จรัล มโนเพ็ชร : ตำนานโฟล์คซองคำเมือง

<< แชร์บทความนี้

“…พี่สาวครับ สวัสดีครับพี่ครับ จ๋ำน้องชายคนนี้ได้ก่ จ้ำได้บ่ได้ก่บอกมา ล้า ลา..”

แม้จะผ่านไปนานเกิน 40 ปี แต่ บทเพลง ‘พี่สาวครับ’ ของ จรัล มโนเพ็ชร ก็ยังคงได้รับความนิยม หลายคนยังคงร้อง ยังคงเล่น ยังคงดีดกีตาร์ ใช้เพลงนี้จีบสาว เรื่อยมา

แต่สิ่งที่ยิ่งกว่านั้น คือ บทเพลงของจรัล ได้กลายเป็นปรากฏการณ์สำคัญของอุตสาหกรรมดนตรี ที่ช่วยเปิดมิติการฟังเพลงของผู้คนให้กว้างขวาง ลดช่องว่างทางภาษาให้แคบลง และส่งให้ภาษาคำเมืองกลายเป็นสิ่งที่คนไทยทั่วประเทศต่างคุ้นเคย

แม้ชีวิตของศิลปินดังอาจไม่ได้ยืนยาวนัก แต่สิ่งที่เขาฝากเอาไว้ กลับไม่เคยจางหายเลย

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา จึงอยากขอพาทุกท่านย้อนเวลากลับไปสัมผัสเรื่องราวชีวิต ความคิด และตัวตนของจรัล มโนเพ็ชร ว่าทำไมเขาจึงคงอยู่ในใจผู้คนมาจนถึงทุกวันนี้

ชีวิตคือเสียงเพลง

จรัลเติบโตมาในครอบครัวที่รักเสียงเพลง

พ่อแม่เป็นนักดนตรีพื้นเมือง คุณลุงก็ทำวงมโหรี และถ้าย้อนไปถึงปู่ทวดก็มีหน้าที่ซื้อตัวนักดนตรีและเครื่องดนตรีไทยที่กรุงเทพฯ เพื่อนำส่งไปยังราชสำนักเชียงใหม่

“ตระกูลผมเป็นตระกูล ณ เชียงใหม่ เขามีนักดนตรีของตัวเอง เราก็เห็นมาแต่อ้อนแต่ออก ไม่ว่าจะเป็นงานเป็น งานตาย เห็นและผูกพันมาตลอด เป็นคณะดนตรีหรือผู้บรรเลงที่อยู่ในระดับครูของจังหวัด เราเห็นทุกเมื่อเชื่อวันก็ซึมซับไปเอง แล้วเราชอบดนตรีด้วย ถึงรับมา ดนตรีพื้นบ้านก็ได้อย่างละเล็กละน้อย ซึงได้นิดหนึ่ง สะล้อ ขลุ่ย ปี ระนาด เครื่องทางไทย ขลุ่ย ซอ ครูจะวางทิ้งไว้ เราก็จับมาเล่น”

แต่เครื่องดนตรีที่ดึงดูดจรัลมากที่สุด คือ กีตาร์ ซึ่งเขาเริ่มฝึกหัดตอน 7 ขวบ เพราะเห็นพี่ข้างบ้านเล่นเก่งมาก เขาเลยแบกกีตาร์เก่าๆ จากที่บ้านไปให้พี่คนนั้นสอน

เพลงที่เขาสนใจ ถ้าเป็นเพลงลูกกรุงก็ต้องพรานบูรพ์ กับสุเทพ วงศ์กำแหง ส่วนเพลงลูกทุ่งก็ต้องยกให้ก้าน แก้วสุพรรณ เขาติดใจลีลาของเนื้อเพลงที่สวยงาม เห็นภาพชัดเจน และนี่เองคงเป็นสาเหตุว่าทำไมเพลงของจรัล จึงสามารถบรรยายเรื่องราวต่างๆ ได้อย่างละเอียดละออ

พอโตขึ้น เขาก็เริ่มสนใจดนตรีตะวันตก ไม่ว่าจะเป็น Peter, Paul and Mary, Leonard Cohen รวมถึง Bob Dylan และกลายมาเป็นอิทธิพลสำคัญในการสร้างงานเพลงดนตรีต่อมาอีกหลายสิบปี

