Arthur Fellig : ‘Weegee’ สุดยอดช่างภาพข่าวอาชญากรรม

<< แชร์บทความนี้

ภาพข่าวอาชญากรรม นับเป็นงานศิลปะหรือไม่?

คนโดดตึก ถูกรถชน ไฟไหม้ โดนฆาตกรรม – สำหรับคนทั่วไป เรามักเบือนหน้าหนีภาพอันสยดสยองเหล่านี้ มากกว่ามองหาความสวยงาม บ่อยครั้งมันจึงถูกเซนเซอร์บนหน้าหนังสือพิมพ์

แต่กับช่างภาพคนหนึ่ง ผู้โลดแล่นอยู่ในมหานครนิวยอร์ก เมื่อปี ค.ศ. 1930-1940 กลับถ่ายทอดความรุนแรงเหล่านี้ออกมาได้อย่างมีชั้นเชิงศิลปะ

รูปของเขาไม่ใช่แค่บันทึกผู้ถูกกระทำ หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่มักสะท้อนปฏิกริยาของคนอื่นๆ ที่มีต่อเหตุการณ์นั้น ทั้งอารมณ์ตกใจของฝูงชน ความอยากรู้ของกลุ่มไทยมุง บางทีแฝงอารมณ์ขันเสียดสี หรือกระตุ้นความรู้สึกบางอย่างกับผู้ชม

ไม่แปลกเลยที่มีคนยกย่องว่างานของเขามีความเป็นมนุษย์สูงมาก

ทุกคืน ชายผู้นี้จะออกไล่ล่าหาภาพ ทำทุกอย่างเพื่อไปถึงที่เกิดเหตุเร็วที่สุด จนบางทีตำรวจยังมาไม่ถึงด้วยซ้ำ เขาจึงได้ฉายาว่า ‘Weegee’ อันหมายถึง ผีถ้วยแก้ว

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ร่วมกับ D1839 ขอพาไปรู้จักกับ Arthur Fellig หรือ Weegee ช่างภาพระดับตำนานของวงการภาพข่าว ผู้มีชีวิตอันทรหดบ้าคลั่ง ชายคนแรกๆ ที่เปลี่ยนมุมมองภาพอาชญากรรมไปอย่างสิ้นเชิง

ผีถ้วยแก้วแห่งรัตติกาล

“การถ่ายภาพข่าวสอนให้รู้จักคิดเร็ว และมั่นใจในตัวเอง เมื่อลุกออกไปข้างนอกแล้วต้องไม่ย้อนกลับไปนั่งที่เดิมอีก คุณต้องทำให้ได้” – วีจี

มหานครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ในทศวรรษที่ 1930 เต็มไปด้วยกลุ่มอันธพาล ผู้อพยพหลากเชื้อชาติ และธุรกิจผิดกฎหมาย บ่อยครั้งที่ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งและคดีอาชญากรรมไม่เว้นแต่ละวัน โดยเฉพาะเวลากลางคืนที่รอดเร้นสายตาเจ้าหน้าที่ตำรวจ

ท่ามกลางสังคมที่เสื่อมทรุด วีจี ในวัย 36 กลับมองเห็นโอกาส เขาซื้อกล้องมาตัวหนึ่งและออกตระเวนถ่ายภาพความรุนแรง ตลอดจนอุบัติเหตุต่างๆ เพื่อนำไปขายให้กับหนังสือพิมพ์หลายหัว 

ชายคนนี้เติบโตในครอบครัวยากจน การศึกษาไม่สูง ทำให้ต้องดิ้นรนปากกัดตีนถีบ วิธีหารายได้จากภาพอาชญากรรม ช่วยให้เขาประทังชีวิตอยู่รอด 

วีจีทำงานกลางคืนเป็นหลัก โดยนอนเวลากลางวัน แล้วตื่นตอน 3 ทุ่ม 

เขาเลือกเช่าห้องราคาถูกที่ไม่มีลิฟต์ ไม่มีเครื่องทำน้ำอุ่น แต่อยู่ด้านหลังสถานีตำรวจใหญ่เมืองแมนฮัตตัน พอถึงเวลาก็พุ่งตัวคว้ากล้องคู่ใจออกไปประจำการที่สถานีได้ทันที

