ไข่มุกด์ ชูโต : สตรีนักปั้นอนุสาวรีย์

<< แชร์บทความนี้

ย้อนกลับไปเมื่อ 60-70 ปีก่อน งานประติมากรรมถูกผูกขาดว่าเป็นงานของผู้ชาย

ยิ่งเป็นการสร้างอนุสาวรีย์ ยิ่งแล้วใหญ่เพราะไม่มีใครเชื่อว่า ผู้หญิงจะทำได้

แต่สำหรับผู้หญิงที่ชื่อว่า ไข่มุกด์ ชูโต เธอได้พิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่า ศิลปะไม่จำกัดเพศ แต่สำคัญอยู่ที่จิตใจและความพยายามต่างหาก

ตลอดชีวิตเธอได้สร้างสรรค์ผลงานอนุสาวรีย์ไว้มากมาย ตั้งแต่ อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ที่เชียงใหม่ อนุสาวรีย์สองรัชกาลหน้าหอประชุมจุฬาฯ หรือ แม้แต่อนุสาวรีย์พระสุริโยทัยที่ทุ่งมะขามหย่อง

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา จึงอยากขอพาทุกคนไปสัมผัส เรื่องราวของประติมากรหญิงคนแรกของเมืองไทย ผู้นิยายตัวเองว่าเป็นเพียง ‘ช่างปั้นธรรมดา’

ฉันจะเป็นช่างปั้น

“..อย่าเรียนปั้นเลย อีกหน่อยพอแต่งงานไป ก็ต้องดูแลผัว ไม่ทำแล้วงานศิลปะที่ได้เรียนมา..”

ครั้งหนึ่ง อาจารย์ศิลป์ พีระศรี เคยเอ่ยประโยคนี้กับลูกศิษย์สาวนามไข่มุกด์ เพราะเมื่อ 60 ปีก่อน บ้านเราแทบไม่มีช่างปั้นหญิงเลย ประติมากรรมชิ้นสำคัญๆ ล้วนเป็นผลงานของผู้ชาย

“งานปั้นเป็นงานหนัก อย่าว่าแต่ผู้หญิงเลย ผู้ชายก็เรียนไม่สำเร็จตั้งหลายคน ต้องแบกหามเหมือนกรรมกร เวลาเรียนต้องตัดเหล็กที่ใช้เป็นโครงสร้างก่อนขึ้นดิน แล้วก็ต้องศึกษาอย่างจริงจัง ต้องขยันหมั่นเพียรมาก ใช้ความอดทนสูง และยังต้องมองรอบด้าน ทุกด้านต้องถูกต้องและสวยงามหมด”

แต่ด้วยความหลงใหลในศิลปะ เธอจึงไม่ยอมแพ้ และต่อสู้จนเป็นนักปั้นแถวหน้าของประเทศ

จุดเริ่มต้นของคุณไข่มุกด์มาจากคุณพ่อ พระมัญชุวาที อดีตข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ ที่มีใจรักเรื่องการออกแบบและต่อเรือยิ่งกว่าสิ่งใด เรือพระที่นั่งประพาสแสงจันทร์ เรือ ต.ต่างๆ ของกองทัพเรือ หรือเรือบรรทุกน้ำมันของบริษัทเชลล์ยุคนั้น ต่างเป็นฝีมือของคุณพระทั้งสิ้น

“ตั้งแต่จำความได้ก็เขียนรูปแล้ว ไปเกาะอยู่กับโต๊ะเขียนแบบในห้องทำงานของพ่อ มีดินสอยางลบพร้อม ท่านเห็นเราชอบขีดเขียนก็เลยสอนให้ แล้วตอนนั้นพ่อมีช้างไม้แกะสลักอยู่ตัวหนึ่ง เราก็หาดินน้ำมันมาปั้นเป็นคนขี่ช้าง เป็นพระนเรศวร บางทีก็เมกเรื่องขึ้นมาเองสนุกดี.. ต่อมาพอเรียนหนังสือ ครูก็สอนไป เราก็แอบเขียนรูปจนกระทั่งถูกครูตี”

