Fan Ho : ช่างภาพแสงเทพแห่งฮ่องกง

<< แชร์บทความนี้

แม้จะถ่ายทอดมานานกว่า 60 ปี แต่ภาพขาวดำที่บอกเล่าวิถีชีวิตผู้คนและบรรยากาศในเกาะฮ่องกง ของ ฟาน โฮ – Fan Ho ช่างภาพแนวสตรีทชาวจีน ก็ยังคงเปี่ยมด้วยพลัง โดยเฉพาะการเล่นกับแสงและเงาที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ล้ำสมัย จนยากจะละสายตาได้

นี่คือผลงานชิ้นโบแดงที่ส่งให้เขากลายเป็นเทพเจ้าแห่งแสงของวงการ ยืนยันได้จากการกวาดรางวัลจากการประกวดภาพถ่ายทั้งระดับภูมิภาคและนานาชาติมาแล้วเกือบ 300 รางวัล

แต่กว่าจะถึงจุดสูงสุดเช่นนี้ เส้นทางชีวิตของโฮ มีเรื่องราวมากมายเต็มไปหมด ตั้งแต่ความฝันที่จะเป็นนักเล่าเรื่อง ไปสู่ช่างภาพที่ประสบความสำเร็จสูงสุด และกลายมาเป็นผู้กำกับหนังของ Shaw Brothers ค่ายหนังในตำนานของฮ่องกง

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ร่วมกับ D1839 อยากพาทุกคนไปสัมผัสกับชีวิตและตัวตนของฟาน โฮ แล้วคุณจะเข้าใจว่า เหตุใดช่างภาพทั่วโลกถึงต้องซูฮกให้ผู้ชายคนนี้

ชายผู้หลงใหลการเล่าเรื่อง

ฟาน โฮ เกิดและเติบโตในมหานครเซี่ยงไฮ้ เมื่อปี 1931

สมัยเด็กๆ เขาไม่ได้ใกล้ชิดกับพ่อแม่เท่าใดนัก เพราะทั้งคู่มีธุรกิจสิ่งทออยู่ที่มาเก๊า และปล่อยให้เขาอยู่บนจีนแผ่นดินใหญ่เพียงลำพัง กิจกรรมส่วนใหญ่ที่โฮทำคือ ไปดูหนังคนเดียว เขารู้สึกว่าการเล่าเรื่องนั้นมีเสน่ห์ และถ้าเป็นไปได้ก็อยากเล่าเรื่องในมุมของตัวเองดูบ้าง

ด้วยเหตุนี้ โฮจึงเริ่มฝึกเล่าเรื่อง ทั้งการเขียนหนังสือ รวมถึงหัดถ่ายภาพ โดยใช้กล้องถ่ายรูปเล็กๆ Kodak Brownie ซึ่งพ่อมอบให้เป็นของขวัญวันเกิด ตอนอายุ 14 ขวบ ตระเวนถ่ายสแนปตามมุมต่างๆ ของเซี่ยงไฮ้ แต่ถึงอย่างนั้น เขาก็ยังไม่ถึงขั้นหลงใหลในการถ่ายภาพเท่าใดนัก

กระทั่งในปี 1949 เกิดการปฏิวัติในจีน เหมา เจ๋อตง แห่งพรรคคอมมิวนิสต์โค่นล้มรัฐบาล เจียง ไคเชก ชาวจีนนับล้านต่างอพยพไปตามมุมต่างๆ ทั่วโลก ครอบครัวของโฮก็เช่นกัน พวกเขาหนีไปอยู่ที่เกาะฮ่องกง ซึ่งเวลานั้นอยู่ภายใต้การควบคุมของอังกฤษ

โฮเข้าเรียนด้านวรรณกรรมอังกฤษและจีนที่ New Asia College หนึ่งในวิทยาลัยที่ดีที่สุดของเกาะฮ่องกง เขาใฝ่ฝันที่จะเป็นนักเขียนนิยาย ว่ากันว่าเด็กหนุ่มมีพรสวรรค์มาก ถึงขั้นที่ครูและเพื่อนๆ เรียกว่า Bah Gam หรือ นักวิชาการผู้ยิ่งใหญ่ แต่แล้ววันหนึ่งก็เกิดจุดพลิกผัน เนื่องจากเขาป่วยเป็นไมเกรน ถึงขั้นอ่านหนังสือไม่ไหว และในที่สุดก็ต้องหยุดเรียน

