เกือบ 70 ปีที่ Ansel Adams – แอนเซล อดัมส์ โลดแล่นอยู่ในฐานะช่างภาพขาวดำ
เขาไม่ได้เป็นเพียงปรมาจารย์ภาพถ่ายทิวทัศน์ ผู้คิดค้นทฤษฎี Zone System หรือการแบ่งระดับแสง จากส่วนสว่างที่สุดถึงดำที่สุด ที่ช่างภาพทั่วโลกยกย่องเท่านั้น
หากแต่ผลงานซึ่งฉายภาพความเปลี่ยนแปลงของผืนป่าในพื้นที่ต่างๆ ยังกระตุ้นให้ผู้คนจำนวนไม่น้อยต้องหันมากลับใส่ใจต้นไม้ ภูเขา ลำธาร ที่ร่อยหรอลงไปเรื่อยๆ จากการคุกคามอย่างหนักของมนุษย์ด้วยกันเอง จนก่อเกิดเป็นกระแสอนุรักษ์ที่แพร่หลายไปทั่วสหรัฐอเมริกา
หลายคนอาจสงสัยว่า เหตุใดภาพขาวดำเพียงไม่กี่ใบจึงมีพลังมหาศาลเช่นนี้ ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ร่วมกับ D1839 พาทุกคนไปย้อนรอยเรื่องราวของช่างภาพในตำนานผู้นี้
คงไม่มีใครคิดว่า เด็กน้อยสมาธิสั้นจะเติบโตกลายเป็นช่างภาพที่ยิ่งใหญ่ได้
แอนเซลเกิดที่ซานฟรานซิสโก แม้ครอบครัวจะมีฐานะดี แต่ชีวิตวัยเด็กของแอนเซลก็ไม่ได้สดใสมากนัก เพราะตอนอายุได้ 4 ขวบ เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ เด็กน้อยเสียการทรงตัวและล้มไปชนกำแพงสวน ส่งผลให้จมูกบิดเบี้ยว แพทย์ประจำครอบครัวแนะนำว่า ควรปล่อยเอาไว้ และรอให้โตก่อนค่อยผ่าตัดรักษา แต่สุดท้ายเขาก็ไม่เคยพบศัลยแพทย์เลย
พอปีถัดมา ธุรกิจเหมืองทองของครอบครัวก็พังทลาย Charles Adams พ่อของแอนเซลจึงหันกลับมาสืบทอดธุรกิจไม้ของปู่ แต่ไม่สามารถทำกำไรได้ เนื่องจากไม่ทันเกมอันเชี่ยวกรากของโลกธุรกิจ แม่ของเขาไม่พอใจสามีที่กอบกู้ฐานะทางการเงินไม่สำเร็จ จนป่วยเป็นซึมเศร้าเรื่อยมาตลอดชีวิต
ส่วนแอนเซลเองก็กลายเป็นเด็กขี้เหงา ป่วยง่าย บางครั้งก็ร้องไห้ออกมาอย่างไม่มีสาเหตุ เป็นเด็กขี้กังวล ไม่กล้าสู้หน้าคนอื่น แม้หมอจะบอกให้นอนในห้องมืดทุกๆ บ่าย เป็นเวลา 2 ชั่วโมง แต่เสียงคลื่น เสียงคนสวนที่อยู่ข้างนอก กลับยิ่งทำให้รู้สึกเครียด
และที่รุนแรงสุดคือ ไม่สามารถเรียนหนังสือเหมือนเด็กทั่วไปได้ จนถูกครูลงโทษเสมอ แอนเซลถูกไล่ออกจากโรงเรียนหลายแห่งเพราะอาการอยู่ไม่สุข แพทย์วินิจฉัยว่าแอนเซลเป็นเด็กสมาธิสั้น แถมยังป่วยเป็นโรคดิสเล็กเซีย หรือความบกพร่องเรื่องการอ่าน การเขียน และการสะกด
“มีวันหนึ่ง ผมระเบิดเสียงหัวเราะออกมาแบบควบคุมไม่ได้ ช่วงแรกคนอื่นในชั้นก็ดูตลกดี และหลังจากนั้นทุกคนกลับเริ่มรู้สึกกลัว ผมลุกขึ้นยืนแล้วก็ชี้ไปที่ครูพร้อมส่งเสียงร้องแบบดูถูกเหยียดหยาม ผมแทบไม่ได้หยุดหายใจเลยระหว่างที่เกิดอาการคลุ้มคลั่ง ด้วยความตกใจ แม่รีบพาผมกลับบ้าน และกักบริเวณเป็นเวลา 1 สัปดาห์ จนกระทั่งพ่อรู้สึกว่า การให้ผมเข้าโรงเรียนเป็นเรื่องที่ไร้ประโยชน์มาก ผมต้องเรียนอยู่ที่บ้าน ภายใต้การดูแลของเขา”