ความสามารถของเธอเลื่องลือมาก ถึงขั้นเลียนสไตล์การวาดของครูเหม เวชกร ตั้งแต่ชั้นมัธยม จนขายงานให้สำนักพิมพ์เพลินจิตต์ ได้เงิน 3,000 บาท

พอเรียนจบเลยตัดสินใจเรียนต่อที่คณะจิตรกรรมและประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร ทั้งที่ในยุคนั้นมีนักศึกษาหญิงแทบนับคนได้

“เขาบอกคนที่วาดเขียนเก่งมักเข้าสถาปัตย์ จุฬาฯ กัน แต่ทีนี้ระหว่างเรียนอยู่ก็ไปดูการแสดงศิลปกรรมของศิลปากรบ่อย ตอนนั้นยังไม่มีตึกใหญ่โตเป็นแค่โรงไม้สังกะสีเก่าๆ เดินดูก็เกิดความคิดขึ้นมาว่า เราน่าจะเรียนทางนี้ดีกว่า จึงบอกคุณแม่ว่าจบ ม.6 จะขอไปเรียนเพาะช่าง คุณแม่บอกไม่เอาจะให้เรียนเตรียมอุดมต่อ ก็เลยเริ่มเรียนจนจบ ม.8 ตามคำขอของคุณแม่ จากนั้นก็ไปเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยศิลปากร”

แต่ถึงจะเป็นผู้หญิง คณบดีอย่างอาจารย์ศิลป์ก็ไม่ได้ผ่อนปรนเลย 

สองปีในรั้วมหาวิทยาลัย คุณไข่มุกด์ต้องเรียนศาสตร์พื้นฐาน อย่าง ทฤษฎีสี สรีรวิทยา กายวิภาค หรือการหักเหของแสง ซึ่งความยากอยู่ตรงที่เธอไม่มีพื้นความรู้ใดๆ เลย ต่างจากเพื่อนๆ ที่เคยผ่านโรงเรียนเพาะช่างหรือช่างศิลป์มาแล้ว 

“Anatomy ยากมากต้องดูโครงกระดูกคน ดูกล้ามเนื้อ ช่วงปี 1-3 ต้องเรียน ทั้งปั้นทั้งเพนต์ วิชาเอกตกไม่ได้ ถ้าตกรีไทร์ แรกๆ ก็ท้อเหมือนกัน สอบมิดเทอมคะแนนไม่ดี แต่ปลายปีท็อปหมด พอขึ้นปี 4 มีการแยกแผนก

“ตอนนั้นเราอยากเรียนปั้น แต่อาจารย์ไม่เห็นด้วย บอกว่าเป็นผู้หญิงเรียนลำบาก เราเลยบอกว่า หนูทำได้ หนูแข็งแรง อาจารย์ก็บอกต่อว่าผู้หญิงต้องมีครอบครัว เรียนไปก็เปล่าประโยชน์ ก็เลยบอกอาจารย์ไปว่าหนูไม่แต่งงานหรอก”

หลังเซ้าซี้ขอเรียนอยู่นาน อาจารย์ฝรั่งจึงใจอ่อน ทำให้เธอกลายเป็นสตรีไทยคนแรกที่ได้ศึกษาประติมากรรมอย่างจริงจัง 

บทพิสูจน์ของหญิงนักปั้น

จุดเด่นของงานคุณไข่มุกด์ คือ ความพิถีพิถัน ใส่ใจในทุกรายละเอียด

ก่อนปั้นต้องมีการร่างภาพ ตรวจสอบดูว่าแกนเหล็กควรอยู่ตรงไหน สัดส่วนควรเป็นเช่นไร หากมีรูปถ่ายก็ยิ่งดี รวมถึงศึกษาประวัติชีวิต ผลงาน และผลงานของแบบแต่ละคน เพื่อให้ผลงานออกมาแล้วยังคงใกล้เคียงความจริงมากที่สุด เพราะรูปปั้นที่ดีต้องสัมผัสได้ถึงจิตวิญญาณ และความเป็นธรรมชาติ 

