ้มออกมา ผมถือว่าผมสร้างฝันให้ผู้ชม อย่างเรื่องด้วยรักและผูกพัน ผมจะบอกว่า เรากำลังจะสร้างความฝันให้คุณสองชั่วโมงเต็ม และเราจะไม่ปลุกคุณขึ้นจากความฝันนั้น หมายความว่าหลังจากนั้นจบแล้ว เขาก็เดินฝันออกจากโรงไป นี่เป็นสาเหตุว่าทำไมผมถึงดั้นด้นไปถ่ายทำถึงสวิตเซอร์แลนด์”
แต่ด้วยบรรยากาศชวนฝันเช่นนี้ ส่งผลให้หลายครั้งหนังของท่านทิพย์มักถูกวิจารณ์ว่าเบาเกินไป จนดูเหมือนไม่มีสาระแก่นสารใดๆ ซึ่งท่านทิพย์เองก็เข้าใจและรับฟัง แต่ก็ไม่เคยหยิบยกมาเป็นประเด็นให้กวนใจ เพราะรู้ดีว่าเป้าหมายในการทำงานของตัวเองนั้นคืออะไร
“ผมไม่ได้ทำประกวดตุ๊กตาทอง เป้าหมายของผมคือให้ความสุขกับคน เด็ก 7-8 ขวบ เขาไม่ได้ต้องการไปนั่งดูหนังน้ำตาไหล หนังอัญชลี–ธงไชย (ด้วยรักคือรัก) ตั้งแต่ 2 ขวบยังไปดูได้เลย นักเรียนอายุ 11-12 มาซื้อเป็นแถวเลย ถ้านักวิจารณ์จะวิจารณ์ต้องดูอันนี้ว่า ผมทำหนังให้ใครดู ถ้าไปถามแฟนหนังผม เขาจะไม่เล่าเรื่องเลย เขาจะบอกว่าวิวดี เพลงดี คนแสดงดี สนุกดี จบแค่นั้น ซึ่งผมก็พอใจแค่นั้นที่เราสร้างความสุขแก่เขาได้ มันเป็นเอกลักษณ์ของผม ซึ่งคนอื่นเขาไม่อยากทำ
“ที่ผ่านมา รางวัลที่ผมภูมิใจที่สุด คือผู้กำกับยอดนิยม เพราะประชาชนเป็นผู้เลือก เป็นคนให้ ถึงไม่ได้รางวัลจากกรรมการ ก็ไม่เคยน้อยใจ หรือเสียใจ เพราะผมไม่ได้ตั้งปณิธานที่จะส่งหนังเข้าประกวด”
แม้เรื่องที่นำเสนออาจเบาบางสำหรับบางคน แต่ท่านทิพย์ก็ยังย้ำเสมอว่า ทุกเรื่องต่างให้ข้อคิดเกี่ยวกับชีวิตคน เพราะงานเกือบทั้งหมดต่างเกิดขึ้นมาจากแรงบันดาลใจในเรื่องที่ท่านอ่านพบ
อย่างครั้งหนึ่งท่านอ่านเรื่องของ Rex Harrison นักแสดงระดับตำนานของอังกฤษกับดารามือรางวัล Kay Kendall ในนิตยสารรีดเดอร์ ไดเจสต์ โดย Harrison ทราบว่านางเอกสาวป่วยเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน จึงขอฝ่ายหญิงแต่งงาน โดยที่เธอไม่เคยทราบอาการป่วยของตัวเองเลย และคิดมาตลอดว่าเหตุที่ป่วยเพราะขาดธาตุเหล็ก ทั้งคู่ดูแลกันจนกระทั่ง Kendall จากไปในอีก 2 ปีถัดมา
ท่านทิพย์นำแรงบันดาลใจจากเรื่องนี้ไปต่อยอดสร้างเป็นภาพยนตร์ ด้วยรักคือรัก นำเสนอเรื่องราวความรักของ วิชนีย์ นักร้องสาวมาดเท่กับพรพิชิต นักโฆษณาหนุ่มที่ผลักดันจนฝ่ายหญิงโด่งดัง ก่อนที่วิชนีย์จะป่วยเป็นโรคร้ายที่ไม่มีทางรักษาหายได้