ความสนใจด้านดนตรี บวกกับความต้องการช่วยแบ่งเบาภาระของครอบครัว ผลักดันให้เด็กหนุ่มเริ่มรับงานเล่นดนตรีตามร้านอาหาร โดยงานแรกเกิดขึ้นตอนอายุ 13 ขวบ

“ผมยังเป็นเด็กชายอยู่เลย พี่ที่เล่นกีตาร์แถวบ้านบอกว่าไปเล่นซิ ไปสมัครตรงนี้เขามีออดิชั่น ก็ไปทั้งชุดนักเรียนเลย

“ผมไปเล่นให้เขาดูที่โรงแรมสุรพลที่เชียงใหม่ เล่นโฟล์กมิวสิก เล่นคันทรี เล่นเพลงฝรั่ง เล่นคนเดียวและร้องด้วย ได้ชั่วโมงละ 60 บาท ตื่นเต้นมาก สั่นไปหมด วันหนึ่งร้อง 2 ชั่วโมง ทำเฉพาะวันจันทร์-อังคาร เพราะเรียนด้วย ได้เยอะนะ ทองยุคนั้นบาทละ 400 บาทเอง”

พอเรียนจบ จรัลก็ไปรับราชการแขวงการทางพะเยา แล้วก็ไปทำงานพัสดุที่ลำพูน ก่อนจะโยกย้ายกลับเชียงใหม่ มาเป็นสมุห์บัญชี ที่ ธกส. โดยระหว่างนั้นก็ยังคงเล่นดนตรี และแต่งเพลงไปด้วย

จุดพลิกสำคัญเกิดขึ้นหลังจากจรัลได้พบกับ มานิด อัชวงศ์

มานิดเป็นเจ้าของร้านหนังสือใหญ่ในตัวเมืองเชียงใหม่ ชื่อ ‘ท่าแพบรรณาคาร’ ซึ่งนอกจากขายหนังสือแล้วยังปั๊มเทปเพลงขายด้วย ผลงานที่สร้างชื่อคือ ซีรีส์อัลบั้มโฟล์คซองคำเมือง โดยชุดแรกที่วางแผง คือ ต๋องกับเพื่อน

จรัลกับมานิดเคยเจอกัน 2-3 หน ตามวงสนทนาต่างๆ หลายคนพยายามบอกว่าจรัลเป็นนักร้อง แต่มานิดก็ไม่ได้ใส่ใจ จนวันหนึ่งมีงานวันเกิดของเพื่อนที่มานิดคุ้นเคย แล้วเผอิญตอนที่เขาเข้างาน เป็นจังหวะเดียวกับที่จรัลขึ้นแสดงพอดี

เสียงกีตาร์ของจรัลนั้นโดดเด่นมาก แต่ที่ดึงดูดยิ่งกว่าคือเสียงร้องกับบทเพลงน้อยไจยาที่เขาถ่ายทอด ถึงขั้นที่เจ้าของงานชวนแม่ออกมาฟ้อนรำด้วยความเพลิดเพลิน จนมานิดนึกในใจว่า คนอะไร เล่นกีต้าร์ให้คนฟ้อนรำพื้นเมืองก็ได้

มานิดจึงอยากทำอัลบั้มให้เด็กหนุ่มคนนี้ เมื่อจรัลเล่นเสร็จจึงชวนคุย จรัลก็ตอบรับด้วยดี โดยเขาขอเวลาสักเดือนทำเพลง ส่วนผลประโยชน์ใดๆ ก็รบกวนให้มานิดเป็นผู้ดำเนินการทั้งหมด

ใกล้ครบเดือน จรัลเตรียมเพลงเรียบร้อย มีทั้งหมด 18 เพลง แบ่งเป็นเพลงไทย 8 เพลง และเพลงสากลที่อยากคัฟเวอร์อีก 10 เพลง โดยจรัลร้องและเล่นกีตาร์เองทั้งหมด จนสำเร็จเป็นอัลบั้ม โฟล์คซองคำเมือง ชุดที่ 2 ซึ่งเพลงเด่นๆ ก็คือ น้อยไจยา กับ พี่สาวครับ

