หากพูดถึงชื่อ พเยาว์ พูนธรัตน์ ในวันนี้ หลายคนอาจลืมเลือนไปแล้วว่า เขาเป็นใคร
แต่ถ้าย้อนกลับไปเมื่อปี 2519 นักมวยหนุ่มวัย 19 ปีผู้นี้ เคยสร้างรอยยิ้มและความสุขให้คนไทยทั้งประเทศ หลังเขาเขียนประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของวงการกีฬาไทย ด้วยการคว้าเหรียญทองแดงโอลิมปิกเหรียญแรก มาครองได้สำเร็จ
ยอดมนุษย์..คนธรรมดา จึงขอพาทุกคนไปสัมผัสเส้นทางชีวิตอันแสนวิบากของนักชกวีรบุรุษ ผู้ไม่เคยย่อท้อต่ออุปสรรค แม้จะต้องสู้สุดกำลังก็ตาม
เวลาตี 1 ของวันที่ 28 กรกฎาคม 2519
จิตใจของคนไทยทั่วประเทศ ต่างมุ่งตรงไปยังเมืองมอนทรีออล ประเทศแคนาดา
เพื่อส่งกำลังใจให้ พเยาว์ พูนธรัตน์ นักชกหนุ่มโนเนมจากบางสะพาน หลังฝ่าด่านอรหันต์ เข้ารอบ 8 คนสุดท้ายได้สำเร็จ เพราะหากชนะนัดนี้ เขาจะกลายเป็นนักกีฬาคนแรกของไทยที่คว้าเหรียญรางวัลจากกีฬาโอลิมปิก มหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่สุดของมวลมนุษยชาติ
เดิมที พเยาว์ไม่ใช่นักชกความหวังของสมาคมมวยฯ เพราะถึงจะเป็นลูกศิษย์ครูมวยคนดัง แต่เขาก็เพิ่งเริ่มลงสนามมวยสากลสมัครเล่นจริงจังได้เพียง 2 ปีเท่านั้น
แต่ด้วยความมุ่งมั่นเกินพิกัด แม้ถูกชกจนเลือดอาบ แต่พเยาว์ก็บุกแหลกจนชนะคู่แข่งมาได้ต่อเนื่อง ตั้งแต่ เรมัส คอสมา จากโรมาเนีย และ อเล็ก ซานเดอร์ กาเชนโก จากสหภาพโซเวียต
ในรอบ 8 คนสุดท้าย เขาต้องเจอคู่ปรับคนสำคัญ เจิร์จ แกโด แชมป์เก่าจากโอลิมปิกที่มิวนิก
ครั้งนั้นพเยาว์เป็นรองทุกกรณี ทั้งชื่อเสียง ฝีมือ และโดยเฉพาะความสดของร่างกาย
เนื่องจากนัดก่อนหน้านั้น นักมวยหนุ่มพบศึกหนัก เจอนักชกแชมป์ยุโรป โดยยกแรก พเยาว์ใช้จังหวะทีเผลอยิงหมัดขวาเสยเข้าปลายคางแชมป์ยุโรป จนต้องลงไปนอนให้กรรมการนับ 9
มายก 2 พเยาว์ยังแรงไม่หยุด เดินหน้าต่อยนักชกรัสเซีย จนต้องลงไปนอนอีกรอบ
แต่พออถึงยก 3 แชมป์ยุโรปขอเอาคืน บุกเอาหัวชนนักชกไทย จนตาซ้ายบวมเป่ง หัวคิ้วขวาแตก เลือดทะลัก ต้องเรียกหมอสนามขึ้นมาเช็ดเลือด
ก่อนที่กรรมการจะชูมือให้นักชกไทย ชนะไปด้วยคะแนน 3-2