ด้วยรักคือรัก ประสบความสำเร็จอย่างมาก ทำให้อัญชลีซึ่งเพิ่งออกอัลบั้มหนึ่งเดียวคนนี้ กลายเป็นร็อกสตาร์หญิงแถวหน้าของเมืองไทย เช่นเดียวกับธงไชย ที่เริ่มต้นเป็นพระเอกหนังเต็มตัว
อย่างไรก็ดี ท่านทิพย์จะไม่นำบทประพันธ์ของผู้อื่นมาสร้างเป็นหนัง เพราะเชื่อว่า ภาพยนตร์นั้นไม่สามารถนำความงามในนวนิยายมาเสนอได้สมบูรณ์ครบถ้วน
“ผมเคยเอาเรื่องเชลยศักดิ์ กับเคหาสน์สีแดง ของท่านหญิงดวงดาวมาทำ หนังสองเรื่องนั้น โอเค ได้ตังค์ แต่ผมได้รับคำตำหนิมากกว่าทำไมส่วนนั้นหายไป ส่วนนี้หายไป หรืออย่างเรื่อง Valley of the Dolls ของ Jacqueline Susann ผมชอบมากเลย วิธีเขียนนี่ ปากจัดมากแล้วเขียนโจ่งแจ้งโจ๋มครึ่ม เรามองเห็นภาพเข้าไปในนั้น พอทำเป็นหนัง ผมรีบแจ้นไปดูเป็นรอบแรกเลย ความที่ติดในหนังสือ พอดูหนัง ผมผิดหวังตั้งแต่ต้นจบจนเลย เพราะภาพพจน์ที่เราเคยวาดไว้อย่างเลิศ มันหมดเลย ผมเลยมาได้กับตัวเองว่า ถ้าคนติดนิยายแล้ว ทำหนัง 2 ชั่วโมงนี่ ทำไม่ได้เลย”
นอกจากเรื่องบทภาพยนตร์แล้ว ท่านทิพย์ยังชอบลองอะไรใหม่ๆ อยู่เสมอ
นักแสดงหลายคนต่างยืนยันว่า ท่านเป็นผู้กำกับเก่งมาก ท่านมักสังเกตดูนักแสดงแต่ละคนว่าเป็นอย่างไร แล้วหาวิธีนำธรรมชาติของคนนั้นออกมาให้มากที่สุด เพราะฉะนั้น นักแสดงหลายคนที่ไม่มีใครเชื่อว่าจะเล่นได้ จึงสามารถโดดเด่นได้บนแผ่นฟิล์มได้อย่างเต็มภาคภูมิ
อย่างพิศาล อัครเศรณี ตอนแรกก็ถูกนายทุนติง เพราะมาแบบโทรมๆ เสื้อยืด กางเกงยีน รองเท้าแตะ แถมตัวพิศาลเองก็ยังไม่เชื่อว่า หากตัวเองเป็นพระเอกแล้วจะมีคนดู แต่ท่านทิพย์กลับรับสั่งสั้นๆ ว่า “ฉันเจ๊งมันก็เรื่องของฉัน” แล้วสุดท้ายหนังเรื่องนี้ก็ทำเงินมหาศาล
หรือมาช่า วัฒนพานิช ซึ่งช่วงแรกก็ถูกสบประมาทหนักมาก แต่สุดท้ายกลับสามารถคว้ารางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี สาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมมาครองได้สำเร็จ