ชาร์ลสทุ่มความรักและพลังทั้งหมดให้ลูกชายคนเดียว ทั้งสอนภาษาฝรั่งเศส พีชคณิต พออายุ 12 ขวบ เด็กน้อยเริ่มสนใจเรื่องดนตรี หลังได้ยินเสียงเปียโนของเพื่อนบ้าน แม้เป็นเรื่องยากลำบากสำหรับเด็กสมาธิสั้น แต่ชาร์ลสก็สนับสนุนเต็มที่ด้วยการหาครูมาสอน รวมทั้งทุ่มเงินถึง 6,000 เหรียญ ซื้อเปียโนให้ ด้วยความหวังว่าวันหนึ่งเด็กน้อยจะเติบโตมาเป็นนักเปียโนคลาสสิก
สำหรับแอนเซล พ่อคือบุคคลที่ยิ่งใหญ่ แม้แต่ตอนอายุ 80 ปี ก็ยังพูดถึงพ่อด้วยน้ำเสียงเคารพเทิดทูน สวนทางกับแม่ซึ่งไม่เคยเข้าใจเขาเลยแม้แต่น้อย
ผลของการเล่นดนตรีอย่างจริงจัง เปลี่ยนให้แอนเซลกลายเป็นเด็กที่มีสมาธิ มีระเบียบวินัย และมีความมุ่งมั่นมากขึ้น ซึ่งสุดท้ายเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เมื่อก้าวสู่วงการถ่ายภาพ
จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นในปี 1916 ช่วงนั้นแอนเซลกำลังป่วย ป้าจึงมอบหนังสือ In the Heart of the Sierras ของ James M.Hutchings ซึ่งมีฉากหลังเป็น โยเซมิตี หุบเขาหินแกรนิตขนาดใหญ่ในแคลิฟอร์เนีย แอนเซลหลงใหลในเรื่องราวและภาพประกอบของที่แห่งนี้ รวมถึงการผจญภัยของคาวบอยและชาวอินเดียนแดง เพื่อค้นหาสมบัติของเทพเจ้า
เมื่อหายป่วย แอนเซลจึงกล่อมให้พ่อแม่พาเขาไปพักร้อนที่นี่ ทิวทัศน์รอบข้าง ทั้งป่าสน น้ำตก แม่น้ำ เทือกเขาสูง ทะเลสาบ ตรึงตาตรึงใจเด็กหนุ่มมาก หากจะเรียกว่า รักแรกพบ ก็คงไม่ผิด
ชาร์ลสมอบกล้องตัวเล็กๆ Kodak No.1 Box Brownie ให้แอนเซลใช้ถ่ายภาพผืนป่าอันยิ่งใหญ่
“หลังอ่านคำแนะนำการใช้กล้อง ผมก็ออกเดินทางสำรวจทันที ผมปีนตอไม้เก่าๆ ใกล้กับเต้นท์ของเรา เพื่อถ่ายภาพฮาล์ฟโดม (ยอดหินแกรนิตซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ของโยเซมิตี สูงขึ้นจากพื้นหุบเขาประมาณ 5,000 ฟุต) ผมมองไปที่ด้านบนของอนุสรณ์สถานอันยิ่งใหญ่แห่งนี้ แล้วก็กดชัตเตอร์ ”
แอนเซลผูกพันกับเทือกเขาแห่งนี้มาก ในปี 1919 แอนเซลป่วยเป็นไข้หวัดสเปน โรคร้ายที่คร่าชีวิตคนอเมริกันร่วมครึ่งล้าน จึงหวนกลับมาที่นี่อีกครั้ง ปรากฏว่าอากาศบริสุทธิ์ ช่วยให้สุขภาพดีขึ้นมาก นับจากนั้นครอบครัวอดัมส์ก็มาที่นี่เป็นประจำทุกปี