“หมอบอกผมว่า เขาไม่สามารถรักษาได้ วิธีการเดียวที่ผมใช้บรรเทาอาการปวดหัวของตัวเองคือ เดินไปตามถนนแล้วสูดอากาศบริสุทธิ์ มันน่าเบื่อมากเลย ผมรู้สึกเหมือนคนงี่เง่าที่เดินไปทั่ว พ่อก็เลยซื้อกล้องถ่ายภาพให้ พอถ่ายเสร็จ ผมก็ส่งภาพเข้าประกวด ปรากฏว่าชนะได้อันดับ 1 มันเหมือนเราได้รับกำลังใจ ผมเลยรู้สึกอยากใช้ภาพถ่ายเป็นสื่อกลางเพื่อเล่าเรื่องในมุมของตัวเอง ซึ่งข้อดีที่สุดของการถ่ายภาพคือ ทำให้ผมหายปวดหัว และที่สำคัญมันช่วยเติมเต็มความรู้สึกตอนเด็กๆ ตอนที่ชมภาพยนตร์ได้ด้วย”

เพื่อช่วยให้การถ่ายภาพทำได้ดีขึ้น เขาจึงซื้อกล้องเลนส์คู่ Rolleiflex มาใช้งาน แล้วก็เริ่มถ่ายภาพแนวสตรีทอย่างจริงจัง แต่ละวันโฮจะแบกกล้องตัวหนึ่งเดินไปตามถนนห้าสายทั่วเกาะฮ่องกง พร้อมกับถ่ายภาพผู้คนมากมาย ทั้ง เด็ก ผู้ใหญ่ คนชรา รวมถึงความสงบ ความวุ่นวายต่างๆ ในเมือง

ฮ่องกงในทศวรรษ 1950 กำลังอยู่ในช่วงแร้นแค้นจากสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ เนื่องจากสงครามเกาหลีทำให้จีนแผ่นดินใหญ่ไม่สามารถส่งสินค้าเข้ามาได้

หากแต่ในมุมของโฮ เขากลับสัมผัสได้ถึงความใหม่และความน่าตื่นเต้น เพราะเป็นช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านของยุคสมัย จากสังคมจีนดั้งเดิมมาสู่สังคมที่รับเอาวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาผสมผสาน หล่อหลอมจนเกิดเป็นอัตลักษณ์ใหม่ของเกาะฮ่องกง

ฉากต่างๆ ที่โฮบันทึกออกมาจึงไม่ต่างจาก ‘โรงละครที่มีชีวิต’ ที่เก็บนำเรื่องราวความหวัง ความฝัน และการดิ้นรนต่อสู้ของผู้คนไว้ด้วย เช่น ผู้คนกำลังเข็นรถลากไปตามทางรถไฟ เด็กผู้หญิงกำลังขายผลไม้ คนแก่กำลังเดินอยู่ในตรอกเล็กๆ และมีแสงไฟตกกระทบ ฯลฯ

โฮมักพยายามสร้างบรรยากาศให้น่าสนใจด้วยการใช้เอฟเฟกต์ย้อนแสง รวมถึงการเล่นกับแสงและเงา เพื่อให้ภาพมีมิติที่โดดเด่น โดยมุมโปรดที่เขาถ่ายบ่อยสุดคือ ถนนตรอกซอกซอยและตลาดในช่วงพลบค่ำ หรือชีวิตในท้องทะเล

ผมอาศัยอยู่ในย่านชนชั้นกลางบนถนนแมคโดนัลด์ ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีรถไฟใต้ดิน ภาพที่เห็นส่วนใหญ่คือตรอกซอกซอยแคบๆ บนถนนเต็มไปด้วยหมอกควัน ผู้คนรากหญ้าที่ด้อยโอกาส แต่ถึงอย่างนั้นพวกเขากลับแสดงออกถึงความมีน้ำใจ และรอยยิ้ม มันเป็นความประทับใจที่ไม่รู้ลืมเลย

