หากพูดถึงปรมาจารย์ที่เหล่านักแสดงตลกต่างเคารพรัก เชื่อเหลือเกินว่าคงไม่มีใครโดดเด่นเหนือ ล้อต๊อก-สวง ทรัพย์สำรวย อย่างแน่นอน
เพราะตลกอัจฉริยะสี่แผ่นดิน ดีกรีศิลปินแห่งชาติผู้นี้ ไม่ได้โดดเด่นเฉพาะฝีไม้ลายมือเท่านั้น
แต่เขายังผ่านร้อนผ่านหนาวมากว่า 6 ทศวรรษ ผ่านยุคมาตั้งแต่ตลกหน้าม่าน ตลกแผ่นฟิล์ม ตลกคาเฟ่ เรื่อยมาถึงตลกหน้าจอทีวี และถือเป็นต้นแบบสำคัญให้ตลกยุคหลังๆ ได้เดินตาม
แต่กว่าจะมายืนอยู่จุดนี้ ชีวิตของเขาต้องผ่านอะไรมากมาย ชนิดที่เรียกว่า โลดโผนโจนทะยาน ก็คงไม่ผิด
ยอดมนุษย์..คนธรรมดา จึงอยากชักชวนทุกคนมาย้อนเวลาเพื่อสัมผัสเรื่องราวของ ล้อต๊อก ศิลปินอัจฉริยะ ชายที่ใครๆ ต่างก็ขนานนามให้เป็นบิดาแห่งวงการตลกไทย
“เบิร์ดก็เบิร์ดเถอะ ป๋าต๊อกนี่ดังอมตะ ดังตลอด ดังทุกยุคทุกสมัย” คือคำจำกัดความที่ เด๋อ ดอกสะเดา ตลกรุ่นใหญ่กล่าวถึงล้อต๊อก
เพราะล้อต๊อกนั้นเป็นตลกที่เปี่ยมไปด้วยพรสวรรค์ มุกตลกของเขาไม่เคยล้าสมัย สามารถปรับเปลี่ยนไปได้ตลอด แถมยังครีเอตได้ไม่หยุด
บางครั้งเขาใช้วิธีหลบอยู่หลังม่าน แล้วโผล่มาแต่ขาอย่างเดียว แล้วก็ใช้ขาทำท่ากวนๆ แค่นี้ก็เรียกเสียงฮาได้ไม่หยุดแล้ว
เรื่องของเรื่อง คือล้อต๊อกเป็นคนฉลาด รักการเรียนรู้ สนใจสิ่งรอบข้าง เพียงแต่รักอิสระมากเกิน จึงไม่เคยจำกัดตัวเองอยู่แค่ในห้องเรียน
พอขึ้น ม.3 ล้อต๊อกก็ตัดสินใจยุติชีวิตนักเรียนถาวร หันไปอยู่บ้านช่วยพ่อช่วยแม่ทำสวนเป็นปีๆ กระทั่งสวนล่ม จึงหันไปใช้ชีวิตแบบที่หลายคนต้องทึ่ง
“ตอนนั้น น้ำท่วมทุเรียนตายหมด แม่ก็นั่งน้ำตาไหล ผมก็เลยปลอบใจแม่ว่า ไม่ต้องเสียใจหรอก ฉันก็จะหาเลี้ยงพ่อแม่เอง แกก็หัวเราะบอกว่าคนอย่างมึงจะทำอะไรเลี้ยงกู”
เพราะเหตุนี้ ล้อต๊อกจึงทำงานสารพัด เพื่อพิสูจน์ตัวเอง
เขาเคยเป็นเด็กเรือเมล์คอยผูกเชือกเวลาเรือจอด รับจ้างขึ้นมะพร้าว ขึ้นต้นหมาก ลอกท้องร่อง ขี่สามล้อ ทำประมง ชกมวย เป็นทหารอากาศ แม้แต่อาชีพแปลกๆ อย่างกระโดดหน้าผาเพื่อให้นักท่องเที่ยวต่างชาติถ่ายภาพที่ระลึกก็เคยทำมาแล้ว
แต่อาชีพที่เรียกว่า ฝังแน่นอยู่ในสายเลือดของล้อต๊อกที่สุด คงหนีไม่พ้นงานสายบันเทิง
ป๋าต๊อกผูกพันกับงานสายเฮฮามาตั้งแต่เยาว์วัย เขาชอบหนีเรียนไปเล่นปี่พาทย์ เป่าแตร ตีกลอง แห่นาค รํากลองยาว กระตั้วแทงเสือ โขนสด จนพ่อต้องส่งไปอยู่กับพระอาจารย์ที่วัด เรียนหนังสือจนอ่านออกเขียนได้
แต่พอกลับเข้าเรียนชั้นมัธยมที่โรงเรียนวัดนวลนรดิศ ก็ไม่วายโดดเรียนไปร่วมวงดนตรี