ที่นี่แอนเซลได้พบกับนักปืนเขาหลายคน รวมทั้งเข้าร่วมกับ The Sierra Club องค์กรสิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริกา ทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลสำนักงานช่วงฤดูร้อน คอยตอบคำถาม ดูแลห้องสมุด ติดตั้งสายเคเบิลด้านหลังของฮาล์ฟโดม เพื่อช่วยนักท่องเที่ยวให้ขึ้นไปยังยอดเขาสะดวกขึ้น รวมทั้งจัดทริปเดินป่า ที่เรียกว่า High Trip พร้อมพาสมาชิกนับร้อยคนสำรวจเส้นทางที่เซียราเนวาดา เป็นเวลา 1 เดือน โดยแอนเซลจะรับหน้าที่เป็นช่างภาพตลอดการเดินทาง
ช่วงนี้เองที่แอนเซลถ่ายรูปเส้นทางเดินป่าจำนวนมาก ตลอดจนเรียนรู้การใช้แฟลช เพื่อให้ได้ภาพที่หลากหลาย ผลงานของเขาถูกตีพิมพ์ใน Sierra Club Bulletin รวมทั้งยังได้รับโอกาสจัดงานแสดงเดี่ยวเป็นครั้งแรกด้วย
แม้จะสนุกกับการได้ถ่ายทอดทิวทัศน์ของโยเซมิตีเพียงใด แต่ก็ไม่ได้ทำให้แอนเซลคิดจริงจังกับอาชีพช่างภาพมากนัก เพราะชายหนุ่มยังมีความฝันอันยิ่งใหญ่ อย่างการเป็นนักเปียโนอาชีพนั่นเอง
ช่วงแรกๆ ภาพถ่ายของแอนเซล มีลักษณะเหมือนกับภาพวาด ดูเบลอๆ ใช้แสงพร่ามัว รวมทั้งใช้เทคนิคต่างๆ เพื่อให้ภาพนั้นสามารถสื่ออารมณ์ได้มากที่สุด แต่ต่อมาก็เห็นว่า การถ่ายภาพที่เน้นความคมชัด และสะท้อนความเป็นจริงของภูมิประเทศนั้นมีพลังมากยิ่งกว่า
เขาเริ่มเรียนรู้ถึงพลังของแสงที่สามารถปรับเปลี่ยนอารมณ์และความรู้สึกของภาพได้ รวมทั้งกล้าไปยังจุดที่เสี่ยงอันตราย เพื่อให้ได้ภาพถ่ายที่แตกต่าง ซึ่งฝันหนึ่งที่อยากไปให้ถึง คือการถ่ายภาพของฮาล์ฟโดมที่สมบูรณ์ที่สุด
ก่อนหน้านี้ แอนเซลเคยสำรวจฮาล์ฟโดมมาแล้วหลายครั้ง โดยหนึ่งในภาพโปรดคือ ภาพกลับหัว ซึ่งเขากดชัตเตอร์โดยบังเอิญระหว่างที่กำลังจะร่วงหล่นจากตอไม้ บางครั้งยังปีนไปยังธารน้ำแข็งของโยเซมิตี เพื่อสำรวจทิวทัศน์มุมกว้างของสถานที่
ในปี 1927 แอนเซลก็ประสบความสำเร็จ หลังถ่ายภาพที่ชื่อ Monolith, the Face of Half Dome ครั้งนั้นเขาแบกกระเป๋าซึ่งบรรจุทั้งฟิลเตอร์ เลนส์ และฟิล์ม ซึ่งมีน้ำหนักรวมถึง 40 ปอนด์ เพื่อปีนขึ้นเขาที่สูงถึง 3,500 ฟุต และใช้เวลานานหลายสัปดาห์เพื่อสำรวจมุมภาพที่ดีที่สุด
ระหว่างนั่งรับประทานอาหารกลางวัน เพื่อรอให้ดวงอาทิตย์เคลื่อนตัวสูงพอที่จะส่องสว่างไปทั่วหน้าผา เวลาบ่ายสองโมงครึ่ง แอนเซลก็เริ่มถ่าย
ครั้งแรกเขาใช้ฟิลเตอร์สีเหลืองเพื่อทำให้ท้องฟ้าสีครามมืดลง แต่เมื่อลั่นชัตเตอร์ ก็รู้ทันทีว่ามีบางอย่างไม่ถูกต้อง
“เงาบนหน้าผาจะเป็นเหมือนท้องฟ้า มันจะเป็นสีเทา มันต้องเป็นภาพฮาล์ฟโดมที่ชัดเจนแน่นอน แต่มันคงไม่สามารถสะท้อนอารมณ์ที่ผมรู้สึกได้ดีพอ”
