เป็นเวลากว่า 40 ปีแล้วที่ ‘สโมสรผึ้งน้อย’ ถือกำเนิดขึ้น
แม้เป็นเพียงรายการเล็กๆ ที่ออกอากาศชั่วโมงละสัปดาห์ แต่ก็มีเรื่องราวความทรงจำมากมายเกิดขึ้นที่นี่ ทั้งบทเพลง ละครเด็ก วงดนตรี XYZ และกิจกรรมหลากหลาย ซึ่งช่วยหล่อหลอมและปลูกฝังจิตวิญญาณของเด็กไทยในยุคนั้น ทำให้เด็กๆ กล้าลุกขึ้นมาแสดงออก เพื่อสร้างสังคมที่ดีขึ้นกว่าเดิม
ไม่แปลกเลยว่าทำไมจึงมีเด็กนับแสนชีวิตส่งจดหมายเข้ามาเพื่อขอสมัครเป็นส่วนหนึ่งสโมสรแห่งนี้ และยังทำให้พื่นที่เล็กๆ แห่งนี้ยังคงอยู่ในความทรงจำของผู้คน แม้ตัวรายการจะร้างลาจอไปนานหลายสิบปีแล้วก็ตาม
เพื่อย้อนรำลึกถึงรายการในตำนานที่เคยมีอิทธิพลกับเด็กไทยมากที่สุด ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ร่วมกับ The Cloud พาทุกคนไปพูดคุยกับ น้านิต-ภัทรจารีย์ นักสร้างสรรค์ ผู้ก่อตั้งรายการสโมสรผึ้งน้อย ถึงเส้นทางและความเป็นมาของผึ้งน้อยตลอด 16 ปี รวมถึงความฝันเพื่อเด็กของเธอที่ไม่เคยหยุดนิ่งเลย
อ่านบทความ ย้อนความทรงจำน้านิต ผู้สร้างตำนานสโมสรผึ้งน้อย ต้นแบบรายการเด็กเมืองไทย ที่ https://readthecloud.co/little-bees-club
แต่ก่อนที่จะไปเต็มอิ่มกับเรื่องราวของสโมสรผึ้งน้อย เรามีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับพื้นที่แห่งความทรงจำนี้มาเล่าให้ฟัง
1. บุคคลสำคัญที่ทำให้สโมสรผึ้งน้อยเกิดขึ้นได้ คือ บุญชาย ศิริโภคทรัพย์ เจ้าของรายการโลกดนตรี และ ประภัทร์ ศรลัมพ์ อดีตพิธีกรชื่อดังของช่อง 5 เพราะตอนที่น้านิตยื่นโครงการให้สถานีพิจารณา ผู้อำนวยการช่อง 5 ซึ่งไม่เคยรู้จักน้านิตกับทีมงานนี้มาก่อน ได้ถามในที่ประชุมว่า น้านิตเป็นใคร ไม่ทราบว่าบุญชายหรือประภัทร์กันแน่ ที่ตอบท่านว่า “ผมไม่รู้ว่าเขายังไง แต่เขาเป็นคนมีฝีมือ” รายการสโมสรผึ้งน้อยจึงได้รับการพิจารณาอนุมัติเวลาให้ออกอากาศ
2. ความจริง น้านิตกับน้าพิน-อรพิน ดารารัตน์ ผู้ร่วมก่อตั้งรายการอีกคน ไม่ได้รู้จักกันมาก่อน แต่น้าพินเป็นเพื่อนของเพื่อนน้านิตอีกที และพอดีมีความสนใจเรื่องสื่อสร้างสรรค์เหมือนกัน โดยน้าพินเคยเขียนบทละครเวทีสะท้อนสังคมเรื่องเด็กสลัม ทั้งคู่จึงตัดสินใจทำร่วมหัวจมท้ายกัน สำหรับน้านิตแล้ว น้าพินเป็นทั้งเพื่อน เป็นทั้งพี่ ที่คอยเตือนสติอยู่เสมอ หนึ่งในนั้นคำสอนที่น้าพินเคยบอกน้านิต คือ “นิตต้องเปิดใจ” เพราะช่วงที่ทำรายการด้วยกัน น้านิตก็มุ่งมั่นมากเกินไป จนหลายคนรู้สึกว่า เป็นจอมเผด็จการ
3. ประมาณเดือนที่ 4 ของการทำรายการสโมสรผึ้งน้อย น้านิตต้องใช้เงินส่วนตัวในการทำงาน เรียกว่ามีเท่าไหร่จ่ายหมดกระเป๋า ครั้งหนึ่งน้านิตไม่เหลือเงินเป็นค่ารถกลับบ้าน น้าพินแบ่งเงินที่มีอยู่ในกระเป๋า 5 บาท แบ่งให้น้านิต 2.50 บาท ขึ้นรถประจำทางกลับบ้าน