ครั้งเมื่อถึงนัดประวัติศาสตร์ พ.อ. สุธีร์ พรหมใจรักษ์ โค้ชทีมชาติ ให้สัมภาษณ์กับนักข่าวก่อนการแข่งขันด้วยน้ำเสียงไม่มั่นใจว่า หากพเยาว์ถูกซ้ำแผลเดิม คงต้องโยนผ้ายอมแพ้ก่อนหมดยก เพราะเท่าที่เป็นอยู่ก็ทรมานมากแล้ว พร้อมย้ำแผนการต่อสู้ว่า ต้องชกวงนอกเป็นหลัก แล้วค่อยดักด้วยหมัดขวาสั้นเอา
หากแต่เด็กหนุ่มไม่อยากยอมแพ้ เขาบอกว่า ขอสู้เต็มที่ แม้ต้องตายคาเวทีก็ยอม
ในวันนั้นพเยาว์เดินหน้าเต็มที่ แย็บซ้ายนำ ตามด้วยขวาตรงเข้าหน้าแชมป์เก่า จากนั้นก็รัวไม่ยั้ง ที่ลำตัวสลับใบหน้า จนแกโด ถอยแทบไม่ทัน พอยก 2 แชมป์เก่าขอสู้กลับ ชกไปที่หน้าพเยาว์ ถูกปลายคิ้วขวา แผลเก่า จนเลือดอาบ แต่นักชกไทยไม่ยอมแพ้ ถึงเลือดเข้าตาก็ยังเดินหน้าใส่หมัดขวาไม่ยั้ง
ปิดท้ายด้วยยกชิงดำ ก็ยังเป็นฝ่ายนักชกไทยที่เดินหน้าต่อยไม่คิดชีวิต จนแชมป์เก่าเกือบล้ม
ผลรวมคะแนน หักปากกาเซียน เพราะพเยาว์ชนะขาดลอยด้วยคะแนน 4-1 กลายเป็นนักชกไทยคนแรกที่คว้าเหรียญจากโอลิมปิก หลังจากที่ทัพนักกีฬาไทยต้องรอคอยมานานถึง 24 ปีเต็ม
“ตอนนั้นรู้สึกว่าชกไปโดยอัตโนมัติ ร่างกายมันฟิต มันพร้อม ตอนมาดูย้อนหลัง ก็ยังไม่รู้เหมือนกันว่า ทำไมตัวเองถึงทำได้ดีขนาดนั้น”
ในนัดต่อมา รอบรองชนะเลิศ พเยาว์ ต้องพบกับ รี พย็อง-อุก นักชกจากเกาหลีเหนือ
หากแต่ในนัดนี้ ตัวแทนโสมแดงจับจุดอ่อนของพเยาว์ได้ เพราะมุ่งตรงไปยังแผลเก่าตรงคิ้วซ้ายซึ่งบวมเป่งอย่างเดียว จนแตกเลือดทะลักอาบหน้านักมวยหนุ่ม พอขึ้นยก 2 พเยาว์ไม่สามารถห้ามเลือดได้ หลังชกไปได้ 23 วินาที กรรมการจึงยุติการชก ยกมือให้ พย็อง-อุก ชนะไป ส่วนพเยาว์ถูกส่งต่อเข้าห้องพยาบาล ต้องเย็บถึง 7 เข็มเลยทีเดียว
แม้จะพลาดโอกาสเข้าชิงเหรียญทอง แต่อย่างน้อย พเยาว์ก็สร้างกระแส Talk of the Town ไปทั่วประเทศ พร้อมประกาศให้ชาวโลกรู้ว่า นักกีฬาไทยก็เจ๋งไม่แพ้ใครเหมือนกัน
ถ้าจะบอกว่า เส้นทางการเป็นนักชกของพเยาว์เป็นเรื่องบังเอิญก็คงไม่ผิด
ครั้งหนึ่งพเยาว์เคยบอกว่า มี 2 เหตุผลที่เลือกทางนี้ หนึ่งคือจน สองคือชอบ
“ไม่มีเงินเรียนหนังสือ อันนี้เป็นสาเหตุใหญ่ แล้วมันอาจเป็นเพราะว่ามีพรสวรรค์ด้านนี้ ทำอย่างอื่นแล้วไม่ดี ได้เงินน้อยก็เลยหันมาชกมวย ตอนเด็กๆ ดูเขาชกกัน คิดว่าตัวเราเองทำได้ดีกว่านั้น มันฮึกเหิม แต่ไม่ได้ไปในทางที่ผิด”
