มานะ มานี ปิติ ชูใจ วีระ สมคิด ดวงแก้ว เพชร และจันทร…
ถ้าคุณมีชีวิตอยู่ในยุค 80-90 คงจำเพื่อนๆ เหล่านี้ได้ดี
พวกเขามีชีวิตอยู่ในหน้ากระดาษของหนังสือเรียนภาษาไทยเล่มเล็กๆ ค่อยๆ เติบโตไปพร้อมกับเรา
แม้จบ ป.6 มานานเพียงใด ความประทับใจก็ยังไม่เคยเลือนหาย
หลายคนอาจไม่รู้ว่าเรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้นจากความทุ่มเทของผู้หญิงคนหนึ่งที่ตั้งใจสร้างสรรค์ชิ้นงาน เพื่อเป็นแรงบันดาลใจแก่เด็กและเยาวชนทุกคน
ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ขอพาทุกท่านนั่ง Time Machine กลับไปพบกับ อาจารย์รัชนี ศรีไพรวรรณ เพื่อสัมผัสเบื้องหลังความคิด ความฝัน และความตั้งใจที่หล่อหลอมจนกลายเป็นผลงานแห่งความทรงจำข้ามกาลเวลา
ในหมู่บ้านเล็กๆ ริมแม่น้ำไม่ไกลจากเชิงเขา มีเด็กหญิงคนหนึ่งชื่อมานี เธอมีพี่ชายชื่อมานะ ทั้งคู่มีสัตว์เลี้ยงแสนรักคือเจ้าโต ที่มักจะชอบวิ่งเล่นซนไปทั่ว
นี่คือฉากที่ทุกคนคงจดจำได้ดี เพราะเป็นครั้งแรกที่พวกเราได้รู้จักกับสังคมเล็กๆ แห่งหนึ่งในชนบท
“ตัวละครในเรื่องนี้ ครูได้แนวความคิดมาจากชีวิตในวัยเด็ก เอาความจริงที่เคยผ่านมาในชีวิตมาผสมผสานกับเรื่องที่ได้ยินได้ฟังจากคนนั้นนิดคนนี้หน่อย สร้างให้เป็นตัวละคร”
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2519 หนังสือเรียนภาษาไทยชั้นประถมศึกษาชุดมานะมานีเริ่มทดลองใช้ในโรงเรียน 65 แห่ง ทั้งส่วนกลางและต่างจังหวัด หลังกระทรวงศึกษาธิการมองว่าถึงเวลาที่ควรเปลี่ยนหลักสูตร เนื่องจากเมืองไทยใช้แบบเรียนเร็วใหม่ของหลวงดรุณกิจวิฑูรมานานเกือบ 20 ปี
ผู้บริหารในยุคนั้นอยากได้หนังสือที่เด็กๆ รู้สึกใกล้ชิดและเชื่อมโยงกับชีวิตประจำวันมากที่สุด เพื่อปลูกฝังให้เด็กๆ เกิดนิสัยรักการอ่าน ไม่ละทิ้งและหลงลืมหนังสือ แม้จะไม่ได้เรียนต่อในชั้นที่สูงขึ้นก็ตาม
อาจารย์รัชนีถูกดึงเข้ามารับภารกิจใหญ่ เพราะเคยมีประสบการณ์เขียนเรื่องสั้นลงในนิตยสารต่อเนื่อง โดยเฉพาะหนังสือวันเด็ก และมีความรู้ด้านการสอนภาษาไทยเป็นอย่างดี
หลักสำคัญที่อาจารย์ยึดถือในการสร้างงานชิ้นนี้ คือพัฒนาการตามช่วงวัย
สังเกตได้จากชื่อตัวละครแต่ละตัว โดยอาจารย์บอกว่าอักษรแรกที่เด็กมักพูดได้ก่อนคือ ม.ม้า ซึ่งเป็นคำเรียกแม่ และมักออกเสียงสระเสียงยาว จึงเป็นที่ของชื่อของ มานี เจ้าโต และชูใจ ขณะที่มานะ ปิติ และวีระ ปรากฏตัวทีหลัง เพราะชื่อมีสระเสียงสั้นผสมอยู่