และเนื่องจากพี่ชาย เจ้าของวงดนตรีรู้จักนักประพันธ์หลายคน ไม่ว่าจะเป็น เหม เวชกร, มนัส จรรยงค์, ยาขอบ หรือไม้ เมืองเดิม จึงฝากล้อต๊อกให้คอยรับใช้นักเขียนกลุ่มนี้ เพื่อซื้อเหล้า ซื้อบุหรี่ และรับส่งต้นฉบับตามโรงพิมพ์ รวมถึงงานจิปาถะต่างๆ
การใกล้ชิดกับคนดังแห่งยุค ทำให้ล้อต๊อกได้วิชาทั้งการเขียนเรื่อง การวาดภาพ ติดมาด้วย
เสียแต่ว่าเขารู้สึกว่า งานเขียนนั้นปราศจากอิสระ จะไปไหนมาไหนก็ยาก จึงไม่เคยคิดเอาดีทางนี้เลย
แต่ใช่ว่าจะปล่อยให้ความรู้นี้หมดไปโดยเปล่าประโยชน์ เพราะล้อต๊อกนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์กับการทำงานใน 60 ปีต่อมา ทั้งการคิดมุกตลก การเขียนบทภาพยนตร์ รวมถึงการแบ่งปันความรู้ให้แก่ตลกรุ่นหลัง จนทำให้เขากลายเป็นปูชนียบุคคลของวงการบันเทิงบ้านเรา
วงการตลกเปิดรับป๋าต๊อกเป็นสมาชิกแบบเป็นทางการ เมื่อเขาอายุได้ประมาณ 20 เศษๆ
ก่อนหน้านั้น เขาเคยเป็นทหารอากาศ แต่ลาออกมา เพราะไม่อยากอยู่ใต้กฎระเบียบวินัยมากมาย จึงกลับบ้านไปทำสวนทุเรียน แต่เผอิญไปแอบตัดทุเรียนดีบางลูกไปขายเอาเงินเข้ากระเป๋าตัวเอง พอพ่อจับได้เลยถูกไล่ให้ไปอยู่กระท่อมกลางทุ่ง จึงหันไร่วมกลุ่มกับเพื่อน ตั้งคณะกระตั้วแทงเสือ เล่นตามงานบวชในย่านธนบุรีแทน
กระตั้วแทงเสือเป็นการแสดงโบราณ ผู้เล่นประกอบด้วยกระตั้วหรือนายพรานกับเสือ โดยกระตั๋วมีหน้าที่หาวิธีกำราบเสือ
ว่ากันว่าคณะของล้อต๊อกโด่งดังมาก เพราะชอบเล่นโลดโผน บางครั้งแทงเสือแบบเอาเป็นเอาตาย เสือหนีขึ้นต้นมะม่วง ก็ไล่ตาม จนกิ่งมะม่วงหักโครมลงน้ำ
ต่อมาล้อต๊อกมีโอกาสไปดูละครย่อย หรือละครชวนหัวเรื่องสั้นๆ เพื่อคั่นการแสดงแถวบ้าน ไอเดียก็เลยบรรเจิด คิดว่า ตัวเองน่าจะทำได้เหมือนกัน จึงปรึกษาเพื่อนชื่อ เสน่ห์ โกมารชุน ตั้งคณะละครย่อยชื่อว่า ‘เมฆดำ’ ตระเวนเล่นตามงานวัด รวมถึงเข้าประชันตามเวทีต่างๆ และด้วยมุกตลกและทักษะการเล่นที่แพรวพราว ทำให้คณะเมฆดำคว้ารางวัลกลับมาเพียบ
แต่เสียดายที่พ่อของเขากลับไม่เห็นดี เพราะมองว่างานน่ารังเกียจ เป็นพวกเต้นกินรำกิน จึงถูกไล่ออกจากบ้าน
โชคดีที่ฝีมือของล้อต๊อกดันเข้าตา สัมพันธ์ อุมากูล แห่งคณะศรีเบญจา ผู้แต่งเพลงเย้ยฟ้าท้าดิน จึงชักชวนให้มาร่วมทีม และได้แสดงบนเวทีใหญ่อย่างศาลาเฉลิมกรุง เป็นครั้งแรก
นับจากนั้นเส้นทางของชายชื่อสวง ก็วนเวียนอยู่กับการแสดงเรื่อยมาจนวาระสุดท้าย