ด้วยเสน่ห์ที่แตกต่าง ทำให้งานของโฮโดดเด่นและถูกพูดถึงในวงกว้าง เขากลายเป็นสมาชิกของ The British Royal Photographic Society ในปี 1956 และอีกสองปีถัดมา The Photographic Society of America ก็จัดอันดับให้เขาเป็นช่างภาพที่ดีที่สุดในโลก กระทั่งปี 1959 เขาก็มีนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรก และกลายเป็นหนึ่งในช่างภาพเอเชียที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของวงการ

บุรุษผู้มีชีวิตอยู่กับแสงเงา

การถ่ายภาพในอดีต แสงและเงาเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะแต่เดิมมีแค่ฟิล์มขาวดำ ยังไม่มีฟิล์มสี เพื่อทำให้ภาพมีพลังดึงดูด เกิดความแตกต่าง ช่างภาพจึงต้องใช้แสงและเงาเข้ามาช่วยสื่ออารมณ์

ที่ผ่านมา โฮ ถือเป็นมือวางอันดับต้นๆ ในเรื่องนี้ จนได้รับยกย่องให้เป็น The Great Master แห่งวงการถ่ายภาพ อย่างไรก็ตาม โฮมักบอกเสมอว่า เขาไม่ใช่ช่างภาพที่ยิ่งใหญ่ แต่เป็นเพียงคนธรรมดาคนหนึ่งที่ชอบถ่ายภาพ ภาพของเขาเกิดขึ้นตามสัญชาตญาณ และเขาแค่ถ่ายในสิ่งที่เห็นหรือรู้สึก แล้วแบ่งปันเรื่องราวไปยังผู้ชม

“สำหรับผมแล้ว รูปถ่ายที่ดีจริงๆ ไม่ได้อยู่ในกล้อง แต่อยู่ในตัวคุณ อยู่ในสายตาของคุณ ในสมองของคุณ อยู่ในใจของคุณ ไม่ใช่เพราะอุปกรณ์บางอย่าง”

เคล็ดลับหนึ่งที่โฮมักใช้เวลาถ่ายภาพคือ การรอจังหวะที่เหมาะสม ปล่อยให้แสงแดดทอดตัวต่ำลง แล้วเกิดเป็นเงายาวๆ ขึ้นมา หรือ เฝ้าสังเกตบรรยากาศหรืออากัปกิริยาของผู้คน

“คุณต้องถ่ายในจังหวะที่ถูกต้องเพื่อจะเข้าถึงหัวใจ แก่นแท้ และจิตวิญญาณของคนๆ นั้น ถ้าพลาดช่วงเวลานั้นไปก็ต้องรอจนกว่าจะรู้สึกว่าใช่ การถ่ายภาพถือเป็นงานศิลปะอย่างแท้จริงเพราะมันมีอารมณ์ความรู้สึกอยู่นี่แหละ

“มันเหมือนการรอของขวัญอะไรก็ได้ที่พระเจ้าจะมอบให้ ไม่ว่าจะเป็นชายชราจรจัดที่น่าสงสาร หรือเด็กที่กำลังเล่นกันอย่างสนุกสนาน ผมทำตามความรู้สึกของผม เวลาตัดสินใจว่าคุ้มไหมที่จะลั่นชัตเตอร์ เพราะฉะนั้น คุณต้องมีสมาธิที่ดี ทุ่มตัวเองลงไปในภาพแต่ละใบ เนื่องจากสมัยก่อน การลั่นชัตเตอร์แต่ละครั้ง มันมีราคาที่ต้องจ่าย ผมก็เป็นเหมือนคาวบอยที่มีกระสุนเพียงนัดเดียว จึงต้องมองหาช่วงเวลาที่เด็ดขาด อีกอย่างคือ ภาพสตรีทนั้น การจัดองค์ประกอบภาพสำคัญที่สุด แม้เราจะมีการจัดวางภาพหลายแบบ แต่ก็ต้องไม่ดูบังคับหรือฝืนธรรมชาติ”