ตอนเขาเริ่มถ่ายภาพข่าว ในปี 1935 ตำรวจจะใช้เครื่องเทเล็กซ์ พิมพ์ส่งข่าวกัน ต่อมาจึงพัฒนาเป็นวิทยุคลื่นสั้น วีจีจะมานั่งฟังในสถานีว่ามีคดีอะไรบ้าง พอรู้ข่าวก็รีบกระโดดขึ้นรถ ขับออกไป เขาทำแบบนี้อยู่ 2 ปี จนเจ้าหน้าที่ยกวิทยุสื่อสารให้ วีจีนำวิทยุตำรวจไปไว้ในรถ บางทีก็วางไว้ข้างเตียง เปิดฟังแทบจะตลอดเวลา ไม่แปลกเลยช่างภาพผู้นี้จะไปถึงที่เกิดเหตุก่อนตำรวจเป็นประจำ

“รถเหมือนกับเป็นบ้านหลังที่ 2 ผมเก็บทุกอย่างไว้ที่นั่น กล้องถ่ายรูป หลอดไฟฉาย เครื่องพิมพ์ดีด รองเท้า กล่องซิการ์ ฟิล์มอินฟราเรด เครื่องแต่งกาย รองเท้าและถุงเท้า.. พอมีวิทยุผมก็ไม่ต้องติดอยู่กับเทเล็กซ์ของสำนักงานตำรวจอีกต่อไป ผมมีปีกที่จะบินไปเอง”

ไม่มีหลักฐานว่าใครเป็นคนตั้งฉายา วีจี แต่คำนี้เพี้ยนมาจาก ‘วีจาบอร์ด’ (Ouija board) หมายถึงกระดานผีถ้วยแก้ว ซึ่งคงมาจากการปรากฏตัว ณ ที่เกิดเหตุอย่างรวดเร็ว อย่างกับมีคนเชิญวิญญาณ

กล้อง Speed Graphic ขนาด 4×5 นิ้ว พร้อมแฟลช และซิการ์ คืออุปกรณ์คู่ใจของเขา แสงแฟลชที่ส่องวาบออกไปในความมืด ช่วยให้เก็บรายละเอียดของสิ่งต่างๆ ในภาพได้ชัดเจน วีจีจะถ่ายรูปจนถึงรุ่งสาง จากนั้นกลับไปล้างภาพที่ห้องมืดในห้องพัก พิมพ์บันทึกรายงาน บ้างก็เล่าว่าเขาล้างฟิล์มที่ท้ายรถเลย

วีจีเป็นช่างภาพอิสระ เขาจะรอจนถึงเช้าเพื่อเข้าไปขายภาพให้กับบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ หรือ บริษัทรับซื้อภาพถ่าย จากนั้นจึงค่อยกลับไปนอน พอถึง 3 ทุ่มก็ตื่นขึ้นมาอีกครั้ง เป็นกิจวัตรซ้ำเดิมทุกวัน จะเรียกว่าทำงานอย่างบ้าระห่ำก็คงไม่ผิด

ในยุคที่ช่างภาพส่วนใหญ่ล้วนมีสังกัด สิ่งที่เขาทำจึงค่อนข้างแปลกประหลาดในสายตาคนอื่น

“ผมจะไม่รอใครมาให้งานผม แต่ผมจะสร้างงานขึ้นมาเอง”

แม้ทุกคนจะรู้จักในนาม ‘วีจี’ แต่ชื่อจริงๆ คือ อารเธอร์ เฟลิก บ้านเกิดอยู่ที่ออสเตรีย ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นส่วนหนึ่งของประเทศยูเครน

พ่อของเขาอพยพมาที่สหรัฐอเมริกาก่อน จากนั้นแม่และลูกๆ จึงอพยพตามมา ตอนนั้นเด็กหนุ่มอายุเพียง 10 ปี ยังใช้ชื่อเดิมคือ อูเชอร์ (Usher Fellig) แต่เจ้าหน้าที่ผ่านแดนเขียนเป็น อารเธอร์ จึงกลายเป็นชื่อใหม่ที่มีสำเนียงอเมริกันมานับแต่นั้น

ครอบครัวของวีจีมีฐานะไม่ดี เขาจึงพยายามหางานทำ ก่อนไปสะดุดกับอาชีพช่างภาพข้างถนน ที่รับจ้างถ่ายรูปคนที่เดินผ่านไปมา จึงเริ่มหากล้องและทำเช่นนั้นบ้าง