หลังบันทึกเสียง มานิดก็ไม่รอช้าส่งเทปเพลงไปตามสถานีวิทยุต่างๆ ทันที พร้อมขอให้โปรโมตเพลงน้อยไจยา เพียงคืนเดียวที่บทเพลงถูกเปิด นักร้องใหม่นามว่า จรัล มโนเพ็ชร ก็โด่งดังเป็นพลุแตก

รุ่งขึ้นผู้คนต่างมายืนออกันที่หน้าร้านท่าแพบรรณาคาร ทีมปั๊มเทปหลังร้านทำงานกันไม่หยุด เพราะต้องอัดกันแบบม้วนต่อม้วน ลูกค้าบางคนถึงขั้นยอมจ่ายเงินสั่งจองล่วงหน้า แล้วอีกครึ่งวันจะแวะกลับมารับ

ความนิยมของจรัลโด่งดังไปทั่วภาคเหนือ และส่วนหนึ่งยังกระจายมาถึงกรุงเทพฯ ด้วย ถึงขั้นมีชาวกรุงบางคนต้องขึ้นเหนือมาซื้ออัลบั้ม หรือบางคนก็ฝากเพื่อนซื้อส่งมาให้

หลังทำอัลบั้มชุดถัดมา คือ โฟล์คซองคำเมือง ชุดที่ 4 จรัล-เกษม มโนเพ็ชร ซึ่งมีเพลงดังอย่าง ของกึ๋นคนเมือง และอุ๊ยคำ จรัลกับมานิดก็เลยตัดสินใจนำผลงานโฟล์คซองคำเมือง เข้าสู่ระบบสากล นั่นคืออัดแผ่นเสียงที่กรุงเทพฯ และวางแผงผลงานทั่วประเทศ โดยคัดเพลงเด่นๆ จาก 2 อัลบั้มแรก แล้วมาร้องใหม่ พร้อมกับแต่งเพลงเพิ่มเข้าไป

ทันทีที่อัลบั้มโฟล์กซองคำเมือง ชุดอมตะ ปรากฏขึ้นเมื่อปี 2520 ก็ได้รับเสียงตอบรับจากผู้ฟังทันที โดยเฉพาะสาวมอเตอร์ไซค์ และพี่สาวครับ ฮิตมากในหมู่วัยรุ่น เพราะนอกจากจะเล่นกีตาร์ได้ไม่ยากแล้ว เนื้อเพลงยังน่ารัก ชวนยิ้มอีกต่างหาก แต่ที่สำคัญคือ การที่จรัลเอาเนื้อร้องแบบคำเมืองมาผสมกับดนตรีสากลได้อย่างลงตัว ซึ่งเป็นเรื่องแปลกมากสำหรับตลาดเพลงในยุคนั้น

ผลของความสำเร็จของอัลบั้มนี้ นำมาสู่อัลบั้มอมตะชุดที่ 2 ในปีต่อมา และเปลี่ยนชีวิตนักร้องหนุ่มจากแดนล้านนา สู่ตำนานศิลปินที่ยึดครองใจผู้ฟังมานานกว่า 40 ปี

เรื่องเล่าของจรัล

หากถามว่าเสน่ห์ในเพลงของจรัลคืออะไร?

สิ่งหนึ่งที่ทุกคนนึกถึง ก็คงเป็นเนื้อหาที่ถูกถ่ายทอดออกมา ซึ่งบางครั้งเป็นเหมือนละครชีวิต

จรัลเริ่มต้นจากการเขียนบทกวีก่อน เขาชอบบันทึกถ้อยคำดีๆ ที่ได้ยินมาเก็บไว้ หลายครั้งก็นึกถึงเรื่องราวของคนใกล้ตัว ประสบการณ์ที่เคยพบเจอ จากนั้นก็นำมาถ่ายทอดเป็นเรื่องราว

นี่คงเป็นเหตุผลว่า ทำไมทุกคนจึงซึมซับเพลงของจรัลได้ง่าย แม้จะเป็นภาษาคำเมืองที่คนส่วนใหญ่ไม่คุ้นเคยก็ตาม อย่าง เพลงอุ๊ยคำ จรัลได้แรงบันดาลใจจากหญิงชราที่เคยเจอตอนเด็กๆ