ในครั้งที่สองเลยเปลี่ยนไปใช้ฟิลเตอร์สีแดงเข้มแทน ส่งผลให้สีของท้องฟ้ามืดลงจนเกือบเป็นสีดำ ขณะเดียวกันก็ทำให้สีหิมะบนหน้าผาชัดเจนมากขึ้น สำหรับแอนเซล นี่เป็นภาพถ่ายที่สวยงามจริงๆ เขาเขียนจดหมายถึง Virginia Best ภรรยา ว่า “ผลลัพธ์ที่ออกมานั้น สวยงาม พิเศษและไม่เหมือนใคร”
ภาพ Monolith, the Face of Half Dome กลายเป็นผลงานที่เปลี่ยนชีวิตของแอนเซลอย่างสิ้นเชิง และยังเป็นจุดเริ่มต้นของการวางรากฐานทฤษฎี Zone System ซึ่งกลายเป็นคัมภีร์ที่ช่างภาพทั่วโลกต่างยึดถือมาจนถึงปัจจุบัน
แต่ที่สำคัญสุด ภาพนี้ยังทำให้ได้รู้จักกับ Albert Bender เจ้าของธุรกิจประกันภัย Bay Area Insurance และผู้อุปถัมภ์ศิลปินรายใหญ่ ซึ่งสนับสนุนให้เขารวบรวมภาพถ่ายจำนวน 18 ภาพ มาพิมพ์เป็นหนังสือภาพที่ชื่อ Parmelian Prints of the High Sierras จำนวน 100 เล่ม ซึ่งปรากฏว่าขายดิบขายดี และหมดภายในระยะเวลาไม่กี่วัน
แอนเซลเริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ได้จัดนิทรรศการในนิวยอร์ก รวมทั้งก้าวสู่วงการถ่ายภาพโฆษณา แม้จะไม่ชอบงานนี้มากนัก เนื่องจากมีระยะเวลาการทำงานที่จำกัด อีกทั้งรูปแบบของภาพธรรมชาติกับภาพที่สร้างขึ้นในสตูดิโอก็แทบไม่เหมือนกันเลย
แต่อย่างน้อย ชายหนุ่มก็ได้เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ทั้งการสังเกต การจัดองค์ประกอบภาพ การรับมือกับผู้ช่วยหรือลูกค้า รวมถึงประสบการณ์ของช่างภาพมือเก๋าที่พร้อมจะถ่ายทอดความรู้ ซึ่งสุดท้ายแล้ว ทั้งหมดนี้กลายเป็นพื้นฐานอย่างดี เมื่อต้องขึ้นภูเขาสูงเพื่อถ่ายภาพทิวทัศน์อันกว้างไกล
ความโดดเด่นอย่างหนึ่งของแอนเซล คือ ผลงานที่นำเสนอออกมานั้นต่างจากภาพที่ทุกคนคุ้นเคย เพราะขณะที่คนอื่นเน้นถ่ายทอดฉากทิวทัศน์อันสวยงาม เขากลับนำเสนอความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติที่เป็นจริง ทั้งความแห้งแล้งของหน้าดิน ต้นไม้อันเหี่ยวเฉา และความรกร้างของผืนทราย ซึ่งกำลังจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่คุกคามโลกต่อไปในอนาคต
ผู้เชี่ยวชาญหลายคนบอกว่า สมัยนั้นปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่เคยอยู่ในความสนใจของผู้คนเลย วิกฤตที่คนส่วนใหญ่คิดถึงคือ ผลกระทบจากยุคสงครามโลกครั้งที่ 1 ทั้งความยากจน ความหิวโหย หรือความอยุติธรรมในสังคมที่เกิดขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน
แต่เพราะพลังในภาพที่แอนเซลถ่ายทอดเรื่องราวจากผืนป่าหลายพื้นที่นั้น กระตุ้นให้ผู้คนต้องกลับมาคิดทบทวน และตระหนักว่า หากไม่รีบลุกขึ้นมาจัดการ ปัญหานี้ก็จะลุกลามเกินเยียวยา