นอกจากนี้ ยังหยิบยังหยิบงานวิจัยของ ดร.จรรจา สุวรรณทัต นักวิจัยเกี่ยวกับการเรียนรู้ของเด็กที่ยูเนสโก มาปรับใช้ว่าเด็กแต่ละชั้นควรจะมีคำพื้นฐานที่แตกต่างกันกี่คำ เช่น ป.1 มี 450 คำ ป.2 มี 1,200 คำ โดยคำศัพท์ควรรู้นี้จะถูกประกบอยู่ด้านหลังแบบเรียนทุกเล่ม
แต่เสน่ห์ที่สำคัญกว่า คือการวางโครงเรื่องที่ใกล้ชิดกับชีวิตของเด็กๆ
แม้อาจารย์จะไม่ได้อยากเป็นครูมาตั้งแต่แรก เพราะชอบศิลปะมากกว่า ที่เลือกเรียนเพราะตามใจพ่อ แต่เมื่อเลือกทางสายนี้ ก็ตั้งใจทำให้ดีที่สุด อาจารย์มีความเชื่อว่าการเรียนการสอนต้องมาจากความเข้าใจ จึงพยายามศึกษาพฤติกรรมของเด็กและปรับวิธีการสอนให้เหมาะสม
อาจารย์จะมีสมุดบันทึกอยู่เล่มหนึ่งเขียนสิ่งที่นักเรียนไม่เข้าใจเพื่อนำมาใช้ปรับปรุงการสอนต่อไป ตลอดจนพยายามให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการเรียนการสอนมากที่สุด
อย่างช่วงที่เป็นครูวิทยาศาสตร์ อาจารย์ก็มีวิธีการสอนที่แหวกแนวจากยุคปี 2494
“ช่วงที่สอนก็ทดลองให้นักเรียนดู เช่นเคมี กรด+ด่าง ได้เกลือกับน้ำ นักเรียนสนใจมาก ให้นักเรียนทดลองทำดูด้วย ทำระเบิดขวด แล้วเวลาระเบิด ครูและนักเรียนที่ตึกใหญ่วิ่งมาดู หรือเรียนชีววิทยาก็พาออกไปนอกห้องเรื่องพืชใบเลี้ยงคู่ ใบเลี้ยงเดี่ยว การผสมเกสรของแมลง ทดลองทุกเรื่องที่สามารถทดลองได้ จนสารเคมีหมด ถ้วยแก้วแตก ไปหลายใบ ครูใหญ่บ่นว่าครูรัชนีใช้อุปกรณ์เปลืองมาก แต่ครูใหญ่ก็ใจดีซื้อเครื่องใช้วัสดุอุปกรณ์ทุกอย่างให้ครบครัน”
การยึดนักเรียนเป็นศูนย์กลางกลายเป็นรากฐานที่ทำให้อาจารย์เข้าใจเด็กอย่างลึกซึ้ง และเมื่อต้องมาออกแบบบทเรียนให้นักเรียนทั่วประเทศ ก็ใช้ประสบการณ์ตรงนี้มาช่วย
อาจารย์บอกเคล็ดลับการสร้างเรื่องว่า อย่างแรกคือต้องมีตัวละครเป็นเด็ก เพราะเด็กต้องอยู่กับเด็กถึงสนุก เชื่อมโยงความผูกพันด้วยความเป็นเพื่อน เป็นเพื่อนที่โตด้วยกันเรียนชั้นเดียวกัน
ต่อมาคือ เรื่องราวต้องสนุกสนานชวนอ่าน แทรกด้วยสิ่งที่น่าสนใจและเหมาะกับวัย อย่างให้ตัวละครแต่ละคนมีสัตว์เลี้ยง เช่นมานะมานีมีสุนัขชื่อเจ้าโต ชูใจมีแมวชื่อสีเทา ปิติมีม้าชื่อเจ้าแก่ วีระมีลิงชื่อเจ้าจ๋อ เพราะเป็นธรรมชาติของเด็กที่จะสนุกมากเมื่อมีสัตว์เลี้ยงตัวโปรดมาอยู่ใกล้ๆ
อาจารย์ใช้เวลาเขียนหนังสือชุดนี้นานถึง 9 ปีเต็ม!!!