ยุคนั้นกล้องถ่ายภาพเริ่มแพร่หลายมากขึ้น จากกล้องราคาสูงในสตูดิโอมาสู่กล้องพกพาที่ราคาถูกลง แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะไปซื้อหามา ทำให้เกิดอาชีพช่างภาพรับจ้างขึ้นในนิวยอร์ก อย่างไรก็ตาม วีจีมีวิธีหาเงินที่ต่างจากคนอื่น เขาซื้อลาแล้วจูงไปตามถนนในวันหยุด มองหาเด็กที่แต่งตัวดีๆ ชวนให้มานั่งบนหลังลา แล้วถ่ายภาพ นำกลับไปล้างและอัด ก่อนตระเวนไปตามบ้านเด็กเหล่านั้นเพื่อขายภาพให้กับพ่อแม่ วิธีนี้ทำให้เด็กหนุ่มมีเงินเลี้ยงชีวิตรอด 

เมื่อทำไปเรื่อยๆ ความหลงใหลในโลกหลังม่านชัตเตอร์ก็ทวีคูณมากขึ้น อารเธอร์ไปเป็นผู้ช่วยสตูดิโอถ่ายภาพหนังสือเดินทาง ก่อนสมัครเป็นเจ้าหน้าที่เทคนิคในห้องมืดของ New York Times 

ตอนอายุ 24 เขามาอยู่กับ ACME News Pictures (ซึ่งต่อมาคือ UPI Photos) และเริ่มได้รับมอบหมายให้ไปถ่ายภาพเมื่อช่างภาพคนอื่นไม่ว่าง อย่างไรก็ตามผ่านไปหลายปี ผลงานของเขาไม่ได้รับการยอมรับเท่าไร วีจีจึงตัดสินใจออกมาทำงานช่างภาพข่าวอิสระเต็มตัว ปลดปล่อยความคิดสร้างสรรค์ของตัวเองอย่างเต็มที่ 

นั่นเองคือจุดเริ่มต้นของวิถีช่างภาพข่าวที่ไม่มีใครเหมือน

ข่าวอาชญากรรม และความเป็นมนุษย์

อาจกล่าวได้ว่า ไม่มีช่างภาพคนใดที่จะบันทึกการฆาตกรรมที่น่าสยดสยอง เรื่องอื้อฉาว และความหายนะของมหานครนิวยอร์ก ในช่วงทศวรรษที่ 1930 และ 1940 ได้มากเท่ากับวีจี

ตลอด 12 ปี ที่ทำงานเป็นช่างภาพข่าวอิสระ วีจีบันทึกภาพคดีฆาตกรรมกว่า 5,000 คดี เปลี่ยนรถไป 5 คัน และเปลี่ยนกล้องไป 10 ตัว 

ผลงานของเขาโดดเด่นเป็นที่จดจำ บางภาพเต็มไปด้วยความดิบเถื่อน รุนแรง ถ่ายทอดความจริงข้างหน้า ทั้งศพ คนโดนไฟคลอก คนเมา คนถูกรถชน ฯลฯ จนรู้สึกถึงความน่ากลัว 

แต่ขณะเดียวกัน ภาพอีกไม่น้อยก็แฝงอารมณ์ขัน การเปรียบเทียบชนชั้น หรือสะท้อนปฏิกิริยาของคนที่อยู่ตรงนั้นออกมาได้อย่างถึงแก่นแท้ความเป็นมนุษย์ เช่น ความกลัว ความอยากรู้อยากเห็น อาการโล่งอก

“ผมพยายามถ่ายรูปเหตุการณ์รอบๆ โดยไม่ให้เห็นเลือดมากนัก หรือถ่ายศพจากมุมที่เห็นพวกเขาดูไม่น่ากลัว จริงๆ แล้วผมอารมณ์อ่อนไหว และรักศิลปะมากกว่า ผมไม่ชอบเลือด เพียงแต่ต้องมนต์สะกดความลึกลับของคดีฆาตกรรม”

หนึ่งในผลงานที่มีชื่อเสียง คือภาพเหตุการณ์ชายถูกยิงในคืนวันที่ 16 พฤศจิกายน ค.ศ.1939 ตีพิมพ์ในนิตยสาร LIFE ที่เกิดเหตุอยู่ในย่านของคนอิตาลี ผู้เสียชีวิตนอนจมกองเลือดที่หน้าคาเฟ่ วีจีมองเห็นว่ามีอย่างน้อย 5 เรื่องราว เกิดขึ้นตรงหน้า ผู้คนมากมายบนตึกที่เปิดหน้าต่างชะเง้อมอง, กลุ่มคนที่ออกมาดูเหตุการณ์บนบันไดหนีไฟ, เด็กที่กำลังอ่านหนังสือการ์ตูน, เจ้าหน้าที่สืบคดีกำลังทำงาน และช่างภาพคนอื่นๆ ที่จดจ่ออยู่กับผู้ตาย