ในปี 1936 ระหว่างที่กำลังแสดงผลงานนิทรรศการชุด An American Place แอนเซลได้รับการขอร้องจากคณะกรรมการ The Sierra Club ให้เป็นตัวแทนในการประชุมเกี่ยวกับอุทยานแห่งชาติในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. แถมยังต้องหาเสียงสนับสนุนจากสมาชิกวุฒิสภา เพื่อประกาศให้ คิงส์ แคนยอน แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติทางตอนใต้ของเทือกเขาเซียร์ราเนวาดา เป็นอุทยานแห่งชาติ โดยคณะกรรมการแนะนำให้แอนเซลนำรูปถ่ายสถานที่จริงไปแสดงด้วย
ครั้งนั้น แอนเซลไม่เพียงได้พบกับผู้ร่างกฎหมายเท่านั้น แต่ยังมีโอกาสได้เจอกับ Harold Ickes รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นแฟนตัวยงของเขาด้วย
ปีถัดมา Walter Starr นักธุรกิจผู้ร่ำรวย ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนรายใหญ่ของ The Sierra Club ก็ได้ขอร้องให้แอนเซลจัดทำหนังสือภาพชุดพิเศษ เพื่อรำลึกถึง Peter บุตรชายคนเล็กซึ่งประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตจากการปีนเขา จนสำเร็จเป็นหนังสือ Sierra Nevada : The John Muir Trail
แม้จะออกเพียง 500 เล่ม แต่ Sierra Nevada ก็กลายเป็นหนังสือที่มีอิทธิพลอย่างสูงต่อการขับเคลื่อนงานอนุรักษ์ แอนเซลส่งหนังสือไปถึงอิกเกส จากนั้นรัฐมนตรีก็ส่งต่อไปยังประธานาธิบดี Franklin D. Roosevelt ซึ่งชอบภาพชุดนี้มากถึงขั้นเก็บไว้ในทำเนียบขาว
ในวันที่ 4 เมษายน 1940 รูสเวลต์ก็ได้ลงนามประกาศให้คิงส์แคนยอนกลายเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ภายหลังหัวหน้าอุทยานฯ ได้เขียนข้อความถึงแอนเซล อดัมส์ว่า แม้จะเป็นเสียงที่เงียบ แต่ก็มีพลังมหาศาล และหากไม่มีหนังสือเล่มนั้น บางทีแคมเปญนี้อาจไม่มีทางสำเร็จได้
แอนเซลยังคงมีบทบาทในงานอนุรักษ์อย่างต่อเนื่อง อาทิ การก่อตั้ง Aperture วารสารซึ่งเน้นการถ่ายภาพเชิงสร้างสรรค์ จัดนิทรรศการภาพถ่ายเชิงสร้างสรรค์เป็นประจำเกือบทุกปี เดินสายถ่ายภาพตามผืนป่า เช่น อุทยานแห่งชาติเดนาลี และหุบเขาซานโจอาควิน รวมทั้งยังเข้าไปมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนประเด็นทางสังคม
อย่างเช่น ภาพชุด Born Free and Equal ซึ่งแอนเซลเข้าไปถ่ายรูปชาวอเมริกันเชื้อชาติญี่ปุ่นนับแสนชีวิต ซึ่งถูกกวาดต้อนไปเข้าค่ายกักกันแมนซานาร์ ซึ่งอยู่ทางเชิงเขาเซียร์ราเนวาดา เพื่อตอบโต้ญี่ปุ่นที่ทำลายฐานทัพเพิร์ลฮาเบอร์ของสหรัฐอเมริกา