“ตอนผมเอามาช่า กับบิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ มาแสดงเรื่องจงรัก ทั้งคู่ถูกเหยียบจนจม โดยเฉพาะมาช่า ตอนนั้นค่อนข้างติดลบด้วย พอผมนำเขามาเล่นมีแต่คนว่าผมบ้า หนังสือพิมพ์ก็โจมตีว่า ผมจะต้องได้รับบทเรียนอย่างแสนสาหัส.. ผมบอกว่ามาช่ามีความสามารถ ถ้าทุกคนเหยียบเขา แล้วเขาจะไปไหน ผมจะปั้นพวกเขาเอง ผมต้องต่อสู้นานถึง 3 เดือน ถึงได้กำกับ เมื่อหนังเสร็จ ผมบอกว่ามาช่าว่า ช่าจะได้รับความรักจากคนดูทั่วประเทศ จำคำนี้ไว้ พอหนังออกฉาย นักข่าวบางคนที่ว่ามาช่า ต่างพากันไปดู อยากรู้ว่ามาช่าได้ตุ๊กตาทองเพราะเหตุไร นั่นคือความภาคภูมิใจของผู้กำกับที่ทำงานออกมาจนสำเร็จ”
“ผมเป็นเจ้ากรรมกร”
แม้จะมีชาติกำเนิดเป็นหม่อมเจ้า แต่ชีวิตของท่านทิพย์ไม่เคยมีอภิสิทธิ์ใดๆ
ท่านทิพย์เกิดหลังยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยช่วงนั้นกรมพระกำแพงอัครโยธิน พระบิดาต้องลี้ภัยไปอยู่สิงคโปร์
พออายุได้ 2 ขวบก็ต้องเป็นกำพร้า ถูกส่งมาอยู่บ้านญาติ โดยได้รับการอุปถัมภ์จากพระนางเธอลักษณีลาวัณ ในรัชกาลที่ 6 ซึ่งมีศักดิ์เป็นอา พระนางฯ โปรดการแสดงละครอย่างมาก บางครั้งก็มีโอกาสได้แสดงบ้าง สิ่งเหล่านี้ถูกซึมซับเข้ามาในชีวิตโดยไม่รู้ตัว
พอโตเป็นหนุ่ม ด้วยความหลงระเริงกับแสงสีเยอะเกินไป พวกญาติๆ ก็กลัวเสียคนเลยส่งไปอยู่โรงเรียนยานเกราะ ไปฝึกทหาร ล้างส้วม ขัดห้องน้ำ เป็นทหารอยู่ 3 ปีจึงลาออกไปเป็นเซลล์แมนขายของ ก่อนจะชีวิตจะพลิกผันสู่วงการโฆษณา
อาชีพนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตของผู้ชายคนนี้เลยก็ได้ โดยท่านเป็นคนไทยคนแรกที่เป็น Creative ของคาเธย์ ซึ่งเป็นบริษัทโฆษณายักษ์ใหญ่ในสมัยนั้น
เพราะแต่ก่อนบริษัทเหล่านี้จะใช้ฝรั่งเป็นคนคิดงานหมด ส่วนคนไทยเป็น AE คอยติดต่อประสานงานกับลูกค้า เวลาเขียนก๊อปปี้โฆษณาก็จะเขียนเป็นภาษาอังกฤษ แล้วแปลไทยออกมา
แต่วิธีนี้ใช้ไม่ได้ผลกับแองโกลไทย มอเตอร์ ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ฟอร์ด เพราะไม่ว่าจะเขียนอะไรส่งไป ทางนั้นก็โยนคืนมาหมดเลย ท่านทิพย์ซึ่งเป็น AE คอยดูแลลูกค้ารายนี้ จึงถูกมอบหมายให้ไปหาวิธีแก้ปัญหา
“เขาโอเคแค่เรื่องเลย์เอาต์ กับก๊อปปี้ภาษาอังกฤษ แต่ส่วนภาษาไทยเขาแต่งใหม่หมดเลย ไม่ว่าจะก๊อปปี้ สคริปต์วิทยุ นายผมจึงเรียกให้ลองไปคุยกับลูกค้า ด้วยความขี้สังเกตของผม ผมก็ลองไปดูสิ่งที่ก๊อปปี้เราเขียนไปกับสิ่งที่ลูกค้าเขียนกลับมามันเป็นอย่างไร เราก็รู้ว่าเขาชอบภาษาไทยจริงๆ เป็นคนจริงๆ ไม่ใช่แปลจากฝรั่งมาดุ้นๆ