วิธีปั้นของประติมากรหญิงนั้นเน้นหลักกายวิภาคเป็นสำคัญ โดยจะปั้นเป็นรูปเปลือยก่อน และเมื่อได้รูปทรงหรือสัดส่วนที่น่าพอใจแล้ว จึงค่อยใส่เสื้อผ้าประดับตามไป

บนเส้นทางนักปั้น คุณไข่มุกด์สร้างสรรค์ผลงานประติมากรรมเกือบร้อยชิ้น

ชิ้นแรกที่สร้างชื่อคือ รูปปั้นนารายณ์บรรทมสินธุ์ ขนาด 2X8 เมตรที่โรงแรมนารายณ์ ปั้นไว้ตั้งแต่ปี 2506 โดยตกแต่งลวดลายตามศิลปะสมัยลพบุรี ซึ่งยุคนั้นแทบไม่มีใครทำ

จากนั้นก็มีงานปั้นประติมากรรมนูนต่ำที่ผนังโรงหนังเอเธนส์ พระพรหมที่พัทยาพาเลซกับโรงแรมรามาทาวเวอร์ อัปสรสีห์ที่ดุสิตธานี และบุษบก 7 ชั้นที่โรงแรมรอยัล ออร์คิด 

แต่ถึงผลงานจะเป็นที่ยอมรับ ก็ยังมีศิลปินบางส่วนที่มองว่า ยังไงผู้หญิงก็ปั้นสู้ผู้ชายไม่ได้อยู่ดี 

“เค้าว่าผู้หญิงไฟไม่แรงเท่าผู้ชาย งานอาจจะจืดชืดกว่า แต่ก็ไม่แน่เสมอไป ถ้าเราชอบใจ เรามีใจอยากจะทำ เราก็อาจมีแรงเท่าผู้ชายได้.. ที่ผ่านมาเค้าพูดกันเรื่อยว่า เราเป็นผู้หญิงที่เก่งที่สุดในหมู่ผู้หญิง เค้าไม่เอาเราไปนับกับผู้ชาย ทั้งๆ ที่มีผลงานมากกว่าช่างปั้นผู้ชายตั้งเยอะ”

ทว่าความเชื่อเดิมๆ ก็ถูกลบล้าง เมื่อเธอได้พิสูจน์ตัวเอง ด้วยการสร้างผลงานระดับประเทศเรื่อยมาจนวาระสุดท้ายของชีวิต

กว่าจะเป็นอนุสาวรีย์

ผลงานที่เป็นเสมือนโลโก้ประจำตัวของคุณไข่มุกด์ คงต้องยกให้อนุสาวรีย์ 3 แห่ง 

อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ พญามังราย-พญางำเมือง-พ่อขุนรามคำแหงมหาราช, อนุสาวรีย์รัชกาลที่ 5-6 หน้าหอประชุมจุฬาฯ และอนุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัย ที่ทุ่งมะขามหย่อง

ผลงานแต่ละชิ้นนั้น คุณไข่มุกด์สร้างขึ้นอย่างพิถีพิถันและบรรจงที่สุด ขณะเดียวกันก็ยังมีการรวบรวมข้อมูลพื้นฐานต่างๆ ทั้งประวัติ สภาพสังคมในแต่ละยุคแต่ละสมัย เพื่อให้อนุสาวรีย์นั้นออกมาสวยเด่น เป็นสง่า และสะท้อนถึงภาพประวัติศาสตร์ ตลอดจนความสำคัญของบุคคลที่เป็นแบบ