เขียนที่ละบท พอเขียนเสร็จก็เสนอให้คณะที่ปรึกษาอ่านก่อน ถ้าเห็นชอบก็จัดทำเป็นต้นฉบับ แล้วกรมวิชาการจัดพิมพ์เป็นบทเรียน
“การมีที่ปรึกษา ทำให้ครูได้มองมุมอีกแง่หนึ่ง เช่นวางโครงเรื่องให้เด็กๆ ไปเที่ยวป่า แล้วชูใจไปเด็ดดอกไม้จากต้นมาทัดหู คณะกรรมการอ่านแล้วก็เดินมาพูดว่า ครูครับขอแก้หน่อยเถอะ อย่าไปเด็ดดอกไม้เลย มันเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อม ครูเลยเปลี่ยนให้ชูใจเก็บดอกที่ร่วงอยู่โคนต้นมาแทน”
ฉากทุกฉากจึงต้องคิดอย่างละเอียด เพราะสุดท้ายแล้วสิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นแบบอย่างให้เด็กต่อไป
อาจารย์จึงถือโอกาสนี้ใช้หนังสือเป็นเครื่องมือปลูกฝังความเข้าใจในชีวิต แม้บางครั้งอาจทำให้เด็กๆ รู้สึกสะเทือนใจไปบ้าง อย่างตอนที่แม่ของเพชรเสียชีวิตหรือเจ้าแก่ตาย ก็เป็นสิ่งที่คนเขียนตั้งใจสอดแทรกสัจธรรมเรื่องเกิดแก่เจ็บตายลงไป
“ตอนนั้นครูไปเยี่ยมที่โรงเรียนแห่งหนึ่งย่านพลับพลาไชย เด็กผู้หญิงคนหนึ่งเดินมาหาแล้วบอกว่า คุณครูขา หนูไม่ยอม หนูไม่อยากให้เจ้าแก่ตาย ครูก็บอกไปว่า นี่แหละหนู ชีวิตมันก็เป็นอย่างนี้ ไม่เป็นไรนะ แล้วครูจะหาม้าตัวใหม่มาให้ เอาให้น่ารักกว่าเดิมอีก”
กลายที่มาของเจ้านิลที่ปิติซื้อมาด้วยเงินรางวัลสลากออมสิน จำนวน 10,000 บาท
บางครั้งอาจารย์ก็ตั้งใจนำเสนอประเด็นหนักๆ เช่น เกษตรกรรม การศึกษา สภาพสังคมในห้วงเวลานั้น
“หลายคนถามว่าทำไมเขียนให้พระเอกเป็นเกษตรอำเภอ (คุณอาทวีป) แทนที่จะเป็นทหารหรือตำรวจเก่งๆ ตอนนั้นครูรู้สึกว่าคนไทยทิ้งไร่นาที่สวน ทิ้งชนบทเข้าไปหางานในเมือง ครูต้องการจะสื่อให้เห็นความสำคัญของการทำเกษตร เพราะนี่คืออาชีพดั้งเดิมของบรรพบุรุษเรา เรารอดมาได้เพราะการเกษตร ไม่ใช่เพราะทำโรงงานอุตสาหกรรม ดังนั้นมีที่ดินขุดบ่อเลี้ยงปลาก็เอาปลาไปขาย หรืออย่างมานีเลี้ยงไก่เอาไข่ไก่ไปขายเพียงแค่นี้ก็อยู่ได้แล้ว”
เพราะฉะนั้น หากถามว่าอะไรคือสิ่งที่ผลักดันให้อาจารย์สามารถสร้างสรรค์ผลงานที่กลายเป็นแรงบันดาลใจเช่นนี้ ก็คงหนีไม้พ้น ความรักและความทุ่มเทที่มีให้ต่อเด็กๆ ทุกคนนั่นเอง