จุดเด่นของล้อต๊อก คือ เขาสามารถพลิกแพลงสิ่งที่อยู่รอบตัวมาเป็นมุกตลกได้หมด ไม่ว่าจะเป็นศัพท์วัยรุ่น ศัพท์สมัยใหม่ หรือเหตุการณ์บนเวที
ที่สำคัญเขายังสร้างบุคลิกประจำตัว โดยเฉพาะลีลาการพูดแบบเหน่อๆ สำเนียงสุพรรณ ลงท้ายประโยคด้วยคำว่า ‘คร๊าบ..กระผม’ ตามด้วยเสียงหัวเราะ ‘แหะ แหะ’ จนกลายเป็นภาพจำที่เรียกเสียงหัวเราะของแฟนได้ไม่ว่ายุคสมัยใดก็ตาม
“การเล่นตลกนี่ต้องใช้ปฏิภาณแบบโต้วาที เพราะตลกต้องใช้ความรู้รอบตัวให้มาก ประสบเหตุการณ์อะไรที่เราจะจำเอามาพูดได้ให้มันตลกขบขัน จับความจริงให้แปลงออกมาเป็นตลกให้ได้ ให้คนหัวเราะ คนฮา ตลกทุกวันนี้ อย่าเข้าใจว่าดังแล้ว มีชื่อเสียงแล้วจะหยิ่งยโสได้ ไม่ได้..
“ตลกต้องพึ่งประชาชน ประชาชนทั้งประเทศเป็นผู้ให้กำลังใจ ให้เราเป็นตลกเอกหรือไม่เอก อยู่ที่ประชาชน ต้องวางตัวให้ดี เจอะประชาชนต้องยิ้มย่องกับเขา เพราะเขาสนใจในการแสดงของเรา”
ความดังของป๋าต๊อกเริ่มฉายแววชัดเจน เมื่อเขารวมทีมกับเพื่อนตั้งคณะลูกไทย แสดงละครหน้าม่านสลับกับการฉายภาพยนตร์ โดยมักรับบทเป็นตัวโจ๊กที่ถูกแกล้งให้เจ็บตัวเสมอ
อย่างเวลาร้องเพลงละครชาตรี เขาจะแกล้งร้องผิดร้องถูก เช่นคนอื่นร้อง ‘โฉมเจ้าไกรทองพงษา’ แต่ป๋าจะร้องว่า ‘โฉมเจ้าไกรทองเจ้าพงษ์หมา’ พอร้องเสร็จสมาชิกที่ชื่อ สมพงษ์ พงษ์มิตร จะทำเป็นโกรธ แล้วถีบล้อต๊อกกลิ้งลงพื้น แค่นี้ก็เรียกเสียงฮาได้ไม่หยุดแล้ว
ต่อมาเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นสั่งห้ามฉายภาพยนตร์ฝรั่ง ให้ฉายแต่หนังญี่ปุ่น แต่คนไทยรังเกียจญี่ปุ่นเห็นว่ารุกรานประเทศเลยไม่ยอมดู จึงเกิดสื่อบันเทิงที่เรียกว่าละครเวทีขึ้นมาทดแทน
ล้อต๊อกและคณะถูกดึงเข้ามาร่วมเช่นเคย เขาใช้ประสบการณ์ที่แน่นปึ๊กมาเป็นพื้นการแสดง และเล่นเพียงไม่กี่เรื่อง ก็ดังเป็นพลุแตก มีรายได้เป็นหลักพันบาท ในยุคที่ก๋วยเตี๋ยวชามละไม่กี่สลึง
เรื่องที่ดังสุด คือ ‘ใกล้เกลือกินด่าง’ ซึ่งเขาแสดงเป็น ‘เสี่ยล้อต๊อก’ เถ้าแก่คนจีนขี้เหนียว จอมลืมตัว โดยเขาสวมบทบาทได้แบบไร้ที่ติ ยิงมุกกระจุย จนสุดท้ายชื่อ ‘ล้อต๊อก’ ก็โดดเด่นกลบชื่อ ‘สวง ทรัพย์สำรวย’ ไปโดยปริยาย
ตลอดชีวิตการแสดง ป๋าต๊อกไม่เคยผูกตัวเองไว้กับการแสดงรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง และพร้อมปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย
เชื่อหรือไม่ว่า ในยุคที่หนังไทยรุ่งเรือง ออกฉายปีละ 300 เรื่อง กว่าครึ่งต้องมีป๋าต๊อกเล่นประกบ