หลายคนบอกว่า เขาสามารถคุมแสงธรรมชาติได้อย่างยอดเยี่ยม เพราะเขาไม่ได้ใช้แสงเพื่อให้ภาพสว่างขึ้นเท่านั้น แต่ใช้เพื่อสร้างอารมณ์บรรยากาศ ไม่แปลกเลยว่าทำไมรูปภาพหลายๆ ใบของโฮจึงเหมือนกับ ฉากในภาพยนตร์ แถมการจัดองค์ประกอบภาพก็ยังดูเรียบง่าย สะอาดตา ให้ความรู้สึกทันสมัย แม้จะผ่านมานานเกินครึ่งศตวรรษแล้วก็ตาม

แต่ที่สำคัญยิ่งกว่า คือแต่ละภาพนั้นถ่ายทอดความเป็นมนุษย์ออกมาได้อย่างชัดเจน หนึ่งในภาพที่โฮรักมากเป็นพิเศษ คือ As Evening Hurries By ซึ่งเป็นภาพของชายชราที่เข็นรถเข็นหนักๆ ไปตามถนนที่เงียบสงบ ริมแม่น้ำที่แสนจะโรแมนติก หากแต่ความหมายหนึ่งที่ซ่อนอยู่คือ การต่อสู้ชีวิตของชายผู้นี้ แม้จะเหน็ดเหนื่อยเพียงใด แต่เขาก็ยังต้องกัดฟันเดินทางต่อไปเรื่อยๆ

“ผมชอบถ่ายภาพขาวดำ ไม่ใช่ว่าผมจะไม่ถ่ายภาพสีนะ แต่ผมรู้สึกว่าภาพสีไม่พอดีกับโลกของตัวเอง สีขาวดำมันทำให้รู้สึกมีระยะห่าง ผมคิดว่าระยะห่างจากชีวิตจริงเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะชีวิตจริงของคนเรามันมีสีสันเต็มไปหมด แต่สีขาวดำมันมีความลึก มีมิติ มีพลัง ที่ทำให้ผู้ชมเกิดความคิด ความไตร่ตรอง และสามารถตอบสนองออกมา”

จากแนวคิดในการสร้างงานด้วยจิตวิญญาณนี้เอง ทำให้ Fan Ho กลายเป็นช่างภาพที่ถูกพูดถึงเสมอมา แม้ผลงานส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในช่วงวัยหนุ่มก็ตาม

ผู้บุกเบิกหนังอีโรติกแห่งฮ่องกง

แม้จะมีพรสวรรค์ในเรื่องการถ่ายภาพ แต่เมื่อ 60 ปีก่อน คงเป็นเรื่องยากที่ใครสักคนจะทำอาชีพนี้ได้จริงจัง โฮจึงพาตัวเองเข้าสู่วงการภาพยนตร์ โลกอีกใบที่เป็นแรงบันดาลใจของเขาเมื่อวัยเยาว์

ในปี 1961 โฮสมัครงานที่ Shaw Brothers ด้วยความหวังที่จะก้าวสู่ตำแหน่งผู้กำกับภาพยนตร์ โดยต้นแบบสำคัญคือ Federico Fellini ผู้กำกับชาวอิตาลี เจ้าของผลงาน 8½ และ La Dolce Vita

งานแรกที่โฮทำคือ ผู้ช่วยดูแลความต่อเนื่องของหนังเรื่อง The Swallow จากนั้นเขาก็กลายมาเป็นนักแสดงของค่ายดัง เซ็นสัญญานาน 8 ปี แสดงภาพยนตร์นับสิบเรื่อง ซึ่งบทบาทที่ทำให้เขาเป็นที่รู้จักมากสุดคือ พระถังซัมจั๋ง จากเรื่องไซอิ๋ว เมื่อปี 1965