“จุดประสงค์ของผมคือ การแสดงให้เห็นว่า คนเหล่านี้ทุกข์ทรมานเพียงใด ภายใต้ความอยุติธรรมครั้งใหญ่ พวกเขาต้องสูญเสียทรัพย์สิน การงานอาชีพ ต้องมาสร้างชุมชนในสภาพแวดล้อมอันแห้งแล้ง สำหรับผม คอลเลกชันแมนซานาร์ถือเป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์ และผมเชื่อว่ามันจะถูกนำไปใช้ประโยชน์ต่อไปได้”
หลังผลงานถูกจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ในมหานครนิวยอร์ก แอนเซลถูกชาวอเมริกันบางคน ซึ่งโกรธแค้นญี่ปุ่นโจมตีว่า เป็นคนทรยศ แต่เขาก็ไม่ได้สนใจ เพราะเชื่อมั่นในศักดิ์ศรีความเท่าเทียมกันของมนุษย์ ยังคงเดินหน้าสร้างสรรค์งานของตัวเองเรื่อยไป
การนำเสนอผลงานที่สะท้อนถึงปัญหาต่างๆ ในสังคมอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้แอนเซลกลายเป็นที่จดจำในฐานะนักเคลื่อนไหวทางด้านสิ่งแวดล้อมมากกว่าช่างภาพฝีมือเยี่ยมเสียอีก
สิ่งหนึ่งที่ไม่เท่ากันคือ การมองเห็น ด้วยใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถสอนหรือถ่ายทอดให้กันได้
แม้บทบาทนักอนุรักษ์จะเด่นชัดเพียงใด หากแต่สิ่งที่แอนเซล อดัมส์รักมากที่สุด ก็ยังเป็นการถ่ายภาพ เหมือนเช่นเคย
“ผู้คนมักประหลาดใจ เมื่อผมบอกว่าไม่เคยตั้งใจถ่ายภาพที่เกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยตรงเลย แม้ส่วนตัวผมจะรู้สึกยินดีที่ได้เห็นภาพของตัวเองเป็นประโยชน์ เพราะที่ผ่านมา ผมไม่เคยรู้ล่วงหน้าเลยว่า จะถ่ายอะไรบ้าง ผมเพียงแค่ออกไปสู่โลกกว้าง และหวังว่าจะได้เจอบางสิ่งบางอย่างที่ทำให้รู้สึกสนใจ เพราะฉะนั้นไม่ต้องสงสัยเลยว่า ผมคงจะถ่ายภาพต่อไปตราบเท่าที่ตัวเองยังมีลมหายใจ”
แอนเซลเขียนตำราการถ่ายภาพออกมาหลายเล่ม เขามีส่วนสำคัญในการเปิดแผนกถ่ายภาพที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ในนิวยอร์ก รวมทั้งยังเดินสายให้ความรู้เกี่ยวกับเทคนิคการถ่ายภาพในโรงเรียนต่างๆ ซึ่งหนึ่งผลงานที่ยิ่งใหญ่สุด คือการพัฒนา Zone System ซึ่งว่าด้วยการวางแผนและการวัดแสง ร่วมกับ Fred Archer ระหว่างที่สอนเรื่องการถ่ายภาพอยู่ที่ The Art Center School ในลอสแองเจลิส ราวปี 1939–1940
เขาเล่าถึงสาเหตุของการพัฒนาแนวคิดนี้ว่า เป็นเพราะนักเรียนส่วนใหญ่มักพยายามเลียนแบบวิธีการถ่ายภาพของครู จึงอยากสร้างระบบหรือวิธีคิดอะไรสักอย่างเพื่อเป็นแนวทางให้ลูกศิษย์นำไปต่อยอด เพื่อสร้างสรรค์ผลงานตามสไตล์ของตัวเอง ซึ่งสุดท้ายแล้วเทคนิคนี้ก็ได้ผล และกลายเป็นรากฐานสำคัญสำหรับการถ่ายภาพขาวดำต่อมาอีกหลายสิบปี