ยิ่งเรื่องที่มี มิตร ชัยบัญชา กับเพชรา เชาวราษฎร์ เป็นพระนางยิ่งขาดไม่ได้
ต่อมาเมื่อเมืองไทยมีสถานีโทรทัศน์ ป๋าต๊อกก็เป็นตลกคนแรกๆ ที่เข้าไปร่วมสร้างสรรค์
เขาก็เอาเทคนิคการแสดงละครเวทีมาใช้กับละครทีวี จนผู้คนติดกันทั่วบ้านทั่วเมือง
“การแสดงในทีวี สิ่งสำคัญคือต้องเล่นให้ถูกใจและต้องเล่นให้คนชอบ เพราะถ้าเราเล่นๆ ไปมันก็อย่างนั่นละ สุดท้ายคนเค้าก็เบื่อ เพราะทีวีมันไม่เหมือนบนเวที คนหมุนแป๊บเดียวก็ไปช่องอื่นได้ ไม่จำเป็นต้องนั่งดู”
หลักคิดอย่างหนึ่งที่ป๋ายึดถือคือ การแสดงที่ดีต้องเริ่มมาจากทัศนคติ และอารมณ์ที่ดี หากรักจะเป็นตลกจะเอาแต่ตัวเองเป็นที่ตั้งไม่ได้ ต้องรู้จักทำงานเป็นทีม เปิดรับโลกกว้าง และพร้อมพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา
“เราต้องคิดให้มากมายเหนือเกินกว่าความจริงที่ตัวเรามี แล้วเราต้องฟังเวลาใครพูดอะไร บางคนพูดๆ ไป มันไปตรงกับเรื่องบางเรื่องที่เราคิดขึ้น เราก็เอาแล้ว หรือบางทีอาจเป็นสิ่งที่คนรู้เยอะๆ เราก็เอามาบิดเบือนสักหน่อย คนก็ฮา”
ด้วยวิธีคิดแบบนี้ ทำให้ป๋าต๊อกสามารถสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ได้มากมายในวงการบันเทิง เช่น รายการตลกบนจอแก้ว ซึ่งป๋าเป็นผู้บุกเบิก โดยรายการที่ถือเป็นตำนานก็มีทั้ง ชูศรีโชว์ ทางช่อง 5 ซึ่งป๋าแท็กทีมกับตลกหญิง ชูศรี มีสมมนต์ ทำรายการเดือนละครั้ง จนชื่อ ล้อต๊อก-ชูศรี กลายเป็นคู่ขวัญตลกไทย หรือ ขายหัวเราะ ทางช่อง 7 สี ซึ่งออกอากาศนานเกือบสิบปี โดยนอกจากขายขำแล้ว ยังสอดแทรกสาระความรู้ต่างๆ อย่าง เกษตรกรรม ยาเสพติด หรือประชาธิปไตย ลงไปด้วย
ไม่เพียงแค่นั้น ครั้งหนึ่งป๋าต๊อกยังเคยผันตัวเป็นนักสร้างหนัง โดยใช้ทักษะที่เคยได้จากนักเขียนมือเก๋า มาปรับใช้และเขียนบทภาพยนตร์ จนประสบความสำเร็จ กวาดรายได้ถล่มทลาย
นี่เป็นตัวอย่างว่า หากเราเรียนรู้ สั่งสมและพัฒนาตัวเอง ต่อให้ไม่ได้เรียบจบชั้นสูงๆ ก็ย่อมสามารถสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้ไม่แพ้กัน
ตลกต้องพึ่งประชาชน ประชาชนทั้งประเทศเป็นผู้ให้กำลังใจ ให้เราเป็นตลกเอกหรือไม่เอก อยู่ที่ประชาชน ต้องวางตัวให้ดี เจอะประชาชนต้องยิ้มย่องกับเขา เพราะเขาสนใจในการแสดงของเรา
หากถามว่าทำไมตลกทั่วฟ้าเมืองไทยถึงยกให้ล้อต๊อกเป็นบรมครู