“ครูรักเด็กๆ อยากให้เขาได้รับความสุข คนเราเกิดมาชาติหนึ่งไม่มีอะไรดีไปกว่าการได้ดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข ครูอยากให้เด็กทุกคนได้รับสิ่งนั้น เพราะชีวิตของคนเราช่วงที่มีความสุขคือตอนเป็นเด็ก ถ้าพ้นช่วงนี้ไปแล้ว เขาอาจไม่ได้พบกับอีกเลย”
เด็กผู้หญิงคนหนึ่งเดินมาหาแล้วบอกว่า คุณครูขา หนูไม่ยอม หนูไม่อยากให้เจ้าแก่ตาย ครูก็บอกไปว่า นี่แหละหนู ชีวิตมันก็เป็นอย่างนี้ ไม่เป็นไรนะ
กว่า 20 ปีที่หนังสือชุดมานะมานีกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเด็กชั้นประถมทั่วประเทศ
หลายคนรู้สึกผูกพัน อยากพูดคุย อยากพบเจอกับตัวละคร มีเด็กหลายร้อยคนส่งจดหมายมาถึงอาจารย์ โดยจ่าหน้าซองถึงมานะ เพราะพวกเขาเห็นที่อยู่จากหนังสือเรียน ป.4 บางคนกลัวส่งไม่ถึง ก็ส่งไปที่กรมวิชาการ ซึ่งอาจารย์ก็ตอบกลับทุกครั้ง โดยสมมติตัวเองเป็นมานะตอนลงท้ายจดหมาย
“เด็กผู้ชายคนหนึ่งจะมาหาครูที่บ้าน เขาส่งจดหมายนัดวันเวลามาเลย บอกว่าผมอยากจะหามาหามานะ ครูเลยต้องเปิดเผยความจริง เขียนตอบกลับไปอีกทีว่าอย่ามาเลย มานะไม่ว่าง”
การเขียนตอบจดหมายนี้ทำให้อาจารย์ทราบว่า เด็กๆ นี่ช่างสังเกตกว่าที่คิด
ครั้งหนึ่งเคยมีภาพประกอบเขียนรูปรถ แล้วด้านหลังเขียนเป็นตัวหนังสือยี่ห้อรถ แต่ด้วยความที่ไม่อยากจะโฆษณาก็เลยเลี่ยงไปเขียนเป็น TOYOTO แทน ปรากฏว่าเด็กๆ ที่ได้อ่านเขียนจดหมายมาบอกเลยว่า “ครูคะ ไม่มียี่ห้อรถ TOYOTO มีแต่ยี่ห้อ TOYOTA”
ไม่ใช่เพียงแค่ความนิยมในหมู่เด็กเท่านั้น แต่หนังสือชุดมานะมานียังโด่งดังไกลถึงต่างแดน โดยศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมไทย เมืองเมลเบอร์น ประเทศออสเตรเลีย ขออนุญาตกระทรวงศึกษาธิการนำไปใช้เป็นหนังสือเรียนในการสอนภาษาไทยแก่ชาวไทยและชาวต่างประเทศ ตั้งแต่ปี 2524 จนถึงปัจจุบัน
นอกจากนี้ บางกลุ่มก็นำบางตอนไปแสดงเป็นละครเวที ทำภาพพิมพ์ นำไปตั้งชื่อร้านค้าต่างๆ หรือนำไปตั้งชื่อเพลงบ้าง
เมื่อปี 2544 มานะมานีก็กลับมาโลดแล่นอีกครั้ง หลังนิตยสาร a day ฉบับที่ 5 หยิบบทเรียนชุดนี้มาถ่ายทอดอีกครั้ง ซึ่งในฉบับนั้นอาจารย์ได้แต่งตอนใหม่ของมานะมานีและผองเพื่อน หลังจากไม่ได้เจอกันนานร่วม 20 ปี ในชื่อว่า ‘แล้ว…เราก็ได้พบกัน (มานะ มานี พ.ศ. 2544)’ กลายเป็นแรงผลักดันให้อาจารย์กลับมาผลิตงานชิ้นสุดท้ายเรื่องทางช้างเผือก