4. เพลงเป็นองค์ประกอบสำคัญของสโมสรผึ้งน้อย เพลงแรกที่เกิดขึ้นในรายการ ชื่อว่า ‘ยิ้ม’ เป็นผลงานการเขียนเนื้อของน้านิต โดยมีน้าต้อม-กิตติพงศ์ ขันธกาญจน์ ใส่ทำนองให้ ซึ่งต่อมา น้าต้อมแยกตัวออกไปทำวงสองวัย โดยสมาชิกของวง อย่าง อ้อย วงกะท้อน ก็เป็นเด็กผึ้งน้อยมาก่อน ตอนหลังน้าต้อมกับน้านิตก็กลับมาทำงานร่วมกันอีก โดยน้าต้อมมาช่วยแต่งเพลงให้ในรายการสถานีโทรทัศน์เห็ดหรรษา
5. แขกรับเชิญคู่แรกที่มาร่วมรายการสโมสรผึ้งน้อย ก็คือ ฉันทนา กิติยพันธ์ และบุปผา ธรรมบุตร
6. ตอนแรกของสโมสรผึ้งน้อยวุ่นไม่ใช่เล่น ด้วยความที่น้านิตไม่อยากให้รายการที่จัดสดดูธรรมดา จึงขั้นช่วงต่างๆ ด้วยสไลด์ประกอบคำบรรยาย รายการมีทั้งร้องเพลง อ่านข่าว และแสดงลีลาประกอบเพลง ซึ่งยุคนั้นถือเป็นเรื่องวุ่นวายมากกระทั่งเจ้าหน้าที่ช่อง 5 บางคนออกปากว่า สโมสรผึ้งน้อยเป็นรายการที่ยุ่งยากมากๆ
7. อีกหนึ่งคนที่มีบทบาทสำคัญในความสำเร็จของรายการสโมสรผึ้งน้อย คือ น้าประชา พงศ์สุพัฒน์ เพราะเขาเป็นคนแต่งเพลงเกือบทั้งหมดในรายการ รวมทั้งเขียนบท วาดภาพประกอบ และให้เสียงที่อบอุ่นแต่มีอารมณ์ขันของนายแห้วที่คอยแซวภาพถ่ายที่เด็กๆ ส่งเข้ามาร่วมในรายการในช่วง ดาราหน้ากล้องได้อย่างสนุกสนาน น้าประชาถือเป็นเจ้าพ่อเพลงเด็กอย่างแท้จริง โดยนอกจากผึ้งน้อยแล้ว เขายังอยู่เบื้องหลังเพลงการ์ตูนดังๆ อย่าง ชินจัง และมารุโกะ ด้วย
8. จุดเด่นของวง XYZ คงหนีไม่พ้นกีตาร์ไม้สุดเท่ ซึ่งตกแต่งสติ๊กเกอร์สะท้อนแสง เวลาขึ้นเวทีก็จะแวววาวมาก ซึ่งแรงบันดาลใจหนึ่งของไอเดียนี้มาจาก KISS วงร็อกสัญชาติอเมริกันยุค 1970 โดยคอนเสิร์ตแรกที่ XYZ แสดงจัดขึ้นที่โรงแรมดุสิตธานี
9. ปีพ.ศ.2526 บริษัท สหมงคลฟิล์ม เคยสร้างภาพยนตร์เพลงเรื่อง “แก๊งไอติม” โดยให้ XYZ และสมาชิกสโมสรผึ้งน้อย ร่วมแสดงกับ อรพรรณ พานทอง และ ทนงศักดิ์ ศุภการ กำกับการแสดงโดย ปกรณ์ พรหมพิทักษ์, ประชา พงษ์สุพัฒน์ ประพันธ์เพลง อนุวัฒน์ สืบสุวรรณ เรียบเรียงเสียงประสาน ดนตรีโดย ‘บัตเตอร์ฟลาย’ อำนวยการสร้างโดย สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ
10. นางเอกสาวคนดัง จอย-ศิริลักษณ์ ผ่องโชค ก็เป็นสมาชิกอีกคนหนึ่งของสโมสรผึ้งน้อย ครั้งหนึ่งเธอเคยรวมกลุ่มกับเพื่อนสมาชิกผึ้งน้อย ออกอัลบั้มเพลงเด็กในนามวงโบว์สีชมพู
11. นอกจาก XYZ และโบว์สีชมพูแล้ว จริงๆ ผึ้งน้อยยังมีวงดนตรีซุกซ่อนอีกหลายวง เช่น วงพี่ชาย ทำหน้าที่คอยเล่นแบ็กอัพให้วงโบว์สีชมพูตอนออกอัลบั้ม
12. นอกจากวงดนตรีแล้ว ผึ้งน้อยยังเคยออกอัลบั้มของตัวเองหลายชุด เช่น ชุดผึ้งน้อย เรียบเรียงและทำดนตรีโดย อาจารย์ปัญญา ประดิษฐ์ธรรม ผึ้งน้อยโบยบิน เรียบเรียงดนตรีโดย อาจารย์วิจิตร จิตรังสรรค์ บรรเลงด้วยวงออเครสตร้า รวมทั้งเคยร่วมกับ Grammy ผลิตอัลบั้มเด็กอย่าง พระอาทิตย์ยิ้มแฉ่ง หรือ ก. ไก่ร็อกเก้