“ผมก็ลองเขียนให้ใหม่ โดยเริ่มว่า ‘ฟอร์ดแองเกลีย ขับไม่เพลีย นั่งสง่า เจ้าของสมญาเล็กพริกขี้หนู คุณภาพคนรู้ไม่ต้องฝอย ผู้ที่มีเบี้ยน้อยหอยน้อยไม่ต้องคอยกันต่อไป’ แล้วก็มีฟอร์ด คอร์แชร์ ผมก็เขียนออกมาว่า ‘ทุกมุมทุกแง่ ฟอร์คอร์แชร์แน่กว่าเพื่อน’ ผมหอบงานไปเสนอลูกค้า ลูกค้าบอกว่าต้องอย่างนี้ซิ แล้วตกลงเซ็นสัญญากันภายในครึ่งชั่วโมง”
นับจากนั้นท่านทิพย์ก็ได้เลื่อนตำแหน่งไปทำงานครีเอทีฟ แล้วก็อยู่ในวงการนี้นานถึง 17 ปี อยู่เบื้องหลังโฆษณามาแล้วนับไม่ถ้วน ซึ่งหนึ่งในก๊อปปี้ที่ทุกคนคงจำได้ดี ก็คือ ‘นมตรามะลิ ใหม่และสด ทุกทุกหยด รสดีเสมอ’
แต่แล้ววันหนึ่งท่านก็รู้สึกไฟมอด พอเปิดทีวี เปิดวิทยุ เปิดหนังสือพิมพ์แล้วเหมือนจะเป็นบ้า อาจเพราะงานโฆษณานั้นมีการแข่งขันสูง หลายครั้งก็ต้องทำอะไรที่ขัดใจกับความคิดว่า ‘หากจะพูดอะไรกับผู้ชม แล้วควรพูดความจริง’ ท่านจึงชวนชายาขับรถขึ้นเชียงใหม่ เพื่อทบทวนชีวิต
ก่อนได้ข้อสรุปกับตัวเองว่า อยู่ในวงการโฆษณานานเกินไป ยิ่งอยู่ก็มีแต่เสียกับเสีย พอกลับเข้ากรุงเทพฯ จึงตัดสินใจลาออก ทิ้งเส้นทางชีวิตที่กำลังรุ่งเรืองไว้ข้างหลัง
สิ่งที่ท่านทิพย์สนใจคือการทำหนัง เพียงแต่ยังไม่มีผู้สนับสนุน พอดีวันชัย อรรถเวทย์วรวุฒิ เพื่อนของท่าน ซึ่งทำโฆษณาให้เครือพาราเมาท์ ต้องการความช่วยเหลือเพราะคิดสโลแกนเพื่อขายหนังเรื่อง Love Story ไม่ออก หลังชมหนังตัวอย่าง ท่านทิพย์ก็นึกถึงประโยคที่ว่า Love meaning never having to say, you’re sorry. แปลไทยว่า ‘หากจะรักก็ต้องลืมคำว่าเสียใจ’ ปรากฏว่าโดนใจทั้งนายทุนและผู้ชม
จากนั้นท่านทิพย์ก็เลยหันมาทำโฆษณาเพื่อโปรโมตหนังแทน ซึ่งประสบความสำเร็จไปหลายเรื่อง เพราะท่านทิพย์สรรหาวิธีขายได้หลากหลาย เช่นเรื่องสัตว์สาวโลงศพ ท่านก็เอาโลงศพไปตั้งหน้าโรงหนัง แล้วก็จ้างผู้หญิงมาแต่งตัวเป็นสาวอียิปต์โบราณ ปรากฏว่าคนดูแน่นเป็นประวัติการณ์ กระทั่งต่อมา กัมพล ตันสัจจา แห่งเครือเอเพ็กซ์ มาปรึกษาว่ามีหนังอยู่ในสต๊อก 2 เรื่อง เก็บมาได้ 2 ปี ไม่รู้จะทำอะไรดี เพราะหนังพูดภาษาอิตาเลียน