“ที่บ้านของผมตรงประตูเมืองเชียงใหม่ มีวัดชื่อ พันแหวน หน้าวัดมีหนองน้ำใหญ่เรียกว่า หนองจริน ในหนองน้ำมีผักบุ้งเต็มไปหมด แล้วตรงข้างวัดจะมีคนแก่ผู้หญิงปลูกกระท่อมอยู่ ผมชอบวิ่งเล่นแถวนั้นเป็นประจำ ก็เจอแกบ่อยๆ แกเป็นช่างซอ หมายถึง ช่างขับร้องเพลงของทางเหนือ แกก็สีซอให้ฟัง แล้วยังเล่าเรื่องเก่าๆ ให้ฟังอีกด้วย ผมเลยถามเรื่องชีวิต แกเล่าให้ฟังว่า ผัวแกตายไปก่อน จากนั้นลูกสาวก็หนีตามผู้ชายไป ผมถามแกว่าไม่เสียใจกับเหตุการณ์นี้บ้างหรือ แกก็บอกว่าช่วงแรกก็อายชาวบ้าน แต่ตอนหลังไม่มีใครดูแล ต้องดูแลตัวเองมาตลอด เลยไม่น้อยเนื้อต่ำใจ นับเป็นคนแก่ที่มีความสุขจริงๆ

“ตอนนั้นแกทำงานด้วย คือไปทำความสะอาดที่วัด เตรียมกับข้าวให้พระ พอบ่ายก็จะไปเก็บผักบุ้งเอามาเรียงกันแล้วมัด ไปขายที่ตลาด ในสายตาของชาวบ้านทั่วไป เขาสังเวช มักเล่าว่าแก่จะตายอยู่แล้ว ลูกหลานก็ทิ้ง ยังต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำ แต่แกกลับไม่เคยพูดเลยว่ามีความทุกข์ แกคิดว่ามีความสุขเสียอีก ซึ่งผมประทับใจตรงนี้ แล้วตอนที่แกตาย ปกติผมจะไปนั่งคุยกับแกทุกเย็น วันหนึ่งผมหาแกไม่เจอ ก็ไม่ได้เอะใจ อีกวันไปใหม่ ก็ยังไม่เจอ เลยไปตามที่วัด วัดก็บอกไม่เห็นมาสองวันแล้ว จึงตามไปดูที่กระท่อม แกตายอยู่ในกระท่อมอย่างสงบเงียบ ตอนนั้นผมอายุสักสิบสองขวบ เรื่องราวของแกฝังอยู่ในใจมาตลอด”

ว่ากันว่า ช่วงแรกเพลงอุ๊ยคำยังไม่ค่อยติดตลาดเท่าใดนัก แต่ด้วยเนื้อหาที่กินใจ ฉายภาพชีวิตของผู้สูงอายุในสังคมชนบทอย่างชัดเจน ทำให้อีก 2 ปีถัดมา ก็ดังไปทั่วประเทศ หลายคนหลงรักเพลงนี้ โดยเฉพาะ ระย้า แห่งค่ายรถไฟดนตรี ซึ่งยกให้เพลงนี้เป็นยอดเพลงในทศวรรษนั้น

ส่วนเพลงอื่นๆ เช่น สาวมอเตอร์ไซค์ ซึ่งพูดถึงหนุ่มที่อยากจีบสาว แต่เผอิญมีฐานะยากจน ไม่มีมอเตอร์ไซค์ มีแค่รถถีบธรรมดาๆ ซึ่งเพลงนี้เรียบเรียงจากสิ่งที่จรัลได้ยินมา เดิมเป็นเพลงที่ร้องในวงรำวง กระทั่งเริ่มทำอัลบั้มโฟล์คซองคำเมือง ชุดอมตะ เขาจึงพยายามตามหาความเป็นมาของเพลง

ตอนแรกเขาไปที่แม่ขะจาน เพราะได้ยินว่าเป็นงานของนักดนตรีคนหนึ่ง เป็นพวกหัวรุนแรงสักหน่อย แต่พอไปถึงปรากฏว่าแกผูกคอตายไปแล้ว เลยไม่รู้ว่าใช่หรือเปล่า จากนั้นก็ไปได้ยินมาว่า เจ้าของอยู่บ้านแม่คำ พอไปถึง เขาก็บอกว่าเป็นเพลงเขาเอง แต่ไม่ได้แต่งหมด บางส่วนก็ดัดแปลงมา จรัลเลยขอลิขสิทธิ์มาเรียบเรียงใหม่ และกลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของจรัลเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