นอกจากนี้ เขายังสนุกสนานกับการสร้างสรรค์งานที่ไม่เหมือนใคร แอนเซลทำงานทุกวัน ทั้งถ่ายภาพ ล้างภาพ รวมทั้งตามหาแรงบันดาลใจใหม่ๆ เพื่อถ่ายภาพ
อย่างในช่วงบ่ายแก่ๆ ของวันที่ 1 พฤศจิกายน 1941 ช่างภาพใหญ่ขับรถผ่านถนนในรัฐนิวเม็กซิโก พร้อมกับลูกชาย จังหวะที่เงยหน้าดูท้องฟ้าก็เห็นดวงจันทร์กำลังลอยอยู่เหนือเมฆที่ปกคลุมภูเขา จึงรีบจอดรถแล้วบันทึกภาพทันที เขาถ่ายภาพนี้ได้เพียงชอตเดียวเท่านั้น เพราะระหว่างที่กลับด้านเพลทเพื่อถ่ายภาพที่ 2 กลุ่มเมฆและดวงจันทร์ก็เลือนหายไปเรียบร้อยแล้ว
ภาพ Moonrise over Hernandez, New Mexico กลายเป็นหนึ่งในภาพที่ราคาสูงสุดของแอนเซล โดยภาพต้นฉบับถูกประมูลไปด้วยราคาถึง 609,600 เหรียญ หรือประมาณ 25 ล้านบาท
“ช่างภาพทุกคน มักมองหาบางสิ่ง บางอย่างรอบๆ ตัวอยู่เสมอ.. เพื่อสร้างผลงานใหม่ๆ ทุกคนมีดวงตาและมีความคิด.. แต่มีสิ่งหนึ่งที่ไม่เท่ากันคือ การมองเห็น ด้วยใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถสอนหรือถ่ายทอดให้กันได้ และทุกคนจะต้องสร้างพลังส่วนนี้ แล้วผสมผสานกับผลงานของตัวเอง
“บางครั้งผมต้องสำรวมสมาธิและสงบจิตใจ เมื่อต้องเผชิญกับปัญหาเฉพาะหน้าในขณะที่จะบันทึกภาพ ผมยอมรับว่าบางเวลาก็ต้องใช้การเดาสุ่มเหมือนกันด้วยจิตสำนึก ภาพส่วนใหญ่ของผม วัตถุหรือสิ่งสะดุดตา เป็นสิ่งที่พบเห็นขึ้นมาเอง โดยไม่จำเป็นต้องปรุงแต่งหรือเสแสร้งขึ้นมา มันมักจะเกิดขึ้นทันทีทันใดที่ผมได้เห็น และรู้ว่าตรงไหนคือคุณค่าของมัน”
ในช่วงท้ายของชีวิต แอนเซลยังคงขับเคลื่อนเรื่องสิ่งแวดล้อมและการถ่ายภาพไม่เปลี่ยนแปลง ทุกๆ ปี เขาจะเดินทางไปล็อบบี้สมาชิกรัฐสภา เพื่อเพิ่มเขตอนุรักษ์ให้ผืนป่าต่างๆ ได้พบกับผู้นำสหรัฐอเมริกาหลายคน โดยเมื่อปี 1980 ประธานาธิบดี Jimmy Carter ได้มอบเหรียญ Presidential Medal of Freedom เครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดของสหรัฐอเมริกา ในฐานะผู้อุทิศตนเพื่อประโยชน์สาธารณะของประเทศ
ส่วนเวลาที่เหลือ หากไม่เดินทางไปยังโยเซมิตีแล้ว ก็มักใช้เวลาอยู่ในห้องมืด คอยอัดภาพตามออเดอร์ของลูกค้า
ในวัย 80 กว่า แอนเซลมีฝันสุดท้ายที่อยากจะทำ คือการคัดสรรผลงานระดับมาสเตอร์พีซ เพื่อนำไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ น่าเสียดายที่แอนเซลทำโครงการนี้ไม่สำเร็จ เพราะเขาจากไปเมื่อวันที่ 22 เมษายน 1984 ด้วยวัย 82 ปี