วีจีตัดสินใจเดินถอยหลังออกมาจากบริเวณนั้น ใช้เลนส์มุมกว้างพร้อมยิงแฟลชใส่ ภาพที่ได้จึงมีเรื่องราวมากมาย สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกของคนต่อเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้น

“ผมเห็นภาพตรงหน้าแล้วรู้สึกว่ามันคือละครฉากหนึ่ง จึงตั้งชื่อภาพว่า ‘ที่นั่งริมระเบียงสำหรับคดีฆาตกรรม’ (Balcony Seats at a Murder) เป็นความตั้งใจที่ผมอยากให้ข่าวมีความเป็นมนุษย์ ภาพนั้นทำให้ผมได้รางวัลเหรียญทอง แน่นอนว่าผมมีปัญหากับบรรณาธิการที่ไม่เข้าใจ” 

อีกภาพหนึ่งเป็นเหตุการณ์อัคคีภัย แทนที่เขาจะถ่ายภาพกองไฟลุกโชนแบบนักข่าวคนอื่นในยุคนั้น วีจีเลือกถ่ายภาพสองแม่ลูกที่รอดชีวิต แต่ทั้งคู่ร้องไห้เสียใจอย่างหนัก เพราะเจ้าหน้าที่ดับเพลิงไม่อาจช่วยลูกและหลาน อีก 2 คนออกมาได้

“ผมร้องไห้ตอนที่ถ่ายภาพนี้” เขายอมรับ 

งานที่มีอารมณ์ความรู้สึกแบบนี้เองที่เป็นลายเซ็นเฉพาะตัว และเริ่มสร้างชื่อเสียงให้กับเขา

ไม่เพียงด้านที่โหดร้าย หลายครั้งเขาก็แทรกอารมณ์ขันลงไปในงาน

ภาพไฟไหม้ตึก 7 ชั้นบริเวณสะพานบรู๊คลิน บนตึกมีป้ายโฆษณาที่เขียนว่า ‘Simply Add Boiling Water.’ หรือ ‘ง่ายๆ เพียงแค่เติมน้ำเดือด’ อยู่อย่างโดดเด่น ล้อไปกับพนักงานดับเพลิงที่กำลังฉีดน้ำขึ้นไปดับไฟ ชวนให้คิดสนุกๆ ไปได้ว่า พนักงานกำลังปฏิบัติตามคำแนะนำจากป้าย 

หรือภาพคนเมาเหล้านอนอยู่ข้างตู้ขายโค้ก ที่ชวนให้คิดไปได้ว่าเขาดื่มน้ำดำเข้าไปจนเมามาย

ยุคนั้นภาพลักษณะนี้นับว่าแปลกใหม่มาก เพราะช่างภาพคนอื่นมักจะถ่ายแต่รูปสำคัญที่เล่าเหตุการณ์ตรงไปตรงมา ซึ่งตรงสเปกความต้องการของหนังสือพิมพ์มากกว่า แต่วีจีโชคดีที่เจอบรรณาธิการภาพที่เข้าใจ และเห็นคุณค่าในงาน เพราะถ้าเป็นคนอื่นภาพเหล่านี้อาจถูกปัดทิ้ง

ในรายการวิทยุที่วีจีไปให้สัมภาษณ์ ผู้ดำเนินรายการชื่นชมผลงานของเขามาก บอกว่ามันน่ากลัวดี แต่วีจีบอกว่า มันไม่ใช่แค่นั้น เขาอยากให้ภาพมีความเป็นมนุษย์ – It’s Human เขาเชื่อว่าภาพถ่ายที่แสดงออกถึงความเป็นมนุษย์จะสร้างความพิเศษ

มีคนเคยถามวีจีว่า มีเทคนิคการถ่ายรูปอย่างไรให้ออกมาโดดเด่นเช่นนี้ เขาตอบว่า f/8 and be there หมายถึงมีกล้องตัวหนึ่งที่ตั้งรูรับแสงไว้ที่ F8 ซึ่งมีความไวแสงเพียงพอที่จะเก็บภายละเอียดของภาพได้ครบถ้วนและถ่ายออกมาคมชัด และไปอยู่ที่ตรงนั้น ถ้ามีเรื่องราวเกิดขึ้น คุณจะได้ภาพอย่างแน่นอน เพราะต่อให้กล้องดีแค่ไหน ถ้าอยู่ไม่ถูกที่ถูกเวลาก็จบ

“สำหรับผม ภาพที่สวยงามคือภาพที่จับช่วงเวลาที่น่าทึ่งของชีวิต  ผมมักจะถูกถามอยู่เสมอว่า วีจีคุณจัดการอย่างไรเพื่อให้ได้ภาพที่มีคุณภาพเหมือนจริง ผมตอบทันทีว่า ง่ายมาก เมื่อผมเห็นภาพที่ดี ผมจะรีบถ่ายทันที”