หากแต่ท่ามกลางเนื้อหาที่น่าสนใจ กลับแฝงไปด้วยแง่มุมความคิดมากมาย

เพราะบางเพลงของจรัลก็เล่าถึงประวัติศาสตร์ เป็นงานขุดค้น เรื่องเล่าโบราณ อย่างเพลงมะเมี๊ยะ ที่เขานำเรื่องความรักต่างชนชั้นของลูกเจ้าเมืองเชียงใหม่กับหญิงพม่าชาวบ้านมาเสนอ ซึ่งนอกจากความเศร้ากินใจ เพลงนี้ยังเป็นจุดเริ่มต้นให้คนหันมาสนใจรากเหง้าของอาณาจักรล้านนาไทยอีกด้วย

“ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีใครสนใจ พอผมพูดเรื่องนี้ก็มีคนเอาไปทำหนังทีวี ทำให้ติดใจกันไปทั่ว คนที่ไปเชียงใหม่ต่างไปวัดสวนดอก เพื่อไปดูอนุสาวรีย์นั้้น มันเหมือนทำให้คนย้อนกลับไปสู่อดีต สิ่งที่ผมต้องการมากๆ คือให้คนเหนือรักในตัวเอง อย่างน้อยให้เขาภูมิใจว่าเขามีเรื่องราวแบบนี้ ไม่ใช่ว่าเขาเป็นคนป่าเถื่อน หรือคนที่ไม่มีความหมาย แต่เขายังมีบรรพบุรุษ”

นอกจากนี้ บางเพลงก็ยังแตะไปยังประเด็นสังคม อย่าง ความยากจน การเหลื่อมล้ำ หรือผู้ด้อยโอกาส ซึ่งส่วนสำคัญอาจเป็นเพราะเขาเติบโตในยุค 14 ตุลาคม 2516 ที่พลังนักศึกษาเบ่งบานสุดขีด เคยเดินทางไปตามชนบท ไปสัมผัสผู้คน รวมถึงเคยเกี่ยวข้องกับวงราชการ ซึ่งเต็มไปด้วยความขัดแย้ง

หนึ่งในเครื่องยืนยันความสนใจ คือเมื่อปี 2538 เขามีโอกาสเป็นพิธีกรและทำเพลงประกอบสารคดี ‘มาลัยหลากสี’ ทางช่อง 3 ซึ่งนำเสนอเรื่องราวของผู้ด้อยโอกาสทางสังคม บางคนเป็นเด็กที่ไม่ได้เรียนหนังสือ ใช้ชีวิตอยู่ในสลัม

ว่ากันว่า การทำงานช่วงนั้นเร่งรีบมาก เพราะทุกวันจันทร์ จรัลจะได้รับบทสารคดีส่งมาทางแฟกซ์ เขาจะใช้เวลา 2-3 วันเพื่อทำความเข้าใจและถ่ายทอดเป็นบทเพลง พอถึงคืนวันพฤหัสบดี ตอน 4 ทุ่ม เขาก็เข้าห้องอัดบันทึกเสียง พอวันศุกร์ เจ้าหน้าที่ก็จะมารับมาสเตอร์ และวันเสาร์ จรัลก็จะเดินทางไปกองถ่ายเพื่อบันทึกเทปรายการ

ช่วงนั้นจรัลทุ่มชีวิตให้งานนี้เต็มที่ จนแทบไม่หยุดพัก ถึงขั้นผู้จัดการส่วนตัวขอให้เลิก แต่เขากลับปฏิเสธ เพราะสงสารเด็กกลุ่มนี้ อยากนำเสนอเรื่องราวเหล่านี้ไปสู่วงกว้าง และเมื่อรายการยุติ เขาก็ยังนำเพลงทั้งหมดมารวมเป็นอัลบั้มชื่อ ‘หวังเอย หวังว่า…’ พร้อมยกรายได้จากการจำหน่ายทั้งหมดให้การกุศล

อย่างไรก็ตาม แม้เพลงของเขาจะมีอิทธิพลต่อผู้คนมากมาย แต่จรัลก็ย้ำเสมอว่า เพลงคือ สุนทรีย์ เป็นศิลปะที่ทำให้ผู้คนผ่อนคลายให้โลกสวยงาม จึงไม่อยากให้นำบทเพลงไปใช้เป็น
เครื่องมือทำร้ายใคร