13. แม้ใครหลายคนจะชอบยกให้น้านิตเป็นนางพญาผึ้ง แต่น้านิตก็ยืนยันว่าความจริงแล้ว เธอเป็นเพียงแค่น้าคนหนึ่งในสโมสรผึ้งน้อย ความสำเร็จทั้งหมดของสโมสรแห่งนี้ ทีมงานที่รักการทำรายการโทรทัศน์เพื่อเด็กและสมาชิกสโมสรผึ้งน้อยแต่ละคนที่ช่วยกันสร้าง และประคับประครองกันเรื่อยมาจากรุ่นสู่รุ่น จนชื่อผึ้งน้อยยังคงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน
14. ในปี พ.ศ. 2533 หลังจากที่ประชา พงศ์สุพัฒน์ ผันตัวไปเป็นนักแต่งเพลงให้ Grammy น้านิตก็ลุยเขียนบทและเพลงของรายการเองเป็นส่วนใหญ่ โดยได้ พีรสันติ จวบสมัย แห่งวง The Innocent มาทำดนตรีให้ นับตั้งแต่นั้นมาเพลงที่น้านิตแต่ง พีรสันติ จวบสมัยจึงเป็นนักดนตรีคู่ใจ ผู้เรียบเรียงทำนองเพลงและทำดนตรีให้ทั้งหมด
15. เมื่อปี 2562 สมาชิกสโมสรผึ้งน้อยได้จัดงานรวมตัวกัน ชื่อ ผึ้งน้อยคืนรัง มีสมาชิกพาลูกหลานมาร่วมงานกันเพียบ และปัจจุบันก็ยังมีการตั้งเพจสำหรับสื่อสารกับหมู่สมาชิกชื่อ ตามหา สโมสรผึ้งน้อย และ สมาชิก สโมสรผึ้งน้อย ครบรอบ 40 ปี มีเรื่องราวดีๆ เกี่ยวกับรายการนี้เพียบเลย
เรื่องราวของเจ้าขุนทอง รายการโทรทัศน์ขวัญใจเด็กที่อยู่ในความทรงจำของทุกคนมานานกว่า 30 ปี
พี่นัท-พี่แนน สองพิธีกรคู่หูแห่งรายการ Disney Club ความทรงจำของเด็กไทยทั่วประเทศยุค 90
เสียงแห่งความทรงจำของนักพากย์การ์ตูนเบอร์ 1 ของเมืองไทย
พูดคุยกับคนเบื้องหลังละครซีรีส์วัยรุ่นน้ำดี น้องใหม่ร้ายบริสุทธิ์ ซึ่งออกอากาศยาวนานที่สุดในเมืองไทย
พิธีกรแห่ง I.Q.180 รายการคิดเลขเร็วที่มีอิทธิพลต่อเด็กไทย และยังคงถูกพูดถึงมาจนถึงปัจจุบัน แม้รายการจะปิดฉากลงไปนานกว่า 20 ปีแล้ว
สุดยอดพิธีกรในตำนาน วิทวัจน์ สุนทรวิเนตร์ ผู้อยู่เบื้องหลังรายการวาไรตี้ทอล์กโชว์ของเมืองไทย คืนนี้ที่ช่อง 9, 4 ทุ่มสแควร์ และตีสิบ
องค์กรที่ทำหน้าที่ผู้พิทักษ์อาหาร ส่งต่ออาหารส่วนเกินจากภาคส่วนต่างๆ เพื่อสร้างความสุขให้แก่ผู้คนที่ขาดแคลน และปราศจากโอกาส
‘คนฝั่งธน’ รุ่นใหม่ ที่อยากขอทำหน้าที่เป็นสื่อกลาง คอยชักชวนผู้คนในพื้นที่ ให้มาร่วมกันบอกเล่าถึงเสน่ห์ของเมืองหลวงเก่าแห่งนี้
กลุ่มออนไลน์ที่เกิดจากการแบ่งปันความรู้เรื่องเมล็ดพันธุ์ ต่อยอดมาสู่การสร้างโรงเรียนปลูกป่าที่มีเป้าหมายอยากรักษาพันธุ์ไม้ดีๆ ให้อยู่คู่เมืองไทยตลอดไป
เครือข่ายที่ทำงานเรื่องการ ‘ตายดี’ เพื่อช่วยให้ผู้คนสามารถจากไปได้มีความสุข และลดความขัดแย้งแก่คนรอบใกล้ที่คอยดูแลด้วย
เครือข่ายอนุรักษ์ที่อยากส่งต่อเรื่องราว ความรู้เกี่ยวกับวาฬบรูด้า และผองเพื่อนในท้องทะเล เพื่อให้ทุกคนลุกขึ้นมาช่วยปกป้องทรัพยากรธรรมชาติใต้ผืนน้ำให้คงอยู่ตลอดไป
ตำนานศิลปินร็อก ผู้จุดกระแสเพลงเก็บตะวันให้ข้ามกาลเวลา รวมทั้งยังเป็นผู้สร้างยุคใหม่ให้แก่ RS สู่การเป็นเบอร์ 2 ของวงการเพลงไทยอย่างแท้จริง
COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO. ALL RIGHTS RESERVED.