พเยาว์ฝึกมวยกับครูแถวบ้าน ชื่อ ชุ่ม ดีจรรย์ ซ้อมกันตามหลังบ้าน วิ่งบ้าง เตะกระสอบบ้าง
พอขึ้น มศ.3 ก็เริ่มขึ้นเวทีมวยตามงานวัด หาเงินมาช่วยยาย ปรากฏว่า แววดี ชกกี่ครั้งก็ชนะหมด
ต่อมาเมื่อย้ายเข้ากรุงเทพฯ วางแผนชีวิตจะไปเข้าโรงเรียนของทหารอากาศ ปรากฏว่า ผ่านข้อเขียน แต่ตกสัมภาษณ์ แถมทั้งเนื้อทั้งตัวมีเงินแค่ร้อยกว่าบาท และที่บ้านไม่มีเงินส่งให้ไปเรียนที่ไหน ปีนั้นก็เลยเคว้ง ไม่รู้จะทำอะไรดี
แต่เด็กหนุ่มไม่ยอมปล่อยชีวิตไปตามยถากรรม เขาพาตัวเองไปอยู่กับยอดมวยไทย อย่าง ออมทรัพย์ แหลมฟ้าฝ่า หวังหารายได้จากสังเวียนมวย
พเยาว์ขึ้นชกบนเวทีราชดำเนิน และลุมพินี ในนาม เพชรพเยาว์ ศิษย์ครูทัต แต่ปรากฏว่า ไม่ค่อยรุ่งเท่าไหร่ หลังชกไปได้ 4 ครั้ง ก็เลยตัดสินใจเบนเข็มไปชกมวยสากลสมัครเล่นแทน
เพียงขึ้นเวทีครั้งแรก พเยาว์ก็ได้เป็นรองแชมป์ทีวีสี ต่อมาเป็นตัวแทนทีมชาติไปชิงแชมป์เอเชีย รุ่นฟลายเวท ที่ญี่ปุ่น ด้วยความสดและความมุ่งมั่นเต็มพิกัด เลยทะลุไปถึงรอบชิงชนะเลิศ ก่อนพลาดท่าเสียทีให้ ฟูจิโอะ นากากิ ได้เหรียญเงินกลับบ้าน
หลังจากนั้นเขาก็วนเวียนอยู่ในสนามแข่งอีกหลายเวที เป็นตัวแทนศูนย์ฝึกพลศึกษา ได้เหรียญมาครองหลายเหรียญ พร้อมสถิติ ชก 58 ครั้ง แพ้เพียง 4 ครั้ง
จุดพลิกสำคัญของพเยาว์ เกิดขึ้นเมื่อปี 2519 หลังเขาเปิดหนังสือพิมพ์ไปเจอข่าวว่าสมาคมมวยฯ กำลังตามหานักชกฝีมือดีไปเข้าร่วมแข่งขันโอลิมปิก พเยาว์คิดว่านี่เป็นโอกาสดี ก็เลยลองสมัครดู ปรากฏฝีไม้ลายมือเข้าตา พ.อ. สุธีร์ พรหมใจรักษ์ ก็เลยให้เป็นตัวแทนทีมชาติรุ่นไลท์ฟลายเวท
ข้อมูลจาก Main Stand เล่าว่า สื่อไทยยุคนั้นไม่ได้คิดว่า มวยสากลสมัครเล่นจะคว้าเหรียญได้ กีฬาที่เป็นความหวังมากกว่าคือ ว่ายน้ำ, ยิงปืน และกรีฑา
อีกปัจจัยที่สำคัญ คือ ทีมมวยสากลมีเวลาเตรียมตัวน้อยมาก เพียง 2 สัปดาห์ก่อนเดินทาง เพราะฉะนั้นถ้าเจอนักมวยสายแข็ง รับรองว่าแพ้ย่อยยับแน่นอน แถมพอไปถึงแคนาดายังเจอปัญหาสารพัด ทั้งอาหารที่ไม่ถูกปาก แถมโค้ชยังสั่งซ้อมหนัก ให้ชกวันละ 10-14 ยก จนข้อมือของพเยาว์เกิดอาการซ้น ที่สำคัญยังเสียเปรียบเรื่องรูปร่าง