“ผมขายความคิดที่ต่างจากผู้คนที่เค้ามองกัน ต้องอาศัยเวลา ไม่รุนแรง แล้วก็ไม่เผด็จการ ไม่กล้าที่จะบอกว่าสิ่งที่เราคิด มันผิดหรือถูก แต่จะบอกว่า เราคิดอย่างนี้เพราะอะไร แล้วคุณล่ะ ฟังแล้วคิดยังไง จะทิ้งไว้ให้คิดตลอด แต่จะไม่บอกว่า แกเลวระยำแค่ไหน ชั่วก็รู้เอง ดีก็รู้เอง”

นักทดลองทางดนตรี

ถ้าสังเกตดูจะพบว่างานของจรัลนั้นเต็มไปด้วยการทดลองมากมาย

อย่างแรกเลยก็คือ เรื่องภาษา เพราะจรัลเป็นคนแรกๆ ที่นำภาษาคำเมืองเข้ามาใช้กับเพลงสากล

ในช่วงเริ่มต้นมีคนต่อต้านค่อนข้างเยอะ หาว่าเขาทำให้ความงดงามของเพลงพื้นเมืองหายไป แต่จรัลก็ไม่ถอยและพยายามทำให้ทุกคนเห็นว่า สิ่งที่เขาทำเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ซึ่งกาลเวลาก็ได้พิสูจน์แล้วว่า เพลงของเขาทำให้ภาษาเหนือโด่งดังไปทั่วประเทศ และช่วยลดช่องว่างทางภาษา

แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็ไม่จำกัดว่า ทุกเพลงที่เขียนต้องใช้ภาษาเหนือเสมอไป

“เมื่อเรามีความคิดอ่านอะไรเกี่ยวกับเพลง ก็จะให้อิสระกับตัวเอง เพลงไหนที่เป็นคำเมืองได้ และรู้ว่ามีคนชอบก็จะแต่งเป็นคำเมือง แต่บางเพลง ผมก็ต้องการให้เป็นภาษากลาง เช่นรางวัลแด่คนช่างฝัน ผมต้องการหยั่งเสียงดู เมื่อร้องแบบนี้คนฟังจะรับได้ไหม และผมก็รู้เลยว่า ผู้คนไม่ได้รับตรงที่คำเมืองหรือภาษากลาง แต่รับที่เนื้อหาและแนวของดนตรีมากกว่า บางทีผมอาจจะร้องเพลงที่เป็นภาษาอีสานก็ได้ ถ้าแต่งเพลงเกี่ยวกับอีสาน”

เช่นเดียวกับเรื่องดนตรี จรัลเป็นคนแรกๆ ที่นำเครื่องดนตรีเก่าแก่ของชาวพื้นเมืองมาผสมในเพลง ไม่ว่าจะเป็น ซึง สะล้อ พิณเปี๊ยะ ซึ่งหลายอย่างก็เกือบสูญหายไปแล้ว เขาบอกว่าสิ่งเหล่านี้สามารถสื่อบรรยากาศของความเป็นภาคเหนือได้ลึกซึ้งยิ่งกว่าคำพูดเสียอีก

“พิณเปี๊ยะสูญหายไปจากการบรรเลงประมาณ 50 ปี ผมใช้เวลาค้นถึง 10 ปีถึงตามผู้คนได้ การบรรเลงเพลงด้วยพิณเปี๊ยะ แต่เดิมไม่ได้ให้มนุษย์ธรรมดาฟัง แล้วการเล่นจะต้องเล่นด้วยสมาธิ ต้องใช้พลังมาก คนเล่นปัจจุบันเล่นอีกอย่าง ถ้าง่ายๆ อย่างนั้นมันไม่ใช่ คนที่เล่นได้เก่งจะต้องถูกต้องตามกรรมวิธี ตอนนี้เข้าใจว่ามีคนบรรเลงได้ประมาณ 10 คน ผมก็ดีใจแล้ว อย่างน้อยร้อยปีก็ยังไม่หายหรอก”

นี่คือสาเหตุว่าทำไมใครหลายคนจึงยกให้จรัลเป็นผู้ปลุกจิตวิญญาณทางวัฒนธรรมแห่งล้านนา