อย่างตอนปั้นอนุสาวรีย์ 3 กษัตริย์ เธอจำลองเรื่องราวเมื่อ 700 ปีก่อน ช่วงที่แต่ละพระองค์กำลังหารือเรื่องชัยภูมิสร้างเมืองใหม่ ซึ่งตอนเริ่มทำงานก็มีเสียงทักท้วงเข้ามาไม่น้อย เช่นกรมศิลปากรต้องการปั้นหน้าของพญามังราย ตามที่เคยจัดสร้างมาก่อน

แต่เธอกลับมองต่างว่า คำสั่งนี้จำกัดสิทธิของช่างเกินไป และเชื่อเหลือเกินว่า ไม่มีใครรู้ว่าหน้าตาที่แท้จริงของกษัตริย์องค์นี้เป็นอย่างไร จึงควรให้เป็นอำนาจของช่างที่จะสร้างงานตามจินตนาการได้

“พ่อขุนเม็งรายที่เขาเคยปั้น หน้าย่นเป็นตาแก่เชียว แถมยังมีกำหนดอีกว่าทั้ง 3 องค์ ควรจะอยู่ในวัย 58-60 แล้วจะไปสวยได้ยังไง เอาตาแก่ 3 คนมาคุยกัน เลยทำหนังสือตอบไปยาวเหยียดเลยว่า สมมติเทพท่านไม่แก่ ไม่ต้องแก่งแย่งชิงดีชิงเด่น หน้าตาท่านก็ต้องแจ่มใสเบิกบาน เพราะฉะนั้นเราจึงปั้นให้มองแล้วสบายใจ เป็นเทพมากกว่าเป็นมนุษย์ธรรมดา

“ในทำนองเดียวกันถ้าเราปั้นพญางำเมือง ซึ่งยังไม่มีใครปั้นมาก่อน แล้วคนอื่นจะมาปั้นอีก เค้าก็ไม่จำเป็นต้องเหมือนแบบเราก็ได้ ดูแต่เทพเจ้าของฝรั่ง ลีโอนาโด ดาวินซีสร้างแบบหนึ่ง ไมเคิล แองเจโลก็เป็นอีกแบบ ไม่เห็นเหมือนกันเลย อาร์ตติส ควรมีอิสระที่จะอิมเมจินได้ ไม่เช่นนั้นอาจารย์ศิลป์จะให้พวกเราเรียนวิจารณ์งานศิลป์ทำไม ในเมื่องงานของใครก็แยกไม่ออก เหมือนกับคนๆ เดียวกันทำ”

นอกจากนี้ ยังมีคนวิจารณ์รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ อย่าง ทำไมพ่อขุนรามคำแหงมหาราชไม่อยู่ตรงกลาง ซึ่งคุณไข่มุกด์ก็ตอบว่า เวลาพระเจ้าแผ่นดินเสด็จไปประเทศอื่นก็ต้องให้เจ้าบ้านยืนในจุดที่สำคัญกว่าเสมอ หรือบางคนก็ตั้งข้อสังเกตว่าพระเจ้าแผ่นดินไม่ใส่เสื้อหรอกหรือ ซึ่งนักปั้นหญิงก็ต้องอธิบายว่า คนสมัยนั้นเขาไม่ใส่เสื้อกัน กระทั่งคำถามต่างๆ ก็หมดไปเอง

ที่ผ่านมาเค้าพูดกันเรื่อยว่า เราเป็นผู้หญิงที่เก่งที่สุดในหมู่ผู้หญิง เค้าไม่เอาเราไปนับกับผู้ชาย ทั้งๆ ที่มีผลงานมากกว่าช่างปั้นผู้ชายตั้งเยอะ

ไข่มุกด์ ชูโต : สตรีนักปั้นอนุสาวรีย์

ความละเอียดของนักปั้น

แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า ผลงานทุกชิ้นจะใช้หลักการเดียวกันหมด