แต่ทีมนักกีฬามวยก็สร้างปาฏิหาริย์ได้สำเร็จ โดยพเยาว์ทะลุถึงรอบ 4 คนสุดท้าย ส่วน วีระชาติ สะเทิ้งรัมย์ หรือฉายาในวงการ น่านฟ้า สีหราชเดโช ก็ผ่านมาถึงรอบ 8 คน เสียดายทีมสตาฟโค้ชอยากให้น่านฟ้าเปลี่ยนสไตล์การชกจากมวยเชิงเป็นมวยบุก ทำให้นักมวยหนุ่มเกิดผิดฟอร์ม พ่ายคะแนนไปอย่างน่าเสียดาย
ความสำเร็จครั้งนั้น เปลี่ยนชีวิตของพเยาว์ จากหน้ามือเป็นหลังมือ
เมื่อถึงแผ่นดินเกิด ก็มีรถแห่จากไทยรัฐไปรับถึงสนามบิน ประธานโอลิมปิกไทยถึงขั้นบอกว่า จะรับอุปการะนักมวยหนุ่ม เพื่อผลักดันให้โลดแล่นในวงการกีฬาเต็มที่ แถมเมื่อเรียนจบจากเทคนิคกรุงเทพฯ ธนาคารกรุงเทพก็รับเป็นพนักงานทันที โดยเขายังสามารถชกมวยควบคู่ไปด้วย
เป้าหมายของพเยาว์ คือการกลับมาแก้มืออีกครั้ง ในโอลิมปิกครั้งถัดไป แต่น่าเสียดายที่ความหวังของเขาไม่เคยเกิดขึ้นจริง
โอลิมปิกครั้งต่อมา ถูกจัดขึ้นที่กรุงมอสโก สหภาพโซเวียต แต่ด้วยนโยบายการเมืองของไทย ซึ่งเป็นพันธมิตรที่แนบแน่นกับสหรัฐอเมริกา จึงเลือกบอยคอร์ต งดส่งนักกีฬาเข้าร่วมแข่งขัน
ด้วยวัยที่มากขึ้นเรื่อยๆ พเยาว์ตัดสินใจเบนเข็มหันมาชกมวยอาชีพแทน เมื่อปลายปี 2524
เส้นทางนักชกของพเยาว์ ท้าทายไม่แพ้ตอนล่าเหรียญโอลิมปิกเลย
เขาเริ่มต้นเข้าสังกัดของ ธรรมนูญ วรสิงห์ แต่ไม่นานก็ย้ายไปอยู่กับโปรโมเตอร์ชาวฟิลิปปินส์ ได้แข่งกับนักมวยเกาหลีใต้ แต่การแข่งขันครั้งนั้นมีปัญหาเต็มไปหมด ตั้งแต่การที่เขารู้กำหนดการก่อนล่วงหน้าไม่นาน จึงเตรียมร่างกายไม่ทัน แต่พเยาว์ก็ยังสามารถโชว์ความเก๋าให้แฟนๆ เห็น ด้วยการใส่หมัดเด็ดจนนักมวยเจ้าถิ่นร่วงไปนอนนับแปด
ทว่าสุดท้ายผลคะแนนกลับไม่เป็นอย่างที่คิด เพราะกรรมการชูมือให้นักชกโสมขาวเป็นฝ่ายชนะ
แม้จะผิดหวัง แต่พเยาว์ก็ไม่เคยท้อ เขาพยายามฝึกหนัก หวังจะประสบความสำเร็จบนทางสายนี้ให้ได้ โดยมี สหสมภพ ศรีสมวงศ์ ผู้ปลุกปั้นแชมป์โลกระดับตำนานของเมืองไทย คอยสนับสนุนเต็มที่
พเยาว์ลงสนามต่อเนื่อง พัฒนาฝีหมัดให้แม่นยำ กระทั่งได้รับโอกาสให้ขึ้นชิงแชมป์โลก รุ่นซูเปอร์ฟลายเวท ของสภามวยโลก (WBC) กับ ราฟาเอล โอโรโน แชมป์โลกชาวเวเนซุเอลา ในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2526