“ผมไปนั่งดู ก็รู้สึกว่าหนังสวย กระชับซาบซึ้งดี ตอนจบนางเอกจะตายแล้วไปนั่งดูฝนตก แต่ปัญหาคือเพลงอิตาเลียนตอนท้ายมันทำให้หมดมู้ดเลย ผมจึงคิดว่าน่าเอาออกแล้วใส่เพลงฝรั่งเข้าไปแทน คือเพลง For a good time แล้วผมก็ขอทำเป็นภาษาไทยทั้งเรื่อง ชื่อ–รักรอไม่ได้ คุณโต้ง (กัมพล) ก็โอเคเลย ปรากฏว่ามันฮิตเปรี้ยง ทำให้ผมมาสำนึกทีหลังว่า หนังรักโรแมนติกต้องมีเพลงเพราะๆ จะได้ช่วยได้เยอะ มีวิวทิวทัศน์สวยๆ จากนั้นคุณโต้งก็เลยบอกว่า ท่านทำหนังไทยซักเรื่องเถอะ ผมก็เลยตัดสินใจทิ้งอย่างอื่นหมดเลย”
หนังไทยเรื่องแรกที่ท่านทำชื่อ ‘เจ้าแม่’ ทำเป็นสไตล์ฝรั่งเลย เป็นการต่อสู้ระหว่างตำรวจ คือ สมบัติ เมทะนี กับอัยการหญิง คือ อรัญญา นามวงศ์ ปรากฏว่าเจ๊งไม่เป็นท่า เพราะเดินเรื่องเร็วเกินไป คอหนังรับไม่ได้ เรื่องต่อมาจึงเปลี่ยนไปทำแนวลูกทุ่งเอาใจตลาด ตั้งชื่อว่า ‘เพลงรักบ้านนา’ คราวนี้ได้เงินเพียบ แต่ก็ยังไม่ตรงใจท่านสักเท่าไหร่ ท่านก็เลยขอทำเรื่องต่อเรื่องที่ 3 เป็นแนวโรแมนติกที่ตัวเองสนใจ และนั่นจึงเป็นที่มาของ ‘รักเอย’ ต้นแบบหนังรักสไตล์ท่านทิพย์เรื่อยมา จนถึงวาระสุดท้าย
นอกจากงานกำกับแล้ว อีกบทบาทหนึ่งที่หลายคนอาจคุ้นเคย คือการแปลบทบรรยายภาพยนตร์
ว่ากันว่า ท่านทำบทภาพยนตร์มาแล้วไม่ต่ำกว่า 3,000 เรื่อง ไม่ว่าจะเป็น JFK, The Bodyguard, Sister Act หรือ Pretty Woman
“งานแรกของผมที่เกี่ยวข้องกับงานภาพยนตร์ก็คือ ทำบทพากย์นี่แหละ ตอนแรกก็ทำให้นนทนันท์ จากนั้นก็มาทำให้เมเจอร์ด้วย อาทิตย์หนึ่งผมทำบทหนัง 3 เรื่อง มีทั้งหนังจีน หนังฝรั่ง”
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ท่านทิพย์สนใจงานนี้ คงเพราะท่านเป็นนักอ่านมืออาชีพ ท่านอ่านหนังสือทุกประเภท ถึงขั้นที่เคยรับสั่งว่า ‘อ่านแม้กระทั่งถุงกล้วยแขก’
หลักคิดในการซับของท่าน คือ ต้องชอบเรื่องที่ทำให้ได้ก่อน เพราะถ้าทำด้วยความฝืน ผู้ชมจะรู้สึกไม่เป็นธรรมชาติ แล้วภาพก็จะฝืนตามไปด้วย สุดท้ายหนังก็ไม่สามารถยืนระยะในโรงได้
“เราไม่ต้องการเงิน แต่ต้องการเห็นความสุขของคนดูที่เราให้ เท่ากับสร้างความสุขให้กับคนดู คุณสบายใจ เราสบายใจ.. วิธีการทำงานคือ เราต้องเริ่มต้นจากการดูภาพยนตร์เรื่องที่ทำจะทำให้จนจบเรื่องเสียก่อน แล้วก็จะศึกษาบนภาพยนตร์ต้นฉบับของเรื่องนั้นๆ ให้เข้าใจว่ากันพูดกับใครอย่างไร และตัวแสดงแต่ละตัวมีคาแรกเตอร์อย่างไร เพราะการทำบทพากย์ที่ดีต้องทำให้สนุก และได้อรรถรสเพื่อให้คนพากย์เขามีอารมณ์ที่จะพากย์ให้สนุกตามไปด้วย