อย่างพระบรมรูปสองรัชกาล หน้าหอประชุมจุฬาฯ นั้น คุณไข่มุกด์ต้องค้นภาพเก่ามาเปรียบเทียบกันเป็นร้อยๆ รูป เพื่อนำไปสเกตเป็นต้นแบบ โดยต้องคำนึงทั้งรูปร่าง พระพักตร์ หรืออายุ ในห้วงเวลาต่างๆ ที่ต้องเหมือนองค์จริงที่สุด

ครั้งแรกเธอเลือกภาพ รัชกาลที่ 5 นั่งไขว่ห้าง ส่วนรัชกาลที่ 6 ยืนอยู่ข้างๆ จับพระหัตถ์เอาไว้ ซึ่งเป็นภาพถ่ายช่วงเสด็จประพาสยุโรป มาเป็นแม่แบบ แต่คณะกรรมการเกรงว่าท่าไขว่ห้างอาจไม่เหมาะสมกับวัฒนธรรมของเมืองไทยสมัยนั้น จึงเปลี่ยนไปใช้ภาพวาดที่ช่างฝรั่งเขียน ซึ่งติดตั้งอยู่ในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทแทน

“รูปนั้นเป็นรูปหมู่ มีพระศรีพัชรินทราฯ และพระโอรสหลายพระองค์ เราก็มาจัดคอมโพสิชันใหม่ เหลือไว้เพียง 2 พระองค์คือรัชกาลที่ 5 ประทับนั่ง และรัชกาลที่ 6 ซึ่งตอนนั้นเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ประทับยืนอยู่ข้างๆ ส่วนพระพักตร์เราก็เอาพระบรมฉายาลักษณ์หลายรูปมาประกอบกัน แต่คนอาจทักว่า รัชกาลที่ 6 ทำไมทรงสลิมหน่อย ก็เพราะตอนนั้นยังเป็นพระบรมฯ อยู่”

ตลอด 30 ปีที่สร้างอนุสาวรีย์ คุณไข่มุกด์มักบอกเสมอว่า ไม่เคยพอใจกับผลงานใดเป็นพิเศษ บางทีนี่อาจเป็นสัจธรรมของคนทำงานศิลปะที่ต้องมีกิเลสเป็นเครื่องหล่อเลี้ยง เพื่อจะได้มีแรงผลักดันสร้างผลงานที่ดีขึ้นยิ่งขึ้นไป

น่าเสียดายที่ช่วงชีวิตของเธอนั้นแสนสั้น เพระหลังเสร็จสิ้นการสร้างอนุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัยได้ไม่กี่ปี เธอก็ล้มป่วยด้วยอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

ก่อนจากไปในวัย 59 ปี ทิ้งไว้แต่ผลงานและความทรงจำที่ช่วยยืนยันว่า ครั้งหนึ่งเคยมีนักสร้างอนุสาวรีย์หญิงคนนี้

ภาพและข้อมูลประกอบการเขียน

  • หนังสือชีวิตและงานของคุณไข่มุกด์ ชูโต
  • นิตยสารแพรว ปีที่ 5 ฉบับที่ 115 วันที่ 10 มิถุนายน 2527
  • นิตยสารดิฉัน ปีที่ 7 ฉบับที่ 144 วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2526
  • นิตยสาร People ปีที่ 5 ฉบับที่ 53 เดือนกันยายน 2536
  • นิตยสารนะคะ ปีที่ 3 ฉบับที่ 35 เดือนมีนาคม 2531
  • นิตยสารนะคะ ปีที่ 4 ฉบับที่ 49 เดือนพฤษภาคม 2532
  • นิตยสารกินรี ฉบับเดือนกรกฎาคม 2533

<< แชร์บทความนี้

RELATED POSTS
LATEST

Keep In Touch

COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO.  ALL RIGHTS RESERVED.