การแข่งขันเป็นไปอย่างสูสี ต่างฝ่ายต่างออกหมัดกันเต็มที่ แล้วก็เป็นฝ่ายฮีโร่โอลิมปิกที่ชนะคะแนนไปหวุดหวิด กลายเป็นแชมป์โลกชาวไทย คนที่ 7 และเป็นคนแรกในรอบ 5 ปี หลังจาก แสนศักดิ์ เมืองสุรินทร์ หลุดแชมป์ตั้งแต่ปี 2521
นักมวยหนุ่มยอมรับตามตรงว่า เขารู้สึกกังวลเสมอเวลาขึ้นเวที
“ทุกครั้งที่ชกนี่ผมกลัวแพ้ ตื่นเต้น ประหม่า ทำให้สับสน ผมไม่เคยมั่นใจเลยว่าจะชนะเขา แต่ก็ชกจนสุดความสามารถทุกครั้ง”
หลังจากนั้นเขาก็มีโอกาสได้ชกป้องกันแชมป์ กับอดีตแชมป์โลกชาวเม็กซิกัน ครั้งนั้นพเยาว์เกือบแพ้ เพราะคู่ต่อสู้สอยจนต้องลงไปนอนให้กรรมการนับ 8 แต่สุดท้ายก็ผ่านมาได้
พเยาว์มาแชมป์หลุดจริงๆ ก็ตอนเดินทางไปญี่ปุ่น เพื่อแข่งกับ จิโร วาตานาเบะ แชมป์รุ่นเดียว แต่ละคนสถาบันคือ สมาคมมวยโลก (WBC) ครั้งนั้นพเยาว์ทำผลงานได้น่าพอใจ แต่จบ 12 ยก กรรมการกลับชูมือให้อีกฝ่าย
“ผมคิดว่า ผมทำดีที่สุด แต่ไม่สามารถน็อกเขาได้ เพราะการตัดสินใจยังไม่ดีเท่าที่ควร ยังรีรอลังเลอยู่ ผมมาทราบเอาตอนหลังว่า ชกกับเขา ต้องน็อกอย่างเดียว ไม่งั้นจะแพ้ ยกที่ 1-6 ผมไม่แพ้เลย คิดว่าเก็บคะแนนได้หมด แต่ผลออกมากลายเป็นแพ้หมดทุกยก แต่ผมไม่เสียใจนะ เพราะผมเป็นนักกีฬา แพ้ชนะเป็นของธรรมดา เพื่อนฝูงทุกคนก็บอกว่า เป็นการชกที่ดีที่สุดในชีวิตของผม”
ไม่กี่เดือนต่อมา พเยาว์ก็มีโอกาสแก้มืออีกหน แต่ครั้งนี้ เขาเป็นฝ่ายที่โดนน็อกในยกที่ 11 หลังจากนั้นฟอร์มของนักชกเหรียญทองแดง ก็ถดถอยลงเรื่อยๆ ก่อนจะตัดสินใจแขวนนวมในที่สุด
ทุกครั้งที่ชกนี่ผมกลัวแพ้ ตื่นเต้น ประหม่า ทำให้สับสน ผมไม่เคยมั่นใจเลยว่าจะชนะเขา แต่ก็ชกจนสุดความสามารถทุกครั้ง
เส้นทางชีวิตหลังสังเวียน พเยาว์ยังคงทำงานที่ธนาคารกรุงเทพอยู่พักใหญ่ ก่อนจะโยกย้ายมาเป็นตำรวจ ประจำกองโยธาธิการ ครองยศเป็นถึงร้อยตำรวจเอก
หากแต่ฝันของเขาไกลกว่านั้น ในปี 2538 พเยาว์ลาออกจากราชการ เพื่อลงสมัครเป็น ส.ส.ที่บ้านเกิด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พร้อมนโยบายผลักดันให้ประจวบฯ เป็นเจ้าภาพกีฬาแห่งชาติ ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดกระทรวงกีฬา ขึ้นในเมืองไทยสักที