ระหว่างนั้น เขาก็เริ่มทำหนังสั้นทดลอง โดยเรื่องที่ประสบความสำเร็จที่สุด คือ Gulf ซึ่งได้รับเสียงตอบรับที่ดีในเทศกาลหนังต่างๆ ทั่วโลก แถมยังได้รับรางวัล Best Film Award จาก Banbury Film Festival และยังกลายเป็นสะพานที่เชื่อมให้เขาก้าวสู่งานเบื้องหลังเต็มตัวอีกด้วย

แต่น่าเสียดายที่หนังดีในสายตาของศิลปินกับผู้ชมส่วนใหญ่นั้นไม่เหมือนกัน เพราะภาพยนตร์แบบที่โฮฝันนั้นไม่ใช่หนังที่ทำเงินได้เลยสำหรับตลาดฮ่องกง เขาจึงได้รับมอบหมายให้กำกับหนังประเภท 3 หรือ หนัง 18+ ซึ่งเต็มไปด้วยเรื่องเพศ และความรุนแรง

“ผมเคยจับมือ Fellini และถามเขาเกี่ยวกับงานของเขา Fellini บอกผมว่าไม่ต้องสนใจนักวิจารณ์มากนัก เขาอยากให้ผมทำอะไรก็ได้ที่ตัวเองชอบ ซึ่งผมก็ทำตามคำแนะนำของ Fellini เสมอ นั่นคือทำตามสัญชาตญาณของตัวเอง”

โฮพยายามสร้างความแตกต่างให้กับหนังประเภทนี้ให้เทียบเท่ากับระดับสากล ทั้งสไตล์ภาพ วิธีการเล่าเรื่อง การจัดองค์ประกอบภาพที่ฉีกแนวจากหนังทั่วไป จนสามารถสื่อถึงอารมณ์ที่พลุ่งพล่าน และความวุ่นวายและสับสนที่อยู่ในจิตใจของตัวละครได้อย่างชัดเจน

หนังหลายเรื่องของเขา เช่น The Lock of Hearts ในปี 1986 ได้รับรางวัลจาก Penhouse และถูกนำไปฉายในหลายประเทศ หรือ His Temptation Summary เมื่อปี 1990 ก็กลายเป็นหนัง 18+ เรื่องแรกของเกาะที่ทำรายได้มากกว่า 10 ล้านเหรียญฮ่องกง รวมทั้งได้รับเสียงชื่นชมจากบรรดานักวิจารณ์ จนเขาได้รับเชิญให้เป็นกรรมการตัดสินในเทศกาลภาพยนตร์อีกหลายงาน

“ผู้คนมักบอกว่า ผลงานของผมเต็มไปด้วยเรื่องราวต่างๆ ผมก็เลยเลือกจะเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ เพราะทั้งสองศาสตร์นั้นใช้ภาพบอกเล่าเรื่องราวเหมือนกัน สำหรับผมแล้วการถ่ายภาพกับการสร้างภาพยนตร์เป็นเสมือนพี่สาวน้องสาว เพียงแค่สิ่งหนึ่งหยุดนิ่ง อีกสิ่งกำลังเคลื่อนไหวเท่านั้นเอง”

ชีวิตจริงของคนเรามันมีสีสันเต็มไปหมด แต่สีขาวดำมันมีความลึก มีมิติ มีพลัง ที่ทำให้ผู้ชมเกิดความคิด ความไตร่ตรอง และสามารถตอบสนองออกมา

Fan Ho : ช่างภาพแสงเทพแห่งฮ่องกง

กลับสู่จุดเริ่มต้น

ในวัย 65 ปี หลังจากกำกับหนังเรื่อง Ying su เสร็จ โฮตัดสินใจวางมือจากงานภาพยนตร์ และเดินทางไปอยู่กับครอบครัวที่สหรัฐอเมริกา

ชีวิตหลังเกษียณของโฮไม่ได้ราบรื่นมากนัก ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะไม่คุ้นชินกับสังคมอเมริกัน คลอเดีย ลูกสาวของเขาบอกว่า โฮไม่เล่นกีฬาเลย และบางครั้งก็ทำตัวแปลกแยกกับผู้คน กระทั่งสุขภาพแย่ลงเรื่อยๆ จนสุดท้ายพวกเขาก็เลยบอกให้โฮหันกลับมาถ่ายรูปอีกครั้ง