“วิธีการทำงานของผมคือ ดูซับไตเติ้ลสั้นๆ แล้วก็จับปากว่าเขาพูดกี่คำ แล้วแอ็กชันที่ออกมา หน้าตาเขาเป็นยังไง ผมก็ใส่ภาษาไทยเข้าไป จะต้องไม่มีภาษาเดิมหลงเหลืออยู่เลย เป็นหนังไทยออกมาอีกเรื่องหนึ่ง ผมดูจากเครื่องตัดต่อ กลับไปกลับมาเลย คนหาว่าบ้า แต่เราทำงานให้ใครแล้ว เรารับผิดชอบเต็มที่ อยากให้เขาสนุกจริงๆ.. อย่าง JFK ผมทำบทยอยู่ 4 วัน 3 คืน อยู่ในห้องสี่เหลี่ยมห้องเดียว ไม่เคยออกประตูห้องนั้นไปเลย บทมัน 95 หน้า เป็นบทที่ยาวมาก พอเสร็จแล้วผมก็นอนแผ่เลย”
ท่านทิพย์ทำงานแปลต่อเนื่องยาวนานกว่า 20 ปี แม้สุขภาพจะไม่สมบูรณ์ก็ตาม เพราะถือเป็นสิ่งที่รัก ทำแล้วมีความสุข โดยส่วนใหญ่จะแปลให้ค่าย Fox กับ Warner เป็นหลัก กระทั่งในปี 2548 หลังแปลเรื่อง Miss Congeniality 2 จึงตัดสินใจวางมือ และส่งต่อไปให้บุตรสาว ม.ร.ว.เอื้อมทิพย์ เศวตศิลา ทำต่อ โดยยังใช้ชื่อท่านเหมือนเดิม
“สไตล์การแปลอาจไม่เคี่ยวเท่าท่านพ่อ แต่ทุกคนก็ยอมรับได้ เพราะท่านเป็นต้นแบบในการแปลบทภาพยนตร์ ท่านแปลโดยเป็นธรรมชาติ” หม่อมอรศรี ฉัตรชัย ณ อยุธยา ชายาของท่านทิพย์กล่าว
รางวัลที่ผมภูมิใจที่สุด คือผู้กำกับยอดนิยม เพราะประชาชนเป็นผู้เลือก เป็นคนให้
“เป็นยุคของคนรุ่นใหม่ เราต้องร่อนลงแล้ว”
หลังสร้างหนังมาตั้งแต่ปี 2519 ในปี 2535 ท่านทิพย์ก็ตัดสินใจปล่อยมือจากตำแหน่งผู้กำกับ โดยฝากผลงาน ภาพยนตร์ ‘เพียงเรา…มีเรา’ ซึ่งได้คู่ขวัญแห่งยุค สันติสุข พรหมศิริ และ จินตหรา สุขพัฒน์ มารับบทนำ เป็นเรื่องสุดท้าย
แต่นอกจากการส่งต่อหนังไทยสู่คนรุ่นหลังแล้ว อีกเหตุผลหนึ่งก็มาจากอาการป่วยจากพาร์กินสันที่เริ่มรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
“เมื่อปี 2530 ผมยกกองไปถ่ายเรื่องจงรักที่สวิตเซอร์แลนด์ ผมก็ขับรถจากเจนีวาไปซูริก หาโลเกชันบนเขา แม้มั่นใจว่าขับรถขึ้นลงห้วยชำนาญ แต่ผู้ช่วยกลับบอกว่าผมขับรถตกเลนเกือบจะลงเหว ตอนนั้นไม่ฉุกคิดว่าเกิดความผิดปกติขึ้น จนกลับมาเมืองไทย ไปกินอาหารที่โรงแรง มีคนทักว่าทำไมเดินช้า เหมือนภาพสโลว์โมชัน ผมก็ร้องเอ๊ะในใจ แต่ไม่ติดใจ คิดว่าคงเพราะเหนื่อยจากการออกกำลังกาย