หากสนามการเมือง ก็ไม่ต่างจากวงการมวย เพราะที่เมืองประจวบฯ มีเจ้าถิ่นผูกขาดมานานหลายสิบปี พเยาว์ซึ่งมีแต่ชื่อเสียง ไม่มีฐานเสียง จึงแพ้คะแนนแบบลุ้นไม่ขึ้น
แต่ด้วยเลือดนักสู้ เขาถือคติสู้ไม่ถอย ยังคงลงพื้นที่ หาคะแนนเสียง รอวันแก้มืออยู่เสมอ กระทั่งมาถึงรอบที่ 3 ความฝันของฮีโรโอลิมปิกผู้นี้ก็สำเร็จ กลายเป็น ส.ส.ป้ายแดง เมื่อปี 2544
แต่ความสุขอยู่ได้ไม่นาน ผ่านไปได้ปีเศษๆ พเยาว์ก็ล้มป่วยกะทันหัน ด้วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (ALS) โรคร้ายที่ไม่มีทางรักษาได้
ผลของข่าวร้ายบั่นทอนชีวิตของนักมวยในตำนานไปไม่น้อย เขาแทบไม่ปรากฏตัวผ่านสื่อเลย
ร่างกายที่เคยเดินเหินได้สะดวก กลับต้องมานั่งรถเข็น ปากที่เคยพูดคุยสื่อสารได้ ก็เริ่มหยุดทำงาน มือที่เคยพิชิตคู่ต่อสู้มานักต่อนัก ก็ขยับไม่ได้อีกต่อไป การหายใจก็เริ่มติดขัด อาหารก็กินได้ลำบาก เพราะมีอาการสำลักตลอดเวลา
สิ่งเดียวที่หลงเหลือคือความทรงจำและสมอง
ครั้งนั้นพเยาว์พยายามสู้สุดกำลัง ทั้งใช้สมุนไพร บริโภคอาหารเสริม แต่อาการก็ไม่ดีขึ้นเลย
เขาบอกว่า เป็นผลพวงของความบอบช้ำจากการต่อสู้มาต่อเนื่องหลายปี แถมเลือดที่เสียก็ไม่สามารถฟอกได้
หลังเก็บตัวอยู่นานหลายปี ในเดือนเมษายน 2548 พเยาว์ปรากฏตัวอีกครั้ง เพื่อรับรางวัลทำเนียบเกียรติยศนักกีฬาไทย ของสมาคมผู้สื่อข่าวกีฬาแห่งประเทศไทย
ตอนนั้นอาการของพเยาว์ทรุดหนักมาก แต่เขาก็ยังอยากสื่อสารกับผู้คนภายนอก จึงใช้ปากคาบหลอดกาแฟแล้วจิ้มไปยังพยัญชนะและสระบนแผ่นกระดาษ จากนั้นก็ให้คนจดตาม กระทั่งได้ถ้อยคำที่กลั่นจากใจยาวถึง 2 ย่อหน้าเต็มๆ
เขาเล่าเรื่องราวของตัวเอง พร้อมเปิดเผยตัวเลขรักษาที่ตกเฉลี่ยถึงเดือนละ 40,000 กว่าบาท ตลอดจนเรียกร้องให้รัฐบาลจัดงบประมาณวิจัยโรค ALS และหาวิธีช่วยเหลือผู้ป่วยโรคนี้ให้มากขึ้น
สำหรับพเยาว์แล้ว เขาคงรู้ดีว่า ไม่สามารถเอาชนะความตายได้ แต่อย่างน้อยๆ บางทีนี่อาจเป็นโอกาสสำคัญที่เขาจะได้ทำหน้าที่ผู้แทนประชาชนเป็นครั้งสุดท้าย
ก่อนจะจากไปอย่างสงบในอีก 1 ปีถัดมา ทิ้งไว้แต่เรื่องราวอันยิ่งใหญ่ของผู้สร้างประวัติศาสตร์แก่วงการกีฬาไทย