แน่นอนว่าคงไม่ใช่เพราะป๋าเป็นตลกคนแรกที่ได้รับเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ แต่มาจากวิถีชีวิตและคำสอนที่ป๋าพยายามปลูกฝังคนรอบข้างต่างหาก
สำหรับป๋าแล้ว ประชาชนต้องเป็นที่หนึ่งเสมอ หากตลกไม่สามารถเข้าไปยืนในใจของผู้ชมได้ ก็ยากที่จะรักษาอาชีพนี้ให้ได้คงนาน
“เราต้องเข้ากับประชาชนได้ ต้องเห็นประชาชนเป็นสิ่งสำคัญ สำหรับชีวิตนักแสดง ถ้าไปเหยียดหยามประชาชน คนนั้นจะลำบาก”
การแสดงทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นเวทีเล็กหรือเวทีใหญ่ คำพูดประเภทหยาบโลน แทะโลม หรือล่วงละเมิดทางเพศ จึงไม่เคยออกจากปากของป๋าต๊อกเลย แม้บางครั้งมุกตลกแบบนี้จะรับประกันความฮา โดยเฉพาะในยุคที่ป๋าหันมาเล่นตามคาเฟ่ ซึ่งต้องอาศัยมุกสดเป็นหลักก็ตาม
“แขกที่มาบางทีไม่ได้มาคนเดียว เอาผู้หญิงมาด้วย แล้วผู้หญิงที่มากับเขาเป็นคนดีหรือคนชั่ว เราก็ไม่รู้ ต้องให้เกียรติเขา และถ้าเห็นใครเล่นหยาบโลน ก็ต้องตักเตือน”
ตลอดชีวิตป๋าต๊อกไม่เคยหวงวิชา พร้อมช่วยเหลือตลกรุ่นน้องรุ่นลูกเสมอ แม้แต่ช่วงที่ป๋าวางมือจากงานหน้าจอ หลบไปทำไร่ทำสวนอยู่ชลบุรีนาน 5-6 ปี แต่ก็ยังยอมรับตำแหน่งนายกสมาคมศิลปินตลกแห่งประเทศไทย คอยเป็นปากเป็นเสียงดูแลสุขทุกข์ของเพื่อนร่วมอาชีพอย่างดีที่สุด
ครั้งหนึ่งป๋าเคยฝากข้อคิดเสมือนบัญญัติสิบประการให้เหล่าสมาชิกตลกได้เดินตาม
เขาบอกว่า อย่าคิดว่าเราเป็นดารานักแสดง อย่าลืมตัว นึกเสียว่าเราเป็นคนธรรมดา มีหน้าที่สร้างความสุขอภิรมย์ให้กับประชาชน ให้ความสุขความสบายใจแก่ประชาชน อย่าเอาความทุกข์ไปให้เขา ให้รักงานแสดง อย่าทิ้งเป็นอันขาด งานแสดงต้องเดินนำหน้าเงิน อย่าเอาเงินเดินหน้างานแสดง เป็นต้น ซึ่ง ข้อคิดเหล่านี้ไม่เคยล้าสมัยและปรับใช้ได้ทุกยุคทุกสมัย
ช่วงท้ายชีวิต ป๋ายังคงมีความสุขกับการแสดงไม่เปลี่ยนแปลง เขาตั้งคณะตลกเล็กๆ ดึงเพื่อนรุ่นเก๋ามาร่วมทีม ต่อมาเมื่อแต่ละคนสุขภาพไม่ดี จึงดึงคนรุ่นใหม่เข้ามาเสริม เดินทางแสดงตามคาเฟ่ต่างๆ ในยุคเฟื่องฟู ทั้ง ดาราคาเฟ่, พระราม 9 คาเฟ่, กรุงธนพลาซ่า และวิลลาคาเฟ่
บางแห่งให้เงินมาก บางแห่งให้เงินน้อย แต่ป๋าก็ไม่เคยเกี่ยง เพราะป๋ายึดคติไม่โลภ ได้แค่ไหนก็เอาแค่นั้น และยังเป็นโอกาสผลักดันให้ตลกรุ่นใหม่ๆ ได้มีพื้นที่ของตัวเอง
อีกเวทีหนึ่งที่ไม่เคยหยุดคือ รายการก่อนบ่ายคลายเครียด ของสองเพื่อนซี้ เป็ด เชิญยิ้ม และโน้ต เชิญยิ้ม โดยป๋าจะนั่งรถจากสวนลึกในฉะเชิงเทรา ไปประจำกองทุกวันพุธไม่เคยขาด ถึงหลายครั้งร่างกายจะไม่เอื้ออำนวยก็ตาม แต่ป๋าก็มีความสุขที่จะทำ เพราะนี่คือชีวิตที่เลือกแล้ว