ทว่าโฮไม่ชอบกล้องดิจิทัล แถมถนนหนทางหรือบ้านเรือน บริเวณอ่าวซานฟรานซิสโกก็ไม่ได้ดึงดูดเขาเท่าใดนัก เขาจึงหวนกลับไปนึกถึงฟิล์มเก่าๆ ที่ยังคงเหลือจากอดีตเมื่อหลายสิบปีก่อน แล้วทำให้มันกลับมามีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง

โฮบอกว่า หลายคนมักคิดว่า ฟิล์มเก่าไม่มีประโยชน์ บางภาพถูกคัดทิ้งไปแล้วตั้งแต่ 40-50 ปีก่อน หากแต่มาตรฐานความสวยงามของยุคสมัยนั้นไม่เหมือนกัน ภาพที่เคยดูน่าเกลียดในวันนั้น วันนี้อาจกลายเป็นภาพสวยงามที่สุดก็เป็นได้ ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ ความคิดของแต่ละคน สำหรับเขาแล้วการได้กลับมาเจอเรื่องราวในฟิล์มเก่า ก็ไม่ต่างจากการได้พบขุมทองดีๆ นั่นเอง

อีกสิ่งที่น่าสนใจมาก คือฮ่องกงในอดีตกับปัจจุบันแทบไม่มีอะไรเหมือนกันเลย ทั้งผู้คน ตึกรามบ้านช่อง ถนนตรอกซอกซอย ภาพของโฮจึงเปรียบเสมือนการฉายภาพประวัติศาสตร์และความเป็นมาของเมืองเล็กๆ แห่งนี้ ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา

ในปี 2000 โฮจัดนิทรรศการชุดแรกที่พาโล อัลโต ในแคลิฟอร์เนีย ซึ่งได้รับเสียงตอบรับที่ดีมาก กระทั่งช่างภาพอาวุโสกลับมามีความมั่นใจในตัวเอง ลูกสาวของโฮบอกว่า มันเหมือนเป็นการกลับมาพบรักแรกที่เคยสูญหายไป และทำให้เขามีความสุข

หลังจากนั้น โฮยังจัดนิทรรศการอย่างต่อเนื่อง ภาพถ่ายของเขากลับมาเป็นที่นิยมและถูกพูดถึงในวงกว้าง เช่นภาพ Approaching Shadow ถูกประมูลไปด้วยราคาสูงถึง 48,000 เหรียญสหรัฐ นอกจากนี้หลายประเทศยังเชิญเขาไปพูดคุย และมอบตำแหน่งสมาชิกกิตติศักดิ์ของสมาคมถ่ายภาพ กระทั่งในปี 2014 เขาก็ได้กลับมาเยือนฮ่องกงอีกครั้ง ในฐานะช่างภาพผู้สร้างแรงบันดาลใจ

โฮจากไปเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2016 จากอาการปอดบวม ในวัย 84 ปี โดยก่อนเสียชีวิต เขากับลูกสาวช่วยกันเลือกภาพขาวดำกว่า 500 ภาพ แม้สุดท้ายโฮจะไม่ได้อยู่ทันเห็นความสำเร็จของ Portrait of HongKong แต่อย่างน้อยภาพชุดนี้ก็คือ หลักฐานชิ้นสำคัญที่ช่วยยืนยันถึงความยิ่งใหญ่ของช่างภาพเอเชียผู้นี้ตลอดกาล

ภาพและข้อมูลประกอบการเขียน

  • เว็บไซต์ Leica Liker
  • เว็บไซต์ OSU.EDU
  • เว็บไซต์ Fan Ho Official Website
  • เว็บไซต์ SCMP
  • YouTube M Plus

<< แชร์บทความนี้

RELATED POSTS
LATEST

Keep In Touch

COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO.  ALL RIGHTS RESERVED.