เรื่องราวของ 3 บุคคลจากแดนอาทิตย์อุทัย ที่อยู่เบื้องหลังทำให้ญี่ปุ่น จากผู้แพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ให้กลายเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ได้จัดกีฬาโอลิมปิก เมื่อปี 1964
ย้อนเรื่องราวตำนานอันหรทดนักชก เจ้าของเหรียญโอลิมปิกคนแรกของเมืองไทย และยังเป็นแชมป์มวยโลก หมายเลข 7 ของประเทศอีกด้วย
โค้ชอ๊อต อดีตหัวหน้าสต๊าฟโค้ชวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย ผู้ที่ทำให้ทีมโนเนม กลายเป็นทีมระดับโลกที่มีผู้คนต่างยกนิ้วให้
จากนักแกะสลักน้ำแข็ง สู่สุดยอดทีมนักแกะสลักหิมะ ที่คว้าชัยในเทศกาลหิมะอันดับ 1 อย่างต่อเนื่อง พร้อมพิสูจน์ให้โลกได้เห็นว่า ถึงเมืองไทยไม่มีหิมะ เราก็สร้างที่ยิ่งใหญ่ได้
ครูแพทย์นักคิด นักบุกเบิก ผู้สร้างนวัตกรรมแก่สังคมไทย ทั้งแพทย์แผนไทยประยุกต์ วิทยาศาสตร์การกีฬา วิ่งเพื่อสุขภาพ น้ำเกลือ และอื่นๆ อีกมากมาย
หนุ่มพังงาที่อยากพลิกฟื้นบ้านเกิดให้ดีขึ้นด้วยกีฬาโต้คลื่น จนนำมาสู่การผลักดัน Khaolak Surf Town และเทศกาลการเล่นเซิร์ฟระดับประเทศ
เครือข่ายที่ทำงานเรื่องการ ‘ตายดี’ เพื่อช่วยให้ผู้คนสามารถจากไปได้มีความสุข และลดความขัดแย้งแก่คนรอบใกล้ที่คอยดูแลด้วย
เครือข่ายอนุรักษ์ที่อยากส่งต่อเรื่องราว ความรู้เกี่ยวกับวาฬบรูด้า และผองเพื่อนในท้องทะเล เพื่อให้ทุกคนลุกขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งในการปกปักรักษาสิ่งมีชีวิตและทรัพยากรธรรมชาติใต้ผืนน้ำให้คงอยู่ตลอดไป
ตำนานศิลปินร็อก ผู้จุดกระแสเพลงเก็บตะวันให้ข้ามกาลเวลา รวมทั้งยังเป็นผู้สร้างยุคใหม่ให้แก่ RS สู่การเป็นเบอร์ 2 ของวงการเพลงไทยอย่างแท้จริง
คุณยายผู้เป็นสัญลักษณ์ของละครเมืองไทย ที่มีผลงานต่อเนื่องมากว่า 40 ปี ทั้ง คู่กรรม สายโลหิต บุพเพสันนิวาส
Armchair ศิลปินขวัญใจวัยรุ่นยุคอินดี้ ผู้บุกเบิกเพลงบอสซาโนวา เจ้าของเพลงฮิตสุดละมุนที่ยังตรึงอยู่ในใจแฟนเพลงถึงวันนี้
นักเขียนการ์ตูนที่พาผลงานมังงะจากเอเชียให้โด่งดังไปไกลทั่วโลก ปลุกกระแสดราก้อนบอล ให้เข้าอยู่ในใจเด็กๆ ยาวนานกว่า 3 ทศวรรษ
COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO. ALL RIGHTS RESERVED.