ต่อมาเมื่อจรัลเริ่มเข้ามาใช้ชีวิตในวงการบันเทิงเต็มตัวจึงได้ทำงานหลากหลาย แต่โดดเด่นมากสุด คือการทำดนตรีประกอบภาพยนตร์ เพราะเขากล้าทำสิ่งที่แหวกแนวไม่เหมือนใคร

อย่างเมื่อปี 2537 จรัลได้ร่วมงานกับกันตนา ด้วยการทำดนตรีให้ภาพยนตร์ไซไฟฟอร์มยักษ์เรื่องกาเหว่าที่บางเพลง

งานนี้ถือเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ เพราะเมืองไทยไม่เคยมีหนังสไตล์นี้มาก่อน แถมเวลาการทำงานก็กระชั้นชิด โดยครั้งนั้นเขาพยายามทดลองหาใส่เสียงใหม่ๆ ที่ล้ำสมัย เอฟเฟกต์แปลกๆ มาผสม โดยได้แรงบันดาลใจมาจากภาพยนตร์เรื่อง Close Encounters of the Third Kind

จรัลทุ่มเทแรงกายแรงใจ จนสามารถเนรมิตผลงานที่น่ามหัศจรรย์ เรียกเสียงปรบมือจากผู้ชมได้ล้นหลาม แต่ในทางตรงข้าม หลังทำเสร็จเขากลับต้องล้มหมอนนอนเสื่อ ซมอยู่เป็นสัปดาห์เลย

อีกหนึ่งผลงานที่จรัลสร้างปรากฏการณ์คือ ภาพยนตร์เรื่องบุญชู ผู้น่ารัก ของบัณฑิต ฤทธิ์ถกล ซึ่งจรัลอยู่เบื้องหลังมาตั้งแต่ภาคแรกเมื่อปี 2531 จนถึงภาค 8 เพื่อเธอ

จรัลคุ้นเคยกับบัณฑิตมานาน เขาเคยแสดงหนังเรื่องด้วยเกล้าเป็นตัวเอก และเมื่อบัณฑิตทำหนังเรื่องใหม่ เขาก็เข้ามาช่วย ซึ่งโดยปกติแล้วเวลาคนอื่นทำเพลงประกอบ ก็มักใช้วิธีเพลงเดียวเล่าทั้งเรื่อง แต่จรัลไม่ได้ทำงานแบบนั้น เขาพิถีพิถันทุกขั้นตอน

อย่างภาคแรกนั้นมีเพลงประกอบถึง 20 เพลง เวลาฉากไหนอยากสื่ออารมณ์อย่างไร เขาก็เขียนทำนองเขียนเนื้อใหม่เข้าไป หรือบางทีก็เล่นกับโทนเสียงของนักแสดง ด้วยการปรับโทนเปลี่ยนคีย์ทำนอง จนเหมือนนักแสดงคนนั้นกำลังบรรยายความรู้สึกหรือเรื่องราวนั้นจริงๆ

ผลจากการกล้าทดลองนำเสนอส่งให้จรัล กับคู่หูอย่าง ดำรง ธรรมพิทักษ์ คว้ารางวัลตุ๊กตาทองเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยมถึง 2 ปีซ้อน

ตลอดเส้นทางบนถนนดนตรี จรัลสร้างสรรค์ผลงานมาแล้วทุกรูปแบบ ทั้งเพลงบัลลาด เพลงผสมพื้นเมือง โฟล์กร็อก แจ๊ส จนถึงเพลงซิมโฟนี เป็นเครื่องยืนยันถึงความเป็นศิลปินอัจฉริยะตัวจริงเสียงจริง

ผมขายความคิดที่ต่างจากผู้คนที่เค้ามองกัน ต้องอาศัยเวลา ไม่รุนแรง แล้วก็ไม่เผด็จการ ไม่กล้าที่จะบอกว่าสิ่งที่เราคิด มันผิดหรือถูก แต่จะบอกว่า เราคิดอย่างนี้เพราะอะไร แล้วคุณล่ะ ฟังแล้วคิดยังไง

จรัล มโนเพ็ชร : ตำนานโฟล์คซองคำเมือง

เพลงที่ไม่เคยหายไป

ในช่วง 4 ปีสุดท้ายของชีวิต เขาใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในสตูดิโอที่กรุงเทพฯ เพื่อทำผลงานชุด ล้านนาซิมโฟนี ซึ่งเปรียบเสมือนการตกตะกอนทางความคิด ด้วยการนำบทเพลงต่างๆ ที่เขารังสรรค์ขึ้นมา มาผนวกกับจินตนาการต่อสิ่งที่อยู่รอบตัว