แม้อาจารย์จะจากไปนานหลายปีแล้ว แต่ความสุข ความทรงจำ ความประทับใจก็ไม่เคยจางหายไป เพราะหนังสือชุดนี้มีความหมายกับใครหลายคนมากกว่าการเป็นเพียงแค่บทเรียนชั้นบทประถม โดยเฉพาะตัวของกับอาจารย์เอง
“ความสุขในวัยเด็กเป็นสิ่งที่บริสุทธิ์และน่าจดจำมาก หนังสือแบบเรียนมานะมานีคือความภูมิใจที่สุดในชีวิตของครู มันคือความคิดที่ว่าเกิดมาชาตินี้แล้วได้มีโอกาสทำสิ่งที่ดีตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน”
นักเขียนผู้นวนิยายที่ยาวมากที่สุด อย่าง เพชรพระอุมา หนังสือที่หากคุณได้อ่านสักตอนรับรองว่าวางไม่ลง
นักเขียน นักปราชญ์ เจ้าของซีไรต์เล่มแรกของเมืองไทย ผู้ทำให้คนไทยเปลี่ยนมุมมองต่อชาวอีสาน ผ่านหนังสือเรื่องลูกอีสาน
ครู ผู้สร้างบทเรียนในความทรงจำของคนไทยมากมาย
จำเรื่องราวของผองเพื่อนมานะ มานี ปิติ ชูใจ ได้ไหม เราขอย้อนนำเรื่องราวทั้ง 12 เทอม กลับมาเล่าให้ฟัง
ครูเล็ก-ภัทรวาดี นักแสดงชั้นครูของเมืองไทย กับเรื่องเล่าถึงแม่ บุคคลที่มีอิทธิพลมากที่สุดในชีวิตของเธอ
ครูแพทย์นักคิด นักบุกเบิก ผู้สร้างนวัตกรรมแก่สังคมไทย ทั้งแพทย์แผนไทยประยุกต์ วิทยาศาสตร์การกีฬา วิ่งเพื่อสุขภาพ น้ำเกลือ และอื่นๆ อีกมากมาย
‘คนฝั่งธน’ รุ่นใหม่ ที่อยากขอทำหน้าที่เป็นสื่อกลาง คอยชักชวนผู้คนในพื้นที่ ให้มาร่วมกันบอกเล่าถึงเสน่ห์ของเมืองหลวงเก่าแห่งนี้
กลุ่มออนไลน์ที่เกิดจากการแบ่งปันความรู้เรื่องเมล็ดพันธุ์ ต่อยอดมาสู่การสร้างโรงเรียนปลูกป่าที่มีเป้าหมายอยากรักษาพันธุ์ไม้ดีๆ ให้อยู่คู่เมืองไทยตลอดไป
เครือข่ายที่ทำงานเรื่องการ ‘ตายดี’ เพื่อช่วยให้ผู้คนสามารถจากไปได้มีความสุข และลดความขัดแย้งแก่คนรอบใกล้ที่คอยดูแลด้วย
เครือข่ายอนุรักษ์ที่อยากส่งต่อเรื่องราว ความรู้เกี่ยวกับวาฬบรูด้า และผองเพื่อนในท้องทะเล เพื่อให้ทุกคนลุกขึ้นมาช่วยปกป้องทรัพยากรธรรมชาติใต้ผืนน้ำให้คงอยู่ตลอดไป
ตำนานศิลปินร็อก ผู้จุดกระแสเพลงเก็บตะวันให้ข้ามกาลเวลา รวมทั้งยังเป็นผู้สร้างยุคใหม่ให้แก่ RS สู่การเป็นเบอร์ 2 ของวงการเพลงไทยอย่างแท้จริง
คุณยายผู้เป็นสัญลักษณ์ของละครเมืองไทย ที่มีผลงานต่อเนื่องมากว่า 40 ปี ทั้ง คู่กรรม สายโลหิต บุพเพสันนิวาส
COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO. ALL RIGHTS RESERVED.