หลังแอนเซลเสียชีวิตไปครึ่งปี สภาคองเกรสได้กำหนดพื้นที่กว่า 200,000 เอเคอร์ใกล้โยเซมิตี ให้เป็นเขตอนุรักษ์เรียกว่า The Ansel Adams Wilderness Area และปีถัดมา ก็ได้มีการตั้งชื่อภูเขาสูง 11,760 ฟุต ในเขตอุทยานแห่งชาติโยเซมิตีว่า Mount Ansel Adams
แม้สุดท้ายแอนเซลจะไม่ได้อยู่รับทราบเรื่องราวเหล่านี้ แต่สำหรับช่างภาพคนหนึ่งแล้ว บางทีนี่คงเป็นผลตอบแทนอันยิ่งใหญ่ของความทุ่มเททั้งชีวิตเพื่อสิ่งที่รักมานานตลอด 7 ทศวรรษ
จะเป็นอย่างไร ถ้าวันหนึ่งคุณได้เข้าป่าไปกับ สืบ นาคะเสถียร
นักอนุรักษ์ผู้เป็นแรงบันดาลให้นักเคลื่อนไหวด้านธรรมชาติรุ่นใหม่ เป็นผู้บุกเบิกค่ายเยาวชนเชียงดาว
ผู้กำกับภาพยนตร์ระดับตำนาน ผู้บุกเบิกและพาภาพยนตร์ไทยไปสู่ระดับบนานาชาติ หวังยกระดับอุตสาหกรรมนี้ให้ทัดเทียมนานาชาติ
บิดาแห่งการอนุรักษ์ธรรมชาติ บุคคลสำคัญที่ทำให้เกิดอุทยานแห่งชาติขึ้นในประเทศไทย
นักวิจัยทำงานเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรเชียงดาว พร้อมกับพัฒนาพื้นที่แห่งนี้ให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวตามวิถีธรรมชาติที่ยั่งยืน
นักธุรกิจที่หลงใหลธรรมชาติ จนกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องปลาระดับต้นๆ ของเมืองไทย และเป็นผู้บุกเบิกเว็บไซต์ Siamensis.org
ฟาร์มสเตย์จากโคราชที่ก่อตั้งโดยกลุ่มพิการ ซึ่งพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นถึงศักยภาพที่ยิ่งใหญ่ด้วยการสร้างสถานที่ท่องเที่ยวที่พร้อมรองรับทุกคน
แรงบันดาลใจของเพื่อน 4 คนที่อยากช่วยแก้ปัญหาจราจรในเมืองกรุง จึงรวมตัวกันพัฒนาแพลตฟอร์มรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าเพื่อให้ที่มีจุดหมายปลายทางใกล้เคียงกัน มาร่วมเดินทางด้วยกันได้
คู่รักนักเพศวิทยาที่ตัดสินใจเปิดพื้นที่ปลอดภัยให้ทุกคนได้มาพูดคุยเรื่องเพศของตัวเองอย่างตรงไปตรงมา พร้อมเป็นสื่อกลางถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องเพศที่เหมาะสมต่อสาธารณชน
องค์กรที่ทำหน้าที่ผู้พิทักษ์อาหาร ส่งต่ออาหารส่วนเกินจากภาคส่วนต่างๆ เพื่อสร้างความสุขให้แก่ผู้คนที่ขาดแคลน และปราศจากโอกาส
‘คนฝั่งธน’ รุ่นใหม่ ที่อยากขอทำหน้าที่เป็นสื่อกลาง คอยชักชวนผู้คนในพื้นที่ ให้มาร่วมกันบอกเล่าถึงเสน่ห์ของเมืองหลวงเก่าแห่งนี้
กลุ่มออนไลน์ที่เกิดจากการแบ่งปันความรู้เรื่องเมล็ดพันธุ์ ต่อยอดมาสู่การสร้างโรงเรียนปลูกป่าที่มีเป้าหมายอยากรักษาพันธุ์ไม้ดีๆ ให้อยู่คู่เมืองไทยตลอดไป
COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO. ALL RIGHTS RESERVED.