อย่างเพลงแรก อินทนนท์ซิมโฟนี เขาบอกว่าที่นี่ก็เป็นเสมือนดินแดนที่เชื่อมโยงเทพกับโลก ซึ่งเปี่ยมไปด้วยมนต์ขลัง เพราะฉะนั้นเมื่อฟังแล้วก็จะได้อารมณ์คล้ายกับว่าเราอยู่ท่ามกลาง ต้นไม้ใหญ่ ที่เต็มไปด้วยนกตัวเล็กๆ ที่โบยบินอย่างอิสรเสรี มีเสียงสนต้องลม มีลมแรงๆ พัดผ่านทุ่งหญ้าคา จรัลอยากให้เพลงนี้ช่วยกระตุ้นให้ทุกคนเห็นภาพอันบริสุทธิ์และสง่างามของชาวล้านนาในอดีต

เพราะฉะนั้น อัลบั้มนี้แม้อาจเป็นที่รู้จักในวงจำกัด แต่ก็ถือเป็นผลงานระดับมาสเตอร์พีซของจรัล กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้คนรู้จักที่จะฝัน และไม่หยุดพัฒนาตนเองเพื่อสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่เช่นกัน

หากแต่ในปี 2544 ในขณะที่ทุกอย่างกำลังเดินหน้าไปด้วยดี จรัลกำลังจะมีคอนเสิร์ตใหญ่ของตัวเองอีกครั้ง คือ ‘25 ปี โฟล์คซองคำเมือง จรัล มโนเพ็ชร’ ก็มีข่าวร้ายที่สร้างความตื่นตกใจไปทั่วประเทศ

เพราะเมื่อวันจันทร์ที่ 3 กันยายน หลังประชุมงานคอนเสิร์ตเสร็จ และกลับมาถึงบ้าน จรัลเกิดล้มขึ้นมากะทันหัน ด้วยอาการเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจตีบ มานิด ผู้จัดการส่วนตัว รีบพาเขาส่งโรงพยาบาล แต่ไม่ทันการเสียแล้ว จรัลจากไปในคืนนั้นเอง ด้วยวัยเพียง 50 ปี นับเป็นความสูญเสียครั้งสำคัญของวงการดนตรีไทย

งานศพนั้นเต็มไปด้วยผู้คนมากมาย ว่ากันว่ามีผู้คนนับหมื่นยืนต่อคิวเรียงรายนับกิโลเพื่อส่งวิญญาณจรัลเป็นครั้งสุดท้าย เพราะสำหรับพวกเขาแล้ว จรัลเป็นมากกว่าศิลปิน นักร้อง นักแต่งเพลง แต่เขายังเป็นครู เป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจ และเป็นผู้ขับเคลื่อนเพลงของภาคเหนืออย่างแท้จริง

แม้วันนี้จรัลจะจากไปนานถึง 20 ปี แต่ผลงานนับร้อยที่เขาสร้างขึ้นก็ยังคงอยู่ และถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นไม่เคยเปลี่ยนแปลง

ภาพและข้อมูลประกอบการเขียน

  • หนังสือ ประวัติชีวิตผลงาน จรัล มโนเพ็ชร
  • หนังสือ ซึงสุดท้าย จรัล มโนเพ็ชร
  • หนังสือ รางวัลแด่คนช่างฝัน จรัล มโนเพ็ชร เรียบเรียงโดย สิเหร่
  • นิตยสารสกุลไทย ฉบับเดือนตุลาคม 2531
  • นิตยสารบุคคลวันนี้ ฉบับเดือนเมษายน 2528
  • นิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 10-16 กันยายน 2544
  • รายการ ตำนาน ตอน ราชาโฟล์คซองคำเมืองของไทย ‘จรัล มโนเพ็ชร’ สถานีโทรทัศน์ AMARIN HD 34
  • Facebook มานิด อัชวงศ์ 

<< แชร์บทความนี้

RELATED POSTS
LATEST

Keep In Touch

COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO.  ALL RIGHTS RESERVED.