“ทีมงานก็เลยขอร้องให้ผมไปตรวจร่างกาย หมอก็ส่งตัวไปสแกนสมอง เมื่อได้ผลมา หมอบอกว่าเป็นพาร์กินสันอย่างอ่อน ต้องกินยารักษาไปเรื่อยๆ ผมไม่เคยรู้จักโรคนี้ก่อน ก็เลยคิดไปว่าคงคล้ายโรคหวัด จึงใช้ชีวิตตามปกติ ยังไปถ่ายภาพยนตร์ต่ออีก 2 เรื่อง”
ยิ่งนานวันเข้าอาการก็เริ่มรุนแรง หมอจึงบอกตรงๆ ว่าพาร์กินสันที่เป็นอยู่นั้น คือชนิดที่รักษาไม่หาย แบบเดียวกับที่ Muhammad Ali หรือ Michael J. Fox เป็น
ถึงท่านทิพย์จะเข้าใจ และพยายามใช้ชีวิตให้ปกติมากที่สุด แต่พาร์กินสันกลับส่งผลต่อกิจวัตรประจำวันอย่างมาก เช่นติดกระดุมเสื้อก็ต้องใช้เวลาถึง 20 นาที หรือพอจับเมาส์แล้วลูกศรก็วิ่งมั่วไปทั่วจอ ส่งผลให้ช่วงหลังท่านทิพย์เริ่มปิดตัวเอง ไม่พบปะผู้คน และบางครั้งก็อยากตาย
“จนวันหนึ่งผมเดินเป๋ออกจากบ้านไปเจอชายชราซาเล้ง ตัวผอมเกร็ง กำลังล้วงขยะออกจากถุง สิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ไม่มีค่าอะไรเลย แต่เขากลับลูกคลำด้วยความดีใจราวกับได้อะไรสักอย่างที่เป็นยอดของชีวิต จากนั้นก็ค่อยๆ วางลงในซาเล้ง ตอนนั้นผมคิดว่าถึงเขาจะเป็นคนระดับนี้ แต่เขาคงมีครอบครัว มีสิ่งที่รัก นับแต่นั้นผมเลิกคิดถึงตัวเอง ผมควรระลึกถึงความรับผิดชอบของผมต่อวงศ์วานว่านเครือด้วย
“ผมเรียกนายพาร์กินสันในร่างมาคุยกัน เชิญเขามาทำข้อตกลงว่า ผมจะให้คุณครอบครองร่างผมครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งขอผมทำงาน ขอเถิดนะ คุณอย่ากลัวผมเลย ไม่น่าเชื่อว่าจะสามารถตกลงกับเขาได้ อาการสั่นหยุดชั่วขณะ แต่เมื่อเกิดอาการขึ้นมา ผมก็ยอมรับว่าเขามาทวงร่างคืนแล้ว ถ้ายังมุ่งมั่นยื้อเอาไว้จะทำให้เราอารมณ์เสีย”
ท่านทิพย์เลิกเก็บตัว และหันกลับมาทำสิ่งที่รักอีกครั้ง คือการแปลภาพยนตร์ต่างประเทศ และอีกฝันที่คิดมาตลอด คือเขียนหนังสือถ่ายทอดประสบการณ์การสร้างหนังทั้ง 29 เรื่องให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา
“ผมคิดว่าเบื้องหลังงานสนุกกว่าหนังเยอะเลย ถ้าเป็นไปได้ผมก็อยากไปนั่งเขียนในกระท่อมตามทะเลสาบ อย่างกว๊านพะเยา หรือกระท่อมปลายนา เขียนหนังสือไปเรื่อยๆ เป็นความสุขในบั้นปลายที่ผมอยากจะทำ” ท่านทิพย์เคยกล่าวไว้ตั้งแต่ร่างกายยังแข็งแรง