“ชีวิตนี้ผมคงเลิกแสดงไม่ได้ หยุดการแสดงก็หมายความว่า หยุดหายใจ ต้องแสดงไปเรื่อยๆ นอกจากเราจะตายค่อยเลิกแสดง เราเป็นคนของประชาชน ประชาชนเขายังต้องการ เขาดูแล้วหายกลุ้ม เราก็ต้องทำหน้าที่ของเราต่อไป มันอยู่ในสายเลือดซะแล้ว”
ป๋าต๊อกจากไปอย่างสงบด้วยวัย 88 ปี
ครั้งหนึ่งเขาเคยบอกว่า “ชีวิตผมอย่าไปเขียนเลย ไม่เห็นมันจะดีเด่นอะไร”
แต่นั่นไม่ใช่เรื่องจริงเลย เพราะสิ่งที่เขาทิ้งไว้ นอกจากผลงานการแสดงนับพันเรื่อง แต่ยังรวมถึงบทเรียนชีวิตอันยิ่งใหญ่ที่น่าศึกษาเรียนรู้และควรค่าต่อการจดจำตราบนานเท่านาน
ย้อนเรื่องราวกว่าจะเป็นเดี่ยวไมโครโฟน ทอล์กโชว์ของโน้ต-อุดม แต้พานิช ที่อยู่คู่เมืองไทยมานานกว่า 20 ปี
ครูเล็ก-ภัทรวาดี นักแสดงชั้นครูของเมืองไทย กับเรื่องเล่าถึงแม่ บุคคลที่มีอิทธิพลมากที่สุดในชีวิตของเธอ
วิกฤติมาเมื่อใด เขาคือด่านหน้าคนสำคัญที่พร้อมออกมาช่วยเหลือผู้อื่น จากพระเอกมืออาชีพสู่พ่อพระของผู้คน บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์
พระเอกยอดนักบู๊ ผู้ตามหาฝันจากเด็กเลี้ยงช้าง สู่นักแสดงระดับโลก
บรมครูของวงการตลก ผู้เป็นต้นแบบของนักแสดงขายขำ ผู้เต็มไปด้วยมุกแพรวพราว
ศิลปินล้านนา จรัล มโนเพ็ชร ชายผู้ทำให้ภาษาคำเมืองกลายเป็นภาษาที่ทั่วประเทศคุ้นเคย และสร้างบทเพลงที่อมตะ
โลกดนตรี ตำนานรายการคอนเสิร์ตกลางแจ้ง ที่ศิลปินยุค 1970-2000 อยากขึ้นแสดงมากที่สุด เพราะใครที่มีโอกาสได้ขึ้นเวทีนี้ แสดงว่าดังแล้ว
ห้องทดลองกฎหมายของ รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร ที่ทำงานเรื่องการพิสูจน์สิทธิเรื่องสัญชาติ เพื่อให้ทุกคนได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม
เครือข่ายคนรุ่นใหม่ที่อยากรักษาเสน่ห์ของพื้นที่อารีย์ พร้อมกับรักษาชุมชนที่ยั่งยืนด้วยการใช้กุศโลบายที่ดึงดูดให้คนทุกมีส่วนร่วม
นักออกแบบแดนปัตตานีที่รวมกลุ่มกันจัดกิจกรรม เพื่อเปลี่ยนภาพจำๆ เดิมของชายแดนใต้ ไปสู่กลายเป็นเมืองสร้างสรรค์
จากครูอาสาที่มาสอนดนตรีในชุมชนคลองเตย สู่การต่อยอด เพื่อสร้างโอกาสให้เด็กๆ ได้มีพื้นที่ที่จะเติบโตอย่างงดงาม
แรงบันดาลใจของพระอีสานผู้ไม่มีโอกาสได้เรียนต่อ สู่การสร้างโอกาสทางการศึกษาด้วยพลังงานแสงอาทิตย์
COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO. ALL RIGHTS RESERVED.