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าภาพถ่ายของเขาจะมีแต่อาชญากรรมและความตาย เมื่อพบเรื่องราวที่น่าสนใจและมีโอกาสขึ้นหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ วีจีก็จะบันทึกไว้ด้วย เช่นเดียวกับภาพผู้คนที่มีความสุข

“ผมจะเลือกเรื่องราวที่มีความหมายบางอย่าง หรืออีกนัยหนึ่งคือมันจะเป็นข่าว

“โปรดอย่ามองว่าผมชอบถ่ายภาพที่รุนแรง ตอนที่ไปเกาะ Coney ผมก็ถ่ายภาพหนุ่มสาวเดินจับมือกัน ผมชอบที่จะถ่ายภาพผู้คนที่เขากำลังอยู่ในช่วงเวลาที่ดีๆ แต่ในเมื่องานเป็นแบบนั้น ผมจะทำอย่างไรได้”

ผมมักจะถูกถามอยู่เสมอว่า คุณจัดการอย่างไรเพื่อให้ได้ภาพที่มีคุณภาพเหมือนจริง ผมตอบทันทีว่า ง่ายมาก เมื่อผมเห็นภาพที่ดี ผมจะรีบถ่ายทันที

Arthur Fellig : ‘Weegee’ สุดยอดช่างภาพข่าวอาชญากรรม

จากภาพคนตาย สู่การถ่ายเซเลบริตี้

วีจีใช้ชีวิตในวงการภาพข่าวอาชญากรรมอยู่ 12 ปี ก่อนตัดสินใจยุติชีวิตบนเส้นทางนี้

ช่วงท้ายเขามีผลงานตีพิมพ์ในสิ่งพิมพ์ชื่อดังหลายฉบับ จนพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ (MOMA-the Museum of Modern Art) เริ่มรวบรวมและจัดแสดงผลงาน 

ในปี 1945 เขาเปิดตัวหนังสือเล่มแรกชื่อ Naked City  ซึ่งถูกนำไปสร้างภาพยนตร์ The Naked City ทำให้ชื่อเสียงของเขาโด่งดังเป็นพลุแตก ได้รับโอกาสให้ถ่ายภาพโฆษณาลงในนิตยสารแถวหน้าอย่าง Vogue, Life, Look, และ Holiday 

เขาตัดสินใจย้ายไปฮอลลิวูด เปลี่ยนไปทำงานเป็นผู้ให้คำปรึกษาเรื่องภาพในกองถ่าย รวมทั้งรับถ่ายภาพนิ่งเบื้องหลังในกองภาพยนตร์ หนึ่งในคนที่ชอบผลงานของเขามากคือผู้กำกับชื่อดัง Stanley Kubrick ที่ชวนไปถ่ายภาพเบื้องหลังภาพยนตร์ Dr. Strangelove

ที่น่าสนใจคือเขาหันไปถ่ายดาราดังและคนมีชื่อเสียง เช่น Marilyn Monroe, Richard Nixon, John F. Kennedy  แต่ใช้เลนส์พิเศษที่ทำให้ภาพหน้าเธอบิดเบี้ยว เรียกได้ว่า วีจียังมีวิธีการถ่ายรูปที่แปลกใหม่อยู่เสมอ 

อย่างไรก็ตาม วีจีไม่เคยกลับไปถ่ายภาพอาชญากรรมอย่างนั้นอีกเลยตลอดชีวิต 

คงเป็นดังที่เขาเคยกล่าวว่าไม่ได้รักการถ่ายภาพที่รุนแรง เพียงแต่ต้องทำเพราะเป็นรายได้เลี้ยงปากท้อง 

แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ภาพข่าวในช่วงปี 1930-1940 ที่เขาสร้างไว้ กลายเป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่นๆ อีกมากมาย โดยเฉพาะช่างภาพสารคดี ช่างภาพสตรีท และยังคงถูกนำมาศึกษาซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนถึงปัจจุบัน

ภาพและข้อมูลประกอบการเขียน

  • www.photogpedia.com/weegee
  • weegeeweegeeweegee.net
  • siamstreetnerds.com
  • รายการ Podcast ศิลปะการต่อสู้ | EP.30 | Weegee เว็บไซต์ The Cloud

<< แชร์บทความนี้

RELATED POSTS
LATEST

Keep In Touch

COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO.  ALL RIGHTS RESERVED.