ถึงสุดท้ายความฝันนั้นจะไม่เคยเป็นจริง เนื่องจาก 3-4 ปีก่อนจะจากไป อาการของโรคหนักขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าเสียใจ เพราะสิ่งที่ท่านทุ่มมาตลอดได้กลายเป็นความทรงจำในใจของใครมากมายที่ไม่ว่าจะนึกถึงกี่ครั้ง ก็แทบจะไม่อยากลุกขึ้นจากฝันนั้นเลย
ย้อนเรื่องราวของหนังไทย ‘โหมโรง’ ที่สร้างปรากฏการณ์ฟีเวอร์ หลังเกือบถูกถอดจากโรง พร้อมกับจุดกระแสดนตรีไทยให้โด่งดังไปทั่ว
พูดคุยกับ ป๋อง-กพล ทองพลับ ผู้สร้าง The Shock รายการผีต้นตำรับที่ยังครองใจผู้ฟังมานาน 30 ปี
นักฝันผู้ยิ่งใหญ่ ผู้สร้างโรงภาพยนตร์แห่งความทรงจำที่สยามสแควร์
ทีนทอล์ก ต้นแบบรายการโทรทัศน์สำหรับวัยรุ่น ที่ฉีกขนบเดิมๆ ของวงการทิ้งไป และเปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ได้แสดงตัวตนอย่างเต็มที่
ผู้กำกับภาพยนตร์ระดับตำนาน ผู้สร้างตัวละครที่คนไทยรักและจดจำมากที่สุด
พูดคุยกับคนเบื้องหลังละครซีรีส์วัยรุ่นน้ำดี น้องใหม่ร้ายบริสุทธิ์ ซึ่งออกอากาศยาวนานที่สุดในเมืองไทย
องค์กรที่ทำหน้าที่ผู้พิทักษ์อาหาร ส่งต่ออาหารส่วนเกินจากภาคส่วนต่างๆ เพื่อสร้างความสุขให้แก่ผู้คนที่ขาดแคลน และปราศจากโอกาส
‘คนฝั่งธน’ รุ่นใหม่ ที่อยากขอทำหน้าที่เป็นสื่อกลาง คอยชักชวนผู้คนในพื้นที่ ให้มาร่วมกันบอกเล่าถึงเสน่ห์ของเมืองหลวงเก่าแห่งนี้
กลุ่มออนไลน์ที่เกิดจากการแบ่งปันความรู้เรื่องเมล็ดพันธุ์ ต่อยอดมาสู่การสร้างโรงเรียนปลูกป่าที่มีเป้าหมายอยากรักษาพันธุ์ไม้ดีๆ ให้อยู่คู่เมืองไทยตลอดไป
เครือข่ายที่ทำงานเรื่องการ ‘ตายดี’ เพื่อช่วยให้ผู้คนสามารถจากไปได้มีความสุข และลดความขัดแย้งแก่คนรอบใกล้ที่คอยดูแลด้วย
เครือข่ายอนุรักษ์ที่อยากส่งต่อเรื่องราว ความรู้เกี่ยวกับวาฬบรูด้า และผองเพื่อนในท้องทะเล เพื่อให้ทุกคนลุกขึ้นมาช่วยปกป้องทรัพยากรธรรมชาติใต้ผืนน้ำให้คงอยู่ตลอดไป
ตำนานศิลปินร็อก ผู้จุดกระแสเพลงเก็บตะวันให้ข้ามกาลเวลา รวมทั้งยังเป็นผู้สร้างยุคใหม่ให้แก่ RS สู่การเป็นเบอร์ 2 ของวงการเพลงไทยอย่างแท้จริง
COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO. ALL RIGHTS RESERVED.